พรหมวิหารเป็นกรรมฐานเย็น

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย jchai4, 20 มีนาคม 2010.

  1. jchai4

    jchai4 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    212
    ค่าพลัง:
    +1,075
    พรหมวิหารเป็นกรรมฐานเย็น
    จาก หนังสือ พรหมวิหาร ๔


    คำแนะนำเนื่องในการเจริญพระกรรมฐาย สำหรับการแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ ก็ขอนำเอาเรื่องของ พรหมวิหาร ๔ มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท
    สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นพระกรรมฐานกลางจริง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ย่อมเป็นกำลังของฌาน เป็นอาหารของศีล เป็นอาหารของฌาน และเป็นอาหารของวิปัสสนาญาน ทั้งนี้ก็เพราะว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานเย็น คือ ต้นเหตุของพรหมวิหาร ๔ ก็คือ
    ๑. ความรัก เมื่อเรามีความรักที่ไหน ต่างคนต่างรักกัน ใจก็เย็น
    และข้อที่ ๒. พรหมวิหาร ๔ ที่เรียกกันว่า กรุณา มีความสงสาร ถ้าทุกคนต่างสงสารเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สงเคราะห์ซึ่งกันและกันก็เป็น อารมณ์เย็น ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี
    ประการที่ ๓. มุทิตา พรหมวิหาร ๔ มีปัจจัยให้เกิดความไม่อิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน มีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และก็มีใจดี คือ ยินดีในบุคคลอื่นได้ดี เมื่อเห็นใครเขาได้ดีแล้วเราก็ยินดีด้วย ดีใจด้วย พร้อมรับเอาความดีของผู้ที่ทรงความดีแล้วมาปฏิบัติเพื่อผลของความดีของตน อันนี้อีกประการหนึ่งเป็นปัจจัยให้มีความเยือกเย็น
    และก็ประการที่ ๔. พรหมวิหาร ๔ มีอุเบกขา คำว่าอุเบกขาในที่นี้แบ่งเป็นหลายชั้น แต่จะขอพูดสั้นๆ ไว้ก่อน นั่นก็คือ มีอาหารวางเฉยต่ออารมณ์ ที่เข้ามากระทบใจ หมายความว่า ใครเขาจะด่า เขาจะว่า เขาจะนินทา เราก็เฉย จิตสบาย ใครจะชม ใครจะสรรเสริญ เราก็เฉย ไม่รู้สึก คำว่าไม่รู้สึกลอยไป ตามถ้อยคำของบุคคลนั้น จิตใจมีความเป็นปกติไม่ขึ้นไม่ลง ไม่หวั่นไหว อย่างนี้มันเป็นอาหารของความสุข
    รวมคำว่าพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นอารมณ์เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข นี่การบำเพ็ญบุญในพุทธศาสนา เราทำกันเพื่อความสุข คือ มีสุขทั้งที่มีชีวิตอยู่ ตายไปเกิดที่ไหนก็ตามมันก็มีความสุข ฉะนั้น พรหมวิหาร ๔ นี้จึงชื่อว่า เป็นอาหารใหญ่สำหรับใจในด้านของความดี

    คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ย่อมมีศีลบริสุทธิ์
    คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ย่อมมีฌานสมาบัติตั้งมั่น
    คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์เพราะอาศัยใจเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด

