ภิกษุณีสงฆ์เชียงใหม่

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Phanudet, 4 สิงหาคม 2011.

  1. Phanudet

    Phanudet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    8,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +15,647
    [​IMG]

    “…ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย

    น้อย นิดหน่อย รวดเร็ว

    มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

    จะพึงรู้จักชีวิตถูกต้องได้ด้วย.. ปัญญา

    ด้วยเจริญกุศล คือ สิ่งที่ฉลาด

    ควรประพฤติพรหมจรรย์

    คือ การดำเนินชีวิตอันประเสริฐยิ่งในอริยมรรคมีองค์ ๘

    เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตาย ไม่มี…”

    •••พระพุทธพจน์•••

    [​IMG]

    ภิกษุณีสงฆ์ ที่เชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๑
    สามเณรี วรญาณี (ลีนา กิติสมชัย)
    นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2551 เป็นต้นมา ได้เกิดสมาชิกขึ้นอีกหนึ่งหน่วยภายใน จ.เชียงใหม่ ที่เรียกชื่อว่า “ภิกษุณีสงฆ์”​
    “ภิกษุณี” เป็นบุคคลที่มีมานาน ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ในสังคมไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำนี้ จึงขอโอกาสอธิบาย ทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้น เพื่อไขข้อข้องใจและเพื่อความสบายใจของบุคคลบางกลุ่ม ดังนี้

    “ภิกษุณี คือ ใคร”
    ภิกษุณี คือ 1 ในพุทธบริษัท 4 อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ภิกษุณี มีความหมายว่า ผู้หญิง ผู้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิดหรือผู้ขอ ภิกษุณี ต้องรักษาศีล 43 ข้อ ได้แก่ จุลศีล 26 มัชฌิมศีล 10 และมหาศีล 7 และต้องสำรวมระวังในบัญญัติที่เป็นภิกขุณีปาฏิโมกข์ อีก 311 ข้อ เพื่อใช้เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสและใช้เป็นระเบียบในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขของกลุ่มผู้หญิงที่มุ่งประพฤติพรหมจรรย์ดำเนินชึวิตตามรอยพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ ภิกษุณียังต้องปฏิบัติตาม ครุธรรม 8 ด้วยความเคารพ เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้เพื่อเป็นเขื่อนกั้นป้องกันปัญหาอันอาจเกิดจากการเกี่ยวข้องกับพระภิกษุสงฆ์

    จาก แม่ชี – สามเณรี ถึง ภิกษุณี
    สำหรับ ภิกษุณีสงฆ์ จ.เชียงใหม่ในพ.ศ. นี้ อดีต ก็คือ คณะแม่ชี สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นำโดย แม่ชีนันทญาณี (รุ้งเดือน สุวรรณ) ซึ่งก็เป็นชาว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ท่านแม่ชีได้เห็นคุณค่าและมีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการได้ศึกษาพุทธประวัติ พุทธจริยา พระธรรม และรวมทั้งได้ศึกษาชีวิตพระภิกษุสงฆ์ไทย ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบหลายรูป เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เทศก์ หลวงปู่พุทธทาส หลวงพ่อชา หลวงปู่พระพุทธพจนวราภรณ์ หลวงปู่ทอง (พระเทพสิทธาจารย์) ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า อุบาสิกากี นานายน รวมถึง เจ้าชื่น สิโรรส แห่งวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น หลังจากนั้นก็เริ่มใช้ชีวิตมุ่งมั่นมาในทางฝึกลดละกิเลสตามรอยพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่ยังเป็น นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการเริ่มฝึกรักษาศีล 8 เรื่อยมาจนเรียนจบ และออกมาทำงานอุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา ที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท วัดป่าดาราภิรมย์ และช่วยงานพัฒนาการศึกษาในชนบทกับอ.รุ่งเรือง บุญโญรส อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มช. เป็นเวลารวม 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจบวชเป็นแม่ชี เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ที่ วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน เมื่ออายุได้ 25 ปี แล้วเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่สำนักวิปัสสนาถ้ำตอง จ.เชียงใหม่ และสถานปฏิบัติธรรมอื่นๆ อีกหลายที่ ได้ฝึกฉันอาหารมังสวิรัติมื้อเดียวในบาตร ฝึกดำเนินชีวิตโดยไม่ใช้เงิน และมุ่งศึกษา ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก แม้จะล้มลุกคลุกคลานก็ยังเพียรพยายามฝึกปฏิบัติเพราะต้องการพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าว่า มรรค ผล นิพพาน มีจริงหรือ​

    นอกจากนี้ ยังได้เพียรเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการแสดงธรรมให้แก่ผู้สนใจที่ได้ติดต่อขอฟังธรรม กระทั่งมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่เกิดศรัทธาในการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจากการแสดงธรรมของท่านแม่ชีนันทญาณี และมีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านแม่ชี จึงได้ตัดสินใจติดตามมาบวชเป็นแม่ชีเป็นศิษย์ของท่าน
    จวบจน พ.ศ.2538 คุณวรรณา กาญจนภิญโญวงศ์ได้ถวายที่ดินจำนวน 6 ไร่ ท่านแม่ชีนันทญาณีจึงได้ริเริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม[1] อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2546 ได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์ (นิโรธาราม 2) อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่สนใจ ใฝ่ธรรมให้ได้อาศัยศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสงบและปลอดภัย ควบคู่ไปกับการเผยแผ่พระสัทธรรมจากพระไตรปิฎกทั้งในรุปแบบการจัดค่ายอบรมธรรมะตามคำขอของหน่วยงานต่างๆ การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาปฏิบัติธรรมภายในสำนักฯเป็นการส่วนตัวโดยไม่เรียกเก็บเงินใดๆ การเผยแผ่ธรรมะผ่านสื่อต่างๆ โดยแจกเป็นธรรมทาน ทั้ง หนังสือธรรมะ สื่อVCD สื่อ MP3 หรือแม้กระทั่งสื่อวิทยุโดย คุณศรีสุดา ชวชาติ นักจัดรายการวิทยุร่มธรรม ร่มใจ มาขอรับสื่อMP3 ที่บันทึกการแสดงธรรมะ ของภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ทาง คลื่นเชียงใหม่เรดิโอ FM 93.75 Mhz เป็นต้น
    เมื่อคณะแม่ชีได้เพียรฝึก ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าตามแนวอริยมรรคมีองค์ 8 หรือศีล สมาธิ ปัญญา มาพอสมควรจนกลายเป็น วิถีชีวิต ก็พบว่า ชีวิต ได้พบกับความสุข สงบตามสมควรแก่สติปัญญา และยังช่วยชี้ทางดำเนินชีวิตให้ผู้อื่นไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ตามสมควร
    ต่อมาเมื่อได้ทราบข่าวว่า ประเทศศรีลังกามีภิกษุณีและสามเณรีสงฆ์ ท่านแม่ชีนันทญาณีได้มีดำริที่จะบรรพชาเป็นสามเณรี จึงได้เข้าไปกราบเรียนปรึกษา กับท่านพระเถระชั้นผู้ใหญ่ภายในจ.เชียงใหม่หลายท่าน ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ต่างอนุโมทนา และให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ความตั้งใจที่จะมีรูปแบบให้ได้รักษาศีลได้มากขึ้น ความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติธรรมอย่างสงบตามรอยพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อละโลภ โกรธ หลง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรอนุโมทนา
    ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ท่านแม่ชีนันทญาณีพร้อมด้วยคณะแม่ชี สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม รวม 13 ท่าน จึงได้เดินทางไปเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณรี ณ ประเทศศรีลังกา โดยทำพิธีในสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในหมู่สงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยได้รับความเมตตาจาก ท่านพระสังฆนายกภาคตะวันตกแห่งประเทศศรีลังกา ท่านเมตตานันทมหาเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ท่านภิกษุณี สุมิตตราเป็นปวัตตินี (อาจาริณี)

    หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรีแล้ว คณะสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้ให้ความเมตตามอบหมายภาระหน้าที่ให้ท่านสามเณรีนันทญาณี ได้เป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนคณะสามเณรีใหม่ และอนุญาตให้กลับมาประพฤติปฏิบัติธรรม ภายในสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม และ สำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิ นิโรธาราม โดยคณะสามเณรีต่างก็มีความสำนึกสำเหนียกใจว่า “เราเป็นสามเณรีศรีลังกา” ที่ได้รับความเมตตาไว้วางใจจากท่านพระอุปัชฌาย์และท่านปวัตตินีให้กลับมาใช้ชีวิตในเพศบรรพชิต ณ แผ่นดินไทย และ ได้อาศัยความเมตตาของพระสงฆ์ไทยแห่งล้านนา ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์และให้ความดูแลกลุ่มสามเณรีนี้ ได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ตามพระธรรมวินัยอย่างสงบและปลอดภัย
    ชีวิตสามเณรีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย โดยเพียรทำทั้งประโยชน์ทั้งตน คือ เจริญในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา และเพียรทำทั้งประโยชน์ผู้อื่น คือ เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ผู้สนใจใฝ่ธรรมทั่วไปในรูปแบบต่างๆ

    อนึ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 คณะสามเณรี ได้รับความเมตตาอย่างสูงจากท่านพระสังฆนายกภาคตะวันตกแห่งศรีลังกา คือ ท่านเมตตานันทะมหาเถระ พระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้ง ท่านพระสังฆนายกภาคใต้แห่งศรีลังกาคือ ท่านโสมานันทมหาเถระ ที่ได้ให้เกียรติเดินทางมาเยี่ยมคณะสามเณรี ณ สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม และได้เห็นความเป็นอยู่ของคณะสามเณรีที่อยู่ในกรอบแห่งพระธรรมวินัยอันดีงามและเห็นถึงสัมพันธภาพอันดีต่อคณะสงฆ์ไทยแห่งล้านนา ท่านจึงได้อนุโมทนาชื่นชมยินดีและได้ให้ความไว้วางใจต่อการใช้ชีวิตเป็นสามเณรีในประเทศไทยของคณะสามเณรีกลุ่มนี้ โดยมีท่านสามเณรีนันทญาณี เป็นอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอน

    จวบจนกระทั่ง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ท่านพระสังฆนายกภาคใต้ และท่านพระสังฆนายกภาคตะวันตก พร้อมคณะภิกษุและภิกษุณีสงฆ์แห่งศรีลังกา ได้เมตตาน้อมนำพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาประดิษฐานเป็นการถาวร

    ณ สำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์ (นิโรธาราม 2) พร้อมกับเมตตาจัดพิธีบรรพชาสามเณรี รุ่น 2 แก่สตรีไทย อีกจำนวน 13 ท่าน ณ สำนักปฏิบัติธรรมสุทธจิตต์ โดยได้รับการยอมรับและอนุโมทนา จากเจ้าคณะตำบลลวงเหนือ ท่านเจ้าคณะอำเภออำเภอดอยสะเก็ด ท่านเจ้าคณะอำเภอจอมทอง

    ท่านพระอุปัชฌาย์และท่านปวัตตินี ยังได้เชิญชวนให้ท่านสามเณรี นันทญาณี และคณะสามเณรีรุ่นที่ 1 ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ประเทศศรีลังกา


    เดิมที ท่านสามเณรีนันทญาณี ยังไม่มีความคิดจะบวชเป็นภิกษุณี เพราะยังไม่ได้ศึกษาในพระภิกขุณีปาฏิโมกข์ 311 ข้อ จึงยังไม่เห็นประโยชน์ของการอุปสมบทเป็นภิกษุณี ต่อเมื่อได้ศึกษาอย่างใส่ใจ จึงได้พิจารณาเห็นว่า พระภิกขุณีปาฏิโมกข์ 311 ข้อ และ ครุธรรม 8 ประการนี้ อันเปรียบเสมือนกฎหมายที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นใช้ปกครองกลุ่มผู้หญิงในสมัยพุทธกาล นับว่าเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส และเป็นระเบียบให้กลุ่มนักบวชสตรีได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพราะได้พบว่า สัจจธรรมความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึงอานิสงส์ ผลประโยชน์ ในการบัญญัติพระวินัย เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตของพระสาวก คือ.. (วิ.มหาวิภังค์.1/39)
    • 1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
    • 2. เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
    • 3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (หน้าด้าน)
    • 4. เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
    • 5. เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
    • 6. เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต
    • 7. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส
    • 8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
    • 9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
    10. เพื่อถือตามพระวินัย
    เมื่อเห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ประกอบกับ ปัจจุบัน ได้มีกลุ่มสตรีเข้ามาศึกษาและปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้าภายในสำนักฯเพิ่มมากขึ้น การน้อมนำพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการอยู่ร่วมกันให้ตรงกับ ภาวะฐานะของตน นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกราบเรียนและกราบลาพระภิกษุเถระหลายรูปภายใน จ.เชียงใหม่ เพื่อเดินทางไปอุปสมบทเป็นภิกษุณี ที่ศรีลังกา

