มหากาพย์พุทธจริต ตอน ตอน ราชตระกูลคร่ำครวญ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 8 มีนาคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    มหากาพย์พุทธจริต แปลโดยอาจารย์สำเนียงเลื่อมใส ตอน ราชตระกูลคร่ำครวญ
    [​IMG]
    41 "ราชสมบัติเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์ก็จริง แต่มันก็เป็นที่อยู่อาศัยแห่งความพินาศ เปรียบเสมือนปราสาททองที่กำลังถูกไฟไหม้ เปรียบเสมือนอาหารชั้นเลิศที่ระคนด้วยยาพิษ และเปรียบเหมือนสระบัวที่คราคร่ำด้วยจระเข้ฉะนั้น"

    42 "อนึ่ง ราชสมบัติไม่ใช่ทั้งสุข ไม่ใช่ทั้งธรรม ดังนั้นพระราชาทั้งหลายในปางก่อนเมื่อทรงเกิดความเบื่อหน่ายจึงได้สละราชสมบัติเสด็จไปสู่ป่าในยามที่ก้าวเข้าสู่วัยชราซึ่งเป็นความทุกข์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

    43 การยึดถือความสันโดษอย่างยิ่งดุจถือเอารัตนะอย่างมั่นคงแล้วบริโภคพืชสมุนไพรในป่ายังดีเสียกว่า การอยู่ร่วมกับทรัพย์ที่ได้มาง่ายๆ ซึ่งมีโทษเหมือนกับงูพิษและไม่ควรมองดูไม่ดีเลย"

    44 การที่พระราชาทั้งหลายทรงสละราชสมบัติแล้วเสด็จไปสู่ป่าด้วยความปรารถนาในธรรมนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่การที่บุคคลทำลายคำปฏิญาณแล้วละทิ้งป่ากลับไปสู่เรือนนับว่าไม่ควรเลย"

    45 คนผู้เกิดในตระกูลสูงและมีคุณสมบัติคนใดเล่า เมื่อเข้าสู่ป่าด้วยความรารถนาในธรรมแล้วจะพึงละทิ้งผ้ากาสายะไปอาศัยเมืองของพระอินทร์ (ตาย) โดยไม่รู้สึกระอาย"

    46 "เพราะว่าผู้ใดกลืนกินอาหารที่ตนสำรอกออกมาซ้ำอีกเพราะความโลภ เพราะความหลง หรือเพราะความกลัว ผู้นั้นก็พึงรับเอาวัตถุที่น่าใคร่ทั้งหลายกลับคืนอีกเพราะความโลภ เพราะความหลง หรือเพราะความกลัว หลังจากละทิ้งพวกมันไปแล้ว"

    47 "อนึ่ง ผู้ใดหนีออกจากเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้ได้แล้วพึงหวนกลับเข้าไปสู่เรือนนั้นอีก ผู้นั้น เมื่อละทิ้งความเป็นผู้ครองเรือนได้แล้วและเห็นโทษของมันแล้วก็พึงปรารถนาจะรับเอาความเป็นผู้ครองเรือนเพราะความหลงผิดอีก"

    48 อนึ่ง เรื่องที่ฟังสืบต่อกันมาว่าพระราชาทั้งหลายผู้ประทับอยู่ในปราสาทก็สามารถบรรลุความหลุดพ้นได้ข้อนั้นหาเป็นจริงไม่ (เพราะ) โมกษธรรมซึ่งมีความสงบเป็นสำคัญและราชธรรมซึ่งมีการลงทัณฑ์เป็นสำคัญจะอยู่ร่วมกันได้ที่ไหน"

    49 "ถ้าพระราชาทรงยินดีในความสงบ ราชอาณาจักรก็จะอ่อนแอ แต่ถ้าทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในราชอาณาจักร พระองค์ก็จะสูญเสียความสงบ เพราะว่าความสงบและความรุนแรงไม่เหมาะแก่กัน เปรียบเหมือนการรวมกันของความเย็นและความร้อน หรือของน้ำและไฟ เข้ากันไม่ได้"

