รู้อยู่อย่างปกติ (พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี))

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย CLUB CHAY, 1 เมษายน 2010.

  1. CLUB CHAY

    CLUB CHAY เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    507
    ค่าพลัง:
    +1,412
    [​IMG]

    "ธรรมสุปฏิปันโน" เรื่องนี้จัดทำขึ้น เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ใฝ่ธรรม และได้พิมพ์เผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นประจำ ทุกวันพฤหัสบดีทางหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายวัน"

    โดยได้รับอนุญาต จาก"ท่านพระครูเกษมธรรมทัต" (สุรศักดิ์ เขมรํสี) สำนักปฏิบัติกรรมฐาน "วัดมเหยงคณ์" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    ให้ถอดเทปธรรมบรรยาย จากรายการวิทยุ
    *ธรรมสุปฏิปันโน วันเสาร์และวันอาทิตย์ ๑๑.๑๐ - ๑๒.๐๐ น.
    * ธรรมโอสถ วันอังคาร เวลา ๐๖.๐๐ - ๐๖.๔๕ น.
    ออกอากาศ ทางสถานีวิทยุ "กองพลทหารม้าที่ ๒" พล ม. ๒ คลื่นความถี่ เอ.เอ็ม ๙๖๓

    เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้สึกเสมือนหนึ่งได้รับฟังคำอธิบายต่างๆ อยู่เฉพาะหน้าผู้บรรยายเองจึงได้คงไว้ ซึ่งลักษณะธรรมชาติของภาษาสำนวนพูดในต้นเค้าการบรรยายเดิม

    โดยได้จัดแบ่ง "หัวข้อธรรม" ออกเป็นตอนๆ เพื่อเป็นข้อสังเกต และ ง่ายต่อการอ่าน

    หากมีข้อผิดพลาดประการใด
    ขอน้อมรับ ด้วยความเคารพในธรรมยิ่ง
    "อาจริยปูชา"
    คณะศิษยานุศิษย์

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นามรูปัง อนิจจัง นามรูปัง ทุกขัง นามรูปัง อนัตตา

    ณ โอกาสบัดนี้ จะแสดงซึ่งพระสัจธรรมเทศนา ตามหลักคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาอรหัตตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจสดับตรับฟังให้ดี

    ๑:๒๑ ทุกข์ ทุกชีวิต

    ในโอกาสที่ได้มีชีวิตเกิดมา ได้มาพบพระพุทธศาสนา มาพบคำสอนได้มีโอกาสมารักษาศีล มาฟังธรรม ถือว่าเป็นบุญลาภของเรา ถือว่าท่านทั้งหลายได้มีบุญเก่าที่ทำไว้ด้วยดี ส่งผลมาให้มีชีวิตที่หันเหเข้ามาสู่ทางธรรมได้ จากจำนวนคนมากมายที่ไม่รู้เรื่อง ที่ไม่สนใจ แล้วก็ตกอยู่ในความทุกข์มีความทุกข์นานับประการ ก็ไม่รู้ว่าจะหาทางดับทุกข์ได้อย่างไรอันการดับทุกข์ การแก้ปัญหาความทุกข์ ถ้าไม่ใช้ธรรมแล้วก็ไม่สามารถแก้ทุกข์นั้นอย่างสิ้นเชิงได้ จะเอาสิ่งภายนอกมาแก้ความทุกข์เอาทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สินเงินทอง ยศฐาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ไม่สามารถจะช่วยดับทุกข์ อย่างแท้จริงได้

    โดยเฉพา ะความทุกข์ในจิตใจ เวลาเราเกิดความกลุ้มใจ เกิดความหม่นหมองเกิดความเร่าร้อนในจิตใจนี่ สิ่งภายนอกนั้นช่วยไม่ได้ คนที่มีฐานะดีเป็นเศรษฐี มีกิจการใหญ่โต ถ้าเราไปใกล้ชิด เราก็จะพบว่า เขาก็ยังมีความทุกข์ยังหาความสุขสงบที่แท้จริงไม่ได้ ผู้มีปัญญาแล้ว ก็ต้องมองเห็นสิ่งที่จะดับทุกข์ว่าจะต้องหันเข้ามาสู่ธรรม ความทุกข์ในใจ ก็ต้องแก้กันด้วยจิตใจ อย่างเราทำจิตใจของตนเอง ให้มันมีธรรมขึ้นมา มันก็แก้ทุกข์ได้

