พุทธศาสนา กับ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ ๕

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 30 มกราคม 2010.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    ตอนที่ ๕
    สำหรับ มรรค อันมีองค์ 8 หรือหนทาง หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในทางพุทธศาสนานั้น มีองค์ประกอบ 8 ประการ มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ดังต่อไปนี้.-
    ดำริชอบ ในข้อมรรคทางพุทธศาสนานั้น หมายถึง ความคิดออกจากกาม ความคิดในอันไม่พยาบาท ความคิดในอันไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่น คำว่า กาม นั้นหมายถึง “ความใคร่ หรือ ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่, กามมี ๒ คือ ๑.กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่ ๒.วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่” (พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับเจ้าคุณธรรมปิฎก) ดังนั้น ความคิดใดใด ย่อมต้องประกอบไปด้วยความรู้ ความเข้าใจว่า อะไรเป็นความใคร่ หรือความอยาก อะไรคือสิ่งที่ต้องการ อะไรคือสิ่งที่มุ่งหมาย หรือยากได้ สิ่งเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ในทางสังคมทั่วๆไปเรียกว่า ปัจจัยสี่ อันได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม,ที่อยู่อาศัย,อาหาร,และยารักษาโรค เป็นพื้นฐานอันดับแรก และยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆซึ่งเป็นวัตถุที่อยากได้หรือต้องการจะมี ตามยุคกระแสโลกาภิวัตน์ การที่บุคคลจะมี ปัจจัยสี่ได้อย่างครบถ้วน ก็ยังต้องอาศัยปัจจัยทางสังคม เช่นการมีงานทำ การประกอบการ ประกอบอาชีพ ฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในการซื้อหา ปัจจัยสี่และเครื่องอำนวยความสะดวก ความคิดที่จะต้องการในปัจจัยสี่และอื่นๆย่อมเป็นไปตามค่านิยมของสังคมนั้นๆ แต่ถ้าหากความคิดความต้องการเหล่านั้น เป็นความคิดความต้องการตามหลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อันอยู่ในข้อความพอประมาณ คือพอดี ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ก็ย่อมเป็นความคิด ที่เปรียบเป็นเหมือนกับ ดำริชอบ คือ ความคิดที่จะออกจากกาม ความคิดในอันไม่พยาบาท ความคิดในอันไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่น เมื่อความคิดเกิดขึ้นแล้วว่าควรใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต หรือประกอบการ หรือดำเนินการ ฯ สัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ก็เกิดขึ้น
    เพราะ สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นชอบ ตามทำนองคลองธรรม เห็นชอบตามหลักธรรมชาติ เห็นชอบตามความเป็นจริงในสังคม ในครอบครัว ในชุมชน จนไปถึงระดับรัฐ เห็นชอบในการผลิตหรือบริโภค อันต่อเนื่องมาจากดำริชอบหรือความคิด เช่นเมื่อบุคคลมีความคิดดีแล้วว่าจะดำเนินการ หรือกระทำตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ก็ย่อมเกิดความเห็นชอบในคุณลักษณะรวมกัน 3 ประการของแนวคิดฯ คือ ความพอดี ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว อันเป็นความเชื่อมโยง ไปสู่การระลึกชอบ หรือสัมมาสติ
    สัมมาสติ หรือ ระลึกชอบ หมายถึงการนึกถึงหรือคิดถึงหรือพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เท่าทันในความเป็นจริง กำกับดูสิ่งต่าง ๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส (ถอดความจากพจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับเจ้าคุณธรรมปิฎก) อันเป็นสิ่งที่เกิดต่อเนื่องจากความเห็นชอบ หรือสัมมาทิฎฐิ นั่นย่อมหมายความว่า บุคคลใดใด ย่อมต้องมีความคิดถึงหรือนึกถึง ความรู้ในหลักวิชาการ ประสบการณ์ ในด้านต่างๆ สามารถใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจของระดับความพอดี โดยต้องพิจารณาจากสภาพหรือสถานการณ์ตามความเป็นจริงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนต้องคิดถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม หรือการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ อีกทั้งยังเป็นเงื่อนไขทางด้านความรู้อย่างหนึ่งที่จักต้องระลึกนึกถึงให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือใช้ร่วมกันได้ อันจักทำให้เกิดมี จิตตั้งมั่นชอบ
    สัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นชอบ มีความหมายในทางพุทธศาสานาว่า มีสมาธิ ตามแนวฌาน ๔ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นั่นหมายความว่า บุคคลใดใด เมื่อมีความคิด ความเห็น ความระลึกนึกถึง ก็ย่อมต้องเกิดมี การไตร่ตรอง พิจารณา สอบสวน, ตรวจตรา, คิดการ, กะการ, จัดเตรียม, จัดแจง, ดูแล, จัดดำเนินการ แล้วก็เกิดความสำราญ หรือสบายใจ แล้วจึงมีความแนวแน่อยู่ในอารมณ์เดียว คือสมาธิ(คัดความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับพระธรรมปิฎก) ไม่ฟุ้งซ่าน จิตตั้งมั่นในอันที่จะกระทำ จิตตั้งมั่นในอันที่จะแก้ปัญหา จิตตั้งมั่นในอันที่จะพิจารณาความรู้ในด้านต่างๆให้เกิดความเข้าใจ ในการที่จะดำเนินกิจกรรมใดใดตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามคุณลักษณะทั้ง 3 ประการได้อย่างสำเร็จครบถ้วน แต่ในการดำเนินกิจกรรม ในการกระทำ ในการประกอบการ ในการประกอบอาชีพ ล้วนต้องมีการติดต่อสื่อสาร หรือการเจรจาติดต่อซึ่งกันและกัน เมื่อบุคคลเกิดมีจิตตั้งมั่นชอบแล้ว การเจรจาติดต่อซึ่งกันและกันในทางที่ชอบก็เกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดมี การไตร่ตรอง พิจารณา สอบสวน, ตรวจตรา .คิดการ, กะการ, จัดเตรียม, จัดแจง, ดูแล, จัดดำเนินการ ตามหลักจิตตั้งมั่นชอบแล้ว การผลิต การบริโภค การประกอบการ การดำเนินกิจกรรม ล้วนต้องอาศัยการเจรจาเพื่อติดต่อสื่อสารในการดำเนินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษา หารือ ระดมสมอง วางแผน
    สัมมาวาจา หรือเจรจาชอบ หมายถึง เว้นจากการประพฤติชั่วด้วยวาจา, ประพฤติชั่วทางวาจามี ๔ อย่างคือ ๑.มุสาวาท พูดเท็จ ๒.ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๓.ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๔.สัมผัปปลาป คือ พูดเพ้อเจ้อ, พูดเหลวไหล, พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผลไร้สาระ ไม่ถูกกาลถูกเวลา(พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับเจ้าคุณธรรมปิฎก) เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจกรรม ในการประกอบการ ในการทำงาน เป็นเงื่อนไขคุณธรรมด้านหนึ่งในการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อบุคคล มีความคิด มีความเห็น มีการระลึกนึกถึง มีจิตตั้งมั่น และมีการติดต่อสื่อสาร ที่ดีแล้ว ก็ย่อมต้องมีการกระทำ ตามความคิด ความเห็น การระลึกนึกถึง ด้วยจิตตั้งมั่นและมีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน อันเรียกตามหลักพุทธศาสนาว่า สัมมากัมมันตะ
    สัมมากัมมันตะ คือ ทำการชอบ หรือการงานชอบ กระทำการไปด้วยความสุจริต ไม่ประพฤติชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม อันเป็นเงื่อนไขคุณธรรมซึ่งย่อมเป็นปัจจัยในการดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการประพฤติชั่วทางกายที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรม หรือเป็นตัวถ่วงไม่ให้ถึงซึ่งความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียง
    การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น จักทำให้บุคคลกระทำในสิ่งที่เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในข้อ มรรค ตามหลักอริยสัจสี่
    สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด เช่น โกงเขาหลอกลวง สอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ ค้าคน ค้ายาเสพติด ค้ายาพิษ เป็นต้น นั่นก็ย่อมหมายความว่า บุคคล หรือกลุ่ม หรือชุมชน หรือรัฐ หากได้ตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียงแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกิจกรรมที่สรรค์สร้างความดีงามให้กับจิตใจ สรรค์สร้างความพออยู่พอกิน พอใช้ ให้กับบุคคลนั้นๆ กลุ่มนั้นๆ ชุมชนนั้น หรือรัฐนั้นๆ อีกทั้งยังสรรค์สร้าง ความเป็นพลเมืองที่ดี ไม่กระทำผิดกฏหมาย ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมหรือชุมชน ไม่กระทำผิดศีลธรรมอันดี โดยอัตโนมัติ เพราะการดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ก่อให้เกิดศีล และธรรมะในจิตใจของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังสรรค์สร้างความสมัครสามัคคีให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับรากฐานจนถึงระดับรัฐ แต่การดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะสำเร็จหรือบรรลุผลตามความมุ่งหมายหรือไม่ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ปัจจัยอันสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมฯ ก็คือ สัมมาวายามะ หรือ ความเพียรชอบ
