ปล่อยชีวิตสัตว์

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Lukhgai, 29 พฤษภาคม 2009.

  1. Lukhgai

    Lukhgai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    3,000
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +8,240
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมปล่อยปลาจำนวน 1,000 ตัว กับคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่บริเวณท่าน้ำวัดหอมเกร็ด จังหวัดนครปฐม การให้ชีวิตสัตว์นั้นนับว่าเป็นบุญเป็นกุศลที่เราสามารถปฏิบัติได้อย่างไม่ยากนัก วันนี้ผมจึงเขียนถึงการทำบุญด้วยการปล่อยชีวิตสัตว์ อันเป็นการทำทานประเภทหนึ่ง

    การประกอบกรรมอันเป็นกุศลกรรมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ 1.การให้ทาน 2.การรักษาศีล และสุดท้ายคือการเจริญภาวนา

    การให้ทานเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบกุศลกรรมอย่างง่ายที่สุด หากเราไม่อาจชนะกิเลส ความโลภอย่างหยาบๆ ภายในจิตใจของเราได้แล้ว กุศลกรรมที่ละเอียดสูงขึ้น เช่น การรักษาศีลและการอบรมจิตด้วยการเจริญภาวนา ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถกระทำได้

    การให้เป็นกุศลกรรมที่เราสามารถกระทำด้วยเหตุผล และความเข้าใจในระดับของคุณธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งมนุษย์สามารถก้าวข้ามความตระหนี่ถี่เหนียว ยอมสละทรัพย์สินเงินทองและความสุขส่วนตัว เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ การให้ทานจึงเป็นการยกระดับจิตใจของมนุษย์เราให้สูงขึ้น

    การปล่อยชีวิตสัตว์ก็เป็นการให้ทานประเภทหนึ่ง เป็นทานที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเอาทรัพย์สินเงินทองอันเป็นสมบัติโลกไปทำแทนได้ เช่น การสละทรัพย์เพื่อซื้อชีวิตสัตว์ไปปล่อย เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์เดรัจฉานที่กำลังจะถูกฆ่า และกำลังจะถูกนำเลือดเนื้อมาเป็นอาหารของมนุษย์ ให้สัตว์เหล่านั้นได้รอดพ้นจากความตายและมีชีวิตอยู่ต่อไป

    การให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้นย่อมเป็นบุญ เมื่อประกอบกุศลกรรมด้วยการให้ชีวิต ให้โอกาส ผู้นั้นก็ย่อมได้รับชีวิตและโอกาสในการมีชีวิตต่อไปบนโลกเช่นกัน

    ผู้ที่ปฏิบัติกุศลกรรมด้วยการปล่อยชีวิตสัตว์จึงได้อานิสงส์ผลบุญให้มีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือหายจากโรคร้ายต่างๆ

    ผู้ที่ให้ทานย่อมได้รับความสุขตามลำดับแห่งทานและเหตุแห่งกรรมที่ได้กระทำ อย่างเช่น ผู้ที่เลี้ยงอาหารคนยากคนจน ก็จะได้ทานบารมีส่งผลให้มีกิน ไม่อดไม่อยาก หรือผู้ที่สร้างศาลากันลมกันฝนให้แก่ชาวบ้านก็จะมีที่อยู่ที่อาศัย มีความสุขสะดวกสบาย เป็นต้น

    เมื่อกระทำกุศลกรรมสิ่งใดลงไป ท่านก็ย่อมได้รับสิ่งที่ท่านได้กระทำไป อันเป็นไปตามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า "ทำกรรมสิ่งใดย่อมได้รับผลกรรมอย่างนั้น"

    การให้อามิสทาน จะมีความสุขอันเกิดจากการเอาชนะกิเลสและความโลภภายในจิตใจของตนเอง เมื่อหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสโลกอย่างหยาบๆ นี้ไปได้ ผู้ให้อามิสทานก็จะมีจิตใจที่เบิกบานและได้รับบุญตามเหตุแห่งทานที่ได้กระทำ

    นอกจากการทำทานโดยใช้ทรัพย์สินอันเป็นสมบัติโลกไปแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีการทำทานด้วยการให้ปัญญาธรรมโดยการแสดงธรรม อันเป็นการให้ทานที่ละเอียดลึกซึ้งและสูงขึ้นไปอีก เราเรียกว่า " ธรรมทาน" ด้วย เพราะธรรมทานนั้นเมื่อผู้ที่มีอวิชชาทั้งหลายได้เข้าใจในธรรม อวิชชาที่มีอยู่ก็จะหมดไปและหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยปัญญาธรรม

    การให้ปัญญาธรรม (สัจธรรมความจริง) จึงเป็นการให้ทานที่มีบุญมาก เพราะเป็นเหตุทำให้ดวงจิตวิญญาณทั้งหลายหลุดพ้นจากอวิชชาและความทุกข์ที่เป็นอยู่

    สูงกว่าธรรมทานก็เป็นทานในขั้นโลกุตระภูมิ อันได้แก่ อภัยทาน ซึ่งการที่จะให้ทานประเภทนี้ได้ จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมทางจิตมาแล้วเป็นอย่างดี มีภูมิจิตภูมิธรรมจนกระทั่งสามารถก้าวพ้นสมมติโลกอันเป็นโลกุตระธรรมไปได้ จึงสามารถอภัยในกรรมต่างๆ ลงได้ วางโทสะ โมหะ อาฆาต พยาบาท ไม่จองกรรมจองเวรอะไรไว้อีก

    จิตหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสมายาของโลกแล้ว ภาวะจิตย่อมเป็นกลาง ไม่มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ไม่มีทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นจิตที่ประเสริฐแล้ว จึงสามารถให้อภัยเป็นทานได้ ดวงจิตพบสัจธรรมความจริง และไม่ต้องการกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้อีกต่อไป.


    ปล่อยชีวิตสัตว์ | ไทยโพสต์
     

แชร์หน้านี้

Loading...