พุทธศาสนา กับ วิชาพาณิชย์บัญชี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 15 กันยายน 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [SIZE=+3] พุทธศาสนา กับ วิชาพาณิชย์บัญชี[/SIZE]

    แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย

    วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๑๙



    วันนี้จะเทศน์เรื่อง การค้ากำไรในทางพุทธศาสนา ให้ฟัง เราแต่ละคนที่เกิดมานี้ก็เหมือนกันกับว่าเราเกิดมาค้าหาผลประโยชน์กำไรในชีวิตของตน การที่เราพากันมาอบรมธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับมาเรียนวิชาพาณิชย์การบัญชี ฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้วถ้าหากว่าไม่คิดนึกหรือไม่รู้สึกว่าตัวเราเกิดขึ้นมาค้าหาประโยชน์หากำไร มันก็จะไม่ผิดแผกอะไรกับสัตว์ทั่ว ๆ ไป ที่สักแต่ว่าเกิดมาเป็นตัวเป็นตน แล้วก็ทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อยังชีวิตและอายุให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ แล้วก็แล้วไป แต่มนุษย์เราได้รับสมัญญาว่าเป็นผู้มีใจสูง คือ สามารถที่จะพัฒนาจิตของตนให้เจริญก้าวหน้าไปได้ จึงไม่ควรคิดอย่างสัตว์ทั่วไป ควรพากันคิดเห็นว่า เราเกิดมาค้าหาผลประโยชน์ให้แก่ชีวิตของตนในวันหนึ่ง ๆ ให้มันคุ้มค่า


    คนเราเกิดมาแล้วจะอยู่เฉย ๆ นั้นไม่ได้ เมื่อมีกายมีใจประสมกันเข้าแล้วจะต้องมีกิริยา กิริยาอาการของกายกับใจที่ปรากฏเห็นได้ชัด ๆ นั้นมีอยู่สองอย่าง คือ ทำดีอย่าง ๑ ทำเลวอย่าง ๑ การทำดีนั้นเรียกว่า บุญ ทำเลวเรียกว่า บาป



    ถ้าจะเปรียบการกระทำทั้ง ๒ อย่างนี้กับเรื่องการค้า บุญ ก็เทียบได้กับ กำไร บาปคือ ขาดทุน


    คราวนี้เราก็มาสังเกตดูตัวของเราว่าแต่ละวัน ๆ นั้น ตัวของเราขาดทุนหรือได้กำไร เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนเช้า พอตื่นขึ้นมาแล้วเราคิดถึงอะไรบ้าง คิดถึงความดีหรือคิดถึงความชั่ว คิดเป็นบุญหรือเป็นบาป อย่างเช่นผู้ที่อยู่วัดจะเป็นผู้บวชเข้ามาในพระศาสนา เป็นพระภิกษุ เป็นเณร เป็นปะขาว เป็นแม่ชี เป็นอะไรก็ตาม จะต้องระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าอันนี้แหละเป็นที่พึ่งเป็นสรณะของตน เป็นที่พึ่งทุกลมหายใจเข้าออก คือระลึกอยู่ตลอดเวลา


    คำว่า ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในที่นี้นั้น มิได้หมายความว่าจะไปอาลัยอาวรณ์ถึงพระพุทธองค์ที่ปรินิพพานไปแล้ว หรือคิดถึงพระธรรมคำสั่งสอนมรรคผลนิพพานที่ยังไม่มีในตัวของเรา แล้วก็เดือดร้อนวุ่นวาย หรือระลึกถึงพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายที่นิพพานไปแล้ว มีความอาลัยอาวรณ์คิดถึงท่านจนกระทั่งวุ่นวาย ไม่ใช่เช่นนั้น สำหรับนักปฏิบัติแล้ว พุทโธ คือ ผู้รู้ รู้อะไร คือ รู้ตัวของเราว่า เราระลึกถึงอะไร ระลึกถึงความดีหรือว่าระลึกถึงความชั่ว ถ้าหากว่าพอเราตื่นขึ้นมาก็ระลึกถึงความดีหรือความชั่ว นั่นแหละจะตื่นตัวเลยทีเดียว ถ้าหากไม่ตื่นก็นอนจมอยู่ไม่ระลึกถึงความดี ความชั่ว พูดง่าย ๆ ว่าไม่คิดถึงตัวของเราเลย


