แสดงเมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2524 นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) นิพพานัง ปรมัง สุขังตีติ ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะแสดงพระสัทธรรมเทศนาในนิพพานคาถาเพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ที่บรรดาท่านนริศราทานบดีทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลประจำปักษ์ คือ วันพระขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ทั้งนี้เพราะว่า บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทุกคนมีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ จึงได้พากันปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมเชษฐ์ สำหรับวันนี้ตั้งใจจะเทศน์เรื่องนิพพาน คำว่านิพพานนี่ก็แปลว่าดับ ท่านจัดได้เป็นหลายประเภทด้วยกัน คือว่า นิพพานนี่ ดับกิเลส มีปัญจขันธ์เหลือบ้างหรือมีความดับชั่วคราวบ้าง แต่ทว่าในวันนี้จะขอพูดเรื่องนิพพาน มาตรฐานที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง ซึ่งแปลเป็นใจความว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ทว่าเรื่องนิพพานนี้ ความเข้าใจเฝือของท่านบรรดาพุทธบริษัทมีอยู่มาก ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้จุดหนึ่งว่า นิพพัง ปรมัง สุญญัง ซึ่งแปลเป็นใจความว่า นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง คำว่าสูญในที่นี้โดยมากส่วนที่แปลศัพท์มักจะทับศัพท์ใช้คำว่าสูญแต่ความจริงคำว่าสูญนั้นก็แปลว่า ว่าง นั่นก็หมายความว่า บุคคลใดที่จะเข้าถึงนิพพานได้ ต้องว่างด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 1. ว่างจาก โลภะ 2. ว่างจาก โทสะ 3. ว่างจาก โมหะ เพราะว่าโลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี ทั้ง 3 ประการนี้เป็นรากเหง้าของกิเลส เพราะว่ากิเลส คือ ความชั่วความมัวหมองของจิตที่เรียกว่า จิตคิดชั่ว กิเลสทั้งหมดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตตรัสว่า ชั่วแล้วนับปริมาณไม่ได้ แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า กิเลสเป็นตัวย่อยทั้งหมด คำกล่าวโดยรวมแล้วก็ได้ 3ประการคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉะนั้นองค์สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าจิตของบุคคลใดว่างจากกิเลสทั้ง 3 ประการ คือ โลภะ ความโลภไม่มีในจิต โทสะ ความโกรธไม่มีในจิต โมหะ ความหลงไม่มีในจิต อย่างนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิศรกล่าวว่า เป็นผู้มีความว่างจากกิเลส นั่นคือ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง คือ นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง เมื่อเหตุทั้ง 3 ประการนี้ว่างไปจากใจ ความสบายใจก็ปรากฏ ความผ่องใสของจิตก็ปรากฏ เมื่อความสบายใจ ความผ่องในปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงตรัสว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง การเข้าถึงพระนิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง คราวนี้ถ้าจะถามกันว่า นิพพานมีสภาวะหรือไม่มีสภาวะ ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยตรัสกับบรรดาพระที่เข้าไปถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าง