มงคลยอดชีวิตข้อ ๗ พาหุสจฺจญฺจ - ความคงแก่เรียน

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> มงคลยอดชีวิตข้อ ๗ </center>
    <center> พาหุสจฺจญฺจ - ความคงแก่เรียน </center> โดยปกติ คนเรามีความโง่มาก่อน ความฉลาดมาทีหลัง หรือมีความโง่เดินหน้า ความฉลาดเดินตามหลัง เพราะความโง่เป็นของเก่า คนโง่เป็นคนหัวเก่า มีการไม่ได้ศึกษาเป็นต้นทาง มีความล้าสมัยเป็นปลายทาง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงสิ่งไรๆทั้งสิ้น คงยึดแนวความคิดเห็นที่เก่า ดำเนินชีวิตตามหลักเกณฑ์ที่เก่า ไม่รู้จักปรับตัวให้เหมาะสมกับสังคม ไม่รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกาลเทศะนั้นๆ นับเป็นคนล้าสมัย
    ส่วนความฉลาดที่มาทีหลังเป็นของใหม่ และคนฉลาดก็เป็นคนหัวใหม่ มีการได้ศึกษาเล่าเรียนเป็นต้นทาง มีความทันสมัยเป็นปลายทาง รู้จักเปลี่ยนแปลงของที่ไม่เหมาะสมให้เหมาะสม วางแนวความคิดใหม่ สร้างความเห็นใหม่ขึ้น ดำเนินชีวิตตามหลักเกณฑ์ที่ใหม่ รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคม รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับไว นับเป็นคนทันสมัย
    คนโง่นั้นชอบฟังเสียงมากกว่าฟังเหตุฟังผล ขืนดื้อรั้นอยู่ในสิ่งที่ผิดๆ เป็นประหนึ่งว่าเกลียดความฉลาดรักความโง่ ชอบความเป็นทาสของความโง่ยิ่งกว่า ส่วนคนฉลาดชอบฟังเหตุฟังผลฟังข้อเท็จจริงมากกว่าฟังเสียง เกลียดความโง่รักความฉลาด และชอบความเป็นอิสระอยู่เหนือความโง่ยิ่งกว่า พึงทราบว่าคนเราจะฉลาดได้ด้วยการเรียนหรือการศึกษา เมื่อฉลาดแล้วแต่ยังฉลาดน้อย ก็เพิ่มความฉลาดมากขึ้นได้ด้วยการเรียนนั่นเอง
    มาเถอะ เรามาสำเหนียกในมงคลข้อ ๗ ที่ว่าด้วยการเรียนหรือการศึกษา ท่านเรียกการเรียนรู้มากว่า “พาหุสัจจะ” โดยพยัญชนะว่า “ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก” โดยอรรถว่า “ความคงแก่เรียน” คำว่าได้ยินได้ฟังนั้น หมายถึงการเรียนโดยตรง แม้การได้ยินได้ฟังมาก ก็คือการเรียนรู้มากนั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้ได้ความชัดฟังเข้าใจง่าย จึงแปลพาหุสัจจะโดยอรรถว่า “ความคงแก่เรียน”
    ผู้เรียนรู้มาก มักมีคนให้สมญาว่าคนคงแก่เรียน ดังมีบางคนว่า คงคงแก่เรียนเป็นผู้รู้มากกว่าคนธรรมดา บางคนว่า คนคงแก่เรียนเป็นผู้มีการสมาคมและการเกี่ยวข้องกับคณะ บางคนว่า คนคงแก่เรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญในภาษาช่วยให้พูดได้ถูกต้อง รู้คำนวณช่วยให้คิดได้เร็ว รู้บทเรียนด้วยของทำให้รักธรรมชาติ สามารถทำงานได้หนักๆ และพยายามสู้งานยากงานหนักงานใหญ่เรื่อยไป เป็นคนสุภาพ ปกครองตนเองได้ ดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองในโลก
    แต่ที่จริงนั้น คนผู้มีสมญาว่าคนคงแก่เรียน ย่อมได้รับการเรียนหรือศึกษาที่ชอบ รู้น้อยหรือมากแล้วปฏิบัติตามความรู้ที่เรียนมา และมีความคิดชอบ ใช้ความคิดชอบเร่งให้ทำชอบ ทำเพื่อช่วยตัวเองและร่วมมือกับคนอื่น ถือการช่วยตัวเองเป็นกุญแจของชีวิต ถือการร่วมมือกันเป็นแม่จักรของชีวิต เข้ารวมกำลังกันนำกิจการไปเพื่อความดีของตนและคนอื่น เหมือนแม่จักรของนาฬิกาช่วยจักรตัวอื่นให้เดินและเข็มเคลื่อนที่ ให้รู้ชั่วโมงนาทีวินาที
    ดูเถิดคนเรา จะรักษาศาสนาให้ตั้งอยู่ได้มั่นคง จะสืบวงศ์ตระกูลให้ดำรงมั่น จะจรรโลงประเทศให้วัฒนาถาวร และจะนำชาติให้เจริญก้าวหน้าปราศจากศัตรูหมู่ปัจจามิตรนั้น ล้วนแต่ได้ศึกษาเล่าเรียนอบรมตนให้เป็นคนคงแก่เรียนฉลาดเฉียบแหลมทั้งสิ้น อย่าเชื่อเลยว่า คนดีเองเหมือนหนามแหลมเอง จงเชื่อว่าคนดีได้ด้วยการศึกษาเล่าเรียนอบรมตนในทางที่ถูก อย่าเชื่อเลยว่าบุญมีดีเอง จงเชื่อว่า คนดีมีบุญได้ด้วยการอบรมตนในทางที่ให้เกิดบุญ และอย่าเชื่อเลยว่า คนเลวเพราะชาติตระกูล แต่จงเชื่อว่าคนเลวเพราะประพฤติตัวในทางเลว
    ความคงแก่เรียนนั้น สอนให้คนรู้จักความพอควรเป็นสำคัญ ความพอควรสอนให้คนรู้จักควบคุมชีวิตให้ประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ เว้นในสิ่งอันควรเว้น และให้ไม่มุ่งหมายอยู่แต่ความรู้อย่างเดียว แต่ให้มุ่งมั่นทำความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิตจิตใจ ให้เป็นชีวิตจิตใจใหม่ เพราะตัวจักรที่สำคัญของคนเราคือจิตใจ ร่างกายเหมือนตัวรถยนต์ สมองเหมือนหม้อน้ำ ประสาทเหมือนน้ำมัน จิตใจเหมือนเครื่องยนต์ ความเป็นไปในโลกเหมือนทางรถยนต์ เมื่อตัวรถแข็งแรง หม้อน้ำมั่นคง น้ำมันดี เครื่องยนต์แข็งเหนียว กินเกลียวกันไม่ฝืดขัด รถย่อมวิ่งเร็วคล่องแคล่ว เดินตามทางรถยนต์ได้สะดวก
    แม้คนเราก็เช่นกัน เมื่อร่างกายแข็งแรง สมองว่องไว ประสาทคล่องแคล่ว จิตใจเข้มแข็งแล้ว ย่อมสามารถประกอบสรรพกิจให้สำเร็จได้ จึงในโลกนี้ไม่มีอาณาจักร ไม่มีทหาร ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรทุกอย่าง แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งใหญ่กว่าอาณาจักร กล้ายิ่งกว่าทหาร มีค่ายิ่งกว่าเงิน มีอิทธิพลเหนือสิ่งทุกสิ่ง สิ่งหนึ่งนั้นคือกำลังใจที่เข้มแข็ง แม้เราจะมีกำลังกายแข็งแรง และกำลังใจเข้มแข็งนั้นก็เพราะการเรียน การเรียนนี่เองชุบเราให้เป็นคนคงแก่เรียน ฉลาดบำรุงกำลังกายให้แข็งแรง ฉลาดอบรมกำลังใจให้เข้มแข็ง