    ผู้ที่ระลึกถึงตนว่าเวลานี้ กาย วาจา ใจ ของเราบริสุทธิ์หรือไม่ ใจของเราคิดดีหรือคิดชั่ว ผู้นั้นจะเห็นว่าเขาขาดทุนหรือได้กำไรตรงนั้น เห็นชัดด้วยตนเอง


    ธรรมดาของคนที่ค้าขายจะต้องพยายามหากำไรให้ได้ เมื่อเราระลึกถึงความดีหรือความชั่วแล้ว ถ้าเห็นจิตมันส่งส่ายไปในทางชั่ว ก็รู้สึกว่าขาดทุนรีบแก้ไข นั่นแหละพุทโธปรากฏขึ้นตรงนั้น ตรงที่เรารู้จักว่าเราทำชั่วคิดชั่ว ในทางตรงกันข้ามถ้าหากว่าเราทำดี คิดดี คิดถึงการทำบุญทำทาน จิตใจของเราผ่องใสเบิกบาน คิดถึงศีลของเราว่าบริสุทธิ์หมดจด คิดถึงใจของเราว่าไม่วุ่นวายส่งส่ายใจของเราสงบ นั่นแหละเราได้กำไรตื่นขึ้นมาเราได้กำไรแล้ว



    ถ้าเราเข้าใจว่าเราได้กำไรอย่างนี้ ๆ เห็นกำไรอย่างนี้ตลอดเวลา เมื่อประกอบภารกิจการงานใด ๆ ก็จะอิ่มอกอิ่มใจ ปลื้มปิติ จิตใจแช่มชื่นเบิกบาน วันนั้นจะมีกำไรตลอดวัน นี่เป็นกำไรเฉพาะในวันนั้น คราวนี้วันต่อ ๆ ไปเราทำได้อย่างนั้นอีก เราจะรวยไหม ลองคิดดู ๓ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน เป็นเดือนเป็นปีขึ้นไปเราจะรวยเท่าไร แน่นอนที่สุดเรามีกำไรมากมายสมกับที่เราเกิดมาค้าหากำไรแท้ ๆ ทีเดียว


    คราวนี้ถ้ามันตรงกันข้าม พอตื่นขึ้นมาก็คิดถึงอารมณ์วุ่นวี่วุ่นวายกลุ้มอกกลุ้มใจเดือดร้อน มองดูจิตใจของเราวุ่นวายอยู่ กาย วาจา ใจ ของเราก็มีแต่สิ่งปฏิกูลโสโครก เต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง แม้แต่ศีลห้าก็ไม่มี เป็นทุกข์กลุ้มใจ เมื่อไปประกอบภาระกิจในวันนั้น ไปทำอะไรก็หงุดหงิดฉุนเฉียว เป็นเรื่องไม่ดีไม่งามทั้งนั้น กิริยาอาการทุกชิ้นทุกส่วนที่ทำไปเป็นของน่าเกลียดทั้งหมด บางคนถึงขนาดว่าอาหารก็รับประทานไม่ได้ คบค้าสมาคมกับใครเข้าหน้าใครก็ไม่ติด ทั้ง ๆ ที่คนอื่นไม่รู้เรื่องกับเรา ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร เราคนเดียวหงุดหงิดฉุนเฉียวกับตัวเราเอง เป็นทุกข์เดือดร้อน เรียกว่าขาดทุน ขาดทุนตั้งแต่ตื่นนอน ตกลงวันนี้ขาดทุนตลอดวัน ลองคิดดูซิ ถ้าหากสะสมอย่างนั้นไว้อีกในวันต่อ ๆ ไปเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี มันก็ตกนรกทั้งเป็น ขาดทุนตลอดกาล เหมือนกับทำการค้าไม่เจริญงอกงามทำอะไรก็มีแต่ขาดทุนทั้งหมด แล้วจะเอาอะไรมากินจะอยู่อย่างไรได้ นี่แหละจึงให้พากันมาฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าวิชาพาณิชย์บัญชี


