ประวัติและปฏิปทาพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย TupLuang, 9 กันยายน 2008.

  1. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    <CENTER>พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)

    วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน


    <TABLE id=Autonumber2 border=2><T><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR></T></TBODY></TABLE>
    </CENTER>
    นามเดิม : - พรหมา พิมสาร
    กำเนิด : - วันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ (เดือน ๑๒ เหนือ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑) ณ บ้านป่าแพ่ง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน (ป่าซางปัจจุบัน)
    บิดา - มารดา : - พ่อเป็ง พิมสาร และแม่บัวถา พิมสาร มีพี่น้องร่วมกัน ๑๓ คน ท่านเป็นคนที่ ๗ คือ
    ๑. พ่อน้อยเมือง พิมสาร
    ๒. เป็นเด็กหญิง
    ๓. แม่อุ้ย หล้าดวงดี
    ๔. พ่อหนานนวล พิมสาร
    ๕. พ่อหนานบุญ พิมสาร
    ๖. พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทรจักรรักษา)
    ๗. พระสุพรหมยานเถร(ครูบาพรหมมา)
    ๘. พระครูสุนทรคัมภีรญาณ (ครูบาคัมภีระ วัดดอยน้อย)
    ๙. พ่อหนานแสง พิมสาร
    ๑๐. แม่ธิดา สุทธิพงศ์
    ๑๑. แม่นางหลวง ณ ลำพูน
    ๑๒. เด็กหญิงตุมมา พิมสาร (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก)
    ๑๓. นางแสนหล้า สุภายอง


    บิดามารดาเป็นผู้มีฐานะพอมีอันจะกิน มีอาชีพทำนา ทำสวน ประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่มีการยิงนกตกปลา ไม่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และไม่มีการเลี้ยงหมูขาย มีความขยันถี่ถ้วนในการงาน ปกครองลูกหลานโดยยุติธรรม ไม่มีอคติ หนักแน่นในการกุศล ไปนอนวัดรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำทุกวันพระ


    บิดาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ถึงแก่กรรมในสมณเพศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๙๐ ส่วนมารดาของท่านได้นุ่งขาวรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระตลอดอายุได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ อายุ ๗๐

    เมื่อเด็กชายพรหมาวัยพอสมควรได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำนา ทำสวน เลี้ยงวัว เลี้ยงควายงานประจำคือตักน้ำ ตำข้าว ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาเท่าที่พอจะทำได้ตามวิสัยของเด็ก


    การศึกษา :

    - ท่านครูบาพรหมมาได้เรียนหนังสืออักษรลานนาและไทยกลางที่บ้านจากพี่ชายที่ได้บวชเรียนแล้วได้สึกออกไป เพราะสมัยนั้นตามชนบทยังไม่มีโรงเรียนสอนกันอย่างปัจจุบันแม้แต่กระดาษจะเขียนก็หายาก ผู้สอนคือพี่ชายก็มีงานมาก ไม่ค่อยได้อยู่สอนเป็นประจำ จึงเป็นการยากแก่การเล่าเรียน อาศัยความตั้งใจและความอดทนเป็นกำลังจึงพออ่านออกเขียนได้

    เหตุบรรพชา :

    - อาศัยที่ได้ติดตามบิดามารดาไปวัดบ่อยๆ ได้เห็นพระภิกษุสามเณรอยู่ดีกินดี มีกิริยาเรียบร้อยก็เกิดความเลื่อมใส ยิ่งได้เห็นพระพี่ชายที่บวชอยู่หลายรูปพากันมาฉันข้าวที่บ้านยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสยิ่งขึ้น


    ต่อมาท่านก็จำได้ว่าปีนั้นเป็นปีชวด ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ กำลังจะเกิด ปีนั้นดินฟ้าอากาศก็วิปริตผิดปกติ บ้านเรือนแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ผู้คนต่างถูกทุพภิกขภัยเบียดเบียนระส่ำระส่าย ทั้งทางราชการก็เร่งรัดเกณฑ์ผู้คนไปเป็นทหารกันวุ่นวาย ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นก็รู้สึกไม่สบายใจ จึงน้อมใจไปในการบวชมากขึ้น ประกอบกับได้เห็นพวกเพื่อน ๆ ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงหนีไปบวชกันแทบทุกวัน จะเป็นการบวชหนีทหารหรือบวชผลาญข้าวสุก หรือบวชเพื่อความพ้นทุกข์อย่างไรไม่ทราบ


    บรรพชา :

    - เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. อายุ ๑๕ ปี ท่านถือผ้าจีวรกับดอกไม้ธูปเทียนลงจากเรือนไปด้วยความอาลัยบิดามารดาเป็นที่สุด ขณะนั้นมีพี่ชายติดตามไปด้วย ครั้นไปถึงวัดป่าเหียง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่วง (ป่าซางในปัจจุบัน) พระพี่ชายก็จัดการโกนหัวโกนคิ้วให้แล้วบิดานำเด็กชายพรหมากราบขอบรรพชา ณ.วัดป่าเหียง ต.แม่แรง อ.ป่าซาง มีเจ้าอธิการแก้ว ขัตติโย เป็นพระอุปัชฌาย์

    ครั้นพระอุปัชฌาย์มอบผ้ากาสาวพัสตร์ให้แล้วก็มีพระพี่ชายกับใครอีกท่านหนึ่งได้มาช่วยกันนุ่งห่มให้ ในขณะนั้นได้ก้มมองดูผ้ากาสาวพัสตร์อันเหลืองอร่ามอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ก็เกิดความรู้สึกซาบซึ้งนึกว่าเป็นบุญลาภ อันประเสริฐที่ได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา จะขอบวชอุทิศตนต่อพระพุทธศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่

    เมื่อบวชแล้วพระอุปัชฌาย์ผู้เคร่งครัดในวินัยได้เมตตา แนะนำสั่งสอนศีลาจารวัตร พร้อมทั้งการปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นสามเณรต้องท่องจำสวดมนต์ ๑๕ วาร ตั้งแต่เยสันตาจนถึงมาติกามหาสมัย โดยเขียนใส่กระดานชนวนกว้าง ๑ คืบ ยาว ๑ ศอก กำหนดต้องท่องจำวันละ ๑ แป้น ท่านว่าชั้นแรกรู้สึกหนักใจ เห็นตัวหนังสือเล็กขนาดอ่านจนไม่ถนัด นึกว่าเราจะจำได้หรือไม่หนอ แต่เมื่อตั้งใจท่องอย่างจริงจัง ก็ได้วันละ ๑ แป้นจริง ๆ แป้นนั้นท่านยังเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้พยายามหลีกเร้นหลบหนีหน้าคนอื่นเสมอ แม้เดินทางไปฉันข้าวยังบ้าน ก็พยายามไปคนเดียว เพื่อฉวยโอกาสสวดมนต์ไปตามทาง นอกจากนั้นสามเณรพรหมาได้เข้าโรงเรียนประชาบาล จนจบประถมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งเทียบกับประถมปีที่ ๔ สมัยนี้ เพราะเวลานั้นประถม ๔ ยังไม่มีสอนกัน
    เมื่ออายุย่างเข้า ๑๗-๑๘ ก็ได้ศึกษานักธรรมตรีตามลำพังเพราะเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนและครูสอน หนังสือเรียนก็หายาก มีเพียงนวโกวาทกับธรรมนิเทศและวินัยวินิจฉัย ๒-๓ เล่มเท่านั้น ครั้นรอบปีมาทางจังหวัดก็จัดให้มีการสอบครั้งหนึ่งเป็นการสอบเฉพาะจังหวัด เพราะทางคณะสงฆ์ยังไม่ได้เปิดสนามสอบอย่างสมัยนี้ ใครสอบได้ก็ออกประกาศนียบัตรรับรองให้ ทำกันอย่างนี้เป็นเวลา ๒ ปี

    ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงมีสำนักเรียนและครูสอนเป็นหลักแหล่ง โดนคณะสงฆ์ได้จัดตั้งสำนักเรียนที่วัดฉางข้าวน้อยเหนือซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอสมัยนั้น ท่านกับสามเณรมอน อินกองงาม ได้พากันเดินไปศึกษาตลอดพรรษาซึ่งมีระยะทางไกลประมาณ ๓ กิโลเมตร ต้องเดินผ่านทุ่งนาการไปมาลำบากมาก ครั้นออกพรรษาแล้วก็ได้ย้ายไปอยู่วัดฉางข้าวน้อย เพื่อการศึกษาทั้งนักธรรมและวิชาสามัญ

    อุปสมบท :

    - อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ณ พัทธสีมาวัดป่าเหียง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค. ๒๔๖๑ เจ้าอธิการแก้ว ขัตติโย (ครูบาขัตติยะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ฮอน โพธิโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สม สุวินโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า "พรหมจักโก"


