ประวัติ...หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ในห้อง 'หลวงปู่ดู่ และ หลวงตาม้า' ตั้งกระทู้โดย วิมุติมรรค, 14 กรกฎาคม 2010.

  1. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ



    ชาติภูมิ

    พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิม ชื่อ ดู่
    เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง
    ซึ่งตรงกับ วันวิสาขบูชา
    ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา

    โยมบิดาชื่อ พุด
    โยมมารดาชื่อ พุ่ม
    ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้าย มีโยมพี่สาว ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
    ๑ . พี่สาวชื่อ ทองคำ สุนิมิตร
    ๒ . พี่สาวชื่อ สุ่ม พึ่งกุศล
    ๓ . ตัวท่าน


    ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

    ชีวิตในวัยเด็กของท่าน ดูจะขาดความอบอุ่นอยู่มาก ด้วยกำพร้าบิดา มารดาตั้งแต่เยาว์วัย
    นายยวง พึ่งกุศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่าน ได้เล่าให้ฟังว่า บิดามารดาของท่าน มีอาชีพทำนา โดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลขาย เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นเด็กทารก มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้คือ ในคืนวันหนึ่งซึ่งเป็นหน้าน้ำ ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอด“ขนมมงคล”อยู่นั้น ท่านซึ่งถูกวางอยู่บนเบาะนอกชานคนเดียว ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปในน้ำ ทั้งคนทั้งเบาะแต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง ที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้ว กระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่าน มาเห็นเข้าจึงได้เห่าพร้อมกับวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างตัวท่านกับมารดาท่าน เมื่อมารดาท่านเดินตามสุนัขเลี้ยงออกมา จึงได้พบท่านลอยน้ำติดอยู่ที่ข้างรั้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มารดาท่านเชื่อมั่นว่า ท่านจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามากมาเกิด

    มารดาของท่าน ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดาของท่านก็จากไปอีก ขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับยาย โดยมีโยมพี่สาวที่ชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  2. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    สู่เพศพรหมจรรย์

    เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท
    เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖
    ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    โดยมี หลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์
    มี หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    และมี หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์
    ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”

    ในพรรษาแรกๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดประดู่ทรงธรรม
    ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า วัดประดู่โรงธรรม
    โดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือ ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และ หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น

    ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น
    ท่านได้ศึกษากับ หลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นอุปัชฌาย์ และ หลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่สองประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นมรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภา เป็นสำคัญ นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่จากชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้าง และด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี และสระบุรี


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  3. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    ประสบการณ์ธุดงค์

    ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ ออกพรรษาแล้ว ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี และ แวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธฉาย และ รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ

    หลวงปู่ดู่ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้มุ่งเน้นมรรคผลนิพพาน หากแต่ต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่า วิชาคงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปแก้แค้นพวกโจรที่ปล้นบ้าน โยมพ่อโยมแม่ท่านถึง ๒ ครั้ง แต่เดชะบุญ แม้ท่านจะสำเร็จวิชาต่าง ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ ท่านกลับได้คิดนึกสลดสังเวชใจตัวเอง ที่ปล่อยให้อารมณ์อาฆาตแค้น ทำร้ายจิตใจตนเองอยู่เป็นเวลานับสิบ ๆ ปี
    ในที่สุดท่านก็ได้ตั้งจิตอโหสิกรรมให้แก่โจรเหล่านั้น แล้วมุ่งปฏิบัติฝึกฝนอบรมตน
    ตามทางแห่ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา อย่างแท้จริง

    ในระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์อยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ได้พบฝูงควายป่ากำลังเดินเข้ามาทางท่าน ท่านตั้งสติอยู่ครู่หนึ่ง จึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว หยุดยืนภาวนานิ่งอยู่ ฝูงควายป่าที่มุ่งตรงมาทางท่าน พอเข้ามาใกล้จะถึงตัวท่าน ก็กลับเดินทักษิณารอบท่านแล้วก็จากไป

    บางแห่งที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง ท่านมักพบกับพวกนักเลงที่ชอบลองของ ครั้งหนึ่งมีพวกนักเลงเอาปืนมายิงใส่ท่าน ขณะนั่งภาวนาอยู่ในกลด ท่านเล่าให้ฟังว่า พวกนี้ไม่เคารพพระ สนใจแต่ “ของดี” เมื่อยิงปืนไม่ออก จึงพากันมาแสดงตัวด้วยความนอบน้อม พร้อมกับอ้อนวอนขอ “ ของดี ” ทำให้ท่านต้องออกเดินธุดงค์หนีไปทางอื่น

    การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้น เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา แต่สุขภาพธาตุขันธ์ของท่านก็ไม่เป็นใจเสียเลย บ่อยครั้งที่ท่านต้องเอาผ้ามาคาดที่หน้าผาก เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ อีกทั้งก็มีอาการเท้าชารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่ละความเพียร

    สมดังที่ท่านเคย สอนลูกศิษย์ว่า
    “นิพพานอยู่ฟากตาย”

    ในการประพฤติปฏิบัตินั้น จำต้องยอมมอบกายถวายชีวิตลงไป
    ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
    “ถ้ามันไม่ดี หรือ ไม่ได้พบความจริง...ก็ให้มันตาย
    ถ้ามันไม่ตาย...ก็ให้มันดี หรือ ได้พบกับความจริง”

    ดังนั้น อุปสรรคต่างๆ จึงกลับเป็นปัจจัย ช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  4. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    นิมิตธรรม

    อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากหลวงปู่ดู่สวดมนต์ทำวัตรเย็น และปฏิบัติกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จำวัด เกิดนิมิตไปว่า ได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างมาก ๓ ดวง
    ในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้น ก็รู้สึกว่า กรอบๆ ดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น

    เมื่อท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตธรรมที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้นว่า
    แก้ว ๓ ดวงนั้น ก็คือ พระไตรสรณาคมน์นั่นเอง
    พอท่านว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ”
    ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่าน พร้อมกับอาการปีติอย่างท่วมท้น ทั้งเกิดความรู้สึกลึกซึ้ง และ มั่นใจว่า
    พระไตรสรณาคมน์นี้แหล่ะ เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา
    ท่านจึงกำหนดเอามาเป็นคำบริกรรมภาวนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    หลวงปู่ดู่ ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา
    ท่านว่า “ถ้าไม่เอา(ปฏิบัติ)เป็นเถ้าเสียดีกว่า”
    ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัด เป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นเมตตาอย่างสูง

    สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือ มีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็คงจะได้เห็นกุศโลบายในการสอนของท่านที่จะโน้มน้าว ผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่น ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ท่านฟังในเชิงว่ากล่าวว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตาม อันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า
    “เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา
    แก้ข้างนอก...เป็นเรื่องโลก
    แต่แก้ที่ตัวเรานี่...เป็นเรื่องธรรม”

    คำสอนของหลวงปู่ดู่จึงสรุปลงที่ การใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท
    นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อมๆ กันก็คือ
    ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติ ในมรรควิถีที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท
    ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า “หมั่นทำเข้าไว้ ๆ”


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  5. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    อ่อนน้อมถ่อมตน

    นอกจาก ความอดทน อดกลั้น ยิ่งแล้ว
    หลวงปู่ดู่ยังเป็นแบบอย่างของ ผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น

    เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศน์เทพวราราม หรือ ที่เราเรียกกันว่า
    “ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม” ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าหลวงปู่ดู่ ๑ พรรษา มานมัสการหลวงปู่โดยยกย่องเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยม กราบหลวงปู่เสร็จแล้ว หลวงปู่ท่านก็กราบตอบ เรียกว่า ต่างองค์ต่างกราบซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากเหลือเกิน ในโลกที่ผู้คนทั้งหลายมีแต่จะเติบโตทางด้านทิฏฐิมานะ ความถือตัวอวดดี อวดเด่น ยกตนข่มท่าน ปล่อยให้กิเลสตัวหลงออกเรี่ยราด เที่ยวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่า ตนเก่ง โดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่า ถูกกิเลสขึ้นขี่คอพาบงการให้เป็นไป