    พระพุทธเจ้าทรงสอนดี สอนให้เราเรียนวิชาพุทธศาสนาให้เอาคุณงามความดีมาเป็นเครื่องระลึก ตัวของเราไม่ดีก็เอาคุณของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องระลึกให้มันดีขึ้น ตัวของเรายังไม่ทันเห็นของดี ก็ให้ยกเอาคุณพระธรรมคำสอนของพระองค์มาเป็นเครื่องระลึกแล้วจะได้ดีขึ้น ยกเอาคุณพระอริยสงฆ์มาเป็นเครื่องระลึกแล้วเราจะได้ละอายท่าน


    การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเราไม่เห็นพระองค์ท่าน เห็นแต่เพียงรูปปฏิมากร ดังนั้นเมื่อเรากราบพระพุทธรูป เราก็ระลึกถึงพระคุณของท่าน คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่วิเศษ ทรงเป็นผู้รู้แจ้ง พูดกันง่าย ๆ ว่าไม่ทรงงมงายเหลวไหล อย่างปุถุชนคนธรรมดาสามัญเช่นพวกเรา ทรงมีพระปัญญาเฉียบแหลมลึกซึ้ง คือ เห็นของจริงตามเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ทรงเห็นพระวรกายของพระองค์นี่แหละว่า แท้ที่จริงตัวตนคนเรานั้นเป็นสภาวะอันหนึ่ง ซึ่งเกิดจากธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่ของจริงเป็นอย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงเห็นจริงทีเดียว และทรงเห็นละเอียดชัดเจนลงไปว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร แท้จริงเป็นสภาวะก้อนธาตุที่มาผสมกันเข้าเท่านั้น


    ยิ่งกว่านั้นพระปัญญาของพระองค์ยังชัดลงไปอีก ทรงเห็นตามเป็นจริงเรื่อง ปรากฏการณ์ธาตุดินก็ไม่ใช่ดิน ธาตุน้ำก็ไม่ใช่น้ำ ธาตุไฟ - ลมก็ไม่ใช่ไฟ - ลม อันนั้นเป็นสมมุติบัญญัติ ความจริงมันเป็นแต่เพียง ปรากฏการณ์ สิ่งหนึ่งปรากฏขึ้นแล้วก็แตกสลายหายไป


    ลองคิดกันดูว่า ดินมันเรียกตัวมันเองว่าดินหรือไม่ น้ำ ไฟ ลม มันเรียกน้ำ ไฟ ลม หรือไม่ เมื่อคนไปสมมุติตั้งชื่อให้มัน มันก็เฉย มันไม่รู้สึกอะไร แต่มันได้สภาพของมันอันนั้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น นี่ของจริงเป็นอย่างนี้ สภาพการณ์อันนั้นมันมาปรากฏขึ้นมาตามธรรมชาติ มาเป็นรูปต่าง ๆ นานา เช่นอย่างพวกเรามีศีรษะ มีสองแขน สองขาเดินไปมาได้ ก็เลยมีการสมมุติเรียกว่า คน เสีย ที่จริงไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่เราไปว่าเป็นคนอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่ามีใครมาเรียกเป็นอันอื่นไป เช่นเทียบกับสัตว์อื่นไปก็จะโกรธใหญ่โต แต่ตัวมันเองเฉย ๆ ไม่รู้สึกอะไร นี่คือสภาพที่ว่า สภาวะของมันเป็นจริงอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นในขณะนั้นละเอียดลึกซึ้งลงไปกว่านั้นอีก นี่พูดโดยอนุมานเฉย ๆ ความรู้ของพระองค์ลึกซึ้งลงไปขนาดไหนก็ไม่ทราบละ นี่เพียงแต่พูดให้กันฟังถึง พระปัญญาคุณ เท่านั้น


    พระองค์ทรงรู้ตามเป็น จริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นสภาวะอันหนึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เรามาถือกันงมงายจริง ๆ จัง ๆ ว่าเป็นคนก็เป็นคนเอาจริง ๆ จัง ๆ ว่าเรา ว่าเขาก็เป็นเราเป็นเขากันจริง ๆ จัง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงว่าพระปัญญาคุณของพระองค์ลึกซึ้งละเอียดและพระองค์ทรงรู้ด้วย พระองค์เองไม่มีตำรา ไม่มีครูสอน


