ประโยชน์หลายสถานของ...มะพร้าวไทย

ในห้อง 'เมนูอาหารและวิธีการทำอาหาร' ตั้งกระทู้โดย AnGeliQue, 2 กันยายน 2007.

  1. AnGeliQue

    AnGeliQue เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    126
    ค่าพลัง:
    +418
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%" border=0><TBODY><TR><TD>สุขภาพดีวิถีไทย: ประโยชน์หลายสถานของ...มะพร้าวไทย</TD></TR><TR><TD>
    โดย ภิรตา จิรวัชราธิกุล
    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    <LINK href="/yingthai.css" type=text/css rel=stylesheet>
    ประโยชน์หลายสถานของ...มะพร้าวไทย


    ดิฉันได้มีโอกาสออกท้องที่ บริการตรวจสุขภาพให้กับประชาชน พร้อมกับเพื่อนๆ แพทย์แผนไทยอีกหลายคน นำโดย อาจารย์เนตรดาว ยวงศรี - กองทุนชีวกโกมารภัจจ์ เราได้ไปที่ชุมชนบางนางลี่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างทางเห็นต้นมะพร้าวมากมาย ทั้งต้นสูง กลาง และเตี้ย อยู่รายรอบทั้งตำบล ชาวบ้านทำสวนมะพร้าวและทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้น ในฉบับนี้จึงจะขอกล่าวถึงคุณประโยชน์อันอเนกอนันต์ของมะพร้าวไทยค่ะ
    มะพร้าว เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดี อยู่ในตระกูลปาล์ม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก เราใช้ประโยชน์จากมะพร้าวได้หลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ เช่น กระบวย โคมไฟ ฯลฯ นอกจากนี้มะพร้าวยังจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ ปลูกมะพร้าวไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล
    ลักษณะทั่วไปของมะพร้าว
    เป็นไม้ยืนต้น สูงชะลูด 7-10 เมตร เปลือกลำต้นแข็ง
    ใบ ออกเป็นใบรวม มีใบย่อยเป็นแผ่นแคบยาว เรียงสลับกันเป็นรูปขนนกปลายใบแหลม
    ดอก ออกเป็นช่อตามบริเวณกาบที่หุ้ม ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ
    ผล เป็นรูปกลมหรือรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 - 9.5 นิ้ว เปลือกนอกเรียบเกลี้ยง ประกอบด้วยเอพิคาร์ป (Epicarp) คือเปลือกนอก ถัดไปข้างในจะเป็นมีโซคาร์ป (Mesocarp) หรือใยมะพร้าว ถัดไปข้างในเป็นส่วนเอนโดคาร์ป (Endocarp) หรือกะลามะพร้าว ซึ่งจะมีรูสีคล้ำอยู่ 3 รู สำหรับงอก ถัดจากส่วนเอนโดคาร์ปเข้าไปจะเป็นส่วนเอนโดสเปิร์ม หรือที่เราเรียกว่าเนื้อมะพร้าว ภายในมะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าวซึ่งเมื่อมะพร้าวแก่เอนโดสเปิร์มก็จะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด ขณะที่มะพร้าวยังอ่อน ชั้นเอนโดสเปิร์ม (เนื้อมะพร้าว) ภายในผลมีลักษณะบางและอ่อนนุ่ม ภายในมีน้ำมะพร้าว ซึ่งในระยะนี้เรามักสอยเอามะพร้าวลงมารับประทานน้ำและเนื้อ เมื่อมะพร้าวแก่ ซึ่งสังเกตได้จากการที่เปลือกนอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ชั้นเอนโดสเปิร์มก็จะหนาและแข็งขึ้น จนในที่สุดมะพร้าวก็หล่นลงจากต้น
    การปลูก มะพร้าวปลูกได้ดีในดินปนทราย ขยายพันธุ์โดยใช้ผลแก่เพาะเป็นต้นอ่อนสูงประมาณครึ่งถึงหนึ่งเมตร จึงนำไปปลูกในหลุมที่รองก้นด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก บำรุงด้วยปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง
    มะพร้าวเป็นไม้ผลที่ต้องการพื้นที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีทรงพุ่มที่แผ่กว้างและไม่สามารถตัดแต่งได้อีกทั้งมะพร้าวมีรากที่แข็งแรงและแผ่ขยายไปได้ไกล ทำให้ไม่นิยมปลูกในบ้านที่มีบริเวณบ้านน้อยหรือพื้นที่คับแคบ แต่สำหรับบ้านที่มีบริเวณบ้านมากพอก็สามารถปลูกได้ มะพร้าวให้ร่มเงาดี เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นโคนต้นจะโปร่งทำให้สามารถปลูกหญ้าที่บริเวณโคนต้นได้
    ประโยชน์
    มะพร้าวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น
    1. ในผลมะพร้าวอ่อน จะมีน้ำอยู่ภายในเรียกว่าน้ำมะพร้าว ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียม นอกจากนี้น้ำมะพร้าวยังมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค และเป็นสารละลายไอโซโทนิก (สารละลายที่มีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์ ซึ่งไม่ทำให้เซลล์เสียรูปทรง) ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำน้ำมะพร้าวไปใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดผิดปกติได้
    2. น้ำมะพร้าว สามารถนำไปทำวุ้นมะพร้าวได้ โดยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว
    3. เนื้อในของมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็กๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออก
    4. กาก ที่เหลือจากการคั้นกะทิ ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้
    5. ยอดอ่อนของมะพร้าว หรือเรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว (Coconut's Heart) สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ ซึ่งยอดอ่อนมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนทำให้ต้นมะพร้าวตาย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกยำยอดอ่อนมะพร้าวว่า "สลัดเจ้าสัว" (Millionaire's Salad)
    6. ใยมะพร้าว นำไปใช้ยัดฟูก ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร
    7. น้ำมันมะพร้าว ได้จากการหีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย
    8. กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ
    9. ก้านใบ หรือทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว
    ความเชื่อ
    ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวบริเวณทิศตะวันออกของบ้านเพื่อให้เป็นสิริมงคล คนที่เกิดปีชวด ปีเถาะ ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ก็จัดให้มะพร้าวเป็นมิ่งขวัญของคนที่เกิดในปีดังกล่าว นอกจากนี้ การล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว ก็เพราะมีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ในพิธีกรรมทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ จะจัดให้มีมะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องสังเวย เพราะมีความเชื่อว่ามะพร้าวเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ เหมาะแก่การชำระล้างและการดื่มเพื่อเป็นสิริมงคล
    คุณค่าทางอาหาร
    ยอดอ่อน นำมาผัด แกง ผลอ่อน รับประทานสดหรือนำมาเผา ทำห่อหมก
    มะพร้าวอ่อน จั่น (ช่อดอก) ตัดปลายวงจะได้น้ำหวานทำน้ำตาลปี๊บ ส่าเหล้า และน้ำส้ม น้ำมะพร้าวทำเนยเทียม ทำน้ำมันปรุงอาหาร
