ยุทธวิธีต่อสู้กับกิเลสมาร พระธรรมเทศนาหลวงปู่เทสก์ เทสรังส

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 22 พฤศจิกายน 2009.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    วันนี้จะเทศน์เรื่องยุทธวิธี ต่อสู้กับกิเลสมาร ตัวของเรานี้แท้จริงแล้วเป็นสนามต่อสู้กับกิเลสทั้งหลายโดยเฉพาะ ไหนจะต้องสู้กับความอดอยากลำบากนานาประการ เกิดขึ้นมามีรูปนามแล้วจะต้องมีความหิวโหย อยากนั่น อยากนี่ จำเป็นจะต้องหา สนองให้ตามความต้องการของร่างกาย

    ร่างกายอันนี้ยังแยกออกไปอีก คือ เป็นตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ แต่ละอย่างก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน เมื่อคนหนึ่งต้องการสิ่งหนึ่งแล้ว ทุกคนต้องพร้อมกันทำสนองให้ตามความต้องการของเขา หามาให้ยังไม่ทันสนองตามความต้องการ หรือได้มาแล้วแต่ไม่พอกับความต้องการ เดี๋ยวคนโน้นก็ต้องการอีกแล้ว วิ่งไปหาให้คนโน้นอีก วิ่งไปวิ่งมาหาให้คนโน้นบ้าง คนนี้บ้างอยู่ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าชีวิตจะหาไม่ บรรดาสิ่งที่ต้องการทั้งหลายเหล่านั้น โดยมากเป็นสิ่งที่ไม่มีในตัวทั้งนั้น สิ่งที่ไม่มีในตัวจึงต้องหายาก สิ่งที่ไม่มีในตัวและของหายากนี่แหละ เมื่อต้องการเข้าเมื่อไม่ได้ตามปรารถนาจึงเกิดลักขโมยขึ้น นี่แหละคือกิเลส

    ตา มีไว้ให้ดูรูป แต่มันมิใช่ดูเฉยๆ มันจะต้องดูหลายอย่าง เป็นต้นว่า ดูเห็นเป็นของสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง สวยก็ชอบใจปรารถนาอยากได้ไว้เป็นของตัว ไม่สวยก็เกลียดชังไม่ปรารถนาอยากเห็นอยากดู เป็นต้น ถ้ารูปนั่นเป็นของมีอยู่ในตัวของเราก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารูปนั้นเป็นของนอกจากตัวของเราแล้วนั่นแหละจะเป็นเรื่องยุ่งกันใหญ่ ยุ่งเพราะขโมยของกันและกัน มนุษย์ในโลกนี้เป็นขี้ขโมยกันทั้งหมด บ่าว สาว หนุ่ม แก่ เฒ่า ชรา ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใดๆ ก็ขี้ขโมยกันทั้งนั้น แม้แต่บรรพชิตผู้อยู่ในพุทธศาสนาก็ไม่พ้นขี้ขโมย เมื่อตามองเห็นรูปสวยงามของลูกหลานหรือภรรยาสามีของใครไม่รู้ล่ะ จำต้องลักขโมยเอามาให้ได้อย่างน้อยก็ต้องรูปนี้สวยจริง ถ้ามากหน่อยก็ติดตาอยู่ไม่หายอย่างมากก็ถึงกับฉุดหรือแย่งชิงเอาจนได้ เรียกว่าขี้ขโมย ขี้ขโมยแต่เบื้องต้นโดยเขาไม่รู้หรอกว่าเรารักหรือชอบเขา ที่เขาไม่รู้นี่ซี่ เรียกว่า ขี้ขโมย บ้านใดเมืองใดมีแต่ขี้ขโมยมากๆ บ้านนั้นเมืองนั้นย่อมอยู่ไม่เป็นสุข คนอยู่ในโลกด้วยกันเป็นผู้ไม่มีศีล นำความเดือดร้อนมาสู่โลกนี้ ข้อ 1 ล่ะ

    ถ้าอยากให้โลกนี้อยู่เป็นสุขแล้ว จงขจัดตัวต้นคือ หัวใจของแต่ละคนเสีย อย่าให้เป็นขี้ขโมยเสียก่อน คือ ตา เห็นรูปให้รู้ว่าเห็นรูปแต่อย่าไปปรุงแต่งให้มันสวยงามหรือขี้เหร่ เมื่อปรุงแต่งว่าสวยงามหรือขี้เหร่แล้ว ก็อย่าไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ รูปนี้เกิดขึ้นมาด้วยบุญกรรมตกแต่งไม่มีใครแต่งเอาได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็เสวยวิบาก มีสุขมีทุกข์อยู่ตลอดเวลาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตามีหน้าที่ไว้เห็นรูปก็ดูไป ดูวิบากของกรรมซึ่งมันแสดงท่าทีกิริยาต่างๆ ของมัน แล้วตาก็ไม่เป็นขี้ขโมย ตาก็มีศีลบริสุทธิ์ไปคนหนึ่งละ