    หลวงปู่ดู่ ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหนๆ ในเชิงลบหลู่
    หรือ เปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านว่า “คนดีน่ะ เขาไม่ตีใคร”
    ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง

    หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร
    ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของ การปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท เช่น

    “ของดีอยู่ที่ตัวเรา หมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้”
    “ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต”
    “อย่าลืมตัวตาย”
    “ให้หมั่นพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นต้น



     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  6. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    อุบายธรรม

    หลวงปู่ดู่เป็นผู้ที่มี อุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล เช่น ครั้งหนึ่ง มีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็นลูกศิษย์มากราบนมัสการท่าน
    สนทนากันได้สักพักหนึ่ง เพื่อนที่เป็นลูกศิษย์ ก็ชักชวนเพื่อนนักเลงเหล้าให้สมาทานศีล ๕ พร้อมกับฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา

    นักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า
    “จะมาให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ ”

    หลวงปู่ดู่ท่านก็ตอบว่า
    “เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาที ก็พอ”

    นักเลงเหล้าผู้นั้นเห็นว่า นั่งสมาธิแค่วันละ๕ นาที ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงพ่อ ด้วยความที่เป็นคนนิสัยทำอะไรทำจริง ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมามิได้ขาดแม้แต่วันเดียว บางครั้งถึงขนาดงดไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ เพราะได้เวลาปฏิบัติ จิตของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ ไม่ช้าไม่นานเขาก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัว ด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมาจากหลวงปู่

    ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการท่านอีกครั้ง
    ที่นี้หลวงปู่ดู่ท่านให้โอวาทว่า
    “ที่แกปฏิบัติอยู่ ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง”

    คำพูดของหลวงปู่ทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น ศรัทธาและความเพียรต่อการปฏิบัติก็มีมากขึ้นตามลำดับ ถัดจากนั้นไม่กี่ปี เขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้า ก็ละเพศฆราวาส เข้าสู่เพศบรรพชิต...ตั้งใจปฏิบัติธรรมเรื่อยมา

    อีกครั้งหนึ่งมีชาวบ้านหาปลามานมัสการท่าน และ ก่อนกลับท่านก็ให้เขาสมาทานศีล ๕
    เขาเกิดตะขิดตะขวงใจกราบเรียนท่านว่า
    “ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕ เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลา จับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ ”

    หลวงปู่ตอบเขาด้วยความเมตตาว่า
    “แกจะรู้เหรอว่า แกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้าแล้ว อาจถูกงูกัดตายเสียกลางทางก่อนไปจับปลา จับกุ้งก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ยังไงๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะมีศีลขาด ก็ยังดีกว่าไม่มีศีล ”

    หลวงปู่ดู่ ท่านไม่เพียงพร่ำสอนให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายเจริญบำเพ็ญคุณงามความดีเท่านั้น หากแต่ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ และระมัดระวังในการรักษาไว้ซึ่งคุณงามความดีนั้นๆให้คงอยู่ รวมทั้งเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ท่านมักจะพูดเตือนเสมอๆว่า เมื่อปลูกต้นธรรมด้วยดีแล้ว ก็ต้องคอยหมั่นระวังอย่าให้หนอนและแมลง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง มากัดกินทำลายต้นธรรมที่อุตส่าห์ปลูกขึ้น

    และอีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงถึงแบบอย่างของความเป็นครูอาจารย์ ที่ปราศจากทิฏฐิมานะ และเปี่ยมด้วยอุบายธรรมก็คือ ครั้งที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน มากราบลาพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่า จะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

    หลวงปู่ดู่ท่านฟังแล้ว ก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้างๆ พร้อมกับพูดว่า
    “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย ตัวข้าไม่มีโอกาส...”
    ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปราม หรือ แสดงอาการที่เรียกว่า หวงลูกศิษย์ ตรงกันข้ามมีแต่จะส่งเสริม
    สนับสนุน ให้กำลังใจเพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

    แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่านทราบ ถึงครูอาจารย์องค์นั้นองค์นี้
    ในลักษณะตื่นครูตื่นอาจารย์ ท่านก็จะปรามเพื่อวกเข้าสู่เจ้าตัว โดยพูดเตือนสติว่า

    “ครูอาจารย์ดีๆ แม้จะมีอยู่มาก
    แต่สำคัญที่ตัวแก ต้องปฏิบัติให้จริง
    สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี”

    หลวงปู่ดู่ท่านมีแนวทาง การสอนธรรมะที่เรียบง่าย ฟังง่ายชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมยประกอบในการสอนธรรมะ จึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพ และ เกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่า ท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไร แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คงไม่อาจปฏิเสธว่า
    หลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว

    อีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะที่เป็นที่น่าเคารพ เลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง และถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรงก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใส และ ศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ

    หลวงปู่ดู่ท่านพูดถึง การประพฤติปฏิบัติของคนสมัยนี้ว่า
    “คนเราทุกวันนี้ โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม
    เรามัวพากันยุ่งอยู่กับโลกจนเหมือนลิงติดตัง เรื่องของโลก เรื่องเละๆ เรื่องไม่มีที่สิ้นสุด
    เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ จะต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง
    ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง”

    ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์ โดยให้พยายามถือเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นครูสอนตนเองเสมอ
    เช่น ในหมู่คณะ หากมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติดี เจริญในธรรมปฏิบัติ ท่านก็กล่าวชม และให้ถือเป็นแบบอย่าง แต่ถ้ามีผู้ประพฤติผิด ถูกท่านตำหนิติเตียน ก็ให้น้อมเอาเหตุการณ์นั้นๆ มาสอนตนทุกครั้งไป ท่านไม่ได้ชมผู้ทำดีจนหลงลืมตน และท่านไม่ได้ติเตียนผู้ทำผิดจนหมดกำลังใจ แต่ถือเอาเหตุการณ์ เป็นเสมือนครูที่เป็นความจริง แสดงเหตุผลให้เห็นธรรมที่แท้จริง

    การสอนของท่าน ก็พิจารณาดูบุคคลด้วย เช่น
    คนบางคนพูดให้ฟัง เพียงอย่างเดียวไม่เข้าใจ บางทีท่านก็ต้องทำให้เกิดความกลัว เกิดความ ละอายบ้าง ถึงจะหยุดเลิกละการกระทำที่ไม่ดีนั้นๆได้
    หรือบางคนเป็นผู้มีอุปนิสัยเบาบางอยู่แล้ว ท่านก็สอนธรรมดา
    การสอนธรรมะของท่าน บางทีก็สอนให้กล้า บางทีก็สอนให้กลัว
    ที่ว่าสอนให้กล้านั้นคือ ให้กล้าในการทำความดี กล้าในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไป
    ส่วนที่สอนให้กลัวนั้น ท่านให้กลัวในการทำความชั่ว ผิดศีลธรรม เป็นโทษ ทำแล้วผู้อื่นเดือดร้อน
    บางทีท่านก็สอนให้เชื่อ คือ ให้เชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเรื่องกรรม
    อย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า
    “เชื่อไหมล่ะ ถ้าเราเชื่อจริง ทำจริง มันก็เป็นของจริง ของจริงมีอยู่
    แต่เรามันไม่เชื่อจริง จึงไม่เห็นของจริง ”

    หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้ มีปฏิปทาสม่ำเสมอ
    ท่านว่า
    “ขยันก็ให้ทำ ขี้เกียจก็ให้ทำ
    ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่...ก็ต้องทำ
    วันไหนเลิกกินข้าวแล้วนั่นแหละ...จึงค่อยเลิกทำ”

