มงคลยอดชีวิตข้อ ๒ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา - การคบบัณฑิต

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> มงคลยอดชีวิตข้อ ๒ </center>
    <center> ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา - การคบบัณฑิต </center> ดวงมณีไม่มีอยู่ทุกจอมผา คดช้างไม่มีอยู่ทุกตัวช้าง ไม้จันทน์ไม่มีอยู่ทุกไพรสณฑ์ บัณฑิตไม่มีอยู่ทุกถิ่นสถาน หม้อพร่องน้ำส่งเสียงอึงมี่ หม้อเต็มน้ำเงียบฉี่ พาลกล ดังน้ำครึ่งหม้อ ส่วนบัณฑิตเหมือนหม้อเต็มน้ำ ในการสลักสำคัญต้องการคนกล้า ในการปรึกษาต้องการคนที่ไม่พูดพล่าม และเมื่อเกิดมีอรรถคดีขึ้นต้องการบัณฑิต นี่คติทางศาสนา

    <center> บัณฑิตเป็นคนชนิดไร </center> เมื่อเราปลีกตนออกไม่คบคนพาลแล้ว เชิญมาคบบัณฑิตกันเถอะ แต่เราจะคบบัณฑิตนั้น ควรมาทำความรู้จักกับบัณฑิตเสียก่อน บัณฑิตนั้นมีสมญาว่า ธีรชนคือนักปราชญ์บ้าง ว่าสัตบุรุษคือคนสงบเรียบร้อยบ้าง ว่าเมธีคือปัญญาชนบ้าง ว่ามุนีหรือกวีคือนักรู้บ้าง บัณฑิตที่มีสมญาดังนี้ เราจะหาพบได้ในตำราทางศาสนา ดังจะนำมาให้ท่านรู้จักต่อไปนี้
    ในมังคลัตถทีปนีว่า คนผู้ดำเนินทางกุศลกรรม ทำเป็นกุศล พูดเป็นกุศล คิดเป็นกุศล และดำเนินชีวิตในประโยชน์ด้วยปัญญาคติ รู้จักใช้ปัญญารอบรู้ในเหตุผลไปด้วยกัน นี่คนชื่อบัณฑิตในปรมัตถโชติกาว่า มวลชนผู้ดำเนิน คือ ดำเนินชีวิตในประโยชน์ชาตินี้และประโยชน์ชาติหน้า ด้วยญาณคติ รู้จักใช้ความหยั่งรู้ไปด้วยกัน นี่คนชื่อบัณฑิต ในสัททนีติปกรณ์ ท่านแสดงมูลศัพท์แห่งบัณฑิตศัพท์ว่า ปฑิธาตุในอรรถว่าสอดส่อง ปัญญา ชื่อว่าปัญฑา คือ สอดส่อง หมายความว่าสอดส่องไปในบรรดาประโยชน์แม้ที่ละเอียด ทราบถึงอาการบีบคั้นแห่งอนิฐผลมีทุกข์เป็นต้นได้ ผู้ดำเนินชีวิตย่างเท้าก้าวไปด้วยปัญญาที่สอดส่อง นี่คนชื่อบัณฑิต
    แม้ในอาคตสถานอื่นอีกก็มี เช่น ผู้พิจารณากรรมอันจะพึงทำด้วยกาย วาจา ใจ โดยรอบคอบทุกอย่าง และหยั่งรู้ในประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและคนอื่นแล้ว จึงทำลงไปทุกขณะ นี่คนชื่อบัณฑิตผู้ไม่ปองสิ่งอันไม่ควรได้ ไม่เสียใจถึงสิ่งที่หายไป และไม่หลงถือสมบัติว่าของฉัน นี่คนชื่อบัณฑิต ผู้รู้จักพูดให้เหมาะกับสมัยที่มาถึง รู้จักรักสมกับภาวะของตน รู้จักโกรธให้สมกับตน มีอัธยาศัยปลอดโปร่ง ไม่มีเวรไม่มีภัยและเพียบพร้อมด้วยศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ และปัญญา นี่คนชื่อบัณฑิต
    ธีรชนประพฤติประโยชน์ทั้งของตนและของคนอื่น เมื่อไม่สามารถจะประพฤติประโยชน์คนอื่นได้ ก็ประพฤติเฉพาะประโยชน์ตน แม้เมื่อไม่อาจประพฤติประโยชน์ตนได้ ก็ปลีกตนจากความชั่ว นี่คนชื่อบัณฑิต ธีรชนผู้ใช้หูฟังเสียงทุกอย่าง ใช้ตาดูรูปทุกชนิด แต่ไม่พอจะต้องการสิ่งที่ดู และฟังทุกอย่างไป นี่คนชื่อบัณฑิต แม้นักปราชญ์ผู้รู้อุปการคุณที่คนอื่นทำแล้วและตอบแทน เป็นมิตรดี เป็นมิตรมั่นคงเป็นคนดีในโลก เมื่อมิตรได้รับทุกข์ ช่วยทำกิจโดยเอื้อเฟื้อ นี่ก็คนชื่อบัณฑิต
    บัณฑิตมีกตัญ รู้สนอง
    เป็นมิตรดีมั่นปอง ไม่มองเฉย
    มิตรรับทุกข์ช่วยกิจ อยู่ชิดเชย
    สมควรเอ่ยดีว่า โขในโลกา
