พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่ออุตตมะเรื่อง“กรรม”

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 21 กันยายน 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่ออุตตมะเรื่อง“กรรม”

    [​IMG]

    (หลวงพ่ออุตตมะ ได้แสดงหลักกรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อให้สาธุชนทั้งหลายเห็นแจ้งตามความเป็นจริง อันจะทำให้เกิดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป และส่งเสริมให้เกิดสัมมาปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไป จะเห็นได้จากธรรมบรรยายต่อไปนี้)

    คนเราบางทีก็ไม่น่าสงสัยกันเรื่อง นรกสวรรค์ พระพุทธองค์ก็แสดงธรรมอยู่ว่า ภุมมานัง เทวานัง...(...เหล่าภุมมเทวดาทั้งหลาย...) ตอนที่พระพุทธองค์เกิด เทวดาก็มีอยู่ และมีชื่อเรียกกันอยู่ทุกชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

    พรหมก็มีชื่ออยู่ทุกชั้น เริ่มตั้งแต่ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา จนถึงอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐะ

    อรูปพรหม ก็มีชื่อ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

    ที่มีปัญหากันอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะเราไปคิดในสิ่งที่เราไปไม่ถึง เราจะไปสงสัยอะไร เราต้องปฏิบัติตัวเรา เราต้องเชื่อพระพุทธเจ้าของเรา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เราจะถึงภวสมบัติ มนุษย์สมบัติ ก็ต้องเชื่อเรื่อง กรรม เราจะไปสงสัยทำไม เราต้องพิจารณากรรม กุสะลา ธัมมา (ธรรมอันเป็นกุศล) อกุสะลา ธัมมา (ธรรมอันเป็นอกุศล) มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องสงสัย
    อบายภูมิ หรือ นรก ก็มีอยู่คือ

    ๑.สัญชีวนรก
    ๒.กาฬสุตตนรก
    ๓.สังฆาฏนรก
    ๔.โรรุวะนรก
    ๕.มหาโรรุวะนรก
    ๖.ตาปนรก
    ๗.มหาตาปนรก
    ๘.อเวจีนรก

    กรรมที่เราทำดี – ไม่ดี ทำกรรมดีก็ไปสวรรค์ ทำกรมไม่ดีไปนรก นรก – สวรรค์นี้ จะมีอยู่จริงหรือไม่มีจริง เราจะแสดงนอกเหนือไปจากบาลีที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ได้อย่างไร เราก็ต้องแสดงตามบาลี ทำไมเขามีชื่ออยู่ และในนรก ๘ นี้ คือ สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาฏนรก โรรุวะนรก มหาโรรุวะนรก ตาปนรก มหาตาปนรก อเวจีนรก และมีอุสสุททนรกเป็นบริวารของนรกใหญ่ ๘ ขุมนี้ คือ นรกใหญ่แต่ละขุมๆ มีบริวาร ๑๖ ขุม นรกนี้แบ่งออกไปมากมาย ทั้งนรกใหญ่ นรกเล็ก รวมแล้วมีนรกอยู่ ๑๓๖ ขุม
    ในบาลีของพระพุทธองค์ ก็มีแสดงไว้ให้ปรากฏอยู่แล้ว แต่คนบางคนก็ยังสงสัยอยู่จะมีจริงหรือ นรกจะมีจริงหรือ สวรรค์จะมีจริงหรือ พรหมจะมีจริงหรือ แต่บางทีทั้งๆที่สงสัยเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาไปเอารูปมหาพรหมมาตั้งไว้ เขายังนับถือพรหมอยู่