    การสอนของท่านนั้น มิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา หากแต่หมายรวมไปถึงการ
    กำหนดดู กำหนดรู้ และพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่ มันเกิด มันตาย อยู่ตลอดเวลา ท่านว่าเราวันนี้กับเราเมื่อตอนเป็นเด็กมันก็ไม่เหมือนเก่า เราขณะนี้กับเราเมื่อวานก็ไม่เหมือนเก่า จึงว่าเราเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือเราเมื่อวานมันได้ตายไปแล้ว เรียกว่า ร่างกายเรามันเกิด - ตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเกิด - ตาย อยู่ทุกขณะจิต
    ท่านสอนให้บรรดาศิษย์เห็นจริงถึงความสำคัญของความทุกข์ยากว่า เป็นสิ่งมีคุณค่าในโลก

    ท่านจึงพูดบ่อยครั้งว่า
    การที่เราประสบทุกข์ นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว
    เพราะอาศัยทุกข์นั่นแหละ จึงทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นได้


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  7. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย

    หลวงปู่ดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของ ผู้มักน้อยสันโดษ ใช้ชีวิตเรียบง่าย
    ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย
    แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย
    แต่ก็น่าอัศจรรย์ เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐากว่าไม่พบว่า ท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด

    มีผู้ปวารณาตัวจะถวายเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่า ไม่เกินเลยอันจะเสียสมณะสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายได้เกิดความปลื้มปีติที่ได้ถวายแก่ท่าน ซึ่งในภายหลังท่านก็มักยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวมเช่นเดียวกับข้าวของต่างๆ ที่มีผู้มาถวายเป็นสังฆทานโดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควร ท่านก็จะจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบท และ ยังขาดแคลนอยู่

    สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะ ก็คือ การยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม
    แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาล ท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียน และ โรงพยาบาล

    หลวงปู่ดู่ ท่านไม่มีอาการแห่งความเป็นผู้อยากเด่นอยากดังแม้แต่น้อย ดังนั้นแม้ท่านจะเป็นเพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่ง ซึ่งไม่เคยออกจากวัดไปไหน ทั้งไม่มีการศึกษาระดับสูงๆในทางโลก
    แต่ในความรู้สึกของลูกศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นดั่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยจริยวัตรอันงดงาม สงบ
    เรียบง่าย เบิกบาน และ ถึงพร้อมด้วยธรรมวุฒิที่รู้ถ้วนทั่วในวิชชา อันจะนำพาให้ พ้นเกิด พ้นแก่
    พ้นเจ็บ พ้นตาย ถึงฝั่งอันเกษม เป็นที่ฝากเป็นฝากตาย และฝากหัวใจของลูกศิษย์ทุกคน

    ในเรื่องทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นา ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓๐ ไร่ ท่านก็ได้แบ่งให้กับหลานๆ ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ นายยวง พึ่งกุศล ผู้เป็นบุตรของนางสุ่ม โยมพี่สาวคนกลาง ที่เคยเลี้ยงดูท่านมาตลอด ก็ได้รับส่วนแบ่งที่นาจากท่านด้วยจำนวน ๑๘ ไร่เศษ แต่ด้วยความที่นายยวงผู้เป็นหลานของท่านนี้ไม่มีทายาท ได้คิดปรึกษานางถมยา ผู้ภรรยาเห็นควรยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ จึงยกที่ดินแปลงนี้ให้กับโรงเรียนวัดสะแก ซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านก็อนุโมทนาในกุศลเจตนาของคนทั้งสอง


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  8. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    กุศโลบายในการสร้างพระ

    หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้าง หรือ อนุญาตให้สร้างพระเครื่อง หรือ
    พระบูชา ก็เพราะเห็นประโยชน์ เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    ดังนั้นคณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจธรรมล้วนๆ หรือ ที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล
    ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล”
    ทั้งนี้ ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณา ตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน

    แม้ว่า หลวงปู่ดู่จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง ที่ท่านอธิษฐานจิตให้
    แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือ การปฏิบัติ
    ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านว่า
    “เอาของจริงดีกว่า พุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้”

    จากคำพูดนี้ จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่า
    การปฏิบัติภาวนานี้แหละ...เป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลัง
    เพราะคนบางคนแม้แขวนพระที่ผู้ทรงคุณวิเศษอธิษฐานจิตให้ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัยอยู่ดีมีสุขไปทุกกรณี อย่างไรเสียทุกคนไม่อาจหลีกหนีวิบากกรรมที่ตนได้สร้างไว้
    ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ กรรม

    ดังนั้น จึงมีแต่ พระ “สติ” พระ “ปัญญา” ที่ฝึกฝนอบรมมาดีแล้วเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติ รู้เท่าทัน และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสิ่งกระทบต่างๆที่เข้ามาในชีวิต...อย่างไม่ทุกข์ใจ
    ดุจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางครั้งร้อนบางครั้งหนาว ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนเป็นไปตามธรรมดาของโลก

    พระเครื่อง หรือ พระบูชาต่างๆ ที่ท่านอธิษฐานปลุกเสกให้แล้วนั้น ปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เช่น แคล้วคลาด ฯลฯ นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางโลกๆ

    แต่ประโยชน์ที่ท่านสร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้นก็คือ
    ใช้เป็นเครื่องมือในการ "ปฏิบัติภาวนา" มีพุทธานุสติกรรมฐาน เป็นต้น

    นอกจากนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติยังได้อาศัยพลังจิตที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระเครื่อง ช่วยน้อมนำ และ ประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องเสริมกำลังใจ และระงับความหวาดวิตกในขณะปฏิบัติ ถือเป็นประโยชน์ทางธรรม ซึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

    จากที่เบื้องต้น เราได้อาศัย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
    คือ ยึดเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จนจิตของเราเกิดศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเรียกกันว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว เราก็ย่อมเกิดกำลังใจขึ้นว่า พระพุทธองค์เดิมก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา ความผิดพลาดพระองค์ก็เคยทรงทำมาก่อน
    แต่ด้วยความเพียร ประกอบกับพระสติปัญญาที่ทรงอบรมมาดีแล้ว จึงสามารถก้าวข้ามวัฏฏะสงสาร
    สู่ความหลุดพ้น เป็นการบุกเบิกทางที่เคยรกชัฏให้พวกเราได้เดินกัน

    ดังนั้นเราซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็ย่อมที่จะมีศักยภาพ ที่จะฝึกฝนอบรม กาย วาจา ใจ ด้วยตัวเราเองได้เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนอบรมกันได้ ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม

    เมื่อจิตเราเกิดศรัทธาดังที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มีการน้อมนำเอาข้อธรรมคำสอนต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากิเลส ออกจากใจตน จิตใจของเราก็จะเลื่อนชั้น จากปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส
    ขึ้นสู่กัลยาณชนและอริยชน เป็นลำดับ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ในที่สุดเราก็ย่อมเข้าถึงที่พึ่งคือตัวเราเอง
    อันเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพราะ
    กาย วาจา ใจ ที่ได้ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรมโดย การเจริญศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ย่อมกลายเป็น กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต กระทำสิ่งใด พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด ก็ย่อมหาโทษมิได้
    ถึงเวลานั้นแม้พระเครื่องไม่มี ก็ไม่อาจทำให้เราเกิดความหวั่นไหว หวาดกลัว ขึ้นได้เลย




     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  9. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    เปี่ยมด้วยเมตตา

    นึกถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักครั้งสุดท้ายแห่งการปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ผู้อุปัฏฐากพระองค์อยู่ตลอดเวลา ได้ห้ามมานพผู้หนึ่ง ซึ่งขอร้องจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะนั้น พระอานนท์คัดค้านอย่างเด็ดขาดไม่ให้เข้าเฝ้า แม้มานพขอร้องถึง ๓ ครั้ง ท่านก็ไม่ยอม จนกระทั่งเสียงขอกับเสียงขัดดังถึงพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า“อานนท์ อย่าห้ามมานพนั้นเลยจงให้เข้ามาเดี๋ยวนี้” เมื่อได้รับอนุญาตแล้วมานพ ก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม จนบรรลุมรรคผลแล้วขอบวชเป็นพระสาวกองค์สุด ท้ายมีนามว่า “พระสุภัททะ”

