"ผู้เฒ่าเล่านิทาน" เรื่อง "สภาพรู้"

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 19 ธันวาคม 2022.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    726
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,503
    tumblr_3916161334ba0a1ebaab80fbd9cb6b3e_9fef58aa_400.gif

    "ผู้เฒ่าเล่านิทาน" เรื่อง "สภาพรู้"

    คือสภาพรู้ที่บริสุทธิ์ไม่มีอารมณ์ใดๆ มากระทบ มองเห็นสมมุติอยู่คนละแดน สภาพรู้นี้ยังคงมีเวทนาและสัญญาอยู่ เพราะความเนื่องกัน ที่ยังเห็นสมมุติที่อยู่คนละแดน ดูเหมือนว่าอารมณ์นั้นถูกตัดขาดโดยสมบูรณ์

    แต่เมื่อใดก็ตามที่คำนึงถึงว่า สภาพที่ใสนี้เป็นสุขยิ่ง นั่นหมายถึงสภาพรู้นั้น ได้เคลื่อนเข้าไปหาสมมุติ และได้รับรู้ความรู้สึก ด้วยความตรึกหรือความคำนึง ที่จะอ่านสภาพรู้นี้

    ความจริง ถ้าหากปล่อยให้สภาพรู้นี้อยู่อย่างนั้น ก็จะเห็นสมมุติ พุดเกิดขึ้นแล้วดับไป โดยที่ไม่มีความรู้สึกใดๆ หรืออารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น ที่กล่าวมานี้ยังเป็นการวิเคราะห์สภาวะซึ่งต้องใช้สมมุติ

    แต่ตัวสภาพรู้นี้ ดูเหมือนว่าจะขาดจากสมมุติแล้วหากไม่เฉลียวใจว่า เมื่อใดก็ตาม ถ้ามีหมาย สภาพรู้ก็จะต้องใช้สมมุติทันที สภาพรู้นี้เกิดจากการแยกรูปนามจนถึงที่สุด

    ก็สภาพอนัตตาหรือความไม่ใช่ตัวตนที่สมบูรณ์ เพราะทุกอย่างต่างอันต่างเป็น ความจริงสภาพรู้นี้ไม่อาจจะเอาสมมุติมาอธิบายได้อย่างถูกต้อง เริ่มเป็นปัจจัตตัง คือรู้ได้เฉพาะตน

    แต่สภาพรู้นี้ ก็ยังไม่ขาดจากสมมุติโดยสิ้นเชิง เป็นแต่เพียงอารมณ์ขันธ์ถูกตัดขาดลง สภาพรู้ยังคงแลสมมุติอยู่ นี่คือมรรคสูงสุด ซึ่งสุขุมพอที่จะทำให้มีผู้ติดอยู่ตรงนี้

    ผล จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สภาพรู้นี้ดับลง เพราะการขาดจากสมมุติอย่างสมบูรณ์ เมื่อสมมุติถูกตัดขาดอย่างสมบูรณ์ ก็ไม่มีเวลา ก็จะไม่มีอะไรมาอธิบายว่าผลหรือนิพพานเป็นอย่างไร

    ตรงนี้จึงเป็นปัจจัตตัง ที่สมบูรณ์ที่สุด ต่อเมื่อนิโรธสมาบัติหรือการดับ ที่ขาดจากสมมุติอย่างสมบูรณ์นี้เต็ม ก็จะเคลี่อนออกจากการดับ จะใช้เวลานานเท่าไรเป็นเรื่องของสมมุติ

    เนื่องจากช่วงเวลานั้น ไม่มีสมมุติ ผู้เข้าถึงจะรู้สึกว่าแว๊บหายไป แล้วโพล่มาตอนที่มารู้แล้ว เริ่มรู้สึกว่ามีอะไรที่ผิดปรกติเกิดขึ้น คือเวลาหายไป มันเกิดอะไรขึ้น ช่วงตอนนี้คือปัจจเวกขณะญาณ คือการทำความเข้าใจกับสภาวะที่ได้ผ่านมา

    สำหรับผู้ที่ได้ผล ในสามขั้นต้น ตามลำดับความละเอียด ที่จะรู้ถึงสภาพรู้อันบริสุทธิ์นี้ไม่มี จะมีก็แต่ความชัดเจน ของการดับเข้าสู่ผล แต่ผู้ที่เข้าขั้นที่สามหรืออธิจิต จะรู้ชัดสภาพจิต ที่ถูกแยกออก ก่อนการดับ

    สภาพที่คล้ายกับสภาพรู้ ก็คือสภาพที่เป็น เอกัคคตา(อารมณ์เป็นหนึ่ง)คือใช้กำลังของสมาธิทำให้เป็น การทำสมาธิไม่ได้แยกรูปนาม เพียงแค่ทำให้สงบระงับนิวรณ์(สิ่งรบกวนจิต)