    ฅ บัณฑิตมีอัชฌาสัย น้ำใจเอื้อ
    มีใครเกื้อกิจเบา เท่าเส้นหญ้า
    ย่อมรู้สึกพระคุณ เป็นบุญมา
    กล่าววาจาชื่นชอบ ขอขอบคุณ
    ส่วนพาลมีอัชฌาสัย น้ำใจต่ำ
    หัวใจดำไม่เอื้อ ไร้เกื้อหนุน
    ใครละชีพช่วยเหลือ เข้าเจือจุน
    เขายิ่งวุ่นขุ่นใจ เป็นไพรี
    เมื่อเรารู้จักบัณฑิตตามทรรศนะทางศาสนาแล้ว ก็พอจับเค้าได้ว่าบัณฑิตทางศาสนา ถือคุณสมบัติเป็นเครื่องวัดภูมิบัณฑิต ตรงกันข้ามกับบัณฑิตทางโลก ที่ถือวิทยฐานะหรือปริญญาเป็นเครื่องวัด ภูมิบัณฑิต เช่น เนติบัณฑิต ธรรมศาสตร์บัณฑิต รัฐศาสตร์บัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ที่จริงค่าของคนผู้ เป็นบัณฑิตนั้น อยู่ที่การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และการบำเพ็ญประโยชน์เป็นสำคัญ ดังมีพระพุทธดำรัสในอุโภอัตถสูตรเป็นหลักอยู่ว่า "ธีรชนไม่ประมาท ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาสอดส่อง ย่อมรับปฏิบัติประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ชาตินี้และประโยชน์ชาติหน้า เพราะลุถึงประโยชน์ (ทั้งสองนั้น) ท่านจึงเรียกว่าบัณฑิต"
    และบัณฑิตได้ดำเนินชีวิตมาอย่างระมัดระวัง เมื่อยังไม่มองเห็นสถานะอื่นเหมาะก็ยังไม่ทิ้ง สถานะเดิม พยายามนำชีวิตให้ก้าวไปทีละก้าว เมื่อตั้งตัวได้ก้าวหนึ่งก่อน จึงเริ่มก้าวต่อไปอีกก้าวหนึ่ง ถึงจะได้ทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่ละทิ้งประโยชน์ที่ตนบำเพ็ญอยู่ เหมือนไม้จันทน์แห้งไม่ทิ้งกลิ่นหอม ช้างเข้าสู่สงครามไม่ทิ้งเยื้องกรายอันสง่า อ้อยถูกหีบแล้วไม่ทิ้งรสหวาน และมีทรรศนะว่า "ผู้มีพุทธิสมบัติ พรั่งพร้อมแล้ว อาจนำประโยชน์เกื้อกูลมาเพื่อมวลชนได้ แต่ไม่บำเพ็ญประโยชน์ทั้งของตนและของคนอื่น ไฉนจะพึงเป็นบัณฑิตได้เล่า"
    ส่วนว่าบัณฑิตรับปฏิบัติประโยชน์ทั้งสองด้วยการรับผิดชอบ ยึดเอาประโยชน์ทั้งสองมาเป็นภาระของตน ที่ตนต้องบำเพ็ญจริงๆ ไม่สลัดภาระที่มาถึงตัว และไม่คว้าภาระที่ยังไม่มาถึง มุ่งถือเอาประโยชน์ทั้งสองเป็นเครื่องมือ สร้างตนให้มีฐานะมั่นคงในปัจจุบัน และให้มีทางไปดีราบรื่นในชาติหน้า กล่าวคือ
    บัณฑิตไม่ประมาท นึกถึงความผันแปรของโลกอยู่เสมอ ได้ขะมักเขม้นบำเพ็ญประโยชน์ชาตินี้ด้วยขยันหมั่นเพียร รีบเร่งทำธุระที่กะไว้ไม่ทอดทิ้ง ทำงานที่มาถึงมิชักช้า ทำงานตามเวลาไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง รู้จักเก็บงำและรักษาทรัพย์ที่ได้มา รู้จักทำให้เกิดดอกออกผล เข้าใจคุ้มครองให้ปลอดภัยรู้จักรักษาหน้าที่การงานของตนให้ไม่เสื่อมเสีย คบเพื่อนที่ดีงาม และเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ ประหยัดใช้ให้ไม่ฝืดเคืองนัก ไม่ฟูมฟายนัก ตั้งจำกัดรายจ่ายให้สมดุลย์ เลี้ยงชีพให้เป็นอยู่อย่างง่าย ไม่ให้สิ้นเปลืองไปในทางที่มิจำเป็น
