ภูมิของบัณฑิต

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 11 มิถุนายน 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๔๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะ เครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นบัณฑิตของบัณฑิตนี้มี ๓ อย่าง
    ๓ อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตใน โลกนี้มักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี
    มักทำการทำที่ดี ถ้าบัณฑิตจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ดี พูดคำพูดที่ดี และทำการทำที่ดี
    บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่าผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ เพราะบัณฑิตมักคิดความคิดที่ดี
    มักพูดคำพูด ที่ดี และมักทำการทำที่ดี ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิตเป็นสัตบุรุษ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลย่อมเสวยสุขโสมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน ฯ

    [๔๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตนั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดีริมทางสามแพร่งก็ดี
    ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าบัณฑิตเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต
    เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากเหตุเป็นที่ตั้ง
    ความประมาทเพราะ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา
    นั้นบัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ปกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติ เหล่านั้นด้วย
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่หนึ่งดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

    [๔๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก บัณฑิตเห็นราชาทั้งหลาย จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว
    สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ
    (๑) โบยด้วยแส้บ้าง
    (๒) โบยด้วยหวายบ้าง
    (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
    (๔) ตัดมือบ้าง
    (๕) ตัดเท้าบ้าง
    (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
    (๗) ตัดหูบ้าง
    (๘) ตัดจมูกบ้าง
    (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
    (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
    (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
    (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
    (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
    (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
    (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
    (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
    (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
    (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
    (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
    (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
    (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
    (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
    (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
    (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
    (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
    (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
    เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล ราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด
    คือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ปรกติเหล่านั้นไม่มีอยู่ในเรา และเราก็ไม่ปรากฏ
    ในปรกติเหล่านั้นด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่สองดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

    [๔๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ ในก่อน คือ
    กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปก คลุม ครอบงำบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง
    หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขา ย่อมปก คลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น
    ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในก่อน คือ กายสุจริต
    วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปก คลุม ครอบงำบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียงหรือนอนบนพื้น
    ดินในสมัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นบัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความชั่ว
    ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้
    ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคน ที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว
    ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้เป็นกำหนด บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก
    ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่สามดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

    [๔๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลประพฤติสุจริตทางกายทางวาจา ทางใจแล้ว
    เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงสุคติซึ่ง
    เขาพูดหมายถึงสวรรค์นั้นแลโดยชอบ พึงกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
    ส่วนเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาจนถึงสวรรค์เป็นสุข ก็ไม่ใช่ง่ายนัก ฯ

    [๔๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุอาจเปรียบได้
    แล้วตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ
    และความ สัมฤทธิผล ๔ อย่าง จึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้นเป็นเหตุได้
    พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการเป็นไฉน ฯ

    [๔๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ผู้ทรงได้มุรธาภิเษกแล้ว
    ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่
    ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วย
    อาการทุกอย่าง ครั้นทอดพระเนตรแล้วได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า ก็เราได้สดับมาดังนี้แล พระราชา
    พระองค์ใด ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕
    ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน
    พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พระราชานั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
    เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อนั้น พระองค์เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย
    ทรงหลั่งรดจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่า จงพัดผันไปเถิดจักรแก้วผู้เจริญ
    จักรแก้วผู้เจริญจงพิชิตให้ยิ่งเถิด ลำดับนั้น จักรแก้วนั้นก็พัดผันไปทางทิศตะวันออก พระเจ้า
    จักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้า
    จักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่เป็น
    ปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราช
    พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด
    พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้
    ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครอง
    บ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแล
    ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อนั้น จักรแก้วนั้นได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันออก
    แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศใต้ ฯลฯ พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศใต้แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศตะวันตก ฯลฯ
    พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศเหนือ พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา
    ก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐาน อยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ
    ณ ประเทศนั้น พร้อม ด้วยจตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือ
    เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
    มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด
    พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่ เจ้าของมิได้ให้
    ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครอง
    บ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นแล
    ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล จักรแก้วนั้นพิชิตยิ่งตลอด
    แผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วกลับมาสู่ราชธานีเดิม ประดิษฐานอยู่เป็นเสมือนลิ่มสลักพระทวาร
    ภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำให้งดงามอย่างมั่นคงอยู่
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏจักรแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

    [๔๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏช้างแก้ว
    เป็นช้างหลวงชื่ออุโบสถ เผือกทั่วสรรพางค์กาย มีที่ตั้งอวัยวะทั้งเจ็ดถูกต้องดี มีฤทธิ์เหาะได้
    ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้วย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า จะเป็นยานช้าง
    ที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญถ้าสำเร็จการฝึกหัด ต่อนั้น ช้างแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัด
    เหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดีเป็นเวลานาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
    พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองช้างแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทร
    เป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏช้างแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

    [๔๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏม้าแก้ว
    เป็นอัสวราชชื่อวลาหก ขาวปลอด ศีรษะดำเหมือนกา เส้นผมสลวยเหมือนหญ้าปล้อง
    มีฤทธิ์เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว ย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า
    จะเป็นยานม้าที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการฝึกหัด ต่อนั้น ม้าแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัด
    เหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดีแล้วเป็นเวลานาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
    พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองม้าแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมี
    สมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏม้าแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ
    [๔๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏมณีแก้ว
    เป็นแก้วไพฑูรย์ งามโชติช่วง แปดเหลี่ยม อันเจียระไนไว้อย่างดี มีแสงสว่างแผ่ไปโยชน์
    หนึ่งโดยรอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมี มาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองมณีแก้ว
    นั้น จึงสั่งให้จตุรงคินีเสนายกมณีขึ้นเป็นยอดธง แล้วให้เคลื่อนพลไปในความมืดทึบของราตรี
    ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ พากันประกอบการงานด้วยแสงสว่างนั้น สำคัญว่าเป็นกลางวัน ดูกร ภิกษุ
    ทั้งหลาย ย่อมปรากฏมณีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