    ๒:๒๑ ธรรมะแก้ทุกข์ในใจ

    ซึ่งสรุปแล้ว ความทุกข์ในจิตใจ ก็เกิดจากการไปยึดถือ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าไปสำคัญมั่นหมาย เวลาเรายึดถือสิ่งใดไว้ ก็จะต้องทุกข์กับสิ่งเหล่านั้นมีความผูกพันมากเท่าไร ความทุกข์ก็จะมีมากเท่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างบางคน "ยึดในบุคคล" ยึดในลูก ในสามี ในภรรยา เมื่อเกิดล้มหายตายจากไปก็มีความทุกข์ทางใจ ทรมานใจมาก มีความเศร้าโศกมาก บางคนถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับแทบจะตายไปด้วยกัน เนื่องเพราะความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่นไว้มากนั่นเอง"ทรัพย์สมบัติ" ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นไว้มาก ก็จะต้องเสียใจมากเศร้าโศกมากเมื่อทรัพย์สมบัติเหล่านั้น มันต้องเสียหายไป ต้องวิบัติไป ก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจมากกลุ้มใจวุ่นวายใจมาก นี่ก็เป็นเพราะไปยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สมบัตินั้นๆไว้มากหรือจะเป็น "เกียรติยศ" เป็น "ชื่อเสียง" เป็น "ยศถาบรรดาศักดิ์"อะไรก็ตามเราไปยึดติดมาก เราก็จะทุกข์มาก เมื่อสิ่งเหล่านั้นมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วมันก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน คนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงสุดในที่สุดก็ต้องลงต่ำ ก็ต้องตกลงไป ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดๆ ลองพิจารณาดูมีใครยั่งยืนอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดไปตลอดกาลได้ไหม ไม่ได้ ฉะนั้นถ้าหากไปยึดถือไว้มากก็เศร้าโศก เสียใจมาก เราไปยึดถือในคำสรรเสริญ ในชื่อเสียงว่า ต้องการแต่ให้เขายกย่องสรรเสริญ ชมเชย ให้เขามองเห็นว่าเราดีฝ่ายเดียว นี่เรายึดไว้มากเราก็ต้องเสียใจมาก เพราะว่าใครเขาจะมาสรรเสริญเราได้ตลอด มาชม ยกย่องเราได้เสมอไปสักวันหนึ่ง เขาอาจจะว่าร้ายเราอะไรต่างๆ เราก็จะเสียใจ ถ้าเราไปยึดถือ ติดใจต่อสิ่งเหล่านั้น ซึ่งหากทำจิตใจไว้เป็นว่า ยศ ลาภ สุข สรรเสริญ สิ่งเหล่านี้ให้รู้ว่า มันมีแล้ว มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนก็จะไม่ทุกข์ทรมานใจ ได้ลาภสักการะอะไรขึ้นมา มีทรัพย์อะไรขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเราที่แท้จริง สักวันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป มียศ มีสรรเสริญมีสุข มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง บุคคลใดก็ตาม ให้รู้ว่าจะต้องพลัดพรากไปจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเขาไม่เปลี่ยนจากเรา เราก็ต้องเปลี่ยนจากเขา ในที่สุดก็คือวันตาย วันสิ้นลมหายใจนั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ถ้าบุคคลได้เตรียมใจไว้ก่อน เตรียมใจกับทุกๆ เรื่องไว้มันก็จะไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยลง

    เรามีสิ่งใด เราเตรียมใจสิ่งนั้นไว้ก่อน ว่าจะต้องไม่จีรังยั่งยืนนะ สิ่งเหล่านี้ไม่จีรังยั่งยืนก็ทำใจไว้ล่วงหน้า พอถึงคราวมันเกิดขึ้น ก็นึกไว้แล้วว่ าต้องเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นเช่นนั้น มันก็เบาใจ ฝึกการยอมรับกับความสูญเสีย กับความผิดพลาด กับความผิดหวัง"ฝึกทำใจให้ยอม ฝึกใจให้ยอม" ยอมที่จะรับผิด ยอมที่จะรับโทษ ยอมที่จะรับความเสียหายถ้าหากว่าเรามันผิดมันพลาด หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ที่มันมีขึ้นมาแล้ว มันจะต้องเสียเราก็ยอมรับ ทำใจให้ยอมได้ แล้วปลง "รู้จักปลงใจ" ถ้าปลงได้ มันก็เบา ปลงหรือวางของอะไรที่เราถือไว้ ยกไว้ตลอดเวลาก็หนัก ถ้าเราปลง เราวางลงก็เบา

    ๓:๒๑ เก่งด้วยประสบการณ์

    ขณะที่จิตใจไปยึดถือสิ่งใดไว้ เรียกว่าแบกใจไว้ เรียกว่าหนักทางใจ ถ้าวางได้มันก็เบาการที่จะทำได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายนะ มันไม่ใช่ง่าย อย่างที่เราจะพูดเอาแล้วจะทำได้ มันอยู่ที่การต้องหมั่นฝึกอบรม "หมั่นพิจารณาเนืองๆ หมั่นฝึกหัด เวลาเกิดประสบเหตุการณ์ไม่ดีต่างๆ" เหตุการณ์ร้ายต่างๆ ก็พยายามฝึกจิตทำใจให้ได้ เราผ่านเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง เราได้ฝึกครั้งหนึ่ง ผ่านครั้งที่สอง ก็ดูว่าเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกนะ ปัญหาต่างๆที่มันเกิดขึ้น มันก็ดีเหมือนกัน ที่มันมาช่วยปลุกจิตใจให้เรา ถ้าเราไม่มีปัญหา ไม่มีอุปสรรคก็จะไม่รู้เอาอะไรไปฝึก ฝึกด้วยตำรามันก็ไม่ได้ รู้ไปตามตำรา แต่ไม่มีของจริงให้ทดลองนี้มันเก่งไปไม่ได้ "คนจะเก่งมันจะต้องประสบการณ์จริงๆ" ฉะนั้นความทุกข์ยาก ลำบากปัญหาต่างๆก็ควรจะได้ขอบคุณกับสิ่งเหล่านั้น ที่จริงมันเป็นโทษ แต่เราเอามาเป็นคุณได้มันให้โทษแก่เราแต่เราเอามาเป็นคุณได้ เพราะว่ามันเป็นผลแห่งบาปที่เราทำไว้ ที่ประสบเหตุการณ์ทุกข์เดือดร้อนต่างๆ นี้ มันเป็นวิบากกรรม คือมันเป็นผลของบาปที่เราทำไว้ในอดีตแต่ผู้ฉลาดนั้นก็ต้องเอาผลแห่งบาปนั้น เอามาเป็นคุณซะเลย คือเอามาเป็นเครื่องทดสอบทดลอง เป็นเครื่องฝึกจิตใจ เป็นคู่ฝึกซ้อมจิตกาย ให้จิตเรามีสมรรถภาพ มีความเข้มแข็งมีประสบการณ์ ให้มันได้รับการฝึกฝน ให้มันทานทนขึ้น ฉะนั้น วิบากกรรมเหล่านั้นก็เป็นคุณได้เหมือนกัน ก็จะกลายเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้นต่อไป ถ้าคนไม่มีอุปสรรค ปัญหาอะไรเลยก็เป็นคนอ่อนแอ ตราบใดที่ยังไม่มีอุปสรรคเข้ามา ก็ดูว่าไม่มีอะไร อยู่ไปได้ ฉะนั้นคนที่มีแต่คนคอยช่วยอยู่ทุกอย่าง จะทำอะไรจะเกิดอย่างไร มีแต่คนคอยช่วยเหลือ คอยทำให้ทำให้ทั้งนั้น ก็จะขาดความสามารถ ขาดความเข้มแข็งของตัวเอง พอถึงคราวที่ตนเองจะต้องทำด้วยตัวเองเข้า ไม่มีใครช่วย ก็จะกลายเป็นเรื่องยาก ทำอะไรไม่ได้อันนี้ก็เป็นการรู้จักมอง มองปัญหา มองอุปรรคมาให้เป็นประโยชน์ เราต้องฝึก หมั่นฝึก หมั่นพิจารณา

