"ลักษณะแห่งพระปรมัตถธรรม..!"

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ตีโฉบฉวย, 15 กันยายน 2011.

  1. ตีโฉบฉวย

    ตีโฉบฉวย Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +42
    ลักษณะแห่งพระปรมัตถธรรม

    พระธรรมเทศนาโดย

    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


    ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๑​



    ระเบียบแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น มักแสดงสังเวคกถา เพื่อให้เกิดความสลดใจได้ความสังเวชเลยก่อน แล้วจึงทรงแสดงทางปฏิบัติมีทาน ศลเป็นต้นไปให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใส มีความอุตสาหะ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ในสังเวคปริยายนั้น มักแสดง ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ มรณะ ความตาย ๔ประการนี้ว่าเป็นของครอบงำสัตว์อยู่ทั่วโลก โลกคือหมู่สัตว์ตกอยู่ในอำนาจ ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงแก้ไขด้วยประการทั้งปวง ให้ผู้ฟังเกิดความสังเวชสลดใจเลยก่อน บางสมัยแสดงว่า รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจฺจา เวทนาความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ อุเบกขา ไม่เที่ยง สญฺญา อนิจฺจา ความจำได้หมายรู้ ไม่เที่ยง สงฺขารา อนิจฺจา สังขารความคิดนึกตรึกตรองไมเที่ยง วิญฺญาณํ อนิจฺจํ ความรู้อารมณ์ไม่เที่ยง ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์สัตว์ทนได้ด้วยยาก ยํ ทุกฺขํ ตํ อนตํตา สิ่งใดไมเที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่างนี้เป็นพระโอวาทอันแพร่หลายในพุทธศาสนา เป็นพหุลานุโยค คือมักแสดงโดยมาก เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วจะได้แสวงหาสิ่งที่เที่ยงถาวร ควรตนจะยึดเอาเป็นที่พึ่งได้

    ส่วนทางให้เกิดความเลื่อมใสนั้น ดังทรงแสดงทาน การบริจาคให้สำเร็จผลแก่ทายกและปฏิคาหกอย่างนี้ ๆ ศีลที่บุคคลมารักษาด้วยดีแล้ว จักอำนวยให้ได้รับความสุขอย่างนี้ ๆ ภาวนา ถ้าบุคคลทำให้เกิดให้มีในตนแล้ว จักอำนวยให้ได้รับความสุขอย่างนี้ และจักได้รับความอุ่นใจ เห็นว่าตนมีที่พึ่งอันมั่นคงถาวรอันตนได้แล้วดังนี้ หรือแสดงพระพุทธคุณพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสด้วยอาการอย่างนี้ ถ้าน้อมพระคุณนั้น ๆ เข้ามาในตน คือกระทำให้พระคุณนั้นมามีขึ้นในตน จะได้รับผลคือความสุขสำราญเบิกบานใจ ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ พึงเข้าใจวิธีทางเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้สำหรับใจของตนด้วยประการ ฉะนี้

    ในวันก่อนได้แสดงประเภทแห่งพระวินัยพอเป็นทางเข้าใจของพุทธบริษัทไว้แล้ว วันนี้จะแสดงพระปรมัตถ์คือพระอภิธรรมปิฎก ยกมาแต่พอเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้พุทธบริษัทรู้จักปรมัตถธรรมซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ หรือมีอยู่ในตนว่ามีลักษณะอาการอย่างนี้ ๆ

