พระโพธิสัตว์ 3 จำพวก โดยพระมาลัยเถระกับพระศรีอริยเมตไตยโพธฺสัตว์

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย มหาพรหมราชา, 31 มีนาคม 2013.

  1. มหาพรหมราชา

    มหาพรหมราชา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 เมษายน 2008
    โพสต์:
    241
    ค่าพลัง:
    +903
    ข้อความเหล่านี้คัดลอกมาจากกระทู้ของคุณ IT Man และขออนุโมทนาด้วยนะครับ ผมชอบใจและพอใจในข้อความเหล่านี้มากครับ จึงได้ขออนุญาตินำมาเผยแผ่ เพื่อเป็นธรรมทานต่อไปครับ สาธุ

    ครั้งเมื่อพระมาลัยเทวเถระผู้มีบุญญาธิการมาก มีปรีชาญาณ เฉลียวฉลาดหลักแหลมมาก มียศมาก มีจิตสงบระงับจากราคาทิ กิเลสเป็นสมุทเฉทประหารปรากฏด้วยอิทธิฤทธิศักดาเดช ได้เสด็จ ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและสนทนาธรรมกับเทพยดาผู้จะทรงมาตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ในอนาคตกาลซึ่ง ณ บัดนี้ทรงเสวยสุขสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต วันนั้นทรงเสด็จลงมาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อถวายความเคารพ พระบรมธาตุที่ประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ ในวันปัณณรสี อุโบสถ พระมาลัยเทวเถระได้กราบทูลถามดังนี้

    "ดูกรมหาบพิตร สำหรับมหาบพิตร ทั้งเทวดาและมนุษย์ย่อม พากันเรียกว่า พระโพธิสัตว์ทั้งนั้น อาตมภาพสงสัยว่า พระโพธิสัตว์นั้น มีอยู่กี่จำพวกมหาบพิตร"

    "มีอยู่ ๓ จำพวกเท่านั้น พระคุณเจ้าผู้เจริญ นั้นคือ
    ๑. ปัญญาธิกโพธิสัตว์
    ๒. สัทธาธิกโพธิสัตว์
    ๓. วิริยาธิกโพธิสัตว์
    ปัญญาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยปัญญา อธิบายว่ามี ปัญญายิ่งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นทั้งสิ้น ส่วนคุณธรรมอย่างอื่น เช่น สัทธา หรือวิริยะเป็นต้นก็มีอยู่พร้อมแต่น้อยกว่า หรืออ่อน กว่าปัญญา
    สัทธาธิกะ แปลว่า ยิ่งด้วยศรัทธา คือมีศรัทธาแก่ กล้าแข็งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นๆ เช่น ปัญญา หรือ วิริยะ ก็มี อยู่พร้อมมูล แต่อ่อนกว่าหรือน้อยกว่าศรัทธา
    วิริยาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยวิริยะ คือ ยิ่งด้วยความ เพียร ความกล้าหาญ พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มีวิริยะมากกว่า หรือ เข้มแข็งกว่าคุณธรรมหรือคุณสมบัติอย่างอื่นทั้งหมด ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น ปัญญาและสัทธาก็มีอยู่แต่ น้อยกว่า หรืออ่อนกว่าฯ หมายความต่างกันอย่างนี้แหละ พระคุณเจ้าผู้เจริญฯ"

    " พระโพธิสัตว์ ๓ จำพวกนี้ จะได้ตรัสรู้หมดทุกจำพวกไหม มหาบพิตร"

    "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ไม่ได้ ต้องย่น ๓ ลงเป็น ๒ ก่อนคือ
    เป็นนิยตะ แปลว่า แน่ ๑ เป็น อนิยตะ แปลว่า ไม่แน่ ๑
    พระโพธิสัตว์ทั้ง ๓ ประเภทนั้น ถ้าได้รับพยากรณ์แล้วเรียกว่า นิยตโพธิสัตว์ แปลว่า แน่ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้า ไม่ได้รับพยากรณ์คือคำยืนยันหรือรับรองจากพระพุทธเจ้าว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่า อนิยตโพธิสัตว์ เพราะยังไม่แน่ ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ อาจกลับกลายเป็นพระปัจเจก หรือเป็นพระสาวกไปก็ได้ ขอพระคุณเจ้าจงเข้าพระทัยโดยนัย ดังโยมได้วิสัชนาถวายมานี้"

