รวมเรื่องการฝึกสมาธิ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 14 กรกฎาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ลักษณะของจิตที่มีสมาธิ

    จิตที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการเจริญสมาธิ จะมีความสงบ เยือกเย็น มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่มากระทบ ยิ่งเป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ ก็จะมีความสงบเยือกเย็น ประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ ในพระไตรปิฎก( กรมการศาสนา: คู่มือการอบรมสมาธิ, 2542.48) ได้กล่าวถึงลักษณะจิตที่มีสมาธิ โดยเฉพาะสมาธิระดับอัปปนาสมาธิไว้ ดังนี้

    1. ตั้งมั่น (สมาหิตะ) คือตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่จิตกำหนด

    2. บริสุทธิ์ (ปริสุทธะ) คือหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิต

    3. ผ่องใส ( ปริโยธาตะ) คือไม่มีกิเลสเครื่องทำใจให้ขุ่นมัว

    4. เรียบเสมอ (อนังคณะ) คือภาวะจิตที่ไม่ฟู ไม่แฟบ หรือขึ้นๆลงๆ

    5. ปราศจากสิ่งที่จะทำให้มัวหมอง (วิคตูปกิเลสะ) คือไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองมารบกวน

    6. นุ่มนวล ( มุทุภูตะ) คือมีความอ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง

    7. ควรแก่การงาน (กัมมนิยะ) คือเหมาะที่จะใช้งานโดยเฉพาะงานด้านพัฒนาปัญญา

    8. มั่นคง (ฐิตะ) คือดำรงมั่นเหมือนเสาเขื่อนไม่โยกโคลงหรือหวั่นไหว

    ในลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิทั้ง 8 นี้ ท่านพุทธทาสได้อธิบายลักษณะที่ 7 คือ กัมมนิยะ ว่า จิตที่ควรแก่การงาน มีความสำคัญหรือเป็นจุดมุ่ง หมายของสมาธิในพระพุทธศาสนา ( พุทธทาส:สมาธิวิปัสสนาตามวิธีธรรมชาติ,2531.2) ลักษณะของจิตที่มีสมาธิเช่นนี้ จะเป็นสนามปฏิบัติการทางปัญญา เป็นตัวหนุนให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม ไม่ใช่อยู่ในฌาน-สมาบัติแข็งทื่อเหมือนตุ๊กตาหิน ทำอะไรไม่ได้ ภาวจิตที่อยู่ในฌาณจะพิจารณาธรรมไม่ได้เลย มีแต่จะติดอยู่ในฌาณนั้นตลอดไป ผู้จะพิจารณาธรรม คือเข้าสู่วิปัสนาได้จะต้องออกจากฌาณเสียก่อน แล้วพิจารณาธรรมหรือเข้าสู่วิปัสสนาจึงจะบรรลุมรรคผล นิพพาน สามารถแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ได้

    http://www.suwalaiporn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=371722&Ntype=5

     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ลักษณะของจิตที่ไม่มีสมาธิ

    โดยปกติจิตที่ไม่มีสมาธิจะดิ้นรน กวัดแกว่ง บังคับยาก ห้ามยาก ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน มักตกไปในอารมณ์ที่ตนใคร่ ( กรมการศาสนา: คู่มือการอบรมสมาธิ, 2542.46) คัมภีร์ธรรมบทขุททกนิกายได้กล่าวถึงลักษณะจิตที่ไม่มีสมาธิไว้ ดังนี้

    1. ดิ้นรน ( ผนฺทนํ ) คือดิ้นรนเพื่อจะหาอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ เหมือนปลาถูกจับไว้บนบกก็จะดิ้นรนต้องการจะลงไปในน้ำฉะนั้น


    2. กวัดแกว่ง ( จปลํ ) คือไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน รับอารมณ์นี้แล้วเปลี่ยนไปหาอารมณ์นั้น หลุกหลิก เหมือนลิง ไม่ชอบอยู่นิ่ง

    3. รักษายาก ( ทุรักฺขํ ) คือรักษาให้อยู่กับที่หรือให้หยุดนิ่งโดยไม่ให้คิดเรื่องอื่นทำได้ยาก เหมือนเด็กทารกไร้เดียงสา จะจับให้นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆทำได้ยาก

    4. ห้ามยาก (ทุนฺนิวารยํ) คือจะคอยห้ามคอยกันว่าอย่าคิดเรื่องนั้น จงคิดแต่ในเรื่องนี้ ทำได้ยากเหมือนห้ามโคที่ต้องการจะเข้าไปกินข้าวกล้าของชาวนา ทำได้ยากฉะนั้น

    http://www.suwalaiporn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=371722&Ntype=5
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    การทำงานต้องมีสมาธิ

    เป็นหัวข้อบทความที่หลายๆท่าน พออ่านแล้วก็คงแทบไม่อยากอ่านต่อ แต่ถ้าได้อ่านต่อไปจนจบ ก็จะรู้ว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงได้นำมาเขียน

    การทำงานทุกชนิด ก็ย่อมเป็นไปตามลักษณะงาน อันเป็นอาชีพต่างๆที่แต่ละคน ล้วนได้ประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อเลี้ยงชีพ อันเป็นการสังคมเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์

    สมาธิ คือ การรู้จักควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งในทางพุทธศาสนานั้น ให้ความหมายของความมีสมาธิว่า "ความตั้งมั่นในจิตใจ" ซึ่งเมื่อขยายความแล้ว ก็คงได้ความหมายดังที่ได้กล่าวไป

    สมาธิ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์(หมายเอาเฉพาะมนุษย์) ล้วนมีสมาธิ อยู่เองตามธรรมชาติ เพราะความมีสมาธิของมนุษย์นั้นเอง จึงเกิดเป็นผลแห่งสมาธิ ในตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งในทางพุทธศาสนา เรียกว่า สติ สัมปชัญญะ

    เมื่อข้าพเจัาได้อธิบายความเกี่ยวกับสมาธิพอสังเขปแล้ว
    ก็จะมากล่าวถึงการทำงานของทุกอาชีพ


    ความจริงแล้ว การทำงานของบุคคลในทุกอาชีพ ล้วนต่างก็มีสมาธิเป็นเครื่องประกอบ หรือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่ง รองลงไปก็ได้แก่ ความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการทำงาน หรือวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับอาชีพนั้น ๆ


    ซึ่งในทางที่เป็นจริงแล้ว ทั้งสมาธิ และความรู้ ความเข้าใจ ในวิชาชีพ อันเกี่ยวข้องกับอาชีพนั้นๆ จะสัมพันธ์กัน เพราะเป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว
    การทำงานต้องมีสมาธิ ไม่ได้มีความหมายว่า เวลาทำงานต้องปฏิบัติสมาธิไปด้วย


    แต่การทำงานต้องมีสมาธิ หมายความว่า ขณะทำงานนั้นๆ ต้องมี สัปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัว คือต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าขณะนั้นกำลังทำงานอะไร
    และต้องมี สติ คือ มีความระลึกได้ คือ ต้องระลึกได้อยู่เสมอว่าเรากำลังทำงานอะไร ต้องระลึกได้ถึงหลักการ ความรู้ ความเข้าใจ หรือวิชาชีพ อันเกี่ยวข้องกับการทำงานนั้นๆ


    เพราะคำว่าสมาธิ เป็นเพียงชื่อเรียก หรือเป็นเพียงเหตุที่ให้ถึง แต่หนทางหรือผลที่เกิดจากสมาธิ อันเรียกว่า สติ สัมปชัญญะ นั้น จะเป็นเครื่องช่วย เป็นปัจจัยหลัก เป็นธรรมชาติ ที่มนุษย์ มีติดตัวอยู่แล้ว ซึ่งล้วนได้รับจาก กรรมพันธุ์ การได้รับการขัดเกลาทางสังคม จารีตวัฒนะธรรม ประเพณี และด้านอื่นๆ
    ความจริงแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่จะทำงานโดยมีสมาธิ ไปเองตามธรรมชาติ แต่การกระทำใดใดที่ทำได้แต่ไม่รู้หลักวิชาการเลย ก็จักทำให้สภาพจิต สภาพการทำงาน อาจไม่ดีขึ้น หรือไม่มีการพัฒนา


    แต่ถ้าหากบุคคลรู้ และเข้าใจในสภาพของตัวเองกับการทำงานแล้วละก้อ ย่อมสามารถควบคุมบังคับ ตัวเองให้อยู่ในกรอบ สามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรใดใด ให้เจริญก้าวหน้า อย่างดียิ่ง



     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    สมาธิ กับการดำรงชีวิตของมนุษย์

    สวัสดีท่านทั้งหลาย บทความนี้ เป็นบทความต่อเนื่องจาก บทความหรือกระทู้ เรื่อง “การทำงานต้องมีสมาธิ” เหตุเพราะในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ล้วนมีปัจจัยที่เรียกว่าสมาธิ เข้ามาเกี่ยวข้องแทบทุกเวลาเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่ตื่นตอน ไปจนถึงเข้านอน หมุนวนกันเป็น วัฏฏะจักร

    จากที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า สมาธิ นั้น มีอยู่ในตัวมนุษย์ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว นั่นเป็นเพราะสภาพแวดล้อม การได้รับการขัดเกลาทางสังคม และอื่นๆ ทำให้มนุษย์มีสมาธิ


    สมาธิ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งจำเป็น เป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง ซึ่งในทางศาสนาทุกศาสนา ล้วนมีหลักการปฏิบัติสมาธิ หรือฝึกสมาธิ หรือสร้างสมาธิเป็นข้อสำคัญ แต่ทว่าในแต่ละศาสนานั้น จะมีการปฏิบัติ สมาธิ หรือฝึกสมาธิ หรือสร้างสมาธิ หรือวิธีการฝึกปฏิบัติ สร้างสมาธิ ที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงการสร้าง หรือวิธีการฝึกปฏิบัติ สมาธิ ของศาสนาอื่นๆ แต่จะกล่าวถึงหลักการหรือวิธีการสร้างหรือวิธีการฝึกปฏิบัติ สมาธิ ทางศาสนาพุทธ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดใด ก็ล้วนมีจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของการฝึกปฏิบัติสมาธิ หรือสร้างสมาธิ ในทิศทางเดียวกัน เพื่อหวังผลแห่งการปฏิบัติสมาธิเช่นเดียวกัน เหมือนกัน ทุกศาสนา


    ดังนั้นข้าพเจ้าจึงจะกล่าวถึงสมาธิในทางศาสนาพุทธ เพราะดูเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเป็นการสมควร เนื่องเพราะคนไทย 97 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาพุทธ อีกทั้งศาสนาพุทธก็เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาอื่นๆ ยกเว้นศาสนา พราหมณ์ ฮินดู


    ตามที่ข้าพเจ้าเคยได้อธิบายไปถึงเรื่อง การทำงานต้องมีสมาธิ แล้วนั้น เป็นเพียงการกล่าวถึงหรืออธิบายถึง สมาธิในการทำงาน หรือการทำงานต้องมีสมาธิ อันเป็นวิถีชีวิตเพียงส่วนหนึ่ง ในการสังคมปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์ ซึ่งในทางที่เป็นจริงนั้น วิถีชีวิตของมนุษย์มิใช่มีการปฏิสัมพันธ์กันเพียงแค่การทำงานเท่านั้น แต่มนุษย์เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว จนไปถึงระดับประเทศ และ จนที่สุดก็คือระดับโลก


    การปฏิสัมพันธ์ หรือวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ ล้วนต้องอาศัยสมาธิ ในการดำรงชีวิตและ ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อยู่เกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นภายในครอบครัว อันหมายถึง การครองเรือนของแต่ละบุคคลในครอบครัว เช่น ครองเรือนเป็นบิดา มารดา ลูก พี่ น้อง หรือ ญาติ ทั้งหลาย และขยายวงกว้างจากครอบครัวออกไป เป็นเพื่อนสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง จนไปถึงระดับประเทศ


    การครองเรือนของแต่ละบุคคล ล้วนต้องอาศัยสมาธิ ซึ่งสมาธิก็ย่อมหมายถึง การรู้จักควบคุม ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ฯลฯ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความมีสมาธิ ก็คือ การสติ คือ ความระลึกได้ และ สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัว อยู่เสมอ ความมีสมาธิของแต่ละบุคคล ย่อมก่อให้เกิดการเข้าใจที่ดีต่อกัน มีการเจรจาติดต่อสื่อสารที่เหมาะสม และสมควร ย่อมมีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงตน และครอบครัว อีกทั้งยังรู้คุณแห่งความรู้ ความเข้าใจในหลักการ หรือวิธีการ แห่งวิชาชีพ รู้คุณระลึกคุณ แห่งการครองเรือน ฯ มีการประพฤติปฏิบัติ ตามจรรยา แห่งการครองเรือน และ อาชีพนั้นๆ และยังหมายรวมไปถึงการรู้จักการให้ทาน ต่อบุคคลในครอบครัว มีความคิด ที่ดีที่ถูกที่ควร ด้วยความสติ สัมปชัญญะ ตามสมควร


    แล้วทำไมศาสนาพุทธจึงมีวิธีการ หรือหลักปฏิบัติ หรือวิธีสร้างสมาธิ ให้กับมนุษย์ทั้งหลาย ก็ในเมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่า “สมาธิ มีอยู่เองตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว”


    ที่พุทธศาสนา มีวิธีการ หลักปฏิบัติ หรือวิธีสร้างสมาธิ นั้น ก็เป็นเพราะ พระพุทธองค์ได้วิจัยค้นคว้า และพิสูจน์ อย่างแน่นอนแล้วว่า การสังคมเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้น ย่อมเป็นเหตุทำให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งถ้าข้าพเจ้าจะกล่าวอีกว่า มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อได้ปฏิสัมพันธ์ ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสิ่งของ ฯ มนุษย์ ก็ย่อมต้องเกิดความอยาก เกิดความต้องการ เกิดความรู้สึก และเกิดอารมณ์ ในรูปแบบต่างๆกันไป