    เมื่อทรงมีพระปัญญาเฉียบแหลม ทรงรู้แจ้งตามความเป็นจริงแล้วจึงทรงละอัสมิมานะ ทรงละอุปาทานในขันธ์หรืออัตตา และทรงละในสภาวะนั้นเสียได้ พระองค์ทรงชำระสะสางจนพระทัยใสสะอาดบริสุทธิ์ จึงเกิด วิสุทธิคุณ ขึ้นมา


    เมื่อพระทัยของพระองค์มีปัญญารู้แจ้งอย่างที่อธิบายมาแล้วนี้และพระทัยใสสะอาดบริสุทธิ์ ก็ทรงมองเห็นมนุษย์ชาวโลกพากันยึดถืองมงาย ว่าตนว่าตัว ของเราของเขา อะไรต่าง ๆ นานา ก็ทรงสงสารเอ็นดู ทรงมีเมตตากรุณา อยากจะให้มนุษย์สัตว์ได้รู้เห็นตามจริง จึงได้ทรงอุตส่าห์พยายามเทศนาสั่งสอน อันนี้เป็น พระมหากรุณาธิคุณ


    พระคุณของพระพุทธเจ้าสรุปลงโดยย่นย่อมีสามประการดังกล่าวมานี้ ถ้ากว้างออกไปก็มี ๙ ประการ ตามที่เราสวดมนต์ไหว้พระอยู่ทุกวันในบท อิติปิโสภควา อรหํ สมมา สมพุทฺโธ ฯลฯ เป็นต้น การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าให้ระลึกอย่างนี้แล้วจิตใจจะอยู่ในเฉพาะตัวของ เราไม่ได้ส่งส่ายไปที่อื่น เมื่อคุณความดีในตัวของเราไม่มี เรายกเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาพิจารณา คุณของพระองค์เลยกลายมาปรากฏเกิดขึ้นในกายในใจของเรา เราก็เห็นชัดตามเป็นจริงดังที่อธิบายมานั้นด้วยตนเองอันนี้ก็เรียกว่า ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชี้ส่องทางให้เราเห็นผิด - ถูก เห็นดีเห็นชั่ว เห็นคุณเห็นโทษ สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีสาระหรือไม่มีสาระ เห็นชัดแจ้งขึ้นมาในตัวของเรานั่นแหละ อย่างนี้เรียกว่าเราเห็นธรรม เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พอเรามีพระพุทธคุณปรากฏเกิดขึ้นมา ก็มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ ตัวของเราก็กลายเป็นสงฆ์ คือผู้ปฏิบัติชอบนั้นเอง มันอยู่อันเดียวนั่นแหละ


    สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบ จะปฏิบัติไม่ชอบอย่างไร ถ้าไม่ชอบมันก็ไม่ถึงพุทโธ ไม่ชอบมันก็ไม่เห็นพุทธคุณ ไม่เห็นพุทโธ ไม่เห็นตามเป็นจริงอย่างที่ว่านี้ เมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติถูกก็เห็นตามเป็นจริง เป็น สุปฏิปนฺโน เท่านั้นเอง อันที่ปฏิบัติไม่ดี ไม่ถูกไม่ต้องนั้น คือมันเข้าตัว มันเข้าหากิเลสความต้องการและความปรารถนาของตนที่ยังมีอยู่จึงไม่เห็นตาม เป็นจริง เป็น สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดีไม่ได้ มันก็ไม่ตรง ก็ไม่เป็น อุชุปฏิปนฺโน มันก็แวะเวียนวกไปเวียนมา ไปหาลาภ หาผล หาความต้องการประโยชน์นั่นประโยชน์นี่ สารพัดทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นมา มันก็ไม่เป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์ ไม่เป็น นิยฺยานิกธรรม ญายสุปฏิปนฺโน ก็ไม่มี สามีจิปฏิปนฺโน ก็ไม่มี การปฏิบัติมันไม่น่าเลื่อมใสไม่น่ากราบไหว้บูชา มันก็ไม่เป็นใหญ่ในธรรมนั่นน่ะซี นี่แหละคุณของพระสงฆ์


    จงพากันเอาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาพิจารณาให้มันเกิดมีขึ้นในตัวของเรา เราเป็นสาวกเราต้องฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันไม่เกิดเองเป็นเองอย่างพระองค์เราฟังตามพระองค์ทรงสอน เกิดความรู้ ความเข้าใจแล้วปฏิบัติตาม มันจึงค่อยเกิดขึ้นมาภายในใจของตน จึงเรียกว่าสาวโก ผู้ฟัง ต้องฟังเสียก่อนไม่ใช่เกิดเองเป็นเอง


    เมื่อเข้าใจตามนัยที่อธิบายมานี้แล้ว คราวนี้มาลองคิดดู ที่ว่าชีวิตของเราเกิดขึ้นมาเปรียบเหมือนมาทำการค้านั้น เวลานี้เราทำการค้าถูกทางแล้วหรือยัง ได้กำไรหรือขาดทุน ลองตรวจดูตัวของเราจึงจะรู้ได้ว่า ค้าขายได้ผลประโยชน์หรือขาดทุน แล้วจึงจะได้ดำเนินภารกิจนั้นต่อไปให้ถูกต้อง ถ้าหากว่ารู้จักแล้วว่าค้าขายขาดทุนแล้วยังยอมขาดทุนอยู่ร่ำไป ไม่พยายามที่จะหาผลประโยชน์หากำไร เห็นว่าผิดแล้วยังดำเนินอยู่อีกมันก็หมดหนทางไม่ต้องฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป เท่านั้นก็พอ


    ถ้าหากว่าเราตั้งใจจะหากำไรเพิ่มผลประโยชน์ในชีวิตของเรา คือเห็นว่าที่ทำมานั้นผิดและอยากจะแก้ไข พยายามดำเนินตามทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าและผลประโยชน์มันก็มีวันเวลาที่จะพอ ชาตินี้เราไม่ได้เจริญก้าวหน้าด้วยคุณธรรมมาแล้ว เรารู้ตัวก็หันมาเจริญคุณธรรมอันใดอันหนึ่ง เป็นต้นว่าเจริญศีลให้มีขึ้นที่ตนวันนี้เสียก่อนให้มันถูกต้องมั่นคง ให้ได้ผลได้ประโยชน์ได้กำไรในเสียวันนี้ เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป วันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ ตลอดชาตินี้ มาหาผลประโยชน์กำไรมันก็ไม่ทุกข์ไม่จนน่ะซี นี่อะไร ! เกิดมาทีไรก็มีแต่ขาดทุน ยิ่งศีลธรรมก็ไม่มี แล้วก็ไม่ยอมที่จะแก้ไขปรับปรุงตัวเองปล่อยให้ขาดทุนอยู่ร่ำไป เมื่อไรเล่ามันจะได้กำไร ดีไม่ดีจะไม่ได้มาค้าขายกับเขาอีกซ้ำล่มจมไปไม่มีที่จะหันหน้าอ้าปากกับเขาสักที มันก็แย่ละซี นี้จึงว่าชีวิตของคนเราน่าเสียดาย ถ้าเป็นอย่างนั้น เกิดมาแทนที่จะมาค้าขายหาประโยชน์อย่างเขา เรากลับมายอมขาดทุน


    ชั่วระยะเวลาชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ ยังเหลืออยู่น้อยนิดเดียวแล้วยังยอมขาดทุนตลอดชาติ เมื่อตายไปแล้วก็ไม่ได้มาค้าขายกับเขาอีกแล้ว หมดหนทาง เวลาก็หมดเท่านั้น ไม่มีโอกาสอีกแล้ว


    เพราะฉะนั้นจึงว่าพากันตรวจตราดูของเราทุก ๆ คน ตั้งต้นแต่ลืมตายังไม่ทันลุกจากที่นอนไปจนตลอดวัน ถ้าหากว่าทุกคนพากันตรวจตราดูคุณงามความดีของตน และความผิดความชอบของตนอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้แล้ว การอยู่ด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ก็จะเพลิดเพลินสนุกสนานด้วยการนับเงินนับทองด้วยการแลกเปลี่ยนสินค้า เอามานับแข่งขันกันดูว่าใครได้มากใครได้น้อย สามคนสี่คนหรือเก้าคนสิบคนก็ตาม ต่างคนต่างก็มีกำไรทุกคน ลองคิดดูจะมีความสุขไหม