    ในการเดินทางไปบรรพชาเป็นสามเณรี และ ไปอุปสมบทเป็นภิกษุณี ทั้ง 2 ครั้งนี้ล้วนได้รับการอุปฐากอุปถัมภ์จากคณะศิษย์อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย โดยไม่ได้ใช้เงินของมูลนิธิ หรือ ของสำนักฯนิโรธารามแต่อย่างใด

    ถึงแม้คณะภิกษุณีทั้ง 5 รูป ซึ่งล้วนแต่เป็นคนสัญชาติไทย เกิดและเติบโตอยู่บนผืนแผ่นดินไทย แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ยังคงสำนึกสำเหนียกใจอยู่ว่า ..ตามภาวะความเป็นจริง เราก็ยังเป็นภิกษุณีจากต่างประเทศ มาอาศัยประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิ นิโรธาราม และ ได้รับความเมตตา อนุเคราะห์ด้วยดีจาก ท่านพระเทพสิทธาจารย์ วิ. (หลวงปู่ทอง ) ท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ท่านรองเจ้าคณะจ.เชียงใหม่ เจ้าคณะอำเภอ จอมทอง และ ดอยสะเก็ด พระครูปลัดทรงสวัสดิ์ ปัญญาวชิโร วัดแสนเมืองมาหลวง รวมถึง เจ้าคณะตำบลดอยแก้ว และ ลวงเหนือ และพระภิกษุสงฆ์ไทยผู้มีพระคุณ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้าอีกมากมายที่ไม่กล่าวนามถึงในที่นี้ อีกทั้งอุบาสก อุบาสิกาผู้มีศรัทธาที่อาศัยอยู่ในเขตใกล้เคียงก็ให้การอุปัฏฐากบำรุงตามสมควร ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่พยายามนำพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาเป็นวิถีชีวิตได้อยู่อย่างสงบร่มเย็นตามสมควรแก่อัตตภาพ ท่านจึงมีความสำนึกในพระคุณ ในความเมตตาอนุเคราะห์ของพระภิกษุสงฆ์ไทยทุกรูปอย่างยิ่ง และได้มีจิตอนุโมทนาต่อญาติโยมทุกท่านที่มีน้ำใจ ให้ความเมตตากรุณาต่อนักบวชสตรีกลุ่มนี้ด้วยดีตลอดมา


    <TABLE border=0 cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%"><TBODY><TR>[​IMG]



    </TR></TBODY></TABLE>” เหตุเพราะ…พระภิกษุสงฆ์ไทย..แท้ๆ “
    พระภิกษุณี นันทญาณี (รุ้งเดือน สุวรรณ)
    ก่อนที่จะกล่าวถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของคณะพระภิกษุสงฆ์ไทย อันมีพระเดชพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกทุกพระองค์เป็นพระประมุข ผู้เขียนขอบอกความในใจว่า …ผู้เขียนได้มีความอนุโมทนาชื่นชมยินดีอย่างยิ่งต่อความทรงเป็นศาสนูปถัมภกอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราช ในการที่พระองค์ทรงสร้างมหากุศลอันมีผลยอดเยี่ยม กว้างใหญ่ไพศาลมากมายเกินประมาณ ด้วยการส่งพระธรรมฑูตเดินทางออกไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึง 9 สาย และ1ในนั้น ซึ่งนำโดย ท่านพระภิกษุอุตตระมหาเถระ ท่านพระภิกษุโสณะมหาเถระพร้อมด้วยหมู่คณะพระภิกษุสงฆ์อีก 3 รูปผู้ทรงธรรม ทรงวินัยได้เดินทางเข้ามาประกาศธรรม ยังดินแดน “สุวรรณภูมิ” เป็นผลให้ ปวงชนชาวไทยผู้ได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับประโยชน์และความสุขอย่างมากมาย ตราบจนถึงทุกวันนี้​
    ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่โชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้พึ่งพาอาศัยพระรัตนตรัย พระเจ้าอโศกมหาราช คณะพระธรรมฑูต พระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรม อาศัยพระมหินทมหาเถระ และพระนางสังฆมิตตาพร้อม ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ไทย….. หรือพูดง่ายๆว่า ได้อาศัย ความมั่นคงในพระรัตนตรัยแห่งพุทธบริษัททั้ง 4 จึงทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เพียรเว้นจากอกุศลหลายอย่าง จนได้ละเพศชาวบ้าน ละจากความเป็นเพศหญิง เข้าสู่…ความเป็นเพศบรรพชิต อันเป็นเพศที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นอุตตมเพศ คือ เพศอันอุดมสูงสุด​