    เมื่อพูดเพียงเท่านี้ หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทที่มีกำลังใจใช้ปัญญา ก็จะได้ทราบชัดว่าพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพื้นฐานแห่งความเป็นพระอริยเจ้าแน่นอน แต่ว่าก่อนที่จะพูดอะไรอย่างอื่น ก็ขอเตือนพุทธบริษัทไว้ก่อนว่า การเจริญสมาธิ คำว่า สมาธิ ก็คือ การตั้งใจ จงตั้งใจไว้ในเขตของความเป็นพระอริยเจ้า อย่าตั้งใจส่งเดช มันจะเสียเวลา ขาดทุนเปล่า การตั้งใจไว้ในเขตความเป็นพระอริยเจ้า ก็คือ
    ๑. คิดไว้เสมอว่าชีวิตของเราจะต้องตาย และความตายไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีวันเวลาแน่นอนคนเกิดก่อนตายทีหลัง คนเกิดที่หลังตายก่อน ก็ถมไป คนเขาเกิดก่อนเราเขาตายก่อนเราก็ถมไป จงคิดว่าความตายจะมีแก่เราในวันนี้ แล้วก็พยายามสั่งสมความดี นั่นคือ ใช้ปัญญาพิจารณา ความดีของ พระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระอริยสงฆ์ พิจารณาดูว่าควรเคารพนับถือไหม แล้วก็ต่อไปตั้งใจทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
    สำหรับศีล ๕ นี่เป็นศีลของพระโสดาบันกับสกิทาคามี สำหรับพระเณรต้องทรงศีลตามฐานะของตนให้บริสุทธิ์ แล้วก็มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ จุดที่เราจะรู้ว่าเราเป็นพระโสดาบันหรือไม่ ก็อยู่ที่กำลังใจทรงศีลหรือเปล่า ถ้าศีล ๕ ของเราไม่บกพร่อง ใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านเป็นพระโสดาบัน

    ทีนี้การทรงสมาธิจิตนี่จะต้องทรงไว้ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าไปนั่งภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ อิติปิ โส ภควา ส่งเดช อย่างนั้นน่ะเป็นของดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่าดีไม่มาก หมายความว่าดีอย่างนั้น เราก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด จงเอาจิตจับจุดที่เราจะเกาะเข้าถึงพระนิพพานไว้
    อันดับแรกอย่างน้อยที่สุดในชีวิตนี้ก็ควรจะได้ พระโสดาบัน ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายคิดว่า การทรงความเป็นพระโสดาบันตามที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้มีอยู่ในกำลังใจของท่าน หลังจากนั้นก็ก้าวไปจับจุดอรหันต์เลย คือ มีกำลังใจคิดว่าเราจะตัด กามฉันทะ ความพอใจในเพศ ด้วย อสุภกรรมฐาน กับ กายคตานุสสติ เราจะตัด ความโกรธด้วยอำนาจพรหมวิหาร เราจะไม่ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก คือ ร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน และก็วัตถุธาตุต่าง ๆ ว่าเราเป็นของเรา
    เมื่อยังทรงชีวิตอยู่เราต้องหาเราต้องใช้ ตายไปแล้วก็เลิกกัน ไม่ต้องการอะไรกับมัน ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านตั้งใจไว้อย่างนี้ จึงจะสมกับเจตนาที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งใจบำเพ็ญบารมีมาเพื่อสอนเรา ต้องใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป
    สำหรับวันนี้ก็จะได้พูดถึง พรหมวิหาร ๔ ความจริงสิ่งนี้เป็นของไม่ยาก พรหมวิหาร ๔ หรือว่าอะไรก็คามความจริงจิตของเรามันคบกับความเลวมามาก ที่ว่าคบกับความเลวมามากน่ะ มันไม่ได้หมายความว่าจะคบแต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดกันมานับชาติไม่ถ้วน ถ้าจะใช้เวลาเป็นอสงไขยกัป มันก็นับอสงไขยกัปไม่ได้แน่นอน เพราะเวลานี้การเกิดการตายเราผ่านมาแล้วทุกระยะ มันไม่มีการสิ้นสุด เกิดเป็นมนุษย์มันก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิมันก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ยังมีอารมณ์ไม่หมดทุกข์ เพราะว่าถ้าสิ้นบุญวาสนาบารมีก็จะต้องกลับมาเกิดเป็นคน หรือไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน วนไปเวียนมา อย่างนี้มันก็ไม่มีอาการหมดทุกข์ นี่เราทุกข์กันมาหาที่สิ้นสุดมิได้แล้ว เวลานี้มาพบศาสนาขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงชี้ทางให้เราหมดทุกข์ คือ ก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน แล้วก็เริ่มต้นอย่าลืม อย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการควบคุมอารมณ์ให้ทรงตัว แล้วก็อย่าลืมความตาย อย่าลืมเคารพในคุณพระรัตนตรัย อย่าลืมทรงศีลบริสุทธิ์ อย่าลืมนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ว่า เราจะตายคราวนี้เราจะไปนิพพาน ใครเขาจะหาว่าเราบ้าบอก็ช่าง การบ้าเพื่อแสวงหาความดีก็เป็นการสมควร ถ้าบ้าเพื่อแสวงหาความชั่วไม่ควรบ้า ถ้าจะบ้าไปนิพพาน นี่พยายามบ้าให้มาก มันจะได้มีความสุข
    ทีนี้ดินแดนแห่งพระนิพพานที่เราจะไป จุดสำคัญจุดใหญ่อยู่ที่พรหมวิหาร ๔ ต้องฝืนกันหน่อยนะสำหรับกำลังใจ เพราะใจเรามันชั่วมานาน ชั่วเพราะอำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลธรรม

    กิเลส คือ อารมณ์วุ่นวายที่ไม่ตั้งอยู่ในความดี
    ตัณหา มีความทะยานอยากแบบโง่ ๆ อยากลักอยากขโมยเขา อยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยากแย่งคนรัก อยากโกหกมดเท็จ อยากดื่มสุราเมรัย ตะเกียกตะกายหาที่สุดมิได้ด้วยความโลภ นี่มันอยากเลว ตัณหามีกิเลสเข้ามาช่วยมันก็เลยอยากแบบนั้น
    อุปาทาน ยึดมั่นด้วยกำลังใจว่าทำอย่างนั้นเป็นของดี จึงเกิดการกระทำความชั่วขึ้น ที่เขาเรียกว่า อกุศลธรรม คือ ทำด้วยความไม่ฉลาด เราจึงมีความลำบาก มาถึงวันนี้
    ต่อไปนี้เราตัดมันทิ้งเสียเถอะ อานาปานุสสติกรรม ฐานพยายามทรงไว้ ให้จิตอยู่ในขอบเขตที่เราต้องการ มาพิจารณาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร นั่นก็คือ เมตตา ความรัก ในพรหมวิหารข้อที่หนึ่ง ความจริงเป็นของง่ายนะ แต่ว่าการแผ่เมตตา ความรัก เรามีความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใครในโลกนี้ โลกหน้า โลกผี โลกเทวดา โลกนรก โลกสวรรค์ โลกพรหม เราไม่เป็นศัตรูกับใครทั้งหมด คิดเสียว่าอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นกับเราทั้ง ๆ ที่เราทำความดี แต่ว่าผลสนอง ให้กับเราเป็นปัจจัยแห่งความเร่าร้อน นั่นถือว่าเราใช้หนี้กรรมเขาไป ชาตินี้เราไม่ได้ทำเขา ชาติก่อนเราคงทำเขา เมื่อเขาจะมารับผลของเขาคืน ก็คืนให้เขาไปตาม อัธยาศัย ใครเขาจะด่าเราก็เฉย ... ยิ้ม ... ว่าเราได้มีโอกาสใช้หนี้แล้ว ใครเขาจะนินทาเราก็ยิ้ม ใครเขาจะกลั่นแกล้งก็ช่าง ตั้งหน้าตั้งตาทำความดี และนอกจากนั้นก็มีจิตน้อมไปในเมตตา ว่า โอหนอ ... คนทั้งหลายเหล่านี้ ทำไมจึงได้โง่อย่างนี้ ถ้าเขาด่าเราแล้วเราก็ด่าตอบ เขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ เราเป็นมิตรกับเขา เขามีความสุข เพราะเรากับเขารักกัน แต่ว่าถ้าเขาประกาศตนเป็นศัตรูกับเรา เราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรู แต่ว่าตัวเขาเหล่านั้นเขาจะมีความสุขไหม เขาก็มีความทุกข์ เพราะว่าเขาคิดว่าเราเป็นศัตรูกับเขา เขาจะต้องระแวงอันตรายที่เราจะทำกับเขา นั่นแสดงว่าเขาสร้างความทุกข์ของเขาเอง คนเลวกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะว่าการประกาศตนเป็นศัตรูกับคนอื่น บางทีคนอื่นยังไม่คิดว่าจะทำอันตรายเขา แต่เขาคิด เขาคิดว่าคนที่เขาด่าไว้ เขาว่าไว้ เขานินทาไว้ เขากลั่นแกล้งไว้ จะทำอันตรายกับเขา คนประเภทนี้ ใจของเขาไม่มีความสุข ใจเรามีความรู้สึกอย่างไร เราไม่เกลียด เราถือว่าเขาเป็นทาสของความชั่ว ความชั่วเป็นนายของเขา คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม แทนที่เราจะเกลียด เราก็รัก เมตตา คือความรักมีอยู่ ในด้านของกรุณา สงสารเขาว่าเขากับเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เขาเกลียดทุกข์รักสุข แต่ว่าทำไมเขาจึงทำเหตุของความทุกข์ ก็เพราะว่าเขาเป็นคนโง่ หรือดีไม่ดีเขาก็เป็นคนบ้า โบราณท่านบอกว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา ไม่ถือคนบ้า เราไม่ว่าคนเมา เราไม่โกรธเขาถึงแม้ว่าเขาจะโกรธ เราก็ยังมีความเมตตาปรานีเขา แต่ทว่าจงระวังในขณะใดที่เราไม่สามารถจะสงเคราะห์ให้เขาเข้าใจในความดีได้ ตอนนั้นเราต้องงดเว้นอย่าไปแนะนำ อย่าไปสรรเสริญ อย่าไปให้การช่วยเหลือ เพราะว่าอารมณ์ของเขาเศร้าหมอง ถ้าเราไปทำอย่างนั้นเขาจะคลั่งมาก เขาจะหาว่าเราประชดประชัน ตอนนี้ที่โอกาสที่เรายังช่วยเขาไม่ได้ เราก็วางตัวเฉยด้วยอำนาจของอุเบกขา ใจเราก็เป็นสุข ถ้าเขาด่ามา เขาแกล้งมาใจเราไม่โกรธ เราก็ควรจะภูมิใจว่าคุณธรรมสำคัญที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงให้กับเรา เราทรงได้แล้ว นั่นคือ เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร และก็อุเบกขา ตัวความวางเฉย นี่ด้านของอารมณ์
    ทีนี้สำหรับตัว กรุณา นี่ก็เหมือนกัน เมตตาตัวความรักที่เรามี แต่กรุณานี่ถ้าดีไม่ดีมันก็เกินขอบเขต เราจะสงสารเราจะเกื้อกูลเขา นี่ต้องดูให้เป็น การสมควร ไม่ใช่เกินพอดี ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ พระเทวทัต รับฟังคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ก็ทรงให้ การแนะนำสั่งสอนด้วยความเมตตาปรานีอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อพระเทวทัตเกิดความหยิ่งยะโส คิดทรยศจะกบฏต่อพระองค์ ตอนนี้พระพุทธเจ้าหยุดสอน เพราะว่าถ้าขืนสอนขืนสงเคราะห์ พระเทวทัตก็ไม่รับ พระองค์ก็ทรงอุเบกขาวางเฉยไว้ นี่ตัวกรุณานี่ต้องวางใจให้มันเหมาะสม คือ ความสงสารมีอยู่แต่โอกาสไม่สมควรนี่เราต้องเว้น
    ข้อที่ ๓. มุทิตา การไม่อิจฉาริษยา เขาเป็นของดี จิตใจเราเป็นสุข เห็นใครเขาได้ดีก็ไปนั่งพิจารณาว่าฐานะเขาเสมอกับเรา ในขั้นเดิมมีความรู้เช่นเดียวกัน มีร่างกาย มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่ทำไมกิจการงานเขาจึงก้าวหน้าไปไกล เขาดีมาได้เพราะอะไร เขาดีเพราะความขยันหมั่นเพียร
    ฉันทะ รักในงานนั้น
    วิริยะ มีความเพียร
    จิตตะ มีจิตใจจดจ่ออยู่ในการทำงาน
    วิมังสา ก่อนจะทำ ก่อนจะพูด ก็ใช้ปัญญาพิจารณาก่อน
    เมื่อเขาทรงคุณธรรม ๔ ประการอย่างนี้ ความดีพุ่งไปข้างหน้าของเรา เราก็ไม่อิจฉาเขา เราก็มานั่งมองว่า อ๋อ ... เขาทำแบบนี้หรือ ในเมื่อเขาดีได้เราก็ดีได้ เขาเกิดมาเป็นคน มีอวัยวะมีอาการ ๓๒ เราก็มีเท่าเขา มีมือมีเท้าเหมือนกัน มีจิตมีใจเหมือนกัน ถ้าเขาดีได้ด้วยประการดังนี้ เราก็จะดีบ้าง ไม่ใช่อิจฉาเขา หรือไม่ใช่แข่งกับเขา เห็นว่าผลของความดีเป็นปัจจัยของความสุข เราก็ทำตามเขา นี่เราว่ากันถึงการฝึกในเบื้องต้น แล้วความเมตตา กรุณา ทั้ง ๒ ประการนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอนว่า