    พระอานนท์ท่านทำหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดอันใดเลยแม้แต่น้อย
    ส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เข้าเฝ้านั้นเป็นส่วน พระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสามโลก พระสาวกรุ่นหลังกระทั่งถึง พระเถระ หรือ ครูบาอาจารย์ผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่มีเมตตาสูง รวมทั้งหลวงปู่ ย่อมเป็นที่เคารพนับถือของชนหมู่มาก ท่านก็อุทิศชีวิตเพื่อกิจพระศาสนา ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงความชราอาพาธของท่าน เห็นว่าผู้ใดได้ประโยชน์จากการบูชาสักการะท่าน ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นแก่เขา

    เมื่อครั้งที่หลวงปู่อาพาธอยู่ ได้มีลูกศิษย์กราบเรียนท่านว่า “รู้สึกเป็นห่วง หลวงปู่”
    ท่านได้ตอบศิษย์ผู้นั้นด้วยความเมตตาว่า “ห่วงตัวแกเองเถอะ”
    อีกครั้งที่ผู้เขียนเคยเรียนหลวงปู่ว่า “ขอให้หลวงปู่พักผ่อนมากๆ”

    หลวงปู่ตอบทันทีว่า
    “พักไม่ได้ มีคนเขามากันมาก บางทีกลางคืนเขาก็มากัน เราเหมือนนกตัวนำ เราเป็นครูเขานี่
    ครู..เขาตีระฆังได้เวลาสอนแล้วก็ต้องสอน ไม่สอนได้ยังไง”

    ชีวิตของท่านเกิดมาเพื่อเกื้อกูลธรรมแก่ผู้อื่น แม้จะอ่อนเพลียเมื่อยล้าสักเพียงใด ท่านก็ไม่แสดงออกให้ใครต้องรู้สึกวิตกกังวล หรือลำบากใจแต่อย่างใดเลย เพราะอาศัยความเมตตาเป็นที่ตั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า
    ปฏิปทาของท่านเป็นดั่ง พระโพธิสัตว์ หรือ หน่อพุทธภูมิ
    ซึ่งเห็นประโยชน์ของผู้อื่น มากกว่าประโยชน์ส่วนตน

    ดังเช่น พระโพธิสัตว์ หรือ หน่อพุทธภูมิอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
    พระสุปฏิปันโนสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้สอนให้ลูกศิษย์ให้ความเคารพ เสมือนครูอาจารย์ผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติอีกท่านหนึ่ง

    หลวงปู่ดู่ ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัด ตั้งแต่ก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐
    ดังนั้นทุกคนที่ตั้งใจไปกราบนมัสการ และ ฟังธรรมจากท่านจะไม่ผิดหวังเลยว่า จะไม่ได้พบท่าน
    ท่านจะนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ หน้ากุฏิของท่านทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางวันที่ท่านอ่อนเพลีย ท่านจะเอนกายพักผ่อนหน้ากุฏิ แล้วหาอุบายสอนเด็กวัด โดยให้เอาหนังสือธรรมะ มาอ่านให้ท่านฟังไปด้วย

    ข้อวัตรของท่านอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฉันอาหารมื้อเดียว ซึ่งท่านกระทำมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ภายหลังคือ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เหล่าสานุศิษย์ ได้กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ เนื่องจากความชราภาพของท่าน ประกอบกับต้องรับแขกมากขึ้น ท่านจึงได้ผ่อนปรนตามความเหมาะควรแห่งอัตภาพ ทั้งจะได้เป็นการโปรดญาติโยมจากที่ไกลๆ ที่ตั้งใจมาทำบุญถวายภัตตาหารแด่ท่าน

    หลวงปู่แม้จะชราภาพมากแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์นั่งรับแขกที่มาจากทิศต่างๆ วันแล้ววันเล่า ศิษย์ทุกคนก็ตั้งใจมาเพื่อกราบนมัสการท่าน บางคนก็มา เพราะมีปัญหาหนักอกหนักใจแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ จึงมุ่งหน้ามาเพื่อกราบเรียนถามปัญหา เพื่อให้คลายความทุกข์ใจ บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดี เช่น เครื่องรางของขลัง ซึ่งก็มักได้รับคำตอบจากท่านว่า
    “ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี ”

    บางคนมาหาท่าน เพราะได้ยินข่าวเล่าลือถึง คุณความดี ศีลาจาริยวัตรของท่านในด้านต่างๆ
    บางคนมาหาท่าน เพื่อขอหวยหวังรวยทางลัดโดยไม่อยากทำงาน แต่อยากได้เงินมากๆ
    บางคนเจ็บไข้ไม่สบาย ก็มาเพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ เป่าหัวให้ มาขอดอกบัวบูชาพระของท่าน
    เพื่อนำไปต้มดื่ม ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานาสารพันปัญหา
    แล้วแต่ใครจะนำมาเพื่อหวังให้ท่านช่วยตน
    บางคนไม่เคยเห็นท่าน ก็อยากมาดูว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
    บ้างแค่มาเห็นก็เกิดปีติ สบายอกสบายใจ จนลืมคำถาม หรือ หมดคำถามไปเลย

    หลายคนเสียสละเวลา เสียค่าใช้จ่ายเดินทางไกลมาเพื่อพบท่าน
    ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอุตส่าห์นั่งรับแขกอยู่ตลอดวัน โดยไม่ได้พักผ่อนเลย และไม่เว้นแม้ยามป่วยไข้
    แม้นายแพทย์ผู้ให้การดูแลท่านอยู่ประจำจะขอร้องท่านอย่างไร ท่านก็ไม่ยอมตาม
    ด้วยเมตตาสงสาร และ ต้องการให้กำลังใจแก่ญาติโยมทุกคนที่มาพบท่าน


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  10. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    ท่านเป็นดุจพ่อ

    หลวงปู่ดู่ ท่านเป็นดุจพ่อ...ของลูกศิษย์ทุกๆคน
    เหมือนอย่างที่พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นเรียกหลวงปู่มั่นว่า “ พ่อแม่ครูอาจารย์ ”
    ซึ่งถือเป็น คำยกย่องอย่างสูง เพื่อให้สมฐานะอันเป็นที่รวมแห่งความเป็นกัลยาณมิตร

    หลวงปู่ดู่ท่านให้การต้อรับแขกอย่างเสมอหน้ากันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปราม หากมีผู้มาเสนอตัวเป็นนายหน้า คอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่เข้ามานมัสการท่าน ถึงแม้จะด้วยเจตนาดี อันเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของท่านก็ตาม เพราะท่านทราบดีว่า มีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตส่าห์เดินทางมาไกล เพื่อนมัสการ และซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้วยังไม่สามารถเข้าพบท่านได้โดยสะดวกก็จะทำให้เสียกำลังใจ

    นี้เป็นเมตตาธรรมอย่างสูง ซึ่งนับเป็นโชคดีของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ไม่ว่าใกล้หรือไกล ที่สามารถมีโอกาสเข้ากราบนมัสการท่านได้โดยสะดวก หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐานมาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บางครั้งหลวงพ่อก็มิได้กล่าวอะไรมาก เพียงการทักทายศิษย์ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น
    “ เอ้า . . . กินน้ำชาสิ ” หรือ “ ว่า ไง . . ” ฯลฯ
    เท่านี้ก็เพียงพอที่ยังปีติให้เกิดขึ้นกับศิษย์ผู้นั้น เหมือนดังหยาดน้ำทิพย์ชโลมให้เย็นฉ่ำ
    เกิดความสดชื่นตลอดร่างกายจน . . . ถึงจิต . . . ถึงใจ

