"ฟ้าเวียงอินทร์" วัดสองดินแดน

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 13 พฤษภาคม 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="100%"><TBODY><TR><TD>"ฟ้าเวียงอินทร์" วัดสองดินแดน

    คอลัมน์ บันทึกเดินทาง

    โดย เชตวัน เตือประโคน




    </TD><TD vAlign=top align=right>



    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    [​IMG]


    [​IMG]

    ยอมรับขนาดชายอกสามศอก ผู้เคยเดินผ่านการเป็นทหารมาอย่างผม ยังรู้สึกใจเต้นแรง

    ไม่มากก็น้อย ใครก็เถอะ หากต้องเผชิญหน้ากับคนถือปืนยืนจังก้า มีกล้องส่องทางไกล ส่องสำรวจตรวจตราอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น ไม่ใจเต้นแรง ไม่ระแวงตื่นกลัว ก็คงจะใจแข็งเกินมนุษย์ธรรมดาไปแล้ว ยิ่งเป็นทหารพม่า-ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ที่นับวันจะถูกนานาชาติทวงถามถึงสิทธิมนุษยชนด้วยแล้ว ยิ่งให้ตื่นตระหนกเป็นเท่าทวีคูณ

    ฝั่งนั้น ปืนไฟ ควันยังกรุ่น

    ฝั่งนี้ ดูเหมือนวิถีชีวิตของชาวบ้านจะยังคงดำเนินไปเป็นปกติ ยังมีแม่ค้าขายดอกไม้ ธูปเทียนบูชาพระ ยังมีพระจำวัด ทำวัตรเช้า-เย็น นักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีให้เห็น แปลกตาหน่อยก็แต่ทหารไทยที่อยู่ในชุดเสื้อยืดเขียวลายพราง (ลำลอง) หลังจากออกเวรยาม

    ใช่ ในอาณาบริเวณที่ผมพูดมานั้นคือ วัด

    วัดฟ้าเวียงอินทร์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า เรียกได้ว่าเป็นวัดแห่งเดียวของไทย ที่มีเขตแดนอยู่ในสองฝั่งประเทศ

    ทางฝั่งไทยนั้น วัดฟ้าเวียงอินทร์ตั้งอยู่ที่บ้านหลักแต่ง หมู่ 1 ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ทางฝั่งประเทศพม่าตั้งอยู่ที่ บ้านปางก้ำก่อ ต.ปางยาง อ.เมืองต๋น เขตรัฐฉาน

    ที่ดินที่ตั้งวัด วัดจากเขตประเทศพม่าเข้ามาทางฝั่งไทย (ยังไม่มีใครกล้าวัดจากเขตประเทศพม่าออกไป) มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือติดชายแดนพม่า ทิศใต้ติดบ้านหลักแต่ง ทิศตะวันออกติดถนนสายเมืองงาย-เปียงหลวง และทิศตะวันตกติดกับป่าเขา

    ผมเดินทางไปเยือนวัดฟ้าเวียงอินทร์ในวันที่ร้อนระอุ แดดบ่ายเมษายนแผดแสงแรงกล้ากว่าเดือนไหนๆ

    ตลอดทางที่รถป่ายปีนดอย เครื่องปรับอากาศในรถต้องพักการทำงานเพื่อชดเชยแรงม้าสำหรับการขึ้นสู่ที่สูง ทางคดเคี้ยวเลี้ยวลด สองข้างทางพบสนยืนต้นอยู่เป็นระยะ หากตั้งต้นการเดินทางที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เส้นทางที่ใช้คือออกมาทาง อ.แม่ริม-อ.แม่แตง-อ.เชียงดาว-อ.เวียงแหง

    นับหลักกิโลจากตัวอำเภอเวียงแหงมาถึงวัดฟ้าเวียงอินทร์ได้อีก 20 ต้น

    -------------
    Ref.
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01tra01130550&day=2007/05/13&sectionid=0139

    (จุดหนึ่งที่ต้องผ่านคือบ้านเปียงหลวง จะสังเกตว่า ณ ที่แห่งนี้จะคึกคักกว่าตัวอำเภอมาก)

    ทางเข้าสู่วัดฟ้าเวียงอินทร์นั้นแต่เดิมมีอยู่สองทาง คือ ฝั่งไทยที่บ้านหลักแต่ง และอีกฝั่งหนึ่งคือตรงด่านชายแดนประเทศพม่า ซึ่งเมื่อก่อนประชาชนก็ข้ามไปข้ามมาได้สบายใจ

    แต่วันนี้ด่านปิด ทหารพม่ารุกไล่ชาวไทยใหญ่ในเขตพื้นที่รัฐฉานจนต้องถอยร่นมา มีการตรึงกำลังตามแนวชายแดน เผชิญหน้ากับทหารไทยที่ตั้งป้อมปราการไว้อีกฝั่ง ทางขึ้นทางด้านนี้จึงถูกเลิกใช้ไป

    บางคนอาจตั้งข้อสงสัย ในเมื่อสถานการณ์ยังเป็นอย่างที่ว่ามา แล้วใครจะกล้าไปเยือนวัดแห่งนี้?