    เขาบอกว่า สวรรค์ – นรก นี้จะมีจริงหรือ
    หลวงพ่อ รูปที่คุณไปเอามานี้เป็นรูปพรหม พรหมนี้มีจริงไหม
    เขาบอกว่า มีจริง
    หลวงพ่อ อยู่ที่ไหน
    เขาบอกว่า อยู่ในมนุษย์เรานี้
    หลวงพ่อ ไม่ใช่ พรหมเขาอยู่กันเป็นชั้นๆ ปฐมะ ทุติยะ ตติยะ จตุตถะ เขามีชื่อเรียกอยู่ เช่น พรหมปุโรหิตา พรหมปาริสัชชา มหาพรหมา เป็นชั้นหนึ่งเป็นต้น
    เขาบอกว่า ผมก็นับถือพรหมอยู่ แต่คิดว่าพรหมนี้อยู่อีกภวะหนึ่ง จะมาโปรดมนุษย์ไม่ได้ คิดว่าพรหมอยู่ข้างบน
    หลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้น คุณก็ไม่ได้คิดว่า เทวดาบ้าง พรหมบ้าง มีอยู่ข้างบน ไม่เชื่อใช่ไหม ถ้าคุณไม่เชื่อคุณจะนับถือพรหมทำไมเล่า
    พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ มีอยู่ในพระสูตรหลายสูตร เช่นในอาฏานาฏิยสูตร ก็กล่าวถึงเทวดาจำนวนมาก และในมหาสมัยสูตร ก็กล่าวถึงพรหมบ้าง เทวดาบ้าง นับไม่ถ้วน
    หลวงพ่อ ตอนนี้เชื่อหรือยัง
    เขาบอกว่า เชื่อแล้วครับ หลวงพ่อ
    หลวงพ่อ เรื่องกรรมนี้ พระพุทธองค์เทศน์ไว้ในสติปัฏฐาน ๔ เพราะกลัวว่ามนุษย์เรานี้ ไม่เชื่อบ้าง กลัวว่ามนุษย์เรานี้ ยังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจบ้าง พระพุทธองค์ต้องไปเทศน์อยู่บนสวรรค์ เทศน์ให้เทวดาบ้าง เรื่อง “อภิธรรม”
    ต่อมา พระองค์จึงเทศน์ให้พระสาวกที่สำเร็จโสดาปัตติผลฟัง เทศน์เรื่องกรรม เรื่อง “อภิธรรม”
    มนุษย์ธรรมดานั้น บางทีก็ไม่รู้ว่า เราเกิดมาอย่างไร เราอยู่กันอย่างไร เราเกิดมาด้วยกุศล เราเกิดมาด้วยมนุษย์สมบัติ นี่ก็จัดเป็นกรรมเหมือนกัน
    กรรมนั้น ว่าตามอำนาจกิจ คือหน้าที่ในการให้ผลทางกรรมมีอยู่ ๔ อย่างคือ
    ๑.ชนกกรรม กรรมอันทำให้เกิด กตัตตารูป เริ่มตั้งแต่ น้ำกลละ เกิดขึ้น
    ๒.อุปัตถัมภกกรรม กรรมอุปการะ เหมือนกับอุปัฏฐากอยู่ในน้ำกลละนั้น แล้วก่อเกิดเป็นอวัยวะต่างๆ เป็นรูป เป็นมือ เป็นเท้า เป็นต้น กรรมก็อุปัฏฐากอยู่ ไม่ให้เสีย ให้เป็นไปตามกรรมที่บุคคลทำไว้ ซึ่งกรรมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น รูปเขานี้ อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นอิตถีภาวะหรือปุริสภาวะ อุปัตถัมภกรรมนี้ อุปัฏบากขึ้นให้เป็นรูปร่างขึ้นส่วนรูปที่เกิดมาจะสวยหรือไม่สวย แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ และบางครั้ง กรรมที่เราทำไว้ หมดกรรมไปในปฏิสนธิก็หมดอายุไป สิ้นชีวิตไปตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อุปัตถัมภกรรม อุปัฏฐากขึ้นมาเป็นรูปร่างก็จริง แต่ว่ากรรมหมดอายุไป ก็สิ้นชีวิตไป อุปัฏฐากขึ้นมาเป็นรูปร่างก็จริง แต่เรื่องกรรม แก้ไม่ตก
    ๓.อุปปีฬกกรรม เป็นกรรมเบียดเบียน กรรมบีบคั้น เป็นกรรมฝ่ายตรงกันข้ามกับชนกกรรม ให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภกรรม ทำให้สุขหรือทุกที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน
    ๔.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมอื่นที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตนเช่น ถ้าเราทำดีมาก ก็ได้รับผลดีไปเลย ถ้าทำชั่วมากก็ได้รับผลชั่วไปเลย
    กรรม ว่าโดยปากทานปริยาย คือลำดับความแรงในการให้ผลมี ๔ อย่างคือ
    ๑.ครุกรรม กรรมหนัก ได้แก่กรรมที่มีผลแรงมาก ทั้งฝ่าย กุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมให้ผลก่อน
    ๒.อาจิณณกรรม กรรมที่สะสมมา กรรมที่ทำมากหรือกรรมชิน เช่น เป็นคนมีศีล หรือทุศีล เป็นต้น เมื่อไม่มีคุรุกรรม ย่อมให้ผลก่อน
    ๓.อาสันนกรรม กรรมที่ทำเวลาใกล้จะตาย ถ้าไม่มีกรรม ๒ ข้างต้น ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ
    ๔.กตัตตากรรม กรรมสักว่า ทำ กรรมที่มีกำลังอ่อนๆ เต็มที เป็นกรรมเบา เมื่อไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล
    กรรม ๔ นี้ เกิดขึ้นด้วยกรรมที่เราได้เคยทำมา ด้วยบุญที่เราเคยทำมา บุญดีไม่ดีก็อยู่ที่กรรมนี้ กรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถ้าแยกออกเป็นคนละส่วนๆ แยกออกไป กรรมหนึ่งๆ นั้น แยกออกไปหลายประการ แยกออกไปด้วยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง ในเจตนาก็แยกออกไปอีกหลายประการ ในกรรมที่เราทำ มีเรื่องยกเป็นอุทาหรณ์มากมาย เพราะฉะนั้น กรรมนี้ยาว จึงกล่าวไว้โดยสรุปเท่านั้น
    กรรมว่าโดยปากทาน คือ จำแนกตามกาลที่ให้ผลของกรรม มี ๔ อย่างคือ
    ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน เช่น ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาได้บรรลุธรรม
    ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภพหน้าบ้าง
    ๓.อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป
    ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล อโหสิไป กรรมหนัก กรรมเบา อโหสิกรรมไป เช่น พระอรหันต์ หรือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นอโหสิกรรมมาก มีพระองคุลิมาล เป็นต้น อโหสิไป
    กรรมว่าโดยปากัฏฐาน คือสถานที่หรือภพที่ให้ผล มี ๔ คือ
    ๑.อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ย่อมทำให้บังเกิดในอบายภูมิ ๔
    ๒.กามาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร ได้แก่บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ย่อมทำให้บังเกิดในกามสุคติภพ ๗ (มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖)
    ๓.รูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร ได้แก่รูปฌาน ๔ หรือ ๕ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมทำให้บังเกิดในรูปภพ(พรหม ๑๖)
    ๔.อรูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมทำให้บังเกิดใน อรูปภพ(อรูปพรหม ๔)
    กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ได้แก่
    ก.กายกรรม ๓ คือ
    ๑.ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
    ๒.อทินนาทาน ลักทรัพย์
    ๓.กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
    ข.วจีกรรม ๔ คือ
    ๔.มุสาวาท พูดเท็จ
    ๕.ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด
    ๖.ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
    ๗.สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
    ค.มโนกรรม ๓ คือ
    ๘.อภิชฌา เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
    ๙.พยาบาท คิดปองร้ายผู้อื่น
    ๑๐.มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม
    เรื่องอกุศลกรรมบถนี้ ของง่าย ใครๆ ก็รู้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ทุจริต ๑๐ ประการนี้ จัดเป็นกรรม กรรมปาณาติบาต ก็ยาว กรรมอทินนาทาน ก็ยาว ท่านยกให้เห็นเป็นเรื่อง เป็นนิทาน บุคคลที่ผิดในปาณาติบาต ได้รับผลอย่างไร บุคคลที่ผิดในอทินนาทาน ได้รับผลอย่างไร บุคคลที่ผิดในกาเมสุมิจฉาจาร ได้รับผลอย่างไร ก็ยกเป็นบุคคล เป็นนิทานไป ยาวเหลือเกิน และบุคคลที่ผิดในมุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ก็ยาว บุคคลที่ทำผิดใน อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ จะได้รับผลจากกรรมนั้นอย่างไร ก็ยาวเหลือเกิน จึงนำมากล่าวโดยสรุป
    ทุจริตนี้ เราไม่เอา เราจะเอาสุจริต สร้างแต่บารมีเราสร้างธรรมที่เป็นกุศล ก็เป็นกรรมดี และเราสร้าง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
    ๑.ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ทาน
    ๒.สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล
    ๓.ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิต
    ๔.อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
    ๕.เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายในงานต่างๆ
    ๖.ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น
    ๗.ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
    ๘.ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม
    ๙.ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่น
    ๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
    นี่เราทำบุญด้วยการให้ทาน เป็นต้น ทิฏฐุชุกัมม์ คือเรามีจิตเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราไม่ทำอกุศล ทำแต่กุศลและสุจริต ๑๐ ประการ