    "ต่อเมื่อไรเล่าจึงจะได้พยากรณ์ มหาบพิตร"

    "ต่อเมื่อพร้อมด้วยธรรมสโมธาน ๘ ประการ จึงจะได้รับ พยากรณ์ พระคุณเจ้า ธรรมสโมธาน แปลว่า ธรรมที่ ประชุมกัน หรือ ธรรมที่รวมกัน คือประชุมกัน ครบองค์ หรือ รวมกันครบองค์ ถ้าถือตามคำแปลหรือคำ อธิบายนี้ต้องเห็นว่าเป็นกลางๆ ไม่จำกัดธรรมชนิดไร และไม่ จำกัดองค์เท่าไร โดยเหตุนี้ท่านจึงจำกัดลงไปเพื่อตัดความ เห็นต่างๆ เสีย คือมีหลักธรรมอยู่ว่า ผู้จะได้รับตัดสินหรือ ชี้ขาดจากผู้อื่นว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีอะไร สักอย่างหรือหลายอย่างเป็นเครื่องวินิจฉัย ต้องมีองค์คุณ ๘ เต็มที่ไม่ขาดวิ่นแม้แต่ข้อเดียว
    ธรรมสโมธาน ๘ ประการนั้น คือ
    ๑. มนุสสัตตัง
    ต้องเป็นมนุษย์ เป็นอย่างอื่นไม่นับเข้าในข้อนี้
    ๒. สิงคสัมปัตติ
    ต้องสมบูรณ์ด้วยเพศ คือเป็นบุรุษ
    พร้อมทุกส่วน จะเป็นเพศหญิง หรือบุรุษที่ไม่สมประกอบ เช่น เป็นกะเทย หรือเป็นคน ๒ เพศ ไม่นับเข้าในข้อนี้
    ๓. เหตุ
    ต้องมีอุปนิสัยสามารถสำเร็จพระอรหันต์ ได้ เช่น สุเมธดาบส (พระพุทธเจ้าของเราปัจจุบัน) เป็นตัวอย่าง คือถ้าต้องการเป็นพระอรหันต์เมื่อใด ก็เป็นได้ เมื่อนั้น
    ๔. สัตถารทัสสน
    ต้องได้พบพระพุทธเจ้าองค์ใด องค์หนึ่ง และได้ทำความดีถวายแด่พระพุทธเจ้าองค์นั้น เช่น สุเมธดาบส ที่ได้ทอดตัวอย่างสะพานถวายแด่พระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
    ๕. ปัพพัชชา
    ต้องเป็นบรรพชิตประเภทใดๆ ก็ตาม แต่ให้เป็นประเภทถือถูก จะเป็นดาบสหรือปริพพาชิกก็ได้ ไม่ขัดกับข้อนี้
    ๖. คุณสัมปัตติ
    ต้องสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘
    ๗. อธิกาโร
    ต้องได้ทำความดียิ่ง คือได้ให้ชีวิตและ ลูกเมียเป็นทาน โดยเจตนาหวังโพธิญาณมาแล้ว
    ๘. ฉันทตา
    ต้องมีความพอใจอย่างแรงกล้า ในการเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ คือ ไม่ต้องการสิ่งอื่น และถึงจะต้องทนเหนื่อยยากลำบากเท่าไร ในการที่จะต้องสร้างบารมี อยู่นานก็ตาม เป็นไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเปลี่ยนความคิดไปทางอื่นเป็นอันขาด
    เมื่อองค์คุณเหล่านี้ครบทั้ง ๘ ในชาติใดแล้ว ชาตินั้นแหละจึง ได้รับพยากรณ์ว่า เป็นนิตยโพธิสัตว์คือเป็นผู้แน่ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
    รวมองค์ ๘ หรือ ธรรมสโมทาน ๘
    มนุสสัตตัง สิงคสัมปัตติ เหตุ สัตถารทัสสนัง ปัพพัชชา คุณสัมปัตติ อธิกาโร ฉันทตา
    ๑. ต้องเป็นมนุษย์ เป็นอย่างอื่นไม่นับเข้าในข้อนี้
    ๒. สมบูรณ์ด้วยเพศ คือเป็นบุรุษพร้อมทุกส่วน
    ๓. ต้องมีอุปนิสัยสำเร็จพระอรหันต์ได้
    ๔. ต้องได้พบพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
    ๕. ต้องเป็นบรรพชิตประเภทที่ถือถูก
    ๖. ต้องสมบูรณ์ด้วยคุณคืออภิญญา-สมาบัติ
    ๗. ต้องได้ทำความดียิ่งเช่นได้ให้ชีวิต ลูกเมียเป็นทานเป็นต้น
    ๘. ต้องมีความพอใจอย่างแรงกล้าอย่างเต็มที่ในการเป็น พระพุทธเจ้า
    ธรรมสโมธาน ๘ ประการ มีอรรถาธิบายเป็นอย่างนี้แหละ พระคุณเจ้าผู้เจริญ"