    ดังนั้น พุทธศาสนาซึ่งได้รับการวิจัยค้นคว้า และฝึกปฏิบัติจนได้ผลดีแล้ว พบว่า


    หากมนุษย์ได้ฝึกฝน ได้รู้เทคนิคหรือวิธีการสร้างสมาธิ เพื่อควบคุม อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ความอยาก ความต้องการ ความรู้สึก หรือสภาพอารมณ์ หรือพฤติกรรม การกระทำ อันเป็นวิธีการหรือเทคนิค ที่จะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมโดยสงบสุข ได้ในระดับหนึ่ง อันเป็นระดับพื้นฐาน


    ต่อเมื่อ มีสมาธิ หรือรู้จักควบคุมตัวเอง หรือมีสติ สัมปชัญญะดีแล้ว ก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักวิชาการต่างๆ และยังหมายรวมถึง หลักธรรมคำสอนเป็นสิ่งยับยั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด พฤติกรรม หรือการกระทำ อันเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์และสรรพสิ่ง


    สมาธิ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเรื่อง “การทำงานต้องมีสมาธิ”ว่า หมายถึง การมี สัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัว แต่ไม่ใช่การรู้สึกตัวโดยความคิด แต่เป็นการรู้สึกตัวโดยส่วนลึก คือไม่ต้องคิด ก็รู้สึกตัว ยกเว้น ได้รับการสัมผัสที่ผิดปกติหรือผิดแผกไปจากการดำรงชีวิตปกติทั่วไป เช่นตกใจ เมื่อได้ประสบเหตุการณ์ บางอย่าง ไม่ว่าจะด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจ อันนี้ความรู้สึกตัว หรือ สัมปชัญญะ ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดความคิด ซึ่งในทางพุทธศาสนาเรียกว่า สติ คือ ความระลึกได้ คำว่า ระลึกได้นั้น หมายถึงระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมา และระลึกถึง หลักวิชาการ ประสบการณ์ความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการ วิธีการต่างๆ อันจะเกิดขึ้นโดยที่เราแทบไม่รู้ตัวว่า เราได้คิดคือ จะเร็วมาก จนสามารถนำเอา ความรู้ ประสบการณ์ หลักวิชาการ ความเข้าใจในหลักการ วิธีการต่างๆ มาใช้ ณ.ปัจจุบันได้และหมายรวมไปถึงอนาคตอีกด้วย(หมายถึงการวางแผนงานต่างๆในชีวิตประจำวัน ฯลฯ) สิ่งที่ได้กล่าวไป คือ สติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว อันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างจากความมีสมาธิ


    ดังนั้นพุทธศาสนา จึงได้มีหลักการ และวิธีการ ปฏิบัติ หรือสร้างสมาธิ เพื่อสร้างให้มนุษย์มีสติสัมปชัญญะ ให้เข้มแข็งเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ได้อย่างมีความสุข ในระดับหนึ่ง


    นั่นก็หมายความว่า พุทธศาสนิกชน ทั้งหลาย สมควรอย่างยิ่งที่จักต้องรู้จัก วิธีการสร้างสมาธิ หรือวิธีการปฏิบัติสมาธิ อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเป็นพุทธมามกะ คือ “ผู้ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา”, ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน, “ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา” (คัดความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับพระธรรมปิฎก)
    เพื่อความผาสุกของตัวท่านเอง และผู้อื่น


     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ท่าเดินและนอนสมาธิ

    ท่าเดินสมาธิ

    ท่าเดินสมาธิมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “เดินจงกรม” การฝึกสมาธิในลักษณะการวางท่าเดินนั้นเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่าอื่นๆมา เช่นเปลี่ยนจากการนั่ง มายืน และ เดิน การเดินจงกรมนั้นก็แล้วแต่สถานที่ ถ้าสถานที่ยาวก็เดินไประยะยาว สถานที่สั้นก็เดินระยะสั้น โดยทั่วไปใช้ระยะทางเดินประมาณ 25 ก้าว ระยะทางยาวเกินไปไม่ดี ระยะทางสั้นเกินไปก็เวียนศรีษะ การเดินต้องกำหนดระยะสายตาที่ต้องมองไปข้างหน้าเป็นระยะห่าง 4 ศอก และต้องกำหนดระยะห่างให้พอเหมาะ กับความรู้สึกของตน และบริกรรมพุทโธ ตามจังหวะการก้าวของเท้าไปเรื่อยๆจนจิตเป็นสมาธิ (ดูภาพที่8)


    ท่านอนสมาธิ

    ท่านอนเป็นท่าที่ใช้ต่อเนื่องจากการนั่ง การยืน และการเดิน เป็นลักษณะที่ต่อเนื่องกันโดยสมบูรณ์ มิได้กำหนดว่าในการสมาธิจิตครั้งหนึ่ง จะต้องกระทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว อาจจะกระทำต่อเนื่องกันไปจนกว่าจิตจะเจริญสมาธิ และ เจริญปัญญา ซึ่งจะใช้กี่ท่า ใช้เวลาเท่าใดก็สุดแต่จิตของแต่ละบุคคล การวางท่าฝึกแบบท่านอน ให้นอนตะแคงขวา เอามือขวาซ้อนเข้าไปที่แก้มขวา แล้วก็เอามือซ้ายวางราบไปตามตัว ขาเหยียดไปให้ตรง ถ้าหากเหยียดตรงไปมากอาจจะรู้สึกไม่สบาย ก็ขยับคู้เข้ามานิดหน่อย พอเกิดความสบาย และสามารถจะอยู่ในลักษณะเช่นนั้นต่อไปโดยจิตบริกรรมภาวนาจนเจริญสมาธิและเจริญวิปัสสนา


    การกำหนดลมหายใจเข้าและออกด้วยสติ

    นอกจากท่าทางในการทำสมาธิแล้ว ลมหายใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้จิตเข้าสู่อารมณ์สมถะได้ช้าหรือเร็ว ถ้าลมหายใจละเอียดลมหายใจยาว อารมณ์จะดี ร่างกายปกติ การเจริญสมถะ และ การเจริญวิปัสสนาก็พัฒนาไดดี การนำลมหายใจเข้า หายใจออก ให้ยาวต้องใช้สตินำเข้าและนำออก

    5.4
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ท่าขัดสมาธิเพชรและยืนสมาธิ

    ท่านั่งขัดสมาธิเพชร เป็นท่านั่งสมาธิที่นิยมปฏิบัติกันมากที่สุดในประเทศไทย หรือเรียกว่า “ท่านั่งคู่บัลลังค์” หรือ “ท่านั่งพับพนัญเชิง” คือ เอาขาซ้ายวางลงข้างล่าง เอาขาขวาวางทับข้างบน เอามือซ้ายวางลงข้างล่างบนตัก เอามือขวาวางซ้อนทับลงไปให้หัวแม่มือชนหัวแม่มือ อย่างเช่น พระพุทธรูปปางสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ตั้งใบหน้าตรง ดำรงสติให้มั่น ถ้าตรงเกินไปรู้สึกไม่สบายก็ผ่อนหาผ่อนจนรู้สึกสบายขนาดไหนก็ยึดเอาขนาดนั้น ไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ หลับตาพอปิดสนิท หุบปากปล่อยอารมณ์ว่างทั้งหมด เพื่อเป็นการรวมจิตเอาไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกไปทางอื่น ท่านั่งแบบนี้มีลักษณะเหมือนรูปพีระมิด มีฐานเป็นสามเหลี่ยม เมื่อนั่งได้ที่แล้วก็ลองกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือกำหนดพร้อมกับคำบริกรรมภาวนา พุทโธ ยุบหนอ พองหนอ สัมมา อะระหัง แล้วแต่ถนัด กำหนดอยู่ในลักษณะท่านั่งอย่างมีสติเช่นนี้ตลอดไปจนพบกับความสงบจิตในขณะนั้น อยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานต่อไป

    2. ท่ายืนสมาธิ ลักษณะการวางท่ายืนสมาธิ ท่ายืนอาจจะเปลี่ยนมาจากท่านั่ง ท่าเดินหรือท่านอนก็ได้ เพื่อเปลี่ยนอริยาบถในการฝึกสมาธิ การวางมือหรือการวางท่าทางก็อยู่ในลักษณะเดียวกับแบบเริ่มต้นเดินจงกรม คือเอามือซ้ายวางลงที่ท้องน้อย เอามือขวาทับยืนให้ตรงพอสบายกำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก บริกรรมภาวนา ถ้าหลับตาจะมีอาการโยกโคลงให้ลืมตาทอดสายตาออกไปข้างหน้าประมาณ 4 ศอก กำหนดคำบริกรรมภาวนาเช่นเดียวกับท่านั่ง เช่น พุธโธๆๆๆ ขณะที่บริกรรมภาวนานั้น ให้กำหนดจิตจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมตลอดเวลากำหนดเป็นสิ่งเดียว รูปเดียว อย่างเดียว ในการรับรู้อารมณ์ จนพบว่าจิตเข้าสภาวะสงบไม่หนีสติไปสู่สติอารมณ์ตามธรรมชาติ ดวงจิตสงบสว่างมีอำนาจเหนือจิตเกิดขึ้นในอารมณ์สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานได้

    5.3
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ท่านั่งสมาธิแบบญี่ปุ่นและแบบดอกบัว

    ท่านั่งแบบญี่ปุ่น (JAPANESE POSTURE) เป็นท่านั่งคล้ายๆกับการนั่งพับเพียบเก็บเข่าทั้งสองข้าง มือทั้งสองข้างวางบนเข่า ใบหน้าตรง ลืมตาตั้งตัวตรง เป็นท่าที่นิยมกันมากในประเทศญี่ปุ่น และในประเทศอินเดีย ตามหลักการฝึกโยคะนั้นถือว่าท่านี้เป็นท่าที่เริ่มต้นไปสู่ท่าอื่นๆ ท่านี้จะเหมาะกับบางคนที่ไม่ถนัดตามท่าที่ 1.1 และ 1.2 เป็นท่าที่นั่งบนที่นุ่ม เช่น ผ้ารองนั่ง เสื่อ หรือ พรหมและกำหนดจิตอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้โดยสมบูรณ์

    ท่านั่งแบบดอกบัว (LOTUS POSTURE) ลักษณะการวางท่านั่งสมาธิแบบดอกบัวเป็นท่าที่ดัดแปลงมาจากท่าฝึกโยคะปัทมาสนะ (PADMASNA) ลักษณะการวางท่า นั่งบนพื้น ตั้งตัวตรง หลับตาหรือลืมตา ยกเท้าขวาวางบนตักซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้นมาขัดบนเท้าขวา และบนตักขวา ดึงส้นเท้าขึ้นให้ชิดท้องได้มากเท่าใด ก็จะรู้สึกสบายได้มากเท่านั้น ท่านี้เป็นท่าที่สะดวกแก่การกำหนดลมหายใจมากที่สุด เวลาหายใจให้หายใจสม่ำเสมอ ให้จิตสงบอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว กำหนดให้สงบนิ่ง รวมอยู่ในดวงจิตอย่างเดียวเท่านั้นจนเกิดอารมณ์ของกรรมฐานได้ต่อไป

    5.2
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ท่านั่งสมาธิแบบสบาย

    ท่านั่งแบบสบาย (EASY POSTURE)

    ท่านั่งแบบสบาย ลักษณะที่ 1 เป็นลักษณะการวางท่านั่งที่กระทำง่ายที่สุดคล้ายกับท่านั่งขัดสมาธิที่นั่งไขว้ขากันคือขาขวาทับขาซ้าย เป็นการนั่งแบบเก็บเข่า หลังตรงใบหน้าตรงได้ระดับที่แตกต่างจากท่านั่งสมาธิเพชรคือ การวางมือ มือซ้ายทับมือขวาและนิ้วทั้งสองข้างประสานกัน ถือว่าเป็นท่านั่งสมาธิที่สมบูรณ์ นั่งได้นาน ไม่รู้สึกเมื่อย ขณะที่กำหนดลมหายใจเข้าและหายใจออกอย่าง มีสติ อาจจะเปลี่ยนไขว้ขาได้ ขวาทับซ้าย เปลี่ยนเป็นซ้ายทับขวา อาจจะเรียกท่านั่งแบบนี้ว่าเป็นท่านั่งแบบพม่า

    ท่านั่งแบบสบายลักษณะที่ 2 เป็นท่านั่งที่กระทำง่ายที่สุด สบายที่สุดแบบหนึ่ง อยู่ในลักษณะท่านั่งไขว้ขาเล็กน้อย มือขวาท้าวคาง โค้งลำตัวตามสบาย ลืมตา หลับตาเพ่งความคิดเป็นเรื่องๆไป เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความเคยชิน ไม่มีท่า ไม่มีทางใดๆแน่นอน เพียงเพ่งพิจารณาจนเห็นแจ้ง เห็นจริงในดวงจิต เห็นกฎธรรมชาติที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปลงตก กำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานโดยสมบูรณ์

    5.1
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    การวางท่าฝึกสมาธิ

    การวางท่าฝึกสมาธิกระทำได้หลายรูปแบบตามความนิยมของแต่ละสำนัก จะมีวิธีการไม่เหมือนกันจะยืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ทั้งนั้น ขอให้รู้สึกสบายๆไม่ปวดเมื่อย การวางท่าฝึกสมาธิที่นิยมกัน ( กรมการศาสนา: คู่มือการอบรมสมาธิ; 2542.133-143)ดังนี้