    บัณฑิตนอกจากสร้างตนให้มีฐานะมั่นคงในชาตินี้แล้ว ยังสำนึกในบุญบาปอันจะติดตามผู้ทำไปยังชาติหน้า จึงหาอุบายป้องกันบาปและสั่งสมบุญ ยึดเอาประโยชน์ชาติหน้าเป็นเครื่องมือ สำหรับสร้างทางไปดีราบรื่นยังชาติหน้า ด้วยอบรมใจให้มีศรัทธา เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมเก่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว และเชื่อว่าผู้ทำกรรมใดดีหรือชั่ว กรรมดีหรือชั่วนั้นก็เป็นของผู้ทำ อบรมกายวาจาให้มีศีลบริสุทธิ์สะอาด อบรมจากเจตนาให้เสียสละสุขส่วนน้อย เพื่อประโยชน์สุขส่วนใหญ่ เช่น สละทรัพย์ช่วยคนป่วยไข้ให้พ้นจากโรคภัย เกื้อกูลแก่ชาติในคราวที่รัฐต้องการ ตลอดถึงอุปถัมภ์บำรุงศาสนา และอบรมใจให้เกิดปัญญา มีปรีชาฉลาดหลักแหลม มีสติปลุกตนให้เฉลียว รู้จักเลือกเฟ้นทำแต่ส่วนดี หลีกเลี่ยงส่วนที่ชั่วเสียหาย

    <center> อาการของบัณฑิตเป็นไฉน </center> เมื่อเราศึกษาให้รู้จักบัณฑิตว่า เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาคติ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องในเหตุผลไปด้วยกัน และเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งสองดังกล่าวแล้ว ควรมาศึกษาให้รู้อาการของบัณฑิตใน ๓จุด คือ คิด พูด ทำ ดังปรากฎในพาลบัณฑิตสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสแจกแจงไว้ ๓ จุด คือ
    ๑. สุจินฺติตจินฺตี มีคิดเรื่องดีที่ตนเคยคิดมาเป็นปกติ
    ๒. สุภาสิตภาสี มีพูดถ้อยคำดีที่ตนเคยพูดมาเป็นปกติ
    ๓. สุกตกมฺมการี มีทำกรรมดีที่ตนเคยทำมาเป็นปกติ
    ตามพระพุทธดำรัสนี้ เราได้จุดศึกษาในอาการของบัณฑิตเป็น ๓ จุด คือ คิด พูด และทำความคิดดีเป็นบัณฑิตลักษณะ ถ้อยคำดีเป็นบัณฑิตนิมิต การทำดีเป็นบัณฑิตาปทาน พึงทราบว่าอาการที่รู้ตัวว่า เรื่องที่คิด กิจที่ทำ คำที่พูดนั้น จะนำไปสู่ความเบาใจของคนอื่นแล้ว จึงคิดทุกๆทาง พูดทุกๆคำ ทำทุกๆอย่าง และ งดคิดพูดทำ อันจะนำไปสู่ความหนักใจของคนอื่นเสีย นี่คืออาการของ บัณฑิตพึงศึกษาในอาการของบัณฑิต ๓ อย่างดังนี้
    ๑. บัณฑิตลักษณะ อาการที่แสดงออกแห่งอัธยาศัยของบัณฑิต ให้กำหนดได้ว่าอัธยาศัยของบัณฑิตนั้น ประกอบด้วยมโนกรรมที่ดีงาม ๓ ประการ เรียกว่าบัณฑิตลักษณะ มี
    ๑.๑ อโลภัชฌาสัย คือ อัธยาศัยไม่โลภ ด้วยไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นเกินขอบเขต มุ่งแต่จะได้ จะมี จะเป็นในทางที่เหมาะสมพอควร พอใจแสวงหาในขอบเขตแห่งศีลธรรม ยินดีในสิ่งที่ตนจะพึงหาได้ในทางที่ชอบ พยายามสงบใจให้ยินดีในสิ่งที่ตนมี และยินดีในสิ่งที่ตนได้มา เห็นคุณของความพอควรว่า เมื่อไม่มีสิ่งที่ตนชอบก็ชอบสิ่งที่ตนมี และเห็นโทษของความมักมากว่า คว้าทั้งหมดเป็นสูญทั้งหมด ถือสัมมาอาชีพเป็นเครื่องดำเนินชีวิตโดยชอบธรรมสม่ำเสมอ
    ๑.๒ อโทสัชฌาสัย คือ อัธยาศัยไม่โหดร้าย ประกอบด้วย เมตตากรุณาโอบอ้อมอารีไม่ใจจืด ไม่ใจดำ ไม่ใจแข็งกระด้าง ไม่ใจลำเอียง หวังดีมีนิสัยสุขุมชุ่มเย็น เป็นดังเทวดาอารักษ์ของบ้านเมือง อยากให้เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันได้ดีมีสุข แผ่รัศมีศรีศักดิ์ไปคุ้มครอง ให้เขาอยู่สุขเกษมศานต์สราญรมย์ เหมือนเมฆหลั่งฝนลงอาบแผ่นดินให้ชุ่มเย็น เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินและหวังช่วยเหลือเพื่อนที่ตกทุกข์ ได้ยาก แผ่กรุณาไปถึงเขาผู้มีทุกข์ และช่วยให้เขาพ้นทุกข์ตามกำลัง
    จงมีเมตตาต่อ ทุพลพวกทมิฬพาล
    การุณย์แก่หมู่มาร อันมุ่งมาดพิฆาตตน