    ความเพียรที่ชอบเป็นสัมมาวายามะ มี ๔ อย่าง คือ ๑.สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น ๒.ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ๓.ภาวนาปธาน เพียรเจริญทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๔.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไปและให้เพิ่มไพบูลย์ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับเจ้าพระธรรมปิฎก)
    หากพิจารณาในแง่ของการดำเนินกิจกรรมแล้ว บุคคลล้วนต้องระวังสิ่งที่จะทำให้เกิดความล้มเหลว คือต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว อันต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ต่างๆ ด้านวัสดุอุปกรณ์ ด้านทุนทรัพย์ทุนสำรอง หรืออื่นๆ เพราะสิ่งที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรมนั้น ย่อมเกิดจากตัวบุคคลเป็นอันดับแรก และปัจจัยอื่นเป็นอันดับรองลงไป หากบุคคลไม่มีความคิดที่ดี ไม่มีความระลึกได้ถึงความรู้ในหลักวิชาการ ประสบการณ์ หรือไม่รู้จักเชื่อมโยงวิชาการด้านต่างๆเข้าด้วยกัน ไม่มีจิตตั้งมั่น ไม่รู้จักพูด ไม่รู้จักทำการไปด้วยความสุจริต หรือ หลอกลวงไม่ซื่อตรง ความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรมย่อมจะเกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นจึงต้องมีความเพียร คือมีจิตตั้งมั่นในการดำเนินกิจกรรม ตามคุณลักษณะและเงื่อนไข อีกทั้งยังต้องขจัดปัญหาหรือบังคับควบคุมตัวเองมิให้กระทำการอันจักเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรม คือต้องควบคุมตัวเองมิให้กระทำไปตามความเคยชินที่ไม่ถูกต้องตามคลองธรรม มีความขยันหมั่นเพียรในการดำเนินกิจกรรมให้ได้ผลตามต้องการ และควรได้รักษาระดับการดำเนินกิจกรรมอันนั้นไว้ หรือทำให้การดำเนินกิจกรรมนั้นเจริญก้าวหน้า
    ที่ได้กล่าวไปในเรื่องของ มรรค อันมีองค์ ๘ โดยแยกเป็นหัวข้อเพื่อง่ายและสะดวกต่อการทำความเข้าใจ แต่ในทางที่เป็นจริง ทุกข้อล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเกิดขึ้นในเวลาที่เกือบจะพร้อมกันและหมุนวนกันไปเป็นวัฏจักร กล่าวคือเมื่อเกิด ความคิด ย่อมเกิดความเห็น แล้วความระลึกนึกถึงก็จะตามมา ขณะที่เกิดการระลึกนึกถึงนั้น ย่อมมีจิตตั้งมั่น คือมีเพียงอารมณ์เดียวที่เรียกว่าสมาธิ ซึ่งเป็นปัจจัยหรือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเจรจาชอบ หรือการติดต่อสื่อสาร เป็นสิ่งหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระทำ เป็นปัจจัจหรือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดหรือการเลี้ยงชีพหรือประกอบอาชีพ และย่อมก่อให้เกิดความเพียร ไปพร้อมกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    หากท่านทั้งหลายพิจารณาในหลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักพุทธศาสนาอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น นอกเหนือจากคุณลักษณะที่ประกอบกันเข้าทั้ง ๓ คุณลักษณะ อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เมื่อบุคคล หรือกลุ่ม หรือชุมชน หรือระดับรัฐบาลนั้น การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น จำต้องมีหรืออาศัยความรู้ และคุณธรรม พื้นฐาน(ความดีงามหรือสภาพที่เกื้อกูล) เป็นเงื่อนไข หรือข้อบังคับ กล่าวคือ
    เงื่อนไขด้านความรู้ ก็คือการศึกษาหาความรู้ในหลักวิชาการด้านต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ หรือเกี่ยวข้องกับการทำงาน เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต อย่างรอบด้าน โดยละเอียด อีกทั้งยังต้องมีความรอบคอบในการที่จะนำความรู้ในวิชาการด้านต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ หรือเกี่ยวข้องกับการทำงาน เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ทั้งหลายเหล่านั้น มาพิจารณาเชื่อมโยงประสานกันประกอบกัน หรือใช้ร่วมกัน เพื่อใช้ในการวางแผนการปฏิบัติ และต้องมีความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ ให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ และเป็นไปตามความรู้ที่เกี่ยวข้อง