    [๔๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏนางแก้วรูปงาม
    น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก
    ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพ
    มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว
    มีตัวเย็นในคราวร้อน มีกลิ่นดังกลิ่นจันทรฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก
    นางแก้วนั้นมีปรกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังบรรหารใช้ ประพฤติถูกพระทัย ทูลปราศรัย
    เป็นที่โปรดปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทางใจ ไฉนเล่า
    จะมีประพฤติล่วงทางกายได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏนางแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

    [๔๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏคฤหบดีแก้ว
    ผู้มีจักษุเพียงดังทิพเกิดแต่วิบากของกรรมปรากฏ ซึ่งเป็นเหตุให้มองเห็นทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของ
    ทั้งที่ไม่มีเจ้าของได้ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะพระองค์จงทรง
    เป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้พระองค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคย
    มีมาแล้วพระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองคฤหบดีแก้วนั้น จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้ลอยล่อง
    กระแสน้ำกลางแม่น้ำคงคา แล้วรับสั่งกะคฤหบดีแก้วดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดีฉันต้องการเงินและทอง
    คฤหบดีแก้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้นโปรดเทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด
    พระเจ้าจักรพรรดิตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ ทันใดนั้น คฤหบดีแก้ว
    จึงเอามือทั้ง ๒ หย่อนลงในน้ำ ยกหม้อเต็มด้วยเงินและทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้า
    จักรพรรดิดังนี้ว่าข้าแต่มหาราช พอหรือยังเพียงเท่านี้ ใช้ได้หรือยังเพียงเท่านี้ บูชาได้หรือยัง
    เพียงเท่านี้ พระเจ้าจักรพรรดิจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี พอละ ใช้ได้แล้ว บูชาได้แล้ว
    เพียงเท่านี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏคฤหบดีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

    [๔๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏปริณายกแก้ว
    ปริณายกนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถถวายข้อแนะนำให้พระองค์ทรงบำรุง
    ผู้ที่ควรบำรุง ทรงถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้า
    จักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์
    จักสั่งการถวาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏปริณายกแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ นี้
    พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างเป็นไฉน ฯ

    [๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ย่อมทรงพระสิริโฉมงดงาม น่าดู
    น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งพระฉวีวรรณอย่างยิ่งเกินมนุษย์อื่นๆ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อแรกดังนี้ ฯ

    [๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงพระชนมายุยืน
    ทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วย
    ความสัมฤทธิผลข้อที่ ๒ ดังนี้ ฯ

    [๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นผู้มีพระโรคาพาธน้อย
    ไม่ทรงลำบาก ทรงประกอบด้วยพระเตโชธาตุย่อยพระกระยาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก
    ไม่ร้อนนัก เกินมนุษย์อื่นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วย
    ความสัมฤทธิผลข้อที่ ๓ ดังนี้ ฯ

    [๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่
    พอใจ ของพราหมณ์และคฤหบดีเหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจ ของบุตรฉะนั้น พราหมณ์และ
    คฤหบดีก็เป็นที่ทรงโปรดปราน พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิเหมือนบุตรเป็นที่รักใคร่
    พอใจของบิดาฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินี
    เสนาออกประพาสพระราชอุทยาน ทันทีนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว
    กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่ารีบด่วน โปรดเสด็จโดยอาการที่พวกข้าพระองค์
    ได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงสั่งสารถีว่า ดูกรสารถี ท่านอย่ารีบด่วน
    จงขับไปโดยอาการที่ฉันได้ชมบรรดาพราหมณ์และคฤหบดีนานๆ เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๔ ดังนี้ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างนี้ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว
    ๗ ประการ และความสัมฤทธิผล ๔ อย่างดังนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้น
    เป็นเหตุบ้างไหมหนอ ฯ
    ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว
    แม้ประการหนึ่งๆ ก็ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้วประการนั้นเป็นเหตุได้ จะป่วยกล่าวไปไย
    ถึงแก้วทั้ง ๗ ประการ และความสัมฤทธิผลทั้ง ๔ อย่าง ฯ

    [๕๐๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ
    แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน
    แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ฯ
    ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้มีประมาณน้อยนัก
    เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว
    ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พระเจ้าจักรพรรดินี้ ทรงประกอบด้วย
    แก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง ย่อมทรงเสวยสุข โสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้น
    เป็นเหตุได้ สุขโสมนัสนั้นเปรียบเทียบสุขอันเป็นทิพย์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้การนับ
    ย่อมไม่เข้าถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

    [๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว
    ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล
    หรือสกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล เห็นปานนั้นในบั้นปลาย อันเป็นสกุล
    มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหาร
    อย่างเพียงพอ และเขาจะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณ
    อย่างยิ่งมีปรกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
    และเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
    ครั้นแล้วเมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

    [๕๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงการพนัน เพราะฉวยเอาชัยชนะได้ประการแรกเท่านั้น
    จึงบรรลุโภคสมบัติมากมาย การฉวยเอาชัยชนะของนักเลงการพนันที่บรรลุโภคสมบัติมากมายได้นั้นแล
    เพียงเล็กน้อย ที่แท้แลการฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น การฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น คือ
    การฉวยเอาชัยชนะที่บัณฑิตนั้น ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วตายไป
    เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นั่นเอง ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ภูมิของบัณฑิตครบถ้วนบริบูรณ์ ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๔๐/๔๑๓ ข้อที่ ๔๘๔ – ๕๐๓
     

แชร์หน้านี้

Loading...