เรื่องเด่น ยูเนสโกยกจารึกวัดโพธิ์มีคุณค่าต่อมนุษยชาติ!ไม่ได้มีแค่ฤาษีดัดตนแก้เมื่อย

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 5 กรกฎาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    e0b881e0b8a2e0b881e0b888e0b8b2e0b8a3e0b8b6e0b881e0b8a7e0b8b1e0b894e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c.jpg
    ยูเนสโกแห่งเอเชียแปซิฟิก ว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ขึ้นทะเบียนจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เป็นมรดกความทรงจำของโลก เพราะมีคุณค่าต่อมนุษยชาติ มีความโดดเด่นในด้านเวลาและเนื้อหาสาระ เป็นของแท้ที่มีมาแต่โบราณกาล บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์วิชาความรู้ต่างๆเป็นมรดกความทรงจำอันล้ำค่าไว้ให้ลูกหลาน

    วัดโพธิ์เป็นที่รู้กันว่าเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย เป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงห่วงใยในการศึกษาของพสกนิกร โปรดเกล้าฯให้เป็นแหล่งวิชาความรู้สำหรับราษฎรทั่วไปไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์

    สมัยนั้น การพิมพ์หนังสือยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย การเล่าเรียนวิชาสามัญให้อ่านออกเขียนได้มีอยู่แต่ตามวัด ส่วนวิชาวิสามัญที่ใช้ในการรับราชการหรือประกอบอาชีพ มีอยู่แต่ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และลูกหลานของขุนนางเท่านั้น ราษฎรสามัญไม่มีโอกาสได้เข้าเรียน

    ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดเกล้าฯให้รวบรวมตำราต่างๆซึ่งสมควรจะเรียนในระดับวิชาวิสามัญ มาตรวจแก้ไขหรือใช้ของเดิม กับประชุมผู้รู้ในวิชานั้นๆมาแต่งขึ้นใหม่ แล้วโปรดให้จารึกลงแผ่นศิลา ประดับไว้ตามที่ต่างๆในวัดโพธิ์ เป็นจำนวน ๑,๓๖๐ แผ่น บางวิชาก็มีรูปเขียนรูปปั้นประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ราษฎรทั่วไปถ้ามีใจรักวิชาใฝ่หาความรู้ ก็มาเล่าเรียนศึกษาด้วยตนเองได้ที่วัดโพธิ์ เหมือนอินเตอร์เนทในสมัยนี้

    ศิลาจารึกวัดโพธิ์ไม่ได้มีแต่เรื่องฤาษีดัดตนที่โด่งดังเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆอีกหลายแขนง และยังแบ่งเป็นพวกความเรียงกับพวกบทกลอนด้วย แต่ละจำพวกยังแบ่งเป็นหมวดต่างๆไว้ดังนี้

    หมวดประวัติ จารึกเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มีเรื่องสร้างวัดโพธิ์และการปฏิสังขรณ์

    หมวดพุทธศาสนา มีเรื่องพระพุทธบาท เรื่องธุดงค์ เรื่องชาดก เรื่องเปรตกถา เป็นต้น

    หมวดวรรณคดี มีเรื่องพระนารายณ์ ๑๐ ปาง เรื่องเบื้องต้นรามเกียรติ์ และนิทานเรื่องสิบสองเหลี่ยม

    หมวดประเพณี มีเรื่องมอญกวนข้าวทิพย์ เรื่องมหาสงกรานต์ และการจัดริ้วขบวนทางชลมารค

    หมวดวรรณคดี มีตำราฉันท์วรรณพฤติ ตำราฉันท์มาตราพฤติ ตำราเพลงยาวกลบท ตำราโคลงกลอักษร และ โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์

    หมวดสุภาษิต มีฉันท์กฤษณาสอนน้อง ฉันท์พาลีสอนน้อง ร่ายสุภาษิตพระร่วง ฉันท์อัษฎาพานร และโคลงโลกนิติ

    หมวดทำเนียบ มีทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์ ทำเนียบเมืองและผู้ครองเมือง และยังมีโคลงบรรยายให้รู้จักคนต่างชาติต่างภาษาไว้ถึง ๓๒ ชาติ แต่ขณะนี้เหลือเพียง ๒ ชาติ คือญวนและจีน ซึ่งบรรยายว่า