    50 "ดังนั้น พระราชาผู้ทรงได้รับความสงบหลังจากทรงสละราชสมบัติก็ดี หรือพระราชาผู้ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติโดยสำคัญตนว่าได้บรรลุโมกษะเพราะสามารถควบคุมอินทรีย์ได้ก็ดี ต่างก็ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ใช่สิ่งสูงสุดอย่างแน่นอน"

    51 "ขอความสงบร่มเย็นจงมีในราชอาณาจักรของพระราชาเหล่านั้นตามสมควรเถิด ฉันไม่ได้เข้าป่าเพราะการตัดสินใจผิดหรอก เพราะว่าฉันตัดบ่วงคือเรือนและพระประยูรญาติได้แล้ว เป็นอิสระแล้ว จึงไม่ต้องการหวนกลับไปอีก"

    52 ครั้นได้ฟังพระกุมารตรัสถ้อยคำที่เหมาะสมกับความรู้และคุณธรรมของพระองค์โดยไม่มีความปรารถนาใดๆ ทั้งยังหนักแน่นด้วยเหตุผลอย่างนั้น ฝ่ายพระราชครูจึงกราบทูลตอบไปว่า

    53 "การตัดสินพระทัยของพระองค์เพื่อการประพฤติธรรมจะไม่เหมาะสมก็หาไม่ เพียงแต่การตัดสินพระทัยของพระองค์นี้ยังไม่เหมาะแก่เวลา เพราะว่าสิ่งนี้ไม่ควรจะเป็นธรรมสำหรับพระองค์ผู้ทรงฝักใฝ่ในธรรมเนื่องจากทรงทอดทิ้งพระราชบิดา ผู้ชราภาพไว้ในความเศร้าโศก"

    54 "อนึ่ง การตัดสินพระทัยของพระองค์ผู้ทรงเบื่อหน่ายทรัพย์ที่เห็นประจักษ์ด้วยตาแล้วเสด็จไปเพื่อผลที่ยังมองไม่เห็นนับว่าไม่ใช่ความคิดที่หลักแหลมและไม่ใช่ความคิดที่ฉลาดในเรื่องธรรม อรรถและกามอย่างแน่นอน"

    55 "คนบางพวกกล่าวว่าการเกิดใหม่มี แต่บางพวกกล่าวยืนยันด้วยความมั่นใจว่าการเกิดใหม่ไม่มี เพราะยังเป็นที่สงสัยกันอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงควรจะเสวยราชสมบัติที่อยู่ใกล้ๆเสียก่อน"

    56 ถ้ายังมีการเกิดใหม่อีก เราทั้งหลายก็พึงยินดีกับการเกิดใหม่ตามที่ได้รับนั้น แต่ถ้าไม่มีการเกิดใหม่ในโลกหน้า ความหลุดพ้นของชาวโลกก็ถือว่าสำเร็จแล้วโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม"

    57 "คนบางพวกกล่าวว่าโลกหน้ามี แต่ไม่ได้อธิบายวิธีเข้าถึงความหลุดพ้น เพราะพวกเข้าสอนว่ามีประกฤติ ๑ ในการเกิดใหม่ เหมือนกับกล่าวถึงความร้อนของไฟและความเปียกของน้ำ"

    ๑ ประกฤติ (ปรฺกฺฤติ) ตามปรัชญาสางขยะหมายถึง ธาตุแท้ของธรรมชาติ หรือสิ่งที่กระทำให้โลกนี้ปรากฏขึ้น มี 2 อย่าง คือปรา และ อปรา อย่างต้นได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ มนัส พุทธิ อหังการ อย่างหลังได้แก่ ปฺรธาน หรือมูลเหตุของโลก ประกฤติประกอบด้วยคุณ 3 ประการ คือ สัตตวะ (สตฺตฺว) รชัส(รชสฺ) และตมัส (ตมสฺ) สัตตวะมีลักษณะเด่นในทางความเป็นเบิกบานและสงบ ความเจิดจ้าและแสงสว่าง เป็นฝ่ายเบา ลอยขึ้นสู่เบื้องบน ดำรงอยู่อย่างสม่ำเสมอ เป็นลักษณะของความดี รชัส เป็นความไม่อยู่นิ่ง ความเปลี่ยนแปลง ความดิ้นรน ความเคลื่อนไหว ความไม่สงบ ความกระวนกระวาย ส่วนตมัส เป็นความหนัก ความถ่วง ความจม ความเฉี่ยย ความมืดและความเชื่องซึมเหงาหงอย ความหดหู่ ความหยุดนิ่ง