    ถ้าถามว่า พึ่งพาอาศัยพระภิกษุสงฆ์ไทยอย่างไร คำตอบ คือ..
    1. ถ้าเริ่มนับเวลาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ได้อาศัยฟังนิทานชาดกอันเป็นประวัติของพระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ จากพระสงฆ์ไทยที่อยู่จำพรรษาในหมู่บ้านหลายรูป ท่านสอนให้เราเพียรทำดีอยู่ในครรลองแห่งศีลธรรม สมาชิกในครอบครัวก็ได้อาศัยพระภิกษุสงฆ์ เป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นเนื้อนาบุญ ในการสร้างสมบุญกุศลต่างๆ
    2. สมัยเป็นวัยรุ่น ได้อาศัยความกรุณาอันยิ่งของหลวงพ่อพระมหากมล โชติมันโต วัดสันป่าข่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ช่วยอธิบายเรื่อง ขันธ์ 5 ให้ฟัง ทำให้เริ่มเข้าใจขันธ์ 5 บ้างเป็นเบื้องต้น​
    3. สมัยเป็นนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อาศัยอ่านหนังสือคู่มือมนุษย์ ตามรอยพระอรหันต์ และปฏิจจสมุปบาท ที่เขียนโดยท่านหลวงปู่พุทธทาสภิกขุ ต่อมาก็ได้อ่านประวัติอันน่าเคารพเลื่อมใสของหลวงปู่มั่น และหลวงปู่ หลวงพ่ออีกมากมาย จนอยากละเพศชาวบ้านมาครองเพศผู้เว้นอกุศลทั้งหมด หรือ เพศบรรพชิต แต่เพราะไม่มีภิกษุณีไทย จึงไม่สามารถบรรพชา เป็นบรรพชิตได้ คิดว่าคงทำได้เพียงเป็นอุบาสิกา ( แม่ชี ) และเพียรบวชใจเท่านั้น
    4. เมื่อปฏิบัติธรรมไปได้ระยะหนึ่ง เกิดศรัทธาที่จะแสวงหาการปฏิบัติตามสำนักต่างๆ ดังนั้น พอเริ่มเรียนปีที่ 3 จึงได้ขออนุญาตผู้ปกครองหยุดพักการเรียน 1 ปี แล้วเดินทางไปอาศัยปฏิบัตํธรรม ณ สำนักปฏิบัติธรรม ก.เขาสวนหลวง ของท่านพระอาจารย์อุบาสิกา กี นานายนเป็นเวลากว่า 10 เดือน พบว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เพราะมีพื้นฐานการศึกษาทางธรรมน้อย จึงไม่รู้วิธีการฝึกที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามที่พระพุทธเจ้าสอน หลังจากนั้นได้กลับไปเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัยตามคำขอของแม่ ในระหว่างนั้น ก็ได้พักอาศัยอยู่ที่วัดอุโมงค์หลังมช. เมื่อเรียนจบแล้ว ก็ได้อาศัยทำงานไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย ที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ของหลวงปู่ พระพุทธพจนวราภรณ์ ที่วัดป่าดาราภิรมย์….ตลอดเวลาของความเป็นชาวบ้านที่ผ่านมา เคยมีความคิดผิดว่า เป็นชาวบ้านก็ปฏิบัติธรรมลดละกิเลสได้เหมือนนักบวช แต่แท้ที่จริง…เป็นสิ่งที่ยากมาก จึงเริ่มมีความคิดที่จะออกบวช ออกจากการดำเนินชีวิตแบบชาวบ้าน
    5. เมื่อมีความกังวลใจและลังเลในการไปเป็นแม่ชี ก็ได้เดินทางไปวัดหนองป่าพงเพื่อกราบเรียนถามหลวงพ่อชาว่า ควรจะลาออกจากงานที่กำลังทำอยู่มาขอบวชเป็นแม่ชี จะดีไหม ? ท่านเงียบไปนานมาก สุดท้ายก็ให้คำตอบว่า…บวชเถอะ.. งานทางโลกทำเท่าไรก็ไม่มีวันจบ แต่..งานทางธรรมมีวันจบได้..คำพูดของหลวงพ่อชา ก็ช่วยดับความกังวล ทำให้กล้าตัดสินใจ ลาออกจากงานมาเป็นแม่ชีซึ่งถือว่ายังเป็นอุบาสิกาอยู่
    6. ได้อาศัยหลวงปู่ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน เป็นผู้บวชชีให้ แล้วมาอาศัยหลวงพ่อสุชิน วิมโลภิกษุ เพื่ออยู่ศึกษาและปฏิบัติธรรมที่สำนักวิปัสสนาถ้ำตอง จ.เชียงใหม่ อีกหลายปี และได้อาศัยพระภิกษุสงฆ์อีกหลายรูป ในการไปอาศัยปฏิบัติธรรมในอีกหลายสำนักทั่วทุกภาค
    7. ได้อาศัยหมู่คณะพระภิกษุสงฆ์ไทย ผู้อดทนเสียสละแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นไทย จึงได้ศึกษาพระพุทธพจน์ด้วยความเข้าใจและแสนสุขใจ ต่อมาก็ได้อาศัยความอุตสาหะ พยายามอย่างยิ่งของพระภิกษุสงฆ์ไทยอีกหลายรูปที่ได้เพียรสอนภาษาบาลีและเขียนตำราคู่มือเรียนภาษาบาลี เขียนพจนานุกรมบาลี-ไทย ทำให้ได้อ่านได้เรียนภาษาบาลีด้วยตนเองบ้างเล็กน้อย แต่การเรียนภาษาบาลีจากตำราด้วยตนเองนั้นยากมาก อาจไม่เข้าใจถ่องแท้และอาจเข้าใจผิดได้ จึงจำเป็นต้องไปกราบขอความกรุณาเพื่อเรียนถามความถูกต้องชัดเจนจากพระภิกษุไทยอีกหลายรูป ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้เข้าใจความหมาย เนื้อหาสาระ และประเด็นสำคัญแห่งพระสัทธรรม

    8.เมื่อได้ศึกษาภิกขุณีปาฏิโมกข์ 311 ข้อ จากพระไตรปิฎกภาษาไทยซึ่งสามารถเข้าใจได้ตามสมควรแก่สติปัญญา อีกทั้งได้เห็นความสำคัญของครุธรรม 8 ก็ยิ่งประจักษ์ชัดว่าหาก ภิกษุณีสงฆ์ต้องการความเจริญก้าวหน้าในการประพฤติ ปฏิบัติธรรม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้า
    ด้วยความประเสริฐยิ่งแห่งพระพุทธเจ้า ด้วยความประเสริฐยิ่งแห่งพระธรรม ด้วยความประเสริฐยิ่งแห่งหมู่คณะพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถพรรณาได้หมดนี้เอง ได้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้เขียนได้พบว่า… อริยมรรคมีองค์ 8 นั้น เป็นทางดำเนินชีวิตให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงได้อย่างแน่นอน และเป็นหนทางที่ได้ช่วยพัฒนาชีวิตของผู้เขียนและอีกหลายชีวิตให้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการบรรพชา และ อุปสมบท ในที่สุด