พระโมคคัลลาน์เจ้า เป็นต้น พระโมคคัลลาน์ เคยถามพระพุทธเจ้าว่า ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทะเจ้าข้า คนที่ถึงนิพพานแล้ว ชื่อว่ามีสภาพสูญแล้วใช่ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคำว่านิพพานนี่ ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีที่อยู่ใช่ไหม พระเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฏีกาตรัสว่า โมคคัลลานะ ดูกร โมคคัลลาน์ คำว่านิพพานนั้นเป็นสถานที่พิเศษ คือไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการแก่อีกไม่มีการตายอีก ไม่ใช่สภาพสูญ เดิมทีเดียว ท่านโมคคัลลาน์ มีความเปรียบเทียบว่า นิพพานเหมือนกับควันไฟลอยไปในอากาศใช่ไหม สมเด็จพระจอมไตรก็ตอบว่าไม่ใช่ แล้วต่อมาพระอื่นก็ถามว่า พระนิพพานมีความเกิดไหม พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า นิพพานนี่ชื่อว่าเกิดก็ไม่ใช่ จะว่าไม่เกิดก็ไม่ใช่ ถ้าใช้คำว่าเกิดก็ต้องมีคำว่าตายเป็นของคู่กัน ถ้าหากไม่ใช่คำว่าเกิด สภาวะก็มีอยู่ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระบรมครูจึงตรัสว่า นิพพานจัดเป็นทิพย์พิเศษ คือ ทิพย์จิรงๆ ที่มี 2 อย่าง คือ โลกทิพย์ได้แก่ เทวโลก และอีกโลกหนึ่ง คือ พรหมโลก ก็เป็นโลกทิพย์เหมือนกัน ทั้ง 2 อย่างนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะเป็นทิพย์ คือ เกิดขึ้นด้วยกำลังของบุญ สำหรับเทวโลกเกิดขึ้นได้ด้วยกำลังของทานบ้าง ของศีลบ้าง ของอุปจารสมาธิบ้างสำหรับโลกพรหมที่จะไปเกิดได้นั้น ต้องอาศัยฌานสมาบัติ แต่ว่าโลกทิพย์ทั้ง 2 ประการนี้ มีการเคลื่อน หมายความ ถ้าหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องจากไป ไปเกิดจุติ ไปเกิดเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง ตามแต่กฎของกรรม สำหรับพระนิพพานนี่ถือเป็นทิพย์พิเศษ คือ ไปแล้วไม่มีการเคลื่อน มีความ เกิดเป็นปกติ มีความอยู่เป็นปกติ อารมณ์นิดหนึ่งที่เป็นความหนักของพระนิพพานย่อมไม่มี เหตุฉะนั้นองค์สมเด็จพระชินศรีได้ตรัสว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ที่นี้ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่า คนทุกคนมีความดีพอที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ทุกคน ความที่องค์สมเด็จพระทศพลตรัสในสมัยเมื่อเสด็จลงสู่ประตู เมืองสังกัสนคร วันนั้นองค์สมเด็จพระชินวรทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์พิเศษ บันดาลให้พรหมก็ดี เทวดาก็ดี มนุษย์ก็ดี สัตว์ก็ดี เปรตอสุรกาย สัตว์นรกก็ตาม ต่างคนต่างเห็นกันหมด บรรดานรก ทั้งหลายก็เว้นจากการลงโทษชั่วคราว สัตว์นรกก็มีความสุข และก็วันนั้นนั่งเองใครพูดกันที่ไหน ต่างคนก็ต่างได้ยิน ต่างคนก็ต่างได้รู้เรื่อง ต่างคนต่างรู้ภาษากัน เป็นเหตุให้องค์สมเด็จพระภควันต์เป็นที่เป็นจุดมุ่งหมาย คือ ผูกใจของบรรดาประชาชนทั้งหลาย ในตอนนั้นมีท่านผู้หนึ่งถามว่า ท่านที่จะได้นิพพานได้ เฉพาะเทวดาหรือพรหมหรือมนุษย์เท่านั้นใช่ไหม สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า การที่ไปนิพพานได้ไปได้หมด คือ พรหมก็ไปนิพพานได้ เทวดาก็ไปนิพพานได้ มนุษย์ก็ไปนิพพานได้ สัตว์ก็ไปนิพพานได้ คำว่าสัตว์ไปนิพพานได้ ในที่นี้องค์สมเด็จพระชินศรีทรงหมายความว่า สัตว์ทุกคนที่เกิดเป็นสัตว์ ตั้งแต่สัตว์ใหญ่และสัตว์เล็กก็ตาม นั่นคือ คน คนที่สร้างกรรมที่เป็นอกุศล สร้างความชั่ว ถ้ากำลังของกรรมหนักจริงๆ พกคนลงนรกไปก่อนเป็นสัตว์นรก เมื่อกรรมเบาขึ้นมาหน่อยหนึ่งผ่านจากนรกก็มาเป็นเปรต จิตใจก็ยังมีความรู้สึกอย่างคน เมื่อกรรมเบาไปอีกนิดหนึ่ง พ้นจากความเป็นเปรตมาเป็นอสุรกายความรู้สึกก็เท่าคน เพราะใจมันเป็นคน จากอสุรกายมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน จากสัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่ แต่ความรู้สึกความต้องการของใจก็เท่ากับใจคน คือ จิตเป็นจิตคน ที่องค์สมเด็จพระทศพลกล่าวว่า แม้แต่เทวดา พรหม คน หรือสัตว์ สามารถไป นิพพานได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสตามความเป็นจริง ดังจะเห็นได้ว่าตามที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งชายและหญิง อาจจะเคยได้ยินอยุ่เสมอว่าในสมัยครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดเป็นพญาเหี้ย แต่ความจิรงจะเรียกว่าเหี้ยเฉยๆ ก็ได้ แต่ว่าเหี้ยพระโพธิสัตว์เขาเรียกว่า พญาเหี้ย ที่เรียกว่า พญาเหี้ย ก็เพราะมีความฉลาดกว่าเหี้ยธรรมดา ถึงแม้จะเป็นสัตว์ก็มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในวันหนึ่ง เทวทัต ในสมัยนั้นบวชเป็นดาบสพระพุทะเจ้าเป็นเหี้ยก็ไปจำพรรกษาเจริญสมณะรรมอยู่ใกล้กับโพรงไม้ที่พญาเหี้ยอยู่สมเด็จพระบรมครูในเวลานั้นเป็นเหี้ยก็จริงแล แต่ว่าใจเป็นคน ถึงแม้สัตว์ทุกตนก็มีสภาพเช่นเดียวกัน จะคิดว่ามีใจเหมือนคนแต่เฉพาะพระโพธิสัตวืสัตว์นั้นไม่ได้สัตว์ทุกประเภทอย่าลืมว่าจิตใจก็คือจิตใจคน จะถือว่าอยู่ในอบายภูมิ เพราะกรรมชั่วบังคับให้ยอู่ในสภาพของสัตว์ย่อมมีความปรารถนาไม่สมหวัง เป็นทุกข์ เขาลงโทษ และสำหรับพญาเหี้ย พอออกจากโพรงออกมาเห็นดาบสห่มจีวรสีกรักนั่งหลับตาก็มีความเลื่อมใส ว่าท่านผู้นี้มีกำลังใจสูง ทำบำเพ็ญพรตปรากฏ เพื่อความบริสุทธิ์ของจิตฉะนั้นเหี้ยสมเด็จพระธรรมสามิศรา เวลาจะไปหากินก็เดินย้อนมาที่ดาบสก่อนมาถึงข้างหน้าก็ก้มศีรษะลงกับพื้น 3 ครั้ง เป็นการแสดงความเคารพในผ้ากาสาวพัตร์ หลังจากนั้นหน่อพระบรมโพธิสัตว์จึงได้ไป เวลาจะกลับมาเข้าที่อยู่ไซร้ ก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน ทำอย่างนี้อยู่หลายวันปรากฏว่าในกาลนั้น ในวันต่อมาดาบสผู้ที่ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ว่ามีใจเลวว่าสัตว์ คือ พระเทวทัต เกิดมีความรู้สึกว่า เราอยู่ในป่านี้ กินแต่หัวเผือกหัวมัน กินแต่ลูกไม้ใบไม้ หรือรากไม้ อาหารที่มีรสอร่อยไม่เคยปรากฏกับตัวเองเลยแต่วาเจ้าเหี้ยตัวนี้มันอ้วนดี ถ้าเราได้กินจะมีรสอร่อยมาก ฉะนั้นเวลาตอนกลางวันที่เหี้ยยังไม่กลับมาจากกการหากิน ดาบสทรชนคนนั้นก็ไปเก็บเอาเครื่องเทศ เครื่องแกง เอาเครื่องแกงมาเก็บห่อเข้าไว้ ไว้ใกล้ๆวันรุ่งขึ้นเช้าก่อนที่พญาเหี้ยจะออกมา นั่งกลับตาเข้าสมาธิ แต่ว่าเอากระบองไว้ในจีวร เอามือกุมไว้ใกล้ๆ ตั้งใจว่าวันนี้ถ้าเหี้ยตัวนี้มาหมอบก้มหัวต่อหน้าเราเมื่อไหร่ เราจะตีให้ตาย แล้วก็นำมาแกงกิน ก็เป็นการย่อมบังเอิญอย่างยิ่ง ขึ้นชื่อว่าพระโพธิสัตว์จะเกิดเป็นอะไรก็มีความฉลาด ฉะนั้นในเวลาตอนเช้า องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถซึ่งเป็นพญาเหี้ยโผล่ศีรษะออกมาจากโพรงตั้งใจจะเข้าไปนมัสการดาบสทรชนคนนั้น