    เมื่อเป็นพระภิกษุท่านได้หมั่นเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ จนปี พ.ศ.๒๔๖๒ ทางการคณะสงฆ์ได้ทำการเปิดสอบนักธรรมสนามหลวงขึ้น ท่านก็ได้เข้าสอบนักธรรมสนามหลวง มีนักเรียนใน ๗ จังหวัดภาคพายัพ จำนวน ๑๐๐ รูป ได้มาสอบรวมแห่งเดียว จังหวัดลำพูนมีเข้าสอบ ๑๑ รูป ทำการสอบ ณ วัดเชตุพน จ.เชียงใหม่ พระมหานายกเป็นผู้นำข้อสอบมาเปิดสนามสอบ ในสมัยนั้นข้อสอบวิชาละ ๒๑ ข้อ ผลการสอบออกมามีผู้สอบได้ ๒ รูป คือครูบาพรหมา พรหมจักโก และพระทองคำ วัดเชตุพน นอกนั้นไม่ผ่าน สอบตกหมด นับว่าเป็นพระรูปแรกของจังหวัดลำพูนที่สอบได้


    ท่านพระมหานายก (พระมหานายกคือ พระปลัดขวาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส) พร้อมคณะผู้นำข้อสอบมีความสนใจ ได้ติดตามมาถึงวัดป่าเหียงซึ่งเป็นวัดเดิมของท่านพระภิกษุพรหมา ท่านพระมหานายกได้มาขอต่อพระอุปัชฌาย์และพ่อแม่พี่น้องเพื่อจะรับไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ แต่พระอุปัชฌาย์และพ่อแม่พี่น้องต่างก็เป็นห่วงเป็นใยไม่อนุมัติให้ไป โดยอ้างเหตุผลไปต่างๆ นาๆ มีตอนหนึ่งพระอุปัชฌาย์ได้หันมากล่าวแก่ท่านครูบาพรหมาว่า "ถ้ารักตัวก็จงตั้งใจปฏิบัติธรรม" ท่านครูบาระลึกถึงคำพระอุปัชฌาย์ เรื่องก็ยุติลงไป


    แต่ท่านก็รู้สึกเห็นใจและขอบพระคุณพระมหานายกเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณามาขอถึงที่อยู่ด้วยความหวังดี แต่ท่านก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในตนเองที่มีบุญไม่ถึง จึงมีอุปสรรคทำให้ไม่ได้ไปศึกษาต่อให้มีความรู้ทางธรรมเท่าที่ควร ต่อนั้นมาท่านก็ได้ระลึกถึงคำพูดของพระอุปัชฌาย์ที่ว่า "ถ้ารักตัวก็จงตั้งใจปฏิบัติธรรม" นั้นยังก้องอยู่ในหู ท่านจึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านการปฏิบัติธรรม จากครูบาต่างๆ หลายๆองค์ อาทิ ท่านพระครูพิทักษ์พลธรรม (ครูบาหวัน มหาวโน) และพระครูภาวนาภิรัต (ครูบาอินทจักโก) ซึ่งเป็นพระพี่ชายที่อยู่สำนักเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นยังได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ ในข้อวัตรปฏิบัติธรรมจากครูบาอาจารย์อีกหลายท่านคือ ท่านครูบาแสน ญาณวุฑฒิ วัดหนองเงือก ท่านครูบาบุญมา ปารมี วัดกอม่วง และท่านครูบาอนุ ธัมมวุฑฒิ วัดพานิช เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางปฏิบัติที่ถูกต้องพร้อมกับเวลานั้นก็รู้สึกสังเวชในชีวิตของตน เนื่องด้วยชีวิตเป็นของไม่แน่นอนความตายเป็นของแน่นอน ก่อนที่ยังไม่ถึงแก่ความตายนี้ ขอให้ได้บำเพ็ญสมณธรรมไว้ให้เต็มความสามารถ จะเป็นที่อุ่นใจและพอใจในชีวิต จึงได้น้อมจิตไปในทางปฏิบัติธรรม

    ออกอยู่ป่าถือธุดงค์

    อาศัยความตั้งใจ และความนึกคิดเป็นแรมปี ลุถึงอายุ ๒๔ พรรษาที่ ๔ วันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เดือนเพ็ญ ๘ (เดือน ๑๐ทางหนือ) ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ครูบาพรหมาได้ตัดสนใจกราบลาพระอุปัชฌาย์ โยมพ่อ โยมแม่ พร้อมทั้งญาติพี่น้องเพื่อออกไปอยู่ป่าบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อเดินทางออกจากวัด ท่านได้มุ่งตรงสู่ดอยน้อย ซึ่งตั้งอยู่ฝากแม่น้ำปิง เขต อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีสามเณรอุ่นเรือน (ต่อมาเป็นพระอธิการอุ่นเรือน โพธิโก วัดบ้านหวาย) ติดตามไปด้วย วันต่อมาก็มีท่านพระครูพิทักษ์พลธรรม (ครูบาหวัน วัดป่าเหียง) ได้กรุณาติดตามไปอีกท่าหนึ่ง โดยได้พักจำพรรษาอยู่ในศาลาเก่าคนละหลัง บำเพ็ญสมณธรรมได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยมที่อยู่แถวนั้นเป็นอย่างดี พอออกพรรษาท่านครูบาพร้อมคณะที่ติดตามได้พากันเดินทางกลับมาคาราวะพระอุปัชฌาย์ พักอยู่ ๓ คืนก็ได้กราบลาท่านพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางสู่ป่า พอได้เวลาประมาณตี ๓ ก็ถือเอาบาตร จีวรกับหนังสือ ๒-๓ เล่ม พร้อมทั้งกาน้ำและผ้ากรองน้ำและออกเดินทางเข้าสู่ป่า เพื่อแสวงหา ความสงบ บำเพ็ญสมณธรรมให้เต็มความสามารถน้อมจิตไปในทางปฏิบัติ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กันยายน 2008
  2. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ภัยธรรมชาติ

    การอยู่ป่าปีแรกรู้สึกว่าลำบากมาก เนื่องจากเวลานั้นในจังหวัดภาคเหนือ ยังไม่ปรากฏว่าจะมีพระรูปไหนออกอยู่ป่ามาก่อน จึงทำให้ประชาชนเกิดความสนใจแล้วพากันมาดูถามนั่นถามนี่ บางพวกก็พากันมานั่งจ้องมองดูเป็นเวลานานตั้งครึ่งวัน ทำให้เกิดความรำคาญไม่สงบ จึงต้องมีการโยกย้ายมาเพื่อหลีกเร้นหลบหน้าผู้คนอยู่เสมอ บางครั้งก็มีเพื่อนสหธรรมิกได้ติดตามไปหลายรูป ในตอนแรกก็มีพระน้องชายกับโยมบิดาซึ่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วได้ติดตามไปด้วย ในตอนหลังบางครั้งก็มีครูบาอาจารย์หลายๆ ท่าน อาทิ ท่านครูบาคำ คันธิโย วัดดงหลวงสิบลี้ เป็นต้น ได้กรุณาให้ความอบอุ่นไปอยู่ด้วย บางครั้งก็ได้ติดตามท่านครูบาภาวนาภิรัต (พี่ชาย) วัดวนารามน้ำบ่อหลวงไปเป็นครั้งเป็นคราว ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงร้องของสัตว์ เช่น เสือ นกปู่ต๊ก (นกถืดทือ) เป็นต้น พอถึงฤดูใบไม้ร่วงก็ร้อนจนเกือบจะไม่มีที่จะกำบัง มีครั้งหนึ่งฝนตกพื้นดินชื้นแฉะนอนไม่ได้ ก็ขึ้นไปนอนตามขอนไม้แต่แล้วพอตื่นขึ้นก็ปรากฏว่าลงไปนอนอยู่ตามพื้นดินกันหมด บางครั้งต้องนอนในน้ำเหมือนควายนอนปลัก
    มีครั้งหนึ่งท่านครูบาพรหมาพร้อมด้วยคณะได้ไปอาศัยอยู่ป่าไกลจากหมู่บ้านห้วยปันจ้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็เกิดมีฝนห่าใหญ่หลั่งไหลตกลงมา พระทุกรูปไม่มีกลดไม่มีร่ม ต่างก็พากันลุกขึ้นไหว้พระเอาผ้าคลุมศีรษะนั่งภาวนาอยู่ ในที่สุดก็นอนลง ทันใดนั้นก็มีน้ำป่าไหลหลากลงมา ทั้งฝนก็กระหน่ำตกไม่ขาดสาย พวกท่านก็ปล่อยเลยตามเลย นอนกันอยู่อย่างงั้นก็เพราะต่างก็ง่วงเต็มแก่ พอตื่นขึ้นมาก็เป็นเวลาสว่าง ท่านครูบาพรหมาได้เหลือบตามองดูจีวรที่ห่มอันเปียกชุ่มว่ามันเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเป็นดินทรายไปหมด ยกเกือบไม่ขึ้น น่าสังเวชใจในชีวิตของตนเป็นกำลัง นึกปลอบในตนเองว่าช่างมันเถอะ อะไรๆ ล้วนแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น