    ดูกรมหาบพิตร นิยตโพธิสัตว์ ที่ว่าต้องประกอบด้วย " พุทธภูมิ" นั้น อยาก ทราบว่า คำว่า "พุทธภูมิ" แปลและหมายความว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง ขอถวายพระพร

    ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นักปราชญ์นิยมเรียกกันว่า "พุทธภูมิธรรม" คำว่า "พุทธภูมิธรรม" แปลว่าธรรมอันเป็นชั้นของพระพุทธเจ้า หมายความว่า ธรรมซึ่งจัดเป็นชั้นของผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า อธิบายว่า นิยตโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่เที่ยงแท้แน่นอนที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น จำเป็นต้องมีภูมิชั้นเชิงดีกว่า คนอื่นๆมาก เพื่อเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่า แปลกจากคนอื่นๆอย่างไร และธรรมซึ่งเป็นภูมิ หรือ เป็นชั้นเชิงของผู้จะเป็นพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า พุทธภูมิธรรม มีอยู่ ๔ ประการ คือ
    ๑. อุสสาโห
    ความองอาจกล้าหาญในการทำดี ไม่ยอ่ท้อต่อสิ่งอะไรทั้งหมด เป็นต้นว่า การงานที่ทำ ความเมื่อยล้า หิวกระหาย ใกล้ ไกล
    ๒. อุมมัคโค
    มีปัญญาแก่กล้าเชี่ยวชาญ ความรู้อันแก่กล้า ได้แก่ความรู้ใน เหตุผลของการกระทำ นิยตโพธิสัตว์ต้องมีความรู้ในเหตุผลต้นปลายของ การกระทำต่างๆ ว่าอย่างไหนจะมีเหตุผลดีชั่วอย่างไร แล้วเลือกไม่ทำสิ่งที่ มีผลชั่ว เลือกทำแต่สิ่งที่มีผลดี
    ๓. วะวัตถานัง
    มีอธิษฐานมั่นคง คือมีใจคอหนักแน่นมั่นคง มีความมั่นใจ นิยตโพธิสัตว์ย่อมมีใจคอมั่นคง หนักแน่น ไม่เหลาะแหละเหลวไหล เมื่อทำ สิ่งใดต้องทำให้สำเร็จ เป็นอันไม่ทอดทิ้ง
    ๔. หิตจริยา
    ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ นิยตโพธิสัตว์ย่อมทำแต่สิ่งที่เป็น ประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น
    ในคุณธรรม ๔ ข้อนี้ ถ้าลำดับตามวิธีใช้ ต้องลำดับอย่างนี้ คือ
    อุมมัคคะ- หิตจริยา-อวัตถานะ-อุสสาหะ
    อธิบายว่า ก่อนจะทำสิ่งใดลงไป ต้องใช้อุมมัคคะ คือ ปัญญาพิจารณาดูเสียก่อน แล้วจึงใช้หิตจริยา คือทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้วัตถานะ คือ ความมั่นใจเป็นที่ ๓ ใช้อุตสาหะคือความไม่ย่อท้อเป็นที่ ๔
    ส่วนพวกเราที่ไม่ใช่โพธิสัตว์ประเภทนิยตโพธิสัตว์ หรือสักว่าโพธิสัตว์ ก็ควรพยายามทำตนให้ตั้งอยู่ในภูมิธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เมื่อสามารถ เลื่อนตนไปถึงภูมิธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว จึงจะเรียกว่า "ปณีตบุคคล" คือ บุคคลชั้นดี และได้ชื่อว่า เป็นผู้มีภูมิดี