    เงื่อนไขคุณธรรม ย่อมหมายถึงความดีงามในด้านต่างๆ อันย่อมหมายถึงความดีงามทั้งทาง กาย วาจา และใจ ที่จะต้องเสริมสร้าง ให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้น ในจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งในทางพุทธศาสนาแล้วหลักธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ล้วนเป็นคุณธรรมทั้งสิ้น ล้วนเป็นสภาพสภาวะจิตใจในรูปแบบต่างๆ เพราะในการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน อดกลั้น มีความเพียรพยายามในอันที่จะใช้ความรู้ในวิชาการด้านต่างๆ เพื่อดำเนินชีวิต เพื่อการทำงาน เพื่อประกอบอาชีพ ให้บรรลุถึงความพอเพียงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากจะกล่าวไปในทางศัพท์ภาษาทางศาสนาพุทธในข้อธรรมะอื่นๆนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนก่อนๆ แล้วละก้อ เงื่อนไขคุณธรรม ย่อมประกอบด้วย วิริยะ (ความเพียร ความบากบั่น), อุตสาหะ(ความขยัน ความหมั่นเพียร), ขันติ (ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ หนักเอาเบาสู้), ซื่อสัตย์ ,สุจริต (ประพฤติดี ประพฤติชอบทั้งทางกาย วาจา และใจ),หิริ (ความละอายต่อความชั่ว) ,โอตตัปปะ(ความกลัวบาป หรือ เกรงกลัวความชั่ว) อันจักใช้เป็นปัจจัยประกอบในการที่จะนำความรู้ความเข้าใจในหลักวิชาการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการการประกอบอาชีพ เกี่ยวข้องกับการทำงานเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เพื่อดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
    ตามที่ได้กล่าวไปทั้งหมดแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า หลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สามารถ
    สร้างความพออยู่พอกินพอใช้ให้กับบุคคล กลุ่ม ชุมชน หรือรัฐ สามารถสร้างความสมัครสามัคคีให้เกิดขึ้นทั้งในระดับรากฐานของประเทศไปจนถึงระดับชาติ สามารถสร้างจิตใจที่ดีงาม ให้เป็นไปตามหลักพุทธศาสนาโดยอัตโนมัติ เพราะแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะสร้างสรรค์ความพอเพียงนับตั้งแต่ระดับบุคคล,ครอบครัว ไปจนถึง ระดับชุมชน และระดับองค์กร จนไปถึงระดับประเทศตามลำดับขั้น
    ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน มุ่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน การผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค และขายผลิตผลในส่วนที่เหลือจากการบริโภค เพื่อมีรายได้ไว้ใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว
    ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเรื่องของการสนับสนุน ให้เกษตรกรรวมกันในรูปสหกรณ์ หรือกลุ่ม เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรมีความพอเพียงขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จะรวมกลุ่มกัน บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ กลุ่มหรือชุมชน เกิดความพอเพียงได้อย่างแท้จริง
    ความพอเพียงในระดับประเทศ ส่งเสริมให้ชุมชน กลุ่ม หรือสหกรณ์ สร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆในประเทศ เช่น บริษัท ห้างร้านใหญ่ หรือธนาคาร เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสืบทอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี่ และประสบการณ์จากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามหลักปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งในระดับกลุ่ม ชุมชน องค์กร และธุระกิจต่างๆทั่วประเทศ ด้วยหลักการ แบ่งปัน ไม่เบียดเบียน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
    ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น เป็นลำดับขั้นของการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ระดับบุคคลจนไปถึงระดับประเทศ อันเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหลักวิชาการในด้านต่างๆรวมไปถึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหลักพุทธศาสนา นับตั้งแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับหลักศีล ๕, เกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือก่อให้เกิดหรือเป็นไปตามหลักธรรม “อิทธิบาท ๔” อันได้แก่ ๑) ฉันทะ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น ๒) วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น ๓) จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ๔) วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น; จำง่ายๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน, เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือทำให้เกิดสภาพสภาวะจิตใจตามธรรมชาติ หรือเป็นไปตามหลักธรรม “พรหมวิหาร ๔” คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา , เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือเป็นไปตามหลักความจริง ๔ ประการ หรือหลักอริยะสัจสี่ คือ ทุกข์,สมุทัย ,นิโรธ,มรรค, อีกทั้งยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ก่อให้เกิด หรือเป็นไปตามหลักธรรมะในข้ออื่นๆ อันได้แก่ วิริยะ (ความเพียร ความบากบั่น), อุตสาหะ(ความขยัน ความหมั่นเพียร), ขันติ (ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ หนักเอาเบาสู้), ซื่อสัตย์ ,สุจริต (ประพฤติดี ประพฤติชอบทั้งทางกาย วาจา และใจ),หิริ (ความละอายต่อความชั่ว) ,โอตตัปปะ(ความกลัวบาป หรือ เกรงกลัวความชั่ว)
    ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กับพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยนั้น นับเป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างเหมาะเจาะและลงตัว เพราะแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นการดำเนินกิจกรรมที่แฝงไปด้วยหลักการทางพุทธศาสนาคือสามารถเข้ากันได้กับหลักพุทธศาสนา เป็นแนวคิดที่จะทำให้พสกนิกรนับตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศ พ้นจากความทุกข์ พ้นจากวิกฤต ในด้านต่างๆ เพื่อความเป็นปึกแผ่นของประเทศ และเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย.
    ดังพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ ความว่า
    “ ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน...
    มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้
    ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน
    ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ
    เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้
    เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...
    ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิดและอิทธิพล
    มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน
    ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ..ขอย้ำพอควร
    พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้
    ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล”

    ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
    เขียนบทความโดย ข้าพระพุทธเจ้า จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์(รป.บ) 

    ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    มีหลักพิจารณาอยู่ ๕ ส่วน ดังต่อไปนี้

    ๑. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางในการดำรงชีวิตอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกในเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืน ของการพัฒนา
    ๒. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุก ระดับ โดยเน้นการปฏิบัติ บนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
    ๓. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ พร้อมๆกัน ดังนี้
    ก. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
    ข. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจในระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึง ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
    ค. การมีภูมิคุ้มกันในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
    ๔. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมพื้นฐาน กล่าวคือ
    ก. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้ เกี่ยวกับวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน ความรอบคอบ ที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
    ข. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
    ๕. แนวทางปฏิบัติ / ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี



    ( ข้อมูล หลักปรัชญา แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
    -มาจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ )
     

แชร์หน้านี้

Loading...