    1. ท่านั่งสมาธิ
    2. ท่ายืนสมาธิ
    3. ท่าเดินสมาธิ
    4. ท่านอนสมาธิ


    1. ท่านั่งสมาธิ

    ลักษณะการวางท่านั่งสมาธิที่กระทำกันนั้นต้องคำนึงถึงว่านั่งอย่างไรจึงจะสนับสนุนการปฏิบัติจิตได้มากที่สุด ท่านเว่ยหลางได้กล่าวแก่สาวกว่า “ให้ทำธยาน” หมายถึงให้นั่งอย่างท่านั่งของชาวอินเดีย คือ การนั่งอย่างขัดสมาธิ นั่งอย่างนี้เหมือนกับมีเบาะรองไม่เจ็บกระดูก ส่วนใดที่ถูกพื้น ไม่เจ็บกระดูก กล้ามเนื้อทั้งหมดรองรับไว้ มีลักษณะเหมือนพีระมิดไม่มีทางล้ม เป็นลักษณะการนั่งที่มั่นคง นั่งได้ทนที่สุด การหายใจเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย การหมุนเวียนของโลหิตเป็นไปโดยสม่ำเสมอ การนั่งสมาธิแบ่งออกตามลักษณะต่างกัน คือ

    ท่านั่งแบบชาวอียิปต์ (EGYPTION POSTURE) ลักษณะการวางท่านั่งแบบชาวอียิปต์ เป็นท่านั่งบนเก้าอี้ หลังตรง วางมือและเท้าตามสบาย การวางขาควรวางให้ห่างจากเก้าอี้พอประมาณ ใบหน้าหันหน้าตรงและควรวางเก้าอี้ให้ได้ระดับกับแนวราบ ท่านั่งแบบนี้ช่วยให้การหายใจสะดวกสบายมากเหมาะสำหรับคนอ้วน คนพิการ หรือผู้ที่ไม่ถนัดในการนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ และกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์ของกัมมัฏฐาน


     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิ

    ความมุ่งหมายทางศาสนา

    พระธรรมปิฎก (2543 : 833) กล่าวว่า ความมุ่งหมายและประโยชน์แท้จริงของสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา คือ การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริง หรือเป็นจุดเริ่มของวิปัสสนา ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ในความเป็นไปของชีวิต รู้และเข้าใจในความจริงของชีวิต สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สามารถดับทุกข์ที่เกิดจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และตัดวงจรของวัฏสงสาร ได้ในที่สุด


    แม้ไม่สามารถตัดได้ ก็สามารถใช้สมาธิระงับตัณหา อุปาทาน ได้บ้าง ซึ่งจะช่วยให้ตนเอง และ สังคมมีความสงบสุขได้ตลอดเวลาที่อยู่ในสมาธินั้น

    ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตและพัฒนาบุลิกภาพ

    พระธรรมปิฎก (2543 : 834) กล่าวว่า ผู้ที่มีสมาธิจะมีลักษณะเข้มแข็ง หนักแน่น สงบ เยือกเย็น กระฉับกระเฉง เบิกบาน สง่างาม มีดวงจิตที่มีแต่ความเมตตากรุณา มีความมั่นคงในอารมณ์ ไม่หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ชนิดที่คนรอบข้าง ไม่กล้าเข้าใกล้ ประโยชน์ในข้อนี้จะยิ่งเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เมื่อใช้จิตที่มีสมาธินั้นเป็นฐานปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน คือดำเนินชีวิตอย่างมีสติ และไม่ประมาทในภาวะการณ์ต่างๆ



    ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

    พระธรรมปิฎก (2543 : 834-837) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของสมาธิในชีวิตประจำวัน ดังนี้


    1) ช่วยให้จิตผ่อนคลาย หายเครียด ทำให้จิตใจสบาย มีความสุข

    2) เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะการเล่าเรียน การทำกิจกรรมทุกอย่างจำเป็นต้องอาศัยสมาธิ เป็นตัวช่วยไม่ให้ฟุ้งซ่าน วอกแวก ทำให้จิตจดจ่ออยู่กับงาน หรือ สิ่งที่ทำจนสำเร็จ

    3) ช่วยเสริมสุขภาพทางกาย เพราะผู้ที่มีจิตแจ่มใสเบิกบาน ย่อมช่วยให้กายเอิบอิ่ม ผิวพรรณผ่องใส แม้อยู่ในภาวะที่เจ็บป่วย หากจิตใจมั่นคง มีสมาธิ ความเจ็บป่วยทางกายก็ผ่อนคลายหายจากการเจ็บป่วยเร็วขึ้น

    “...สมาธิเป็นเพียงวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมาย และ มีประโยชน์ตามที่กล่าวมา ผู้ปฏิบัติไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหลีกหนีจากสังคม หรือไปนั่งเจริญสมาธิอยู่ทั้งวันทั้งคืน...”

     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    นิมิต 3

    “...นิมิต คือเครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนด หรือภาพที่เห็นในใจซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน แบ่งเป็น 3 อย่าง ตามลำดับความเจริญ คือ

    1) บริกรรมนิมิต แปลว่า นิมิตขั้นเตรียมหรือเริ่มต้น ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู ลมหายใจที่กำหนด หรือพุทธคุณที่กำหนดนึกเป็น
    อารมณ์ว่าอยู่ในใจ เป็นต้น

    2) อุคคหนิมิต แปลว่านิมิตที่ติดตาติดใจ กล่าวคือ เมื่อบริกรรมนิมิต ไม่ว่าจะบริกรรมโดยการนึกในใจ หรือเพ่งดู แล้วติดตาติดใจ นึกเห็นอยู่แม้ไม่มีสิ่งนั้นจริงๆ

    3) ปฏิภาคนิมิต แปลว่านิมิตเสมือน นิมิตเทียบเคียง เป็นภาพเหมือนของอุคคนิมิตนั่นเอง แต่ติดลึกเข้าไปอีกจนเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา (ความจำได้) ของผู้ที่ได้สมาธิ จึงบริสุทธิ์จนปราศจากสี และไม่มีมลทิน ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา

    “...นิมิตสองอย่างแรก คือ บริกรรมนิมิตและอุคนิมิต ได้ทั่วไปในกรรมฐานทุกอย่าง แต่ปฏิภาคนิมิต ได้เฉพาะในกรรมฐาน 22 อย่างที่มีวัตถุเพ่ง ได้แก่ กสิณ 10 อสุภ 10 กายคตาสติ และอานาปานสติ เท่านั้น..ซึ่งบุคคลโดยทั่วไป ที่ยังต้องดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเพศฆราวาส ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยึดมั่นในนิมิตประเภทนี้ แม้เพศบรรพชิตเอง หากรักษานิมิตไว้ไม่ได้ก็อาจลุ่มหลงในนิมิตจนเสียสติ ที่เรียกว่า วิปลาสไปได้เช่นกัน ...ต่อไปนี้ พึงทราบ ภาวนา 3 ขั้น

    2.6
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    วิธีเจริญสมาธิอย่างมีแบบแผน

    พระธรรมปิฎก (2543 : 849-850) กล่าวว่า “...การเจริญสมาธิอย่างมีแบบแผน หมายถึง วิธีฝึกอบรมเจริญสมาธิอย่างที่ได้ปฏิบัติสืบๆกันมา ในประเพณีการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ตามที่มีการอธิบายไว้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เป็นวิธีการที่ถือปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการ โดยมุ่งฝึกจำเพาะแต่ตัวสมาธิแท้ๆ ภายในขอบเขตที่เป็นระดับโลกียะทั้งหมดซึ่งกำหนดวางกันไว้เป็นรูปแบบ มีขั้นตอนที่ดำเนินไปตามลำดับ ดังนี้...”

    1. รักษาตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ดี หรือชำระศีลให้หมดจด เพื่อให้เกิดความสงบทางกายและวาจาเป็นเบื้องต้น

    2 . ตัดปลิโพธ คือเครื่องผูกพัน หน่วงเหนี่ยวให้เป็นห่วงกังวล 10 อย่าง ได้แก่

    1) บ้าน ที่อยู่อาศัย
    2) ลูก หลาน ญาติ ตระกูล
    3) ลาภ ยศ ทรัพย์สมบัติ
    4) บุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์นอกเหนือจากตระกูลญาติ
    5) ภาระงานในหน้าที่ที่ต้องทำสม่ำเสมอ (กรรม)
    6) ภาระงานที่ต้องติดต่อประสาน
    7) ญาติ บุคคลใกล้ชิด บุคคลที่รู้จัก เจ็บป่วย
    8) ตนเองเจ็บป่วย
    9) ความรู้มาก วุ่นอยู่กับเรื่องที่รู้ จนเป็นกังวล (คันถะ)
    10) อิทธิ คือฤทธิ์ของปุถุชน เป็นภาระในการรักษา แต่เป็นปลิโพธสำหรับผู้บำเพ็ญวิปัสสนาเท่านั้น ไม่เป็นปลิโพธแก่การเจริญสมาธิโดยเฉพาะ เพราะผู้ที่เจริญสมาธิยังไม่มีฤทธิ์ที่จะห่วง

    3. เมื่อตัดปลิโพธได้แล้ว ไม่มีอะไรติดข้องค้างใจ พึงไปหาท่านที่สามารถสอนกรรมฐานให้แก่ตนได้ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดีงาม ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอย่างแท้จริง เรียกว่า กัลยาณมิตรคือผู้ประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูด ยอมให้ว่า แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ และไม่ชักนำไปในเรื่องที่ผิดวินัย ศีล และ ธรรม กัลยาณมิตรนั้นถ้าให้ดีควรได้พระพุทธเจ้า รองลงมาคือพระอรหันต์ ซึ่งหมายถึงพระสงฆ์สาวกที่สามารถตัดกิเลส ตัณหา ได้โดยสิ้นเชิง ถ้าหาไม่ได้ก็หาพระอริยบุคคลที่มีกิเลส ตัณหาน้อยที่สุด หรือปุถุชนที่เป็นพหูสูต ศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฎกมามาก เพราะปุถุชนที่เป็นพหูสูตบางทีสอนได้ดีกว่าพระอรหันต์ที่ไม่เป็นพหูสูตเสียอีก เพราะพระอรหันต์ถนัดแต่แนวปฏิบัติที่ท่านผ่านมาเองเท่านั้น บอกทางไปได้พอจำเพาะตัว และบางองค์ก็ไม่ถนัดเชิงสอนอีกด้วย ส่วนพหูสูตได้ค้นคว้ามาก สอบสวนมาหลายอาจารย์ แสดงทางไปให้เห็นกว้างขวาง และรู้จักกลวิธี ยิ่งได้พระอรหันต์ที่เป็นพระหูสูตก็ยิ่งดี เมื่อหากัลยาณมิตรได้แล้วพึงเข้าไปหา ทำวัตรปฏิบัติต่อท่านแล้วขอโอกาสเรียนกรรมฐานจากท่าน

    4. เลือกกรรมฐานที่เหมาะกับจริยาของตน โดยกรรมฐานทั้ง 40 อย่าง แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัย หรือ จริยาของแต่ละบุคคล ถ้าเลือกได้เหมาะกัน ก็ปฏิบัติได้ผลดีและรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทำให้ปฏิบัติได้ล่าช้าหรือไม่สำเร็จผล “จริยา” แปลว่า ความประพฤติปกติ หมายถึงพื้นเพของจิต พื้นนิสัย ลักษณะความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่งตามสภาพจิตที่เป็นปกติของบุคคลนั้นๆ

    พระธรรมปิฎก (2543 : 853) กล่าวว่า “...ตัวความประพฤติหรือลักษณะนิสัยนั้น เรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีลักษณะนิสัยและความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต ซึ่งจริตแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 6 จริต ได้แก่...”

    1) ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางราคะ ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม ละมุนละไม ควรใช้กรรมฐานคู่ปรับคือ อสุภะ (และกายคตาสติ)

    2) โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางโทสะ ประพฤติหนักไปทางใจร้อน หงุดหงิดรุนแรง กรรมฐานที่เหมาะคือ เมตตา (รวมถึงพรหมวิหารข้ออื่นๆ และกสิณ โดยเฉพาะวรรณกสิณ)

    3) โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยไปทางโมหะ ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม ใครว่าอะไร อย่างไรก็คอยเห็นคล้อยตามไป พึงแก้ด้วยมีการเรียน ไต่ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู (กรรมฐานที่เกื้อกูลคือ อานาปานสติ)

    4) สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยมากด้วยศรัทธา ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจ เลื่อมใสโดยง่าย พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความเลื่อมใส และ ความเชื่อที่มีเหตุผล เช่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย และ ศีลของตน (อนุสสติ 6 ข้อแรกใช้ได้ทั้งหมด)

    5) พุทธิจริต หรือญาณจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยความประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา และมองไปตามความจริง พึงส่งเสริมให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรม และสิ่งดีงามที่ให้เจริญปัญญา เช่นพิจารณาไตรลักษณ์ (กรรมฐานที่เหมาะคือ มรณสติ
    อุปสมานุสติ จตุธาตุวัฏฐาน และ อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)

    6) วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยความประพฤติหนักไปทางชอบครุ่นคิดวกวน นึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ (หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น)

    พระธรรมปิฎก (2543 : 854) กล่าวว่า “...อาการแสดงออกต่างๆกันในทางความประพฤติของจริตเหล่านี้ เช่น เมื่อพบเห็นสิ่งของสักอย่างถ้ามีอะไรเป็นส่วนดีอยู่บ้าง ใจของคนราคจริต จะไปจับอยู่ที่ส่วนที่ดี ที่สวย ที่งาม ติดใจอยู่ที่ความสวยความงาม ส่วนคนโทสจริต แม้ของนั้นจะมีส่วนดีอยู่หลายอย่าง แต่ถ้ามีส่วนเสียหรือข้อบกพร่องอยู่สักหน่อย ใจของเขาจะกระทบเข้ากับส่วนที่เสียนั้นก่อน ไม่ทันได้พิจารณาเห็นส่วนดีก็จะไปเสียเลย คนพุทธิจริต คล้ายคนโทสจริตอยู่บ้าง ที่มองเห็นส่วนเสีย แต่ต่างกันที่ว่าคนโทสจริต มองหาส่วนเสีย หรือ มองให้เสียทั้งที่ไม่เป็นอย่างนั้นจริง และผละไปอย่างหงุดหงิดขัดใจ หรือใครว่าดีก็ดีด้วย ว่าไม่ดีก็ไม่ดีด้วย ส่วนคนพุทธิจริตมองหาส่วนเสียข้อบกพร่องที่เป็นจริงและผ่านไปโดยไม่ติดข้องขัดใจ ส่วนคนวิตกจริต จะคิดวกวน จับจด นึกถึงสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตัดสินไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี และคนสัทธาจริต จะคล้ายราคจริต คือมองเห็นแต่ส่วนดี ต่างกันที่ คนสัทธาจริตเห็นแล้วก็ซาบซึ้งใจเรื่อยไป อย่างไรก็ตาม คนมักมีจริตผสม เช่นราคะผสมวิตก โทสะผสมพุทธิ เป็นต้น ในการปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิ นอกจากเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริตแล้ว แม้แต่สถานที่อยู่อาศัย บรรยากาศ หนทาง ของใช้ อาหาร เป็นต้น ก็ต้องเลือกสิ่งที่เป็นสัปปายะ คือเกื้อกูลเหมาะกันด้วย...”

