มรดกธรรมของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 19 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คำบรรยายเรื่อง
    วิปัสสนากรรมฐาน
    เล่ม ๗ ครั้งที่ ๑๐๙
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๕
    เรื่อง
    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า ญายสฺส-อธิคมาย)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ๔ ข้อที่ว่า ญายสฺส อธิคมาย สืบต่อไป
    ถ. คำว่า ญาย แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. ญาย แปลและหมายความได้หลายอย่าง คือ


    ๑. ญาย แปลว่า แนะนำ หมายความว่า เป็นธรรมที่นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้ทรงแนะนำพร่ำสอนพุทธบริษัทไว้ คือ ทรงชี้บอกหนทางให้เดินตาม

    ๒. ญาย แปลว่า สั่ง หมายความว่า บิดามารดาผู้ห่วงลูก อยากให้ลูกได้ดี อยากให้ลูกมั่งมีศรีสุข เวลาจะไปไหนมาไหนก็สั่งลูกไว้ แม้เวลาจะตายก็ยังเป็นห่วงสั่งให้สร้างตัวให้ดี ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้เป็นบิดาในทางธรรม ก็ฉันนั้น ทรงสั่งลูกคือพุทธบริษัทไว้ให้ดำเนินตามมรรค ๘ ซึ่งเป็นหนทางที่ประเสริฐและถูกต้องแท้ สามารถจะพาลูกผู้ปฏิบัติตามให้ดำเนินไปสู่มรรค ผล นิพพาน

    ๓. ญาย แปลว่า วัตถุอันบุคคลควรรู้ มีอยู่ ๕ อย่าง คือ สังขาร ได้แก่รูปนาม ๑ วิการ ได้แก่ ความเปลี่ยนแปรของรูปนาม ๑ ลักษณะ ได้แก่พระไตรลักษณ์ ๑ นิพพาน ได้แ่ก่ ความดับกิเลส ๑ บัญญัติ ได้แก่ สิ่งที่ชาวโลกสมมติร้องเรียกกันขึ้น ๑

    ๔. ญาย แปลว่า อุบาย หมายความว่า อุบายที่จะให้บุคคลเข้าถึงมรรคผล นิพพาน เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรค ๘

    ๕. ญาย แปลว่า หนทางให้ถึงพระนิพพาน หมายความว่า ถ้าใครเดินตามทางนี้ จะต้องถึงพระนิพพานเป็นแน่แท้

    ๖. ญาย แปลว่า พระนิพพาน หมายความว่า ดับกิเลส ออกจากกิเลส ไม่มีเครื่องผูกๆ รัดไว้ในภพน้อยภพใหญ่

    ๗. ญาย แปลว่า การแสดง การฝึกสอน การตรัสรู้ เช่น การแสดงธรรม ฝึกให้ปฎิบัติตามธรรม จนได้ตรัสรู้นวโลกุตตรธรรม คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

    ๘. ญาย แปลว่า เป็นเครื่องตรัสรู้ คือเป็นชื่อของปัญญา หมายความว่า บุคคลจะรู้จักทางไปอบาย ทางไปมนุษย์ ทางไปสวรรค์ ทางไปนิพพาน ต้องมีเครื่องบอกให้รู้ ซึ่งเรียกว่า ญาย

    ๙. ญาย แปลว่า เป็นเครื่องมือ หมายความว่า สรรพสัตว์จะถึงมรรค ผล นิพพาน ต้องมีเครื่องนำไป เครื่องนำไปในที่นี้ ได้แก่ ทาง ทางนั้นคือ มรรค ๘

    ถ. คำว่า ญาย ในมหาสติปัฏฐานนี้ หมายเอาอะไร?
    ต. หมายเอา อริยมรรค มีองค์ ๘


    ถ. ที่ตอบเช่นนี้ มีอะไรเป็นหลักอ้าง?
    ต. มีคำที่พระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พุทธาธิบายกล่าวแก้ไว้ ปรากฎอยู่ในอรรถกถา ทีฆนิกาย ชื่อ สุมังควิสาลินี หน้า ๔๖๓ บรรทัดที่ ๑๙ ว่า
    ญายสฺส อธิคมายาติ ญาโย วุจฺจติ อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค อริยมรรคมี ๘ ท่านเรียกว่า ญาย ในคำว่า ญายสฺส อธิคมาย นี้

    . มรรค ที่บุคคลลงมือเจริญตามสติปัฏฐาน ๔ เป็น โลกียะ หรือ โลกุตตระ?
    ต. ในส่วนเบื้องต้นยังเป็นโลกิยะอยู่ แต่ก็เป็นไปเพื่อโลกุตตรมรรค