    *******************************************

    ดูกร มหาบพิตรพระราชสมภาร คำว่า "อัชฌาสัย" ซึ่งเป็นธรรมประจำ นิยตโพธิสัตว์นั้น แปลและหมายความว่าอย่างไร

    แปลว่า "สิ่งที่นอนทับ" หมายความว่า สิ่งที่มีประจำใจ เรียกตามโวหาร ในทางภาษาไทยว่านิสสัยใจคอ หรือน้ำใจ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้ ล้วนแต่เป็นฝ่ายดีทั้งนั้น เพราะเป็นคุณสมบัติของนิยตโพธิสัตว์
    ตามธรรมดานิยตโพธิสัตว์ ย่อมมีอัชฌาสัย หรือ อัธยาศัย ได้แก่ นิสสัยใจคอ หรือน้ำใจดี น้ำใจมีคุณธรรมสูง อัชฌาสัยของนิยตโพธิสัตว์มีอยู่ ๖ ประการ คือ
    ๑. อโลภัชฌาสัย
    มีอัธยาศัยไม่โลภ คือ มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว เหลียวแลถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย
    ๒. อโทสัชฌาสัย
    มีอัธยาศัยไม่โกรธ คือ เป็นคนไม่ดุร้าย ไม่หยาบคาย มีความยั้งใจ รั้งใจไม่ให้ฉุนเฉียว ไม่ให้หุนหันพลันแล่น ไม่ทะลุดุดัน ในเวลาที่กระทบกับอนิฏฐารมณ์หรือในเวลาที่มีความโกรธเกิดขึ้น ก็รีบระงับเสียโดยอุบายอันดีอันชอบเสมอ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของ ความโกรธ คือ มีเมตตา กรุณาประจำใจ
    ๓. อโมหัชฌาสัย
    มีอัธยาศัยไม่หลง คือ ไม่งมงาย ไม่โง่เขลา มีปัญญา มีวิจารณญาณ มีปรัชญาประจำใจ ไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ไม่ยอมเชื่ออย่าง งมงาย ต้องเห็นเหตุผล รู้เหตุรู้ผลดีเสียก่อนจึงเชื่อ ครั้นเชื่อแล้วก็ได้ ดำเนินชีวิตไปโดยมีหลักการ วิธีการ ปฏิบัติการและสิทธิการอันถูกต้อง เช่นไม่หลงทางเดินแห่งชีวิต พยายามเว้นทางไปอบายภูมิทั้ง ๔ ( นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน) แล้วเดินทางไปสุคติภูมิ คือทางไปมนุษย์ สวรรค์ พรหมและนิพพาน เป็นวิถีทางแห่งชีวิตอันตรง อันถูกต้องโดยแท้
    ๔. เนกขัมมัชฌาสัย
    มีอัธยาศัยออกบวช ออกจากกิเลสตัณหา เมื่อมีโอกาสก็ปลีกตัวออกบวชบำเพ็ญสมณธรรม ทำตนให้ห่างจากความหมกมุ่นอยู่กับกามคุณ ๕ หรือเมื่อไม่สามารถออกบวชก็เจริญสมถกรรมฐานอยู่กับบ้านเรือนได้
    ๕. ปวิเวกัชฌาสัย
    มีอัธยาศัยชอบเงียบ ชอบสงบ ชอบสงัด คือ ชอบ ความสงบวิเวกได้แก่กายวิเวก สงัดกาย ๑ จิตตวิเวก สงัดจิต ๑ และ อุปธิวิเวก สงัดกิเลส ๑ อธิบายว่า ชอบความสงัดจากหมู่ ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ คณะ หรือกับใครๆ ชอบทำใจให้สงัดจากความรัก คือไม่อยาก ให้มีความรักรุมสุมอยู่ในใจ ชอบสงัดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอัธยาศัย
    ๖. นิสสรณัชฌาสัย
    มีอัธยาศัยสลัดออกจากภพ จากชาติ จากกิเลส ตัณหา จากบาปจากกรรม คือ ชอบแสวงหาหนทางออกไปจากโลก ชอบแสวงหาหนทางออกจากกิเลสตัณหา แสวงหาหนทางออกจาก กองทุกข์นานาประการบรรดามีอยู่ในโลก