    พอถึงเวลาภิกขาจารก็มีพวกศรัทธาชาวบ้านมากันมากหลายเพื่อตักบาตร พวกท่านก็เอาจีวรที่เปียกแฉะเป็นดินเป็นทรายนั่นแหละห่มคลุมไปบิณฑบาต ขณะนั้นมีคนแก่คนหนึ่งชื่อ พ่อพญาอักขระราชสาราจารย์ พอแกมองเห็นสภาพของพระธุดงค์เปียกม่อลอกเช่นนั้น แกก็ร้องไห้โฮออกมาด้วยความสงสารสภาพของพระธุดงค์พลอยทำให้คนอื่นพลอยหลั่งน้ำตาลงด้วยเป็นแถว

    ครูบาท่านออกธุดงค์ ไปตามป่าเขาเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ เดินทางเข้าไปเขตพม่าและจำพรรษาอยู่ในเขตพม่าเป็นเวลานาน ๕ ปี หรือตามหมู่บ้านกระเหรี่ยงชาวเขา จนท่านครูบาสามารถพูดภาษากระเหรี่ยงได้เป็นอย่างดี
    เมื่อคราวจำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ ท่านถือธุดงค์วัตร อยู่ป่าเป็นวัตร ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ฉันภัตตาหารวันละ ๑ มื้อ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ภายหลังจากที่ท่านครูบาพรหมาได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามป่า ตามนิคมต่างๆ หลายแห่งเป็นเวลา ๒๐ พรรษา ท่านได้ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคได้รับความสุข ความทุกข์ ความลำบาก บางครั้งไม่ได้ฉันท์ภัตตาหาร ๑-๒ วัน ท่านเพียรพยายามอดทนด้วยวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดที่สุด

    พระพุทธบาทตากผ้า

    หลังจากที่ท่านได้เดินธุดงค์ไปตามป่าและตามนิคมหลายที่หลายแห่งเป็นเวลานานหลายสิบปี ได้รับความสุข ความทุกข์ทรมาน ได้ผ่านประสบการณ์มามากต่อมากแล้ว ท่านก็ได้มาพักอยู่วัดป่าหนองเจดีย์ ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี ตามคำนิมนต์ของครูบาอาจารย์ญาติโยม ได้มาประจำอยู่ที่นั้น ๔ พรรษา หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อันเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดร้างมาตั้งพันกว่าปีได้ อยู่ได้พรรษาเดียวก็ได้ย้ายไปอยู่ป่าม่อนมะหิน ประจำอยู่ที่นั่น ๒ พรรษาแล้วได้ย้ายไปอยู่วัดป่าหนองเจดีย์อีก ๒ พรรษา

    พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ท่านจะชราภาพและได้จำพรรษาในวัดเป็นประจำแล้ว แต่ท่านยังถือธุดงค์ศรัทธาเป็นประจำ ในฤดูแล้งปีไหนมีโอกาส ท่านก็อุตส่าห์พาภิกษุสามเณรไปเดินธุดงค์อยู่ตามป่าหรือป่าช้าเป็นครั้งคราว เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ทราบปฏิปทาในการเดินธุดงค์ แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ยังวัด

    ท่านได้อาศัยร่มไม้บุนนาคต้นหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่หน้ากุฏิเป็นที่นั่งบำเพ็ญสมณธรรม เป็นประจำมาทุกเช้า ตลอดฤดูแล้งและกลางพรรษา ท่านปกครองลูกศิษย์เหมือนพ่อปกครองลูก ไม่มีอคติ ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง ติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ท่านพร่ำสอนลูกศิษย์ สอนแล้วสอนอีก ท่านจะค่อยๆ พูดช้าๆ หนักแน่น ชักเรื่องราวมาประกอบ พยายามให้ศิษย์เข้าใจและเป็นคนดี ท่านไม่เคยด่าว่าลูกศิษย์ด้วยคำหยาบคายเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างหนักก็พูดด้วยความท้อใจว่า "คนนี้มันจากที่ไหนมาเกิดหนอ" เท่านั้น การเฆี่ยนตีศิษย์ก็ไม่เคยมี ท่านมีความเมตตากรุณา มีความเคร่งครัดในศีลวัต เป็นผู้ไม่สะสม มีความสันโดษ อนุเคราะห์ช่วยเหลือบำรุง ทั้งด้านความเป็นอยู่ และการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนถึงงานสาธารณกุศล สงเคราะห์คนยากจนโดยทั่วไป ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุ เสนาสนะ สิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ภายในวัดพระพุทธบาทตากผ้าและที่อื่นๆ รวมถึงงานเผยแพร่แสดงพระธรรมเทศนา งานเขียนหนังสือธรรมะและหนังสือสุภาสิตคำสอนหลายเล่ม ตัวอย่างหนังสือของท่านเพียงบางส่วน

    ๑. หนังสือคำถามคำตอบเรื่องหนานตั๋นกับหนานปัญญา
    ๒. หนังสือสุภาษิตคำสอน
    ๓. หนังสือทาน ศีล ภาวนา
    ๔.หนังสือคำถามคำตอบเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา
    ๕. หนังสืออภิณหปัจเวกขณ์
    ๖. หนังสือเขมสรณาคมน์

    ท่านพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาให้อยู่ในศีลธรรม จัดตั้งสำนักโรงเรียนพระปริยัติ นักธรรมบาลี จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน พัฒนาวัดพระพุทธบาทตากผ้าให้เจริญรุ่งเรืองจนได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีความสำคัญทางศาสนาแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน และด้วยการสั่งสมบุญบารมี คุณงามความดีของท่านนี้เองทำให้ ท่านได้รับความเคารพศรัทธาจากพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ศรัทธาประชาชนทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศ และนานาประเทศ พระครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก ทรงไว้ซึ่งคุณแห่งพระสุปฏิปันโน พระอริยสงฆ์ ผู้มีความบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิงมีจริยาวัตรอันงดงาม มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด มีปฏิปทาอันอุดมและมั่นคง บำเพ็ญสมณธรรมอยู่เนืองนิจ คือผู้นำประโยชน์ความสุข ความสงบให้เกิดแก่หมู่คณะ ทรงไว้คือสังฆรัตนะคุณควรบูชาสักการะแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย


    มรณภาพ :-

    ครูบาเจ้าพรหมจักรได้บำเพ็ญสมณธรรมจนเข้าสู่วัยชราภาพ สังขารของท่านชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อาการเจ็บไข้ได้ป่วยจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ท่านครูบาเจ้าได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ก่อนที่ท่านครูบาท่านจะละสังขาร ท่านครูบาได้ตื่นจากจำวัด แต่เช้าปฏิบัติธรรมตามกิจวัตร เมื่อถึงเวลาท่านลุกนั่งสมาธิ สำรวมจิตตั้งมั่นสงบระงับ ครูบาเจ้าพรหมจักรได้ดับขันธ์ (มรณภาพ) ในท่านั่งสมาธิภานา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ เวลา ๐๖.๐๐ น.อายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๓ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงครูบาเจ้าพรหมจักรด้วยพระองค์เอง หลังจากพระราชทานเพลิงเสร็จสิ้นแล้วได้เก็บอัฐิ ปรากฏว่าอัฐิของครูบาเจ้าพรหมจักรได้กลายเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ หลายสี


    [​IMG]

    พระธาตุของครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน ในภาพจะเห็นลักษณะของพระธาตุขึ้นมาเป็นองค์กลมๆเล็กๆจากอัฐิธาตุของท่าน
    [​IMG]

    ลักษณะอัฐิธาตุของครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน ด้านหลัง ที่กำลังแปรสภาพไปเรื่อยๆเช่นกัน

    ที่มาภาพ : http://www.rakpratat.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=9859&Ntype=4