    จงมีมุทุตา อย่าอิจฉาแก่ฝูงชน
    เป็นทางบังเกิดผล ประดิพัทธ์สวัสดี
    ขันตีและเมตตา กรุณามโนมี
    โอบเอื้ออุดมดี ดิเรกซร้อง ณ สันดาน
    เป็นที่สมาคม ชนะชมเกษมศานต์
    สรรเสริญสำนานปาน ทิพยสร้อยสุคนธ์ขจร
    เล่ห์เลื่อนชะลอหลั่ง สุขทั้งภวันดร
    รื่นรมย์ภิรมย์พร กิติทั่ว ณ ธาตรี
    (ธรรมจริยา)
    ๑.๓ อโมหัชฌาสัย คือ อัธยาศัยไม่ลุ่มหลง มีสติสัมปชัญญะเป็นตัวนำ พิจารณาหาเหตุผลให้รู้ผิดชอบชั่วดี หรือรู้บาปบุญคุณโทษได้ ไม่ลุอำนาจแก่ความลุ่มหลงเพลิดเพลิน และมีสัมมาทิฏฐิเข้าสนับสนุนให้เห็นผิดเป็นผิด เห็นชอบเป็นชอบ มีนำให้คิดเห็นบุญคุณของผู้มีบุญคุณเป็นตัวอย่าง
    ๒. บัณฑิตนิมิต อาการที่แสดงออกแห่งวจีกรรมของบัณฑิต ให้หมายรู้ได้ว่าวจีกรรมของบัณฑิตนั้น เป็นวจีกรรมที่สุภาพดีงาม ๔ ประการ เรียกว่าบัณฑิตนิมิต มี
    ๒.๑ พูดคำจริง คือพูดคำแน่นอน คำคงที่เป็นหนึ่งแน่ไม่มีสอง และพูดคำแท้ คำที่เป็นเนื้อล้วนๆ ไม่มีปลอมแปลง และไม่มีกลายไปเป็นอื่น ความสำคัญของการพูดจริง อยู่ที่พูดตามที่จริง และทำให้จริงตามที่พูด
    บัณฑิตพูดซื่อตรง ด้วยสงสาร
    ควรกราบกรานทำตาม อย่าห้ามหวง
    มีเมตตาพูดออก ไม่หลอกลวง
    เราทั้งปวงควรพร้อม ยินยอมตาม
    ท่านมุ่งผลดีงาม หวังตามสอน
    ควรอาทรฟังไป ตั้งใจถาม
    จักเป็นศรีมงคล ให้ผลงาม
    ทุกวันยามสุขชื่น รื่นรมย์เอย
    ๒.๒ พูดคำสมานไมตรี คือ พูดคำผูกไมตรี และ พูดคำประสานสามัคคี พูดแนะนำคนที่ยังไม่รู้จักให้รู้จักกัน พูดชักนำคนที่รู้จักกันให้ชอบกัน พูดชักจูงคนที่ชอบพอกันให้สนิทสนมกันและพูดเชื่อมคนสนิทสนมกันให้มั่นเข้า นี่คือคำพูดผูกไมตรี พูดแนะนำคนที่แตกกันให้ดีกัน พูดส่งเสริมคนที่ดีกันให้สามัคคีปรองดองกัน และพูดสนับสนุนคนที่สามัคคีกัน ให้ดีสนิทสนมแน่นเข้าดังเดิม นี่คือพูดคำประสานสามัคคี
    จงร่วมรักร่วมมิตร สนิทมั่น
    ให้เป็นสายสัมพันธ์ ในวันหน้า
    ปลูกเมตตาอารี เกิดปรีดา
    เหตุนำมาซึ่งสุข สิ้นทุกข์นาน
    ชีวิตอยู่เดียวดี ไม่มีไหน
    ต้องอาศัยใจรัก สมัครสมาน
    เชิญผูกมิตรไมตรี ดีกว่าพาล
    ด้วยทำการจุนค้ำ ยึดน้ำใจ
    ๒.๓ พูดคำไพเราะ คือพูดคำดูดดื่มและคำอ่อนหวาน ถ้อยคำออกมาจากน้ำใจใสสะอาดของผู้พูด ให้ผู้ฟังทำตามได้ไม่มีโทษ และเป็นคำพูดถูกใจมีคติ เร้าใจผู้ฟังให้เห็นควรถือเอาเป็นเยี่ยง นี่คือคำพูดดูดดื่ม คำพูดหวานหูออกมาจากน้ำใจใสสะอาดของผู้พูด บำรุงกำลังใจผู้ฟังให้ชื่นบาน ดุจน้ำหวานชูกำลังใจของผู้ดื่ม นี่คือคำอ่อนหวาน
    เชิญตั้งจิตยืดหยุ่น อย่าผลุนผลัน
    ควรแบ่งปันสิ่งของ ใจผ่องใส
    พูดไพเราะเหมาะกรรณ ผูกพันใจ
    ช่วยทำให้สมถวิล คนยินดี
    ควรวางตนให้เสมอ อย่าเย่อหยิ่ง
    ประพฤติจริงดีนัก เป็นศักดิ์ศรี
    คนทุกเหล่าเข้าได้ เป็นไมตรี
    นี่ความดีเกาะเกี่ยว เหนี่ยวใจกัน
    ๒.๔ พูดคำมีประโยชน์ คือ พูดคำมีเหตุผล และพูดคำสมควร ถ้อยคำที่อ้างเหตุผลพูดอิงธรรมอิงวินัย พูดมีหลักฐานยืนยัน วิญญูชนคัดค้านไม่ได้ นี่คือคำพูดมีเหตุผล ถ้อยคำปรารภเรื่องที่มีจริงเป็นจริง ถูกกาลเวลา เป็นคำมีเนื้อ มีกำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะกับภูมิธรรมของบุคคล สมควรแก่กาลเทศะและบุคคล นี่คำพูดสมควร