    “...กรรมฐาน 40 นั้น นอกจากเหมาะกับจริตที่ต่างกันแล้ว ยังต่างกันโดยผลสำเร็จที่สามารถให้เกิดขึ้นสูงต่ำ มากน้อยกว่ากันด้วย คือมีขอบเขตในการให้เกิดสมาธิระดับต่างๆไม่เท่ากัน...”


    5. เมื่อเลือกกรรมฐานที่คิดว่าเหมาะกับจริตตนแล้ว หากัลยณมิตรได้แล้ว ก็พึงรับกรรมฐานโดยมีกัลยาณมิตร เป็นพยาน โดยมีคำกล่าวอย่างเป็นพิธีการคือ “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่พระองค์” คำบาลีว่า “อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ” แปลว่าขอถวายชีวิตก็ได้ ฝ่ายกัลยาณมิตร หรือพระอาจารย์ ก็จะสอบถามลักษณะอาการความนึกคิดและจริตจริยาว่าอาการความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร จะนึกพิจารณาอะไรแล้วสบาย ใจน้อมไปในกรรมฐานใด เป็นต้น เมื่อทราบกรรมฐานที่ต้องการปฏิบัติและได้กรรมฐานที่เหมาะกับจริยาแล้ว พระอาจารย์ก็จะชี้แจงให้รู้ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร วิธีกำหนดจิต และฝึกอบรมทำอย่างไร นิมิตเป็นอย่างไร สมาธิมีขั้นตอนอย่างไร วิธีรักษาสมาธิ เลี้ยงสมาธิ และทำสมาธิให้มีกำลังมากขึ้นทำอย่างไร เป็นต้น

    6. หาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อทำการปริยัติ คือศึกษาทฤษฎีจากกัลยาณมิตร หรือพระอาจารย์ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสถานที่ที่จะฝึกภาคปฏิบัติ โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นวัด และเป็นวัดเดียวกับพระอาจารย์ เพื่อความสะดวกในการสอบถามพระอาจารย์ หากเกิดอุปสรรคขัดข้อง แต่ถ้าไม่ผาสุก ก็พึงไปหาวัดที่เป็นสัปปายะ หรือสถานที่ที่เหมาะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ซึ่งสถานที่หรือวัดที่เป็นสัปปายะมีลักษณะ ดังนี้

    1) ไม่ใกล้ ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ไปมาสะดวก
    2) กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนไม่อึกทึก
    3) ปราศจากการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดด สัตว์เลื้อยคลาน
    4) ไม่ขัดสนปัจจัย 4
    5) มีพระเถระ หรือพระอาจารย์ ที่เป็นกัลยาณมิตรและเป็นพหูสูต ซึ่งสามารถเข้าไปสอบถามข้ออรรถ ข้อธรรมให้ท่านช่วยอธิบายแก้ความสงสัยได้

    7 .ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ พระธรรมปิฎก (2543 : 857) กล่าวว่า “...กรรมฐานแต่ละประเภทมีรายละเอียด วิธีเจริญสมาธิแตกต่างกันไป แต่กระนั้น ก็พอสรุปเป็นหลักการทั่วไปกว้างๆ ดังที่บางคัมภีร์แสดงไว้โดยจัดเป็นภาวนา คือการเจริญหรือการฝึก 3 ขั้น...แต่ก่อนจะกล่าวถึงภาวนา 3 ขั้น มีคำที่ควรทำความเข้าใจคำหนึ่ง คือ นิมิต...”

    2.5
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    วิธีเจริญสมาธิด้วยสติปัฏฐาน 4

    พระธรรมปิฎก (2543 : 810) กล่าวว่า “...สติปัฏฐาน แปลว่าที่ตั้งของสติ การที่สติเข้าไปตั้งอยู่ คือมีสติกำกับอยู่ ว่าโดยหลักการ ก็คือ การใช้สติ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง หรือ วิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิดผลดีที่สุด...”

    ในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไปที่คนเราสัมพันธ์กับอารมณ์ของประสาทสัมผัส กาย หู จมูก ลิ้น และใจ ย่อมไม่มีฐานที่ตั้งหรือที่ทำการของอิทธิบาท ในกรณีเช่นนี้ องค์ธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องชักนำหรือฝึกให้เกิดสมาธิ ก็คือองค์ธรรมพื้นฐานที่เรียกว่าสติ เพราะสติเป็นเครื่องดึงและกุมจิตไว้กับอารมณ์ สติคือความระลึกได้ ความไม่เผลอ หลงลืม เลินเล่อ หรือไม่ประมาท การมีชีวิตอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือการใช้สติอยู่เสมอในการดำเนินชีวิตจะทำให้มีการระมัดระวังตนไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว

    ลักษณะการทำงานโดยทั่วไปของสตินั้นคือการไม่ปล่อยให้ความนึกคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่คอยเฝ้าระวังอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา ว่าอยู่ในอารมณ์ใด เฝ้าระลึกไว้เสมอ มิให้หลงลืม ย่อมทำให้จิตเกิดสมาธิ ชำระพฤติกรรมต่างๆทั้งกายกรรม วจีกรรม การฝึกสมาธิด้วยสติมีวิธีปฏิบัติฝึกอบรมเรียกว่า สติปัฏฐาน 4 หรือฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ เรียกกันโดยทั่วไปว่าสติปัฏฐาน เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมาก และยกย่องนับถืออย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว

    มีพุทธพจน์ในมหาสูตรปัฏฐานสูตรว่า “...ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและปริเทวะ เพื่อความอัศดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนี้คือสติปัฏฐาน 4...”


    สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย

    1.กายานุปัสสนา การพิจารณากายหรือตามดูรู้ทันกาย การตั้งสติอยู่ที่กิริยาของกาย มีอยู่หลายจุดได้แก่

    1) อานาปานสติ คือการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

    2) กำหนดอิริยาบถ คือเมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไร ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้น

    3) สัมปชัญญะ คือสร้างสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในการกระทำหรืออาการเคลื่อนไหวทุกอย่างของกาย เช่น การก้าวเดิน การนุ่งห่มผ้า การกิน การอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น

    4) ปฏิกูลมนสิการ คือการพิจารณาร่างกายของตนตั้งแต่ศีรษะ จรดปลายเท้า ซึ่งมีส่วน ประกอบ ที่ไม่สะอาด มากมายมารวมอยู่ด้วยกัน

    5) นวสีวถิกา คือการมองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆกันโดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆไปจนถึงกระดูกผุๆ แล้วย้อนมาดูร่างกายของตน ก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

    2. เวทนานุปัสสนา เป็นการตั้งสติ ตามดูรู้ทันเวทนา คือเมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆก็ดี ก็ให้รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น

    3.จิตตานุปัสสนา เป็นการตั้งสติ ตามดูรู้ทันจิต คือจิตของตนในขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่นมีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

    4. ธัมมานุปัสสนา เป็นการตั้งสติ การตามดูรู้ทันธรรม ได้แก่

    1) นิวรณ์ 5 คือรู้ชัดในกามฉันท์ พยาบาท เฉื่อยชา ฟุ้งซ่าน ลังเล ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ให้รู้ชัดตามที่เป็นไปในขณะนั้น

    2) ขันธ์ 5 คือกำหนดรู้ว่าขันธ์ 5 แต่ละอย่างๆ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร (ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ)

    3) อายตนะ คือรู้ชัดในอายตนะการสัมผัสของประสาททั้ง 5 ว่าตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เป็นสิ่งใดแน่ เป็นต้น

    4) โพชฌงค์ 7 คือรู้ชัดในขณะนั้นๆว่า สติ ธรรม วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา มีปรากฏอยู่ในใจตนหรือไม่ ถ้ายังไม่ปรากฏ จะปรากฏได้อย่างไร ที่ปรากฏแล้ว เจริญบริบูรณ์หรือไม่

    5) อริยสัจ คือรู้ชัดในทุกข์ที่เกิด ว่าเกิดจากอะไร มีเหตุอย่างไร และจะดับได้ด้วยมรรคใด

    การพิจารณาสติปัฏฐานทั้ง 4 ไม่จำเป็นต้องหลีกหนีออกจากสังคม เพื่อไปนั่งปฏิบัติจำเพาะในกาลเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำ เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ก็ใช้สติพิจารณาทันที เพราะโดยสาระของสติปัฏฐาน มีจุดที่ควรพิจารณาใช้สติกำกับดูแลทั้งหมดเพียง 4 จุด คือ

    1.ร่างกายและพฤติกรรมของมัน (กายานุปัสสนา)
    2. เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ต่างๆ (เวทนานุปัสสนา)
    3. ภาวะจิตที่เป็นไปต่างๆ (จิตตานุปัสสนา)
    4. ความนึกคิดไตร่ตรองในธรรม ได้แก่ นิวรณ์ ขันธ์ 5 อายตนะ และ อริยสัจ (ธัมมานุปัสสนา)


    ถ้าดำเนินชีวิตโดยมีสติคุ้มครอง ณ จุดทั้งสี่นี้แล้ว ก็จะช่วยให้เป็นอยู่อย่างปลอดภัย ไร้ทุกข์ มีความสุขผ่องใส และเป็นปฏิปทา นำไปสู่ความรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่จำเป็นต้องหลีกออกจากสังคมแต่อย่างใด สติเป็นธรรมสำคัญในทางจริยธรรม เพราะเป็นตัวควบคุมเร้าเตือนการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นตัวคอยป้องกันยับยั้งตนเอง ไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว คอยเตือนตนให้กระทำแต่ความดี และไม่เปิดโอกาสให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาในกาย วาจา และ ใจ สติปัฏฐานแต่ละข้อ ในเวลาปฏิบัติ ไม่ได้ใช้สติเพียงอย่างเดียว แต่มีธรรมข้ออื่นๆควบอยู่ด้วย ได้แก่ สัมมาวายามะ (ความเพียร) สัมปชัญญะ หรือ สัมมาทิฏฐิ ความมีปัญญา คือความรู้ความเข้าใจตระหนักชัดต่อสิ่งที่สติกำหนดไว้นั้น หรือต่อการกระทำในกรณีนั้นว่า มีความมุ่งหมายอย่างไร สิ่งที่ทำนั้นเป็นอย่างไร ผู้ที่มีสติ สัมปชัญญะ ย่อมมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่เอนเอียง ไม่ถูกผูกพันด้วยกิเลส ติดใจอยากได้ หรือขัดเคืองเสียใจ มองเห็นความเกิด ความเสื่อมสิ้น เข้าใจในหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยอมรับรู้ความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่เอาความรู้สึกสมมติ และความยึดมั่น เข้าไปใส่ว่าเป็นตัวตน เป็นเขา เป็นเรา การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานนี้ นักการศึกษาตะวันตกนำไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และประเมินคุณค่าว่าสติปัฏฐานได้ผลดีกว่า และใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางกว่า เพราะทุกคนสามารถปฏิบัติได้เอง และใช้ในยามปรกติเพื่อความมีสุขภาพจิตที่ดี

    สติ เป็นตัวเกาะจับสิ่งที่จะพิจารณา สัมปชัญญะ คือตัวปัญญาที่รู้ชัดต่อสิ่งหรืออาการที่ถูกพิจารณานั้นโดยตระหนักว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร เช่นเมื่อสติกำหนดพิจารณาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ขณะที่เดิน ก็รู้พร้อมอยู่กับตัวว่า กำลังเดิน ไปไหน เป็นต้น และเข้าใจสิ่งนั้น หรือการกระทำนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจเข้าไปปรุงแต่ง อาการที่กำหนดดูรู้ทันนี้ จะดู – เห็น – เข้าใจ ว่าอะไร เป็นอย่างไร ไม่มีการวิจารณ์ วินิจฉัยว่าดี ชั่ว ถูก ผิด ชอบ ไม่ชอบ แต่รับรู้เผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่มันปรากฏตัวขึ้น จนมันหมดไปเองตามเหตุปัจจัย ตั้งแต่เรื่องของกาย เมื่อกายชัดแล้วก็ตามดู เวทนา จิต และ ธรรม ต่อไป เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์กำลังสังเกตดูวัตถุที่ตนกำลังศึกษา คือตามดูเฉยๆ โดยนัยนี้ การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานจึงเป็นวิธีการชำระล้างอาการเป็นโรคต่างๆ ที่มีในจิต กำจัดสิ่งที่เป็นเงื่อนปมเป็นอุปสรรคถ่วง ขัดขวางการทำงานของจิตให้หมดไป ทำให้ใจปลอดโปร่ง พร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ เผชิญและจัดการกับสิ่งทั้งหลายในโลกด้วยความเข้มแข็งและสดชื่นต่อไป


    2.4
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    วิธีเจริญสมาธิตามหลักอิทธิบาท 4

    พระธรรมปิฎก (2543 : 842-848) กล่าวว่า “...อิทธิบาทแปลว่าธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (ฤทธิ์ หรือความสำเร็จ) หรือธรรมที่เป็นเหตุให้ประสพความสำเร็จหรือทางแห่งความสำเร็จมี 4 อย่างคือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความคิดจดจ่อ) และ วิมังสา (ความไตร่ตรอง) แปลให้จำง่ายตามลำดับว่ามีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน...”