    หลวงปู่ดู่ท่านให้ความเคารพในองค์ หลวงปู่ทวด อย่างมาก
    ทั้งกล่าวยกย่อง ในความที่เป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม
    ตลอดถึงการที่จะได้มาตรัสรู้ธรรมในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายยึดมั่นและหมั่นระลึกถึง
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ประสบปัญหาในทางโลกๆ

    ท่านว่า
    หลวงปู่ทวด...ท่านคอยจะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว
    แต่ขอให้ทุกคนอย่าได้ท้อถอย หรือ ละทิ้งการปฏิบัติ


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  11. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    หลวงปู่ดู่กับครูอาจารย์ท่านอื่น

    ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๐ - ๒๕๓๒ ได้มีพระเถระ และ ครูบาอาจารย์หลายท่าน เดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่ดู่ เช่น หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระเถระซึ่งมีอายุย่างเข้า ๙๖ ปี ก็ยังเมตตามาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ที่วัดสะแก ถึง ๒ ครั้ง และบรรยากาศของการพบกันของท่านทั้งสองนี้ เป็นที่ประทับใจผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างยิ่ง เพราะต่างองค์ต่างอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากการแสดงออกซึ่งทิฏฐิมานะใดๆ เลย
    แป้งเสกที่หลวงปู่บุดดาเมตตามอบให้หลวงปู่ดู่
    ท่านก็เอามาทาที่ศีรษะเพื่อแสดงถึงความเคารพอย่างสูง

    พระเถระอีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ค่อนข้างบ่อยครั้งคือ
    หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ท่านมีความห่วงใยในสุขภาพของหลวงปู่ดู่อย่างมาก โดยได้สั่งให้ลูกศิษย์จัดทำป้ายกำหนดเวลารับแขกในแต่ละวันของหลวงปู่ดู่ เพื่อเป็นการถนอมธาตุขันธ์ของหลวงปู่ให้อยู่ได้นานๆ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ช้าไม่นานหลวงปู่ดู่ท่านก็ให้นำป้ายออกไป เพราะเหตุแห่งความเมตตา ที่ท่านมีต่อผู้คนทั้งหลาย

    ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร วัดพระธาตุดอนเรือง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่โง่น โสรโย ก็ได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่ดู่ ๒ ครั้ง โดยท่านได้เล่าให้ฟังภายหลังว่า เมื่อได้มาพบหลวงปู่ดู่ จึงได้รู้ว่า หลวงปู่ดู่ก็คือ พระภิกษุชราภาพที่ไปสอนท่านในสมาธิ ในช่วงที่ท่านอธิษฐานเข้ากรรมปฏิบัติไม่พูด ๗ วัน ซึ่งท่านก็ได้แต่กราบระลึกถึงอยู่ตลอดทุกวัน โดยไม่รู้ว่าพระภิกษุชราภาพรูปนี้คือใคร

    กระทั่งได้มีโอกาสมาพบหลวงปู่ดู่ที่วัดสะแก เกิดรู้สึกเหมือนดังพ่อลูกที่จากกันไปนานๆ
    แม้ครั้งที่ ๒ ที่พบกับหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ดู่ก็ได้พูดสอนให้ท่านเร่งความเพียร
    เพราะหลวงปู่จะอยู่อีกไม่นาน

    ครูบาบุญชุ่มยังได้เล่าว่า ท่านตั้งใจจะกลับไปวัดสะแกอีก เพื่อหาโอกาสไปอุปัฏฐากหลวงปู่ดู่
    แต่แล้วเพียงระยะเวลาไม่นานนักก็ได้ข่าวว่า หลวงปู่ดู่ มรณภาพ ยังความสลดสังเวชใจแก่ท่าน
    ท่านได้เขียนบันทึกความรู้สึกในใจของท่าน ไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดู่ ตอนหนึ่งว่า

    “…หลวงปู่ท่านมรณภาพสิ้นไป เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างส่องแจ้งในโลกดับไป
    อุปมาเหมือนดังดวงประทีปที่ให้ความสว่างไสวแก่ลูกศิษย์ได้ดับไป
    ถึงแม้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มรณะไปแล้ว แต่บุญญาบารมีที่ท่านแผ่เมตตาและรอยยิ้ม อันอิ่มเอิบ
    ยังปรากฏฝังอยู่ในดวงใจอาตมา มิอาจลืมได้
    ….ถ้าหลวงปู่มีญาณรับทราบ และแผ่เมตตาลูกศิษย์ลูกหาทุกคน ขอให้พระเดชพระคุณหลวงปู่เข้าสู่ พระนิพพานเป็นอมตะแด่ท่านเทอญ กระผมขอกราบคารวะพระเดชพระคุณหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
    ด้วยความเคารพสูงสุด ”

    นอกจากนี้ยังมีพระเถระอีกรูปหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเพราะ
    หลวงปู่ดู่ให้ความยกย่องมากในความเป็นผู้มีคุณธรรมสูง และเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความเคารพ
    ในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้แนะนำสานุศิษย์ให้ถือท่านเป็นครูอาจารย์อีกท่านหนึ่งด้วย
    นั่นก็คือ หลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  12. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    ปัจฉิมวาร

    นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา สุขภาพของหลวงปู่เริ่มแสดงไตรลักษณะ ให้ปรากฏอย่างชัดเจน สังขารร่างกายของหลวงปู่ ซึ่งก่อเกิดมาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และมีใจครองเหมือนเราๆท่านๆ เมื่อสังขารผ่านมานานวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการใช้งานมาก และพักผ่อนน้อย ความทรุดโทรมก็ย่อมเกิดเร็วขึ้นกว่าปรกติ กล่าวคือ สังขารร่างกายของท่านได้เจ็บป่วย อ่อนเพลียลงไปเป็นลำดับ
    ในขณะที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งญาติโยม และบรรพชิตก็หลั่งไหลกันมานมัสการท่านเพิ่มขึ้นทุกวัน

    ในท้ายที่สุดแห่งชีวิตของหลวงปู่ดู่ ด้วยปณิธานที่ตั้งไว้ว่า “สู้แค่ตาย”
    ท่านใช้ความอดทน อดกลั้นอย่างสูง แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก
    ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ
    พระที่อุปัฏฐากท่านได้เล่าให้ฟังว่า
    บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า
    ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใคร ต้องเป็นกังวลเลย

    ในปีท้ายๆ ท่านถูกตรวจพบว่าเป็น โรคลิ้นหัวใจรั่ว
    แม้นายแพทย์จะขอร้องท่านเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ท่านก็ไม่ยอมไป
    ท่านเล่าให้ฟังว่า
    “แต่ก่อนเราเคยอยากดี
    เมื่อดีแล้วก็เอาให้หายอยาก อย่างมากก็สู้แค่ตาย
    ใครจะเหมือนข้า ข้าสู้จนตัวตาย”

    มีบางครั้งได้รับข่าวว่า ท่านล้ม ขณะกำลังลุกเดินออกจากห้อง...เพื่อออกโปรดญาติโยม
    คือประมาณ ๖ นาฬิกา อย่างที่เคยปฏิบัติอยู่ทุกวัน โดยปกติในยามที่สุขภาพของท่านแข็งแรงดี ท่านจะเข้าจำวัดประมาณสี่ห้าทุ่ม แต่กว่าจะจำวัดจริงๆ ประมาณเที่ยงคืน หรือ ตีหนึ่ง แล้วมาตื่นนอนตอนประมาณตีสาม มาช่วงหลังที่สุขภาพของท่านไม่แข็งแรง จึงตื่นตอนประมาณตีสี่ถึงตีห้า เสร็จกิจทำวัตรเช้าและกิจธุระส่วนตัว แล้วจึงออกโปรดญาติโยมที่หน้ากุฏิ

    ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่ดู่พูดบ่อยครั้งในความหมายว่า ใกล้ถึงเวลาที่ท่านจะละสังขารนี้แล้ว
    ในช่วงท้ายของชีวิตท่าน ธรรมที่ถ่ายทอดยิ่งเด่นชัดขึ้น
    มิใช่ด้วยเทศนาธรรมของท่าน
    หากแต่เป็นการสอน ด้วยการปฏิบัติให้ดู

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิปทาในเรื่องของ ความอดทน
    สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า
    “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา
    ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง”

    แทบจะไม่มีใครเลย นอกจากโยมอุปัฏฐากใกล้ชิดที่ทราบว่า
    ที่ท่านนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ ทุกวันๆ
    ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นระยะเวลานับสิบๆ ปี ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส
    ใครทุกข์ใจมา ท่านก็แก้ไขให้ได้รับความสบายใจกลับไป
    แต่เบื้องหลังก็คือ ความลำบากทางธาตุขันธ์ของท่าน ที่ท่านไม่เคยปริปากบอกใคร

    กระทั่งวันหนึ่งโยมอุปัฏฐากได้รับการไหว้วานจากท่านให้เดินไปซื้อยาทาแผลให้ท่าน จึงได้มีโอกาสขอดู และ ได้เห็นแผลที่ก้นท่าน ซึ่งมีลักษณะแตกซ้ำๆ ซากๆ ในบริเวณเดิม
    เป็นที่สลดใจ...จนไม่อาจกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้

    ท่านจึงเป็นครูที่เลิศ
    สมดังพระพุทธโอวาทที่ว่า
    สอนเขาอย่างไร พึงปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น

    ดังนั้น ธรรมในข้อ “อนัตตา” ซึ่งหลวงปู่ท่านยกไว้เป็นธรรมชั้นเอก ท่านก็ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของศิษย์ทั้งหลายแล้วถึงข้อปฏิบัติต่อหลักอนัตตาไว้อย่างบริบูรณ์ จนแม้ความอาลัยอาวรณ์ในสังขารร่างกาย ที่จะมาหน่วงเหนี่ยว หรือ สร้างความทุกข์ร้อนแก่จิตใจท่าน ก็มิได้ปรากฏให้เห็นเลย

    ในตอนบ่ายของวันก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพ ขณะที่ท่านกำลังเอนกายพักผ่อนอยู่นั้น
    ก็มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบนมัสการท่าน ซึ่งเป็นการมาครั้งแรก
    หลวงปู่ดู่ได้ลุกขึ้นนั่งต้อนรับด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ
    กระทั่งบรรดาศิษย์ ณ ที่นั่นเห็นผิดสังเกต หลวงปู่แสดงอาการยินดีเหมือนรอคอยบุคคลผู้นี้มานาน
    ท่านว่า “ต่อไปนี้ข้าจะได้หายเจ็บหายไข้เสียที”
    ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า...ท่านกำลังโปรดลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่าน
    หลวงปู่ดู่ท่านได้ย้ำในตอนท้ายว่า “ข้าขอฝากให้แกไปปฏิบัติต่อ”

    ในคืนนั้นก็ได้มีคณะศิษย์มากราบนมัสการท่าน ซึ่งการมาในครั้งนี้ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเช่นกันว่า
    จะเป็นการมาพบกับสังขารธรรมของท่าน...เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
    หลวงปู่ดู่ได้เล่าให้ศิษย์คณะนี้ฟังด้วยสีหน้าปรกติว่า
    “ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกายข้า ที่ไม่เจ็บปวดเลย
    ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้องไอซียูไปนานแล้ว”

    พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ”

    ท้ายที่สุดท่านก็เมตตากล่าวย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ใน ความไม่ประมาท
    “ถึงอย่างไรก็ขออย่าได้ทิ้งการปฏิบัติ
    ก็เหมือนนักมวยขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆงะๆ”

    นี้ดุจเป็น ปัจฉิมโอวาท แห่งผู้เป็นพระบรมครูของผู้เป็นศิษย์ทุกคน อันจะไม่สามารถลืมเลือนได้เลย

    หลวงปู่ดู่ ได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจในกุฏิท่าน
    เมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ของวันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓
    อายุ ๘๕ ปี ๘ เดือน อายุพรรษา ๖๕ พรรษา
    สังขารธรรมของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลโดยมีเจ้าภาพสวดอภิธรรมเรื่อยมาทุกวันมิได้ขาด
    ตลอดระยะเวลา ๔๕๙ วัน จนกระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
    ในวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔

    พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ได้อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ ณ วัดสะแก มาโดยตลอด
    จนกระทั่งมรณภาพ ยังความเศร้าโศก และอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพรักท่านเป็นอย่างยิ่ง
    อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่างไสวแก่ศิษยานุศิษย์ได้ดับไป
    แต่เมตตาธรรม และ คำสั่งสอนของท่าน
    จะยังปรากฏอยู่ใน...ดวงใจของศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพรักท่านตลอดไป

    บัดนี้ สิ่งที่คงอยู่มิใช่สังขารธรรมของท่าน
    หากแต่เป็นหลวงปู่ดู่องค์แท้...ที่ศิษย์ทุกคนจะเข้าถึงท่านได้
    ด้วยการสร้างคุณงามความดี ให้เกิดให้มีขึ้นที่ตนเอง
    สมดังที่ท่านได้กล่าวไว้เป็นคติว่า

    “ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ยังไม่นับว่าแกรู้จักข้า
    แต่ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
    เมื่อนั้น...ข้าจึงว่าแกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว ”

    ธรรมทั้งหลายที่ท่านได้พร่ำสอน ทุกวรรคตอนแห่งธรรม ที่บรรดาศิษย์ได้น้อมนำมาปฏิบัตินั้นก็คือ
    การที่ท่านได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามบนดวงใจของศิษย์ทุกคน
    ซึ่งนับวันจะเติบใหญ่ผลิดอก ออกผลเป็น สติ และ ปัญญา
    บนลำต้นที่แข็งแรงคือ สมาธิ
    และบนพื้นดินที่มั่นคงแน่นหนาคือ ศีล
    สมดังเจตนารมณ์ที่ท่านได้ทุ่มเททั้งชีวิต ด้วยเมตตาธรรมอันยิ่ง
    อันจักหาได้ยากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ...อนาคต





    ***จากบทความของ คุณสิทธิ์
    ที่มา http://www.luangpordu.com/


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  13. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]



    วันหนึ่งในคราวที่ปลอดคน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อกับท่านโดยลำพัง
    หลวงพ่อดู่ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีลูกศิษย์นายทหารคนหนึ่งมาเล่าให้ท่านฟังว่า
    หลวงปู่ทวดท่านไปหลอกเขา

    "หลอกยังไงหรือครับ" ข้าพเจ้าถามท่าน

    "เขาว่าเวลาที่เขาภาวนาอยู่ หลวงปู่ทวดไปยืนอยู่ข้างหน้าเขา
    สักพักตัวท่านก็เปลี่ยนไป หัวเป็นหลวงปู่ทวด ตัวเป็นข้า..."