    ถ. ที่ตอบเช่นนี้ มีอะไรเป็นหลักอ้าง?
    ต. หลักอ้างมีอยู่ดังนี้ว่า
    "อยํ หิ ปุพฺพภาเค โลกิโย สติปฏฺฐานมคฺโค ภาวิโต โลกุตฺตรมคฺคสฺส อธิคมาย สํวตฺตติ" จริงอยู่ สติปัฏฐานมรรค ที่บุคคลเจริญแล้ว ในส่วนเบื้องต้นนี้ ยังเป็นโลกิยะอยู่ แต่ย่อมเป็นไปเพื่อโลกุตตรมรรค ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงสรุปใจความได้ว่า มรรค เป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ

    ถ. มรรค ได้อะไรเป็นอารมณ์?
    ต. มรรค ที่เป็นโลกิยะ ได้รูปนาม ได้พระไตรลักษณ์ เป็นอารมณ์ มรรคที่เป็นโลกุตตระ ได้นิพพาน เป็นอารมณ์

    ถ. คำว่า บรรลุมรรค นั้น หมายเอามรรคอะไร?
    ต. หมายเอาอริยมรรคทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทางคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑

    ถ. คำว่า นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า การทำพระนิพพานให้แจ้ง

    ถ. การทำพระนิพพานให้แจ้งในที่นี้ หมายเอาอะไร?
    ต. หมายเอา พระอรหัตตผล

    ถ. คำว่า นิพพาน แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลและหมายความดังนี้ คือ

    ๑. นิพพานแปลว่า ออกจากตัณหา ดังหลักฐานว่า
    ปญฺจคติวาเนน วานสญฺญิตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตตฺตา นิพฺพานนุติ วุจฺจติ
    ชื่อว่า นิพพาน เพราะออกจากตัณหา ที่ร้อยรัด คติทั้ง ๕ คือ นรก ดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ เทวดาไว้
    หมายความว่า สรรพสัตว์พากันหลงติดอยู่ในคติทั้ง ๕ เพราะตัณหาเป็นผู้ผูกมัดรัดเอาไว้ ครั้นได้เดินทางตามอัฏฐังคิกมรรค ถึงพระนิพพานแล้ว ตัณหาดับหมด เมื่อตัณหาไม่มี จึงว่า ออกจากตัณหา

    ๒. นิพพาน แปลว่า เครื่องดับเพลิง คือกิเลส ดังหลักฐานว่า
    นิพฺพาติ เอเตน ราคคฺคิโกติ นิพฺพานํ
    ชื่อว่า นิพพาน เพราะเป็นเครื่องดับเพลิง คือกิเลส มีราคะเป็นต้น
    หมายความว่า เพลิง แปลว่า ไฟ ไฟนั้น มี ๒ อย่าง คือ ไฟภายนอก ได้แก่ไฟตามธรรมดาของชาวโลกอย่างหนึ่ง ไฟธรรมดาเวลาไหม้บ้าน ไหม้โรงงาน ต้องดับด้วยเครื่องดับเพลิง ฉันใด ไฟภายใน คือ กิเลส ก็ต้องมีเครื่องดับ คือ นิพพาน ฉันนั้น เหมือนกัน

    ๓. นิพพาน แปลว่า สิ้น ดังหลักฐานว่า
    ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย อิทํ วุจฺจติ นิพฺพานํ
    ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะนี้ ท่านเรียกว่า นิพพาน
    หมายความว่า ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ทำให้ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไปได้ เมื่อใด เมื่อนั้นเรียกว่า นิพพาน

    ๔. นิพพาน แปลว่า ไม่มีเครื่องร้อยรัด ดังหลักฐานว่า
    นตฺถิ วานํ เอตฺถานิ นิพฺพานํ
    ชื่อว่า นิพพาน เพราะไม่มีเครื่องร้อยรัด