    • แม้การไปบรรพชาเป็นสามเณรีเมื่อปีพ.ศ.2549 และ การอุปสมบทเป็นภิกษุณี เมื่อปี พ.ศ.2551ที่ประเทศศรีลังกา ก็ต้องอาศัยความเมตตากรุณาจากพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ท่านให้การรับรองความประพฤติ อีกทั้งอาศัยการยอมรับและ ความไว้วางใจของพระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาในการทำพิธีให้ กระทั่งเมื่อกลับมาอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในประเทศไทยก็ยังต้องอาศัยบารมีธรรมของคณะพระเถรานุเถระ อันได้แก่ ท่านพระเทพสิทธาจารย์ วิ.(หลวงปู่ทอง) ท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ทั้งฝ่ายมหานิกาย และ ฝ่ายธรรมยุต ท่านรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ท่านเจ้าคณะอำเภอทั้งอ.ดอยสะเก็ด และอ.จอมทอง ท่านเจ้าคณะตำบลดอยแก้วและตำบลลวงเหนือ รวมถึง พระภิกษุสงฆ์ไทยอีกหลายรูป ที่ได้ให้ความเมตตาอนุเคราะห์คณะภิกษุณีและคณะนักบวชสตรี สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม ได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อย่างร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ได้มีส่วนช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าในรูปแบบต่างๆ ตามเหตุตามปัจจัยผู้เขียนและคณะนักบวชสตรีสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม จึงได้มีความสำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้า จึงขอปฏิบัติบูชาคุณพระรัตนตรัย โดยการทำทั้งประโยชน์ตน และ ประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เพื่อความสุข สงบ ของมหาชนตราบสิ้นกาลนาน
    [​IMG]
    ♥♥♥♥♥​


    ครุธรรม ๘ ประการ ( วิ.จุล. ทุติย 7/516)
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง คือ​
    ๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑เข้าไปฟัง คำสั่งสอน จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ๑
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี
    ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ
    ♦♦♦​



    <TABLE border=0 cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%"><TBODY><TR><TD style="TEXT-ALIGN: center">[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>


    ” เถรวาท หรือ มหายาน ? “

    พระภิกษุณี นันทญาณี (รุ้งเดือน สุวรรณ)
    พระภิกษุ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของผู้เขียนท่านเคยบอกว่า “ภิกษุณีไม่ต้องเป็นเถรวาทหรือมหายาน” ฟังแล้วก็สบายใจดีที่ไม่ต้องเป็นอะไรเพิ่มมากไปกว่าการเป็น “ภิกษุณี” ซึ่งหมายถึง “ผู้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด” และหมายถึง “ผู้ขอ”อันเป็นความหมายที่ทำให้ผู้เขียนคิดตั้งใจที่จะฝึกตนให้อดทนและสงบเสงี่ยม เพราะในความเป็นจริงแห่งการดำรงชีวิตพรหมจรรย์ เป็นชีวิตที่ต้องขอ ต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ และต้องขอ ต้องอาศัยปัจจัย 4 จากชาวบ้าน ดังนั้น เมื่อชีวิตเราต้องขอ ต้องอาศัย ต้องเนื่องด้วยผู้อื่นเช่นนี้ ก็จะต้องเพียรพยายามปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้มากที่สุดตามกำลังสติปัญญา จะต้องเพียรละ “อัสมิมานะ” ความถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า.. ” ความไม่ถือตนเป็นสุขอย่างยิ่ง”​
    ดังนั้น การที่มีผู้ตั้งคำถามกับภิกษุณีกลุ่มนี้ว่า.”เป็นเถรวาท หรือมหายานนั้น” โดยความคิดที่เกิดขึ้นในใจ ณ ขณะนี้ ผู้เขียนคิดว่าความเป็นเถรวาทหรือมหายานนั้น ต้องดูที่ “ความรู้”และ”ความประพฤติ” ถึงแม้จะผ่านพิธีกรรมและแต่งตัวตามชื่อเถรวาท แต่ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัดดังที่ท่านพระมหากัสสปะมหาเถระได้เสนอไว้ในครั้งการทำสังคายนา ครั้งที่ 1 แต่กลับประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในศีลสิกขาบท ก็น่าจะเป็นเถรวาทแต่เพียงชื่อแต่เป็นมหายานโดยความประพฤติ ในทำนองเดียวกันแม้จะได้ชื่อว่าเป็นมหายานแต่ถ้าไม่ยอมประพฤติตามแบบมหายานเลย กลับพยายามประพฤติตามพระธรรมพระวินัย ตามรอยพระพุทธเจ้าตามมติที่พระมหากัสสปะเสนอไว้ ผู้นั้นก็ย่อมเป็นมหายานเพียงชื่อ แต่เป็นเถรวาทโดยความประพฤติ
    ถ้าจะกล่าวในแง่ของการสืบสายการบวชย้อนไปไกลๆ ว่าภิกษุณีที่อ้างตนว่าเป็นเถรวาทนั้นไปบวชมาจากภิกษุณีที่เป็นมหายานหรือเปล่า ก็คงต้องสืบย้อนไปอีกว่า แม้มหายานเองก็มีจุดเริ่มต้น คือ พระภิกษุที่บวชโดยตรงมาจากสายของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อมีความประพฤติที่แตกต่างจากหมู่สงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงต้องแบ่งแยกนิกายออกไปเป็นมหายาน
    ความเห็นต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเพียงความคิดเห็น เป็นสังขารขันธ์ที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งใดที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งสิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ถ้ายังยึดมั่นในความคิดเห็น ก็ชื่อว่า ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์ ทนได้ยาก เมื่อยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์ ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ จึงควรที่จะรู้จักความคิดเห็นนั้นตามเป็นจริง คือ เห็นว่า เป็นเพียง ความคิดเห็น เท่านั้น


    เห็นว่าเป็นเพียง สังขารขันธ์ ที่เกิด – ดับพร้อมจิต เกิด – ดับเร็วมาก
    • - ควรรู้ ความเกิดขึ้นแห่งความคิดเห็นนั้น(เกิดอวิชชา ตัณหา อุปาทานร่วมด้วยหรือไม่ )
    • - ควรรู้ ความดับแห่งความคิดเห็นนั้น ( ดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้หรือไม่ )
    • - ควรรู้ ว่า “อริยมรรคมีองค์ 8″ คือ ทางดำเนินชีวิตให้ถึงความดับสังขาร
    • - ควรรู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายสลัดออกจากความคิดเห็นเหล่านั้นตามจริงว่า…
    การละฉันทะราคะ หรือ ละอุปาทาน ละความติดใจเพราะพอใจยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นนั่นแล คือ อุบายสลัดออกจากความคิดเห็นเหล่านั้น