แต่ทว่าสมเด็จพระทรงธรรม์ ซึ่งเป็นพญาเหี้ยมองไปแล้วเห็นตาของดาบสหลับไม่สนิทดังก่อน สมเด็จพระชินวรจึงได้มาคิดว่า ดาบสคนนี้น่าจะมีการทุกจริตคิดไม่ชอบ มองแล้วไม่น่าไว้ใจ ก็ผลุบหัวเข้าไปในโพรงใหม่ สำหรับ เทวทัต กำลังหรี่ตาจ้องมองดูอยู่ เห็นสมเด็จพระบรมครู ไม่โผล่หัวออกมา ก็นึกในใจ ไอ้เจ้าเหี้ยตัวนี่ระยำ ไม่ออกมาตามเคยแต่ไม่เป็นไร ประเดี๋ยวมันก็ออกมา ทำท่าหลับตาไม่สนิทแบบนั้น พอวาระที่ 2 สมเด็จพระทรงธรรม์ก็โผล่ออกมาจากโพรงอีก ก็เห็นตา เทวทัต หลับไม่สนิทอีก ก็หลบเข้าไปใหม่ ทีนี้ตาดาบส เทวทัต เจ็บใจ เพราะคิดว่าไอ้เหี้ยวตัวนี้น่ากลัวจะรู้ว่ากุจะฆ่ามัน ถ้าออกมาคราวนี้ ไม่ทันที่มันจะผลุบเข้าไปจะคว้าไม้มาขว้างหัวกบาลให้มันตาย เราจะกินเนื้อมันก็เป็นการพอดี ที่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์หรือพญาเหี้ย โผล่ศีรษะมาเป็นวาระที่ 3 จ้องมอง เทวทัต เห็นหลับตาไม่สนิท พอสมเด็จพระธรรมสามิศรจะดึงศีรษะเข้า พระเทวทัต ก็คว้าไม้ขว้างไปทันที แต่ด้วยความไวขององค์สมเด็จพระชินศรี พระเทวทัต ขว้างไม่ถูก เผอิญไอ้โพรงไม้นั่นก็อยู่ใกล้แม่น้ำ เมื่อเอาไม้ขว้างไป องค์สมเด็จพระจอมไตรหลบมันก็ไม่ถูก ท่านจึงได้โผบ่หัวออกมา กล่าวว่าสมณะ ท่านทรงผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้ากาสาวพัสตร์ คือผ้าย้อมน้ำฝาดเป็นธงชัยพระอรหันต์ แต่ว่าจิตใจของท่านมันเลวกว่าเราซึ่งเป็นเหี้ยเสียอีก ระวังนะจะกินเหี้ย ระวังเหี้ยมันจะด่าเอานะ นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ เราจะไปคิดว่าสัตว์เป็นสัตว์ต่ำทรามเสมอไปนั้นไม่ได้ คือจิตใจเป็นคน องค์สมเด็จพระทศพลตรัสว่า แม้แต่สัตว์ก็สามารถไปพระนิพพานได้ เป็นความจริง เพราะว่าถ้าสัตว์ทั้งหมดเขาชำระกฎของกรรมเดิมทั้งหมด หมดสิ้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็มาเกิดเป็นคน สามารถบำเพ็ญกุศลเข้าถึงนิพพานได้ ทีนี้การจะเข้าถึงนิพพานได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสไว้เป็น 4 แบบด้วยกัน คือ แบบที่ 1 คือ สุกขวิปัสสโก แบบที่ 2 เตวิชโช แบบที่ 3 ฉฬภิญโญ แบบที่ 4 ปฏิสัมภิทัปปัตโต สำหรับแบบที่ 1 ขึ้นชื่อว่าง่ายแต่ทำยาก คือ ปฏิบัติแล้วไม่เห็นอะไรเหมือนคนเอาผ้าดำปิดตาเดิน แบบที่ 1 จะกล่าวกันไปก็เหมือนกับบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทำกันอยู่เวลานี้ ถ้าไม่เลิกก็ถึงพระนิพพานเหมือนกัน แบบที่ 1 ก็ได้แก่ 1. ทาน 2. ศีล 3. ภาวนา ทำใจแบบสบายๆ ตัดกิเลส 3 ประการ ถ้าตัดได้เมื่อไหร่ก็ไปถึงพระนิพานเมื่อนั้น 1. ทานมัย การให้ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายถวายกับพระก็ดี ให้แก่คนยากจนก็ดี ให้แก่คนที่มีความลำบากก็ดี ให้แก่สัตว์เดรัจฉานก็ดี ก็จัดชื่อว่าเป็นทาน และการให้ทานถ้าเรามีความมุ่งหมายอย่างอื่น พาดจากนิพพานไปนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่มากนัก ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งใจโดยเฉพาะเพื่อตัดกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน คิดว่าการให้ทานตัวนี้ ให้เพื่อตัดโลภะ ความโลภที่มีอยู่ในจิตของเรามันเป็นสิ่งสกปรก เราให้ไปไม่หลังผลตอบแทนใดๆ ในชาติปัจจุบันสำหรับท่านผู้รับ เขาจะนำไปใช้หรือเขาจะนำไปทิ้งมันเป็นเรื่องของเขา แต่กำลังใจของเราตัดเยื่อใยในความผูกมัดในทรัพย์สมบัติเกินไป