    ทุจริต ๑๐ สุจริต ๑๐ นี้ เราไม่เอาทุจริต เราไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น เราทำแต่บุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เรานับถือพระภิกษุ นับถือพระรัตนะทั้ง ๓ เราทำกิจวัตรในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ เราก็ยกเว้นทุจริต เราเอาทางสุจริต ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะพ้นจากความทุกข์ เราจะได้ภวสมบัติ มนุษย์สมบัติ ถ้าเราประพฤติทุจริต ๑๐ เราจะต้องไปเกิดในอบายภูมิอันดับแรก เราต้องเชื่อเรื่องกรรมเสียก่อน
    กรรมนี้ ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมาก็เป็นกรรมแล้ว อุปการะให้เราเกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ กรรมเราดีขนาดไหน อุปการะเรามานี้เรื่องสำคัญ บาลี ก็มีปรากฏอยู่ แต่ถ้าเราจะยกนิทานในบาลีมาก็ยาว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องยกนิทาน นี่เรื่องกรรม ที่เราอยู่กันในปัจจุบันนี้ อยู่ด้วยกามาวจรกรรม แล้วรูปาวจรกรรม อรูปาวจรกรรม เขาก็มีขึ้น เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติธรรม
    กรรมนี้ เขากล่าวไปถึง พรหม และอรูปพรหม อสัญญสัตตพรหม เขามีนิมิต เขาบรรลุฌานขึ้นไป กรรมของเขาเป็นไปด้วยนิมิต แต่กรรมของเราที่อยู่ปัจจุบันนี้ เราต้องทำความดีประพฤติสุจริตไป มนุษย์เราต้องเชื่อเรื่องกรรม
    บุคคลจะสิ้นชีวิต เพราะเหตุ ๔ คือ
    ๑.อายุกขะเยนะ เพราะสิ้นอายุ
    ๒.กัมมักขะเยนะ เพราะสิ้นกรรม
    ๓.อุภยักขะเยนะ เพราะสิ้นอายุและกรรมทั้งสองนั้น
    ๔.อุปัจเฉทกกรรม เพราะกรรมเข้าไปตัดรอน
    เพราะฉะนั้น ในเหตุ ๔ ประการนี้ ทุกคนต้องตายด้วยเหตุ ๔ ประการนี้ และกรรม ๔ ประการนี้อุปการะเราไว้ เหมือนเป็นการรักษาเราไว้ คนเราทุกคน สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตายด้วย มรณุปปัตติ (เหตุแห่งความตาย) ๔ ประการ ดังที่กล่าวมานี้
    ในขณะที่เราจะตาย มีอารมณ์ ๓ อย่างปรากฏขึ้นแก่คนกำลังจะตาย ปรากฏขึ้นในทวารหนึ่ง ในทวารทั้ง ๖ ด้วยกำลังกรรมคือ
    กรรมอารมณ์ กรรมที่มีหน้าที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดให้มีอารมณ์ เฉพาะหน้า ปรากฏขึ้นในระหว่างภพนี้ ภพหน้า
    กรรมนิมิตอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์เกิดอารมณ์เกิดขึ้น มีอารมณ์เหมือนเครื่องอุปกรณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น อันตนสั่งสมไว้ในเวลาที่ทำกรรมนั้นๆ
    คตินิมิตอารมณ์ มีอารมณ์เป็นเครื่องบริโภคอันตนพึงไปเสวยในภพที่จะเกิดมาปรากฏบริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง ตามสมควรแก่กรรมที่กำลังให้ผล ดุจโอนเอนไปในภพที่จะบังเกิดนั้นตามสมควรแก่ภพที่จะเกิด ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย
    กรรมนี้ไปเป็นชนกกรรม ปรากฏขึ้นทางทวาร ด้วยอำนาจการปรุงแต่งจิต
    ในที่สุดแห่งวิถีจิต หรือในการสิ้นไปแห่งภวังคจิตของผู้ที่มีความตายปรากฏเฉพาะหน้านั้น จุติจิตอันเป็นที่สุดแห่งภพปัจจุบัน เกิดขึ้นแล้วดับไปด้วยอำนาจแห่งการจุติ (ตาย)