    ในคัมภีร์อภิธรรมสังคิณีซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งพระอภิธรรมปิฎก ยก กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ขึ้นเป็นหลัก แล้วจึงแจกออกไปเป็นชั้น ๆ ให้พระโยคาพจรกุลบุตรพึงกำหนดคำที่ว่า ธรรม นั้นเป็นชื่อของสภาวะอันหนึ่ง มีอันเดียว ที่มากนั้นมากด้วยอาการที่เรียกว่า คุณธรรม คือเป็นคุณของธรรมเหมือนตัวอย่างกุศล อกุศล อัพยากฤต ไม่ใช่ตัวธรรม เป็นคุณของธรรม หรือจะว่าเป็นลักษณะ เป็นอาการ เป็นกิริยาของธรรมก็ได้ จะพูดแต่เพียงว่าอาการ ให้พึงเข้าใจกันเหมือนอย่างคำที่ว่าขันธ์ก็มีนัยอย่างเดียวกัน เป็นชื่อแห่งสภาวะอันหนึ่งมีอันเดียวเท่านั้น ยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ มาสวมเข้า จึงเป็นขันธ์ ๕ รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ชื่อว่า คุณธรรม ถ้าเอาไปสวมใส่ธรรม ก็ชื่อว่า รูปธรรม เวทนาธรรม สัญญาธรรม สังขารธรรม วิญญาณธรรม ถ้าเอาไปสวมใส่ขันธ์ ก็ชื่อว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ย่นลงให้สั้นก็คือรูป ๑ นาม ๑ เรียกว่า นามรูป นามรูปก็เป็นอาการของธรรม ถ้าเอาไปสวมใส่ธรรมก็ชื่อว่า รูปธรรม นามธรรม

    ต่อนี้จักแจกรูปธรรม นามธรรมให้กว้างออกไป ส่วนรูปธรรมคงไว้เป็น ๑ ส่วนนามธรรมแจกออกเป็น ๔ คือ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑.

    ต่อนี้จักกระจายรูปนามนั้นให้กว้างออกไปอีก รูปหนึ่งนั้นแหละ แจกออกตามอาการเป็นรูป ๒๘ คือเป็น

    มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม

    อุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูปอีก ๒๔ จัดเป็น ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ ภาวรูป ๒ ทหยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๔ ลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๒๔

    แจกนามทั้ง ๔ นั้นให้มากออกไป

    แจกเวทนาเป็น ๕ คือ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา อาศัยทวาร ๕ คือ เกิดแต่จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารทวารละ ๕ ๆ เป็นเวทนา ๒๕

    แจกสัญญาเป็น ๖ คือหมายอารมณ์ ๖ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

    แจกสังขารเป็น ๕๒ คืออัญญสมานาเจตสิก ๑๓ โสภณเจตสิก ๒๕ อกุศลเจตสิก ๑๔

    แจกวิญญาณออกเป็น ๑๒๑ คือ กามาวจรจิต ๕๓ รูปาวจรจิต ๓๒ อรูปาวจรจิ ต ๑๒ โลกุตตรจิต ๒๔ รวมเป็น ๑๒๑ เรียกว่าจิต คือวิญญาณนั่นเอง

    ยกมาแสดงพอเป็นอุทาหรณ์ เพื่อจะได้เข้าใจอภิธรรมปิฎก ที่ท่านแสดงว่าเป็นปรมัตถธรรม ตัดใจความให้สั้น ธรรมที่พุทธบริษัทประพฤติตามอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นปรมัตถ์ทั้งนั้น ในคัมภีร์อภิธรรมท่านไม่ได้ยกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน ท่านแสดงเป็นโครงกลาง ๆ ไว้เท่านั้น ธรรมเหล่านั้นเป็นของละเอียด สุขม แสดงเป็นธัมมาธิษฐาน เหมือนอย่าง

    สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑

    สัมมัปปธาน ๔ เพียรกำจัดบาปที่ยังไม่มีไม่ให้มีขึ้น ๑ เพียรกำจัดบาปที่มีอยู่แล้วให้หมดไป ๑ เพียรบำรุงบุญที่ยังไม่เคยมีให้มีขึ้น ๑ เพียรบำรุงบุญที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ๑.

    อิทธิบาท ๔ ฉันทะ ความพอใจ ๑ วิริยะ ความเพียรกล้า ๑ จิตตะ ความตั้งใจมั่น ๑ วิมังสา ความตรวจตรอง ๑ ผู้ประสงค์จะให้ธรรมประเภทใดสำเร็จ ต้องใช้อิทธิบาททั้ง ๔ นี้เป็นกำลัง

    อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา ๑ วิริยะ ๑ สติ ๑ สมาธิปัญญา ๑ คือบำรุงให้เป็นใหญ่ ชื่อว่า อินทรีย์พละ ๕