    [​IMG]


    ดังนั้น ในเวลานี้ พวกเรา อันหมายถึงภิกษุณีทั้ง 5 รูป ณ สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม จึงเป็นเพียงผู้ขอ เป็นผู้อาศัยพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นผู้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด ที่เพียรปฏิบัติตามพระธรรมและพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วตามกำลังสติ ปัญญา คือ เพียรรักษาศีล 43 ข้อ ทั้งจุลศีล 26 มัชฌิชศีล 10 และมหาศีล 7 เพียรสำรวมระวังในภิกขุณีปาฏิโมกข์ 311 ข้อ และ ครุธรรม 8 เพียรเจริญอริยมรรคมีองค์8เพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง เท่านั้น
    ♦♦♦
    สรุป สถานการณ์ภิกษุณี
    อายาโกะ อิตโตะ นักวิจัยชาวญี่ปุ่น​
    หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว เราสามารถสืบค้นหลักฐานเกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์ในจดหมายเหตุของศรีลังกาชื่อ”ทิพวังสา” (Dipavamsa) ซึ่งมีบันทึกว่า.. การสืบสายของภิกษุณีสงฆ์นั้นได้ไปถึงศรีลังกาโดยท่านพระนางสังฆมิตตาอรหันตเถรี ซึ่งพระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยการทูลเชิญของกษัตริย์เทวานัมปิยติสสะแห่งศรีลังกา ภายหลังที่พระมหินทอรหันตเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เดินทางมานยังเกาะลังกาเพื่อประกาศธรรมให้แก่พระองค์จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
    พระนางสังฆมิตตาเถรีได้นำกิ่งโพธิ์ เดินทางมาพร้อมกับคณะภิกษุณี จากนั้นท่านได้ทำพิธีอุปสมบทภิกษุณีให้แก่พระนางอนุฬาเทวี พร้อมทั้งบริวารอีกหนึ่งพันคน ณ ประเทศศรีลังกาซึ่งถือเป็นครั้งแรก<SUP>1</SUP>
    ปัจจุบันนี้ นักวิจัยได้ประมาณการสูญหายไปของภิกษุณีสงฆ์เถรวาทในศรีลังกา ในช่วงปีศตวรรษที่ 10-13 ตามที่หลักฐานที่บันทึกลงในแท่นหินและใบลาน การสืบสายภิกษุณีมหายานที่ภิกษุณีศรีลังกานำไปสู่ เมืองหนานจิงในประเทศจีน<SUP>2</SUP> เมื่อปี พ.ศ. 969 และ 976 สืบสายอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีและเวียดนาม ตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
    สำหรับในประเทศไทย ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถยืนยันถึงการมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ในนิกายใดๆ<SUP>3</SUP> แต่ในศตวรรษที่ 20 เราได้พบบันทึกของการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2471 – 2473 คุณสาระและคุณจงดี ลูกสาวของนายนรินทร์กลึง พร้อมด้วยสตรีอีก 6 คน ได้บรรพชาเป็นสามเณรี เหตุการณ์นี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและมหาเถรสมาคม เพราะเหตุนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. พ.ศ. 2471 สมเด็จพระกรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ได้ออกกฎหมายห้ามภิกษุและสามเณรบวชผู้หญิงให้เป็น ภิกษุณี สามเณรีหรือสิกขมานา
    ในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2541 ภิกษุสงฆ์ศรีลังกาเริ่มทำพิธีอุปสมบทภิกษุณีตามพระวินัยฝ่ายเถรวาท ให้กับผู้หญิงชาวพุทธทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดียและศรีลังกาเป็นประเทศสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2541 โดยการร่วมมือของภิกษุและภิกษุณีมหายาน ( ตามที่มีในวินัยธรรมกุปตะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสงฆ์ฝ่ายมหายาน ในประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีและเวียดนาม<SUP>4</SUP>)
    ในปีพ.ศ.2544 ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรีในประเทศศรีลังกา และได้อุปสมบทในปีพ.ศ.2546 ในประเทศศรีลังกา การอุปสมบทครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของการอุปสมบทภิกษุณีชาวไทยในฝ่ายเถรวาท ซึ่งยังไม่ได้เป็นการยอมรับจากมหาเถรสมาคมของประเทศไทย ว่าเป็นเถรวาทเพราะได้รับการสืบสายการอุปสมบทภิกษุณีมาจากมหายาน หลังจากนั้น ผู้หญิงไทยหลายๆคนออกไปที่ศรีลังกา เพื่อจะได้รักษาพระวินัยของภิกษุณี ปัจจุบันนี้มีภิกษุณีเถรวาท 19 รูป และสามเณรีเถรวาท 27รูป ที่บวชจากศรีลังกา และกลับมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่แผ่นดินไทย (สำรวจเมื่อ ส.ค.51 ซึ่งข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
    หมายเหตุ ถ้าคุณต้องการข้อมูลเพิ่ม กรุณาติดต่อ ayakoitoh0420@gmail.com
    ______________________________
    <SUP>1</SUP> “ทิพวังสา”(Dipavamsa) แปลโดย เฮอร์แมน โอลเดิร์นเบิร์ก(Hermann Oldernberg) Asia Education Series, 2001
    <SUP>2</SUP> ประวัติชีวิตของนักบวชสตรีชาวพุทธ (Biographies Of Buddhist Nuns) เขียนโดย เปา-ชัง(Pao-chang) แปลโดย หลี จุง ฉี, Osaka, Tohokai, 1981.
    <SUP>3</SUP> แม้แต่วัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่มีอุโบสถที่ชื่อว่า อุโบสถสองสงฆ์ ซึ่งได้เชื่อกันว่ามันได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงของพระแสนเมืองมา(พ.ศ. 1931- 1954) และได้ทำการซ่อมแซมโดยกษัตริย์ กวีละ ในปี พ.ศ. 2355 ในเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่โดยกรมศิลปกร กล่าวว่า อุโบสถแห่งนี้เคยเป็นที่ทำสังฆกรรม และมีทางเข้าสองทางสำหรับสงฆ์สองฝ่าย คือ ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ (หน้า 13 วัดพระสิงห์วรวิหาร) แต่ไม่มีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ว่าเคยมีภิกษุณีทำสังฆกรรมที่อุโบสถนั้น สถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส (Ecole francaise d’Extreme Orient) กำลังแปล ตำนานที่ชื่อว่า “นางสินธุระ ภิกขุณี” และ “นางภิกขุณี” ที่เก็บรักษาในวัดเชียงมั่น และวัดป่าสักน้อย ตำนานนี้มีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านชื่อว่า “กูย” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหมู่บ้านจีนโบราณ แต่ในขณะนี้ สถาบันไม่สามารถประมาณวันที่ของตำนานหรือตำแหน่งที่ตั้ง ของหมู่บ้านกูยได้ ดังนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าภิกษุณีในตำนานอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทย
    <SUP>4</SUP> ตามที่มีอยู่ในการวิจัยของภิกษุณี ธัมมนันทา ที่ได้มีการเปรียบเทียบภิกษุณีวินัยฝ่ายเถรวาทและภิกษุณีวินัยธรรมกุปตะ(นิกายที่ภิกษุณีจีนนับถือและปฏิบัติตาม) ข้อปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วเหมือนกันแต่มีข้อแตกต่างเพียงสิ่งเดียว คือในธรรมกุปตะวินัยเพิ่มขึ้นอีก 25 ข้อ สำหรับภิกษุณี ปัจจุบันนักวิจัยหลายคนเชื่อว่าธรรมกุปตะวินัยเป็นนิกายหนึ่งของสายเถรวาท