    58 "คนบางพวกอธิบายว่าความดีและความชั่ว ความมีและความไม่มี เกิดจากธรรมชาติ (สฺวภาว) และเพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากธรรมชาติ ดังนั้น ความพยายามจึงสูญเปล่า"

    59 "เพราะว่าการทำงานของอินทรีย์ถูกกำหนดไว้แล้ว ทั้งความน่ายินดีและไม่น่ายินดีก็มีอยู่ในวัตถุเครื่องเร้าอารมณ์ทั้งหลาย อนึ่ง เพราะคนยังมีความเกี่ยวข้องกับชราและความเจ็บป่วย ในเรื่องนั้นจะต้องมีความพยายามอะไรเล่า นั้นเป็นธรรมชาติ(สฺวภาว) มิใช่หรือ

    60 "ไฟย่อมดับเพราะน้ำและน้ำย่อมเหือดแห้งเพราะไฟ ธาตุทั้งหลายที่แยกกันอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อรวมกันเป็นรูปร่างและเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวย่อมก่อให้เกิดโลกได้"

    61 "เพราะสัตว์ที่อาศัยอยู่ในครรภ์มีมือ เท้า ท้อง หลัง และศีรษะ พัฒนาขึ้น และเพราะมีการรวมกันของวิญญาณ (อาตมัน) เข้ากับสิ่งนั้น (อวัยวะที่พัฒนาขึ้นเป็นร่างกาย) ท่านผู้รู้ในเรื่องนี้จึงกล่าวว่ามันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ"

    62 "ใครเล่าสร้างความแหลมให้กับหนาม หรือว่าใครเล่าสร้างความหลากหลายให้กับเนื้อและนก สรรพสิ่งนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดทำตามได้ความต้องการของตนเอง (ดังนั้น) ความพยายามจะมีแต่ที่ไหน"

    63 "ในทำนองเดียวกัน คนบางพวกกล่าวว่าการสร้างโลกมาจากพระเจ้า (อีศวร) ในกรณีนั้นความพยายามของบุรุษจะมีประโยชน์อะไร (เพราะ) ผู้ที่เป็นสาเหตุทำให้โลกเกิดนั้นก็ถูกกำหนดว่าเป็นสาเหตุทำให้โลกดับด้วย"

    64 "คนบางพวกกล่าวว่าการเกิดภพและความสิ้นภพมีสาเหตุมาจากวิญญาณ (อาตฺมนฺ) นั่นเอง แต่พวกเขาอธิบายว่า การเกิดภพมีได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม และกล่าวว่าการบรรลุโมกษะมีได้ด้วยความพยายาม"

    65 "มนุษย์ปลดเปลื้องหนี้บรรพบุรุษทั้งหลายด้วย (การให้กำเนิด)บุตรหลาน ปลดเปลื้องหนี้ฤาษีทั้งหลายด้วย ( การศึกษา) พระเวท ปลดเปลื้องหนึ้เทวดาทั้งหลายด้วย (การถวาย) เครื่องพลีกรรม มนุษย์เกิดมาพร้อมกับหนี้สามอย่างนี้ ได้ยินว่าผู้ใดปลดเปลื้องหนี้สามอย่างนั้นได้ โมกษะย่อมมีแก่ผู้นั้น"

    66 "ผู้รู้ในเรื่องนั้นกล่าวว่าโมกษะจะมีแก่คนที่ทำความพยายามไปตามลำดับขั้นตอนของวิธีนั้นด้วยประการฉะนี้ ส่วนผู้ต้องการบรรลุโมกษะแม้จะมีความพยายามด้วยเรี่ยวแรงของตนก็ย่อมได้รับเพียงความเหน็ดเหนื่อยเท่านั้น"