    จริงอยู่ ถึงตอนนี้ทั้งสองฝั่งจะยังมีทหารตรึงกำลัง แต่ทว่าการปะทะกันนั้นไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแล้ว ต่างคนก็ต่างอยู่ ต่างคนก็ต่างดำเนินชีวิตกันไป ชาวบ้านที่บ้านหลักแต่งซึ่งทั้งหมดเป็นชาวไทยใหญ่ ก็ยังคงไปทำบุญทำทานที่วัดเป็นปกติ

    วัดฟ้าเวียงอินทร์เองก็มีการจัดกิจกรรมอบรม คุณธรรมจริยธรรมต่างๆ ตลอดจนประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเหมือนวัดทั่วไป

    ทางฝั่งไทย (แน่นอนทางฝั่งพม่าไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม) ชาวต่างชาติที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล ต่างตื่นตาตื่นใจกับภาพ (ของทหารและวัด) ที่เห็น และพวกเขาก็ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี ดีพอที่จะไม่หันหน้ากล้องไปทางฐานที่มั่นของทหารพม่า

    อาจจะเป็นเช่นเดียวกันกับผม คือ มีคนเตือนตั้งแต่แรกมาแล้วว่า "ห้ามถ่ายรูปทหารพม่าเด็ดขาด" แต่สารภาพตามตรง ผมพยายามแอบลั่นชัตเตอร์อยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่ภาพที่ได้มันดูไม่ได้เอาเสียเลย

    แดดยามเที่ยงวันสาดแสงเปรี้ยงเหมือนปืน (ตามภาษาเขียน)

    ผมกวาดตามองทั่วลานวัด พร้อมๆ กับเงี่ยหูฟังใครบางคนเล่าที่ไปที่มาของวัดนี้อย่างสนใจ และพอได้กลับมาอ่านเอกสารเท่าที่พอหาได้เพิ่มเติม (พนันได้เลยว่าไม่มีข้อมูลใน Google) ก็เริ่มรู้สึกได้ถึงความขรึมขลังของวัดนี้ขึ้นมาทีละนิดๆ เข้าให้แล้ว...

    ย้อนเวลากลับไป...

    ในปี พ.ศ.2511 นายพลโมเฮง หรือที่ชาวไทยใหญ่เรียก เจ้ากองเจิน ชนะศึก ประธานกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งกองกำลังต่อสู้กับพม่าโดยมีฐานที่มั่นที่บ้านเปียงหลวง

    ทางเดินทัพจากรัฐฉานมายังบ้านเปียงหลวง ต้องผ่านบ้านหลักแต่ง ครานั้นเองที่ผู้นำของชาวไทยใหญ่ท่านนี้ได้พบกับซากเจดีย์เก่าร้าง

    เมื่อเห็นว่าที่ซึ่งเป็นวัดฟ้าเวียงอินทร์ในปัจจุบันนั้นมีซากเจดีย์อยู่ เจ้ากองเจิน ชนะศึก จึงสันนิษฐานว่าพื้นที่นี้น่าจะเคยเป็นวัดที่พระนเรศวรมหาราชได้มาสร้างไว้ สมัยที่พระองค์ยกทัพมาปราบปรามข้าศึกที่รุกรานประเทศไทย ซึ่งน่าจะพร้อมๆ กับการสร้างพระบรมธาตุแสนไห อันเป็นที่สักการบูชาของชาวอำเภอเวียงแหงอีกแห่งหนึ่ง

    กล่าวเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ทรงเป็นที่เคารพของชาวไทยใหญ่และไทยสยามเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านแถบนี้หลายคนมีเหรียญพระนเรศวรห้อยคอ และที่วัดฟ้าเวียงอินทร์แห่งก็มีอนุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐานอยู่ด้วย

    กลับมาที่เจ้ากองเจิน ชนะศึก และเรื่องราวของวัดที่น่าทึ่ง...