    พาหุสัจจะ คือ ความคงแก่เรียน หมายเอาการศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งทางโลกและทางธรรม ดูเถิดโลกจะเจริญขึ้นเพราะมีการศึกษาแท้ โลกจะเสื่อมลงเพราะมีการศึกษาไม่แท้ หรือไม่มีการศึกษาเลย แม้ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองก็อยู่ที่มีการศึกษาแท้ จะเสื่อมก็อยู่ที่มีการศึกษาไม่แท้ หรือไม่มีการศึกษาเสียเลย

    <center> การศึกษาทางโลก </center> เราควรทราบความหมายของคำว่าศึกษาก่อน การรับเอาความรู้เข้ามาไว้ในตัวเรา และล้วงเอาสมรรถภาพที่มีอยู่ในตัวเราออกมาแสดงให้ปรากฎด้วยการกระทำและการ ปฏิบัติ เรียกว่า การศึกษา ซึ่งประกอบด้วยลักษณะ ๔ ประการดังนี้
    ๑. พุทธิศึกษา ฝึกหัดสมองเป็นที่สถิตแห่งความรู้ความคิดให้กล้าแข็ง เพื่อให้เกิดสติปัญญา มีความเฉลียวฉลาดว่องไว สามารถใช้ดุลยพินิจเกี่ยวกับงานทั่วไป
    ๒. จริยศึกษา ฝึกหัดจิตใจให้สูง ขัดเกลากิริยามารยาทให้สุภาพ อบรมความประพฤติและอุปนิสัยให้ดีงาม และให้มีวัฒนธรรมศีลธรรมของชุมชน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน
    ๓. พละศึกษา ฝึกหัดกำลังกายให้แข็งแรง และบำรุงสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน กับทั้งมีน้ำใจเป็นนักกีฬา หรือฝึกหัดให้ร่างกายเจริญพร้อมกับจิตใจ เข้าหลักที่ว่า จิตใจเข้มแข็งย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง
    ๔. หัตถศึกษา ฝึกหัดให้มีความเคยชินและขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงาน เพื่อเป็นรากฐานของการประกอบสัมมาอาชีพ ซึ่งรวมลงอยู่ที่ฝึกหัดประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้เจริญ โดยฝึกหัดใช้ตาดู ใช้หูฟัง ใช้จมูกดมกลิ่น ใช้ลิ้นลิ้มรส และใช้มือสัมผัส
    ที่จริงชาติใดขาดการศึกษา ชาตินั้นก็ขาดดวงประทีปส่องทางอุดมคติแห่งความเจริญ และตราบใดคนในชาติไม่รู้จักรักวัฒนธรรม ตราบนั้นความรักชาติก็เป็นเพียงแต่คำพูดติดอยู่ที่ปลายลิ้น มีความลึกซึ้งไม่ถึงใจ สิ่งที่จะชี้ให้เห็นความดีเด่นแห่งวัฒนธรรมของชาตินั้น ก็คือการศึกษา