    พึงตระหนักในคติของบัณฑิตว่า "เสียงที่เราคุยกันด้วยเรื่องความดี อันจะให้คุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งกว่าดนตรีวิเศษ เพราะเสียงดนตรีเภรีพิณพาทย์ที่นิยมกันว่าเพราะ นั้นเกิดจากคนประดิษฐ์ มิใช่ดนตรีเภรีพิณพาทย์จะดังเอง กังวานแห่งดนตรีเภรีพิณพาทย์ แม้ไพเราะประเดี๋ยวเดียวก็หายหมด แต่เสียงแห่งถ้อยคำที่เราคุยกัน ชักนำกันด้วยเรื่องความดีนั้น ยังก้องหูอยู่ มิรู้หาย"
    ๓. บัณฑิตาปทาน อาการที่แสดงออกแห่งพฤติกรรมไม่ขาดสายของบัณฑิต เปิดเผยให้เห็นว่ากายกรรมของบัณฑิตนั้น เป็นกายกรรมที่ดีงาม ๓ ประการ เป็นไปติดต่อไม่ขาดระยะ เรียกว่าบัณฑิตาปทาน มี
    ๓.๑ เว้นการฆ่ากัน ด้วยมีเมตตาหวังดีต่อกัน แผ่เมตตาไปถึงกันเสมอว่า "สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ สพฺเพ สตฺตา อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ สพฺเพ สตฺตา อนีฆา โหนฺตุ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ" แปลว่า "ขอเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายทุกถ้วนหน้า จงมีสุขกายสุขใจเถิด อย่ามีเวรต่อกันเลย อย่าเบียดเบียนกันเลย อย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ รักษาตนให้มีสุขอยู่เถิด" และมีกรุณาหวังช่วยเหลือกัน แผ่กรุณาไปถึงกันเสมอว่า "สพฺเพ สตฺตา สพฺพทุกฺขา ปมุญฺจนฺตุ" แปลว่า "ขอเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายทุกถ้วนหน้า จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด"
    ๓.๒ เว้นการลักฉ้อของกัน ด้วยมีสัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่ใช้อุบายหากินในทางที่ผิด คือฉกลัก กรรโชก จี้ปล้น ตู่ หลอกลวง ตระบัด ยักยอก เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ค้าของเถื่อน ปลอมแปลงสินค้า ซึ่งเป็นกโลบายทำลายกันทั้งสิ้น
    ๓.๓ เว้นการทำผิดประเวณีต่อกัน นิสัยบัณฑิตไม่ลุอำนาจแก่ความใคร่ ถ้าเป็นชายเห็นเมียของคนอื่นเหมือนแม่ของตน ถ้าเป็นหญิงเห็นผัวของคนอื่นเหมือนพ่อของตน ถือคติว่า "การกินการนอน ความกลัว และการสืบพันธุ์ เหล่านี้มีเสมอกันทั้งแก่คนและสัตว์ แต่คนมีภาวะพิเศษแปลกกว่าสัตว์ อยู่ตรงที่ความบริสุทธิ์ ไม่นอกใจกันไปทำชู้กับคู่ครองของคนอื่น ถ้าปราศจากความบริสุทธิ์นี้แล้วก็เหมือนภาวะของสัตว์"
    เมื่อเราแต่ละคนคิดดีเป็นบัณฑิตลักษณะ มีใจสุภาพไม่โลภไม่โกรธไม่หลง พูดดีเป็นบัณฑิตนิมิต มีวาจาสุภาพ คือวาจาจริง วาจาสมานไมตรี วาจาไพเราะ วาจามีประโยชน์ และทำดีเป็นบัณฑิตาปทาน คือเว้นการฆ่ากัน เว้นการลักฉ้อกัน เว้นการประพฤติผิดประเวณีต่อกัน ชื่อว่าคบบัณฑิต อบรมตนให้เป็นบัณฑิต

    <center> มูลเหตุแห่งการคบบัณฑิตเป็นเช่นไร </center> เมื่อเราทราบบัณฑิตลักษณะ บัณฑิตนิมิต และบัณฑิตาปทาน ที่เป็นอาการของบัณฑิตแล้ว จากนี้ควรมาศึกษาในมูลเหตุแห่งการควรคบบัณฑิต ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