    นี่จิตเรา จุติแล้ว ดับไป
    ในที่สุดแห่งจุติจิตที่ดับไปแล้วนั้น ปฏิสนธิจิต กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งความสืบต่อในภพใหม่ ซึ่งจะอาศัยวัตถุเกิดก็ดี ไม่อาศัยวัตถุเกิดก็ดี เพราะปรารภอารมณ์ ๓ อย่าง ในทวารใดทวารหนึ่งอันตนยึดถือกันไว้ เช่นนั้น ต่อเนื่องมาจาก มรณาสันนชวนวิถีนั้น เมื่ออวิชานุสยะแวดล้อม มีสังขาร ซึ่งมีตัณหานุสยะเป็นมูล ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ตามสมควร อันสัมปตุตตธรรมทั้งหลายประคับประคองไว้ เป็นหัวหน้าโดยความเป็นประธานเพราะเป็นที่ตั้งแห่งธรรมที่เกิดร่วมกัน (สหขาดธรรม) ก็ปรากฏ (ตั้งอยู่) ในภพใหม่
    ในมรณสันนวิถี มีชวนจิต ๕ ขณะ มีความเป็นไปด้วยภาวะอ่อนมาก เพราะฉะนั้น เมื่อมรณสันนชวนจิต ซึ่งมาปรากฏในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันแล้ว ตั้งอยู่ จุติจิตจึงจะเกิดขึ้น
    ในลำดับมรณาสันนวิถีนั้น สำหรับปฏิสนธิจิต และภวังคจิตต้องได้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น เพราะกรรมนิมิต คตินิมิต อันกามาวจรปฏิสนธิยึดถือตามทวารทั้ง ๖ ต้องได้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันและอดีต ถึงจะเกิดขึ้น ส่วนกรรมเป็นอดีตอย่างเดียวและกรรมนั้น มโนทวารยึดถือ
    อารมณ์ทั้งหมดนี้ รวมแล้วมาเป็นกรรม เป็นอารมณ์ที่เป็นกามาวจรอย่างเดียว
    ที่กรรม ในบาลีมีอยู่นี่แปลออกมาตามบาลี เราไม่เชื่อได้อย่างไรเพราะพระพุทธองค์สวดบาลี เทศน์ ให้เทวดาฟังบ้าง ให้มนุษย์ฟังบ้าง เรื่องกรรมนี้ พระพุทธองเทศน์ให้เทวดาฟังแล้วมาเทศน์ในเมืองมนุษย์ให้มนุษย์ฟัง ให้พระภิกษุฟัง เพราะพระพุทธองค์เทศน์ที่ไหน ต้องใช้คำว่า ภิกขะเว ทั้งนั้น ตุมเห สาธะโว ไม่ค่อยมี เพราะพระพุทธองค์เทศน์ให้พระภิกษุฟัง และบริษัททั้ง ๔ มาฟัง
    พระพุทธองค์ เทศน์เรื่องกรรม บางคนเข้าใจ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น มากมาย ในสมัยพระพุทธองค์
    พระพุทธองค์ เทศน์เรื่องหรรมนี้ เทศในเมืองกบิลพัสดุ์ เพราะพวกกบิลพัสดุ์ดื้อด้านมาก และมาเทศน์ในเมืองราชคฤห์ ให้พระภิกษุฟัง พระภิกษุบางรูป ก็ค่อยไม่เชื่อเรื่องกรรม จึงต้องเทศน์ให้ฟัง เพราะฉะนั้นรวมความว่า มนุษย์เราเกิดมาเพราะกรรม

    พลตรี ปรีชา
    ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ที่ว่าคนเราเวลาใกล้จะตายมีกรรมมาปรากฏนั้น มาปรากฏในลักษณะไหนครับ
    หลวงพ่อ
    ในเวลามรณาสันนะ (ใกล้จะตาย) ภวังคจิตเกิดขึ้นทางมโนทวารก่อนภวังค์จะตก เราต้องรับอารมณ์ปัจจุบันกับอดีตพร้อมกัน แล้วจุติเกิดขึ้น จุติแล้วก็ดับไป
    ในขณะจุติเกิดขึ้น ชวนจิตตั้งอยู่ ปรากฏขึ้นในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันแล้วจุติจิตจะเกิดขึ้น ในตอนมรณาสันนะ ถ้าไม่อย่างนั้น เขาก็ไม่สัมพันธ์กัน ที่เราไปเกิดนั้น เขาก็ไม่ได้ว่าไปเกิดในภพนั้น ภพนี้ แต่จุติแล้วก็ต้องไปเกิด จะเป็นเปรตหรือจะเป็นอะไร จะเป็นเดรัจฉานหรือจะเป็นอะไรก็เป็นไป