    *******************************************

    ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ คำว่า "อัจฉริยธรรม" นั้นแปลว่า ธรรมะที่น่า อัศจรรย์ คำว่า "อัศจรรย์" แปลว่า ควรปรบมือให้ ควรยกนิ้วให้ว่าดี เลิศ ประเสริฐ ยอดเยี่ยม อธิบายว่า นิยตโพธิสัตว์นั้น มีธรรมควรที่เทวดา มนุษย์จะยกนิ้วให้ ปรบมือให้ว่ายอดเยี่ยมที่สุด
    อัจฉริยธรรมนั้น มีอยู่ ๗ ประการ คือ
    ๑. ปาปะปะฏิกุฏจิตโต
    มีจิตหดหู่จากบาป คือ จิตของนิยตโพธิสัตว์นั้น ไม่สู้กับความชั่ว ไม่สู้กับบาปอกุศล มีแต่ละอายบาป กลัวบาป ละอายชั่ว กลัวชั่ว เกลียดความบาป เกลียดความชั่ว
    ๒. ปะสาระณะจิตโต
    มีจิตแผ่ออกแต่ความดี คือ เป็นจิตที่เบิกบานต่อความดีอยู่เป็นนิจ คอยรับแต่ความดีอยู่เสมอ มีอาการแผ่ออก ไม่ถอยจากความดี ถ้ายังไม่ถึงจุดมุ่งหมาย เป็นอันไม่หยุดความเพียร ไม่ละเลิก ความเพียรเป็นอันขาด
    ๓. อธิมุตตะกาละกิริยา
    น้อมใจตาย คือ เมื่อได้เกิดในสวรรค์ที่มีอายุยืนนาน ท่านกลัวเสียเวลาสร้างบารมีไปนาน (เพราะในสวรรค์เป็นที่เสวยสุขเป็นส่วนมาก โอกาสที่จะได้บำเพ็ญบุญบารมีต่างๆมีน้อย ไม่เหมือนเกิดเป็นมนุษย์) จึงอธิษฐานขอให้สิ้นชีวิต คำอธิษฐานนั้นว่า "ขออย่าให้ชีวิตของข้าพเจ้ามีอยู่ต่อไปเลย" พออธิษฐานเสร็จก็จุติทันที
    ข้อนี้ถ้าไม่ใช่นิยตโพธิสัตว์ทำไม่ได้
    ๔. วิเสสะชะนัตตัง
    ความเป็นคนวิเศษ คือ เป็นคนแปลกไม่เหมือนคนอื่นๆ เมื่อนิยตโพธิสัตว์อยู่ในครรภ์มารดาในชาติที่สุด (คือชาติสุดท้ายที่จะได้ตรัสรู้) จะไม่เหมือนคนทั้งหลายคือ คนธรรมดาเรานั้น เมื่ออยู่ในครรภ์มารดานั่งทับอาหารเก่า ทูนอาหารใหม่ของมารดาไว้ ๑ ผินหน้าเข้า ข้างหลังมารดา ๑ ผินหลังออกไปข้างหน้ามารดา ๑ นั่งยองๆ เอามือทั้งสอง ค้ำคางไว้ ๑ ส่วนนิยตโพธิสัตว์ตรงกันข้ามคือ นั่งอยู่ในที่สะอาด ไม่เปื้อนอะไร ๑ ผินหน้าออกทางหน้ามารดา ๑ นั่งพับพะแนงเชิงเหมือนพระนั่งเทศน์ บนธรรมาสน์ ๑