    หลวงพ่อตอบข้าพเจ้ายังไม่จบ
    ข้าพเจ้าอดถามแทรกไม่ได้ว่า "เขารู้ได้อย่างไรครับว่า ตัวเป็นหลวงพ่อ"

    ท่านตอบข้าพเจ้าว่า "เขาจำรอยสักรูปผีเสื้อที่มือข้าได้"

    หลวงพ่อได้เล่าต่อว่า "เมื่อหลวงปู่ทวดไปหลอกเขาโดยแสดงให้เห็น
    หัวเป็นหลวงปู่ทวด ตัวเป็นข้าแล้ว สักพักก็เปลี่ยนใหม่
    ทีนี้หัวเป็นข้า ส่วนตัวเป็นหลวงปู่ทวดถือไม้เท้า กลับไปกลับมาอย่างนี้"

    เรื่องที่หลวงพ่อได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังนี้
    ตรงกับนิมิตที่ศิษย์ของหลวงพ่อหลายคน เคยมีนิมิตเกี่ยวกับท่าน คือ
    เป็นนิมิตรูปพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง
    ด้านขวาด้านซ้ายมีรูปหลวงปู่ทวดและหลวงพ่อดู่
    สักพักภาพทั้งสามก็ค่อยๆ เลื่อนมารวมเป็นภาพเดียวกันคือ เป็นภาพพระพุทธเจ้า

    หากหลวงพ่อดู่ และ หลวงปู่ทวดมิใช่พระองค์เดียวกันแล้ว
    สมควรแล้วหรือ...ที่นิมิตที่ศิษย์นายทหารท่านนั้น
    จะเห็นศีรษะหลวงพ่อดู่ ไปวางบนลำตัวหลวงปู่ทวด
    สมควรแล้วหรือ...ที่ภาพพระพุทธเจ้า หลวงปู่ทวด และหลวงพ่อดู่ มารวมเป็นภาพเดียวกัน

    ข้าพเจ้าเชื่อว่า หลวงพ่อดู่เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ปรารภนาพุทธภูมิเช่นเดียวกับหลวงปู่ทวด
    ส่วนท่านจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบได้
    เพราะเป็นวิสัยของผู้มีญาณเท่านั้นที่จะพึงทราบ

    เหตุที่บันทึกเรื่องนี้ไว้ก็เพียงเพื่อเตือนใจตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อดู่ได้เคยเมตตาเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง และหากจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง ช่วยสร้างศรัทธาปสาทะให้เกิดความพากเพียร
    ที่จะก้าวล่วงความทุกข์ให้ได้แล้ว ข้าพเจ้าขออนุโมทนาด้วยอย่างยิ่งครับ



    ***ข้อมูลจาก ตามรอยธรรม ย้ำรอยครู
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2010
  14. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]



    ในทุกปี เมื่อมาถึงวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อดู่
    ทางคณะศิษย์จะทำการสรงน้ำ เพื่อแสดงกตเวทิตาต่อองค์หลวงพ่อ
    รวมทั้งการเลี้ยงพระ โดยนิมนต์มา 9 รูป เพื่อสวดพุทธมนต์ ถวายภัตตาหาร
    เมื่อสรงน้ำท่านเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อจะเปลี่ยนชุดจีวรใหม่ที่คณะศิษย์นำมาถวาย

    นอกจากนี้ ท่านยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ "ปิดทองคำ" ที่องค์ท่านเป็นกรณีพิเศษ
    บางครั้งแม้ไม่ใช่พิธีการสรงน้ำ ท่านก็มีเมตตาให้ปิดทอง
    เพราะบางคนบอกว่าบนไว้แล้ว กลัวจะเสียสัจจะ ท่านจึงยอมอนุโลมตาม
    โดยท่านยกตัวอย่างเรื่องของ หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต เป็นต้น

    ต่อมาในภายหลัง หลวงพ่อท่านไม่อนุญาติให้ปิดทอง เพราะบางคนไม่รู้กาลเทศะ นึกจะปิดก็ปิด
    บางครั้งจะขอปิดตรงหน้าอก อ้างว่าจะได้มีจิตเหมือนหลวงพ่อ ในที่สุดท่านจึงถามขึ้นว่า
    "ก่อนที่แกจะปิด รู้ไหมว่าปิดทองทำไม แล้วได้อะไร หรือว่าปิดไปเรื่อย"

    บางคนตอบว่า
    "ปิดเพื่อให้ได้บุญ"

    ท่านถามกลับไปว่า
    "บุญอย่างไร ถ้าตอบได้...จึงจะให้ปิด"

    เลยนั่งเงียบ และท่านจึงบอกว่า
    "อยากปิดทองก็ให้ไปปิดพระพุทธรูป ต่อไปนี้จะไม่อนุญาติให้ปิดทองอีกต่อไป"

    เมื่ออยู่ตามลำพัง ผู้เขียนได้เรียนถามท่านว่า
    "จะขอออกความเห็นได้ไหมครับ"

    ท่านตอบว่า
    "ได้"

    ผู้เขียนตอบว่า
    "การปิดทองคำหลวงพ่อ ได้บุญเหมือนปิดพระทั้งหมดแสนโกฎิจักรวาล
    เพราะเวลาหลวงพ่อเสกของ ถวายของ หลวงพ่อเชิญพระมาหมด
    การปิดทองจึงมีอานิสงค์มาก หรือ เวลาสรงน้ำก็เช่นกัน ใช่หรือไม่"

    ท่านตอบว่า
    "ถูกต้อง"

    ผู้เขียนเลยบอกไปว่า
    "ดังนั้น ถ้าเป็นพระของหลวงพ่อ ปิดทองคำ ย่อมได้อานิสงค์แบบเดียวกันใช่ไหม"

    ท่านตอบว่า
    "ใช่แล้ว"

    ผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่า ในการสร้างลูกแก้วสารพัดนึก
    ท่านบอกว่า ให้ผสมทองคำเปลวลงไปด้วยเก้าแผ่นในผงพุทธคุณ

    ภายหลังเมื่อได้ถามท่านผู้รู้ท่านตอบว่า
    "ธาตุทอง แทน ธาตุของนิพพาน เพราะมีความบริสุทธิ์สูง และ มีคุณค่ามาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้"

    จึงเข้าใจถึงความหมายของหลวงพ่อ...ที่ลึกซึ้งมาก



    ***ที่มา หนังสือกายสิทธิ์ 2
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  15. วิมุติมรรค

    วิมุติมรรค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    305
    ค่าพลัง:
    +1,753
    [​IMG]


    กรรมฐานที่หลวงปู่ดู่สอน


    ตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้เริ่มต้น

    ๑. เริ่มต้นด้วยการกล่าวคำบูชาพระ สมาทานศีล
    (เปลี่ยนศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร เป็น อะพรัหมะจะริยาฯ เพื่อเตรียมจิตก่อนอธิษฐานบวชจิต)
    จากนั้น ก็กล่าวคำอาราธนากรรมฐาน ว่า
    “พุทธัง อาราธะนัง กะโรมิ, ธัมมัง อาราธะนัง กะโรมิ, สังฆัง อาราธะนัง กะโรมิ” เป็นต้น

    ๒. เบื้องต้น ยังไม่ต้องรีบร้อนบริกรรมภาวนา หรือ นึกนิมิตใดๆ
    หากแต่ให้ปรับท่านั่งให้เข้าเป็นที่สบาย โดยตั้งกายให้ตรง
    ผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อทุกส่วน สูดลมหายใจลึกๆ สักสองสามครั้ง
    พร้อมกับทำจิตใจของเราให้ปลอดโปร่ง โล่ง ว่าง
    สร้างฉันทะที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ระลึกว่า...
    เรากำลังใช้เวลาที่มีคุณค่าแก่ชีวิตคือ การพัฒนาจิตใจ
    ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่ากว่าสมบัติอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย หรือ ทรัพย์สมบัติ

    ๓. กล่าวอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้า หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ หลวงปู่เกษม
    ได้โปรดมาเป็นผู้นำ และ อุปการะจิตในการปฏิบัติธรรมครั้งนี้
    จากนั้น ก็น้อมจิตกราบพระว่า
    พุทธังวันทามิ ธัมมังวันทามิ สังฆังวันทามิ

    ๔. สำรวจอารมณ์ที่ค้างคาอยู่ในใจเรา แล้วชำระมันออกไป
    ทั้งเรื่องน่าสนุกเพลิดเพลิน หรือ เรื่องชวนให้ขุ่นมัวต่าง ๆ
    ตลอดถึงความง่วงเหงาหาวนอน และ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจต่าง ๆ
    รวมทั้งปล่อยวางความลังเลสงสัยเสียก่อน