    หู มีไว้สำหรับฟังเสียง ก็ฟังไปอย่าไปขี้ขโมยเอาเสียงของคนอื่นก็แล้วกัน เสียงเป็นของไม่มีตัวตน เสียงเกิดจากรูปธาตุภายนอกกระทบกันจึงเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วหูไปรับรู้เอามายึดแล้วก็ปรุงแต่งไปต่างๆ นานาว่า เพราะบ้าง ไม่เพราะบ้าง บางทีถ้าเสียงนั้นเพราะก็ชอบใจ แต่ถ้าเสียงนั้นไม่เพราะก็โกรธเอา เสียงเป็นนามธรรม แต่ถึงขนาดนั้นก็ไปยึดขโมยมาจนได้

    มีพระเขมรรูปหนึ่ง ก่อนเธอจะออกมาปฏิบัติกัมมัฏฐาน เธอเป็นนักพิณพาทย์ เวลาออกมาปฏิบัติกัมมัฏฐานทำความสงบ ได้ยินเสียงพิณพาทย์ฆ้องวงที่ไหนเขาตีไม่ถูกจังหวะ เธอไปแต่งของเขาหมด ทำอย่างนั้นไม่ถูกไม่ดีไม่ถูกจังหวะ ไม่ถูกเพลงอย่างนั้น ทำอย่างนั้นจึงจะถูกจะเพราะ เลยไม่เป็นอันจะภาวนา บางทีถึงกับลุกออกจากภาวนาก็มีถึงขนาดนั้น ขี้ขโมยตัวนี้แม้ขนาดพระบวชแล้ว ผ้าเหลืองหุ้มไว้ก็ไม่ฟัง นี้ขี้ขโมยคนที่ ๒

    จมูก มีไว้สำหรับสูดลมหายใจเข้าหายใจออกไม่พอพร้อมกันนั้นจะต้องสูดเอากลิ่นเหม็น และกลิ่นหอมเข้าไปอีกด้วย บางทีกลิ่นเหม็นไม่พอใจก็จำต้องอดทน ทนไม่ไหวก็ต้องเอามืออุดรูจมูกไว้ ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องวิ่งหนี บรรดาอวัยวะในตัวของคนเรานี้ที่มีอยู่ทั้งหมด จมูกเป็นของที่น่าสงสารที่สุด กลิ่นที่เหม็นและน่าเกลียดที่สุดก็ต้องสูดเอา ถ้าไม่สูดเอาลมก็ไม่มีลมเข้าปอด ถ้าสูดเอากลิ่นเหม็นเข้าปอด ก็จะเกิดปอดอักเสบแต่ถึงขนาดนั้นจมูกก็ต้องเป็นขี้ขโมยกับเขา ขี้ขโมยของจมูกยังดีหน่อยไม่ค่อยเป็นพิษเป็นภัยเท่าขี้ขโมยของตา

    เทวดาองค์หนึ่งเห็นพระดมกลิ่นดอกไม้ จึงบอกว่า ท่านลักขโมยของเขาทำไม พระบอกว่าเราไม่ได้ขโมยของใคร เราดมกลิ่นดอกไม้เฉยๆ เทวดาบอกว่า นั่นแหละขโมยของเขาแล้ว กลิ่นดอกไม้มันไปตามลม เราได้รับสูดเอามาดมเป็นการขโมยก็ไม่สำรวม

    ลิ้น มีไว้สำหรับรสชาติอาหาร หวาน เปรี้ยว เผ็ด เค็ม ถ้าไม่รู้จักรสชาติเหล่านี้แล้ว คนเราก็อยู่ไม่ได้ต้องตาย นอกจากจะรู้จักรสชาติเหล่านั้นแล้ว ยังต้องมีไว้สำหรับพูดให้รู้จักภาษาสำเนียงเสียงสั้นเสียงยาวเป็นต้น ลิ้นนี้ถ้าไม่มีคนมาหยิบยื่นส่งให้ก็จะไม่ได้รับรสชาติเลย ด้วยเหตุที่อาศัยคนอื่นนำมาส่งให้นี้แหละ เมื่อได้รับรสชาติที่ชอบใจพอใจจึงยึดไว้อยากให้รสนั้นอยู่นานๆ เมื่อรสนั้นหายไปแล้วก็เสียดายอยากได้มาอีก เมื่อไม่ได้ก็ดิ้นรนเดือดร้อนอยากได้รสชาตินั้นไม่หาย จึงเป็นขี้ขโมยอยู่แต่ภายในบ้านของตน