    เนื้อของมะพร้าว และน้ำมะพร้าว เนื้อมะพร้าวนำมาคั้นเป็นน้ำกะทินำไปประกอบอาหารคาวหวานได้หลายชนิด ช่วยให้อาหารมีรสหวาน มัน น่ารับประทานมาก เช่น แกงเขียวหวานไก่ แกงขี้เหล็ก แกงคั่ว ของหวานก็มี เช่น สังขยา วุ้นกะทิ และอื่นๆอีกมากมาย เนื้อมะพร้าวประกอบไปด้วยน้ำมันถึง 60-65 % ในน้ำมันมีกรดไขมันหลายชนิดด้วยกัน
    เนื้อมะพร้าวหั่นฝอยใส่น้ำเคี่ยวหรือตากแห้งแล้วเคี่ยวจะได้น้ำมันมะพร้าว
    น้ำมะพร้าว เป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางอาหารสูง รสหวาน หอม ชุ่มคอ ชื่นใจ ในน้ำมะพร้าวยังมีน้ำตาล โปรตีน โซเดียม แคลเซียม โปแตสเซียม แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไตก็ไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าว
    เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว
    ส่วนผสม มะพร้าวน้ำหอม 1 ลูก น้ำเชื่อม 5-6 ช้อนแกง
    วิธีทำ
    เลือกมะพร้าวอ่อนที่มีน้ำหอม หวาน เหมาะที่จะรับประทานเป็นมะพร้าวอ่อน เฉาะเปลือกตรงหัวออก เทน้ำเก็บไว้ ผ่าซีก 2 ซีก ตักเอาแต่เนื้อขาวๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำมะพร้าวที่เก็บไว้ลงไป เติมน้ำต้มสุกอีกเล็กน้อย ปั่นใส่น้ำเชื่อม ชิมรสตามใจชอบ กรองใส่ขวดเข้าตู้เย็น ทิ้งไว้เป็นวุ้น อย่าให้แข็ง เมื่อเอาออกมารับประทานจะได้น้ำมะพร้าวปรุงรส หวาน มัน หอมเย็นชื่นใจ ดื่มแล้วสดชื่น
    สรรพคุณทางยา
    กะลา นำมาเผาให้เป็นถ่านดำ แล้วนำมาบดเป็นผงละเอียด ผสมน้ำดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 0.5-1 ช้อนชา แก้ปวดกระดูกและเส้นเอ็น
    เปลือกต้นสด เผาไฟให้เป็นเถ้า แก้ปวดฟัน ทาแก้หิด
    เนื้อมะพร้าวสดหรือแห้ง เป็นยา บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ไข้
    ดอก รสฝาดหวานหอม เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ กล่อมเสมหะ บำรุงโลหิต และแก้ปากเปื่อย
    ราก รสฝาดหวานหอม เป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ หรืออมบ้วนปากแก้เจ็บคอ
    น้ำมะพร้าว เป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้นิ่ว แก้อาเจียนเป็นโลหิตและบวมน้ำ
    น้ำมันมะพร้าว รสหวาน เค็ม รับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ใช้ทาบำรุงผม หรือทาเป็นยาแก้กลากเกลื้อน ทาผิวหนังแตกแห้ง แก้โรคผิวหนังต่างๆ ทาแผลน้ำร้อนลวก โดยการเอาน้ำมันมะพร้าวมา 1 ส่วน ใส่ในภาชนะคนพร้อมๆ กับเติมน้ำปูนใส 1 ส่วน โดยเติมทีละส่วนพร้อมกับคนไปด้วยจนเข้ากันดี ใช้ทาบริเวณแผลบ่อยๆ
    การใช้มะพร้าวในการรักษาโรค จากการที่น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อ และสามารถถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดีและรวดเร็ว ตำราอายุรเวทของอินเดียจึงได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคมาไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี แพทย์แผนไทยใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคทั้งภายในและภายนอกเป็นเวลาช้านาน อย่างเช่น ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังปรากฏตำรับน้ำมันมะพร้าวเป็นยานวดแก้ปวดเมื่อย เป็นยารักษาโรคกระดูก ยารักษาแผลเน่าเปื่อย ส่วนตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน ก็แนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุ รักษาเม็ดผดผื่นคัน ลบริ้วรอย แผลฟกช้ำ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ป้องกันแสงแดดและความร้อน แม้กระทั่งแพทย์แผนปัจจุบันชาวตะวันตก ได้ให้คนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร การดูดซึมอาหาร และในเด็กทารกรวมทั้งเด็กเล็กที่ไม่สามารถย่อยไขมัน กินน้ำมันมะพร้าวเป็นยารักษาโรคเหล่านี้