    ๕. ติกาลัญญู
    รู้กาล ๓ นิยตโพธิสัตว์ในชาติที่สุดนั้น รู้พระองค์ใน ๓ กาล คือ เมื่อจะจุติจากสวรรค์ลงสู่พระครรภ์ ก็รู้ว่าจะจุติลงสู่พระครรภ์ ๑ เวลาที่อยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือน ก็รู้ว่าอยู่ในพระครรภ์ ๑ เวลาประสูติจากพระ ครรภ์ก็รู้ว่าประสูติจากพระครรภ์ ๑ ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แต่ไม่ได้ออกสั่งสอนเวไนยสัตว์ ไม่สามารถรื้อถอนสัตว์ออกจากสังสารวัฏได้) กับพระอัครสาวกทั้งสอง เป็นทวิกาลัญญู รู้กาล ๒ คือ เวลาจุติลงสู่ครรภ์ ๑ เวลาที่อยู่ในครรภ์ ๑ อสีติมหาสาวกใหญ่ทั้ง ๘๐ เป็นเอกาลัญญู รู้กาลเดียว คือ เวลาจะถือ ปฏิสนธิเท่านั้น
    นอกจากบุคคล ๓ ประเภทนี้ เป็น อกาลัญญู คือ ไม่รู้กาลทั้งหมดฯ
    ๖. ปสูติกาโล
    กาลประสูติ เวลาประสูติ หมายความว่า ในชาติที่สุดนั้น นิยตโพธิสัตว์มีการประสูติดังนี้ คือ เวลาจะประสูติ พระมารดายืน ส่วน พระองค์ท่านที่อยู่ในครรภ์ ก็ยืนขึ้นและทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองลงไป ตามลำขา มีอาการเหมือนพระเทศน์ลงจากธรรมาสน์ ไม่รู้สึกลำบาก พระองค์และพระมารดาเลย หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหวใหญ่
    ๗. มะนุสสะชาติโย
    เกิดเป็นมนุษย์ หมายความว่า การที่นิยตโพธิสัตว์ผู้มีบุญญาภินิหารเต็มที่สามารถเลือกเกิดได้ตามชอบใจในชาติที่สุด แต่ต้องเกิดเป็นมนุษย์นั้น ก็นับเป็นข้อควรอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ท่านอ้างเหตุ ไว้ ๓ อย่าง คือ
    ๑. มนุษยโลก
    สมควรเป็นที่ตั้งศาสนพรหมจรรย์ คือ การบรรพชาอุปสมบท ซึ่งทรงคำสั่งสอนไว้
    ๒. เป็นที่อัศจรรย์ในพุทธานุภาพ
    ๓. เป็นที่มีโอกาสไว้พระสารีริกธาตุในเวลาพระองค์นิพพาน