    “...อิทธิบาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสพัวพันไว้กับเรื่องสมาธิเพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด ก็มีชื่อเรียกตามอิทธิบาทข้อนั้น โดยนัยนี้จึงมีสมาธิ 4 ข้อ คือ...”

    1. ฉันทสมาธิ สมาธิที่เกิดจากฉันทะ หรือ สมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่

    2. วิริยสมาธิ สมาธิที่เกิดจากวิริยะ หรือ สมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

    3. จิตตสมาธิ สมาธิที่เกิดจากจิตต หรือ สมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

    4. วิมังสาสมาธิ สมาธิที่เกิดจากวิมังสา หรือ สมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่

    สมาธิที่เกิดจากฉันทะ หรือสมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่คือความพอใจมีใจรักในสิ่งที่ทำ อยากทำสิ่งนั้นๆให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุถึงจุดหมาย อาจเป็นตัณหาอย่างหนึ่งคือเกิดความอยากให้สำเร็จ แต่ความอยากของฉันทะนั้นทำให้เกิดความสุข ความชื่นชมเมื่อเห็นสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆบรรลุความสำเร็จสมบูรณ์อยู่ในภาวะอันดีงามของมัน ในขณะที่เกิดความพอใจที่จะทำ วิริยะหรือความเพียรก็เกิดขึ้นพร้อมกัน คือความบากบั่น ใจสู้ ไม่ท้อถอย ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรค และความยากลำบาก เมื่อมีความเพียรพยายามที่จะทำสิ่งนั้น งานนั้นให้สำเร็จ ความเพียรก็จะเป็นแรงหนุนให้จิตแน่วแน่ มั่นคง มุ่งตรงต่อจุดหมาย สมาธิก็เกิดขึ้น เรียกว่าวิริยะสมาธิ ทำให้จิตจดจ่อแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่ทำ งานที่ทำ ไม่ปล่อย ไม่ห่างไปไหน เกิดเป็นจิตตะสมาธิ ถ้าจิตตะเป็นไปอย่างแรงกล้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บุคคลนั้นจะไม่สนใจ ไม่รับรู้เรื่องอื่นใดนอกจากสิ่งที่กำลังมีจิตจดจ่ออยู่ ความมีจิตจดจ่อฝักใฝ่เช่นนี้ ย่อมนำให้สมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่แนบสนิทในกิจที่ทำ มีกำลังมากเฉพาะสำหรับกิจนั้น จิตตะสมาธิจะหนุนเนื่องไปกับฉันทะสมาธิและวิริยะสมาธิ ให้มีกำลังแรงขึ้น และเมื่อสมาธิมีกำลังเต็มที่แล้ว ก็ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าสิ่งที่ทำอยู่ งานที่ทำอยู่ บังเกิดผลดีมีประโยชน์เพียงใด หรือมีสิ่งต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรให้ดีที่สุด การไตร่ตรองนี้เรียกว่าวิมังสาสมาธิ เป็นการเข้าสู่วิปัสสนา อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเจริญสมาธิ

    สาระของการสร้างสมาธิตามหลักอิทธิบาท 4 ก็คือการเอางาน สิ่งที่ทำ หรือจุดหมายที่ต้องการเป็นอารมณ์ของจิต แล้วปลุกเร้าระดม ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาเข้าหนุน สมาธิก็เกิดขึ้น และมีกำลังแรงกล้าช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุขและบรรลุผลสำเร็จด้วยดี ดังนั้นการปฏิบัติธรรมคือการทำงานตามหน้าที่ของตนที่มีอยู่ก็ดี การศึกษาเล่าเรียนก็ดี หรือการประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี เมื่อต้องการสมาธิเพื่อให้กิจที่ทำนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดี ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท 4 ให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะฉันทะ ความพอใจที่จะทำต้องมีเป็นอันดับแรก แล้วสร้างความเพียร ให้จิตจดจ่อ สุดท้ายใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองงาน ความสุขกายสบายใจ และการทำงาน ที่ได้ผลดีก็จะบังเกิดขึ้นจากการเจริญสมาธิ ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิ

    การฝึกสมาธิด้วยอิทธิบาท 4 นั้นตามปกติใช้ได้กับงานหรือการประกอบกิจต่างๆเช่นการเล่าเรียนและกิจกรรมทั้งหลายซึ่งมีความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของงานหรือกิจนั้นๆเป็นเป้าหมาย แต่ในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไปที่คนเราสัมพันธ์กับอารมณ์ของประสาทสัมผัส กาย หู จมูก ลิ้น และใจ ย่อมไม่มีฐานที่ตั้งหรือที่ทำการของอิทธิบาท ในกรณีเช่นนี้ องค์ธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องชักนำหรือฝึกให้เกิดสมาธิ ก็คือองค์ธรรมพื้นฐานที่เรียกว่าสติ เพราะสติเป็นเครื่องดึงและกุมจิตไว้กับอารมณ์ สติคือความระลึกได้ ความไม่เผลอ หลงลืม เลินเล่อ หรือไม่ประมาท การมีชีวิตอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือการใช้สติอยู่เสมอในการดำเนินชีวิตจะทำให้มีการระมัดระวังตนไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ลักษณะการทำงานโดยทั่วไปของสตินั้นคือการไม่ปล่อยให้ความนึกคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่คอยเฝ้าระวังอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา ว่าอยู่ในอารมณ์ใด เฝ้าระลึกไว้เสมอ มิให้หลงลืม ย่อมทำให้จิตเกิดสมาธิ ชำระพฤติกรรมต่างๆทั้งกายกรรม วจีกรรม การฝึกสมาธิด้วยสติ มีวิธีปฏิบัติฝึกอบรมเรียกว่า สติปัฏฐาน 4

    2.3
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    อานาปานสติ

    ในบรรดากรรมฐานทั้ง 40 อานาปานสติ เป็นวิธีเจริญสมาธิที่ปฏิบัติได้สะดวกยิ่ง เพราะใช้ลมหายใจซึ่งเนื่องอยู่กับตัวของทุกคน ใช้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ในทันทีที่ต้องการ ไม่ต้องตระเตรียมวัตถุอุปกรณ์อย่างกสิณ หรือ อสุภะ ในเวลาเดียวกันก็เป็นอารมณ์ประเภทรูปธรรม ซึ่งกำหนดได้ชัดเจนพอสมควร ไม่ละเอียดลึกซึ้งอย่างกรรมฐานประเภทนามธรรมที่ต้องนึกขึ้นมาจากสัญญา ( ความจำ ) และถ้าต้องการปฏิบัติอย่างง่ายๆก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดอะไรเพียงเอาสติคอยกำหนดลมหายใจที่ ปรากฏอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดแยกแยะพิจารณาสภาวธรรมอย่างพวกพิจารณาธาตุทั้ง 4 ผู้ที่ใช้สมองเหนื่อยมาแล้วก็ปฏิบัติได้สบาย พอเริ่มลงมือปฏิบัติ ก็ได้รับผลเป็นประโยชน์ทันทีตั้งแต่ต้นเรื่อยไป ไม่ต้องรอจนเกิดสมาธิที่เป็นขั้นตอนชัดเจน กล่าวคือ กายใจผ่อนคลาย ได้พัก จิตสงบลึกซึ้งลงไปเรื่อยๆทำให้อกุศลธรรมระงับและส่งเสริมให้กุศลธรรมเกิดขึ้น อานาปานสติ เป็นกรรมฐานที่ไม่กระทบกระเทือนสุขภาพ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงประสบการณ์ของพระองค์เองว่า "เมื่ออยู่ในอานาปานสติ กายก็ไม่เมื่อย ตาก็ไม่เหนื่อย ไม่เหมือนอย่างกรรมฐานบางอย่างที่อาศัยการยืน การเดิน หรือการเพ่งจ้อง แต่ตรงข้ามอานาปานสติกรรมฐานนี้กลับเกื้อกูลแก่สุขภาพ ทั้งช่วยให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างดี และระบบการหายใจที่ปรับให้เรียบเสมอ ประณีตด้วยการปฏิบัติกรรมฐานนี้ก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น " ขอให้นึกอย่างง่ายๆถึงคนที่วิ่งมาหรือขึ้นลงที่สูงกำลังเหนื่อย หรือคนตื่นเต้นตกใจ เกรี้ยวกราด หวาดกลัว เป็นต้น ลมหายใจหยาบแรงกว่าคนปกติ บางทีจมูกไม่พอ ต้องหายใจทางปากด้วย ในทางตรงข้าม คนที่กายผ่อนคลาย ใจสงบสบาย ลมหายใจจะละเอียดประณีตกว่าคนปกติ การบำเพ็ญอานาปานสติช่วยทำให้กายใจสุขสงบ จนลมหายใจละเอียดประณีตลงไปเรื่อยๆยิ่งกว่านั้นอีกคือแทบจับไม่ได้เลยว่ามีลมหายใจ ในเวลานั้นร่างกายดำรงอยู่ได้ดีโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด ไม่เรียกร้องการเผาผลาญ เตรียมความสดชื่นไว้ให้แก่การทำกิจในเวลาถัดไป และช่วยให้แก่ช้าลง หรือช่วยให้ทำงานได้มากขึ้นพร้อมกับที่สามารถพักผ่อนน้อยลง อานาปานสติเป็นกรรมฐานหนึ่งที่สามารถให้ผลสำเร็จด้านสมถะ ทุกขั้นตอน ไม่ต้องสับเปลี่ยนกรรมฐานในการปฏิบัติ มีพุทธพจน์เสริมว่า " อานาปานสติใช้ได้ทั้งในทางสมถะและวิปัสสนา คือจะปฏิบัติเพื่อมุ่งผลฝ่ายสมาธิแน่วไปอย่างเดียวก็ได้ จะใช้เป็นฐานปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานจนครบทั้ง 4 อย่างก็ได้ เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่เอื้ออำนวยให้สามารถใช้สมาธิจิตเป็นสนามปฏิบัติการของปัญญาได้เต็มที่” “อานาปานสติ” เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้งให้พระภิกษุทั้งหลายถือปฏิบัติ


    การเตรียมการในการฝึกปฏิบัติอานาปานสติ

    1. สถานที่ สำหรับผู้เริ่มต้นในการปฏิบัติเพื่อให้บรรยากาศแวดล้อมช่วยเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ พึงหาสถานที่ที่สงบและสงัดเงียบจากเสียงหรือสิ่งที่จะรบกวนสติ ทำให้วอกแวกกังวลใจ

    2. ท่านั่ง หลักการอยู่ที่ว่าอิริยาบถใดก็ตามที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายที่สุด แม้ปฏิบัติอยู่นานๆก็ไม่เมื่อยล้า และทั้งช่วยให้การหายใจคล่องสะดวก ก็ใช้อิริยาบถนั้น การณ์ปรากฎว่าอิริยาบถที่ท่านผู้สำเร็จนับจำนวนไม่ถ้วนได้พิสูจน์กันมาตลอดกาลนานนักหนาว่าได้ผลดีที่สุดตามหลักการนั้นก็คือ อิริยาบถนั่งในท่าที่เรียกกันว่านั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง คือให้ร่างกายท่อนบนตั้งตรง กระดูกสันหลัง 18 ข้อมีปลายจดกัน ท่านว่าการนั่งอย่างนี้ หนังเนื้อและเอ็นไม่ขด ลมหายใจก็เดินสะดวก เป็นท่านั่งที่มั่นคง เมื่อเข้าที่ดีแล้ว จะมีดุลยภาพอย่างยิ่ง กายจะเบาไม่รู้สึกเป็นภาระ นั่งอยู่ได้นานแสนนานโดยไม่มีทุกขเวทนารบกวน ช่วยให้จิตเป็นสมาธิง่ายขึ้นกรรมฐานไม่ตก แต่เดินหน้าได้เรื่อย ตามที่สอนสืบกันมา ยังมีเพิ่มว่า ให้สันเท้าชิดท้องน้อย ถ้าไม่เอาไขว้กัน ( ขัดสมาธิเพชร )ก็เอาขาขวาทับขาซ้าย วางมือบนตักชิดท้องน้อย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือจดกัน หรือนิ้วชี้ขวาจดหัวแม่มือซ้าย แต่รายละเอียดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับดุลยภาพแห่งร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย ผู้ที่ไม่เคยนั่งเช่นนี้หากทนหัดทำได้ก็คงดี แต่ถ้าไม่อาจทำได้ ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ให้ตัวตรงสบาย หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี มีหลักการสำทับอีกว่า ถ้ายังนั่งไม่สบาย มีอาการเกร็งหรือเครียด พึงทราบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องพึงแก้ไขเสียให้เรียบร้อยก่อนปฏิบัติต่อไป ส่วนตาจะหลับหรือลืมตาก็ได้ สุดแต่สบาย และใจไม่ซ่าน ถ้าลืมตาก็อาจทอดลงหรือมองที่ปลายจมูกให้เป็นที่สบาย เมื่อนั่งเข้าที่สบายดีพร้อมแล้ว ก่อนจะเริ่มปฏิบัติ ปราชญ์บางท่านแนะนำว่าควรหายใจยาวลึกๆและช้าๆเต็มปอดสักสองสามครั้งพร้อมกับตั้งความรู้สึกให้ตัวโล่งและสมองโปร่งสบายเสียก่อน แล้วจึงหายใจโดยกำหนดนับตามวิธีการ