ไม่มีในจิต อย่างนี้พระธรรมสามิศรชื่อว่าชนะความโลภ เป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ รากเหง้าในรากเหง้าหนึ่ง 2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการักษาศีล การรักษาศีลถ้าจะว่ากันตามประเพณีประโยชน์น้อยเต็มที ถ้าพระเสมอว่า ปาณาติปาตา เวรมณี ปาพระปามาและก็ปาไป (หัวเราะ) ต่างคนต่างปาต่างก็ไม่ได้อะไร ถ้าจะรักษากันได้จริงๆ แล้วก็จะต้องรู้พื้นฐานของศีล พื้นฐานที่เราจะมีศีลอยู่ได้ มันมีอะไรอยู่บ้าง จับตัวนี้ให้มันอยู่ เพราะว่าศีลคือตัวตัวความโกรธ คือตัดกิเลสตัวที่ 2 ถ้าสักแต่ว่า สมาทาน มันก็ไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองที่เขาสอนพูด ประโยชน์มันมีเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้หนึ่งในร้อย ถ้ารักษากันให้ดี ก็ไปนิพพานได้ จงจำไว้ว่า ศีลที่จะมีขึ้นกับใจได้ต้องมีเหตุ 3 ประการ คือ 1. เมตตา ความรัก 2. กรุณา ความสงสาร 3. สันโดษ ยินดีเฉพาะของที่เรามีอยู่ในเฉพาะ หมายความของที่เราหามาได้เอง โดยชอบธรรม เรายินดี เราไม่ยินดีในทรัพย์สินบุคคลอื่นที่เราจะลักเล็กขโมยน้อยรวมความว่า การรักษาศีล ศีลจะทรงอยู่ได้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ารักษาศีล คือ 1. มีเมตตา ความรัก จิตคิดเสมอว่า เราเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วโลก จะไม่เบียดเบียนไม่เป็นภัยกับใคร ไม่เป็นศัตรูกับใคร จะคบหาสมาคมบุคคลอื่นเหมือนคบหาตัวเอง เราจะรักคนอื่นเหมือนเรารักตัวเอง เวรภัยมันก็ไม่มีแล้ว ประการที่ 2 จิตคิดสงสารหวังเกื้อกูลให้มีความสุข คิดว่าถ้าเราสงสารตัวเราเท่าไหร่ เราก็สงสารเขาเท่านั้น เว้นไว้แต่เรื่องผิดระเบียบวินัยประเพณี ต้องลงโทษกันตามประเพณี อย่างพระพุทธเจ้าลงโทษพระ ลงโทษพระเพราะความเมตตาปรานี เกรงว่าจะเลวกันเลยไปกว่านั้น อย่างนี้เขาไม่ถือเป็นความโกรธ ข้อที่ 3 สันโดษ ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่โดยชอบธรรม และยินดีเฉพาะบุคคลรัก คือ คนรักที่เรามีอยู่โดยชอบธรรม ไม่ล่วงคนรักของบุคคลอื่นการรักษาศีลท่านบรรดาพุทธศาสนิกชน รักษาศีลด้วยเหตุ 3 ประการ อย่างนี้ โทสะ ความโกรธมันก็ลดลง ทว่าทุกวันเมื่อเราตื่นขึ้นมาเราก็ตั้งใจเว้นความโกรธอยู่แล้วความรักเป็นการตัดความโกรธของบุคคลอื่น เหตุการรักษาศีลก็ดี องค์สมเด็จพระชินศรีทรงกล่าวว่า ค่อยๆ รักษาไปเรื่อยๆ ถ้าใจสบายๆ กิเลสคือ โทสะ ก็ค่อยๆ ลดๆ ไป ในที่สุดมันก็จะหมดไปเอง อันนี้ในด้านสุกขวิปัสสโก 3.ภาวนามัย ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรกล่าวว่า เรื่องของภาวนามัยด้านสุกขวิปัสสโกนี่มีฌานสมาบัติ เริ่มต้นไม่สูง เริ่มใช้อารมณ์พินิจพิจารณา ตั้งแต่ขณิกสมาธิ ในยามปกติเราให้ทาน ดูสิว่าการที่เราให้ทานทุกคน เมื่อเขารับทานมาแล้วเขาก็มีความสุข ในการบริโภคทาน แต่ว่าเราผู้ให้ทานก็ดี เขาผู้รับทานก็ดี คนทั้งหลายทั้งหมดนี้ ไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วก็ค่อยๆ เสื่อมไป ๆ ทุกวัน ในที่สุดก็ตายไปเหมือนกัน ผู้ให้ทานก็ตาย ผู้รับทานก็ตาย แต่ว่าเกิดขึ้นมาชีวิตอย่างนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์เราเกิดมาเราต้องทำมาหากิน เราต้องบริหารร่างกายเราต้องมีความหิวความกระหายปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ มีความหนาวความเย็นเกินไป อาการทั้งหมดนี้มันเป็นทุกข์เราผู้ให้ทานก็ทุกข์ ผู้รับทานก็มีทุก ๘ ไม่มีใครที่มีความสุขจริง เมื่อความแก่เข้ามาถึง เราก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาถึงเราก็ทุกข์ มีความปรารถนาไม่สมหวังเข้ามาถึงเราก็ทุกข์ ความตายจะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์ ?