    การอุปสมบทเป็นภิกษุณี ในสงฆ์ 2 ฝ่าย
    ของคณะสามเณรี 5 รูป สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม
    เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2551 ณ ประเทศศรีลังกา​


    [​IMG]


    การอุปสมบทฝ่ายภิกษุสงฆ์


    ณ วัด Saddharmakara อำเภอ Kaluthara เมือง Panadura ประเทศศรีลังกา
    • - พระอุปชฌาย์ ฝ่ายภิกษุ :
    1. ภิกษุ Mettananda มหาเถระ จากหมู่บ้าน Thalalle


    เป็น อธิกรณสังฆนายกของภาคตะวันตก และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัพระพุทธศาสนา Saddharmakara และเป็นเจ้าอาวาสวัด Thapodanaramaya ที่เมือง Mount Lavinia
    • - พระกรรมวาจาจารย์ ฝ่ายภิกษุ :
    1. ภิกษุ Amugoda Soma มหาเถระ เป็นรองสังฆนายกภาคใต้และ อาจารย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัย Saddharmakara อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนธรรมะ Sri Seelananda
    2. ภิกษุ Kalupahana Piyarathana เถระ
    การอุปสมบทฝ่ายภิกษุณีสงฆ์


    [​IMG]




    ณ สำนักปฏิบัติธรรม Sakhyadita อำเภอ Kaluthara เมือง Panadura ประเทศศรีลังกา
    • - พระอุปชฌาย์ ฝ่ายภิกษุณี : ภิกษุณี Khemachari
    • - พระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุณี :
    1. ภิกษุณี Dhamanandani


    2. ภิกษุณี Vijithananda เจ้าสำนักฯ Sakhyadita
    • - อาจาริณี : ภิกษุณี Sumitra จากวัด seelavasa หมู่บ้าน Padukke
    ♦♦♦​


    พระภิกษุณี นันทญาณี (รุ้งเดือน สุวรรณ)


    [​IMG]


    อายุ 54 ปี เกิด 24 เม.ย. 2497 ( แต่ในบัตรประชาชน ลงวันเกิด 24 ก.ย. 2497เนื่องจากมีข้อผิดพลาดในระหว่างการทำบัตร )
    การศึกษา ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
    ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ นิโรธาราม และ เป็นผู้อบรมสั่งสอนธรรมะศิษย์ ทั้งในและนอกสำนักฯ
    ♥♥♥
    ภิกษุณี ปัญญาวรี (วิลาวัลย์ คุ้มสิงห์คำ)


    [​IMG]



    อายุ 59 ปี เกิด 29 พ.ย. 2492 ภฺมิลำเนา จ.เชียงราย อาชีพเดิม ค้าขาย ก่อนอุปสมบท เป็นแม่ชี กว่า 20 ปี
    บวชทำไม
    เพื่อทดแทนคุณครูบาอาจารย์ภิกษุณีนันทญาณี ที่ได้ให้ความเมตตาสั่งสอนอบรมาเป็นเวลานาน และได้ทราบว่า ศีล 311 ข้อของภิกษุณีส่วนใหญ่ ก็ได้ฝึกปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว จึงมีความคิดอยากฝึกฝนตนเองให้มากขึ้นตามพระวินัยของพระพุทธเจ้าและมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา
    ชีวิตภิกษุณีดีอย่างไร
    ได้ฝึกสำรวมระวังควบคุมจิตใจให้ห่างไกลกิเลสตามกรอบของพระธรรมวินัยมากขึ้นและ การเป็นภิกษุณียังได้ฝึกความเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างแก่ผู้หญิงที่ต้องการประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามรอยพระพุทธเจ้า
    ♥♥♥
    ภิกษุณี สัทธาสิริ (พรทิพย์ หน่อคำ)


    [​IMG]