    ภาพญวน

    ภาพญวนเยี่ยงทูตเว้ เวียดนาม นี้พ่อ
    เครื่องแต่งยรรยงขบวนแบบงิ้ว
    องนายนั่งเปลหามคนแห่ น่านา
    ถือพัดดำด้ำจิ้ววาดวีฯ
    มายาเหลือแหล่ล้นหลายลบอง
    ชมแต่ฝีมือชาญช่างไม้
    เสพย์สัตว์จระเข้ของเขาชอบ ใจนา
    เมืองเรียดริ่มน้ำใช้เชี่ยวเรือฯ
    กรมขุนเดชอดิศร

    ภาพจีน
    รูปจีนระบอบเก่าพู้นมีผม มวยนา
    แปลงเปลี่ยนเปียตามตาดเจ้า
    ใส่เสื้อสะสวยสมสวมหมวก
    เชิงสอดเหียหุ้มเท้าทาบหนัง
    หมื่นเมืองมากแส้สะดวกเดินถึง กันนา
    สนุกบ่ปานถึงตั๋งต่างพร้อง
    สินค้าสิ่งของพึงใจรัก ดูแฮ
    คืนค่ำเท้งท้องน้ำแน่นเฉนียนฯ

    กรมขุนเดชอดิสร

    ภาพบรรยายโคลงที่หายไปเกือบหมดนี้ ยังดีที่มีผู้คัดลอกไว้ได้บ้าง อย่าง “ภาพหรูชปีตะสบาก” ซึ่งคงไม่ได้จดผิดไว้แน่ แต่ให้เดาว่าชาติไหนก็คงเดาไม่ออกกันเลย ดีแต่มีเฉลยให้รู้ว่าเป็น “รัสเซียแห่งเมืองปีเตอร์สเบิร์ก” ซึ่งบรยายไว้ว่า

    รูปหรูชปีตะสบากด้าว แดนตะวัน ตกพ่อ
    คนมากเมืองเขาเคยข่าวได้
    ดลเดือนฤดูพรรษ์ ผลเห็บ ตกแฮ
    เย็นเยือกลมไล้ย้อยหยาดเผลียงฯ
    ชาวเกษตรใส่เสื้อเย็บหนังแกะ
    นอนแนบอัคคีเคียงแค่มุ้ง
    ลงชนเชือดหนังแพะพันห่อ กายเฮย
    สาบสอายคลุ้งฟุ้งเฟื่องเหม็นฯ

    พระญาณปริยัติ

    หมวดที่ดังของวัดโพธิ์คือหมวดอนามัย เป็นตำราฤาษีดัดตน ซึ่งติดไว้ตามผนังศาลารายรอบวัด แต่ก็สูญหายไปมากเช่นกัน ที่เหลืออยู่ก็เช่น
    ดัดตนแก้ลมลำลึงค์ ลมอัณฑะ

    โยคีอังคตกล้าสมาบัติ
    รู้ชาติเนาวรัตนชัดชื่อนั้น
    แก้ลมเสียดเสียวขัดลำฝัก หายแฮ
    นั่งสมาธิ์นวดคอคั้นขบเขี้ยวตาขมึงฯ

    ขุนธนสิทธิ์

    ดัดตนแก้เท้าเย็นใจสวิงสวาย
    นักพรตประพฤติสร้างจรรยา
    เชิดชื่อกบิลดาบสเจ้า
    เท้าซ้ายไขว่เพลาขวามือหน่วง เข่าเอย
    ลมระงับจับเย็นเท้าอีกทั้งสวิงสวายฯ

    หลวงลิขิตปรีชา

    ดัดตนแก้เข่าขาตาย
    ฤาษีวชิรรู้ศาสตร์สฤษฏิกาย กบแฮ
    ชื่อเทพมณโฑชายมากชู้
    แก้ลมเข่าขาตายตึงเมื่อย มึนเอย
    เท้าหัตถ์ชันเข่าคู้ท่าแม้นละม้ายสิงห์

    หลวงชาญภูเบศร์

    ดัดตนแก้ลมในลำลึงค์
    อัคตะตะบะเพี้ยงเพลิงผลาญ ภพฤา
    ถวายเกราะองค์อวตารท่านนั้น
    นั่งดัดหัตถ์สองผสานพนมนิ่ง อยู่นา
    เพื่อขัดปัสสาวะกลั้นออกได้โดยใจฯ

    พระอมรโมลี

    ดัดต้นแก้เส้นมหาสนุกระงับ
    ถามินทร์มือยุดเท้าเหยียดหยัด
    มือหนึ่งเท้าเข่าขัดสมาธิ์คู้
    เข้าฌานช่วยแรงดัดทุกค่ำ คืนนา
    ระงับราคอยากจะสู้โรคร้ายภายในฯ