    หน้าที่สมณศักดิ์ และผลงาน:-

    - ก่อตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรม นักธรรมบาลีที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า
    - ก่อตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดพระพุทธบาทตากผ้า
    - ก่อสร้างถาวรวัตถุ ตามวัดต่างๆ สถานที่ต่างๆ อีกมากมาย เช่นอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม พรหมจักรสังวรกิตติขจรประชาสรรค์ เป็นต้น รวมทั้งงานซ่อมแซมสถานที่ต่างๆ
    - เป็นประธานสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิวัดป่าหนอเจดีย์
    - เป็นประธานสร้างกำแพง ซ่อมพระอุโบสถ วิหารและเจดีย์ วัดพระนอนม่อนช้าง
    - เป็นประธานสร้างวิหารวัดม่อนมะหิน ขึ้น ๑ หลังและเป็นประธานสร้างพระวิหารและโรงเรียนประถมปลาย "พรหมาประชาอุทิศ"บ้านมะกอก
    - ได้ช่วยเหลือสร้างวิหารวัดบ้านหวาย กุฏิช้างค้ำ
    - พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระพุทธบาทตากผ้า พระวิหารจตุรมุขครอบรอยพระบาท พระอุโบสถ วิหาร ศาลา เสนาสนะต่างๆ ฯลฯ
    - พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นผู้อำนวยการการศึกษาพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดพระพุทธบาทตากผ้า
    - พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ "พระครูพรหมจักรสังวร" ฝ่ายอรัญวาสี
    - พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า
    - พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
    - พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก
    - พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับประกาศนียบัตรวัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นวัดพัฒนาดีเด่น
    - พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกพิเศษ
    - พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระสุพรหมยานเถร"
    - พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นกรรมการชำระ พระไตรปิฎก ฉบับลานนา ฯลฯ
    - พ.ศ. ๒๕๒๒ รับการยกฐานะวัดพระพุทธบาทตากผ้าให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ

    ธรรมเทศนา :-

    ชีวิตของเราทั้งหลายนั้นมันไหลไปตามกระแสแห่งความอยาก คือ ตัณหา มันจึงดิ้นรน วุ่นวาย เป็นทุกข์ทรมาน เพราะว่าเรา ไม่มีสติมากันกระแสแห่งตัณหา คือ ความอยาก เรามาปฏิบัติ วิปัสสนากัมมัฏฐานจุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะชำระจิตใจของเรา ให้บริสุทธิ์ ให้สะอาด หรือมาปิดกั้นเสีย ซึ่งกระแสแห่งตัณหา คือ ความอยาก จำเป็นที่จะต้องปลูกสติ สร้างสติขึ้นให้แก่กล้า จึงจะสามารถปิดกั้นเสีย ซึ่งกระแสแห่งตัณหาได้

    การปฏิบัติธรรม ท่านครูบาพรหมา(หลวงพ่อพระพุทธบาทตากผ้า) ได้เทศนาไว้มาก พอจะสรุปได้ว่า ขั้นแรกท่านได้ตั้งใจสมาทานอธิษฐานเอาธุดงค์ธรรมตามกำลังที่จะปฏิบัติได้ แล้วได้ฝึกหัดเป็นคนสันโดษมักน้อย อยู่ง่าย ฉันง่าย ปรับปรุงจิตใจให้เข้ากับธรรมชาติ

    พยายามฝึกจิตให้อาจหาญเป็นสมถภาวนา มีพุทธานุสติและอภิณหปัจเวกขณ์ เป็นต้น แล้วพิจารณาสังขาร รูป นาม ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามระเบียบวิธีแห่งการปฏิบัติธรรม

    ทั้งนี้มิใช่มุ่งหมายอย่างอื่นหากมุ่งหมายความที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อเรียกร้องให้คนนับถือ มิใช่เพื่อลาภสักการะและความสรรเสริญเยินยอ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวรคือความสำรวมเพื่อปหานะคือความละเว้น และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"

    http://www.watkoh.com/kratoo/forum_posts.asp?TID=203
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 กันยายน 2008
  3. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    <CENTER>เกร็ดประวัติพระสุพรหมยานเถร
    (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก หลวงพ่อ พระพุทธบาทตากผ้า)
    วัดพระพุทธบาทตากผ้า
    อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

    </CENTER>
    หลวงปู่รู้ได้อย่างไร

    การที่ผู้เขียน (คุณดำรงค์ ภู่ระย้า) ได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร นักบุญแห่งลานนาไทยองค์ที่สองอยู่เสมอ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ก็ได้มองเห็นปฏิปทา ข้อวัตรปฏิบัติของท่านแล้ว ไม่ว่าในที่แจ้ง หรือท่านจะอยู่เพียงลำพังในกุฏิ ท่านจะกระทำสมณกิจตามอัตภาพแห่งตน อย่างสม่ำเสมอ ดังมีเรื่องจะได้นำมาบอกเล่า ให้ท่านผู้อ่านพิจารณา สักเรื่องหนึ่ง....

    "ท่านอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆ และผู้เขียน เดินทางไปเก็บหนังสือ - เยี่ยมลูกค้า ตอนเย็นประมาณ 4 โมง ก็ได้เข้ากราบนมัสการท่าน แต่ก่อนจะมาถึงตลาดป่าซาง ก็พอดีในช่วงนั้น ทางการกำลังสร้างทาง และได้เทลูกรังไว้ ฝนตกมาก ถนนลื่น ทำให้รถไถลลงไปข้างทาง ล้อจมทั้ง 4 ข้าง ต้องเดินกรำฝนไปตามรถมาช่วยลาก เป็นชั่วโมงกว่าจะขึ้นมาจากหล่มโคลนสำเร็จ ครั้นเมื่อไปถึงวัด ก็อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้ากันก่อน จากนั้นจึงเข้านมัสการหลวงปู่ท่าน

    ขณะที่ขึ้นไปบนกุฏิ หลวงปู่กำลังนั่งสมาธิอยู่....จึงนั่งรอท่าน พอท่านออกจากสมาธิ ท่านก็หันมามอง ท่านได้เอ่ยทัก ด้วยคำพูดที่น่าอัศจรรย์ว่า....
    "ฝนตกมากนะ....ถนนลื่นรถก็ไถลลงไปแช่น้ำครึ่งคัน เสียเงินค่าลากจูงอีก 300 บาท ก็เอาละ วันนี้นอนค้างเสียที่กุฏินี้แหละ จะได้นั่งภาวนาด้วยกัน"
    ผู้เขียนได้ยินท่านพูดเช่นนั้น เกิดปีติเป็นอย่างมาก และเชื่อในความรู้เห็นอันแจ่มใสของท่านด้วยอำนาจแห่งสมาธิธรรม ก็สิ่งเหล่านี้แหละ นักปฏิบัติผู้สนใจ หลงใหลที่จะได้กันนัก คืนนั้น หลวงปู่ได้สอนวิธีปฏิบัติธรรม การพิจารณาธรรมอันมีทุกข์ - สุข เป็นต้น จนบังเกิดความสว่างทางจิตใจเป็นอันมาก

    เรื่องนี้ มิใช่ว่าจะนำมากล่าวหรือยกย่องในคุณวิเศษของครูบาอาจารย์ แต่เป็นการเทิดทูน ธรรมความดีจริง ของพระพุทธเจ้า แม้ผู้ใดปฏิบัติทางจิต เข้าสู่ความสงบแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมจะได้พบ กับความอัศจรรย์ทางจิตใจได้ทุกเมื่อ แม้พระพุทธศาสนาของเราจะล่วงเวลามานาน กว่า 2527 ปีแล้วก็ตาม สัจธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีอยู่ ภายในจิตของผู้ปฏิบัติไม่ลบเลือน นี่แหละ ท่านจึงสอนว่า "ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้เองเห็นเอง"


    อุเบกขาธรรม

    ความยึดมั่นว่า เป็นของตัวกู ของกู ถ้ามีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์องค์เณร หรือจะเป็นฆราวาส ก็ล้วนแต่จะเกิดทุกข์ สำหรับ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร แห่งวัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูนนั้น มีศิษย์หลายรูป (บวชพระอยู่กับท่าน) ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า....

    "คงจะมีพระภิกษุ หรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่ ที่ตนเองเข้าใจว่า ทำแต่ความดี แล้วอาจไม่ชอบใจ พระภิกษุสามเณรด้วยกัน วางตัวเป็นผู้ว่ายาก สอนยาก แต่ด้วยความเมตตาปรานีชนิดดุว่าใครไม่เป็น จึงทำให้พระหรือสามเณรที่ตั้งใจทำกิจการงานด้วยดี น้อยอกน้อยใจ จึงได้เขียนแผ่นป้ายไปติดไว้ข้างกุฏิหลวงปู่ มีใจความว่า " ความเมตตาเกินประมาณ ทำให้อันธพาลเต็มวัด" เมื่อหลวงปู่พระสุพรหมยานเถร ท่านได้อ่านข้อความแล้ว ท่านก็อมยิ้มไม่พูดว่ากระไร นิ่งเฉยไม่ถามเลยว่า ใครเป็นผู้เขียน ก็ได้ผลมาก การกระทำของท่าน คือ ทำให้พระเณรในวัดมีความอดทน อดกลั้น มีความสามัคคี จิตใจก็ดีขึ้น มองเห็นความจริงของจิตใจมนุษย์ว่า จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ดีงามเหมือนใจตนน่ะไม่ได้ ห้ามรถห้ามเรือน่ะมันได้ จะมาห้ามจิตและความเป็นอนุสัยแต่เก่าก่อนนั้น เห็นจะยากเต็มทน