    ๑. บัณฑิตไม่มีภัย คือไม่มีสิ่งอันน่าสะดุ้งหวาดเสียวอยู่ในตน แต่มีตนเป็นพวกพ้องและเป็นมิตรของคนอื่น แสดงอัธยาศัยไมตรีอารีอารอบ ดวงหน้าเอิบอิ่มยิ้มแย้ม ยินดีสนทนาปราศรัยกับผู้คนไปมา เปล่งวาจาไพเราะ กิริยาสุภาพ ชวนให้ผู้พบเห็นหรือนึกถึงเบาใจ นับว่าเป็นผู้เกษมจากภัยใดๆทั้งสิ้น และไม่เป็นภัยต่อคนทั่วไป ดูเถิด น้ำในสระ ร่มเงาต้นไทร และเรือนที่ก่อด้วยอิฐเหล่านี้ ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว ให้ความเย็นสบายในฤดูร้อน แต่บัณฑิตให้ความอบอุ่นและความเย็นใจแก่มวลชนทุกฤดูกาล
    ๒. บัณฑิตไม่มีอุบาทว์ คือไม่มีสิ่งอัปมงคล ไม่มีสิ่งอัปลักษณ์เสื่อมทราม ไม่มีสิ่งอัปรีย์น่าเกลียดและไม่มีสิ่งจัญไรชั่วร้ายอยู่ในตน และไม่มีอุบาทว์แก่ผู้คนไปมา แต่เป็นมงคลแก่เขา เยื้องกรายกิริยาเป็นมหาเสน่ห์ เผยวาจาเป็นมหานิยม และแสดงอัธยาศัยเป็นมิ่งขวัญแก่คนทั่วไป นับว่าไม่มีอุบาทว์ทั้งแก่ตนและคนอื่น
    ๓. บัณฑิตไม่มีอุปสรรค คือไม่มีเหตุขัดข้องอยู่ในตัว มีทางดำเนินชีวิตสะดวกราบรื่นปลอดโปร่ง และไม่เป็นอุปสรรคแก่คนอื่น เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับตน ดำเนินกิจการได้สะดวกทุกวิถีทางดังนั้น อกิตติดาบสเห็นว่า บัณฑิตไม่มีอุปสรรคในตัว และไม่เป็นอุปสรรคแก่คนอื่น เมื่อพระอินทร์ประทานพร จึงขอรับพรว่า "ขออาตมะได้พบเห็นแต่บัณฑิต ได้ยินแต่ข่าวคราวของบัณฑิต ได้อยู่ร่วมกับบัณฑิต ได้ทำกิจการเกี่ยวข้องกับบัณฑิต และได้ชอบพอโอภาปราศรัยกับบัณฑิต" และว่า "บัณฑิตม่แนะนำสิ่งที่มิควรแนะนำ ไม่ประกอบในสิ่งที่มิใช่ธุระ การแนะนำถูกทางเป็นการดีของบัณฑิต บัณฑิตแม้มีผู้พูดดีๆก็ไม่โกรธ และรู้จักอุบายแนะนำ การพบเห็นบัณฑิตนั้นจึงดีนัก"
    แม้พระพุทธเจ้าดำรัสในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ก็มีรับรองอยู่ว่า "บรรดาภัยอุบาทว์และอุปสรรคจะเกิดก็เกิดแต่พาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ เพราะพาลมีภัยอุบาทว์และอุปสรรคประจัญหน้าบัณฑิตหามีภัยอุบาทว์และอุปสรรค ประจัญหน้าไม่ ภัยไม่มีแต่บัณฑิต อุบาทว์ไม่มีแต่บัณฑิต อุปสรรคไม่มีแต่บัณฑิต"
    เมื่อเราทราบมูลเหตุแห่งการควรคบบัณฑิตแล้ว มาบำเพ็ญตนให้ปลอดภัย และให้อภัยแก่คนอื่น ไม่มีอุบาทว์และอุปสรรคอยู่ในตน มีแต่สิ่งมิ่งมงคลและชีวิตดำเนินสะดวกราบรื่น ชื่อว่าได้เข้าพบเห็นบัณฑิตด้วยใจ และอยู่ร่วมกับบัณฑิตด้วยความประพฤติที่ดีงาม

    <center> คบบัณฑิตทำอย่างไร </center> บัดนี้ เรามาศึกษาในเรื่องการคบบัณฑิต แต่ควรทราบใจความแห่งการคบ ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า "เสวนา" ก่อน เราพูดกันอยู่โดยมากว่า คบค้า คบหา และคบคิด แม้กระนั้นความก็ยังมัวอยู่ จะคบค้าคบหาหรือคบคิดกันเพียงแค่ไหน จึงจะเข้าขั้นเสวนา การร่วมชีวิตจิตใจ มีนิสัยใจคอถูกกัน เข้ากันได้สนิท ร่วมคิดร่วมจิตใจกัน ตกลงกระทำการร่วมกัน นี่เองคือการคบ พึงพิจารณาลักษณะของการคบ ๗ อย่าง จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของการคบได้แจ่มขึ้น คือ
    ๑. อุปสังกมนะ การไปมาหาสู่
    ๒. ปยิรุปาสนะ การเข้าตีสนิทชิดชอบ
    ๓. สัมปิยะ ความจงรัก คือรักใคร่กันจริง
    ๔. ภัตติ ความภักดี คือนับถือเลื่อมใสซื่อตรงต่อกัน