    ประมวลสรรพคุณมะพร้าวในตำราแพทย์ไทย
    1. ลดไข้ วุ้นเนื้อมะพร้าวอ่อนกับน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นยาเย็น ช่วยให้อาการไข้ตัวร้อนทุเลาลง
    2. แก้ร้อนใน ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนในตอนเช้าให้หมด และในตอนบ่ายดื่มอีกลูกหนึ่งจนหมด กินเนื้อด้วยก็ได้
    3. แก้ท้องเสีย ใช้รากมะพร้าวล้างสะอาด 3 กำมือ ทุบพอแตกต้มน้ำ 5 แก้ว เคี่ยวเอา 2 แก้ว ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว เช้า กลางวัน เย็น
    4. แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำกะทิเคี่ยวให้ร้อน เอาผักเสี้ยนผีล้างสะอาดสับเคี่ยวด้วยกัน ใส่เมนทอลเล็กน้อยเพื่อกลิ่นหอม และเพิ่มพลังแทรกซึมของตัวยานวด แก้ปวดเมื่อย ช้ำบวม อักเสบ
    5. รักษาแผลเรื้อรัง เอากะลามะพร้าวถูตะไบ ได้ผงละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าว แทรกพิมเสนเล็กน้อย ทาแผลเรื้อรัง เช้า กลางวัน เย็น ทาบ่อยๆ
    6. แก้จุกเสียด แน่นท้อง เอากะลามะพร้าวเผาไฟให้เป็นถ่าน มาบดเป็นผงละเอียด ละลายน้ำอุ่น ดื่มแก้จุดเสียดแน่นท้องได้ ดื่มสัก 1 - 2 ช้อนโต๊ะ
    7. รักษาเกลื้อน เอากะลามะพร้าวแก่จัดที่ขูดแล้ว ที่มีรู มาใส่ถ่านไฟแดงๆ จะทำให้เกิดน้ำมันมะพร้าวไหลออกมา เอาน้ำมันนั้นทาโรคเกลื้อนได้ดีเยี่ยม ทาแล้วทิ้งไว้ 7 วันล้างออก ยางจะติดแน่นอยู่ เกลื้อนจะค่อยๆ หาย
    8. แก้ปวดฟัน เอากะลามะพร้าวแก่จัด มีรู ขูดเอาเนื้อออกใหม่ๆ ใส่ถ่านไฟแดงลงไป รองน้ำมันมะพร้าวที่ไหลออกมาเก็บใส่ขวด ปิดแน่นไว้ ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำมันมะพร้าว อุดรูฟันที่ปวด อย่าให้สัมผัสเหงือกหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ จะเกิดความชาได้
    9. รักษาคางทูม เอาน้ำมันมะพร้าวทาบริเวณคางทูมบ่อยๆ วันละ 2 - 3 ครั้ง ทาบางๆ 2 - 3 วัน อาการคางทูมจะดีขึ้น
    10. รักษาดีซ่าน ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน ครั้งละ 1 ผล เช้า กลางวัน เย็น ทุกวัน เพียง 2 วันก็หาย
    11. รักษาแผลเป็น ใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากกะลามะพร้าวเผาไฟถ่าน ทาที่แผล แผลจะหายไปในไม่กี่วัน เมื่อแผลหายจะไม่เป็นแผลเป็น
    12. แก้ตาอักเสบ เอาน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ถ้วย ผสมน้ำตาลทรายแดงให้หวานจัดๆ เอาไว้ดื่ม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น อาการอักเสบของดวงตาจะค่อยๆ หายไปเองในที่สุด
    13. แก้คลื่นไส้อาเจียน เอามะนาว 1 ซีก บีบผสมน้ำมะพร้าวอ่อน ดื่มแก้อาเจียนได้ดี
    14. แก้โรคบิด ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนครั้งละ 1 ผล เช้า กลางวัน เย็น แก้โรคบิดได้ดีมาก
    15. บำรุงผิวพรรณ ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนสัปดาห์ละ 4 - 5 ผล ช่วยบำรุงผิวพรรณ แก้เม็ดผดผื่นคัน บำรุงร่างกายให้สดชื่น