    แต่ถ้าจะกล่าวตามนิทาน ก็เหมือนกับ โฆสกกุมาร ทำบุญมาก่อนจะตาย อารมณ์ปัจจุบันเสวยอยู่ ตอนที่อดข้าวอดน้ำ พอเห็นลูกสุนัขกินข้าวอร่อยอยู่ อารมณ์ก็เกิดขึ้นว่าถ้าได้เป็นสุนัข จะได้กินอย่างนี้ พอภวังคจิตปัจจุบันและอนาคตดับ ก็ไปเกิดเป็นสุนัข เรื่องอย่างนี้มีมากมาย ต้องศึกษาดูในพระสุตตันตปิฎก หรือเหมือนอย่าง พระติสสเถร ก่อนจะตายยังคิดเสียดายจีวรแพรอยู่ เลยไปเกิดเป็นอูกา (เล็น) อยู่ในจีวร อารมณ์ปัจจุบันนี้ดับลง ก็ไปติดกับอารมณ์อนาคต
    พลตรี ปรีชา
    มีผู้สงสัยว่า คนที่ทำกรรมชั่วมามากๆ เวลาใกล้จะตายถ้าเกิดกุศลจิตขึ้น เขาก็ไปเกิดในภพดี กรรมชั่วที่เขาทำมาก็ไม่ได้ให้ผลอะไร ใช่ไหมครับ
    หลวงพ่อ
    กรรมเขาต้องตามเราไป สมมติว่า เราไปเกิดในที่ดีกรรมชั่วเขายังไม่ละทิ้ง เขาต้องไปให้ผล เพราะยังไม่ได้อโหสิกรรม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบารมีของบุคคลด้วย เช่น องคุลิมาล บารมีเขาแก่กล้า ถึงแม้จะเคยสร้างกรรมมาก่อน พอบรรลุพระอรหันต์ กรรมทั้งหมดก็เป็นอันอโหสิไป หลุดไปเลย
    คนโบราณเขาถือว่า ก่อนจะตาย ให้สวด อรหังๆๆ หรือพุทโธๆๆ เพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี ไม่ให้คิดถึงกรรมที่เคยสร้างมาให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ จะได้ไปเกิดในภพดีๆ ได้สมบัติดี แต่กรรมก็ยังไม่หมด กรรมเขายังตามไปให้ผลอยู่ ยังไม่อโหสิ
    ในอภิธรรรมก็มีเรื่อง เช่น บางคนทำความดีมาตลอด สร้างกุศลมามาก เวลาใกล้จะตายไประลึกถึงกรรมชั่วบางอย่าง ที่ตนเคยทำมา ก็เลยไปเกิดในภพที่ไม่ดี เพราะกรรมในอดีตตามมาให้ผลกรรมในอดีต ที่เราทำไว้
    สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราทำกรรมคือ เจตนา เจตนาเป็นเหตุให้เราทำต้องทำด้วยเจตนา ถึงจะเป็นกรรม ในขณะที่เราทำ เราพูด หรือเราคิด ในทางทุจริต เจตนาในขณะนั้น เรียกว่า กรรม กรรมนี้เราทำที่มีอยู่ ๓ อย่างคือ ทำดี ไม่ดี หรือระหว่างดีกับไม่ดี
    ที่เขาสงสัยกันอยู่ในปัจจุบัน คือ บางคนสร้างกรรมไม่ดี แต่เขามีเงินทองขึ้น ก็เพราะกรรม บางคนเกิดมารูปร่างไม่สวยไม่งาม แต่รักกัน ชอบพอกัน เหมือนรู้จักกันมานาน บางคนสวยงามก็จริง แต่ว่าไม่ชอบพอกัน อันนี้ก็เกี่ยวกันกับกรรมและปัจจัยที่เราเคยทำกันมาก่อน เคยคบกันเป็นมิตรกันมาก่อน
    พลตรี ปรีชา
    ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า กรรมที่เราทำไว้นี้ ตัดได้ไหมครับ
    หลวงพ่อ
    ตัดไม่ได้ ถ้าเป็นคุรุกรรม (กรรมหนัก) เช่น อนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ และทำสงฆ์ให้แตกกัน
    พลตรี ปรีชา
    แล้วกรรมอื่นๆ จะตัดได้ไหมครับ
    หลวงพ่อ