    ๔:๒๑ หมั่นพิจารณารูปนาม

    ชีวิตสังขารนี้ มันก็ตกอยู่ในหลักที่ขึ้นบาลีไว้ว่า "นามรูปัง อนิจจัง" นามรูปไม่เที่ยง "นามรูปังทุกขัง" นามรูปเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ "นามรูปังอนัตตา" นามรูปเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สังขารประกอบด้วยนามธรรมกับรูปธรรม เรียกย่อๆ ว่า รูปนาม รูปนามมันไม่เที่ยงมันเกิดขึ้นแล้วมันก็แปรเปลี่ยนไป มันเป็นทุกข์ มันบีบคั้น มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้มันเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ก็เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรม ที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย ดับไปตามเหตุตามปัจจัย

    ๕:๒๑ โดยปรมัตถ์

    ฉะนั้น ชีวิตสังขารนี้ ถ้าว่า "โดยปรมัตถ์" ว่าโดยธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว มันไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีผู้หญิง ผู้ชาย ไม่มีมนุษย์ ไม่มีเทวดา ไม่มีสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่นั่งกันอยู่เหล่านี้ก็ไม่ใช่คน แต่เป็นธรรมชาติ เป็นเพียงรูป เป็นเพียงนาม ที่ประชุมกันตามเหตุตามปัจจัย เวลาตายลงก็คือ ธาตุธรรมชาติ รูปนามมันก็แตกสลายไปถ้ามันยังมีเชื้อ มีกิเลส มันก็สร้างต่อไปอีก มันก็ให้มีรูป มีนาม มีขันธ์ ๕ อุบัติ บังเกิดขึ้นอีกแล้วก็เสวยความทุกข์ต่อไป คือทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย รูปนาม จะเสวยความทุกข์ พอมันมีขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องทุกข์ อย่างมีร่างกาย มันก็ต้องสัมผัส ความร้อนความหนาว ต้องปวด ต้องเจ็บ ต้องเมื่อย ต้องหิว ไม่สบายกาย มีจิตใจ ก็ต้องรับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ปวดร้าว เศร้าโศก ทุกข์ทรมาน คือรูปนามมันมีแล้ว มันก็จะกระทบอารมณ์แล้วมันก็ทุกข์ ที่ทุกข์นั้น ก็ไม่ใช่คน สัตว์ บุคคล ทุกข์ แต่ว่าเป็นรูปนาม มันทุกข์เอง เข้าไปเสวยความทุกข์ พอหมดเหตุปัจจัย มันก็ดับไปอีก แตกสลายหมด ล่มไป สร้างใหม่อีกภพชาติใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป มานานนักหนาแล้ว ชีวิตแต่ละชาติ เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ มามันเป็นธรรมชาติที่ก่อตัวกันขึ้นมา เพราะว่า อวิชชา ความไม่รู้ ไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรไม่รู้ว่าชีวิตสังขาร ร่างกายนี้ เป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรจะทำให้พ้นทุกข์อะไรคือความดับทุกข์ไม่รู้, ไม่รู้มันก็เกิดปัญหา เกิดความยึดมั่นถือมั่น ทำกรรมแล้วก็วนเกิด วนตายอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบสิ้น อันนี้ ว่าโดยปรมัตถธรรม โดยธรรมาธิษฐาน

    ๖:๒๑ โดยสมมุติ

    ถ้าว่าโดย "บุคลาธิษฐาน" ว่า "โดยสมมุติ" ว่าโดยบุคคล ก็จัดเป็นคน เป็นเทวดาเป็นพรหม เป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย อันนี้ เรียกว่า จัดไปตามบุคคล จัดไปตามสมมุติ รูปนามอย่างนี้ๆ อย่างที่นั่งอยู่นี้ สมมุติว่าเป็นคน รูปนามอย่างนี้ๆ ก็สมมุติว่าเป็นผู้หญิง อย่างนี้ก็ผู้ชาย รูปนามอย่างนี้ ก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ถ้าว่าโดยสมมุติแล้ว ก็มีคน ยังมีกิเลส ก็ยังต้องเกิดต่อไป ก็มีคนตาย คนเกิด ที่เป็นไปตามกรรมก็ว่าโดยสมมุติ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องเกิด การเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายนี่ ว่าโดยบุคลาธิษฐาน ว่าโดยสมมุตินั้น ก็มีอยู่ ถ้าว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่ธาตุธรรมชาติสลายไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยไป ซึ่งธรรมชาติที่แท้จริงนี่แหละ ที่สัตว์ทั้งหลายไม่รู้ตัวเมื่อไม่รู้ มันก็ไหลอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง เกิดทุกข์เกิดภัยเกิดแก่เจ็บตายอย่างนี้เรื่อยๆ ไป