    อภัยให้ในความไม่รู้

    วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นวัดที่สงบร่มรื่น เป็นวัดที่มีความสะดวกสบายอยู่ไม่น้อย จึงทำให้ปีหนึ่ง ๆ จะมีพระภิกษุ สามเณรมากมาย ได้มาบวชเรียนศึกษาหาความจริงในธรรมะ แต่เมื่อหมู่มากเข้ามาปะปนกัน ผู้เป็นหัวหน้าคอยดูแล ก็ต้องเป็นผู้มีความรู้ความหนักแน่นพอสมควรเลยทีเดียว เรื่องราวที่ต้องเล่าให้ผู้อ่านฟังก็เป็นสาเหตุมาจากสามเณรตัวน้อย ๆ ซึ่งนิสัยของสามเณร ก็ได้พกนิสัยเด็กมาจากบ้านนั่นเอง ความไม่รู้ของสามเณรก็น่าฝึกน่าสนใจอยู่ไม่น้อย วันนั้นสามเณรน้อยเดินไปตามบริเวณวัดที่โล่งเตียน แต่ในมือของสามเณรน้อย มีกระดาษแผ่นใหญ่ ฉีกแล้วโปรยไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นความสนุกของเด็ก ๆ นั่นเอง

    หลวงปู่พระสุพรหมยานเถรมองเห็น ท่านก็เดินเก็บเศษกระดาษที่สามเณรน้อยฉีกทิ้งทีละชิ้น ๆ ฝ่ายสามเณรน้อย ก็ฉีกโปรย ๆ ไม่ได้คิดหันไปมองข้างหลังว่า มีใครเดินตามเก็บเศษกระดาษนั้น จนที่สุด กระดาษก็หมด จึงหันมามองข้างหลัง ก็ได้พบกับหลวงปู่พระสุพรหมยานเถร ท่านกำกระดาษไว้ในมือ ยืนยิ้มกับสามเณรน้อยรูปนั้น นับได้ว่าหลวงปู่ท่านสามารถแยกแยะผิด - ถูก ชั่ว - ดี สำหรับสามเณรรูปนี้เป็นเด็กนั่นเอง ย่อมมีนิสัยซุกซนไปตามประสา จะดุด่าว่ากล่าวก็ไม่สมควร เท่าที่สามารถอดข้าวมื้อเย็นได้ รู้จักหน้าที่สวดมนต์ไหว้พระ รู้จักระเบียบบ้างในบางกรณี ก็นับว่าเป็นการฝึกที่ได้ผลอยู่ไม่น้อย
     
  4. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    [​IMG]

    ที่มาภาพ http://www.phrabat.com/images_subforum/1341.jpg



    <CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">เกร็ดประวัติพระสุพรหมยานเถร 2

    (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก หลวงพ่อ พระพุทธบาทตากผ้า)</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">วัดพระพุทธบาทตากผ้า

    อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
    </CENTER><CENTER>ช่างเขาเถอะ...เขาเอาไปบูชา

    </CENTER>ในพ.ศ.2524 เป็นปีที่พวกมารพระพุทธศาสนาลุกฮือขึ้นมาทำลายล้างแทบทุกรูปแบบ ซึ่งในปีดังกล่าว แม้ท่านผู้อ่านย้อนนึกถอยหลังไป ก็คงจะจำได้ดีว่า ในปีนั้น มารพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาหลายรูปแบบ เช่น...เอาวิญญาณร้ายมาอ้างว่า เป็นพระภิกษุรูปนั้นองค์นี้มาเข้าทรง เอาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์มาทรงเจ้าเข้าผีหมด นอกนี้แล้วยังมีพวกมารพระพุทธศาสนาออกไปอาละวาด ขโมยพระพุทธรูป.....ตัดเศียรพระพุทธรูประบาดไปทั่วประเทศทุกภาคของประเทศไทย เป็นปีที่พระผอม แต่ผีปีศาจอ้วนพี มีเอกลาภมากมาย ปีนั้นพระพุทธรูปในพระวิหารวัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ก็ถูกมารพระศาสนาลักขโมยเอาไป

    วันรุ่งขึ้นโยมวัดได้ทราบเหตุการณ์ จึงได้นำเรื่องนี้เข้ากราบเรียนให้หลวงปู่พระสุพรหมยานเถรทราบ เมื่อสิ้นคำบอกเล่าของโยมวัด หลวงปู่ก็มีความปกติ มิได้แสดงอาการอันใดออกมา เฉยนิ่งพร้อมกับพูดขึ้นว่า "อย่าไปตกใจอะไรเลย ดีแล้ว เขาเอาไปกราบไหว้บูชา ช่างเขาเถิดนะ..." ท่านพูดจบก็ยิ้มปลอบใจโยมวัดคนนั้น คล้ายกับจะพูดว่า "ช่างเถิด อะไรจะเกิดขึ้นก็ย่อมเกิด กฎของความไม่เที่ยงความทุกข์ และความไม่แน่นอนจะปรากฏอยู่เสมอ ๆ ทุกเวลานาที พระนิพพาน เท่านั้นเที่ยงแท้ในโลก" ผู้เขียน นี่ถ้าหลวงปู่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ ก็คงจะทำให้เป็นทุกข์มาก เมื่อพระพุทธรูปหายไป

    <CENTER>พุทธปาฏิหาริย์

    </CENTER>เมื่อหลายสิบปีก่อนโน้น วัดพระพุทธบาทตากผ้ายังเป็นวัดป่าที่จะหาความจำเริญหูจำเริญตาไม่ค่อยจะได้ ยิ่งเป็นที่วัดหนองเจดีย์ สมัยนั้นก็เป็นวัดรกร้างหาใครเข้าไปอยู่ได้ยาก กลัวงู กลัวเสือ กลัวผีไปทุก ๆ ชนิด ที่วัดหนองเจดีย์ มีพระเจดีย์ร้างอยู่องค์หนึ่ง พระเจดีย์องค์นี้อยู่ในลักษณะทรุดโทรมหักพัง กองอิฐถูกผู้โลภหวังจะหาทรัพย์สมบัติโบราณทำลายขุดจนดูไม่ออกว่า พระเจดีย์นี้มีรูปลักษณ์แบบใดกันแน่ ต่อมาเมื่อ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร หรือ ท่านครูบาพรหมา ได้ผ่านไปทางพระเจดีย์ร้างนี้ ก็กำหนดรู้ด้วยวาระจิตว่า ใต้ฐานเจดีย์ทิศตะวันออกมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่องค์หนึ่ง ทั้งยังมีพระบรมธาตุอันศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ดังนั้น หลวงปู่จึงได้ให้ญาติโยมวัดผู้อุปัฏฐากไปขุดค้นตรงบริเวณดังกล่าว ก็ได้พบกับพระแก้วมรกตองค์หนึ่งงดงามมาก พร้อมกับพระบรมธาตุในผอบอีก 111 องค์

    หลวงปู่พระสุพรหมยานเถรได้อัญเชิญมาวางในที่อันควร จากนั้นได้ทำการสรงน้ำ (คือล้างดินทรายออกจากองค์พระแก้วมรกต) ก็ปรากฏเป็นแสงสว่างเขียวงามตาไปทั่วบริเวณ ส่วนพระบรมธาตุ 111 องค์ หลวงปู่ได้ทำการอัญเชิญสรงน้ำด้วยเครื่องหอม น้ำอบ และแก่นจันทน์ พอตกกลางคืน ก็ปรากฏว่ามีแสงสีสว่างจ้าทุกคืน

    <CENTER>อัญเชิญประดิษฐานไว้สักการะ

    </CENTER>ความอัศจรรย์กับพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนได้กราบเรียนถามศิษย์ใกล้ชิดของท่านคือ....ครูบาเขื่อนคำ อัตตสันโต เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ก็ได้รับคำยืนยันว่า.....
    เป็นความจริงนะโยม ครูบาพรหมาท่านเก็บรักษาบูชาของทั้งสองอย่างอยู่ไม่นานนัก เพราะท่านกำหนดรู้ถึงความไม่ปลอดภัยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองอย่างนี้ ดังนั้น ท่านครูบาพรหมาจึงได้นำอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุทั้ง 111 องค์ ตรงไปยังวัดป่าเหียง เพื่อทำการอัญเชิญบรรจุในพระเจดีย์ พอไปถึงวัดป่าเหียง ท่านครูบาพรหมาต้องผิดหวัง เพราะว่าท่านเจ้าอาวาสท่านปฏิเสธที่จะรับของอันมีค่านี้ไว้
    ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าเหียงก็ได้แนะนำให้ท่านครูบาพรหมาอัญเชิญไปบรรจุ ณ วัดหนองเงือกทันที เพราะขณะนั้นวัดหนองเงือกกำลังก่อสร้างพระเจดีย์ เมื่อครูบาพรหมารีบนำพระแก้วมรกต และพระบรมธาตุไปที่วัดหนองเงือก ท่านเจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ก็รับเอาไว้ด้วยปีติยินดี
    แล้วได้ทำการอัญเชิญประดิษฐานลง ณ พระเจดีย์ดังกล่าว เพื่อเป็นที่สักการบูชาของคณะศรัทธาญาติโยมต่อไป