    โพชฌงค์ ๗ คือ สติ ๑ ธัมมวิจยะ ๑ วิริยะ ๑ ปีติ ๑ ปัสสัทธิ ๑ สมาธิ ๑ อุเบกขา ๑ ทำให้สามัคคีพรักพร้อมกันขึ้น ชื่อว่า โพชฌงค์

    อัฏฐังคิกมรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปโป ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันโต ๑ สัมมาอาชีโว ๑ สัมมาวายาโม ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ ชื่อว่าอริยมรรค

    ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีมาในคัมภีร์พระอภิธรรมทั้งนั้น แสดงเป็นกลาง ๆเรียกว่าธัมมาธิษฐาน เป็นปรมัตถธรรมทั้งสิ้น ถ้ายกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐานเป็นพระสูตรทั้งสิ้น

    จะยกปรมัตถ์ขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐานให้เห็นเป็นพระสูตรเป็นตัวอย่าง เหมือนสติปัฏฐาน ๔ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑ แสดงไว้เป็นกลาง ๆ อย่างนี้เป็นปรมัตถธรรม ถ้ายกขึ้นสู่บุคคลเป็นพระสูตร ชื่อว่า สติปัฏฐานสูตร

    ยกขึ้นสู่บุคคลคือยกขึ้นสู่กายของเรานี้ คำที่ว่ากายนั้น หมายที่ประชุมธาตุดิน น้ำไฟ ลม ได้แก่สกลกายของเรานี้ ในอาการ ๓๒ มีเกสา โลมา เป็นต้น ถึง มัตถลุงคัง แยกเป็นดิน ๒๐ แยกเป็นน้ำ ๑๒ เพิ่มไฟลมเข้าอีก แยกเป็นไฟ ๔ แยกเป็นลม ๖ ชื่อว่า กาโย

    ยกเวทนาขึ้นสู่บุคคล คือสกลกายนี้ ชื่อว่า เวทนา คือ มีสุขอย่างหนึ่ง มีทุกข์อย่างหนึ่ง มีไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างหนึ่งประจำอยู่ที่สกลกายนี้เสมอ กายนี้จึงชื่อว่าเวทนา

    ยกจิตขึ้นสู่บุคคล คำที่ว่า จิตนั้น ก็คือใจของเราที่รู้คิดรู้นึก รู้สกลกายอวัยวะนี้เอง ชื่อว่า จิต

    ยกธรรมขึ้นสู่บุคคล ธรรมนั้นได้แก่ธรรมดา เขาเป็นอยู่อย่างนั้น เหมือนความประพฤติดี ความประพฤติชั่ว ดีชั่วเป็นตัวธรรมดา ถ้าบุคคลประพฤติดีก็เป็นบุญ ถ้าประพฤติชั่วก็เป็นบาปบุญ บาป ก็เป็นธรรมดา ยกธรรมขึ้นสู่บุคคลเป็นปุคคลาธิษฐาน พึงเข้าใจความอย่างนี้

    จะยกธรรมประจำกายขึ้นมาแสดงอีกส่วนหนึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม รวมกันเข้าชื่อว่าบุคคล ยกสติขึ้นสู่กาย ขึ้นสู่เวทนา ขึ้นสู่จิต ขึ้นสู่ธรรม ชื่อว่ายกขึ้นสู่บุคคล เป็นปุคคลาธิษฐานอย่างนี้เป็นตัวอย่าง ชื่อว่าพระสูตร

    รวมเนื้อความให้สั้นเข้า พึงสำเหนียกให้ตั้งใจว่า พระธรรม คือ พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ มีอยู่ในสกลกายของเรานี้ครบทุกประเภท คือ ห่อกายของเรานี้มิดชิดทีเดียว จึงเป็นปริยัติธรรม เราต้องจำทรงท่องบ่น คือให้รู้ไว้ว่า นี้พระสูตร นี้พระวินัย นี้พระปรมัตถ์ เมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นปริยัติธรรมภายในขึ้น พระปริยัติเป็นเหตุส่องทางให้เราปฏิบัติ คือให้ดำเนินตามพระวินัยนั้นเอง ส่วนพระวินัยนั้นได้แสดงมามากแล้ว ไม่ใช่อื่น ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง

    ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นองค์อริยมรรค มรรคเป็นเครื่องประหารกิเลส กิเลสนั้นที่เป็นรากเป็นมูลก็คือโลภะ โทสะ โมหะ เหลือนั้นกิ่งก้านสาขาของมูล ๓ นี้เอง เมื่อบำเพ็ญกองศีลให้มีขึ้นจนเป็นสีลขันธ์ คือสกลกายนี้เรียกว่าขันธ์ เมื่อสกลกายนี้ทรงศีลไว้ ก็ชื่อว่าสีลขันธ์ให้เป็นอธิศีลคือเป็นศีลอย่างสูง เป็นอริยกันตศีล มีอำนาจปราบโลภะ โทสะ โมหะส่วนหยาบ ที่เผล็ดออกมาทางกาย ทางวาจา ให้หมดอำนาจ ไม่สามารถจะงอกงามขึ้นได้ แล้วตั้งใจบำรุงสมาธิให้เป็นสมาธิขันธ์ คือให้รู้สึกว่าขันธ์อันนี้ทรงไว้ซึ่งสมาธิจนเป็นอัปปนาจิต ชื่อว่าอธิจิต มีอำนาจปราบโลภะ โทสะ โมหะที่เป็นกิเลสอย่างกลาง เกี่ยวเกาะอยู่กับจิตมีกามฉันท์เป็นต้น ให้หมดอำนาจไม่สามารถจะงอกงามขึ้นได้ แล้วตั้งใจบำรุงกองปัญญาให้เป็นปัญญาขันธ์ คือให้รู้สึกว่าขันธ์อันนี้ทรงไว้ซึ่งปัญญาคือ วุฏฐานคามินีวิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาชำแรกกิเลสอย่างละเอียดคือตัวอวิชชานุสัยเรียกว่า อธิปัญญา มีอำนาจปราบอนุสัยสังกิเลสให้หมดอำนาจไป

    ส่วนปฏิเวธธรรมเป็นผลของปฏิบัติธรรมผู้บำเพ็ญกองศีลเต็มที่ กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของศีลดับไป ก็รู้สึกได้รับผลคือความสุขสำราญใจเป็นปฏิเวธธรรมในชั้นศีล เมื่อได้บำเพ็ญกองสมาธิให้เต็มที่ กิเลสที่เป็นข้าศึกของสมาธิดับไป ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกได้รับผลคือความเย็นใจ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นสมาธิ เมื่อบำเพ็ญกองปัญญา ให้เต็มที่ กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของปัญญาก็ดับไป ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกได้รับผลคือความสิ้นสงสัยในกิเลส ได้รับความสำราญบานใจ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นปัญญา

    การแสดงปรมัตถธรรมไว้เป็นหลัก แล้วขยายออกมาเป็นพระสูตร พระวินัย ย่นลงเป็นปริยัติธรรม ส่องความถึงปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมส่องความถึงปฏิเวธธรรมไว้เพียงเท่านี้ พอเป็นเค้าทางแก่โยคาพจรกุลบุตรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เพื่อจะได้ตรวจตรองดำเนินตาม จะได้ไม่เป็นคนงมงาย ปฏิบัติอย่าให้เสียหลักพระปริยัติธรรม ให้ตรวจตรองจับเอาอาหารแห่งพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ พระปริยัติ พระปฏิบัติ พระปฏิเวธ ให้ชัดใจทั้งภายนอกและภายใน เมื่อฟังพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ภายนอก ให้เอาพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ภายในออกฟัง นอกมีเท่าใด ในก็มีเท่านั้น

    พระธรรมที่แสดงมานี้ล้วนเป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม คือเป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว คือไพเราะในเบื้องต้นคือศีล ไพเราะในท่ามกลางคือสมาธิ ไพเราะในที่สุดคือปัญญา และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา เพราะพระธรรมมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายร้องเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้าสู่ตน คือให้มีขึ้นในตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลายคือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน ไม่ต้องเป็นกังวลไปถามผู้อื่น

    เมื่อพุทธบริษัทได้สดับธรรมปริยายดังแสดงมานี้ พึงมนสิการแล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ก็จักมีแต่ความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกทิพาราตรีกาล

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/pra-ubali/pra-ubali-07.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...