    ๕. เมื่อชำระนิวรณ์ อันเป็นอุปสรรคของการเจริญสมาธิออกไปในระดับหนึ่งแล้ว
    กระทั่งรู้สึก ปลอดโปร่ง โล่ง ว่าง ตามสมควร
    จึงค่อยบริกรรมภาวนาในใจว่า
    “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ”

    ๖. มีหลักอยู่ว่า ต้องบริกรรมภาวนาด้วยใจที่สบายๆ (ยิ้มน้อยๆ ในดวงใจ)
    ไม่เคร่งเครียด หรือ จี้ จ้อง บังคับใจ จนเกินไป

    ๗. ทำความรู้สึกว่า ร่างกายของเราโปร่ง
    กระทั่งว่าลมที่พัดผ่านร่างกายเราคล้ายๆกับว่า จะทะลุผ่านร่างของเราออกไปได้

    ๘. ให้มีจิตยินดีในทุกๆ คำบริกรรมภาวนา
    ว่าทุกๆ คำบริกรรมภาวนา...จะกลั่นจิตของเราให้ใสสว่างขึ้นๆ

    ๙. เอาจิตที่เป็นสมาธิพอประมาณนี้มาพิจารณาร่างกายว่า มันเป็นก้อนทุกข์
    ยามจะแก่ จะเจ็บ จะตาย เราก็ไม่อาจบังคับบัญชา หรือ ห้ามปรามมันได้
    ถึงแม้ว่าเราจะดูแลมันดีอย่างไร มันก็จะทรยศเรา มันจะไม่เชื่อฟังเรา
    ให้พิจารณาให้ละเอียดลงไปซ้ำๆ จนกว่าจิตจะเห็น และ ยอมรับความจริง
    เมื่อจิตยอมรับ จิตก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นว่า กายนี้เป็นเรา หรือ เป็นของเรา

    (การปฏิบัติกรรมฐานครั้งต่อไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นการพิจารณาอย่างอื่น
    ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หรือ พิจารณาโดยรวมว่า ร่างกายเรา หรือคนอื่น
    ก็สักแต่ว่าเป็นโครงกระดูก แม้ภายนอกจะดูแตกต่าง มีทั้งที่ผิวพรรณงาม หรือ ทรามอย่างไร
    แต่เบื้องลึกภายในก็ไม่แตกต่างกันในความเป็นกระดูก ที่ไม่น่าดูน่าชม เสมอกันหมด
    ให้พิจารณาให้จิตยอมรับความจริง เพื่อให้คลายความหลงยึดในร่างกาย ฯลฯ)

    ๑๐. เมื่อรู้สึกว่าจิตเริ่มขาดกำลัง หรือ ความแจ่มชัด
    ก็ให้หันกลับมา "บริกรรมภาวนา" เพื่อสร้างสมาธิขึ้นอีก

    ๑๑. ในบางครั้งที่จิตขาดกำลัง หรือ ขาดศรัทธา
    ก็ให้นึกนิมิต (นอกเหนือจากคำบริกรรมภาวนา) เช่น นึกนิมิตหลวงปู่ดู่ อยู่เบื้องหน้าเรา
    นึก...ง่ายๆ สบายๆ ให้คำบริกรรมดังก้องกังวานมาจาก "องค์นิมิต" นั้น
    ทำไปเรื่อยๆ เวลาเผลอสติไปคิดนึกเรื่องอื่น ก็พยายามมีสติระลึกรู้เท่าทัน
    ดึงจิตกลับมาอยู่ในองค์ "บริกรรมภาวนา" ดังเดิม

    ๑๒. เมื่อจิตมีกำลัง หรือ รู้สึกถึงปีติ และความสว่าง
    ก็ให้พิจารณาทบทวนในเรื่องกาย หรือ เรื่องความตาย
    หรือ เรื่องความพลัดพราก ฯลฯ หรือเรื่องอื่นใด
    โดยมีหลักว่า ต้องอยู่ในกรอบของเรื่อง...
    ความไม่เที่ยง
    ความเป็นทุกข์
    และความที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน...ที่เที่ยงแท้แน่นอน (อนัตตา)

    ๑๓. ก่อนจะเลิก หากจิตยังไม่รวม หรือ ไม่โปร่งเบา หรือ ไม่สว่าง
    ก็ควรเพียรรวมจิตอีกครั้ง โดยให้เลิกตอนที่จิตดีที่สุด
    จากนั้นให้ "อาราธนาพระเข้าตัว" ว่า

    สัพเพพุทธา
    สัพเพธัมมา
    สัพเพสังฆา
    พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพะลัง
    อะระหัน ตานัญ จะเต เชนะรักขัง พันธามิสัพพะโส
    พุทธัง อธิษฐามิ
    ธัมมังอธิษฐามิ
    สังฆัง อธิษฐามิ

    นึกอาราธนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้ที่จิตเรา
    หรือ อาจจะนึกเป็น "นิมิตองค์พระ" มาตั้งไว้ในตัวเรา


    ๑๔. สุดท้าย ให้นึกแผ่เมตตา โดยนึกเป็น "แสงสว่าง" ออกจากใจเรา พร้อมๆ กับว่า
    พุทธัง อนันตัง ธัมมัง จักรวาลัง สังฆัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ

    โดยน้อมนึกถึงบุญอันมากมายไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
    อีกทั้งบุญกุศลที่เราสั่งสมมาดีแล้ว รวมทั้งบุญจากการภาวนาในครั้งนี้
    ไปให้กับเทพผู้ปกปักรักษาเรา ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับบิดามารดา ครูบาอาจารย์
    ผีเหย้าผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ เทพพรหมทั้งหลาย แลสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ
    ท่านทั้งหลายที่ยังทุกข์ ขอจงพ้นทุกข์
    ท่านทั้งหลายที่มีความสุขอยู่แล้ว ขอจงมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

    หมายเหตุ
    การอาราธนาพระเข้าตัว (บทสัพเพฯ) ก็เพื่อว่า
    เมื่อเวลาเลิกนั่งสมาธิไปแล้ว จะได้ระมัดระวังรักษาองค์พระในตัว
    โดยการสำรวมระวังรักษา กาย วาจา ใจ ตลอดวัน
    ซึ่งการสำรวมระวัง หรือที่เรียกว่า อินทรียสังวร นี้
    จะช่วยให้การปฏิบัติกรรมฐานครั้งต่อๆ ไป จิตจะเข้าถึงความสงบได้โดยง่าย




    *** จากบทความของ คุณสิทธิ์
    ที่มา http://www.luangpordu.com/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กรกฎาคม 2010
  16. SAKURABO

    SAKURABO เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    283
    ค่าพลัง:
    +730
    อ่านแล้วเกิดความศรัทธาในหลวงพ่อมากครับ ขอร่วมอนุโมทนาในบุญกุศลนี้ครับ
     
  17. เก่งธรรม

    เก่งธรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 กันยายน 2009
    โพสต์:
    72
    ค่าพลัง:
    +142
    ขออนุโมทนาสาธุอย่างสูงครับ...ธรรมใดที่หลวงปู่ได้บรรลุแล้วขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนแห่งธรรมนั้นด้วยเถิด...สาธุ..
     
  18. lady_ta

    lady_ta เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 เมษายน 2008
    โพสต์:
    197
    ค่าพลัง:
    +380
    ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง
    อนุโมทนาบุญค่ะ สาธุ
    บุญรักษาค่ะ
     
  19. มหาพรหมราชา

    มหาพรหมราชา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 เมษายน 2008
    โพสต์:
    241
    ค่าพลัง:
    +903
    ขอกราบนมัสการหลวงปู่ดู่ และขออนุโมทนาด้วยครับ สาธุๆๆ
     
  20. ปกาศิต

    ปกาศิต Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    31
    ค่าพลัง:
    +72
    น้อมวันทาพระเดชพระคุณหลวงปู่พระพรหมปัญโญผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งยุคอย่างแท้จริง
    นะโมโพธิสัตโตอาคันติมายะ อิติภะคะวา
     

แชร์หน้านี้

Loading...