    พระมหามนตรี

    ท่าฤาษีดัดตนเหล่านี้ เป็นพระราชดำริมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว โปรดเกล้าฯให้รวบรวมตำราตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ นำท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้ปวดเมื่อร่างกายมาแสดง ส่วนที่ใช้ฤาษีมาเป็นดาราแสดงนำนี้ ก็เพราะคติไทยเราเชื่อว่าพระฤาษีเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการต่างๆ

    รูปปั้นพระฤาษีดัดตนท่าต่างๆแต่เดิมปั้นด้วยดิน ต่อมรัชกาลที่ ๓ โปรดให้หล่อเป็นเนื้อชิน เดิมมีอยู่ ๘๐ ท่า ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๒๔ ท่าเท่านั้น สมบัติของชาติอีก ๕๖ ท่าไม่รู้ว่าใครเอาไปนวดที่บ้าน หรือบินไปนวดฝรั่งเสียแล้ว

    ส่วนด้านตำรายา ซึ่งตอนนั้นยังไม่มียาฝรั่งเข้ามา มีแต่ยาสมุนไพร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้พระยาบำเรอราชแพทย์ ลงไว้บนแผ่นหินชนวน ใส่กรอบประดับไว้ที่ระเบียงรอบพระมหาเจดีย์และตามเสาศาลาราย

    ต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดให้แพทย์หลวงตรวจชำระแปลตำราแพทย์จากภาษาบาลี สันสกฤต เป็นภาษาไทย จัดเป็นหมวดหมู่และทำรูปเล่ม เรียกว่า ตำราแพทย์สาสตร์สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) มีวิชาหัตถศาสตร์ เรียกว่าตำรานวดฉบับหลวงไว้อีกเล่ม

    ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ได้มีคณะแพทย์แผนโบราณขออนุมัติต่อกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งโรงเรียนสมาคมแพทย์โบราณวัดพระเชตุพนฯ เปิดสอนการแพทย์โบราณ ทั้งการปรุงยา การรักษา ผดุงครรภ์ และการนวด โดยรับผู้มีคุณวุฒิแค่อ่านออกเขียนได้ มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป และเมื่อสำเร็จตามหลักสูตร ก็จะได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงสาธารณสุข

    นอกจากนี้โรงเรียนการแพทย์แผนโบราณและนวดแผนโบราณนี้ ยังนำนักเรียนที่จบหลักสูตรการนวดมาเปิดบริการที่ศาลารายด้านตะวันออก ๒ หลัง ติดประตูทางเข้าด้านตรงข้ามกับกรมรักษาดินแดน เปิดบริการตั้งแต่ ๘.๐๐ น.-๑๗.๐๐ น.ทุกวัน โดยนวดตามตำราฤาษีดัดตน มีทั้งคนไทยและต่างประเทศเข้าคิวกันไม่ขาดสาย
    พระราชปณิธานของรัชกาลที่ ๓ เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีมาแล้ว จึงเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน

    ตำราต่างๆของวัดโพธิ์ที่รวบรวมมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ล้าสมัยแต่อย่างใด บางอย่างกลับเฟื่องฟูยิงขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำ เช่น ตำรายาสมุนไพรและตำรานวดแบบฤาษีดัดตน แม้แต่ภาษิตพระร่วงอันเก่าแก่โบราณกาล ก็ยังใช้เตือนสติคนในยุนี้ได้อย่างดี เช่น

    “ของแพงอย่ามักกิน
    อย่ายินคำคนโลภ
    โอบอ้อมเอาใจคน
    อย่ายลเหตุแต่ใกล้
    ท่านให้อย่าหมายโทษ
    คนโหดให้เอ็นดู
    ยอครูยอต่อหน้า
    ยอข้าเมื่อแล้วกิจ
    ยอมิตรเมื่อลับหลัง
    ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ”
    b881e0b8a2e0b881e0b888e0b8b2e0b8a3e0b8b6e0b881e0b8a7e0b8b1e0b894e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-1.jpg
    b881e0b8a2e0b881e0b888e0b8b2e0b8a3e0b8b6e0b881e0b8a7e0b8b1e0b894e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-2.jpg
    b881e0b8a2e0b881e0b888e0b8b2e0b8a3e0b8b6e0b881e0b8a7e0b8b1e0b894e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-3.jpg

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000063958
     

แชร์หน้านี้

Loading...