    ในอันดับแรก อย่าเพิ่งแผ่เมตตาไปในบุคคลที่เราคิดว่าเป็นศัตรู ต้องยับยั้งไว้ก่อน แผ่เมตตา คือความรัก กรุณา ความสงสาร ไปใน บุคคลกลุ่มเดียวกันที่มีกำลังใจเสมอกัน เป็นกลุ่มคนที่เรารัก และกลุ่มคนที่เราไม่เกลียด ที่คิดว่าไม่เป็นศัตรู เพราะว่าอันดับแรก ถ้ามุ่งหน้าไปหาศัตรูละก็จิตมันจะหวั่นไหว จนเมื่อกำลังใจของเรามั่นคงดีแล้ว
    ต่อไปเราก็มองดูองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ไม่เลือกบุคคลใด เพราะกำลังใจเข้มแข็ง ความจริงพระเทวทัตเป็น ศัตรูของพระองค์มานับแสนกัป หรือนับอสงไขยกัป พระพุทธเจ้าก็รู้ แต่ตอนที่พระเทวทัตเข้ามาขอบวชกับองค์สมเด็จพระบรมครู พระองค์ก็ไม่ทรงถือโกรธ กลับให้การอุปสมบท สอนให้ได้อภิญญาสมาบัติ
    นี่น้ำพระทัยขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ เห็นศัตรูเป็นมิตร มีจิตประกอบไปด้วยความเมตตาปรานี สมเด็จพระชินสีห์ไม่ได้หวงไม่ได้ห้าม ไม่ได้กลั่นไม่ได้แกล้งเขา พระพุทธเจ้าทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ตอนนี้นะต้องขอให้ใจมันสูงเสียก่อนนะ กำลังใจเข้มแข็งเสียก่อน
    ตอนนี้เราก็มาว่ากันถึงผลของพรหมวิหาร ๔ ถ้าความรักของเรามันทรงตัว ทรงจิตใจเห็นหน้าใครที่ไหนก็ตาม เราก็รักเหมือนกับรักตัวเรา จะเป็นชาติ เดียวกัน ภาษาเดียวกัน คนในชาติ ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเทศ ต่างลัทธิ ต่างศาสนา ต่างอะไรทั้งหมดก็ช่าง พอมองเห็นหน้าก็คิดว่าโอหนอ ... เขานี่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย สำหรับเรา เรากับเขามีสภาวะความต้องการเหมือนกัน คือเกลียดทุกข์ แล้วก็รักสุข จิตเราก็มีความเมตตาปรานี ไม่คิดจะเป็นศัตรูกับเขา และนอกจากนั้น น้ำใจของเราก็คิดไว้เสมอว่าถ้าหากว่าเขามีทุกข์เมือไร ถ้าไม่เกินวิสัยสำหรับเรา เราจะสงเคราะห์ทันที นี่น้ำใจของเราเป็นอย่างนี้ แต่ว่าการสงเคราะห์ต้องดูว่า ควรหรือไม่ควร อย่าดีเกินไป เอาดีแค่พระพุทธเจ้า ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน อย่างกับคนที่เราให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์ พึ่งพิงอาศัยในสถานที่ใกล้เคียง อาศัยมีอาชีพจากเราเป็นสำคัญ แต่ว่าเขาผู้นั้นยังปะกาศตนเป็นศัตรู อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูบอกว่า อย่าเพิ่งเมตตาเขา แต่ว่าเราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรู จิตสงสารแต่ยังเกื้อกูลอะไรไม่ได้ เพราะว่ากำลังใจของเขายังเลว เขายังไม่ยอมรับ เหมือนกับฝนที่ตกลงมา แต่ทว่าชาวบ้านนำตะกร้าไปรองน้ำฝน ฝนจะเมตตาปรานี กับเขาเพียงใดก็ตามที ตะกร้ามันรับน้ำฝนไม่อยู่ นี่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงคิดอย่างนี้
    ทีนี้ถ้าหากว่าความรัก ความเมตตา ความกรุณา คือความสงสาร เมตตา ได้แก่ ความรัก
    กรุณา ได้แก่ ความสงสาร