    ถ้าเราขาดทุนแล้ว เวลาคนอื่นเขานับเราไม่มีอะไรจะนับมองเห็นเข้าแล้วนอกจากจะอิจฉาริษยาเขาแล้วเราก็จะกลุ้มใจคือเห็นเขาทำดีทนอยู่ไม่ได้ อันนั้นแหละเรียกว่าเกิดมารกแผ่นดิน ถ้าเรามาเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่าคนเช่นนั้นเรียกว่าเกิดมารกศาสนา คนรกแผ่นดินแล้วมาตกอยู่ในพุทธศาสนาก็รกศาสนาอีก ไปสวรรค์ก็ไปกับเขาไม่ได้ เพราะสวรรค์มันเตียนสะอาดราบรื่น คนรกด้วยกายอยู่กับคนสะอาดไม่ได้เพราะเกะกะระรานคนรกด้วยวาจา คือพูดเท็จ สามหาวโอ้อวด คนรกด้วยใจ คือคิดประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่นจิตใจไม่สงบ ไม่มีศีล ตกนรกตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ ทุคติ ปฏิกงฺขา ตายไปแล้วแน่นอนที่สุดจะต้องไปสู่อบาย


    วันนี้อธิบายมาพอแก่เวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ฯ.




    นั่งสมาธิ


    ท่านอาจารย์อบรมนำไปก่อน


    เรายังไม่เคยทำความสงบ เหตุนั้นเบื้องต้นจงพากันทำความสงบเสียก่อน ที่อธิบายให้ฟังว่าให้ตรวจเรื่องของเรานั้นจะตรวจเท่าไร ๆ ก็ไม่เห็นหรอกถ้าหากว่ามันไม่สงบ ถ้าจิตใจสงบลงเมื่อใดแล้วมันจะมาปรากฏที่ความสงบนั้นเอง เราจะไปตามหาตามค้นดูโน่น ๆ นี่ ๆ ไม่มีวันจะเห็นของจริงได้ ความดีมีอยู่แต่ไม่รู้จักของดีเพราะจิตของเราไม่ดีพอที่จะรู้จักของดี คือความสงบไม่มี เหตุนั้นจงสร้างความดี คือ ความสงบให้เกิดมีขึ้นที่ตนเสียก่อน พอที่จะรับเอาความดีนั้นมาพิจารณาให้เห็น ถึงแม้จะไม่ได้อะไรก็ตาม ขอแต่ให้ทำความสงบให้ได้เสียก่อน


    ก่อนที่จะเกิดความสงบขึ้น ก็จำเป็นจะต้องใช้อุบายแยบคายหลายเรื่องหลายอย่าง วันนี้ลองใช้อุบายอันนี้ดูก็ได้ ตัวของเรานี่แหละ พิจารณาที่ลมหายใจออกลมหายใจเข้า มันมีชีวิตอยู่ได้เพราะลมหายใจ ถ้าลมไม่มีเสียแล้ว ร่างกายและชีวิตอันนี้ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะฉะนั้นสมมติบัญญัติขึ้นมาเองว่า ลมหายใจเข้า - ออกหมดไปไม่มี กำหนดว่ามันไม่มี มีแต่ตัวตั้งโด่อยู่นี่ ไม่มีลมหายใจ แล้วก็พิจารณากำหนดให้มันเย็น กำหนดให้เย็นไปหมดทั่วทั้งร่างกาย เพราะไม่มีลมมันก็ไม่มีความอบอุ่นมันดับไปเย็นไป คราวนี้มันก็พองอืดขึ้น เปื่อย เละไป เนื้อหนังหลุดออกไป ยังเหลือแต่โครงกระดูก ที่สุดโครงกระดูกก็ต้องผุพังไป เลยไม่มีอะไรเหลือ ตัวตนเลยไม่มี ถ้าหากเราพิจารณาแบบนี้ จิตมันจะเกิดความสลดสังเวช เพราะเหตุที่มันไม่เป็นสาระในตัวตนของเรา จิตจะสงบนิ่งแน่ว วันนี้ลองหัดแบบนี้ดูลงมือทำได้

    คัดลอกจาก http://www.thewayofdhamma.org/topic/top_42.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กันยายน 2011
  2. ตีโฉบฉวย

    ตีโฉบฉวย Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +42

แชร์หน้านี้

Loading...