    3. การนับ ( คณนา ) เริ่มแรกในการกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ยาว-สั้น นั้นให้นับไปด้วยเพราะการนับจะช่วยตรึงจิตได้ดี การนับแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้

    ช่วงแรก ให้นับช้าๆการนับมีเคล็ดหรือกลวิธีว่า อย่านับต่ำกว่า 5 แต่อย่าให้เกิน 10 และให้เลขเรียงตามลำดับ อย่าโจนข้ามไป ( ถ้าต่ำกว่า 5 จิตจะดิ้นรนในโอกาสอันแคบ ถ้าเกิน 10 จิตจะไปพะวงที่การนับแทนที่จะจับอยู่กับกรรมฐาน คือลมหายใจ ถ้านับขาดๆช้าๆ จิตจะหวั่นจะวุ่นไป ให้นับที่หายใจเข้า-ออกอย่างสบายๆเป็นคู่ๆ คือลมออกว่า 1 ลมเข้าว่า 1 , ลมออกว่า 2 ลมเข้าว่า 2 อย่างนี้เรื่อยไปจนถึง 5,5 แล้วตั้งต้นใหม่ 1,1 จนถึง6,6 แล้วตั้งต้นใหม่ เพิ่มทีละคู่ไปจนครบ 10 คู่ แล้วกลับย้อนที่ 5 คู่ใหม่ จนถึง 10 คู่ อย่างนั้นเรื่อยไป

    วงจรในการนับสามารถเขียนให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้

    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5
    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6
    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7
    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8
    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8 9,9
    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8 9,9 10,10
    1,1 2,2 3,3 4,4 5,5
    ฯลฯ

    ช่วงสอง ให้นับเร็ว กล่าวคือ เมื่อลมหายใจเข้า-ออกปรากฏแก่ใจชัดเจนดีแล้ว จิตอยู่กับลมหายใจ โดยลมหายใจช่วยตรึงไว้ได้ ไม่ส่ายฟุ้งไปภายนอก ก็ให้เลิกนับช้าอย่างข้างต้นนั้นเสีย เปลี่ยนเป็นนับเร็ว คราวนี้ไม่ต้องคำนึงถึงลมเข้าในหรือออกนอก กำหนดแต่ลมที่มาถึงช่องจมูก นับเร็วๆจาก 1-5แล้วขึ้นใหม่ 1-6 แล้วขึ้นใหม่ เพิ่มทีละหนึ่งเรื่อยไปจนถึง10 แล้วเริ่ม 1 ถึง 5 ใหม่อีก จิตจะแน่วแน่ด้วยกำลังการนับเหมือนเรือตั้งลำแน่วในกระแสน้ำเชี่ยวด้วยอาศัยถ่อ เมื่อนับเร็วอย่างนั้น กรรมฐานก็จะปรากฏต่อเนื่องเหมือนไม่มีช่องว่าง พึงนับเร็วๆอย่างนั้นเรื่อยไป ไม่ต้องกำหนดว่าลมเข้าในหรือออกนอก เอาสติกำหนด ณ จุดที่ลมกระทบคือที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน ( แห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแต่ที่ใดรู้สึกชัด ) และเขียนเป็นตัวเลขสำหรับนับในช่วงที่สอง ดังนี้

    1 2 3 4 5
    1 2 3 4 5 6
    1 2 3 4 5 6 7
    1 2 3 4 5 6 7 8
    1 2 3 4 5 6 7 8 9
    1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
    1 2 3 4 5 ( เริ่มใหม่ )

    กำหนดนับอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าว่าเมื่อใดแม้ไม่นับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ คือลมหายใจเข้า-ออกนั้น วัตถุประสงค์ของการนับก็เพื่อให้สติตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ ตัดความคิดฟุ้งซ่านไปภายนอกได้นั่นเอง

    4.การติดตาม ( อนุพันธนา )เมื่อสติอยู่ที่แล้วคือจิตอยู่กับลมหายใจโดยไม่ต้องนับแล้วก็หยุดนับเสีย แล้วใช้สติติดตามลมหายใจไม่ให้ขาดระยะ คือใช้สติตามลมอยู่ตรงจุดที่ลมกระทบ อาจเป็นปลายจมูกหรือริมฝีปากบนแล้วแต่ละบุคคล เปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้เท่านั้น จะได้ใส่ใจฟันเลื่อยที่มาหรือไป ส่ายตาไปตามหัวเลื่อย กลางเลื่อย ปลายเลื่อย ก็หาไม่ แต่ทั้งที่ตามองอยู่ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้แห่งเดียว ฟันเลื่อยที่มาหรือไปเขาก็ตระหนักรู้ และโดยวิธีนี้งานของเขาก็สำเร็จด้วยดี ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน เมื่อตั้งสติไว้ที่จุดลมกระทบ ไม่ส่ายใจไปตามลมที่มาหรือไป ก็รู้ตระหนักถึงลมทั้งที่มาหรือไปนั้นได้ และโดยวิธีนี้การปฏิบัติจึงจะสำเร็จ ในระยะนี้ สำหรับผู้ปฏิบัติบางท่าน นิมิตจะเกิดและสำเร็จอัปปนาสมาธิโดยเร็ว แต่บางท่านจะค่อยเป็นค่อยไป คือตั้งแต่ใช้วิธีนับมาลมหายใจจะละเอียดยิ่งขึ้นๆ ร่างกายผ่อนคลายสงบเต็มที่ ทั้งกายและใจรู้สึกเบา เหมือนดังตัวลอยอยู่ในอากาศ เมื่อลมหายใจที่หยาบหมดไปแล้ว จิตของผู้ปฏิบัติจะยังมีนิมิตแห่งลมหายใจที่ละเอียดเป็นอารมณ์อยู่ แม้นิมิตนั้นหมดไป ก็ยังมีนิมิตแห่งลมที่ละเอียดกว่านั้นอยู่ในใจต่อๆไปอีก เปรียบเหมือนเมื่อเอาแท่งโลหะเคาะกังสดาลหรือเคาะระฆัง ให้มีเสียงดังขึ้นฉับพลัน จะมีนิมิตคือเสียงแว่วเป็นอารมณ์อยู่ในใจไปได้นาน เป็นนิมิตเสียงที่หยาบแล้วละเอียดเบาลงไปๆตามลำดับ แต่ถึงตอนนี้ จะมีปัญหาสำหรับกรรมฐานลมหายใจนี้โดยเฉพาะ กล่าวคือ แทนที่ยิ่งกำหนดไปอารมณ์จะยิ่งชัดมากขึ้นเหมือนกรรมฐานอื่น แต่สำหรับกรรมฐานนี้ ยิ่งเจริญไป ลมหายใจยิ่งละเอียดขึ้นๆจนไม่รู้สึกเลยทำให้ไม่มีอารมณ์สำหรับกำหนด เมื่อปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ท่านแนะนำว่าอย่าเสียใจอย่าลุกเลิกไปเสีย พึงเอาลมกลับมาใหม่ วิธีเอาลมคืนมาไม่ยาก ไม่ต้องตามหาที่ไหน เพียงตั้งจิตไว้ ณ จุดที่ลมกระทบตามปกตินั่นแหละ ไม่ช้าลมก็จะปรากฏ ให้กำหนดอารมณ์กรรมฐานนั้นต่อเรื่อยไป ไม่นานนิมิตก็จะปรากฏ นิมิตนั้นปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติไม่เหมือนกัน บ้างก็รู้สึกเหมือนปุยนุ่น บ้างเหมือนปุยฝ้าย บ้างว่าเหมือนสายลม บางท่านปรากฏเหมือนดวงดาว หรือเหมือนเม็ดมณีบ้าง ไข่มุกบ้าง เม็ดฝ้ายหรือเสี้ยนไม้ซึ่งมีสัมผัสหยาบบ้าง เหมือนสายสังวาลบ้าง พวงดอกไม้บ้าง เปลวควันบ้าง ข่ายใยแมงมุมบ้าง แผ่นเมฆบ้าง ดอกบัวบ้าง ล้อรถบ้าง ตลอดจนเหมือนวงพระจันทร์หรือวงพระอาทิตย์ก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะนิมิตนั้นเป็นของเกิดจากสัญญา และสัญญา ( ความจำได้ )ของคนแต่ละคนก็ต่างๆกันไป

    เมื่อได้นิมิตแล้วก็ไปบอกอาจารย์ให้ทราบ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและหลงผิดลุ่มหลงในนิมิตจนไม่อาจถอนออกได้และทำให้การเดินทางสู่วิปัสสนาไม่สำเร็จ การได้นิมิตหากผู้ปฏิบัติเพียรรักษานิมิตไว้ ซึ่งก็คือรักษาสมาธินั้นไว้ให้แน่นหนามั่งคงเรื่อยไป การเจริญสมาธิก็จะประณีตขึ้นไปโดยลำดับ ซึ่งไม่บังเกิดผลในทางวิปัสสนาแม้จะบรรลุอภิญญาแล้วก็ตาม ในทางพระพุทธศาสนาการเจริญสมาธิด้วยวิธีใดก็ตามเมื่อจิตได้ตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว อาจอาศัยแม้เพียงขณิกสมาธิ โดยไม่ได้ฌาน อภิญญาใดๆเลย แต่ถ้าสามารถเข้าสู่วิถีแห่งปัญญา สามารถคิดพิจารณาไตร่ตรองแก้ปัญหาต่างๆโดยหลักอริยมรรค 8 ประการ เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ แล้วผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่ามีการเจริญวิปัสสนา สามารถตัดกิเลสตัวร้ายที่บั่นทอนจิตให้ตกอยู่ในวังวนของความโลภ ความโกรธ ความหลง และตัณหาได้ ย่อมบรรลุพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (พระธรรมปิฎก, ป.อ ปยุตฺโต: พุทธธรรม, 2543.839-874)


    2.2.1
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    วิธีเจริญสมาธิตามวิธีธรรมชาติ

    พระธรรมปิฎก (2543 : 841) ได้อรรถาธิบายว่า “...วิธีเจริญสมาธิตามธรรมชาติคือการปฏิบัติตามหลักการเกิดขึ้นของสมาธิในกระบวนธรรมที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีพุทธพจน์ไว้มากมายหลายแห่ง สาระสำคัญของกระบวนธรรมนี้คือ กระทำสิ่งดีงามอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดปราโมทย์ขึ้น จากนั้นก็จะเกิดความปีติซึ่งตามมาด้วยปัสสัทธิ ความสุข และสมาธิได้ในที่สุด พูดเป็นคำไทยว่า เกิดความปลาบปลื้มบันเทิงใจ จากนั้นก็จะเกิดความเอิบอิ่มใจ ร่างกายผ่อนคลาย สงบ จิตใจสบายมีความสุข แล้วสมาธิก็เกิดขึ้นได้ เขียนให้ดูง่ายๆ ดังนี้...”

    ปราโมทย์ → ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ


    “...หลักการทั่วไปมีอยู่ว่า การที่กระบวนธรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีศีลรองรับ สำหรับคนทั่วไป ศีลนี้ก็หมายเอาเพียงแต่การที่มิได้ไปเบียดเบียนล่วงละเมิดใคร ที่จะเป็นเหตุให้ใจคอวุ่นวายคอยระแวงหวาดหวั่นกลัวโทษหรือเดือดร้อนใจในความผิดพลาดชั่วร้ายของตนเอง มีความประพฤติสุจริตเป็นที่สบายใจของตน ทำให้เกิดความมั่นใจตัวเองได้ ส่วนการกระทำที่จะให้เกิดปราโมทย์ก็มีได้หลายอย่าง เช่นอาจนึกถึงความประพฤติดีงามสุจริตของตนเองแล้วเกิดความปลาบปลื้มบันเทิงใจขึ้นได้ อาจระลึกถึงการทำงานการบำเพ็ญประโยชน์ของตน อาจระลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งดีงามอื่นๆ อาจหยิบยกเอาหลักธรรมบางอย่างขึ้นมาพิจารณาแล้วเกิดความเข้าใจ ได้หลักได้ความหมาย เป็นต้น แล้วเกิดความปลาบปลื้มบันเทิงใจขึ้นมาได้ทั้งสิ้น องค์ธรรมสำคัญที่จะเป็นบรรทัดฐานหรือเป็นปัจจัยใกล้ชิดที่สุดให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ก็คือความสุข ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้เสมอๆว่า สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ ผู้มีสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ...”

    พุทธทาสภิกขุ (2535 : 121-148) กล่าวว่า “...การที่จิตเป็นสมาธินั้น มิได้หมายความว่าจะต้องมีการกระทำตามแบบตามพิธีรีตอง หรือที่เป็นเทคนิคต่างๆ นั้นโดยตรงอย่างเดียวก็หาไม่ โดยที่แท้แล้วสมาธิอาจจะมีได้โดยทางตรงตามธรรมชาติ ซึ่งปราศจากเทคนิคใดๆ ที่มนุษย์กำหนดขึ้น...”

    “...การเจริญสมาธิแบบธรรมชาติก็คือการเจริญสมาธิที่ไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์หรือวิธีการต่างๆว่าจะต้องทำอย่างนั้น จะต้องทำอย่างนี้ หรือต้องทำอะไรก่อน ต้องทำอะไรทีหลัง เพียงแต่อาศัยการกระทำที่ดีงาม ก็สามารถจะทำให้เกิดสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิได้ สมาธิตามธรรมชาตินั้น ย่อมรวมอยู่ในความพยายามเพื่อจะเข้าใจแจ่มแจ้งติดแนบแน่นอยู่ในตัวอย่างไม่แยกจากกันได้ และเป็นไปได้เองตามธรรมชาติ ในทำนองเดียวกันกับตัวอย่างที่ว่า พอเราตั้งใจคิดเลขลงไปเท่านั้นจิตมันก็เป็นสมาธิเอง หรือว่าพอเราจะยิงปืน จิตก็เป็นสมาธิที่จะบังคับให้แน่วแน่ขึ้นมาเองในเวลาเล็ง และเป็นไปตามธรรมชาติในตัวเอง ฉันใดก็ฉันนั้น แม้ในกรณีที่กำลังศึกษาเล่าเรียน การตั้งใจฟัง ตั้งใจอ่าน ตั้งใจเขียน ก็ย่อมแสดงว่ามีสมาธิพร้อมอยู่แล้ว...”

