พระราชพรหมาภรณ์ เนื้อนาบุญปากน้ำโพ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 3 ธันวาคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,175
    [​IMG] สำหรับพระราชพรหมาภรณ์ ถือเป็นเสาหลักแห่งคุณธรรมเมตตาธรรมของคณะสงฆ์ 4 จังหวัด และชาวนครสวรรค์ ตลอดจนถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    ด้วยคุณูปการอันสำคัญยิ่ง ในฐานะบุคลากรของสถาบันศาสนาที่มีผลงานโดดเด่น จนปรากฏผลงานเกียรติคุณเป็นอเนกประการ

    ปัจจุบัน พระราชพรหมาภรณ์ สิริอายุ 73 พรรษา 53 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 4 และเจ้าอาวาสวัดวรนาถบรรพต (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.นครสวรรค์

    อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า วิศิษฎ์ แจ่มฐิน เกิดในตระกูลพ่อค้าที่จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2476 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 8 ค่ำ ปีระกา ที่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 9 ต.ไผ่ท่าโพธิ์ อ.โพทะเล จ.พิจิตร เป็นบุตรชายคนเดียวของคุณพ่ออยู่และคุณแม่พ่วง แจ่มฐิน

    จากครอบครัวพ่อค้าที่สนใจใฝ่ธรรมะ วัยเด็กมักจะติดตามบิดา-มารดา ไปทำบุญที่วัดเป็นประจำ

    ครั้นเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประชาบาลวัดดงเสือเหลือง ต.ไผ่ท่าโพธิ์ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาต่อ

    จึงหันความสนใจการบวชเรียน ด้วยมีความสนใจใฝ่ศึกษาทางพระศาสนาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขออนุญาตจากบิดา-มารดา บรรพชาเป็นสามเณร ขณะอายุได้ 16 ปี

    แต่เนื่องจากท่านเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของครอบครัว จึงถูกทักท้วงในคราแรก

    อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ครอบครัว มีความสนใจใฝ่ธรรมะอยู่เป็นทุนเดิม เมื่อบุตรชายร้องขอบ่อยๆ บิดา-มารดา เกิดใจอ่อน มิอาจขัดได้ ท้ายที่สุดจึงอนุญาตให้บวช ด้วยคิดว่าบุตรชายคงจะบวชอยู่ไม่นาน

    จากนั้น จึงเข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2492 ที่วัดนครสวรรค์ ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยมีพระเทพสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์

    อยู่จำพรรษาที่วัดนครสวรรค์ ได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลีควบคู่ไปด้วยกัน

    จนเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2496 ตรงกับวันอังคารขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเส็ง ที่วัดนครสวรรค์ โดยมีพระเทพสิทธินายก เป็นพระอุปัชฌาย์

    ตั้งแต่พ.ศ.2499 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก เปรียญธรรม ประโยค 1-2 และเปรียญ 3-4-5 ตามลำดับ

    พ.ศ.2507 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

    ด้านการศึกษา พ.ศ.2517 สอบได้วิชาชุดพิเศษมูล (ครูมูล) และสำรวจการศึกษาอบรมจากโรงเรียนพระสังฆาธิการ ส่วนกลาง รุ่นที่ 6 วัดสามพระยา กรุงเทพฯ

    หลังจากนั้น พ.ศ.2526 เข้าศึกษาที่สำนักส่งเสริมศึกษาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามโครงการพัฒนาสังคมไทย

    พ.ศ.2532 ได้ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

    นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปศึกษา ดูงานด้านพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงงานพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน พม่า ลาว เป็นต้น

    ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ.2504 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสาย 3 จังหวัดนครสวรรค์

    พ.ศ.2546 ได้รับมอบหมายงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา งานพระธรรมทูตและงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อ.ป.ต.)

    รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือเผยแผ่ในโอกาสต่างๆ เช่น พระสงฆ์ในสายตาของชาวบ้าน ท่านได้อะไรจากการไปงานศพ และแผ่นพับคติธรรมต่างๆ แสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนประชาชนทุกวันธรรมสวนะ หรือในโอกาสงานพิธีสำคัญต่างๆ ทั้งพิธีการงานราชการและวันสำคัญทางพระศาสนา

    ทั้งนี้ ท่านยังได้จัดบรรพชาสามเณรถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันที่ 5 ธันวามหาราช และวันที่ 12 สิงหามหาราชินี เป็นประจำทุกปี

    ด้านสาธารณสงเคราะห์ ได้สร้างถาวรวัตถุจนได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่นของจังหวัดนครสวรรค์ บำรุงดูแลบุคคลผู้ยากไร้ สงเคราะห์ศพไม่มีญาติ ปีละหลายร้อยศพ ในช่วงที่มีอุทกภัยใหญ่ที่นครสวรรค์ ได้ออกเยี่ยมเยียนพระสงฆ์ประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งนำข้าวสาร อาหารแห้งและปัจจัยต่างๆ ไปแจกจ่ายบรรเทาทุกข์จนถึงที่

    นอกจากนี้ ยังให้ใช้วัดเป็นสถานที่ประชุมการคณะสงฆ์ เป็นสถานที่อบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวง เป็นที่ฝึกซ้อมพระอุปัชฌาย์ เป็นประธานจัดตั้งกองทุนศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์และเป็นที่พักของผู้เดินทางศึกษาพระพุทธศาสนา

    ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2503 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมือง

    พ.ศ.2506 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์

    พ.ศ.2507 เป็นเจ้าอาวาสวัดวรนาถบรรพต พ.ศ.2512 เป็นเจ้าคณะตำบลปากน้ำโพ พ.ศ.2514 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2516 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครสวรรค์

    พ.ศ.2517 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองนครสวรรค์ พ.ศ.2527 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์

    พ.ศ.2538-2540 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ.2540 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์

    พ.ศ.2546 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค 4 ประชุมพระสังฆาธิการและตรวจการคณะสงฆ์ในเขตนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ จนถึงปัจจุบัน

    ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2512 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูวิศิษฎ์จริยาวัตร

    พ.ศ.2517 เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2523 เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

    พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสุธีธรรมโสภณ

    พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชพรหมาภรณ์

    สำหรับวัตรปฏิบัติที่พระเดชพระคุณพระราชพรหมาภรณ์ ปฏิบัติเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด คือการออกบิณฑบาต ลงพระอุโบสถทำวัตรเช้า-เย็น พร้อมทั้งนำพระภิกษุสงฆ์-สามเณร ปฏิบัติธรรม ทำสมาธิเจริญสติภาวนา และเทศนาสั่งสอนประชาชนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และปกครองคณะสงฆ์ด้วยหลักคุณธรรม เมตตาธรรม

    ส่วนการศึกษาด้านวิทยาคม พระราชพรหมาภรณ์ ปรารภว่า "พอจะมีความรู้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ด้วยมุ่งเน้นทางด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรมมากกว่า โดยปกติส่วนตัว ชอบอยู่แบบสงฆ์ผู้ใฝ่ในทางสงบสันติ อยู่แบบเรียบง่าย ไม่ปรารถนาที่จะมีความเด่นดังแต่อย่างใด"

    ด้วยความเมตตาที่ท่านมีให้กับชนทุกผู้ทุกนามเสมอกัน ท่านจึงเป็นพระเถระอาวุโสที่ชาวนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยหลักคุณธรรมเมตตาธรรม

    ในวาระมหามงคล เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้

    พระราชพรหมาภรณ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพญาณมุนี

    โดยจะได้เข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

    ยังความปลื้มปีติยินดีแก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง
     

แชร์หน้านี้

Loading...