พระคาถา ๓ บทในโอวาทปาฏิโมกข์

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อภิราม, 18 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. อภิราม

    อภิราม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    532
    ค่าพลัง:
    +9,005
    วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น "วันมาฆบูชา"
    วันที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ต่อที่ประชุม พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ที่เดินทางมาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน โดยมิได้นัดหมายกัน และพระสงฆ์ทั้งหมดเป็น " พระอรหันต์" ที่ได้รับการอุปสมบทจาก พระพุทธเจ้า โดยตรง

    ในวันมหามงคลเช่นนี้ผมจึงขอนำพระคาถา โอวาทปาฏิโมกข์ที่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงต่อ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาเล่าสู่กันฟัง มีด้วยกัน ๓ บท ดังนี้

    พระคาถาบทที่ ๑
    ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย (พระพุทธเจ้ามีหลายองค์) กล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม , ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต , ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

    ความหมายของพระคาถาบทแรกนี้ก็คือ

    ๑. ความอดทนอดกลั้น เป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือ และเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่าง ที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
    ๒. การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมาย มิใช่สิ่งอื่นนอกนิพพาน
    ๓. พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ ไม่พึงทำให้ผู้อื่นลำบากด้วยการทำความทุกข์กายหรือทุกข์ใจ ไม่ว่าในกรณีใดๆ
    ๔. พระภิกษุตลอดจนบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ ต้องขอแก่ทายกด้วยอาการที่ไม่เบียดเบียน คือ ไม่เอ่ยปากเซ้าซี้ขอ ไม่ใช้ปัจจัยสี่อย่างฟุ่มเฟือยจนเดือดร้อนทายก

    พระคาถาบทที่ ๒
    การไม่ทำความชั่วทั้งปวง๑ การทำแต่ความดี๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    พระคาถาบทนี้ถือเป็น หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เลยทีเดียว เพื่อสอนให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ อันได้แก่

    ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง (ศีล)
    ๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม (สมาธิภาวนา)
    ๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ( ปัญญา)

    สรุปก็คือเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ใครที่ทำได้ครบถ้วนทั้ง ๓ ข้อ อย่างสม่ำเสมอ ต้องถือเป็นเลิศคน และเป็นคนที่ดีเลิศจริงๆ

    พระคาถาบทที่ ๓
    การไม่กล่าวร้าย๑ การไม่ทำร้าย๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร๑ ที่นั่งนอนอันสงบ๑ ความเพียรในอธิจิต๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    พระคาถาบทนี้เป็นการสอน พระธรรมทูต ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ใช้วิธีการที่เหมือนกัน ไปในแนวทางเดียวกัน และมีความถูกต้อง ดังนี้

    ๑. การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาโดยไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
    ๒. การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีต่างๆ)
    ๓. ความสำรวมในปาฏิโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
    ๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
    ๕. ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
    ๖. ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอ มิใช่ว่าเอาแต่สอน แต่ตนเองไม่ทำตามที่สอน)

    พระคาถาทั้ง ๓ บทใน โอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แม้ พระพุทธเจ้า จะทรงเทศนาแก่ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุม แต่เนื้อหาที่ผมนำมาเล่าทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่ชาวพุทธก็สามารถปฏิบัติได้ โดยเฉพาะคนที่เป็น "ผู้นำ" ไม่ว่าจะเป็น "ผู้นำองค์กร" หรือ "ผู้นำประเทศ" ถ้านำไปปฏิบัติ ผมเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อทุกคนคิดดีทำดี บ้านเมืองก็ต้องดีตามแน่นอน.


    แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 กุมภาพันธ์ 2011

แชร์หน้านี้

Loading...