พระมหาจักรพรรดิ วัดพระพุทธบาทสี่รอย

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย สันโดษ, 16 พฤศจิกายน 2008.

  1. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    พระพุทธบาทสี่รอย

    ตำนานพระพุทธบาทสี่รอย

    เมื่อสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ ได้เสด็จจารึกประกาศธรรม และโปรดเวไนยสัตว์

    มายังประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือ ของประเทศ ชื่อเขา "เวภารบรรพต"

    ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก 500 องค์ และได้แวะฉันจังหัน อยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้


    เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จ ขณะประทับอยู่ที่นั้น ก็ได้ทราบด้วยญาณสมาบัติว่า

    บนเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า มาประทับอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่ คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้

    และพระพุทธเจ้าก็ทรงเล็งดู รอยพระพุทธบาทแห่งพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์

    คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ , พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และ พระพุทธเจ้ากัสสปะ

    อันมีในที่นี้ พุทธสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นประธาน เมื่อเห็นเช่นนี้ จึงทูลถามว่า

    พระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย สถานที่แห่งนี้ แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์

    ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ก็มาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี่ทุกๆ พระองค์ และแม้นว่า พระศรีอริยเมตไตร

    ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี่ และจักประทับรอยพระบาทสี่รอยนี้ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว

    (คือประทับลบรอยทั้งสี่ ให้เหลือรอยเดียว)



    เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแก่สาวกทั้งหลายเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาท ซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์

    จึงมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ จึงเกิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอย

    เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้นแล้ว

    ก็ทรงอธิษฐานว่า ในเมื่อ(เรา) ตถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็จักนำเอาพระธาตุของตถาคต มาบรรจุไว้ที่รอยพุทธบาทที่นี่

    ในเมื่อตถาตนิพพานไปแล้ว 2,000 ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้ก็จักปรากฏแก่ปวงคนและเทวดาทั้งหลาย ก็จักได้มาไหว้และบูชา

    เมื่อทรงอธิษฐานและทำนายไว้ดังนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปเชตวันอาราม อันมีในเมืองสาวัตถีนั้นแล

    เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็นำเอาพระธาตุของพระพุทธองค์ มาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาทสี่รอย

    เมื่อพระพุทธองค์นิพพานล่วงแล้วมาประมาณ 2,000 วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการอยากให้พระพุทธบาทสี่รอยปรากฏแก่คนทั้งหลาย

    ตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานไว้ ก็จึงเนรมิตเป็นรุ้งตัวใหญ่(เหยี่ยว) ก็บินลงจากเขาเวภารบรรพต

    อันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้ เพื่อบินลงไปเอาลูกไก่ของชาวบ้าน(คนป่า) ที่อยู่ตีนเขาเวภารบรรพต

    แล้วก็บินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา มันก็โกรธมาก จึงตามขึ้นไปคิดว่าจะยิงเสียให้ตาย มันก็ติดตามไปค้นหาดู แต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้นเท่า

    แต่เห็นรอยพระพุทธบาทสี่รอยอันอยู่พื้นต้นไม้และเถาวัลย์ พรานป่าผู้นั้นก็ทำการสักการะบูชา เสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา

    พอมาถึงหมู่บ้านก็เล่าบอกแก่ชาวบ้านทั้งหลายฟัง ความอันนั้นก็ปรากฎสืบๆกันไปแรกแต่นั้นไป

    คนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชามาก แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า "พระบาทรังรุ้ง" (รังเหยี่ยว)

    ในสมัยนั้นมีพระยาคนหนึ่งชื่อว่า พระยาเม็งราย เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราชศรัทธา

    อยากเสด็จขึ้นไปกราบพระพุทธบาทสี่รอย ก็นำเอาราชะเทวีและเสนา พร้อมกับบริวารทั้งหลาย เมื่อพระยาเม็งรายกราบนมัสการเสร็จแล้ว

    ก็นำเอาบริวารของตนกลับสู่เชียงใหม่ ก็ตั้งอยู่เสวยราชสมบัติตราบแม้นอายุขัย แล้วลูกหลานที่สืบราชสมบัติก็เจริญรอยตาม

    และได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาททั้งสี่รอย ทุกๆพระองค์ หลังจากนั้นมาพระบาทรังรุ้งหรือรังเหยี่ยวนี้

    ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "พระพุทธบาทสี่รอย" เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึงสี่รอย มาในสมัยยุคหลัง