    ๗:๒๑ ดับทุกข์โดยชอบ

    แต่ถ้ารู้ตัวขึ้นมาเมื่อไร รู้ความจริงในชีวิตของตัวเองเมื่อไรว่า ที่แท้จริงมันเป็นอย่างไรมันก็ละเหตุ ที่จะทำให้ไปก่อภพก่อชาติ ก่อรูปนามต่อไป มันก็ตัดกระแสได้ มันก็หมดไปไม่มีอะไร อย่างนี้ถึงเรียกว่า ดับทุกข์ ดับโดยชอบ "ดับทุกข์โดยชอบ" คือ ไม่ต้องมีทุกข์ต่อไปนี้คือ สิ่งที่เป็นปัญญา เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทุกชีวิตจะต้องสนใจต่อสิ่งเหล่านี้ เรื่องอื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญอะไรมากนัก ความสำคัญมันอยู่ที่เรื่องของการจะทำอย่างไร ถึงจะดับทุกข์ตัวเองได้ทำอย่างไรจะทำปัญญารู้แจ้งในตัวเอง จะดับอวิชชา จะแก้ไขความหลง ความโง่ สิ่งที่มันสำคัญที่สุดมันอยู่ตรงนี้ แต่คนทั้งหลายนั้นไม่รู้ ก็มัวไปให้ความสำคัญ กับ เรื่องยศ เรื่องลาภ เรื่องอำนาจเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็ใช้การแก่งแย่ง เบียดเบียน ทุจริต ข่มเหง เห็นแก่ตัว ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่เป็นสาระอะไรที่แท้จริง ก็ไปแย่งกัน ไปเบียดเบียนกัน ไปคดโกงกัน สิ่งที่จะดับทุกข์ได้จริงๆเขาไม่ได้สนใจ"ทุกชีวิต มันจะต้องมีทุกข์ อยู่ทุกชีวิต" ปัญหาคือ ถ้าดับทุกข์ไม่ได้ มันก็แก้ปัญหาอื่นๆไม่ได้ทั้งนั้น

    ๘:๒๑ ปัญหาทั้งหลายมันไหลไปจากกิเลส

    "ปัญหาทั้งหลายมันไหลไปจากกิเลส" พอมีกิเลสแล้ว มันก็มีปัญหาออกไปมากมาย ปัญหาภายนอกมันเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะเหตุจริงๆ ถ้าเราพิจารณาแล้ว สาวเข้าไปแล้ว มาจากกิเลสทั้งนั้น โดยเฉพาะว่ ากิเลสมันสร้างขันธ์ ๕ สร้างรูปนาม สร้างสังขารนี้ขึ้นมา มันก็มาเผชิญกับปัญหาต่างๆ อย่างนี้ ก็ขอให้ทำปัญญาให้เห็นชอบ รู้อย่างนี้ก็เข้ามาสนใจ ที่จะศึกษาความจริงของชีวิตซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงไว้แล้ว วิธีที่จะค้นคว้า วิธีที่จะพิสูจน์ความจริงก็มีอยู่แล้ว เพียงว่าหันมาสนใจศึกษาฟังให้เข้าใจ แล้วก็ลงมือพิสูจน์ ก็จะพบว่า ธรรมะแก้ทุกข์ ดับทุกข์ได้จริงๆ เอาแต่ระดับ เมื่อจิตใจมีความเศร้าโศกมีความฟุ้งซ่าน มีความเร่าร้อนอยู่นี้ ดับได้ ธรรมะนี้ช่วยได้ ไม่ต้องคอยผลชาติหน้า ได้รับผลในปัจจุบันนี้ความดีที่ทำ ปฏิบัติธรรม มีธรรม ก็คือความดี ความดีที่ทำนี่ มันให้ผลทันที ผลบุญจะเกิดขึ้น คือความสุข ความสงบ

    ๙:๒๑ รู้อยู่อย่างปกติ

    คนที่มีธรรม ฝึกกรรมฐานเป็น เมื่อจิตใจมีความทุกข์เร่าร้อน เขาก็มีวิธีที่จะแก้ได้ทันทีเอาสติเข้าไประลึกรู้ๆ ใจตนเอง รู้สภาพอาการในจิต ด้วยความปล่อยวาง จิตก็เบาสงบเย็นถึงคราวจิตใจเศร้าโศก มีปัญหา เขาก็ใช้สติ เจริญสติ เข้าไปรู้จิต ดูจิต ดูความรู้สึกในจิต ดูอย่างถูกต้อง คือเข้าไป "รู้อย่างปกติ" รู้อย่างปล่อยวาง สภาพจิตก็เปลี่ยนจากความเศร้าโศกหม่นหมองมาเป็นความปกติความสงบ ความเบา ความเย็นขึ้น อย่างนี้คือ ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมที่ให้ผลได้ว่าอะไรจะมีค่ากว่าอย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี่ไม่ได้ เราไม่มีวิธีที่จะแก้ปัญหาในใจเราได้ เราไม่แย่หรือถ้าหากเกิดฟุ้งมากๆ เกิดเสียใจมากๆ เราไม่เป็นบ้าเป็นหลัง เราไม่เป็นโรคประสาทหรืออย่างน้อย เราก็อาจจะนอนไม่หลับ เราไม่ทุกข์ทรมานแย่หรือ ถ้าเราไม่มีธรรมแก้ จึงจำเป็นที่จะต้องหันเข้ามาสนใจ วิธีการฝึกจิต

    ๑๐:๒๑ ดูกาย ในส่วนของ ลมหายใจ

    "การฝึกจิต" นั้น ก็ไม่ได้ไปทำอะไรที่ไหน เฝ้าดูเฝ้ารู้ ในกายของตนเองนี่แหละว่ามีอะไรเกิดขึ้น ก็ตามดูรู้ไปนะ "รู้กาย รู้จิต รู้เวทนา รู้สภาพธรรมในจิต" ขณะนี้มีอาการอย่างไรมีความรู้สึกอย่างไร บางทีก็รู้กายบ้าง ใหม่ๆ ดูจิตใจยังไม่ออก ดูจิตใจยังไม่เป็น ก็ดูกายไปเอาสติไปตามดูกาย กายนี้ ก็ดูได้หลายอย่าง "ดูกาย ในส่วนของลมหายใจ" ก็ได้นั่งตั้งกายตรง ดำรงสติ แล้วก็เอาสติไปตามรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดู รู้อยู่อย่างนี้หายใจเข้ารู้ หายใจออกก็รู้ ไปประคับประคองที่จะรู้ลมหายใจมัน เดี๋ยวมันไม่อยู่ มันไปแล้วก็กลับพยายามฝึกอยู่อย่างนี้ มันไป เราก็ดึงเข้ามาอีก หนักเข้าๆ ก็จะสงบ เกิดสมาธิ เกิดความสงบนี้ก็คือการปฏิบัติกรรมฐานแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เพราะมีลมหายใจอยู่แล้ว มีลมหายใจอยู่ทุกชีวิตเพียงแต่ว่า เอาสติเข้าไปตั้งรู้ ลมเข้า ลมออก เมื่อสติไปอยู่กับลมหายใจอยู่ มันก็ไม่ไปคิดเรื่องอื่นจิตมันก็ตั้งมั่นอยู่ เมื่อรวมอยู่ มันก็มีพลัง มีสมาธิ จิตมันก็สงบ จิตสงบ มันก็รู้สึกมีความสุขซึ่งจะเอาความสุขอื่นๆ มาเทียบกับความสงบทางจิตใจ ไม่ได้