    <CENTER>เหตุที่เร่งด่วน

    </CENTER>ความเป็นผู้มีญาณรู้ของท่านครูบาพรหมานั้น นับเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก อาตมาเคยได้ประจักษ์มาแล้ว โยมคงสงสัยว่า ทำไมหนอท่านครูบาพรหมา จึงนำสิ่งอันล้ำค่านั้น รีบร้อนไปบรรจุไว้ แรก ๆ อาตมาก็สงสัยเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ประจักษ์ด้วยเหตุผลของท่าน.....
    ท่านครูบาเขื่อนคำ อัตตสันโต ท่านได้กรุณาเล่าต่อไปว่า
    ภายหลังจากท่านครูบาพรหมา อัญเชิญพระพุทธรูปแก้วมรกต และพระบรมธาตุ ไปบรรจุ ณ พระเจดีย์วัดหนองเงือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ต่อมาเพียงสามวัน เรื่องการพบของอันมีค่าของครูบา ได้ยินเข้าหูของเจ้าหลวง ผู้ครองนครเมืองลำพูนว่า
    "พระครูบาฯ ได้พบพระแก้วมรกต"
    จึงได้สั่งให้คนรับใช้เดินทางมาบอกเจ้าอาวาสวัดหนองเงือก
    "จงนำพระแก้วมรกต ที่ได้จากวัดหนองเจดีย์ ไปให้เจ้าหลวงลำพูนชมเป็นการด่วน"
    (สมัยนั้นเจ้าหลวงเป็นใหญ่ มีอำนาจมาก)
    ครั้นพอรุ่งเช้า ท่านเจ้าอาวาสวัดหนองเงือกพร้อมด้วยเด็กวัด ได้ออกเดินทางโดยเท้าเปล่า ไปพบเจ้าผู้ครองเมืองลำพูน ก็น่าสงสารท่านเจ้าอาวาสรถรามีที่ไหน เดินตัวปลิวไปถึงในเมือง ระยะทางจากบ้านหนองเงือก ถึงอำเภอป่าซาง ก็ประมาณ 15 กม. เมื่อมาถึงจวนเจ้าเมือง ก่อนจะเข้าคุ้มหลวง ก็ต้องหยุดพักเหนื่อยนุ่งห่มให้เรียบร้อย แล้วเดินเข้าคุ้มหลวงไปถึงบนบ้าน ท่านเจ้าหลวง ก็ออกมาต้อนรับทันที พร้อมนมัสการเอ่ยปากถามว่า
    "ท่านครูบาได้พระแก้วมรกตจริงไหม"
    ท่านเจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ก็ตอบว่า
    "เจริญพร เป็นความจริงแต่เวลานี้ได้อัญเชิญบรรจุในพระธาตุเจดีย์เสียแล้ว"
    เจ้าหลวงก็พูดว่า
    "ถ้าไม่เอาบรรจุก็จะขอมาดูชม เมื่อเอาบรรจุแล้ว ก็ไม่เป็นไร เรื่องของเรื่องที่ให้มาพบก็มีเท่านี้"
    เสร็จแล้ว ท่านเจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ก็เจริญพรลากลับในตอนเย็นวันนั้นเอง ในความคิดของอาตมา ก็คิดว่าท่านครูบาพรหมาท่านรีบร้อนอัญเชิญไปบรรจุก็ด้วยสาเหตุ ที่ท่านรู้ความจริงในข้อนี้ จากอำนาจจิต อนาคตังสญาณ คือ รู้ว่าอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ดังนั้น ครูบาพรหมาจึงพยายามมองหาสถานที่อันมั่นคง เก็บรักษาองค์พระแก้วมรกตและพระบรมธาตุ มิให้ตกไปเป็นสมบัติของผู้ใดใครคนหนึ่ง ท่านประสงค์ที่จะให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของประชาชน โดยส่วนรวม
     
  5. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    <CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">เกร็ดประวัติพระสุพรหมยานเถร 3</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">(ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก หลวงพ่อ พระพุทธบาทตากผ้า)</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">วัดพระพุทธบาทตากผ้า
    อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

    </CENTER>


    พระครูขี้เหนียว

    ท่านผู้อ่านที่เคารพ ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้อ่านประวัติอันดีงาม มีความเสียสละอย่างใหญ่หลวงของ ท่านพระครูขี้หอม ผู้บูรณะพระธาตุพนมมาแล้ว คราวนี้ลองมาอ่านปฏิปทาของ ท่านพระครูขี้เหนียว ดูบ้าง

    ซึ่ง หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร ได้เล่าให้ ครูบาเขื่อนคำ อัตตสันโต ฟัง แล้วได้ขยายมาสู่ผู้เขียน...ผู้อ่านโดยลำดับดังนี้

    "อาตมาได้รับฟังมาจากท่านครูบาพรหมา หลวงปู่ของเรา ได้เล่าว่า มีท่านพระครูรูปหนึ่ง ท่านก็อยู่ที่วัดในตัวเมือง ท่านพระครูรูปนี้ ท่านตระหนี่ถี่เหนียวมาก เป็นที่เล่าลือว่า ถ้าใครไปขอสิ่งของอะไรก็ตามจากท่าน แม้ผู้นั้นได้ของของท่านมาก็นับว่า ยอดเยี่ยมที่สุด ครูบาพรหมาของเรา รู้ข่าวก็อยากจะไปพิสูจน์ว่า "ดูซิว่าคนขี้เหนียวน่ะมันเป็นอย่างไร มีหน้าตายังไงกันหนอ" ท่านครูบาคิดอย่างนั้นแล้ว ก็สู้อุตส่าห์เดินทางไปยังวัดของท่านพระครูรูปนั้นทันที เมื่อเดินขึ้นไปบนกุฏิ ก็พบท่านพระครูขี้เหนียวท่านอยู่พอดี จึงเข้ากราบไหว้ตามธรรมเนียมพร้อมกับพูดขึ้นว่า.....

    "วันนี้ขอเมตตาถุงย่ามกับท่านพระครูสักใบ"
    ท่านพระครูได้ยินดังนั้น ก็ส่งเสียงดังใส่ครูบาพรหมาว่า....
    "แม้แต่ถุงย่ามก็ไม่มีหรือ ?" ท่านพระครูพูดแล้วมองหน้า
    ทันใดนั้น ท่านก็เดินเข้าห้องไป ขากลับมาในมือก็ถือถุงย่ามเก่ายื่นให้ 1 ใบ พร้อมกับในย่ามก็มีแปรงสีฟันและยาสีฟัน 1 หลอด เมื่อท่านครูบาพรหมารับเอาไว้แล้ว ก็ได้แสดงความขอบคุณพร้อมกับลากลับ"
    นี่เป็นการแสดงให้เห็นได้ว่า ท่านหลวงปู่พระสุพรหมยานเถรสามารถเอาชนะคนขี้เหนียวตระหนี่ให้กลายเป็นคนเสียสละ รู้จักการให้ทานได้ อย่างเช่น ท่านพระครูขี้เหนียวรูปนี้ เป็นต้น

    คนชอบขอ

    ผู้ขออาจเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเขาจะขอทุกอย่าง ไม่ว่าครูบาอาจารย์จะทำอะไรอยู่ ถืออะไรอยู่ จับอะไรอยู่ หรือจะห่มอะไรอยู่ ผู้มีนิสัยขี้ขอ ก็ขอทุกอย่างทุกชนิดไป ไม่เคยคิดพิจารณาว่า ควรหรือไม่ควร ดังสมัยหนึ่ง ครูบาเขื่อนคำ อัตตสันโต ท่านได้เล่าให้ฟังว่า