    คนทั้งหลายจึงเรียกขานกันว่า พระพุทธบาทสี่รอย คือมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ

    รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรก เป็นรอยใหญ่ ยาว 12 ศอก

    รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก

    รอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะ เป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก

    รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าโคตมะ (ศาสนาปัจจุบัน) เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กสุด ยาว 4 ศอก

    เมื่อถึงสมัยพระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยบริวาร 500 คน ก็ขึ้นไปกราบสักการะบูชาพระพุทธบาทสี่รอย

    และได้สร้างพระวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอย ไว้ชั่วคราว โดยแต่เดิม ถ้าใครจะดูรอยพระพุทธบาทบนยอดหินก้อนใหญ่

    ต้องใช้บันไดพาดขึ้นไป หรือปีนขึ้นไปดู ซึ่งก็คงขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ดังนั้นพระยาธรรมช้างเผือก

    จึงตรัสสร้างแท่นยืนคล้ายๆนั่งร้าน รอบๆก้อนหินที่มีพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อที่ผู้หญิงจะได้เห็นรอยพระพุทธบาทด้วย และได้สร้างหลังคา

    ชั่วคราวมุงไว้


    ต่อมาในสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมี ก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้มีพระราชศรัทธราก่อนสร้างวิหาร

    เป็นการกราบบูชารอยพระพุทธบาทไว้ 1 หลัง หลังเล็ก ปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วทั้งหลัง จะเหลือไว้แต่ผนังวิหาร พื้นวิหาร

    และแท่นพระ ซึ่งยังเป็นของเดิมอยู่ ถ้าหารท่านใดมีโอกาสขึ้นไปนมัสการพระบาทสี่รอย ก็จะเห็นวิหารแห่งนี้

    โดยเราเดินขึ้นบันไดไปบนเขา พอพ้นบันไดก็จะเห็นวิหารหลังนี้

    พอมาสมัยเมื่อปี พ.ศ.2472 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้รื้อพระวิหาร

    ที่เจ้าพระยาธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราว และได้สร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ใหม่ และได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทไว้

    เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพระพุทธศาสนาไปตลอดกาลนาน

    ด้วยวัดพระพุทธบาทสี่รอย เป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์ จึงนับได้ว่า

    เป็นปูชนียสถานที่มีความสำคัญมาก เป็นที่สักการะบูชาของคนและเทวดาทั้งหลาย จากสาส์นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

    ทรงบันทึกไว้ว่า พระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้ เป็นพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แม้ในกรุงศรีอยุธยาก็ยังจำลองไว้

    ที่ปราสาทนครหลวง ที่วัดจันทร์ลอย ซึ่งพระพุทธบาททั้ง 4 รอยนี้ ครูบาอาจารย์ พระธุดงค์กรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

    หลายองค์ อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ชอบ ฐานโม, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร และอีกหลายๆองค์

    ได้ธุดงค์ขึ้นไปกราบนมัสการมาแล้ว และได้รับรองว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่แท้จริง

    ดังธรรมเทศนาตอนหนึ่งของหลวงปู่สิมว่า

    "ในเขตเชียงใหม่นี้ยังมีพระบาทสี่รอยอยู่เขตอำเภอแม่ริม แต่ว่าลึกเข้าไปในภูเขา หลวงปู่ผู้เทศน์ไปดูมาแล้วไปกราบ ไปไหว้

    มันเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ มันเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขึ้นไป อยู่ข้างริมแม่น้ำ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ได้มาตรัสรู้ในโลก

    ท่านก็มาประทานเหยียบรอยพระบาทไว้ ในยอดหินก้อนนั้นน่ะ ยาว 12 ศอก เมื่อหมดศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันโธแล้ว

    พระพุทธเจ้าโกนาคม ก็มาตรัสรื้อขนสัตว์ไปอีก ก่อนนิพพาน ท่านก็มา เหยียบไว้ที่พระบาทแม่ริมนี้เป็นรอยที่สอง (ขนาดลดลงมา)

    มาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสโป ตรัสรู้ ท่านก็มา เหยียบไว้ได้สามรอย และพระพุทธเจ้าโคดม มาตรัสรู้

    ก่อนที่ท่านจะนิพพานก็มาเหยียบรอยพระบาทไว้ในหิน ก้อนเดียวกัน


    จึงให้ชื่อว่า "พระพุทธบาทสี่รอย" ยังมี พระศรีอาริยเมตไตรโพธิสัตว์ จะมาตรัสรู้แล้วโปรดเวไนยสัตว์ ก็มาเหยียบไว้อีก