    67 "ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระทัยอ่อนโยน ดังนั้นถ้าความศรัทธาในโมกษะยังมีอยู่ ขอพระองค์จงประพฤติตามวิธีที่ข้าพระองค์ได้กราบทูลแล้วด้วยเหตุด้วยผล การบรรลุโมกษะของพระองค์และการระงับความเจ็บปวดของพระราชาก็จักมีขึ้น (พร้อมกัน) ด้วยประการฉะนี้

    68 "อนึ่ง ที่พระองค์ทรงคิดว่าการกลับจากป่าบำเพ็ญตบะคืนสูพระราชวังเป็นความผิดนั้น ข้าแต่พระราชโอรส ขอพระองค์อย่าได้มีความปริวิตกกังวลในเรื่องนั้นเลย แม้บรรพบุรุษทั้งหลายต่างก็พากันกลับจากป่าคืนสู่พระราชวังของตนเหมือนกัน"

    69 "พระเจ้าอัมพรีษะ แม้จะประทับอยู่ในป่าบำเพ็ญตบะแล้ว ต่อมาเมื่อประชาชนพากันห้อมล้อมก็ยังเสด็จกลับไปสู่เมือง ในทำนองเดียวกันพระราม ครั้นเสด็จกลับจากป่าบำเพ็ญตบะแล้วก็ยังปกครองแผ่นดินที่มีพวกอนารยชนคุกคาม"

    70 "ในทำนองเดียวกัน พระราชาแห่งชาวศาลวะ ทรงพระนามว่าทรุมะ ก็ยังเสด็จกลับจากป่าเข้าสู่เมืองพร้อมด้วยพระโอรส ฝ่ายพระเจ้าสำกฤติอันติเทวะ ถึงแม้จะเป็นพรหมฤาษี แต่ก็ยังรับเอาราชสมบัติจากฤาษีวสิษฐะ

    71 "พระราชาทั้งหลายผู้ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเกียรติยศทางธรรมเช่นนี้ยังได้ละทิ้งป่าเสด็จกลับไปสู่พระราชวัง ดังนั้น จึงไม่มีความผิดอะไรที่พระองค์จะเสด็จกลับจากป่าบำเพ็ญตบะไปสู่พระราชวัง โดยมีธรรมเป็นเครื่องหมาย"

    72 พระราชกุมารได้สดับถ้อยคำที่หวังดีและมีประโยชน์ของพระราชครูผู้เป็นดวงเนตรของพระราชานั้นแล้ว จากนั้นจึงประทับอยู่ในความสงบและตรัสถ้อยคำที่มีพลัง ไม่คลุมเครือ ไม่ติดขัดและชัดเจนว่า

    73 "เรื่องที่สงสัยกันว่า (สิ่งต่างๆ) ในโลกนี้มีอยู่หรือไม่มี ดังนี้ การตัดสินใจของฉันในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคำพูดของคนอื่น ในเรื่องนี้ฉันจักเข้าถึงความจริงด้วยการบำเพ็ญตบะและด้วยความสงบแล้วรับเอาสิ่งที่ตนค้นพบด้วยตนเอง"

    74 "เพราะว่าไม่ควรที่ฉันจะรับเอาทรรศนะที่ยังเกิดความสงสัย ไม่ชัดเจน และยังมีข้อขัดแย้งต่อกัน เพราะว่าผู้มีปัญญาคนใดเล่าจะพึงดำเนินไปตามความเชื่อมของผู้อื่นอย่างเหนียวแน่น เหมือนดั่งคนตาบอดซึ่งมีคนตาบอดนำทางในที่มืด"

    75 "ถึงแม้ฉันจะยังไม่เห็นแจ้งความจริงในเรื่องความดีและความชั่วซึ่งยังสงสัยกันอยู่ แต่ความคิดของฉันก็เป็นไปเพื่อความดี เพราะว่าความลำบากของคนผู้มีจิตใจใฝ่ดีแม้จะไร้ประโยชน์ก็ยังดีกว่าส่วนความสุขสบายของผู้มีจิตใจรังเกียจในความจริงไม่ดีเลย"