    การสนใจเรียนหนังสือ เรียนเลข เรียนภาษาหรือวิชาอื่นอีก พร้อมกับสนใจฝึกปรือนิสัย ให้เจริญควรแก่การงาน และปรับปรุงให้ดีงาม ควรแก่ความต้องการของสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน ให้รู้จักความเสื่อมความเจริญ และเอาตัวรอดในหมู่คนที่เบียดเสียดแย่งกันหาแย่งกันกิน แล้วนำชีวิตของตนให้ดำเนินตลอดรอดฝั่ง นี่คือการศึกษาแท้ ที่ชุบคนให้เป็นคนคงแก่เรียน นับเป็นมงคล
    คนคงแก่เรียนย่อมมีปรีชาญาณ ฉลาดคิดฉลาดทำฉลาดพูด และมีความรู้สึกสูงสำนึกในผิดชอบชั่วดี ไม่กล้าทำสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพราะรู้สึกละอายขวยเขินแก่ใจ และรู้สึกสะดุ้งหวาดกลัวต่อผลร้ายอันจะพึงได้รับ รู้สึกอิ่มใจในความถูกต้อง รู้สึกเสียใจในความผิดพลาด และรู้เท่าความถูกความผิดนั้นว่ามิได้อยู่ที่ดวงดาวประจำตัว แต่อยู่ที่การกระทำของตัวเอง พึงทราบว่า ความฉลาดคิดฉลาดทำฉลาดพูดและความรู้สึกสูงนำให้คิดดีที่จริง คิดจริงที่ดี ทำดีที่จริง ทำจริงที่ดี และพูดดีที่จริง พูดจริงที่ดี นี่คือวิถีจรรยาของคนคงแก่เรียน
    ส่วนการสนใจเรียนหนังสือ เรียนเลข เรียนภาษาหรือวิชาอื่นแต่อย่างเดียว ไม่สนใจฝึกปรือนิสัยให้เจริญควรแก่การงาน และไม่ปรับปรุงให้ดีงาม ควรแก่ความต้องการของสังคมนั้น นั่นคือการศึกษาไม่แท้ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำให้คนฉลาดแกมโกง โง่แกมหยิ่ง ทำนองหิ่งห้อยหยิ่งเทียมดารากิ้งก่าได้ทอง แมลงป่องชูหาง ช้างชูงวง เมื่อเขาเอาตัวไปเทียบกับคนที่โง่กว่า ชักจะเหิมหื่นเกินเปรียบ แต่เมื่อเทียบตัวกับคนที่โง่หย่อนกว่า ก็ชักจะกระดากอาย ถึงกับเดือดเนี้อร้อนใจตัวเอง
    ดูเถิดท่าน การศึกษาไม่แท้ การใช้ทรัพย์แลกกามารมณ์ และการมีชีวิตเกาะคนอื่นเป็นอยู่ นี่คือสิ่งอัปลักษณ์ของคน ผู้ได้รับการศึกษาไม่แท้เช่นนี้ แม้เดิมมีนิสัยดีเป็นพื้นอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นคนนิสัยเสีย เมื่อเป็นคนนิสัยเสียแล้ว ชื่อว่าสูญเสียทุกอย่าง สูญเสียหมดสิ้นทั้งตัว อย่าลืมว่า คนเราถ้าสมบัติเสียยังถือว่าไม่มีอะไรเสีย แม้สุขภาพเสียก็ถือว่าบางสิ่งอย่างเสีย เมื่อนิสัยเสียแล้วย่อมเป็นอันเสียหมดสิ้น คงมีแต่สิ่งอัปมงคลสิงอยู่ในตัว
    คนฉลาดเห็นว่านิสัยเสียเป็นโทษของกรรม กิจการที่กะไว้เรียบร้อยแล้ว ต้องเสียหายไปก็เพราะกรรมแม้คนผู้ได้รับทุกข์ทรมานก็โทษกรรม แต่คนโง่ไม่นึกเลยว่า โทษที่เกิดมีขึ้นเป็นเพราะกรรมของตน เขาเป็นเหมือนนกเค้าแมว ซึ่งมีการระวังระไวในความมืด แต่มองไม่เห็นหนในแสงสว่าง มีความรู้สำหรับเอาเปรียบคนอื่น หน้าเลือดเหลือร้าย จะมีใครแสดงอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเพื่อบุญ แต่เขากลับพูนความทราม มีจิตใจถูกโลภโมห์โทสันเข้ารึงรัด