    กรรมอื่นๆ นั้น เราทำบุญไป ก็หลุดไปมาก แต่ถ้าเป็นครุกรรมแล้วจะทำบุญขนาดไหน ก็ไม่พ้น เหมือนอย่างพระเจ้าอชาตศัตรู ทำบุญไม่รู้เท่าไร แต่เพราะกรรมที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา จึงต้องตกนรก หนีไม่พ้น
    ถ้าเป็นลหุกรรม (กรรมเบา) เราทำบุญมากๆ กุศลบุญที่เราทำนั้นอาจจะให้ผลก่อน แต่กรรมเราก็ยังไม่หลุด ถ้าเราทำบุญไปเรื่อยๆ บางทีเราไปเกิดในกาลที่ไม่มีพระพุทธเจ้า เราก็มีเจตนาทำบุญอยู่เนื่องนิตย์ ผลบุญก็ให้ผลก่อนเรื่อยไปกรรมก็ตามไม่ทัน นี่ลหุกรรม แต่เราต้องทำบุญมากๆ เรื่องการทำบุญนี้จะติดเป็นนิสัย ถ้าเราเคยทำอยู่ในชาตินี้ เราระลึกถึงบุญอยู่เสมอ บุญนี้ให้ผลเราก่อน กรรมที่ไม่ดีก็ตามมาไม่ทัน เพราะบุญ หรือมหากุศลของเรามากขึ้น
    เพราะฉะนั้นก่อนจะทำบุญ เขาให้รับศีล ๕ ก่อน เป็นการทำบุญด้วยศีล ก็ได้ทั้งทานบารมี และศีลบารมี เราปฏิบัติตามรอยบาทของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ตลอดเวลา เวรกรรมก็ตามมาเรื่อย แต่ไม่ชนะ แต่พระองค์ยังได้รับวิบากของกรรมอยู่เรื่อยเหมือนกัน
    เรื่องกรรมนี้ เป็นเรื่องลึกซึ้ง บางคนไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยสนใจในศาสนา พออายุมากขึ้นหันมาเข้าวัด บางทีปฏิบัติดีกว่าคนที่ทำมาก่อนก็มี จิตใจเปลี่ยนไปด้วยกรรมในอดีต บางคนจนพอกรรมหมดไป ก็ได้เอกลาภมีสมบัติขึ้นมีเงินมีทองขึ้น
    เพราะฉะนั้น เรื่องกรรมนี้ เราไม่เชื่อไม่ได้ ตามอภิธรรมเขากลัวกันว่า ทำบุญมามากมาย แต่เวลาใกล้จะตาย ตอนที่ภวังค์ไปตก เขากลัวกันว่าจะไปคิดเรื่องที่เคยทำกรรมไว้ ถ้าคิดอยู่อย่างนั้น ตายไปจะไปถือปฏิสนธิในอบายภูมิ ดังนั้น ก่อนจะตายเขาจึงให้สวด อรหังๆ ไว้ ให้จิตคิดแต่ในสิ่งที่ดีๆ หรือบางทีเขาก็นิมนต์พระสงฆ์ ไปสวดมนต์ให้คนใกล้จะตายฟัง
    เรื่องสวดนี้ ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น พวกพราหมณ์เขาก็สวดเหมือนกันที่แม่น้ำคงคา เขาสวดนำทางให้คนไป และพวกอเจลกเขาก็ถือกรรมเหมือนกัน พวกที่ไม่นุ่งผ้ามีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์
    เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องคิดมาก ขอให้เราประพฤติโดยสุจริต เราต้องกลัวกรรม ไม่กลัวไม่ได้ เราจะตายเมื่อไรก็ยังไม่รู้ในขณะที่เราใกล้จะตาย ก่อนจะสิ้นใจ มรณสันนชวนจิตเขาต้องคิดอารมณ์ปัจจุบันกับอนาคต เพราะฉะนั้นเราอย่าลืมสติ เราต้องเชื่อกรรม
    ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าไทย มอญ พม่า หรือชาติอื่นๆ ถ้าเราไปถามเขาว่าคนเราเกิดมาเพราะอะไร เขาจะตอบทันทีว่า เพราะกรรม ตายเพราะอะไร... พม่า,มอญนี้ เขาเชื่อเต็มที่เลยเรื่องกรรม เพราะเขาเรียนอภิธรรมกันมาก.

    ---------
    ขอขอบคุณที่มา:
    www.pantown.com/board.php?id=26654&a...c=14&action=view
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...