    ที่มีความสุขุมดี ก็ตั้งแต่ฌาณสี่ ไปจนถึงอรูปฌาณอีกสี่ มีกำลังพอทีจะทำอะไรได้มากมาย ด้วยกำลังของฌาณหรือสมาธินี้ ถูกใช้ให้แผ่ตัวตนออกไปรู้ทุกอย่าง ที่เรียกว่า รวมกับอาตมัน ตรงนี้เป็นได้แค่พรหม

    เพราะการใช้กำลังทำให้ต้วตนขยายออกไปเนื่องจากหลงในความรู้ จึงมองไม่เห็นตัวตนของตน ถ้าดูจากการอธิบาย จะเห็นว่า สภาพรู้ที่ว่านั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นพรหมจึงไม่เป็นมรรคเป็นผลเลย

    เมื่อสภาพรู้ปรากฏชัดเจน ผู้ที่เข้าถึงสภาพนี้ รู้ว่ายังไม่ขาดจากสมมุติอย่างสิ้นเชิง อาการต่อไปก็คือการเข้าผลสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธหรือนิโรธสมาบัติ ผู้ที่ไม่ได้ฝึกมาทางฌาณหรือสมาธิ จะเข้าได้เพียงครั้งเดียว จึงมีชื่อว่าสัญญาเวทยิตนิโรธ

    เพื่อความเข้าใจขึ้น สมาธิหรือฌาณ มีรูปฌาณ ๔ คือ ฌาณ ๑,๒,๓ และ๔ ตามลำดับ อรูปฌาณอีก ๔ โดยอาศัยกำลังที่เป็น เอกัคคตา(อารมณ์ที่เป็นหนึ่ง) ไปยึดกับ อรูปฌาณที่ ๑ อากาสานัญจายตนะ คือยึดเอาอากาศคือช่องว่างไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ๒ วิญญาณัญจายตนะ คือ ยึดวิญญาณ(ความหมายรู้)ไม่มีที่สิ่นสุดเป็นอารมณ์ ๓ อากิญจัญญายตนะ คือยึดเอาภาวะไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือยึดภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่(สลึมสลือ)

    ให้สังเกตุว่า มีคำว่า ยตนะหรืออายตนะ(อายตนะ ๖ มี ตาหูฯ)นั่นหมายถึง ให้รับอย่างเดียว

    คราวนี้มาว่ากันถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ นิโรธก็คือดับหรือพ้นออกไป รวมความก็คือ ดับหรือพ้นออกไปจากสัญญา(ความจำได้หมายได้)ก็คือผลสมาบัตินั่นเอง

    ส่วนการเข้า นิโรธสมาบัติ สำหรับผู้ที่ฝึกสมาบัติฌาณ ตั้งแต่ ฌาน ๑-๔ และอรูปฌาณ ๑-๔ จึงจะเข้านิโรธสมาบัติได้ ซึ่งก็คืออาการเดียวกันกับผลสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธ

    สรุปก็คือผู้ที่ฝึกมาทาง ฌาณหรือสมาธิมาครบ ๘ จนเข้าถึงสมาบัติที่ ๙ จึงจะเข้าได้หลายๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฝึกมาทางฌาณหรือสมาธิก็ต้องผ่านวิปัสนาญาณเหมือนกัน

    ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงลงมาเกิด จะไม่มีใครสมารถได้รู้ถึงการที่จะพ้นหรือดับสมมุติลงได้ เพราะจะติดอยู่กับการเสวยการปรุงแต่ง จินตนาการอยู่ตลอดเวลา เราจึงเตือนอยู่บ่อยๆ ว่าอย่าไปตั้งอะไรไว้ มันจะลำบากทั้งกายและใจ เพราะเอาความเชื่อออกไม่ได้ สภาวะที่ถูกปรุงแต่งไว้ก่อน จึงไม่ใช่สภาวะแท้จริง

    ผลสมาบัติของศาสนาพุทธ ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา เพราะทั้งเวทนาและสัญญา ยังเป็นสมมุติอยู่ สภาพรู้ก่อนจะเข้าผลสมาบัติ จะต้องละเอียด คือเห็นสมมุติที่ถูกแยกออกเพราะความเบื่อหน่ายจนถึงที่สุด จนอยู่คนละแดน