    ดูเถิด ดูเขาไร้ความพอในลาภคือเงินทอง มีแต่เพิ่มพูนในกำไรคือผลได้เป็นเงินตรา คิดหากำไรรีดไถเอากับคนอาภัพ ซึ่งจะอับจนขนาดไหนก็มินำพา ขอคิดเอากำไรถ่ายเดียว ความได้ไม่พอ ความพอไม่มี แม้นเขาจะมีเกียรติสูง ก็คือเกียรติจอมปลอม บั้นสุดท้ายจะผูกมัดตัวเองโยนลงเหวคือมหานรก นี่เองนักศึกษาของเราจึงมีอยู่หลายเหล่า คือนักเปิดตำรา นักอ่านตำรา นักแก้ตำรา นักเผาตำรา และนักเฝ้าตำรา
    นักศึกษาที่สนใจเรียน หมั่นสดับตรับฟัง ตั้งใจไต่ถาม ท่องบ่นจดจำให้แม่นยำคล่องแคล่ว จนเกิดความรู้เชี่ยวชาญ รักษาตนให้สมกับความรู้นั้น ด้วยอาศัยตำราเป็นเครื่องเปิดตาให้สว่าง แลเห็นได้กว้างขวาง และเปิดหูให้ได้ยินใกล้ไกล ฟังเหตุฟังผล ฟังเสียงทุกอย่าง แต่ก็ไม่ต้องการสิ่งที่ฟังทุกอย่างไป รู้จักใช้ตำราให้เอาตัวรอดปลอดจากโทษทุกข์ในโลกนี้ได้ในคำว่า “รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นี่คือนักเปิดตำรา
    ผู้ศึกษาที่สนใจเรียนรู้ และรักษาตนให้สมกับความรู้ รื้อตนให้รอดพ้นจากทุกข์ได้ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยรู้จักใช้ตำราเป็นเครื่องสอนตน ให้อ่านโลกอ่านธรรม อ่านดีอ่านชั่ว อ่านเหตุอ่านผล อ่านคนและอ่านตนเอง เพ่งพินิจคิดด้วยใจ พิจารณาให้ทะลุด้วยปัญญา สำรวจตรวจสอบให้รู้ทั่วรู้ถึง รู้รอบคอบ รู้เท่ารู้ทันความชั่ว อันเป็นข้อบกพร่องหรือข้อพิรุธที่มีอยู่ในตัว และแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อพิรุธนั้นด้วยละความชั่ว คอยระวังไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีก บำเพ็ญความดีให้เกิดขึ้น และเก็บความดีที่บำเพ็ญไว้ให้คงอยู่ นี่คือนักอ่านตำรา อยู่ในพวกตาใสใจสว่าง
    ผู้ศึกษาที่สนใจเรียนรู้แล้ว แต่ไม่รักษาตนให้สมกับความรู้ เป็นคนเมาในความรู้ ชอบคิดฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ทำนองคิดสมบัติบ้า คิดสร้างวิมานในอากาศ หรือคิดแล่นใบบนบก มีความรู้สักแต่ว่าไม่ใช้ความรู้ให้เกิดผลแก่ตนและคนอื่น ในตัวเขาชั่วยังมี แม้ดีก็ไม่เกิด เขามัวแต่แบกตำราล้มทับตัวตายเปล่า นี่คือนักแบกตำราอยู่ในพวกนอนหลับทับตำรา
    ผู้ศึกษาที่สนใจเรียนรู้แล้ว ปฏิบัติเอาตามใจของตน ปฏิบัติแต่เพียงชั้นเปลือกชั้นกระพี้ บางทีซ้ำปฏิบัติไปนอกทางตามอัธยาศัยต่ำ ไม่มุ่งเอาคำสอนในตำราเป็นแนวปฏิบัติเข้าไปให้ถึงแก่น เมื่อตนยังเป็นคนหยาบเห็นว่าตำรากล่าวไว้ผิดวิสัยของมนุษย์ ก็แก้ตำราที่ดีอยู่แล้วให้เข้าหาตัวที่ยังหยาบ ไม่พยายามแก้ตัวให้ละเอียดเข้าหาตำรา ดีแต่พร่ำเพ้อไปว่า ตำรานั้นก็ผิด ตำรานี้ก็ผิด นี่คือนักแก้ตำรา อยู่ในพวกแกว่งเท้าหาเสี้ยน