    ๑๑:๒๑ ดูกายนั่ง/ดูกายในกาย

    หรือว่า ไม่ถนัดดูลมหายใจ ก็ดูกายอย่างอื่น "ดูกายนั่ง" ก็ได้ นั่งก็รู้มาที่กายนั่งนะคือ ดูท่าทางของกาย หรือว่าจะให้หยาบขึ้น ก็ดูให้เห็น เป็นท่อนแขน ท่อนขา หน้าตารูปร่าง สัณฐาน ร่างกายของตัวเอง นั่งขัดสมาธิเหมือนองค์พระ เอาสติควบคุมจิตให้อยู่กับกายอย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดสมาธิ เกิดความสงบนะ ก็เป็นการปฏิบัติกรรมฐานหรืออาจจะ "แยกกายออกไปพิจารณา ในส่วนต่างๆ ของกาย" นึกถึงผม นึกถึงขน นึกถึงเล็บพิจารณาถึงฟัน ถึงหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หัวใจ ตับ ปอด ม้าม ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อุจจาระ ปัสสาวะเลือด เสลด น้ำเหลือง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่ประกอบเป็นร่างกาย พิจารณาให้เห็นว่า มันเป็นของปฏิกูลจิตก็สลด หยุดความทะเยอทะยาน ทำให้เกิดความสงบ

    ๑๒:๒๑ พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ

    หรือว่า จะ "พิจารณาร่างกาย โดยความเป็นธาตุ ดินน้ำลมไฟ" เราก็พิจารณาดูว่าร่างกายนี้ ที่แท้จริง มันเป็นอย่างไร มันประกอบด้วย "ธาตุดิน" ลองนึกถึง ผมหนัง เล็บ ฟัน กระดูก อันนี้ก็เป็นส่วนของความเข้นแข็ง มันก็เป็นธาตุดิน ต้องนึกเอาไปกองหนึ่งเหมือนคนที่แล่เนื้อขาย ฆ่าโคแล้ว เขาก็แล่เอาเนื้อ เอาหนัง เอาหัวใจ ตับ แล้วไปเร่ขาย ไปวางตลาดขายเป็นชิ้นต่างๆ ก็ไม่มีตัววัว ตัวควาย หรือหมูก็เหมือนกัน ผ่าแล่ เอาเนื้อหัวใจ ตับ เวลาคนไปซื้อ เขาก็ไปซื้อเนื้อสามชั้นบ้าง ไปซื้อหัวใจ ตับ เลือด หาตัวหมูไม่เจอ อันนี้เหมือนกัน ก็พิจารณาร่างกายแยกส่วนเอาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น ไปกองไว้เป็น "ธาตุดิน" ส่วนไหนเป็น "ธาตุน้ำ" คือเหลวเอิบอาบเช่น น้ำลาย ปัสสาวะ เลือด เหงื่อ เสมห ะพวกเหล่านี้ ที่เป็นของเหลว แยกไปส่วนหนึ่งไปกองไว้ส่วนที่เป็น "ธาตุลม" คือ กระพือพัดไป เช่น ลมพัดขึ้นเบื้องบน-พัดลงเบื้องล่าง ลมในท้องในไส้ลมแล่นไปตามร่างกาย ลมหายใจเข้า-ออก เป็นธาตุลมไปกองไว้ส่วนหนึ่ง ร่างกายก็มีช่องว่างก็เป็นลมส่วนที่เป็นไออุ่น ก็เป็น "ธาตุไฟ" อยู่ในกาย ก็แยกไปส่วนหนึ่ง กระจายออกไปแล้ว ก็จะไม่มีคน สัตว์มีแต่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างนี้ก็เป็นกรรมฐานได้ ให้เกิดความสงบ

    ๑๓:๒๑ สู่วิปัสสนาพิจารณาเข้ามาที่กาย/หยั่งรู้จิต

    เมื่อในใจมีความสงบคุ้นเคยอยู่กับกายแล้ว ก็เจริญต่อไป "สู่วิปัสสนา" เปลี่ยนอารมณ์จากการที่นึกเห็นเป็นรูปร่าง สัณฐาน ที่จะเป็นความหมาย นึกเป็นความหมาย เป็นรูปร่าง สัณฐาน ก็เปลี่ยนมาสู่"อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์" คือ อารมณ์จริงๆ ที่ไม่ต้องนึก ไม่ต้องใช้ความนึกคิด แต่เพียงแต่หยุดรู้อย่างเป็นกลางไม่ต้องปรุงแต่งอะไร รับรู้อยู่ สิ่งนั้นที่มันปรากฎให้รู้ มันก็จะเป็นปรมัตถ์เป็นความรู้สึก "พิจารณาเข้ามาที่กาย"มันก็มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ขณะหายใจเข้าออก รู้เข้ามาที่กาย เข้าไปสังเกตความรู้สึกมันก็จะมี ตึงบ้าง หย่อนบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ปวด เจ็บ สบาย ไม่สบาย อันนี้ก็เป็นปรมัตถธรรมเป็นของจริงๆ ก็เอาสติเข้าไปหยั่งรู้ความรู้สึกเหล่านี้ และอีกส่วนหนึ่ง ก็ไป "หยั่งรู้จิต" จิตใจอันเป็นสภาพรู้สภาพนึกคิด รับรู้อารมณ์ สติก็ระลึกไป ก็รู้ถึงอาการในจิต บางทีมันรัก มันชัง มันขุ่นมัว เศร้าหมองมันสงบมันสงสัย มันฟุ้ง มันมีอาการอะไรต่างๆ ก็ตามดูรู้ไป ให้รู้จักธรรมชาติที่เป็นปรมัตถ์ต่างๆทั่วถึงไปแล้วก็ฝึกให้มันปกติขึ้น คือ การที่ไม่เข้าไปบังคับสติ ตามดูรู้ทันด้วยความเป็นปกติ คือมีการปล่อยวางมีการไม่ฝืน ไม่บังคับ ไม่ไปสู่สมมุติ แห่งความเป็นรูปร่าง ความหมาย รับรู้อยู่แต่ความรู้สึกโดยไม่เจาะจงว่าจะต้องตรงนั้นตรงนี้ ว่าในที่สุดมีความเป็นปกติมากขึ้นๆ จนทำไปเหมือนไม่ได้ทำอะไร