    กาย มีไว้สำหรับสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง และสิ่งที่อ่อนนุ่มนวล เป็นต้น กายนี้มิใช่มีไว้แต่เพียงรับสัมผัสเท่านั้น มีไว้เพื่อรับรองทัพพสัมภาระทุกอย่างอีกด้วย คนเกิดมาต้องตั้งกายนี้เป็นหลักเสียก่อน แล้วจึงแยกออกเป็น ตา หู จมูก ลิ้น และใจ ให้รับหน้าที่เป็นส่วนๆ ไป ถ้าจะว่าไปแล้วคนเกิดมามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะกาย กายได้ชื่อว่าเป็นพ่อบ้านของอวัยวะทั้งปวง ตา หู จมูก ลิ้น และใจ เมื่อจะทำหน้าที่ของตนๆ ต้องเกี่ยวเนื่องถึงกายทั้งนั้น เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ธรรมชาติจึงเอามารวมไว้ที่หัวแห่งเดียวใกล้กับสมอง เพื่อใช้การงานให้สะดวกขึ้น กายนี้แปลกจาก ตา หู จมูก และลิ้นหน่อย ถึงคนไม่นำมาให้เขาก็เอามาสัมผัสเองก็ได้ ขอให้มีเถอะสิ่งที่เขาต้องการแล้วจะอยู่ใกล้อยู่ไกลสักปานใด จำต้องนำมาจนได้และสิ่งที่กายนำมาสัมผัสนั้นก็ขโมยเขามาโดยที่เขาไม่รู้เลย ถึงรู้ก็ขโมยเขามาก่อนแล้ว จึงเรียกว่า ขี้ขโมยคนหนึ่ง

    ใจ เป็นขี้ขโมยคนที่หก นี่ยิ่งร้ายกาจมาก ขโมยจนไม่เลือกหน้าไม่เลือกเวลาและบุคคล ขอแต่ให้ประสบอารมณ์ไม่ว่าดีหรือชั่ว หยาบและละเอียด ขโมยเอามาทั้งหมด เจ้าของเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม เรียกว่า ขโมยทั้งนั้น ถึงคนอื่นไม่เสียหาย แต่ของเราผู้ขโมยนี่ซิเสียหาย เสียหายเพราะจิตไม่อยู่เป็นปกติ คิดส่งส่ายออกไปภายนอก

    รวมความแล้วทั้ง หกคนเป็นขี้ขโมยพร้อมๆ กัน ไม่มีสำรวมจิตใจบังคับของตนได้ ผู้มีอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่สำรวม ปล่อยให้ส่งส่ายตามอารมณ์ของตน หาลักขโมยของเขา เป็นขี้ขโมยโดยแท้ ถ้าเป็นขี้ขโมยในบ้าน(คือกายนี้) ทั้งหกคนแล้ว บ้านอื่นๆ นับเป็นล้านก็เป็นขโมยด้วยกันหมด มันก็ยุ่งละซี

    กิเลสมันซัดพาเอามนุษย์ให้ลอยไปตามกระแสน้ำหาที่เกาะ เกี่ยวไม่ได้ เหมือนกับคนตกน้ำจวนจะจมอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานพระโอวาทว่า ปทีปํ นคเวสถ ยํโอโฆนาภิกีรติ เมื่อกิเลสพาเอาสัตว์ทั้งหลายไหลไปอยู่ สูทั้งหลายจึงหาที่พึ่งคือเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง (คือความสงบแห่งใจ) ดังนี้

    กิเลสเป็นของเกิดมีขึ้นที่ตัวของเรานี้ทั้งหมด ผู้ เห็นโทษทุกข์ในกิเลสแล้วตั้งใจจะต่อสู้กับกิเลส พึงตั้งสนามรบลงที่กายนี้เสียก่อน (คือที่อายตนะทั้งหก) ให้เป็นหลักแล้วตั้งป้อมยามเฝ้ารักษา (คือตัวสติ) เมื่อกิเลสเข้ามาทางไหนก็จะได้รู้ กิเลสก็คือตัวจิตนั่นเองมันหลอกลวงจิตทำปัญญาให้เสื่อม เจ้ากิเลสว่าเป็นของมิใช่กิเลส นั้นยามให้ข้าศึกเข้ามาแล้ว รักษาสนามไม่ดี ข้าศึกมันตีสนิทกับยาม ยามเลยเผลอไป ยามไม่ต้องสนิทกับใคร และรักษาหน้าที่ให้แข็งแรงที่สุด เห็นคนมาต้องรายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบเป็นระยะๆ ถ้าเห็นว่าเป็นข้าศึกต้องยิงอย่าให้ข้าศึกศัตรูทันตั้งตัวได้ ถึงข้าศึกจะอยู่ไกลแสนไกลกระสุนก็สามารถยิงถึงได้ แล้วก็ยิงไม่พลาด สามารถถูกข้าศึกหมู่ใหญ่ให้แตกกระจายไปได้