    "มีพระทางภาคกลาง มีวัดอยู่ในกรุงเทพฯ มาถึงวัดพระพุทธบาทตากผ้า ก็ได้พยายามเมียงมองอยู่เป็นเวลาพอสมควร พอผู้คนเริ่มน้อยลง พระภิกษุรูปนั้น ก็ปราดเข้ามากราบท่านครูบา พร้อมกับพูดว่า
    "กระผมมาจากกรุงเทพฯ ตั้งใจจะมาขอสิ่งที่ครูบามีอยู่ คือ จีวรที่ครูบาห่ออยู่นี้สักผืนหนึ่งขอรับ"
    พอพูดจบคำว่า " ขอ....รับ" แล้ว ท่านครูบาพรหมาก็ได้ถามขึ้นว่า
    "จะเอาไปทำไม ?"
    พระภิกษุรูปนั้นก็พูดว่า
    "จะนำไปตัดเป็นชิ้น ๆ เพื่อทำเป็นวัตถุมงคล"
    ความจริงเรื่องอย่างนี้ ครูบาถูกขอมาแล้วจำนวนไม่น้อย บ้างก็เอาไปทำประโยชน์จริง ๆ แต่บางรายเอาไปทำประโยชน์ใส่ย่าม ใส่กระเป๋าก็ไม่น้อยเหมือนกัน.....
    แต่ด้วยจิตใจเมตตาของท่าน ครูบาท่านไม่เคยขัดใครในเรื่องเช่นนี้ ท่านเมตตาสงเคราะห์ด้วยจิตใจยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ทาน ศีล ภาวนา เป็นแนวทางธรรมที่ท่านครูบาพรหมา พรหมจักโก ได้ตั้งใจดำเนินจิตใจมาอย่างมั่นคงจนวันสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน


    ล่วงรู้เหตุการณ์

    สำหรับความอัศจรรย์ที่เกิดกับจิตใจของผู้ประสบเหตุการณ์ได้นำมาเล่าเป็นที่น่าสนใจมาก หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร แห่งวัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ท่านมีจิตสัมผัสรู้ด้วยปัจจุปปันนังสญาณ คือ กำหนดรู้ถึงเหตุปัจจุบันจนเป็นที่ยอมรับของพระภิกษุสามเณรเลยทีเดียว ดังมีเรื่องเล่าสู่กันฟังดังนี้

    หลวงปู่พระสุพรหมยานเถรหรือหลวงพ่อวัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน ท่านสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์มาก โดยเฉพาะภายในวัดพระพุทธบาทตากผ้านั้น พระภิกษุรูปใด จะทำอะไรที่ไหน มีความคิดอย่างไร จะทำอะไร ถูกหรือผิดพระวินัยแค่ไหน หลวงปู่จะล่วงรู้ได้จนหมดสิ้น จากนั้น ท่านจะให้พระเณรไปตามตัวมา เมื่อมานั่งตรงหน้าแล้ว หลวงปู่จะเอ่ยปากทักท้วงขึ้นทันที ตรงใจ และความคิดของพระรูปนั้น ๆ เลยทีเดียว
    ความที่ครูบาพรหมา สามารถรู้เห็นเหมือนกับได้ไปเห็นมากับตาของท่านเองนี้ เป็นที่ยำเกรง และไม่มีพระเณรรูปใดกล้าทำความผิด ตรงกันข้ามพระเณรจะเคร่งครัด มีระเบียบวินัยมาก
     
  6. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    <CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">เกร็ดประวัติพระสุพรหมยานเถร 4</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">(ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก หลวงพ่อ พระพุทธบาทตากผ้า)</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">วัดพระพุทธบาทตากผ้า
    อ.ป่าซาง จ.ลำพูน</CENTER>




    หิวเหลือเกิน

    ครั้งหนึ่งอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆ ได้ไปบวชอยู่ ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า เมื่อบวชแล้วหลวงปู่ได้จัดที่อยู่จำพรรษาให้ท้ายวัด จะมีกุฏิหลังหนึ่ง มีที่นั่งสมาธิภาวนา มีที่เดินจงกรม โดยไม่ให้เข้าหมู่ ให้บำเพ็ญภาวนาโดยตลอด สองวันล่วงไป ที่พระบวชใหม่ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ก็เห็นทีสุดจะทน เกิดความหิวขึ้นมา สิ่งแรกที่นึกคิดเวลานั้น

    "แหม....หิวเหลือเกิน ถ้าได้น้ำหวานสักขวดสองขวด ก็คงจะช่วยบรรเทาเอาไว้ได้นะนี่..."
    อาจารย์ปถัมภ์ หรือหลวงพี่ปถัมภ์ คิดแล้วก็แล้วไป นั่งสมาธิเดินจงกรมไปตามหน้าที่ สักพักเดียวเท่านั้น ท่านก็ได้ยินเสียงคนเดินเข้ามายังกุฏิ พอมาถึงก็พบว่าเป็นพระภิกษุสองรูป ได้นำน้ำหวาน (น้ำอัดลม) ใส่ลังมาวางไว้ ทั้งได้พูดขึ้นว่า....
    "ท่านหลวงพ่อครูบา ให้กระผมนำน้ำหวานมาถวาย ท่านว่าพระปถัมภ์หิวจะเป็นลมอยู่แล้ว อยากได้สองขวด เลยยกมาให้ทั้งลังเลยทีเดียว"
    หลวงพี่ปถัมภ์ หรืออาจารย์ปถัมภ์ ได้ฟังถึงกับขนลุกซู่ ๆ เลยทีเดียว

    รู้ลึกถึงจิตที่คิดนึก

    เมื่อพระภิกษุปถัมภ์ บวชเป็นพระใหม่ ก็ตั้งใจจะปฏิบัติให้เต็มที่ เพราะเวลาการบวชนั้นน้อยมาก จึงพยายามนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรมตลอดเวลา ส่วนตอนเช้ามืดก็ปฏิบัติ ตอนเย็นค่ำ หลังจากสวดมนต์แล้ว ก็ปฏิบัติ ฟังธรรมะ ประกอบสติอารมณ์ไปด้วย หลังจากฟังธรรมะในตอนหนึ่ง ก็เกิดความสงสัย แต่ไม่กล้าถาม หลังจากแยกไปกุฏิของตนแล้ว พระปถัมภ์ก็เดินคิดไปเรื่อย ๆ ตอนกลับกุฏิว่า
    "แหม เมื่อสักครูนี้ หลวงพ่ออธิบายธรรมะไม่กระจ่างเลย น่าจะอธิบายซ้ำอีกนิด จะได้เข้าใจได้ถูกต้อง"
    นึกคิดไปแค่นั้นก็ปล่อยวาง พอดีเดินผ่านห้องน้ำ ก็เลยแวะเข้าห้องน้ำก่อน จากนั้นก็ตรงไปยังกุฏิท้ายวัด เดินไปได้หน่อย สายตาก็ไปสะดุดหยุดลงที่หน้ากุฏิ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร เห็นท่านนั่งอยู่ก่อนแล้ว จึงเข้าไปกราบแล้วได้ถามขึ้นว่า....
    "หลวงพ่อมีอะไร จะใช้กระผมหรือครับ"
    หลวงปู่ท่านพูดขึ้นช้า ๆ และชัดเจนว่า
    "อาตมามารออยู่ เพื่อจะอธิบายธรรมะที่สงสัยเมื่อสักครู่นี้ ให้คุณปถัมภ์คลายจิตใจ...!"
    พูดจบ ท่านก็แสดงธรรมะอธิบายตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเศษ ๆ ขณะฟังธรรมจากหลวงปู่พระภิกษุปถัมภ์ หรือหลวงพี่ปถัมภ์ เรียนเมฆ นั่งหลับตานึกอัศจรรย์ใจ ทำให้เกิดปีติอย่างหนักที่หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร ท่านสามารถรู้วาระจิตของทุกคนที่คิดในปัจจุบันอย่างแม่นยำ
    บังเกิดความเชื่อมั่นในคุณธรรมของท่านอย่างไม่มีข้อสงสัย ขนลุกเกรียว ๆ เลยทีเดียว เมื่อแสดงธรรมะจบแล้ว หลวงปู่ก็ได้ถามว่า
    "เป็นไงคุณปถัมภ์ เข้าใจหรือยัง หายสงสัยหรือเปล่าล่ะ ?"
    พระภิกษุปถัมภ์ตอบว่า....
    "เข้าใจชัดเจนเลยครับผม...หายสงสัยแล้วขอรับ"
    ครับนี่เป็นตอนหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้รับฟังจากอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆ บ.ก.คนพ้นโลก

    คำเตือนของหลวงปู่

    อดีต ปัจจุบัน อนาคต ถ้าจะพูดไปก็จะหาว่า ผู้เขียนยกย่อง หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร มากจนเกินไป แต่เท่าที่สายตาของคณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย เคยได้ไปกราบ เคยได้สดับตรับฟังมา....
    ประวัติความเป็นจริงของหลวงปู่พระสุพรหมยานเถร แห่งวัดพระพุทธบาทตากผ้า ไม่เคยมีอะไรด่างพร้อยและไม่เคยพูดอะไรให้เป็นเรื่องตลกพกลม ดังนั้น ผู้เขียนจึงกล้าเขียนด้วยหลักความจริง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่ท่านในครั้งนี้....
    คำเตือนของหลวงปู่ ผู้เขียนถือเป็นคำอมตะ ท่านเคยสอนไว้ว่า....
    "เธอเป็นนักเขียนธรรมะ จงพยายามพูดไปตามความจริงที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน อย่าเกินเลยไปกว่านั้นนะ ไม่ดี อายุจะสั้น"
    คำว่า อายุจะสั้น ก็คือ ความไม่เจริญนั่นเอง ท่านผู้อ่านที่เคารพ ลองอ่านเรื่องราวของหลวงปู่พระสุพรหมยานเถร แห่งวัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จากคณะศิษย์ของท่านบ้าง แต่.....ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนนะครับว่า การที่หลวงปู่วัดพระพุทธบาทฯ ไม่ค่อยจะพูดอย่างโจ่งแจ้งก็เพราะไม่อยากให้ใครมาตำหนิว่าเป็นการโอ้อวด แต่สิ่งที่ท่านทักท้วงมักเจอเหตุการณ์เสมอ ๆ