    “...คำว่าปราโมทย์และปีติ หมายถึงความชุ่มชื่นใจ หรือความอิ่มใจ สิ่งนี้ต้องการเป็นข้อแรก ปีติปราโมทย์ หมายถึง ปีติปราโมทย์ในทางธรรม หรือที่ประกอบด้วยธรรม...คือเกิดจากการทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดจากการเคารพนับถือตัวเองโดยเฉพาะว่าตัวเองได้เป็นผู้ทำความดี....การที่เราทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ที่สุดการให้ทาน การเผื่อแผ่ ซึ่งถือกันว่าเป็นกุศลชั้นต้นๆ ก็เป็นการให้เกิดปีติและปราโมทย์นี้ได้...”

    “...ความปีติปราโมทย์ทุกชนิดที่อาจเกิดตามธรรมชาติ เช่น การไปนั่งเล่นในที่สงบเย็น อากาศดี วิวดี สิ่งแวดล้อมต่างๆดี จะมีความรู้สึกชุ่มชื่นใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของความปีติหรือปราโมทย์ในที่นี้ด้วยเหมือนกัน ถ้าหากได้ทำความดีอะไรๆไว้ ก็ยิ่งปีติปราโมทย์ แม้การได้นอนหลับเต็มตื่น เต็มตา มีความสดชื่นสบายก็นับว่ามีความปีติปราโมทย์...”

    “...ปีติปราโมทย์ มีอำนาจอยู่ในตัวมันเอง ซึ่งจะให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ปัสสัทธิ แปลว่า ความรำงับ ตามปรกติจิตของคนเราไม่ค่อยจะรำงับ เพราะว่าจิตตกเป็นทาสของความคิดความนึก ของเวทนา ของอะไรต่างๆอยู่ตลอดเวลา เป็นความฟุ้งอยู่ภายใน ไม่เป็นความรำงับ หากเกิดความปีติปราโมทย์ตามทางธรรม มาครอบงำ มีอำนาจแรงกล้าพอสมควรแล้ว ความสงบรำงับ คือเกิดปัสสัทธิขึ้น...”

    “...ปัสสัทธินี้จะมีมากน้อยตามอำนาจของปีติปราโมทย์ ที่มีมากหรือน้อย เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมมากเพียงไร ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญามากเพียงไรด้วย...”


    “...เมื่อมีความสงบรำงับแล้ว ก็ย่อมจะเกิดอาการที่เรียกว่าสมาธิ คือใจอยู่ในสภาพที่เป็น กมฺมนีโย (Active) คือเร็ว คล่อง สะดวก เบาสบาย พร้อมที่จะเคลื่อนไหวไปตามต้องการ... มีจิตที่เป็นสมาธิ พร้อมที่จะรู้แจ้ง หรือกระทำการงานต่างๆให้บังเกิดผลที่ดี...”


    2.1
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    กรรมฐาน สมถะ สมาธิ และ วิปัสสนา

    กัมมัฏฐาน (นิยมเขียน กรรมฐาน) หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, หรือวิธีฝึกอบรมจิต หรือ วีธีการภาวนา (พระธรรมปิฎก, ประยุทธ์ ปยุตฺโต: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.เว็บไซต์ลานธรรม) มี 2 ประเภท คือ

    สมถกัมมัฏฐาน

    วิปัสสนากัมมัฏฐาน

    กรรมฐาน สมถะ และ การเจริญสมาธิ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
    สมถะภาวนาและวิปัสสนา

    ผู้ปฏิบัติสมถะ อาจทำสมถะอย่างเดียวโดยไม่บรรลุถึงวิปัสสนา หากผู้ปฏิบัติมัวหลงอยู่ในฌาณ คือการกำหนดเอารูปธรรมเป็นอารมณ์ระดับต่างๆทั้งรูปฌาณ 4 และอรูปฌาณ 4 หรือเรียกรวมกันว่า สมาบัติ 8 ภาวะจิตในฌาณนั้น จะสุขสงบผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่มีสิ่งรบกวนให้สะดุดหรือติดข้องอย่างใด เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว
    ท่านอนุโลมเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นจากกิเลสตลอดเวลาที่ยังอยู่ในฌาณนั้น ๆ ( แต่เมื่อออกจากฌาณแล้วโดยมิได้ไปถึงญาณหรือวิปัสสนา กิเลสก็กลับมาเหมือนเดิม การทำสมถะจึงเป็นการดับกิเลสโดยเอาสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาท่อนไม้ทับต้นหญ้าไว้ ต้นหญ้านั้นก็แห้งตายเพราะไม่ได้รับน้ำและแสงตะวันแต่เมื่อยกท่อนไม้ออกต้นหญ้านั้นก็งอกงามได้ดังเดิม ) นอกจากฌาณคือความสุขสงบของจิตแล้ว บางคนอาจสงบจนได้อภิญญา คือความสามารถพิเศษต่างๆได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ อ่านใจคนอื่นได้ ระลึกชาติได้ หูทิพย์ และ ตาทิพย์ ทั้งฌาณและอภิญญาเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติลุ่มหลงไม่อาจถอนจากสมถะไปสู่วิปัสสนาได้ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามิได้ยกย่องผู้ปฏิบัติเฉพาะสมถะแต่อย่างใด เพราะผู้ปฏิบัติสมถะยังเป็นโลกียะคือปุถุชนที่ยังมีกิเลส ในขณะที่ผู้เจริญวิปัสสนาอาจมีสมาธิเพียงระดับขณิกสมาธิก็เข้าสู่วิปัสสนาใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งตามเหตุตามผลจนตัดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงออกไปจากใจได้ แม้ไม่ได้ฌาณ หรือ อภิญญา ก็นับเป็นผู้ประเสริฐบรรลุพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ผลมุ่งหมายของสมถะ คือฌาณอันเป็นภาวะจิตที่สงบผ่องใจ และนำจิตไปสู่การเจริญวิปัสสนาซึ่งมีผลมุ่งหมายคือญาณหรือวิชชา ความรู้แจ้ง สามารถดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง และการปฏิบัติสมถะให้เป็นสัมมาสมาธิ ก็คือการเตรียมจิตให้พร้อมใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี เป็นสมาธิเพื่อปัญญา อันจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองในด้านต่างๆคือ

    1. เป็นผู้มีสุขภาพจิตดี หนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น มีบุคลิกภาพ สุภาพ นุ่มนวล งามสง่า มีเมตตา ซึ่งตรงข้ามกับผู้ไม่มีสมาธิมักมีกิริยาหยาบคาย ไม่สุภาพ และน่ากลัว

    2. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียน การทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็จะเป็นไปโดยรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุ เพราะเมื่อมีสมาธิ ย่อมมีสติกำกับอยู่ทำให้ไม่เกิดความประมาท

    3. เมื่อจิตใจดี ผ่อนคลายหายเครียด หายกระวนกระวาย ไม่วิตกกังวล ร่างกายก็พลอยสบายด้วย สุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็ดี

    การเจริญสมถะจนเป็นสัมมาสมาธิมีประโยชน์ดังกล่าวมา หาใช่ประโยชน์ในเรื่องฌาณหรืออภิญญาแต่อย่างใด และจะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือนำจิตที่เตรียมพร้อมจากการเจริญสมถะนี้แล้วเข้าสู่การเจริญวิปัสสนาต่อไป (พระธรรมปิฎก, ป.อ.ปยุตฺโต: หลักพุทธธรรม, 2543.305-308,824-839)


    1.5
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    วิปัสสนาภาวนา

    วิปัสสนาเป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากสมถะ อาจเรียกว่า วิปัสสนาภาวนา ปัญญาภาวนา การเจริญวิปัสสนา หรือ การเจริญปัญญา คือ การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจสภาวธรรมตามเป็นจริง การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และความทุกข์

    พระธรรมปิฎก (2543 : 306) กล่าวว่า “...วิปัสสนา แปลว่า การเห็นแจ้ง หรือวิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง หมายความว่า ข้อปฏิบัติต่างๆในการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสิ่งทั้งหลายตรงต่อสภาวะของมัน คือให้เข้าใจตามความเป็นจริง หรือตามที่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นของมันเอง (ไม่ใช่เห็นไปตามที่เราวาดภาพให้มันเป็น ด้วยความชอบความชัง ความอยากได้ หรือความขัดใจของเรา)รู้แจ้งชัดเข้าใจจริง จนถอนความหลงผิด รู้ผิด และยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ ถึงขั้นเปลี่ยนท่าทีต่อโลกและชีวิตใหม่ ทั้งท่าทีแห่งการมอง การรับรู้ การวางจิตใจ และความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้ความเข้าใจถูกต้องที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนาเรียกว่า “ญาณ” มีหลายระดับ ญาณสำคัญในขั้นสุดท้ายเรียกว่า วิชชา เป็นภาวะตรงข้ามกับ อวิชชา คือความไม่รู้ ความหลงผิด ภาวะจิตที่มีญาณหรือวิชชานั้น เป็นภาวะทีสุขสงบผ่องใสและเป็นอิสระ เพราะลอยตัวพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส เช่นความชอบ ความชัง ความติดใจ ความขัดใจ เป็นต้น ไม่ถูกบังคับครอบงำหรือชักจูงของกิเลส ทำให้มองเห็นหรือรับรู้สิ่งต่างๆอย่างบิดเบือน จนพาความคิดและการกระทำที่ติดตามมาให้หันเหเฉไป และไม่ต้องเจ็บปวดหรือเร่าร้อนเพราะถูกบีบคั้นหรือต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้น...”

    ญาณและวิชชา จึงเป็นจุดมุ่งของวิปัสสนา เพราะนำไปสู่วิมุติ คือความหลุดพ้นเป็นอิสระที่แท้จริง ยั่งยืนถาวร เป็นพระนิพพานหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน อันเป็นกิเลสประจำมนุษย์ และถือเป็นความมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตตามหลักพุทธศาสนา

    ผู้ปฏิบัติสมถะ อาจทำสมถะอย่างเดียวโดยไม่บรรลุถึงวิปัสสนา หากผู้ปฏิบัติมัวหลงอยู่ในฌาณ คือการกำหนดเอารูปธรรมเป็นอารมณ์ระดับต่างๆทั้งรูปฌาณ 4 และอรูปฌาณ 4 หรือเรียกรวมกันว่า สมาบัติ 8 ภาวะจิตในฌาณนั้น จะสุขสงบผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่มีสิ่งรบกวนให้สะดุดหรือติดข้องอย่างใด เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านอนุโลมเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ตลอดเวลาที่ยังอยู่ในฌาณนั้น ๆ แต่เมื่อออกจากฌาณแล้วโดยมิได้ไปถึงญาณหรือวิปัสสนา อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ก็กลับมาเหมือนเดิม การทำสมาธิ จึงเป็นการดับอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน โดยเอาสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาท่อนไม้ทับต้นหญ้าไว้ ต้นหญ้านั้นก็แห้งตายเพราะไม่ได้รับน้ำและแสงตะวันแต่เมื่อยกท่อนไม้ออกต้นหญ้านั้นก็งอกงามได้ดังเดิม

    “...นอกจากฌาณคือความสุขสงบของจิตแล้ว บางคนอาจสงบจนได้อภิญญา คือความสามารถพิเศษต่างๆได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ อ่านใจคนอื่นได้ ระลึกชาติได้ หูทิพย์ และ ตาทิพย์ ทั้งฌาณและอภิญญาเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติลุ่มหลงไม่อาจถอนจากสมถะไปสู่วิปัสสนาได้ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามิได้ยกย่องผู้ปฏิบัติเฉพาะสมถะแต่อย่างใด เพราะผู้ปฏิบัติสมถะยังเป็นโลกียะคือปุถุชนที่ยังมีอวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน...”