    อายุ 50 ปี เกิด 26 ธ.ค. 2500 ภฺมิลำเนา จ.ลำปาง
    จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
    อาชีพเดิม รับราชการ ก่อนอุปสมบท เป็นแม่ชี 9 ปี
    บวชทำไม
    ต้องการบรรลุอรหัตตผล มุ่งสู่ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นความไม่รู้อริยสัจ 4 โดยสิ้นเชิง และเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณอันหาประมาณมิได้ของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ และตอบแทนพระคุณท่านพระอาจารย์ภิกษุณีนันทญาณี ที่ได้ให้ชีวิตใหม่ บนหนทางอันประเสริฐยิ่งในอริยมรรคมีองค์ 8 ได้มีโอกาสฝึกฝนตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้คบคนดีมีศีลธรรม ได้ฝึกฝืน ฝึกฝนให้เห็นถูกในอริยสัจ 4 คิดถูก พูดถูก กระทำทางกายถูก เลี้ยงชีพถูก มีสติระลึกรู้ถูก สมาธิถูกต้องชอบธรรม ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
    มีความมั่นใจในหนทางเส้นนี้ว่าต้องถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงได้แน่นอน เพราะจาก 12 ปี ที่ได้เพียรอดทน ฝึกกำจัดกิเลส โดยมีครูบาอาจารย์คอยพร่ำสอน ตักเตือนชี้แนะ ชี้โทษแล้วชี้โทษอีก และเพียรเดินให้ตรงมรรค ก็พบว่า ณ ปัจจุบันนี้ ชีวิตมีความสุขมากขึ้นๆ จิตปลอดโปร่ง โล่ง สบาย
    ชีวิตภิกษุณีดีอย่างไร
    ได้ศึกษาและประพฤติตามพระวินัยของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายจากนิทานต้นบัญญัติ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาและได้วางหลักเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของนักบวชผู้หญิง ให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข อันเป็นเหตุปัจจัยให้จิตสงบ เป็นสมาธิเพื่อถึงซึ้งความสิ้นอาสวะได้ง่ายขึ้น
    ♥♥♥
    ภิกษุณี ปันนภารี (สุกานดา สุวรรณวิสารท)


    [​IMG]


    อายุ 36 ปี เกิด 27 เม.ย. 2515 ภฺมิลำเนา กรุงเทพฯ
    จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    อาชีพเดิม แพทย์ ก่อนอุปสมบท เป็นแม่ชี 8 ปี
    บวชทำไม
    เพื่ออาศัยการปฏิบัติตามพระวินัยของภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งในการช่วยขัดเกลากิเลสได้มากขึ้น เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ชีวิตภิกษุณีดีอย่างไร
    ช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้เพียรรักษาศีลตามพระวินัยของภิกษุณี 311 ข้อ พบว่า ศีลช่วยป้องกันกิเลสที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ช่วยละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้ครอบงำได้นาน และทำให้เกิดสติปัญญามากขึ้น เป็นผลให้จิตใจสุข สงบเย็นมากขึ้น
    ♥♥♥
    ภิกษุณี วรทินนา ( แน่งน้อย พัวพันธ์ )


    [​IMG]

    อายุ 47 ปี เกิด 5เม.ย.2504ภฺมิลำเนา จ.เชียงใหม่
    จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี
    อาชีพเดิม พนักงานบริษัท ก่อนอุปสมบท เป็นแม่ชี 9 เดือน
    บวชทำไม
    1. เพราะเห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องการกลับมาเกิดอีก ต้องการกำจัดกิเลสโดยประพฤติพรหมจรรย์อันเป็นการดำเนินชีวิตอันประเสริฐยิ่งในอริยมรรคมีองค์ 8 ตามรอยพระพุทธเจ้า
    2. ชีวิตชาวบ้านไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้สะดวก
    3. คิดว่า ศีลยิ่งมาก (พระวินัยของภิกษุณี 311 ข้อ) กิเลสยิ่งลด ยิ่งทำให้ศีล สมาธิ ปัญญาเจริญขึ้นมากกว่าการรักษาศีลเล็กน้อย และยิ่งทำให้สำรวมระวังในการดำเนินชีวิตตามรอยพระพุทธเจ้า
    4. เพื่อทำให้พุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าครบองค์ 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
    ชีวิตภิกษุณีดีอย่างไร
    เป็นชีวิตที่ประเสริฐเพราะอยู่ในกรอบของศีล 311 ข้อ ทำให้ได้สำรวมระวังมากขึ้น ป้องกันกิเลสได้มากขึ้น ทำให้จิตใจสงบเย็นมากขึ้น และเห็นความจริงของชีวิตว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด

    ♦♦♦ ขอ ทุกท่านเจริญในธรรม ♦♦♦

     
  2. สุทธิมา

    สุทธิมา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2010
    โพสต์:
    784
    ค่าพลัง:
    +2,119
    อนุโมทนาสาธุ
    กราบนมัสการภิกษุณีทุกท่านด้วยเศียรเกล้า
    ขอทุกท่านบรรลุมรรคผลนิพพาน ดังมุ่งหมาย
    สืบต่ออายุศาสนาต่อไป ตราบนานเท่านาน
     
  3. จงรักภักดี

    จงรักภักดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,229
    ค่าพลัง:
    +2,466
    อนุโมทนาสาธุ

    ขอกราบนมัสการพระภิกษุณีทุกท่านด้วยความเคารพ
     
  4. Tom & Jerry

    Tom & Jerry เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    294
    ค่าพลัง:
    +536
    เคยรู้สึกไม่ค่อยศรัทธากับภิกษุณีเท่าไหร่ เพราะเคยได้ข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ยอมรับภิกษุณีในไทย โดยคณะภิกษุณีและสตรีกลุ่มหนึ่ง จากรายการทีวีหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ทีท่าและบุคลิกที่เสนอผ่านสื่อทีวีออกมาในลักษณะประท้วงน้อยๆ และดูจะเรียกร้องจนเกินงาม
    แต่หลังจากที่ได้อ่านบันทึกของท่านภิกษุณีนันทญานีแล้ว รู้สึกเลื่อมใสศรัทธามาก ความรู้สึกที่ไม่ดีได้หมดไป เพราะได้รับรู้ถึงแนวความคิดและวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดน่านับถือของภิกษุณีคณะนี้ โดยที่ไม่ต้องมาเรียกร้องถามหาการยอมรับจากสังคม ท่านมีแต่ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่แหละ พระภิกษุณีที่แท้จริง ผู้เห็นภัยของวัฏฏสงสาร
    ขออนุโมทนากับภิกษุณีคณะนี้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และตั้งใจไว้ว่าจะไปทำบุญที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้แน่นอน
    โมทนา...สาธุ
     
  5. suthipongnuy

    suthipongnuy ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    661
    ค่าพลัง:
    +1,428
    ผมไม่รู้อะไรผิด อะไรถูก แต่ถ้าท่านเหล่านั้นมีศีลสูงกว่าผม ผมก็ยอมรับนับถือ :cool:





    (ปล.ศีล 5 ผมก็ยังรักษาไม่ได้ครับ ... อิอิ )
     

แชร์หน้านี้

Loading...