    ผู้ศึกษาที่สนใจเรียนรู้แล้ว ชอบอวดรู้อวดดีอวดภูมิ เย่อหยิ่งจองหองพองขน เป็นโจรปล้นความดีทั้งหลาย เป็นคนใจลามกสกปรกโสมม ทะนงองอาจ เจ้าทิฐิมานะ เจ้ายศเจ้าอย่าง หวงความชั่วเก่าไว้ สร้างสมความชั่วใหม่เพิ่มเข้า ผลาญความดีเก่าให้หมดสิ้น และเก็บเอาสีด่างสีดำมาป้ายตำรา ทำให้เห็นว่ามีจุดด่าง ที่ร้ายกว่านั้นคือชอบด่าเสียดสีคนอื่น ซึ่งแม้ตนก็เห็นว่าเขาทำดี แต่กลัวว่าเขาจะขึ้นหน้า ต้องชิงด่าทอตะคอกขู่ใส่ร้ายป้ายสีไว้ก่อน และซ้ำดูหมิ่นเหยียบย่ำตำรา ริบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ เพิกถอนสิ่งที่ทรงบัญญัติแล้ว นี่คือนักเผาตำรา อยู่ในพวกปากอ้าตาหลับ ซึ่งจุดไฟเผาตัวเองในที่สุด
    ผู้ศึกษาที่ไม่สนใจเรียน แต่อยากมีความรู้ทัดเทียมคนอื่น ขี้เกียจเป็นจอม มักง่ายเป็นเลิศ อ่อนแอป้อแป้เป็นกำลัง เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ขณะเรียนไม่ตั้งใจเรียนจริง หลบๆเลี่ยงๆเลาะไปเลาะมา ประหนึ่งว่าไม่เต็มอกไม่เต็มใจ อีล่อยป้อยแอ ส่อว่าขอไปที เวลาเข้าห้องเรียนเขาก็เริ่มตาปรือ ยึดเอาความง่วงโงกเป็นสรณะง่วงโงกหนักเข้าเลยฟุบลงหลับอยู่กับโต๊ะเรียนนั่น เอง ขณะท่องบ่นสาธยาย เขาก็เอาความเหน็ดเหนื่อยมาเป็นเจ้าหัวใจ มักนอนหลับเฝ้าหนังสือแทบทุกครั้ง แม้ตำราอื่นในตู้ควรจะดูก็ไม่ค่อยสนใจดู ดีแต่นอนเฝ้าอยู่ชั่วตาปีตาชาติ นี่คือนักเฝ้าตำรา อยู่ในพวกกบเฝ้ากอบัว จะต้องโง่ดักดานตลอดชาติ
    บรรดานักศึกษา ๖ จำพวกนี้ นักเปิดตำรากับนักอ่านตำราเป็นนักศึกษาแท้ ชื่อว่ามีมงคลเป็นเสน่ห์ชนะหัวใจคน เพราะใช้ความรู้ในทางสุจริต ไม่เอาเปรียบแก่เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นประโยชน์ตนเป็นประมาณ จะทำอะไรเห็นอกเห็นใจกัน ยึดหลักการเก็บดอกบัวเป็นมาตรฐาน คือให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น หรือทำนองแมลงผึ้งเคล้าเคลียเกสรและเอารสหวานของดอกไม้ ไม่ทำให้ดอกไม้ต้องชอกช้ำอับเฉา เลือกดำเนินการตามวิถีทางที่ถูก เพื่อตนและคนอื่นได้ดำรงชีพอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้น การเรียนของนักศึกษาแท้ จึงชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุเจริญก้าวหน้าของชีวิต