    ๕. สันทิฏฐะ เป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมเห็นด้วยกัน
    ๖. สัมภัตตะ เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่ด้วยกัน
    ๗. ทิฏฐานุคติ ดำเนินตามอย่าง
    โบราณว่า สังสารวัฏไม่มีสาระอะไรเลย ถ้าประชากรอาศัยสังสารวัฏอยู่ ประพฤติตัวเองให้ได้๓ สถาน คือ คบบัณฑิต ศรัทธาในกรรม และชำระล้างจิตใจในแม่น้ำคือความสงบ ก็จะมีชีวิตเป็นสาระ เพราะอันใดมีนิพพุติ คือความสงบเย็นใจ อันนั้นเป็นสาระให้ความสุข ผู้เข้าสมาคมกับบัณฑิตด้วยการไปมาหาสู่ ตีสนิทชิดชอบ จงรักคือรักใคร่กันจริง ภักดีคือนับถือเลื่อมใสซื่อตรงต่อกัน เป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมเห็น เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่ และดำเนินตามอย่างคือทำตามข้อปฏิบัติของบัณฑิตเช่นนี้ นี่ชื่อว่าคบบัณฑิต
    ประการหนึ่ง บัณฑิตมีอยู่ ๒ ประเภท คือบัณฑิตภายนอก หมายเอาคนอื่นที่เป็นบัณฑิต และบัณฑิตภายใน หมายเอาตัวเราเองที่มีใจดีกายดีและวาจาดี ผู้สมาคมบัณฑิตภายนอก ด้วยลักษณะของการคบ ๗ อย่างดังบรรยายมา ชื่อว่าคบบัณฑิตภายนอก เมื่อตัวเราเองชอบคบมโนสุจริต คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ชอบคบกายสุจริต คือ เว้นการฆ่ากัน เว้นการลักฉ้อของกัน เว้นการทำผิดประเวณีต่อกัน และชอบคบวจีสุจริต คือพูดคำจริง พูดคำสมานสามัคคี พูดคำไพเราะ และพูดคำมีประโยชน์เช่นนี้ นี่ชื่อว่าคบบัณฑิตภายใน

    <center> ผลการคบบัณฑิตเป็นไฉน </center> ไฉนเราจะต้องคบบัณฑิตเล่า เพราะว่าบัณฑิตเป็นบุคคลชั้นผู้ดี มีสันดานบริสุทธิ์ เอกอุในหมู่มนุษย์ใต้ฟ้า รู้คุณยินดีในผู้มีคุณ ทอดสายตามองแต่ไกลรับผู้คนไปมา ยิ้มพรายในคราวแย้มเยื้อน ชมเชยคุณลักษณะแต่ในที่ลับหลัง ฟื้นความหลังชวนให้จับใจ เพิ่มความรักให้ระลึกถึงความดีแต่เก่าก่อนแม้เมื่อผู้มีความต้องการเข้าหาก็ ให้ไม่เสียความมุ่งหมายหน้าเผือดกลับไป เป็นผู้ให้ความสุขแก่ผู้คบหาทุกเมื่อ นับว่าต้องลักษณะอันควรคบ ดังนั้น เราจึงต้องคบบัณฑิต
    เพราะเมื่อเราคบบัณฑิตแม้เพียงครั้งเดียว การคบนั้นก็ให้เรามีความสุขอยู่เป็นนิตย์ คุ้มครองเราให้ปลอดภัย และสนับสนุนให้เรามีชื่อเสียงเกียรติคุณ เหมือนเราเอาใบไม้ห่อกฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยหอมฟุ้งไปด้วย เราจะได้รับผลคือความสุข ความปลอดภัย และชื่อเสียงเกียรติคุณนั้น ก็เพราะมีบัณฑิตเป็นเหตุ คือบัณฑิตเป็นบุคคลควรคบ เมื่อเราคบย่อมให้เกิดมงคล
    การคบบัณฑิตนี้ชื่อว่าเป็นมงคลยอดชีวิตข้อสอง ในมงคล ๓๘ ประการ เพราะเป็นเหตุให้ผู้คบเจริญด้วยสรรพสมบัติ มีวัฒนธรรมเหมาะแก่สังคม เลื่อนฐานะของตนให้สูงขึ้นกว่าภาวะเดิม มีกิริยา วาจาใจดีงาม ชีวิตเกษมปลอดภัย ปราศจากอุบาทว์และอุปสรรค มีกายสงบวาจาสงบและใจสงบสนับสนุนให้ผู้คบเป็นคนดีในโลก และดีเหนือโลกเป็นที่สุด
    ทวยเทพคณะสตุลลปกายิกา หวนระลึกถึงผลบุญในขณะที่ตนบังเกิด ทราบว่าตนได้สมบัตินี้เพราะอาศัยอาจารย์ ประสงค์จะสรรเสริญคุณของอาจารย์ในสำนักพระพุทธองค์ จึงพากันมายังพระเชตวัน ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถา ๖ คาถา องค์ละคาถา แต่สามบาทต้นของหกคาถามีใจความอย่างเดียวกัน ส่วนบาทที่สี่ของหกคาถานั้น มีใจความต่างกัน ดังนี้ว่า