รวมความว่าเรากับเขาต่างคนต่างมีทุกข์ เรากับเขาต่างคนต่างไม่มีความจีรังยั่งยืน เรากับเขาต่าง คนต่างตาย จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสัตว์ก็ดี วัตถุธาตุก็ดีในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ นี่เป็นด้านวิปัสสนาญาณควบสมถะของ สุกขวิปัสสโก และต่อไปจิตคิดว่าถ้าเรายังหวังความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดีเราต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้หาที่สุดไม่ได้ ในเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่า นิพพาน เป็นสถานที่มั่งคงแดนอมตะ เรายอมเชื่อพระ ทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ทำลายความโลภด้วยการให้ ทาน ทำลายความโกรธด้วยศีล คือ เมตตา มีเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง ทำลายความหลงด้วย ปัญญา เห็นจริงว่าโลกนี้ไม่เที่ยง เท่าที่เกิดมาแล้วไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เนอนัตตา ในที่สุดจิตใจของเรานี้ปลอดเปล่าจากกิเลสทั้ง 3 ประการ คือ โลภะ ความโลภไม่มี โทสะ ความโกรธไม่มี โมหะ ความหลงไม่มี อย่างนี้ที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สูญญัง นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง คือ ว่างจากความเดือดร้อน คือว่างจากความโลภ ว่างจากความโกรธ ว่างจากความหลง จิตจะถึงจิตตรง คือ นิพพานัง ปรมัง สุขัง คือ นิพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ในเมื่อเชื้อสายความเร่าร้อนไม่มี จิตก็เป็นสุข อย่างนี้ท่านเรียกว่า นิพาน ดับกิเลสมีปัญจขันธ์เหลือ ?มีเวลาอีก 3 นาที พูดมากไม่ได้ ต่อจากนั้นไป องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัส เตวิชโช คือ วิชชา 3 อภิญญา 6 ปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าจะปฏิบัติให้เข้าถึงนิพพานได้รวดเร็วและได้กำไรมากกว่า กำลังดีกว่า ก็อย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า ได้ มโนมยิทธิ ต่างคนต่างไปถึงนิพพานแล้ว ไม่มีความสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วแล้ว อันนี้ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ แล้วก็มีศีลบริสุทธิ์ เขาเรียกว่าพระโสดาบันหรือ สกิทาคามี แต่ต้องระวังให้ดีให้ศีลบริสุทธิ์จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีล 5 แต่ศีล 5 บริสุทธิ์ เรียกว่า เข้าถึง สีลัพพตปรามาส ตัวนี้ได้ ถ้าไม่มีความสงสัยในพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าบอกสวรรค์นั้นมีจริง เราเจอะสวรรค์แล้ว เราพบแล้วทั้งหมด เอาว่าทุกคนไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคต ถาไม่สงสัยในคำสอนอย่างหนึ่ง ศีล 5 บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง อย่างนี้ท่านเรียกว่าพระโสดาบัน หรือ สกิทาคามี นี่การปฏิบัตินั้น มโนมยิทธิ กำไรกว่า สุกขวิปัสสโก