    ส่วนนักแบกตำรา นักแก้ตำรา นักเผาตำรา และนักเฝ้าตำรานั้น เป็นนักศึกษาที่ไม่แท้ เพราะเขามีความรู้สำหรับฉลาดแกมโกง โง่แกมหยิ่ง ใช้ความรู้ไปในทางที่ผิด แม้จะเป็นการทรยศหรือทุจริตต่อหน้าที่และศีลธรรมก็ยอม ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายให้สวัสดิภาพแก่ประชาชน เมื่อเห็นทางจะหาผลประโยชน์เพื่อตนได้ ก็ต้องรีบฉวยโอกาสทันที เช่นแอบกินสินบนบ้าง ฉ้อฉลสูบเลือดรีดไถราษฎรบ้าง ถ้าเป็นชาวค้าแม้มั่งมีพอตัวอยู่แล้วก็หน้าเลือดฉวยโอกาสหากำไรกอบโกยเอาไว้ จนล้นเหลือ ไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม จึงแต่ละฝ่ายพากันทอดทิ้งราษฎร ให้ต้องตกที่นั่งลำบากยากเข็ญ
    เราทราบกันแล้วว่า ความโง่เป็นของเก่า และคนโง่เป็นคนหัวเก่า เมื่อเรามีลูกหลายคนซึ่งล้วนแต่โง่ๆก็เหมือนมีทะนานเปล่าเต็มอยู่ในยุ้ง จะนับว่ามีโชคดีได้ไฉน โบราณจึงว่า “ลูกโง่แสนโง่ ขี้เกียจแสนเข็ญ เป็นคนอกตัญญูเนรคุณ ประพฤติผิดในพ่อแม่ไม่น่าปลื้มใจ ขออย่าให้สตรีไรๆคลอดลูกผู้เช่นนั้นเลยแม่คุณ” ส่วนความฉลาดเป็นของใหม่ แม้คนฉลาดก็เป็นคนหัวใหม่ และคนจะฉลาดได้เพราะการเรียน สำหรับเสี้ยมปัญญาให้แหลมให้คม
    แต่ควรทราบด้วยว่า ปัญญาที่แหลมที่คมนั้น ถ้าไม่มีอุบาย คือสติคอยควบคุม ปล่อยให้เพ่งมองแส่หาความสุขในทางที่ผิดแล้วก็จะเป็นตัวมหาอุบาทว์ มหาพินาศ มหาจัญไร ดูเถิด ดูคนบางคนที่ฉลาดแต่ขาดสติประพฤติเลวทราม ก่อกวนหมู่คณะให้ยุ่งเหยิงเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะเขามีการศึกษาเสี้ยมปัญญาให้แหลมให้คม และใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด โดยไม่มีสติควบคุมนั่นเองเป็นต้นเหตุ
    ดูต่ออีกที สถานการณ์บ้านเมืองทั้งหลายที่ได้เปลี่ยนแปลงไปนั้นเพราะการศึกษา พึงสังเกตเมื่อนักศึกษาที่ไม่แท้เข้าบริหารประเทศ สถานการณ์บ้านเมืองดจะเปลี่ยนจากปกติไปเป็นเคราะห์ร้าย ความสงบสุขของประชาราษฎรจะลดน้อยลง ความทุกข์ยากเดือดร้อนจะเกิดขึ้นมาแทน แต่เมื่อนักศึกษาแท้เข้าบริหารประเทศ สถานการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนจากปกติไปเป็นโชคดีขึ้น ประชาราษฎรจะอยู่เย็นเป็นสุข
    ดังนั้น เพื่อป้องกันลัทธิร้าย เราแต่ละคนจึงควรศึกษาอบรมตนให้เกิดความรู้ เป็นนักศึกษาแท้ เพื่อสำรวมความประพฤติให้ดีงาม แต่ไม่เพื่อมีอำนาจราชศักดิ์ สำรวมความประพฤติเพื่อปฏิบัติชอบ แต่ไม่เพื่อลาภสักการะ และถนอมปฏิบัติชอบไว้เพื่อผล คือ สันติสุข แต่ไม่เพื่อมีเกียรติคุณ นี่คือศิริมงคลของเรา

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...