    หมายความว่า เครื่องร้อยรัด คือสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้แก่
    ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า เป็นตัว ตน เรา เขา
    ๒. วิจิกิจฉา ความสงสยสังเลใจ
    ๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือศักดิ์ ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีล หรือวัตรอย่างนั้นจริงๆ เช่น ปุณณะ กับเสนิยะ ถือการปฏิบัติเหมือนโค เหมือนสุนัข โดยเข้าใจว่า ตนจะถึงมรรค ผล นิพพาน ด้วยวิธีนั้นจริงๆ เป็นต้น
    ๔. กามราคะ ความกำหนัดพอใจในกาม โดยองค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก
    ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ความหงุดหงิดด้วย อำนาจโทสะ โดยองค์ธรรม ก็คือ โทสเจตสิก นั่นเอง
    ๖. รูปราคะ ความพอใจติดอยู่ในรูปฌาน หรือรูปพรหม
    ๗. อรูปราคะ ความพอใจติดอยู่ในอรูปพรหม หรืออรูปพรหม
    ๘. มานะ ความถือตัว ได้แก่ มานะ ๙ คือ
    ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่า ตัวเลิศกว่าเขา
    ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่า ตัวเสมอเขา
    ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่า ตัวเลวกว่าเขา
    ๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญว่า ตัวเลิศกว่าเขา
    ๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญว่า ตัวเสมอเขา
    ๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญว่า ตัวเลวกว่าเขา
    ๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญว่า ตัวเลิศกว่าเขา
    ๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญว่า ตัวเสมอเขา
    ๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญว่า ตัวเลวกว่าเขา
    ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้ง คือ คิดพล่าน ใจไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง รับอารมณ์ไม่แน่นอน
    ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ ได้แก่ไม่รู้อริยสัจ ๔
    ๕. นิพพาน แปลว่า ออกจากเครื่องผูก ดังหลักฐานว่า
    ภวาภวํ วินนฺโต สีสิพฺพนโต วานสงฺขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ
    ธรรมชาติที่ออกไปแล้วจากตัณหา กล่าวคือเครื่องผูก เพราะผู้กไว้คือเย็บไว้ ร้อยไว้ ซึ่งภพน้อยภพใหญ่
    หมายความว่า ทุคคติภพก็ดี สุคติภพก็ดี ภพเลวก็ดี ภพประณีตก็ดี เรียกว่า ภพน้อยภพใหญ่ ในที่นี้ สรรพสัตว์พากันวนเวียนหลงติดอยู่ในภพเหล่านี้ก็เพราะมีเชือกผูกไว้ คือ ตัณหา เพราะฉะนั้น เมื่อออกจากตัณหาได้ จึงชื่อว่า ออกจากเครื่องผูกไว้ในภพน้อยภพใหญ่

    ถ. นิพพาน มีลักษณะ มีรส ปัจจุปัฏฐาน เป็นอย่างไร?
    ต. มีลักษณะเป็นต้นอย่างนี้ คือ
    ๑. สนฺติลกฺขณ พระนิพพานนั้น มีความสงบเป็นลักษณะ
    ๒. อสจฺจุติรสํ มีความไม่จุติ คือ ไม่ตายเป็นรส
    ๓. อนิมิตฺตปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่มีนิมิต เป็นผลปรากฎ

    ถ. นิพพาน เท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. นิพพาน มีอย่างเดียวก็มี ได้แก่ ความสงบ

    มี ๒ อย่างก็มี คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลส ยังมีเบญจขันธ์เหลือ ๑ อนุปาทิสสนิพพาน ดับกิเลส ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่ ๑

    มี ๓ อย่างก็มี คือ อนิมิตตนิพพาน ๑ อัปปณิหิตนิพพาน ๑ สุญญตนิพพาน ๑

    มี ๕ ก็มี คือ ตทังคนิพพาน ๓ วิกขัมภนนิพพาน ๑ สมุจเฉทนิพพาน ๑ ปฏิปัสสัทธินิพพาน ๑ นิสสรณนิพพาน ๑

    ถ. สอุปาทิเสสนิพพาน แปลว่า ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ นั้น หมายความว่าอย่างไร
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ จนได้สำเร็จโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ท่านผู้นั้นก็มียังมีชีวิตอยู่ คือ ยังไม่ปรินิพพาน

    ถ. มีอะไรเป็นเครื่องหมาย?
    ต. มีคุณธรรม ๗ ประการเป็นเครื่องหมาย คือ
    ๑. อรหํ เป็นผู้ำไกลจากกิเลศ ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘
    ๒. ขีณาสโว เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้ง ๔
    ๓. วุสิตฺวา อยู่จบแล้ว
    ๔. กตกรณีโย มีกิจควรทำได้ทำเสร็จหมดแล้ว
    หมายความว่า พระเสขบุคคล ๗ จำพวก นับเอากัลยาณปุถุชนเข้ามาด้วย ยังจะต้องทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ อยู่ ส่วนพระขีณาสพ กิจทุกๆ อย่างของท่าน ท่านทำสำเร็จเสร็จสิ้นไปหมดแล้ว กิจอื่นที่จะต้องลงมือทำ เพื่อให้ถึงความสิ้นทุกข์อีกไม่มีเลย
    ๕. โอหตภาโร มีภาระทั้ง ๓ คือขันธภาระ กิเลโสภาระ อภิสังขารภาระ อันปลงลงหมดแล้ว ไม่แบกภาระหนักไว้แล้ว
    ๖. อนุปฺปตฺตสทตฺโถ มีประโยชน์ของตน อันบรรลุแล้วโดยลำดับ ได้แก่บรรลุพระอรหัตตผล อันเป็นผลสุดยอดแล้ว
    ๗. ปริกฺขีณภวสํโยชโน มีสังโยชน์ทั้ง ๑๐ คือ กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส ภวราคะ อิสสา มัจฉริยะ อวิชชา สิ้นไปหมดแล้ว
    ๘. สมฺมทญฺญา รู้วิปัสสนาภูมิ ๖ และปฏิบัติได้ดี คือรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยปัญญาอันสัมปยุตตด้วยมรรคอันเลิศ
    ๙. วิมุตฺโต หลุดพ้นวิเศษแล้วด้วยความหลุดพ้นทั้ง ๒ อย่าง คือ
    ๑. จิตฺตวิมุตฺต ความหลุดพ้นแห่งจิต
    ๒. นิพ์พานาธิมุตติ ความหลุดพ้นขั้นสูงสุด คือถึงพระอมตมหานิพพาน
    หมายความว่า ความหลุดพ้นนั้น เป็นชื่อของจิต แปลว่า จิตหลุดพ้นจากกิเลสอย่างหนึ่ง เป็นชื่อของพระนิพพาน คือความดับกิเลสอย่างหนึ่ง