มาก หลังจากนั้นท่านบรรดาพุทธบริษัทมีความมั่นใจในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทุกวันตามเวลาสมควรต่างคนต่างเอาจิตไปตั้งไว้ที่พระนิพพานตามปกติ ตามเวลาจิตจะว่างจากกิเลสถ้าเราไปอยู่ที่นั่น 1 ชั่วโมง จิตก็ว่างจากกิเลสบริสุทธิ์จริงๆ 1 ชั่วโมง ถ้าอยู่ครึ่งชั่วโมง ก็ว่างครึ่งชั่วโมง แต่ลุคราว อย่าลืมว่า วันหนึ่งทำได้ 1ครั้ง วันละ 1 ชั่วโมง 10 วัน 10 ชั่วโมง 100 วัน 100 ชั่วโมง 1,000 วัน 1,000 ชั่วโมง ไม่ช้าจิตใจก็มีความชุมชื่น มีความว่างจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ตายเมื่อไหร่ก็ถึงพระนิพาพนเมื่อนั้น?บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อาตมภาพเทศนามาใน นิพพานภาถา ก็ขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพยงเท่านี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ทั้ง 3 ประการ ขอจงดลบันดาลให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านมีแต้ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลและจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัย 4 ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ หากทุกท่านพึงปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาทุกประการ อาตมภาพรับประทานวิสัชนาในนิพพานคาถา ก็ขอยุติพระธรรม วัดป่าโนนวิเวกดอทคอม
ลูกขออนุโมทนาบุญในพระธรรมอันงามนี้และธรรมอันใดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤาษีฯได้ถึงซึ่งธรรมอันเป็นอมตะรสแล้วลูกพึงขอถึงธรรมอันเป็นอมตะรสในชาตินี้ด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ
สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ เชิญแวะอ่านธรรมะของหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง ที่ เฟสบุ๊ค ศูนย์พุทธศรัทธา และร่วมกันแบ่งปันธรรมะของหลวงพ่อฯ ไปยังกระดานของท่านเพื่อเป็นธรรมทาน <STRONG>เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น<O ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน<O ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่www.tangnipparn.com<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-comขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา </O>
[ame=http://www.youtube.com/watch?v=H2LDMEVNc3Q&feature=related]หลวงพ่อฤาษีสอนกรรมฐาน1 - YouTube[/ame]
กราบโมทนา สาธุ ท่านผู้มีใจบุญใจกุศล เสียสละเวลาหาบทความ นำบทความที่ดี มีสาระประโยชน์ ให้ผู้อ่านได้ศึกษา อันก่อให้เกิดปัญญาในการพิจารณา เมื่อปัญญาพิจารณาดีแล้ว จิตจะเป็นผู้กำหนด เป็นผู้เลือกความถูกต้อง ผิดชอบ ชั่วดี ถือว่าเป็น จาคะ คือการให้และการให้นั้น ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อีกทั้ง ถือว่าการให้นั้น เป็นธรรมทาน เป็นบุญใหญ่ สมดั่งพระธรรมคำสั่งสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพยดา ปรากฏใน ตัณหาวรรค ธรรมบท ว่า “การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง ผู้ใดให้ธรรมะเป็นทาน ผู้นั้นชื่อว่าให้พระนิพพานแก่คนทั้งหลาย“
อนุโมทนาด้วยค่ะ เคยฟังหลวงปู่เทศน์เรื่องนี้เมื่อตอนเป็นเด็ก จำได้ไม่เคยลืม และหลวงปู่ยังเคยให้การบ้านไปคิดว่าเราถือศีล 5 เพื่ออะไร ศีล 8 เพื่ออะไร