    เรียกว่าแผ่นดินที่เราเกิดมานี้ นับเป็น แผ่นดินที่ร่ำรวยที่สุด แผ่นดินนี้เรียกว่า "ภัทรกัป" มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ได้ 5 พระองค์

    พระพุทธเจ้าองค์ใด มาตรัสสอนก็ตาม ก็สอนให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ละกิเลส ความโกรธ ความโลภ

    และความหลงอันเก่านี้แหล่ะ เมื่อผู้ใดปฏิบัติภาวนาบารมีเต็มแล้ว ก็จะรู้แจ้งพระนิพพาน เมื่อรูปนามแตกดับแล้ว ก็ไปสู่นิพพาน

    ไม่ต้องมาวนเวียนว่ายตายเกิดในโลกอันแสนทุรกันดารนี้ อีกต่อไป"




    ข้อความนี้คัดลอกจากหนังสือพุทธาจารานุสารณ์ที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

    สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พุทธศักราช 2536 และประวัติความเป็นมาในตอนต้นนั้น

    ได้แปลออกมาจากพระคัมภีร์โบราณที่นักปราชญ์สมัยโบราณ ได้จารึกไว้สืบๆกันมา



    ดังนั้นก็นับว่าพระพุทธบาทสี่รอยนี้ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นที่สักการะบูชามาช้านาน

    ถ้าหากว่าผู้ใด มีจิตศรัทธาที่จะขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ก็ควรมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เมื่อไปถึงแล้วก็ควรที่จะสำรวม กาย วาจา ใจ ให้มันเป็นปกติ ก็ชื่อว่ารักษาศีล ทำให้เกิดสมาธิ ให้มีจิตใจที่ตั้งมั่น

    ทำให้เกิดปัญญาและจักได้ชื่อว่า เจริญรอยตามรายพระบาทของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง




    การที่มีคนศรัทธาเดินทางขึ้นไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ก็เหมือนกับว่ามีดวงจิต ดวงใจอยู่ในสมาธิภาวนา

    มีพุทธานุสติเกิดขึ้นในจิตใจ และประกอบไปด้วยความศรัทธา และความเพียร ขันติ ความอดทน ก

    ารที่จะขึ้นไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ถนนหนทางไม่สู้จะสะดวกเท่าไร เป็นทางขึ้นเขาทางเดินแคบ ขึ้นได้สะดวกก็ช่วงฤดูแล้ง

    ช่วงฤดูฝนลำบาก จึงเป็นการวัดถึงจิตใจของ พุทธศาสนิกชนว่าจะมีคนศรัทธา มีวิริยะที่จะมีขึ้นไปได้

    ถ้าหากว่าใครได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็นับว่าเป็นสิริมงคล และจะได้รับผลานิสงส์อย่างมากๆ


    ดังนั้นขอให้พุทธบริษัททั้งหลายที่ได้ขึ้นมากราบนมัสการ พระพุทธบาทสี่รอยแล้ว และท่านที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับความเป็นมา

    ของพระพุทธบาทสี่รอยนี้แล้ว ก็ใคร่จะกล่าวกับท่านทั้งหลายว่า การที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ มาประทับรอยพระบาทไว้ที่นี่

    ก็เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย ดังนั้นการที่เราได้กราบนมัสการ รอยพระพุทธบาท

    ด้วยเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ ธูป เทียน ก็ยังไม่ได้เจริญตามรอยบาทของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวังให้เราทั้งหลาย

    เจริญรอยตามรอยบาทของพระองค์ด้วยการ ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา

    ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่ พระพุทธองค์ทรงโปรดให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย








    คำไหว้พระพุทธบาทสี่รอย

    สาธุ โกสัมพิยัง อะวิทูเร เวภาระ ปัพพะเต กะกุกสันโธ โกนาคะมะโน กัสสะโป โคตะโม

    ปาทะเจติยัง ชินธาตุ จะฐะ เปตวา อะหังวันทามิ ทูระโต






    ข้อมูลจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=gazembo&group=3


    <!-- End main-->
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 พฤศจิกายน 2008
  2. ปริยาภัทร

    ปริยาภัทร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    171
    ค่าพลัง:
    +307
    อนุโมทนาสาธุค่ะ
    ได้ไปกราบนมัสการมาแล้วค่ะ งดงามมากๆเลยค่ะ..
     

แชร์หน้านี้

Loading...