    "๑ บุคคลพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกันท่านผู้สงบ รับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมมีแต่ความดี หามีความชั่วเลวทรามมิได้"
    "๒ บุคคลพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกับท่านผู้สงบ รับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมได้ปัญญา จะได้จากบุคคลอื่นหามิได้เลย"
    "๓ บุคคลพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกับท่านผู้สงบ รับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมไม่โศกเศร้าในท่ามกลางคนโศกเศร้า"
    "๔ บุคคลพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกับท่านผู้สงบ รับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมสง่างามในท่ามกลางหมู่ญาติ"
    "๕ บุคคบพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกับท่านผู้สงบ รับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์"
    "๖ บุคคลพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกับท่านผู้สงบ รับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมมีความสุขชั่วกาลนาน"
    นี่คำของเทวดา ๖ องค์ ซึ่งแต่ละองค์กล่าวองค์ละคาถาตามลำดับ ในขณะที่เทพ ๖ องค์กล่าวจบแล้วนั้น มีเทพอีกองค์หนึ่งทูลถามขึ้นว่า "คำของเทพองค์ไหนเป็นสุภาษิตพระเจ้าข้า" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "คำของเทพแต่ละองค์ เป็นสุภาษิตโดยปริยาย ขอปวงท่านแต่ละองค์ฟังคำของฉันบ้าง" และแล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า "บุคคลพึงอยู่ร่วมกับท่านผู้สงบ พึงทำความสนิทชิดชอบกับท่านผู้สงบรับทำตามข้อปฏิบัติของท่านผู้สงบแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง"
    ประมวลความว่า บัณฑิตเป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาคติ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องในเหตุผลไปด้วยกัน บำเพ็ญประโยชน์ทั้งสอง มีใจสุภาพเป็นลักษณะ มีวาจาสุภาพเป็นนิมิต มีกิริยาสุภาพเป็นพฤติกรรมที่ติดต่อไม่ขาดสาย เป็นผู้ไม่มีภัย ไม่มีอุบาทว์ ไม่มีอุปสรรคในตัว และไม่เป็นภัย ไม่เป็นอุบาทว์ ไม่เป็นอุปสรรคแก่ใครหมดทั้งสิ้น นับว่าเป็นบุคคลชั้นผู้ดีที่ควรคบของมวลชน
    การคบบัณฑิตด้วยการไปมาหาสู่ เข้าตีสนิทชิดชอบ จงรักภักดี ถือเป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมเห็นร่วมกินร่วมอยู่ และดำเนินตามปฏิปทาของบัณฑิตนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นมงคลยอดชีวิต เพราะเป็นเหตุให้ผู้คบเจริญด้วยสรรพสมบัติ มีชีวิตก้าวหน้าดำเนินสะดวกราบรื่น ปลอดภัย ปราศจากอุบาทว์และอุปสรรค ไม่โศกเศร้าในท่ามกลางหมู่คนผู้โศกเศร้า สง่างามในท่ามกลางหมู่ญาติ มีความสุขอยู่ตลอดกาล และหลุดพ้นจากทุกข์ ในวัฏฏะทั้งสิ้นเป็นที่สุด นี่คือมงคลยอดชีวิตข้อ ๒ ซึ่งมีเนื้อความดังบรรยายมา

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...