    เมื่อรำพึงหรือตรึก(คิด)จะรู้ได้อย่างละเอียดถึงความเนื่องกันระหว่างสมมุติกับสภาพรู้ เมื่อเวลาสอบอารมณ์กรรมฐาน ผู้ที่เข้าไม่ถึงจริง จะตอบไม่ถูก ถึงแม้จะได้อ่านมาฟังมาก็ตาม ถูกซักเขาก็จะตอบไม่ได้ แต่ผู้ที่เข้าถึงจะตอบได้ละเอียด พลิกแพลงได้ จึงจะเป็นรู้จริง

    การสมาบัติอื่นๆ เช่นสมาบัติฌาณ(สมาธิ)ยังคงมีเวทนาอยู่ คือยังรู้ว่ามีสุขอยู่ ความสุขที่สุขุมยังคงเป็นกิเลสอยู่ ดังนั้น สมาบัติของพุทธศาสนาจึงต้องดับ จนไม่หลงเหลือกิเลสอยู่เลย

    หลังจากสมาบัติแล้ว เหมือนสูงสุดสู่สามัญ แต่ไม่อาจรวมกันได้อีกแล้ว หมายถึงว่า เมื่อเวลาดับขันธ์เข้านิพพาน จะถูกแยกออกแล้ว ขันธ์ก็ดับไป ไม่เกิดขึ้นมาอีกเลย เรียกว่าสิ้นภพสิ้นชาติอย่างสมบูรณ์

    แต่สำหรับพระอรหันต์ที่ยังคงมีธาตุขันธ์อยู่ ย่อมต้องใช้ขันธ์ ไปตามกรรมที่ยังตกค้างอยู่กับขันธ์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเข้าถึงนิพพานเสื่อมไป เพราะขันธ์เป็นคนละอันกันแล้วอย่างสิ้นเชิง

    พระพุทธเจ้าเท่านั่น เป็นผู้ที่เปลี่ยนนิสัยได้สมบูรณ์ ส่วนสาวกยังคงมีนิสัยตกค้างอยู่ ตามแต่กรรมที่ยังคงมีอยู่กับธาตุขันธ์ บางองค์ก็ชอบอยู่กับวิหารธรรม เช่นการเข้านิโรธสมาบัติ หรือสมาบัติฌาณต่างๆ หรือบางองค์ก็ทางฤทธิ์หรืออีกหลายๆ อย่าง

    ที่ได้เล่ามาก็เพื่อที่จะได้เป็นความรู้ เพื่อที่จะได้จำไปใช้ปฏิบัติหรือไปสนทนากับผู้รู้ทั้งหลายเพื่อความเจริญของพุทธศาสนาต่อๆ ไป จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ท่านก็ท้าให้ลอง แล้วท่านจะรู้ด้วยตนเองตามสวาขาโตได้กล่าวไว้

    การกล่าวว่า พระอริยะขั้นแรกหรือพระโสดาบัน เป็นผู้เข้าสู่กระแสนั้น ก็หมายถึงว่า การที่มีความเบื่อหน่ายจนถึงที่สุด แล้วก็เข้าสู่ผลสมาบัติ ก็คือการดับนั่นเอง แต่ว่าเพิ่งจะเริ่ม เข้าสู่กระแสครั้งแรก จึงยังไม่ชัดเจน ทั้งผู้รู้ที่เป็นมรรคและผล เพียงรู้ว่ารู้สึกว่างขณะเป็นมรรค

    ครั้นเคลื่อนออกจากว่าง ก็จะเจอกับการปรุงแต่ง จึงย้อนกลับสู่ความว่าง แล้วไปเข้าสู่การดับในที่สุด หลังจากนั้น ปัจจเวก หรือการพิจารณาก็จะทำให้ญาณย้อนมาเริ่มต้นกับการปรุงแต่งหรือกิเลสอีกครั้ง ความรู้สึกจึงดูเหมือนว่ามันเสื่อมลงไป

    แต่การปฏิบัติ เริ่มไม่ยอมลดละลง สำหรับผู้ที่มีอินทรีย์ที่จะเข้าสู่พระอริยะขั้นที่สูงขึ้นไป ผู้ที่ได้พระโสดาบัน มักจะเข้าสู่พระสกทาคามีได้ไว เพราะขั้นนี้เป็นเพียงแค่อธิศีล และพระโสดาบันยังพิจารณาที่จะชนะกิเลสไม่ได้สักตัวเดียว เพียงแต่เป็นผู้ที่เห็นชัดและตระหนักถึงเสมอ

    เมื่อถึง พระสกทาคามี จึงจะจัดการกับกิเลสได้ครึ่งหนึ่ง ทำให้รู้สึกเบาบางลง อย่าลืมว่า! แม้ว่าจะกำจัดกิเลสออกไปแล้ว ใช่ว่าสัญญาจะหายไปด้วย พระอริยะเจ้าทั้งหมด ยังจำกิเลสได้หมด เพราะกิเลสก็คือสมมุติ มันก็อยู่ส่วนหนึ่ง วิมุตติก็อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ปัญญานั้นย่อมอยู่เหนือเป็นลำดับขั้นๆ ไป