    ส่วนต่อไปนี้นับว่าเป็นส่วนเพิ่มเติมเพราะส่วนข้างบนทั้งหมดเป็นคำสนทนาโดยตรงระหว่างพระศรีอริยเมตไตรยกับพระอรหันต์พระนามพระมาลัยเถระ แต่ส่วนที่จะยกมาตรงนี้เป็นบทสนทนาระหว่างสมเด็จพระอมรินทราธิราช (คิดว่าท่านเป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์) กับพระมาลัยเถระ เกี่ยวกับพระศรีอาริย์ก่อนที่พระมาลัยจะได้มีโอกาสกราบเข้าเฝ้าและทูลถามความ ต่างๆ ดังที่นำมาให้อ่านแล้ว

    ดูกรมหาบพิตร สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยนั้น พระองค์ท่านได้ทรงบำเพ็ญ กุศลธรรมเป็นประการใด จึงประกอบไปด้วยรัศมีเครื่องประดับประดา อาภรณ์วิภูสิตงดงามยิ่งกว่าเทพยดาองค์ไหนๆ ทั้งมีเทพบุตรเทพธิดาเป็น บริวารถึงแสนโกฏิปานนี้ มหาบพิตร

    ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ อันกุศลกรรมของพระศรีอริยเมตไตรยหน่อพระพุทธางกูร พระองค์ทรงก่อสร้างกุศลสมภารมา ก็ด้วยความปรารถนาจะปลดเปลื้องซึ่งหมู่สัตว์อันขัดข้องอยู่ด้วยเครื่องจองจำคือกิเลสมาร ทรงตั้งพระทัยจะโปรดปรานมนุสสมบัติแก่หมู่สรรพสัตว์ จึงได้อุตส่าห์บำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นหลายแสนโกฏิแห่งกัปป์ฯ หวังจะโปรดประทานพระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แก่บุคคลผู้เห็นทุกข์ จึงอุตส่าห์บำเพ็ญปัญญาบารมีฯ หวังจะโปรดประทานพระสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล แก่นรชนผู้เห็นประจักษ์ในทาง อนิจจัง จึงทรงบำเพ็ญวิริยบารมี หวังจะโปรดประทานพระอนาคามิมรรค อนาคามิผล แก่นรชนผู้เห็นแจ้งโดยทางอนัตตา จึงอุตส่าห์บำเพ็ญ ขันติบารมีฯ หวังจะโปรดประทานพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล แก่บุคคลผู้เห็นแจ้ง ประจักษ์ในพระไตรลักษณะทั้ง ๓ ประการ จึงอุตส่าห์บำเพ็ญสัจจบารมีฯ หวังจะโปรดประทานพระอัฏฐังคิกมรรค แก่บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จึงหมั่นบำเพ็ญอธิษฐานบารมีฯ หวังจะโปรดประทานนิพพานสมบัติ แก่สัตว์ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร จึงอุตส่าห์บำเพ็ญเมตตาบารมีและอุเบกขาบารมีฯ สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยบรมพุทธางกูรนี้ ได้ทรงสร้างบารมีมาหลายแสนกัปป์ ก็เพื่อจะโปรดประทานศีล สมาธิ ปัญญา แก่เวไนยสัตว์ให้ล่วงพ้นจากวัฏฏสงสาร บรรลุถึงฟากฝั่งพระนิพพาน เห็นสภาวะปานฉะนี้ ขอพระคุณเจ้าจงรอคอยพระองค์ก่อน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงเมื่อใดขอพระคุณเจ้าจงได้ไต่ถามพุทธการกภูมิให้พิสดารกว้างขวางตามอัธยาศัยของพระคุณเจ้าเมื่อนั้นเถิดฯ

    จาก "พระมาลัยโปรดสัตว์นรก" รจนาโดย พระเทพสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ. ๙) พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
     
  2. tuta868248

    tuta868248 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    563
    ค่าพลัง:
    +1,116
    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนาสาธุคะ " สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยบรมพุทธางกูรนี้ ได้ทรงสร้างบารมีมาหลายแสนกัปป์ ก็เพื่อจะโปรดประทานศีล สมาธิ ปัญญา แก่เวไนยสัตว์ให้ล่วงพ้นจากวัฏฏสงสาร บรรลุถึงฟากฝั่งพระนิพพาน " สาธุคะ
     
  3. tjs

    tjs ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 เมษายน 2012
    โพสต์:
    3,654
    ค่าพลัง:
    +20,365
    ขอกราบอนุโมทนาสาธุ ในมหาธรรมทานในครั้งนี้เป็นที่สุดครับ สาธุ
    พร้อมทั้งลูกขอกราบสักการะ ท่านพระศรีอาริยะเมตตรัยโพธิสัตว์ พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์[พระมาลัยเถระ] และท่านท้าวสักกะเทวราชอัมรินทรา ด้วยเศียรเกล้า

    เนื้อความพระธรรมที่นำมาแสดง งดงามสมบูรณ์ ทำให้กระจ่างแจ้งใน วิถีแห่งโพธิญาณอันถูกต้องบริบูรณ์ทุกประการ สาธุ สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...