    ความที่เป็นคนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำให้ในปีเดียวกันนี้เอง เจ้ากองเจินได้สร้างวัดฟ้าเวียงอินทร์ขึ้น พร้อมๆ กับการบูรณะเจดีย์ร้างที่พบ เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งได้มาร่วมทำบุญกัน

    ดังนั้น ในวันสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา ภาพที่ปรากฏก็คือ ประชาชนจากทั้งฝั่งไทยและพม่ามาร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น โดยปราศจากความรู้สึกว่าเป็นคนละชนชาติ

    และที่สำคัญ วัดฟ้าเวียงอินทร์แห่งนี้ก็ได้จัดให้มีการสอนภาษาไทย ภาษาไทยใหญ่ ภาษาบาลี และวิชาความรู้อื่นๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนที่เป็นบุตรหลานของทั้งสองฝั่งอยู่บ่อยครั้ง

    จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ในการก่อสร้างวัดฟ้าเวียงอินทร์ของเจ้ากองเจิน ชนะศึก นั้นมีเหตุผลสำคัญสองประการคือ

    1.เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งพม่า

    2.เพื่อเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่เด็กขาดโอกาส ที่พ่อแม่ถูกรักแกโดยทหารพม่าในเขตรัฐฉาน ที่ซึ่งประชาชนชาวไทยใหญ่ได้อพยพมาอาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนแถบนี้

    ท่ามกลางแดดที่แผดแรง ผมเดินสำรวจจนทั่วบริเวณวัด พบว่า...

    สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญทางฝั่งไทยประกอบด้วย วิหาร หอสวดมนต์ ซึ่งมีรูปทรงไต (ไทยใหญ่) ผสมยุโรป ฝาผนังก่ออิฐถือปูน โครงหลังคาทำด้วยไม้ยกเป็นสองชั้นยอดฉัตร 5 ยอด และมุขซุ้มประตูทางเข้าวิหารมียอดฉัตร 3 ยอดทั้งสี่ทิศ พื้นปูปาร์เก้ต์ มีพระประธานปางปฐมเทศนาศิลปะไทยใหญ่ ศาลาหอฉันโรงครัว และกุฏิสงฆ์ที่สร้างเรียงรายอยู่อีกประมาณ 15 หลัง

    และทางฝั่งพม่า (ที่ผมไม่กล้าเข้าไปสำรวจ) สิ่งปลูกสร้างสำคัญประกอบด้วย อุโบสถทรงไต (ไทยใหญ่) มียอดฉัตร 7 ชั้น และโรงเรียนวัดพระปริยัติธรรม ซึ่งปัจจุบันทหารพม่าใช้เป็นที่ตั้งฐานกองกำลัง

    ถ้าจะจัดวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ธรรมดาที่จะต้องมีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่น หรือเรียกว่าเป็นหน้าเป็นตา เป็นจุดถ่ายรูปไว้ให้เอาไปอวดเพื่อนฝูงเพื่อยืนยันว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาเยือน สิ่งที่ผมพูดถึงนั้นสำหรับวัดฟ้าเวียงอินทร์แห่งนี้น่าจะเป็น "มาระชินะเจดีย์" หรือที่ชาวไทยใหญ่เรียกว่า "กองมูแหลนหลิน"

    "แหลน" ในภาษาไทยใหญ่ หมายถึงเขตแดน หรือชายแดน

    และในชื่อภาคภาษาไทย เหตุที่ใช้ว่า "มาระชินะเจดีย์" ก็โดยอิงมาจากครั้งเหตุการณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ แล้วมีมารมาผจญ พระองค์ต้องใช้บารมี 10 ทิศ ปราบพญามาร จนพญามารต้องพ่ายแพ้ไป แล้วพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญต่อ จนได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นเอง

    ว่ากันว่าถ้ามาอำเภอเวียงแหงแล้วไม่ได้มาเยือนวัดฟ้าเวียงอินทร์ ก็เหมือนกับมาไม่ถึง

    จริงเท็จประการใดผมไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ สำหรับผม ตลอดการเดินทางเที่ยวชมศาสนสถานแห่งนี้ ความรู้สึกหลากหลายประเดประดังเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ตื่นเต้น หวาดระแวง หวั่นวิตก อัศจรรย์ใจ ฯลฯ เรียกได้ว่าครบทุกรสชาติทีเดียว

    ความทุกข์ทรมานจากการเดินทางอันแสนสาหัสราวกับหายไปเป็นปลิดทิ้ง

    ยิ่งเมื่อตอนก่อนจะออกจากอาณาบริเวณวัดมา ได้เห็นรอยยิ้มของพระเณรที่จำพรรษาอยู่ มันทำให้ผมลืมไปเลยว่า

    ใกล้ๆ กันนั้น มีคนถือปืนและส่องกล้องมองดูอยู่ด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2007
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    :cool:
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...