    ๑๔:๒๑ ไม่ต้องจ้องจับอารมณ์

    ส่วนมากผู้ปฏิบัติ เวลาทำ มักจะไปฝักใฝ่ ไปค้นหา ไปเพ่งดู ไปติดตาม ไปจ้องจับอันนี้ มันยังเป็นเรื่องของความยังไม่เป็นปกติ แต่ว่ามันก็จำเป็นสำหรับการฝึกหัดฒิพฬ ในเบื้องต้นๆ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็รู้สึกว่า จะไม่มีสมาธิ จะไม่คม จับอะไรไม่อยู่ก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุม ไปจ้องไปจับ อารมณ์เหล่านั้น เพราะยังไม่ชำนาญ ถ้าทำแบบปล่อยธรรมดา รู้สึกว่าจับอะไรไม่ได้ รับรู้อะไรไม่ได้ แต่คนที่ชำนาญ คนที่เป็นฒิพฬ เขาก็ไม่ต้องไปจ้องจับอะไร ไม่ต้องไปจ้องจับอารมณ์ปล่อยลอยตัวอย่างนั้น ฒิพฬ ฉะนั้นกระแสของจิตจะรับอารมณ์ต่างๆทั่วไป แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่จะรับอารมณ์ต่างๆ แล้วฒิพฬ สติก็ระลึกรู้ในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฎไม่จงใจ รับรู้ไปในความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ในจุดย่อยๆ ทั่วๆ ไปทำให้แนบเนียน จนมีความปกติที่สุด เหมือนกับว่าไม่ได้ทำ ที่ว่าทำเหมือนไม่ได้ทำ ก็หมายถึงว่า ไม่มีตัวกระตุ้นเลยไม่มีที่จะไปจ้องจับอะไรเลยนะ อยู่เฉยๆ แท้ๆ วางจิตใจเฉยๆ แท้ๆ วางจิตเป็นธรรมดาเปล่าๆ อยู่อย่างนั้นฒิพฬ แต่ว่ามันจะเกิดความแยบคาย เกิดความรู้ละเอียด เพราะว่ามันมีความเบา มันมีความเบาตัว มีความเบาตัวแล้วมันก็รับสิ่งที่ละเอียดได้หมด จะไหวกาย ไหวใจ ไหวความรู้สึกอะไร ส่วนใด เพียงแผ่วเบา เพียงเล็กน้อยมันก็สัมผัสได้ทั่วไปต่างๆในอารมณ์ จุดเล็ก จุดน้อย อะไรต่างๆ แล้วสภาพจิตมันก็จะเบา ไม่มีความเคร่งเครียดร่างกายก็เบาตัว จิตใจก็เบาใจ เป็นธรรมดาเป็นปกติ เป็นเรื่องที่ ถ้าเรามีความเข้าใจ ก็ทำแบบนี้ไป

    ๑๕:๒๑ ไม่ฝืนไม่บังคับ

    แต่ถ้ายังไม่เป็นอย่างๆ นี้ได้ ก็จำเป็นต้อง ไปจ้องจับอารมณ์ แล้วแต่ว่า มากน้อย บางคน ก็จ้องจับพอสมควร บางคนก็เอาจริงเอาจัง ไปที่หนึ่งไป ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ก็คือในระดับนั้น ก็ต้องทำอย่างนั้น แต่ให้รู้ว่า ในที่สุดแล้วนี่ มันจะต้องวางคือจะต้องปล่อยต้องวาง ต้องไม่บังคับ ต้องไม่ฝืน รู้สึกขณะใด ที่มีการฝืนก็แสดงว่าไม่เป็นปกติ ต้องไม่ฝืน ทั้งหมดทำอย่างไม่ฝืนความรู้สึกทางกาย ทางจิตไม่ฝืนสติ ไม่ฝืนจิต ไม่ฝืนกายไม่มีปฏิกริยา ไม่มีการบังคับ จูงใจ อย่างไรทั้งสิ้นท่านทั้งหลายก็อาจจะคิดว่า ถ้าทำอย่างนั้น ก็มิเลื่อนลอยไปหมดหรือ ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้อะไรเลยเพราะเราคิดอย่างนี้ ก็มักจะทำอย่างที่ จะเอาให้ได้อยู่เรื่อย ไอ้ตัวที่จะเอาให้ได้อยู่เรื่อยมันจึงสร้างปัญหาในเรื่องความผิดปกติ ทำให้เกิดความไม่นุ่มนวล ทำให้เกิดความเกร็งความเคร่งทางจิตใจ ทำให้จิตก็ไม่ผ่องใส จิตไม่แช่มชื่น จิตไม่เบา เพราะว่าความอยากมันเข้าไป

