พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 10 มกราคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,173
    ความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ เริ่มต้นหลังจากการย้ายเมืองนครชัยศรี จากตำบลท่านา มายังบริเวณพระปฐมเจดีย์ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริให้มีการทำการรวบรวมโบราณวัตถุในเมืองนครชัยศรี (ในขณะนั้น) ขึ้น เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี จึงมอบหมายให้หลวงพุทธเกษตรานุรักษ์ (จร จรณี) กับหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันท์) เป็นผู้ดำเนินการ

    โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคตรอบองค์พระปฐมเจดีย์ กระทั่งใน พ.ศ.2454 จึงได้เคลื่อนย้ายไปไว้ในวิหารตรงกันข้ามพระอุโบสถ ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน (ปัจจุบันยังคงเป็นพิพิธภัณฑสถานในความดูแลของวัดพระปฐมเจดีย์) และใน พ.ศ.2477 ได้ยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร

    ต่อมาเมื่อโบราณวัตถุเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาคารพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมคับแคบ ใน พ.ศ.2510 กรมศิลปากรจึงได้รับงบประมาณ ให้สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานหลังปัจจุบันขึ้นและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมมาจัดแสดง โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นช่วงอดีตที่รุ่งเรืองของดินแดนนครปฐม

    ในปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ มีบทบาทในการเก็บรักษามรดกอันมีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีความสำคัญมากมาย อาทิ

    พระพุทธรูปในศิลปะทวารวดี มีลักษณะที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะสมัยคุปตะหลังคุปตะของอินเดีย โดยอาจเทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปสมัยคุปตะที่สารนาถและภาพสลักสมัยหลังคุปตะที่กลุ่มถ้ำอชันตา แต่ได้มีการผสมผสานเข้ากับความเป็นท้องถิ่น จนทำให้มีลักษณะเฉพาะ คือ มีพระพักตร์รูปไข่ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์ค่อนข้างหนา และขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ เป็นต้น นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า เส้นโค้งของพระขนงและพระโอษฐ์ที่คมชัดเป็นลักษณะพิเศษที่ปรากฏในประติมากรรมสมัยทวารวดีจากนครปฐมและราชบุรี

    พระพุทธรูปยืนแสดงปางวิตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ เป็นรูปแบบที่พบในศิลปะทวารวดีตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา แต่ไม่พบในศิลปะอินเดีย แม้แต่ในพระพุทธรูปยืนสมัยคุปตะที่เชื่อว่าเป็นต้นแบบให้พระพุทธรูปทวารวดี ก็ แสดงปางวิตรรกะด้วยพระหัตถ์เดียวอันมีความหมายถึง การแสดงธรรม นักวิชาการให้ความหมายของพระพุทธรูปยืนแสดงปางวิตรรกะทั้งสองพระหัตถ์ว่าหมายถึงปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยเปรียบเทียบกับภาพสลักพระพุทธรูปแสดงปางตรรกะทังสองพระหัตถ์ประทับยืนเหนือพนัสบดี มีพระอินทร์ พระพรหมประทับอยู่สองข้าง ซึ่งพ้องกับเหตุการณ์พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่ทั้งนี้ยังมีภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนแสดงปางวิตรรกะสองพระหัตถ์เหนือพนัสบดีบาง ภาพที่ไม่มีพระอินทร์ พระพรหมประกอบ หรือมีบริวารประกอบเป็นโพธิ์สัตว์ซึ่งกรณีนั้นการแสดงปางดังกล่าวน่าจะมีความหมายต่างออกไป

    พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี เป็นประติมากรรมรูปแบบพิเศษที่พบเฉพาะในศิลปะทวารวดี โดยสลักเป็นภาพนูนสูง ภาพพระพุทธเจ้าประทับเหนือสัตว์พาหนะลูกผสมที่เรียกกันต่อๆ มาว่า พนัสบดี โดยเชื่อว่าเป็นภาครวมของสัตว์พาหนะของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูคือ มีปีกอย่างหงส์ซึ่งเป็นพาหนะของพระพรหม มีหูและเขาอย่างโค ซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะ และมีปากอย่างครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ (ซึ่งหากเชื่อเช่นนี้ก็ควรจะเรียกว่า พราหมณัสบดี ไม่น่าเป็น พนัสบดี ซึ่งแปลว่า เจ้าป่า) ซึ่งเหตุผลของการสร้างอาจแสดงความเหนือกว่าของพุทธศาสนาต่อศาสนาฮินดู นักวิชาการบางท่านชี้ว่าลักษณะของพนัสบดีนี้คล้ายคลึงกับที่ปรากฏในศิลปะแถบอรัญประเทศของอินเดีย และอาจเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายว่า พระพุทธองค์ได้รับการยอมรับนับถือในหมู่มวลสรรพสัตว์ก็เป็นได้

    ภาพพระพุทธเจ้าประทับเหนือพระพนัสบดีที่มีภาพพระอินทร์และพระพรหมประกอบมีความสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ซึ่งกล่าวว่าภายหลังการเสด็จไปทรงเทศน์โปรดพระพุทธมารดาแล้ว ได้เสด็จกลับสู่พื้นโลก ณ เมืองสังกัสสะ โดยมีพระอินทร์และพระพรหมตามมาส่งเสด็จ ซึ่งเหตุการณ์ตอนเดียวกันนี้ในศิลปะอินเดียโบราณ และศิลปะไทยสมัยหลังมักแสดงด้วยภาพพระพุทธองค์เสด็จลงทางบันไดแก้ว ซึ่งอยู่ตรงกลาง มีพระอินทร์และพระพรหมเสด็จทางบันไดเงินและบันไดทองที่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ไม่ปรากฏว่าพระพุทธองค์เสด็จโดยสัตว์พาหนะซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนการเหาะลงมามากกว่าการก้าวลง เช่นที่อธิบายไว้ในพระไตรปิฎก

    นอกจากความหมายของภาพสลักนี้จะไม่ชัดเจนแล้ว จุดประสงค์ของการสร้างก็ไม่แน่ชัดเช่นกัน เพราะเท่าที่พบภาพสลักพระพุทธรูปประทับเหนือพระพนัสบดีทุกชิ้นมักมีเดือยอยู่ด้านหลัง และมีรูตรงกลางภาพ ซึ่งอาจใช้ยึดกับโครงสร้างบางอย่าง เช่น ส่วนของหน้าบันอาคาร เป็นต้น

    สำหรับท่านที่สนใจสามารถเดินทางไปชมกันได้ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ที่มีความสำคัญแล้ว ยังมีสถานที่น่าท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง เดินทางมาครั้งเดียวคุ้มค่า
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    น่าจะมีรูปด้วยเน๊าะ..บรรยายซ๊ะอยากเห็นเลยอ่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...