    16. แก้ปัสสาวะขัด ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน ครั้งละ 1 ผล เช้า กลางวัน เย็น
    17. แก้พิษเบื่อเมาได้ดี ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ลูก ไม่กินเนื้อ อีก 2 - 3 ชั่วโมง ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเย็นๆ เข้าไปอีก แก้วิงเวียน เมา ปวดท้อง ปวดไส้ ล้างพิษที่เกิดขึ้นได้ดี
    18. แก้เมาเหล้า เอาน้ำมะพร้าวอ่อนไม่ต้องแช่เย็น ดื่มแก้เมา แก้อาเจียนจากเหล้าได้ดี
    19. แก้ไอ เอาน้ำมะพร้าวห้าวมาดื่มจะมีสรรพคุณรักษาอาการไอได้ดีมาก ดื่มเฉพาะน้ำเท่านั้น
    20. แก้ชันนะตุพุพอง น้ำมันมะพร้าวผสมเหง้าขมิ้นชัน สารส้มเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็นชันนะตุหรือใช้เพียงน้ำมันมะพร้าวเพียงอย่างเดียวก็ได้ผลดีเช่นกัน
    21. แก้รังแค ใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเคี่ยวน้ำกะทิแก่จัด เคี่ยวได้น้ำมันมะพร้าวใหม่ๆ ให้เย็นลงทาศีรษะ 30 นาที แล้วสระออกด้วยแชมพู ใช้เพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว
    22. รักษาน้ำกัดเท้า เอาน้ำมันมะพร้าวผสมสารส้ม น้ำปูนใส และเกลืออย่างละเล็กน้อย กวนคนผสมกันให้ดี เอามาทาแผลทันที บ่อยๆ จะหายเร็วขึ้น
    23. แก้ผื่นคัน เอาเนื้อมะพร้าวขูดเคี่ยวน้ำมันออกมา แล้วเอากากที่เหลือเคี่ยวไปด้วยกันอย่าทิ้ง จนไหม้เกรียมดำ แล้วเอาน้ำมะพร้าวนี้ ซึ่งมีเนื้อมะพร้าวขูดที่ไหม้ไปใช้ประโยชน์ได้
    24. รักษาฝ่ามือแห้งแตกและเล็บขบ ใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวใหม่มาใช้ได้ดี หรือใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเผากะลามีรูจากถ่านไฟก็ได้ ทาเช้า กลางวัน เย็น หรือหยอดเล็บขบ จะหายเร็วและไม่ปวด
    25. แก้เบาหวาน เอามะพร้าวแก่ขูดเอาเนื้อคั่วให้เหลือง หอม กรอบ โรยเกลือเล็กน้อย ใส่ขวดปิดฝาแน่น รับประทานครั้งละ 1 ช้อนแกง เช้า กลางวัน เย็น สัก 10 - 15 วัน ระดับน้ำตาลจะลดลงเรื่อยๆ
    26. แก้ปากเปื่อย ปากเป็นแผล อมน้ำกะทิสด (จากมะพร้าวแก่) ครั้งละ 5 - 10 นาที 2 - 3 วัน
    27. รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้มะพร้าวกะทิปิดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้ได้ดีทีเดียว
    28. แก้ไข้ทับระดู เอาจั่นมะพร้าวหรือทะลายดอกมะพร้าว ที่ยังคงมีกาบหุ้มอยู่ ต้มน้ำดื่ม เช้า กลางวัน เย็น อาการไข้ทับระดูจะค่อยๆ หายไป ชาวบ้านบางคนใช้รากก็ได้ผล
    29. รักษาลำไส้อักเสบ เอาเปลือกมะพร้าวมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มน้ำดื่มต่างน้ำ ลำไส้อักเสบจะค่อยๆ ทุเลาลง จนกระทั่งหายไปในที่สุด (ควรใช้เปลือกมะพร้าวห้าว มะพร้าวแก่หรือมะพร้าวแห้ง)
    30. แก้อีสุกอีใส ใช้ใบมะพร้าวต้มน้ำดื่ม แก้อีสุกอีใสได้
    31. รักษาอาการเคืองตา ใช้เนื้อมะพร้าวอ่อนสดๆ แปะที่ดวงตา อาการเคืองตาจะทุเลาลงและหายไปได้
    (ข้อมูลจากเรื่องน้ำมันมะพร้าว บทบาทต่อสุขภาพและความงาม โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานเครือข่ายพืชปลูกพื้นเมืองไทย จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ความรู้ โดยองค์การเภสัชกรรม (GPO))[​IMG]


    http://www.yingthai-mag.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...