    ๑๖:๒๑ รู้ทุกข์ ละตัณหา ในปัจจุบัน

    จะพูดอีกแง่หนึ่งแล้ว การปฏิบัติก็เหมือนกับการ ทำอยู่กับการลดความอยาก เท่านั้นเองมันก็ตรงในอริยสัจจะสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ละความอยาก คือ ละเหตุแห่งทุกข์รู้ทุกข์อยู่นั้น แล้วก็ละความอยากให้ได้ สติรู้กับรูปนามอยู่นั้นหละ รู้ปรมัตถ์อยู่นั้นหละแต่ว่าละความอยากไป ในขณะที่รู้รูปนาม คืออย่าให้มีความอยากเข้ามา คืออยากมา ก็รู้ทันแล้วก็ให้มันวางเฉยซะ ต้องรู้รูปนามอย่างวางเฉย ไม่มีความอยาก ไม่มีความต้องการ จงใจ จดจ้องอะไรทั้งหมด วางอยู่เปล่าๆ รู้สภาพของรูปนาม ความรู้สึกอย่างนั้น เรียกว่า รู้ทุกข์ ละตัณหา ในปัจจุบันมันก็ได้รับความดับทุกข์ในปัจจุบัน คือจิตใจก็ไม่ทุกข์ จิตใจเบา ผ่องใส กายก็เบา อันนี้เรียกว่า มันเป็นเบื้องต้นเป็นการละเหตุแห่งทุกข์ เป็นความดับทุกข์ในระดับต้นๆ แต่มันก็ต้องสอดคล้องกับในระดับบั้นปลายหรือว่า เราไม่ต้องไปหวังผลอะไรไกลขนาดไหน แต่เราทำได้อย่างนี้ มันก็ดีอยู่แล้ว ปฏิบัติไปแล้วจิตมีความเบา มีความผ่องใส มีความเป็นปกติอยู่ แล้วก็มีความรู้เห็นสภาพธรรมอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่วางไปแบบไม่รู้อะไรนะ วางไปแบบไม่รู้อะไร อันนั้น ก็เป็นเรื่องของสมถะไป อันนี้ต้องรู้อยู่มีสติรู้ตื่นอยู่ แต่มันรู้อยู่อย่างไม่เคี่ยวเข็ญ ไม่จงใจ รู้แบบมันปล่อยอยู่มันวางอยู่

    ๑๗:๒๑ ความเพียรที่เป็นปกติ

    ส่วนมาก เราคอยแต่จะเอาอยู่เรื่อย ปฏิบัติได้ก็จะเอา จะเอารูป จะเอานาม จะเอาสมาธิ จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ที่นี้ให้มันตรงจริงๆ คือไม่เอาเลย ทำให้มันไม่เอาอะไรที่จริงถ้าหากว่า อย่างนั่งปฏิบัติปุ๊ป พอนั่งไป เริ่มต้นก็ไม่เอาอะไรเลยจริงๆ มันก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความเคร่งเครียด ความเคร่งตึง อะไรเข้ามา ที่นี้บางครั้งเราก็มองภาพว่า ปฏิบัตินั้นจะต้องทำอะไรทำอะไรขึ้นมา จะต้องขวนขวาย พากเพียร ถ้าไม่เพียรละก็ มันก็ไม่สำเร็จ เราก็เลยเข้าใจว่า ความเพียรนั้นจะต้องไปติดตามจ้องจับ เลยเป็นเหยื่อตัณหาไปหมด ความจริงอยู่เฉยๆ นั้นแหละ รู้ตื่นอยู่ มันก็มีความเพียรอยู่ในตัว แต่มันเป็นความเพียรที่ไม่มีตัณหาเข้ามา เป็นความเพียรที่ปกติ เป็นความเพียรชอบ เป็นสติชอบเป็นสมาธิชอบ ถ้าเป็นความคิดชอบ คืออยู่กับรูปนาม ไม่ไปสู่สมมุติ ไม่ปรุง ไม่ไป เวลาปรุงมันก็จะรู้ละ ก็จะพบตัวการปรุงของจิต ปฏิบัตินี่ ถ้าหากไปเห็นจุดเริ่มต้นของการปรุงในกระแสจิต มันก็หยุดปรุงได้หยุดได้ทันที คือ ความที่สติเข้าไปรู้ พอรู้ มันก็หยุด รู้มันก็หยุด "การจะปรุง" คือ มันนึกในจิต มันจะเริ่มนึกพอนึกขึ้นมา มันก็ฉายสมมุติเข้ามาแล้ว มีเรื่องมีราว มีภาษา มีความหมาย พอสติมันรู้ จุดของการนึกมันก็หยุด มันก็วาง ก็สบายไป ไอ้ความหมาย บัญญัติสลายไป มีธาตุรู้อยู่ เดี๋ยวมันปรุงอีก มันก็รู้ได้อีกคือ การรู้ ๆ ๆ นั่นนะ มันไม่ใช่รู้แล้วก็จบลง มันต้องรู้กันอยู่ทุกขณะ รู้กันอยู่เรื่อยไป แต่ว่าอย่าไปบังคับไปเคี่ยวเข็ญ ไปจงใจ ไปผลักดัน ให้หมั่นเป็นความรู้ขึ้นมาโดยละเอียด โดยธรรมชาติ โดยปกติอันนี้แหละนะก็ขอฝากให้ไปพิจารณา ให้ลองไปทดลองดู ลองฝึกหัดดู

    ๑๘:๒๑ ลดความอยาก เพิ่มความปล่อยวาง

    "สำหรับผู้ที่ฝึกหัดปฏิบัติกันมามากๆ แล้วนี่" มันเพียงพอแล้ว เหตุปัจจัยที่เราเพ่งเล็งพิจารณาจ้องจับสภาวะนี่ มันมีกำลังอยู่แล้ว ไอ้ตัวที่จะรู้นี่ มันมีกำลัง เรามาลดความอยาก เพิ่มการปล่อยวาง ให้มีอยู่ในส่วนที่พอดีขึ้นมา แต่คนใหม่ ๆ นั้น คงจะทำอย่างที่กล่าวนี้ ก็จะเป็นไปยาก สำหรับผู้ฝึกใหม่แต่ก็พูดไว้สำหรับบางคนบางท่าน ที่อาจจะมีอัธยาศัย มีปัญญา ก็อาจจะทำได้ หรือไม่ก็ ยังมีแนวไว้ว่าการปฏิบัติมันก็ต้องไปอย่างนี้ ก็คือเข้าไปสู่ความเป็นปกติ ความไม่บังคับ แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการ เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จ้องจับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไปก่อนก็ตาม แต่ให้รู้ว่านั้นมันเป็นเรื่องการฝึกฝนฝึกหัด เป็นเรื่องเริ่มต้นมีรูปแบบ มีข้อกฎ ที่ต้องจัด ต้องทำ เพื่อให้จิตใจมันอยู่ แต่ให้รู้ว่าทุกอย่างมันไม่ใช่อยู่แค่นั้นจะต้องมีการปรับให้เป็นปกติขึ้นคือการเข้าไปสู่การไม่บังคับ ไม่บังคับบัญชา และอีกอย่างคือ ให้ตรงๆ ต่อปรมัตถ์ด้วย อันนี้ก็สำคัญ