    คุณธรรมทั้ง ๙ ข้อนี้แหละ เป็นเครื่องหมายของท่านผู้ได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน

    ถ. คำว่า อยู่จบ ในข้อที่ ๓ นั้น หมายความว่าอย่างไร มีกี่อย่าง อะไรบ้าง?
    ต. หมายความว่า จบหลักสูตรแห่งการศึกษาและปฏิบัตินั้นๆ มีอยู่ ๓ อย่างคือ
    ๑. ครุสังวาส อยู่จบในสำนักของครู
    ๒. อริยมัคควาส อยู่จบด้วยอำนาจอริยมรรค
    ๓. ทสอริยวาส อยู่จบในอริยาวาสธรรม ๑๐
    ถ. อยู่จบในสำนักของครู แบ่งออกเป็นเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
    ๑. สีลวิโสธนา อยู่ในสำนักของครูจนชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์หมดจด จบตามที่ครูของตนได้แนะนำและพร่ำสอนให้
    ๒. ครูนํ ปฏิปตฺตยา อนุกรณํ อยู่ในสำนักของครูจนสามารถทำตามข้อปฏิบัติของครูได้อย่างทุกอย่าง ถ่ายทอดความรู้ของครู ทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติได้บริบูรณ์
    ทั้ง ๒ อย่างนี้เรียกว่า อยู่จบในสำนักของครู
    ถ. อยู่จบด้วยอำนาจอริยมรรค มีกี่อย่าง อะไรบ้าง?
    ต. มี ๒ อย่างคือ
    ๑. อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค ได้แก่ อริยมรรค์มีองค์ ๘ หมายความว่า ท่านผู้ใดได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือได้เจริญวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เท่าที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก จนสามารถได้บรรลุมรรค ๓ ผล ๑
    ๒. อริยมคฺคสมฺปตฺตเอว อริยมคิควาโส ความถึงพร้อมด้วยอริยมรรค และอริยผล อันสุดท้ายคือ อรหัตมรรค อรหัตตผล ชื่อว่า อริยมัคควาส
    ถ. อยู่จบในอริยวาสธรรม ๑๐ นั้น หมายความว่าอย่างไร อะไรบ้าง?
    ต. อริยวาสธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้า คือท่านผู้สิ้นอาสวกิเลสแล้ว มีอยู่ ๑๐ ประการคือ
    ๑. ปญฺจงฺควิปฺปหีโน ละนิวรณ์ ๕ ได้หมดสิ้น
    ๒. ฉฬงฺคสมนฺนาคโต ประกอบด้วยองค์ ๖
    ๓. เอการกฺโข มีการรักษาอย่างเอกอุ
    ๔. จตุราปสฺเสโน มีที่พัก ๔ อย่าง
    ๕. ปนุญฺญปจฺเจกสจฺโจ ละทิฏฐิต่างๆ ได้หมดแล้ว
    ๖. สมวยสฏฺเจสโน มีการแสวงหาอันละแล้ว
    ๗. อนาวิสสงฺกปฺโป มีความดำริไม่ขุ่นมัว
    ๘. ปสฺสทฺธิกายสงฺขาโร มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว
    ๙. สุวิมุตฺตจิตฺโต มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
    ๑๐. สุวิมุตฺตปญฺโญ มีปัญญาหลุดพ้นดีแล้ว
    ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ เรียกว่า อริยวาสธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าทุกๆ องค์ ต้องเป็นอยู่ในธรรม ๑๐ ประการนี้

    วันนี้ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า ญายสฺส อธิคมาย กับ นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้



    thx1

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    พระธรรมธีราชมหามุนี (โชดก ป.ธ.๙)
    หน้า ๑-๙


     

แชร์หน้านี้

Loading...