    นักรบที่ดี กล้าหาญ เชี่ยวชาญต่อข้าศึกกิเลสมาร ต้องมีลักษณะอย่างนี้ ยิงเร็วและยิงไว ยิงไกล ยิงถูกข้าศึกหมู่ใหญ่ กิเลสมารมีราคะ เป็นต้น จะเกิดขึ้นด้วยการดำริแล้ว รีบเร่งให้มีสติกำหนดประหารอย่าให้ทันเกิดขึ้นได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจะแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง เรียกว่ายิงเร็ว กิเลสมารถึงมันจะเกิดขึ้นห่างไกลจากตัวของเรา แต่มันเกี่ยวเนื่องถึงตัวของเราก็ให้รีบเร่งตั้งสติกำหนดเอากิเลสนั้นมาเป็น อารมณ์ ให้เห็นมูลของมันแล้วทำลายเสีย เรียกว่ายิงไกล สรรพกิเลสทั้งปวงซึ่งมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นแม่ทัพนำพาเอากิเลสทั้งปวงมารุมล้อม ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง ต้องกำจัดด้วยอนัตตาเป็นอาวุธ ถูกข้าศึกหมู่ใหญ่ราบเรียบไปหมด เราได้แม่ทัพทั้งสามคนนี้ไว้ในกำมือแล้ว เราไม่กลัวข้าศึกภายในของเราซึ่งจะมาราวีทำลายสมาธิของเราได้

    นักภาวนาทั้ง หลายที่ตั้งใจจะสู้กับกิเลสกันจริงๆจังๆ พอกิเลสเข้ามาเลยสารภาพให้กิเลสเสีย แต่เราเข้าใจว่าเราชนะกิเลส กิเลสมันหลอกลวงให้เราหลงเชื่อมัน บางคนเมื่อฝึกหัดไปๆ พอจิตสงบเข้าถึงอัปปนาซึ่งคนไม่เคยได้เลย ก็เข้าใจว่าตัวหมดกิเลสแล้วก็ยิ้มย่องผ่องใสอยู่คนเดียว หรือคุยโม้ว่ามรรคผล นิพพาน ฌานสมาบัติเป็นของทำง่ายนิดเดียว แต่หาได้รู้ไม่ที่เป็นอยู่นั้นคืออะไร อยู่ชั้นไหน บางคนกิเลสมันลวงว่าทำความเพียรมามากแล้วพักผ่อนเสียก่อนเถอะ ทำมากไปหรือตึงไปหรือเครียด เดี๋ยวจะเกิดอัมพาตแขนขาเสียแล้ว ทำความเพียรจะไม่ได้ หรืออายุจะสั้น เราจะทำประโยชน์ส่วนรวมจะไม่ได้ บางคนกิเลสมันลวงว่าหนาวนัก ร้อนนัก หรือนั่งนานเมื่อยขา เจ็บหลังปวดเอวเป็นต้น เราพักเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำทีหลังดังนี้เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ถูกกิเลสมันลวงให้โอนอ่อนตามมันทั้งนั้น

    ถ้านักต่อสู้กันจริงๆ จังๆแล้วคำว่า ทำความเพียรมากแล้วพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายมีกำลังหรือกลัวต่อเย็น ร้อนหรือปวดโน่นปวดนี่รวมเรียกว่ากลัวตาย นั่นเอง ย่อมไม่มีแก่โยคาพจรกุลบุตรเลย มีแต่เพ่งทำความเพียรเพื่อบรรลุตามเป้าหมายของตนอย่างเดียว แม้แต่คำว่า ทำความเพียรเพื่อมรรคผลชั้นนั้นๆ ก็ไม่มี จะมีแต่เพื่อความบริสุทธิ์แห่งใจเท่านั้น เห็นสิ่งใดเป็นไปเพื่อความเศร้าหมองของใจ จะพยายามชำระแต่สิ่งนั้นให้หมดสิ้นไปเท่านั้น


    โดย
    ^rin^ อกาลิโก
    http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=6898
     

แชร์หน้านี้

Loading...