    ๑๙:๒๑ อสัมโมหะสัมปชัญญะ

    การที่แยกอารมณ์ไม่ออกว่า อันไหนเป็นบัญญัติ อันไหนเป็นปรมัตถ์ ก็มีปัญหาเรื่องการระลึกรู้ที่ไม่ตรง ถ้าแยกออกมันก็เข้ามาสู่อารมณ์ปรมัตถ์ได้ ไม่หลงบัญญัติเรียกว่ามี "อสัมโมหสัมปชัญญะ" การไม่หลงอารมณ์โดยเฉพาะบัญญัติ ขณะใดจิตไปสู่บัญญัติมันก็หลุดออกมาได้ หลุดจากบัญญัติ เข้ามาสู่ปรมัตถ์ได้ ไม่หลงอารมณ์ก็มีปัญญาอย่างหนึ่งปัญญาที่รู้จักไม่หลงบัญญัติไม่หลงอารมณ์ บางคนนั้น ไม่มีอสัมโมหสัมปชัญญะ บางทีจิตทำสมาธิไปอยู่กับความว่าง ก็อยู่อย่างนั้น ความว่างเป็นสมมุติบัญญัติ อยู่อย่างนั้น เรียกว่า "หลงอารมณ์" อ้าว หลงอยู่อย่างนั้น ปล่อยจากบัญญัติมาไม่ได้ ที่จริงตัวปรมัตถ์ มันก็มีอยู่ขณะนั้น คือตัวรู้สภาพรู้ที่ไปรู้ความว่าง และความสงบ ความรู้สึกในสภาพรู้นั่นแหละ ที่เป็นปรมัตถ์ แต่ว่าสติไปหยุด ไปถูกความว่างมันดูดเข้าไปหา ไปว่างอยู่ มันก็ถือว่ายังหลงอารมณ์อยู่ ไม่มีปัญญาในระดับอสัมโมหะสัมปชัญญะที่จะปล่อยจากบัญญัติมาสู่ปรมัตถ์ อันนี้ก็สืบเนื่องมาจากว่า ต้องมี"โคจรสัมปชัญญะ"

    ๒๐:๒๑ โคจรสัมปชัญญะ

    คือ รู้ที่ไปของสติปัญญาด้วย หมายถึงอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ ก็ต้องรู้จักก่อนอารมณ์ใดบ้างที่เป็นปรมัตถ์ ที่มันเป็นรูปเป็นนาม ต้องรู้ที่ไป ต้องรู้ว่า ที่ๆ สติที่จะต้องระลึกไปในอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นรูปเป็นนาม มันมีลักษณะอะไรอย่างไรบ้าง คือ กายก็ต้องรู้ว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นี่แหละ ซึ่งเป็นที่ไปของสติ ทางจิต มันก็มีตัวรู้ความรู้สึกในจิต อาการในจิตนี้ เป็นที่ไปของสติ เป็นที่โคจรของสติ ไอ้ส่วนเรื่องราวต่างๆ นั้น มันไม่ใช่เป็นที่ไปความหมายไม่ใช่เป็นที่ไป รูปร่างสัณฐาน ไม่ใช่เป็นที่โคจร หรือว่า บัญญัติของความว่างนั้น ก็ไม่ใช่เป็นที่ไปของสติ ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิด วิปัสสนาญาณ

    สิ่งเหล่านี้ เป็นที่ไปของสมาธิได้ แต่เป็นที่ไปของปัญญาไม่ได้ นี่ปัญญาอย่างนี้ก็ต้องรู้แล้ว ต้องมีปัญญาอย่างนี้ เรียกว่ามี โคจรสัมปชัญญะ ปัญญารู้ที่โครจรของสติมีปัญญาว่า อารมณ์อย่างใด ที่จะเป็นที่ไปของสติ ที่ถูกต้อง รู้อย่างนี้แล้ว แต่บางคนรู้นี่ แต่มัน ก็ปล่อยออกมาไม่ได้ เพราะไม่มี อสัมโมหสัมปชัญญะ อย่างเช่นบอกว่า ฟังมาแล้วว่าความว่างไม่ใช่ของจริง แต่เวลาทำจริงๆ มันก็ไปอยู่อย่างงั้น ปล่อยออกมาไม่ได้ อย่างนี้ก็มีเหมือนกันนะ

    ๒๑:๒๑ สัปปายสัมปชัญญะ

    ก็ต้องประกอบกัน "มีสัปปายสัมปชัญญะ" มีปัญญารู้ความเหมาะสมถ้าเป็นภายนอก ก็รู้จักจะยืน จะเดิน จะนั่งอย่างไร ให้มันเหมาะสม ให้มันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติถ้าโดยรายละเอียดภายในแล้ว ก็คือ การวางสติอย่างไรให้เหมาะสม ที่มันพอดีถ้าเราวางไม่ดี มันก็ตึงเกินไป ถ้าวางไม่เป็น มันตึงบ้าง มันเผลอล่องลอยบ้างมันไม่ได้ส่วน ไม่ได้พอดี การรู้จักพอดี ก็ต้องมีปัญญาเหมือนกัน ปัญญาในตัวเองนั้นจะต้องรู้ว่าอย่างไร จึงจะเหมาะสมพอดีของมันในตัว ความพอดี มันก็เป็นของมันปกติของมันในตัวมันจะไม่ตึง ไม่หย่อน เพราะความพอดี ความเหมาะสม ไม่เพ่งเล็ง ไม่บังคับ ไม่เผลอ ก็ได้สัปปายะ

    ขอความสุข สวัสดี เจริญในธรรม จงมีแด่ ทุกท่านเทอญ

    :z1
     

แชร์หน้านี้

Loading...