ภาวนา(๒) จิต-ใจ...หลวงปู่เทศก์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย Kob, 20 ตุลาคม 2005.

  1. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ภาวนา(๒) จิต-ใจ



    พวกเราจงทำความดีกันต่อไป อุตสาหะ วิริยะ พากเพียร ให้มันถึงที่สุดตามความสามารถของเรา จงนั่งภาวนากันอีกต่อไป ใครจะภาวนาอย่างไรก็เอาเถอะ บริกรรมเบื้องต้นจะเอาสัมมาอรหัง หรือ อานาปานสติ หรือจะยุบหนอพองหนอก็ตามใจ คือว่า หัดเบื้องต้นให้มันชำนิชำนาญทางไหนก็เอา เมื่อจิตรวมเป็นสมาธิแล้วมันจะวางคำบริกรรมเองหรอก คำบริกรรมเป็นเครื่องล่อ เครื่องอ่อยให้จิตเข้ามาอยู่ในบริกรรมเท่านั้นแหละ ถ้าหากไปยึดเอาคำบริกรรมนั้นถ่ายเดียวไม่รู้เรื่องของจิต จิตไปอยู่นั้นก็เลยเข้าใจว่าคำบริกรรมนั้นเป็นจิต ไปนึกแต่คำบริกรรมนั้นอยู่ไม่แล้วสักที จิตมันก็ไม่รวมลงเป็นสมาธิ บางคนเมื่อจิตรวมลงเป็นสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ววางคำบริกรรมเสีย เข้าใจว่าจิตเสื่อมจากสมาธิ สมาธิถอนแล้ว ความจริงเมื่อจิตมันรวมแล้ว มันจะวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่คำบริกรรมก็วางหมด อันนั้นมันเข้าถึงจิตแล้ว ให้กำหนดเอาจิตนั้นจึงจะถูก มันมีสองอย่างคือ


    อย่างหนึ่ง เมื่อจิตรวมอยู่ในคำบริกรรมก็ไปยึดเอาคำบริกรรมนั้น บางคนเจ็บหัว ปวดสมอง เพราะไปยึดเอาตรงนั้น บางทีเอาคำบริกรรมไปกำหนดที่หัวใจ หรือ ปลายจมูก เมื่อจิตรวมก็เจ็บหัวใจ หรือ ปลายจมูกก็มี


    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อจิตรวมลงไปแล้ว มันทอดธุระปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันว่าง มันสบาย ให้เอาความว่างนั้นเป็นเครื่องอยู่ ให้พิจารณาความว่างนั้นอยู่ตลอดเวลา อย่าไปอยากรู้ อยากเห็น อย่าไปอยากเห็นโน่นเห็นนี่อะไรต่าง ๆ เลยจิตถอนอีก ให้อยู่กับความว่างนั้นเสียก่อน อยู่นานๆ ไม่ใช่อยู่วันสองวัน อยู่ตั้งเป็นปี ๙ ปี ๑๐ ปี ก็ให้มันอยู่อย่างนั้นเสียก่อนพิจารณาความว่างนั้นให้เข้าถึงจิตเดิม


    เรื่อง จิต กับ ใจ มันคนละอย่างกัน จิตอันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง แต่ท่านก็พูดว่าเหมือนกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้น ใจอันใดจิตอันนั้น แต่ทำไมถึงเรียกจิต เรียกใจ ทำไมจึงไม่เรียกอันเดียวกัน มันคงมีแปลกต่างกันอยู่ จะอธิบายให้ฟังถึงความแตกต่างของ จิต ของใจ


    ใจ เป็นผู้วางเฉยอยู่ที่เรียกว่า จิตฺตํ ปภสฺสรํ อาคนฺตุเกหิ กิเลเสหิ จิตเป็นของเลื่อมใสประภัสสรอยู่ตลอดเวลา ในที่นี้ท่านเรียกจิตไม่ได้เรียกว่าใจ บางคนว่า จิตเป็นประภัสสรเลื่อมใสอยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงต้องชำระ มันยังไม่ทันผ่องใสเต็มที่ มันผ่องใสเพียงจิตเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญา ปัญญามันอีกต่างหาก ทำใจให้ผ่องใสต้องใช้ปัญญานะซี เหมือนกับเพชรนิลจินดาที่เขาเอามาแต่ดินเป็นของใสจริงๆ แต่มันมีเศร้าหมอง ต่อเมื่อเจียระไนเสียให้ละเอียดลงไปมันจึงค่อยผ่องใสเต็มที่ ฉันใด ใจก็อย่างนั้นเหมือนกัน ใจผ่องใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา อาคันตุกะกิเลส คือจิตที่ไม่ได้รับการอบรมนั่นเอง ไปเกาะเกี่ยวพัวพันเอาอารมณ์ทั้งปวงหมดเข้ามาทำให้ใจมัวหมอง เหตุนั้นจึงว่า ใจคือของกลาง อย่างที่เราเรียกว่า ใจมือ ใจเท้า ใจไม้อะไรทั้งหมดถ้าเรียกใจแล้วต้องชี้เข้าใจกลางทั้งนั้น แม้แต่ใจคน หัวใจอยู่ตรงไหนล่ะต้องชี้เข้ามาท่ามกลางอก คือ แสดงถึงเรื่องของกลางนั่นเองที่เรียกว่าใจ ใจไม่ใช่อยู่ที่หัวใจแห่งเดียวอยู่ทั่วไปหมดทั้งร่างกาย ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า มันอยู่ทั่วหมด มันไม่อยู่ที่เก่าดอก มันมีความรู้สึกตรงไหนมีใจตรงนั้นแหละ ใจตัวกลางนี้ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เป็นของเฉยๆ ไม่มีอดีต อนาคต อยู่ปัจจุบัน ถ้าหากอยากจะรู้ตัวใจจริงๆ เรากลั้นลมหายใจลองดูก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ กลั้นลมสักพักหนึ่งเท่านั้นแหละ ในขณะนั้นไม่มีอะไร มันเฉย เพียงแต่รู้ว่าเฉย แต่ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เอ้า ภาวนากันต่อไป..
    <O:p</O:p

     

แชร์หน้านี้

Loading...