    มุทิตา ได้แก่ จิตอ่อนโยน
    อุเบกขา ได้แก่ ตัววางเฉย
    ๔ ประการนี้ ถ้าทรงอยู่ในจิต สิ่งที่จะเกิดกับเราก็คือ ๑. ความเป็นพระโสดาบัน ๒. สกิทาคามี ๓. อนาคามีจะมาอยู่กับเราได้ง่าย ๆ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เมตตากับกรุณาทั้ง ๒ ประการ ถ้ามีประจำใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
    เรารักเราสงสาร เราฆ่าใครได้ไหม
    เรารักเราสงสาร เราลักขโมยเขาได้ไหม
    เรารักเราสงสาร เราแย่งคนรักเขาได้ไหม
    เรารักเราสงสาร เราจะโกหกมดเท็จเขาได้ไหม
    ถ้าเรารักเราสงสารกับคนที่เราอยู่ เราจะทำลายสติสัมปชัญญะของเราให้ฟันเฟือน โดยการดื่มน้ำเมาได้หรือเปล่า ในที่สุด ๕ ประการนี้เราทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าเรารักเราสงสาร คนที่เรารัก สัตว์ที่เรารัก ที่เราสงสาร เราฆ่าเราก็ฆ่าไม่ได้ เราตั้งใจจะทรมานทำร้าย เราก็ทำไม่ได้ เรารักเราสงสาร เราขโมยก็ไม่ได้ ขโมยยังไงก็รักเขานี่ สงสารเขานี่ ขโมยมาเขาก็อด เราก็ทำไม่ได้ เรารักเราสงสารเขา เขารักกันอยู่ เราจะไปแย่งคนรักเขาได้ยังไง รักสงสารแล้วต้องการให้เขามีความสุข ถ้าเราไปโกหกเขา เขาก็มีความทุกข์ เราทำไม่ได้ เป็นอันว่า การดื่มสุราเมรัยใช้ปัจจัยไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ทำ
    เป็นอันว่าเมตตากับกรุณาทั้ง ๒ ประการ เป็นปัจจัยให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เป็นผู้ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้ากำลังใจสูงก็ทรงศีล ๘ บริสุทธิ์ เมื่อศีล ๕ บริสุทธิ์ไม่บกพร่อง จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรื่องความตายเราไม่ต้องพูดกันก็ได้ เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ เพราะคนรู้ตัวว่าจะตายอาศัยความดีของศีล เป็นสำคัญ ถ้าจิตของท่านก้าวไปอีกนิดหนึ่งคิดว่า การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเป็นปัจจัยของความทุกข์ ความสุขจริง ๆ ก็คือนิพพาน จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสว่า ท่านเป็พระโสดา หรือว่าสกิทาคามี เห็นหรือยังบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พรหมวิหาร ๔ โผล่ขึ้นมาแผล็บเดียวก็ปรากฏก้าวฉับเข้าไปเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาหรือสกิทาคา
     
  2. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ

    เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น<O:p</O:p
    ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน<O:p</O:p
    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
    www.tangnipparn.com<O:p</O:p

    <O:p>ขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา


    [​IMG]</O:p>
     
  3. linake119

    linake119 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    237
    ค่าพลัง:
    +578
    เป็นคำสอนที่ดีมากๆ ครับยังรู้สึกว่าพร่องอยู่มาก ไม่ว่าเป็นพรหมวิหารธรรม อิทธิบาท ๔
    ต้องพยายามแล้วครับ จะได้ให้บารมีเต็มเร็วขึ้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...