    “...ในขณะที่ผู้เจริญวิปัสสนาอาจมีสมาธิเพียงระดับขณิกสมาธิก็เข้าสู่วิปัสสนาใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งตามเหตุตามผลจนตัดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และดับทุกข์ได้ แม้ไม่ได้ฌาณ หรือ อภิญญา ก็นับเป็นผู้ประเสริฐบรรลุพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ผลมุ่งหมายของสมถะ คือฌาณอันเป็นภาวะจิตที่สงบผ่องใจ และนำจิตไปสู่การเจริญวิปัสสนาซึ่งมีผลมุ่งหมายคือญาณหรือวิชชา ความรู้แจ้ง สามารถดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง และการปฏิบัติสมถะให้เป็นสัมมาสมาธิ ก็คือการเตรียมจิตให้พร้อมใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี เป็นสมาธิเพื่อปัญญา อันจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองในด้านต่างๆคือ

    1. เป็นผู้มีสุขภาพจิตดี หนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น มีบุคลิกภาพ สุภาพ นุ่มนวล งามสง่า มีเมตตา ซึ่งตรงข้ามกับผู้ไม่มีสมาธิมักมีกิริยาหยาบคาย ไม่สุภาพ และน่ากลัว

    2. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียน การทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็จะเป็นไปโดยรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุ เพราะเมื่อมีสมาธิ ย่อมมีสติกำกับอยู่ทำให้ไม่เกิดความประมาท

    3. เมื่อจิตใจดี ผ่อนคลายหายเครียด หายกระวนกระวาย ไม่วิตกกังวล ร่างกายก็พลอยสบายด้วย สุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็ดี การเจริญสมถะจนเป็นสัมมาสมาธิมีประโยชน์ดังกล่าวมา หาใช่ประโยชน์ในเรื่องฌาณหรืออภิญญาแต่อย่างใด และจะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือนำจิตที่เตรียมพร้อมจากการเจริญสมถะนี้แล้วเข้าสู่การเจริญวิปัสสนาต่อไป


    1.4
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    สมถะภาวนา

    สมถะภาวนา คือ การเจริญสมถะ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการเจริญสมาธิ ผู้ปฏิบัติธรรมอาจใช้สมาธิเพียงขั้นต้น ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ เป็นจุดเริ่มต้น สำหรับใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมตามหลักวิปัสสนา(พระธรรมปิฎก, ป.อ.ปยุตฺโต: พุทธธรรม,2543.839) และสมาธินั้นก็จะเจริญขึ้นไปกับการเจริญวิปัสสนาด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าสมาธิที่เจริญขึ้นไปด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ ในที่สุดจะมีกำลังพอที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุผลที่หมายของวิปัสสนาคือความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ประจักษ์แจ้งนิพพานได้ก็จริง แต่ก็ไม่แรงกล้าเพียงพอที่จะให้ได้ผลสำเร็จทางจิตที่เป็นส่วนพิเศษออกไป คืออภิญญาขั้นโลกีย์ต่างๆ มีอิทธิปาฏิหาริย์เป็นต้น นอกจากนั้น การเริ่มต้นด้วยสมาธิที่ยังอ่อน ก็เหมือนคนเดินทางที่มีกำลังน้อยไม่เข้มแข็ง ทำให้มีความพร้อมในการเดินทางน้อยลง แม้จะหวังค่อยๆไปเสริมกำลังข้างหน้า ก็สู้คนที่เตรียมพร้อมเต็มที่ไปแต่ต้น เริ่มเดินทางด้วยความมั่นคงไม่มีห่วงกังวลเลยไม่ได้ ยิ่งถ้าปัญญาไม่เฉียบแหลมอีกด้วยก็ยิ่งลำบาก หรือปัญญาแก่ไป บางทีก็พาให้ฟุ้งซ่านเข้าอีก ดังนั้น จึงเกิดความนิยมที่จะฝึกอบรมเน้นหนักด้านสมาธิให้เป็นพื้นฐานไว้ก่อนไม่มากก็น้อย แม้จะไม่หวังเอาผลสำเร็จทางด้านพลังจิตถึงขั้นฤทธิ์อภิญญาอะไร แต่ก็พอให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรในการเจริญปัญญาต่อไป

    ถ้ามองดูความเป็นไปในชีวิตจริง จะเห็นชัดยิ่งขึ้น คนบางคนถ้าอยู่ในสถานที่มีเสียงรบกวนเพียงเล็กน้อย หรือมีคนอื่นเดินผ่านไปผ่านมา จะทำอะไรที่ใช้ความคิดไม่ได้เลย ที่จะใช้ปัญญาพิจารณาอะไรอย่างลึกซึ้งเป็นอันไม่ต้องพูดถึง แต่คนบางคนมีจิตแน่วแน่มั่นคงดีกว่า แม้จะมีเสียงต่างๆรบกวนรอบด้าน มีคนพลุกพล่านจอแจ ก็สามารถใช้ความคิดพิจารณาทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาได้อย่างปกติ บางคนมีกำลังจิตเข้มแข็งมาก แม้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นหวาดกลัวก็ไม่หวั่นไหว สามารถใช้ปัญญา คิดการณ์ต่างๆอย่างได้ผลดีดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ทั้งนี้ก็เพราะการเป็นคนมีสมาธิหรือไม่มีสมาธินั่นเอง และการเตรียมความพร้อมของจิตให้มีสมาธิก็มีวิธีการหลายวิธีได้แก่ การเจริญสมาธิตามวิธีธรรมชาติ , วิธีเจริญสมาธิด้วยอิทธิบาท 4 , วิธีการเจริญสมาธิด้วยสติปัฏฐาน4 ,และการเจริญสมาธิอย่างมีกฏเกณฑ์ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป


    1.3
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    อารมณ์ของสมาธิ

    พระธรรมปิฎก (2543 : 850) กล่าวไว้ว่า “...อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบาย หรือกลวิธีเหนี่ยวนำสมาธิ พูดง่ายๆว่า สิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด จิตจะได้มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว สงบอยู่ได้ไม่เที่ยววิ่งเล่นเตลิดหรือเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปอย่างไร้จุดหมาย เฉพาะในกรณีนี้ ก็คือสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนดเพื่อชักนำให้เกิดสมาธิ หรืออะไรก็ได้ที่พอจิตกำหนดจับเข้าแล้ว จะชักนำจิตให้แน่วแน่อยู่กับมันจนเป็นสมาธิได้เร็วและมั่นคงที่สุด พูดให้สั้นที่สุดว่า สิ่งที่ใช้ฝึกสมาธิ หรือ กรรมฐาน...กรรมฐานแปลว่าที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต หรือที่ให้จิตทำงาน มีความหมายเป็นทางการว่าสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา...”

    ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2542 (2546 : 16) ได้อธิบายว่า “...กรรมฐาน หมายถึงที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบายทางใจ มี 2 ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรื่องปัญญา...”

    ดังนั้น อารมณ์ของสมาธิ ก็คือ กรรมฐาน พระธรรมปิฎก (2543 : 851-853) กล่าวว่า “..กรรมฐานเท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้มี 40 อย่าง...” คือ

    กสิณ 10 (คือ 10 อย่าง ) แปลว่าวัตถุอันจูงใจ หรือวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตใจให้เป็นสมาธิ เป็นวิธีใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย โดยวิธีเพ่งเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง มี 10 อย่าง ได้แก่

    1) ใช้ดินเป็นอารมณ์ (ปฐวีกสิณ)

    2) ใช้น้ำเป็นอารมณ์ (อาโปกสิณ)
    3) ใช้ไฟเป็นอารมณ์ (เตโชกสิณ)
    4) ใช้ลมเป็นอารมณ์ (วาโยกสิณ)
    5) ใช้สีเขียวเป็นอารมณ์ (นีลกสิณ)
    6) ใช้สีเหลืองเป็นอารมณ์ (ปีตกสิณ)
    7) ใช้สีแดงเป็นอารมณ์ (โลหิตกสิณ)
    8) ใช้สีขาวเป็นอารมณ์ (โอทาตกสิณ)
    9) ใช้แสงสว่างเป็นอารมณ์ (อาโลกกสิณ)
    10) ใช้ช่องอากาศเป็นอารมณ์ (อากาศกสิณ)

    กสิณ 10 นี้ จะใช้ของที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็ได้ ตกแต่งจัดทำขึ้นให้เหมาะกับการใช้เพ่งโดย เฉพาะก็ได้ แต่โดยมากนิยมวิธีหลัง

    อสุภะ 10 (คือ 10 อย่าง )ได้แก่ พิจารณาซากศพในระยะต่างๆกันรวม 10 ระยะ เริ่มแต่ศพที่ขึ้นอืดไปจนถึงศพที่เหลือแต่โครงกระดูก ซึ่งซากศพ 10 ระยะดังกล่าว ได้แก่

    1) ใช้ซากศพที่พองขึ้นอืดเป็นอารมณ์ (อุทธุมาตกอสุภ)

    2) ใช้ซากศพที่ช้ำเขียวเป็นอารมณ์ (วินีลกอสุภ)
    3) ใช้ซากศพที่มีน้ำหนองไหลเยิ้มเป็นอารมณ์ (วิปุพพกอสุภ)
    4) ใช้ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อน ๆ เป็นอารมณ์ (วิจฉิททกอสุภ)
    5) ใช้ซากศพที่ถูกสัตว์แทะกินกระจุยกระจายเป็นอารมณ์ (วิกขายิตกอสุภ)
    6) ใช้ซากศพที่ถูกทิ้งไว้เรี่ยราดเป็นอารมณ์ (วิกขิตตกอสุภ)
    7) ใช้ซากศพที่ถูกสับฟันกระจัดกระจายเป็นอารมณ์ (หตวิกขิตตกอสุภ)
    8) ใช้ซากศพที่เปรอะเปื้อนโลหิตเป็นอารมณ์ (โลหิตกอสุภ)
    9) ใช้ซากศพที่มีหมู่หนอนคลาคล่ำเป็นอารมณ์ (ปุฬุวกอสุภ)
    10) ใช้ซากศพที่เหลือแต่ร่างกระดูกเป็นอารมณ์ (อัฏฐิกอสุภ)

    อนุสสติ 10 คืออารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ ได้แก่

    1) ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า (พุทธานุสสติ)
    2) ระลึกถึงคุณพระธรรม(ธัมมานุสสติ)
    3) ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ (สังฆานุสสติ)
    4) ระลึกถึงศีล พิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย (สีลานุสสติ)
    5) ระลึกถึงจาคะ ทานที่ตนได้บริจาคแล้ว (จาคานุสสติ)
    6) ระลึกถึงเทวดาหรือธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (เทวตานุสสติ)
    7) ระลึกถึงความตาย พิจารณาให้เกิดความไม่ประมาท (มรณฺสสติ)
    8) ระลึกถึงกาย คือการพิจารณากายให้เห็นอาการ 32 ว่าไม่สะอาด ไม่งาม (กายคตาสติ)
    9) ระลึกถึงลมหายใจคือพิจารณากำหนดลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติ)
    10) ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบคือพระนิพพาน (อุปสมานุสสติ)

    พรหมวิหาร 4 (อัปปมัญญา 4) คือธรรมที่พึงแผ่ออกไปในสัตว์มนุษย์ทั้งหลายอย่างมีจิตใจสม่ำเสมอทั่วกัน ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต ธรรมนี้มี 4 ประการ ได้แก่

    1) มีความรัก ปรารถนาจะให้ตนและผู้อื่นเป็นสุข (เมตตา)

    2) มีความสงสาร ปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ (กรุณา)
    3) มีความยินดีในเมื่อผู้อื่นได้รับความสุข และเจริญงอกงาม ประสบความสำเร็จ (มุทิตา)
    4) ความมีใจเป็นกลาง คือวางจิตเรียบสงบ สม่ำเสมอ เที่ยงตรงดุจตราชั่ง มองเห็นมนุษย์
    และสัตว์ทั้งหลายได้รับผลดีร้ายตามเหตุปัจจัยที่ประกอบ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบหรือชัง (อุเบกขา)
    อาหาเร ปฏิกูลสัญญา 1 ได้แก่การพิจารณาอาหารที่บริโภคให้เห็นเป็นของไม่สะอาดปฏิกูล

    จตุธาตุววัฏฐาน 1 ได้แก่การพิจารณาแยกส่วนประกอบต่างๆของร่างกายเช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกัน ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร

    อรูป 4 ได้แก่ กำหนดภาวะที่เป็นอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เพ่ง กสิณ 9 อย่างแรกข้อใดข้อหนึ่ง มี 4 อย่าง ได้แก่

    1) กำหนดช่องว่าง เพ่งอากาสว่าไม่มีที่สุด (อากาสานัญจายตนะ)

    2) กำหนดวิญญาณ เพ่งวิญญาณว่าไม่มีที่สุด (วิญญาณัญจายตนะ)
    3) พิจารณาว่าอะไร ๆ สักนิดหนึ่งก็ไม่มี (อากิญจัญญายตนะ)
    4) พิจารณาว่าจะมีสัญญาก็ไม่ใช่หรือจะไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เนวสัญญาน สัญญายตนะ)

    กรรมฐาน ที่กล่าวมาทั้งหมด 7 หมวด 40 อย่างนั้น บางทีจัดเป็นประเภทได้ 2 ประเภท คือ

    1. สัพพัตถกกรรมฐาน แปลว่ากรรมฐานที่ใช้ประโยชน์ได้หรือควรต้องใช้ทุกที่ทุกกรณี คือทุกคนควรเจริญอยู่เสมอ ได้แก่ อัปปมัญญา 4 (พรหมวิหาร 4) เรื่องเมตตาและอนุสสติ10 เรื่อง มรณสติ

    2. ปาริหาริยกรรมฐาน แปลว่ากรรมฐานที่ต้องบริหารอยู่เสมอ หมายถึงกรรมฐานที่เหมาะกับจริต จริยาของแต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อลงมือปฏิบัติแล้วจะต้องคอยเอาใจใส่รักษาอยู่ตลอดเวลาให้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นไป และกรรมฐานประเภทนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องมีครูอาจารย์ หรือพระผู้ชำนาญในกรรมฐานนั้นเป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้ปฏิบัติให้ถูกทางถูกวิธีไม่หลงติดอยู่เพียงสมถะจนไม่เจริญปัญญาหรือวิปัสสนา ส่วนจะเลือกปฏิบัติกรรมฐานใดก็ขึ้นอยู่กับจริยาหรือลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคลว่าเหมาะกับกรรมฐานใด เช่น ผู้มีนิสัยรักสวยรักงาม ควรใช้กรรมฐานอสุภะ ผู้มีนิสัยหนักไปทางโทสะ หงุดหงิด โมโหง่าย ควรใช้กรรมฐาน อุปปมัญญา4 ความเมตตา ผู้มีนิสัยหนักไปทางโมหะ เกียจคร้าน ง่วงเหงา เศร้าซึม ควรใช้อานาปานสติ เป็นต้น

    การเจริญสมาธิจะเลือกกรรมฐานแบบใดก็ตาม เมื่อสมาธิเจริญ จิตใจแน่วแน่มั่นคงดีแล้วต้องเข้าสู่วิถีแห่งปัญญา คือ การเจริญวิปัสสนา ใช้ปัญญาไตร่ตรอง วิเคราะห์ พิจารณาตามทางแห่งมรรค หรืออริยมรรคอันเป็นทางแห่งการดับทุกข์ ต่อไป


    1.2
     

แชร์หน้านี้

Loading...