    จินตนาการของเราชอบที่จะคิดว่าผู้ที่หลุดพ้นแล้วตามขั้นๆ คงจะเป็นประมาณนั้นๆ ให้ทำความเข้าใจใหม่ให้รอบคอบก่อนจะเชื่อ ทางที่ดีปฏิบัติให้ได้แล้วจะเข้าใจเอง

    ทีนี้เรามาว่ากันถึงการดับ ยังมีการดับอีกประเภทหนึ่ง คือการดับแบบ อสัญยีพรหม โดยอาศัยเอกัคคตา(อารมณ์ที่เป็นหนึ่ง)ของฌาณ๔ มาเป็นกำลัง

    เนืองจากเห็นว่านาม ยังคงปรุงแต่งอยู่ จึงน้อมเข้าสู่ผลสมาบัติด้วยการดับนาม(เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาน) เมื่อนามถูกดับ สะพานจากรูปเข้าไปทำให้รู้อะไรๆ ก็ขาดไป เหลือรูปตั้งอยู่(รูปคือสิ่งที่ปรากฏกับ ตา หู จมูก ลิ้นและกาย)พวกอสัญยีพรหม จึงเหลือกายทิพย์ตั้งอยู่

    แต่ทางพุทธเราพิจารณาดับทั้งรูปและนามจนสิ้นเชิง จนขาดเยื่อใยกันหมดสิ้น สำหรับผู้เขียนได้อ่านพระสูตรคือ มหาเวทัลสูตร และจุลเวทัลสูตร รู้สึกเข้าใจแต่ในมหาเวทัลสูตร ยังบอกถึงการน้อมกำลังจากรูปฌาณ อรูปฌาณ(สมาธิ) มาเข้าสู่ผลสมาบัติไว้หลายอย่าง

    กำลังที่พอดี จะเริ่มจากฌาณ ๔ ไปจนหมดอรูปฌาณอีก๔ ฌาณใดฌาณหนึ่ง เข้าผลสมาบัติได้ทั้งหมด สำคัญคือ ต้องมีวิปัสนาญาณด้วย ดังนั้นผู้ที่บรรลุธรรม เป็นผู้รู้แล้ว จึงเป็นผู้รู้ที่มีปํญญา

    อย่างน้อยฟังแล้วเข้าใจ เรื่องการหลุดพ้นได้อย่างดี ถ้าหากว่ามีผู้ใดกล่าวถึงธรรมอันนี้ สำหรับผู้ที่อ้างว่าต่างคนต่างรู้ ดูจะเป็นผู้ที่มีเงื่อนงำอยู่ อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นผู้รู้ได้หรือ

    ผู้ที่เข้าสู่ผลสมาบัติ เป็นพระอริยะเจ้าที่แบ่งเป็นสองพวกใหญ่คือ ๑. เจโตวิมุติ คือเป็นผู้ที่เข้าถึงด้วยกำลังของสมาธิหรือฌาณ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วว่า กำลังที่พอดีเริ่มตั้งแต่ฌาณที่ ๔ ขึ้นไป

    ๒. ปัญญาวิมุตติ เป็นพวกที่ใช้ปัญญาเป็นกำลัง สำหรับพวกนี้ใช้กำลังของสมาธิหรือฌาณ แค่ณาณที่ ๑ ที่เรียกว่าถึงอัปปนา คือมีองค์ประกอบดังนี้คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา อารมณ์ทั้งห้านี้ มีเอตคตาอยู่ด้วย จึงสามารถเข้าผลสมาบัติได้

    จะเห็นว่าการที่เราใช้วิปัสสนา เราไม่ต้องใช้กำลังสมาธิหรือกำลังฌาณมาก ก็สามารถเข้าถึงการหลุดพ้นได้ จึงขอฝากไว้ให้ลองคิดดู ว่าจะเลือทางใด อีกอย่าง ถ้าฝึกทางสมาธิจะมีของแถมให้ติดมากมาย

    เท่าที่ได้แนะนำมา ก็จะมีของแถมกันอยู่เสมอๆ นั่นหมายถึงว่า ผู้ที่มีของแถมก็เพราะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติ มักไม่เป็นกลางจริง หรือมักจะไปจี้ที่ทุกข์ พอไม่ไหวก็จะหนีเข้าสมาธิ จะเป็นอย่างใดก็ได้ ขอให้เข้าถึงสภาวะเป็นอันใช้ได้

    พ. นิรวาร
     

แชร์หน้านี้

Loading...