    76 "เมื่อเห็นว่าคำสอนที่สืบต่อกันมานี้ไม่มีความแน่นอน ท่านก็จงตระหนักว่าสิ่งที่ผู้แต่งคัมภีร์เหล่านั้นกล่าวไว้เป็นสิ่งที่ดี และจงเข้าใจว่าผู้ที่แต่งคัมภีร์ทั้งหลายต่างก็ละสิ่งที่เป็นโทษได้แล้ว เพราะผู้ที่ละสิ่งที่เป็นโทษได้แล้วจะไม่กล่าวความเท็จ"

    77 "อนึ่ง ที่ท่านกล่าวอ้างพระรามและพระราชาองค์อื่นๆ มาเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ฉันกลับไปสู่พระราชวัง พระราชาเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นประมาณ เพราะผู้ที่ละทิ้งวัตรปฏิบัติไม่ควรเป็นประมาณในการตัดสินใจเพื่อประพฤติธรรม"

    78 "ดังนั้น ถึงแม้พระอาทิตย์จะตกบนพื้นดินอย่างนั้นจริงๆ (หรือ) ภูเขาหิมาลัยจะละทิ้งความมั่นคงไปก็ตาม ต่อเมื่อฉันยังไม่ได้เห็นแจ้งความจริง ยังมีอินทรีย์จดจ่ออยู่กับวัตถุเครื่องเร้าอารมณ์ และยังเป็นปุถุชนอยู่ ฉันก็จะไม่หวนกลับไปสู่พระราชวังอย่างเด็ดขาด"

    79 เมื่อไม่ได้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ฉันก็ควรจะเข้าสู่กองไฟที่ลุกโชน แต่ไม่ควรกลับไปสู่พระราชวังอย่างเด็ดขาด" พระกุมารไม่มีมมังการครั้นทรงกระทำปฏิญาณด้วยความหนักแน่นและทรงลุกขึ้นแล้วจึงได้เสด็จไปตามความปรารถนา

    80 พระราชครูและพราหมณ์ปุโรหิตทั้งสองเมื่อได้ฟังการตัดสินพระทัยอันแน่วแน่ของพระกุมาร ต่างก็มีน้ำตาเอ่อคลอ ก้มหน้า เดินตามพระองค์ด้วยความทุกข์ จากนั้นจึงพากันกลับไปสู่เมืองอย่างช้าๆ โดยไม่มีทางเลือก

    81 ครั้งนั้น เพราะความรักที่มีต่อพระกุมารและเพราะความจงรักภักดีต่อพระราชา พระราชครูและปุโรหิตทั้งสองต่างก็กลับรถและหยุดยืนด้วยความร้อนใจ เพราะว่าทั้งสองไม่อาจจะทนดูพระกุมารผู้ทรงรุ่งเรืองด้วยความงามของพระองค์ดุจพระอาทิตย์ที่ยากจะเข้าใกล้ และไม่อาจจะทอดทิ้งพระกุมารไว้บนถนนแต่ผู้เดียว

    82 แต่ครั้นแต่งตั้งจารบุรุษผู้ซื่อสัตย์ให้อำพรางตนคอยติดตามเพื่อรู้เส้นทางของพระกุมารผู้มีเป้าหมายสูงสุดเป็นคติแล้ว ทั้งสองจึงเดินทางกลับด้วยความเหนื่อยยากพร้อมกับครุ่นคิดว่า "เมื่อเราทั้งสองเมื่อกลับไปถึงจะเข้าเฝ้าพระราชาผู้ปรารถนาพระโอรสอันเป็นที่รักอย่างไรหนอ"

    สรรคที่ 9 ชื่อ กุมารานฺเวษณ (การติดตามค้นหาพระกุมาร)

    ในมหากาพย์พุทธจริต จบเพียงเท่านี้
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญฉลองพระพุทธรูปรับวัตถุมงคล.561939/
     

แชร์หน้านี้

Loading...