    เตือนแล้วยังเถียง

    วันหนึ่ง หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร ได้ถูกนิมนต์ไปในงานศพ ขณะนั่งอยู่ในที่อันเป็นอาสนะ สายตาก็เหลือบเห็นเส้นลวดขนาดเขื่อง พาดผ่านมาตรงหน้า ท่านก็ได้เรียกเจ้าของงานมาถามว่า
    "โยมเส้นลวดที่ผ่านมานี้ จะเอามาทำอะไรหรือ..."
    ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าภาพงานศพว่า....
    "จะจุดบ้องไฟ (ลูกหนู) ผ่านมาทางนี้ครับ"
    (หมายเหตุ ศพที่สำคัญ ๆ มีฐานะ จะมีการจุดลูกหนู ให้วิ่งไปตามสายลวด แล้วอาศัยแรงเหวี่ยงไปปะทะกับยอดปราสาทโลงศพ ก็จะคว้ารางวัลไปคือเป็นผู้ชนะ เป็นการละเล่นที่ตื่นเต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการเสี่ยงกับความตายอีกศพหนึ่ง)
    เมื่อหลวงปู่พระสุพรหมยานเถรได้ฟังอย่างนั้น ก็ได้ทักท้วงขึ้นว่า
    "ควรจะเอาผ่านไปทางอื่น อาตมากลัวว่า มันจะเกิดอันตรายเมื่อสายลวดมันขาด แล้วบ้องไฟมันจะวิ่งมาชนคนที่อยู่ข้างหน้า"
    คำเตือนนี้ ได้รับคำปฏิเสธจากเจ้าภาพงานศพว่า
    "คนที่ทำบ้องไฟ เขาเก่งมาก ไปจุดมาแล้วหลายงาน ไม่เคยปรากฏว่ามีอันตราย"
    หลวงปู่พระสุพรหมยานเถรก็ว่า
    "อะไรทุกสิ่งทุกอย่างเอาแน่นอนบ่ได้"
    เมื่อเตือนไม่เชื่อ หลวงปู่ก็นั่งลงนิ่ง ผลที่สุด ! ก็ปรากฏว่า บ้องไฟ หรือ ลูกหนูนั้น ได้ถูกจุดขึ้นมา เป็นด้วยสาเหตุอันใดไม่ปรากฏเกิดเส้นลวดขาด บ้องไฟวิ่งฉิวตรงมาตกห่างจากอาสนะที่หลวงปู่นั่งอยู่ราว 2 ศอกเศษ ๆ แต่....ขณะบ้องไฟตกลงมากระทบพื้นไม่ไกลจากหลวงปู่นักก็เหมือนมีมือใครสักคนหนึ่งช่วยปัดให้กระเด็นขึ้นไปสู่ท้องฟ้า วิ่งไปทางอื่น ซึ่งไม่ถูกผู้คนให้บาดเจ็บ
    แต่ชาวบ้านทุกคนต่างก็พากันตะลึง แม้เจ้าภาพเองก็หน้าซีดเหมือนไก่ต้มสามคืนสามวัน เพราะทุกคนนึกว่า ท่านครูบาของเขาได้รับอันตราย....ก็ท่านเตือนแล้วกลับเถียงก็ต้องมีสาเหตุอย่างนี้ ดีนะที่ไม่มีใครเป็นอันตราย....
     
  7. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    <CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">เกร็ดประวัติพระสุพรหมยานเถร 5</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">(ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก หลวงพ่อ พระพุทธบาทตากผ้า)</CENTER><CENTER style="MARGIN-TOP: 0px; MARGIN-BOTTOM: 0px">วัดพระพุทธบาทตากผ้า
    อ.ป่าซาง จ.ลำพูน</CENTER>



    ถ้ำถล่ม

    ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้รับฟังมาจากศิษย์ก้นกุฏิของหลวงปู่ คือ ครูบาเขื่อนคำ อัตตสันโต….ท่านเล่าว่า

    ครั้งหนึ่ง ท่านครูบาพรหมาท่านได้ไปเยี่ยมพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งท่านไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำ การเยี่ยมเยือน ก็ถือเป็นเรื่องของกำลังใจ ที่พระอาจารย์ทั้งหลายจะมอบให้แก่ศิษย์ หรือท่านที่เคารพนับถือ ซึ่งพระกรรมฐานถือเป็นกฎปฏิบัติมาช้านานแล้ว ครันเมื่อหลวงปู่พระสุพรหมยานเถรไปถึงภูเขาลูกนั้นแล้ว ก่อนเข้าไปในถ้ำ สายตาของท่านก็เหลือบไปมองดูบนเพดานถ้ำ
    ตาทิพย์ ก็คือ ตาใน ตาในก็คือ ตาใจ มองเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ภาพนั้นเกิดรู้เห็นขึ้นมาในความรู้สึก ท่านจึงรีบเอ่ยปากพูดขึ้นว่า
    "ขอให้ท่านจงรีบย้ายออกมาจากถ้ำเดี๋ยวนี้"

    พระภิกษุรูปนั้นได้ฟังแบบงง ๆ ท่านยังไม่ได้กราบทำความเคารพเลย ก็ได้ยินคำเตือนแกมบังคับขึ้นอีกว่า
    "กลัวว่ามันจะพัง เวลามันจะพังก็พังได้ง่าย ๆ ขอให้ท่านออกมาเสียเถิด เร็ว…"
    ย้ำคำที่สอง แม้จะเสียดายถ้ำที่เคยอยู่ แต่ก็รู้กิตติคุณของท่านโดยเฉพาะอำนาจจิต จึงทำให้พระภิกษุรูปนั้น รีบออกมาจากถ้ำนั้นทันที เมื่อพระภิกษุรูปนั้นออกมานอกปากถ้ำ แล้วก็วางบริขารนั่งลง แต่ยังไม่ทันได้กราบ หูของท่านผู้ที่นั่งอยู่ในที่นั้น ได้ยินเสียงหินเพดานภายในถ้ำหล่นหักลงมาดังสนั่นกึกก้องไปหมด พระภิกษุเจ้าของถ้ำ ถึงกับตัวสั่นตกใจ ทำเอาพระผู้ติดตามหลวงปู่ไป ต้องตกใจไปด้วย พระภิกษุรูปนั้นรำพึงในใจแล้วพูดว่า
    "ถ้าผมยังดื้อรั้น ยึดมั่นกับสถานที่อยู่ ป่านนี้คงถูกฝังเป็นปู่โสมเฝ้าถ้ำไปแล้ว" (ท่านหมายถึง เปรต นั่นเอง)

    งดเสียเถอะ

    ในปี พ.ศ.2527 ท่านครูบาเขื่อนคำ อัตตสันโต ท่านได้เมตตาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า….
    "ในปีนั้น คนที่ไม่เชื่อครูบาอาจารย์กล่าวสอนตักเตือนก็มีอยู่ไม่น้อยเลย คือ คณะกรรมการได้จัดงานประจำปี โดยในงานนี้มีการจุดบ้องไฟ ลักษณะแข่งขันว่า ใครจะดีเด่นกว่ากัน ท่านครูบาพรหมา ท่านก็ขอร้องให้งดเสีย ท่านเกรงว่า จะเกิดอันตราย ! แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่เกิดคัดค้านให้มีตามเดิม และบอกว่า ถ้ามีเหตุการณ์ก็จะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

    เมื่อที่ประชุมต้องการอย่างนั้น ท่านครูบาก็นิ่งเฉยเสีย ยอมด้วยเสียงหมู่มาก ความจริงคำทักท้วงนี้ ถ้าไม่เป็นวิบากกรรม ไม่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ หลายคนจะต้องมีใครสักคนสะดุดคำเตือนนี้ เปล่า…..ไม่มีใครเข้าใจคำเตือน ในที่สุด วันจัดงานก็มาถึงงานที่สนุกสนาน ทำให้ผู้คนตื่นเต้นทั้งกล้า ทั้งกลัว ระคนกัน ในนาทีต่อมา การจุดบ้องไฟก็เริ่มขึ้นขณะจุดชนวนไฟ เหตุการณ์เจ็บปวดก็ได้เกิดขึ้น คือ

    …บ้องไฟได้ตกจากค้างที่ทำเป็นแคร่ใหญ่รองรับ เกิดหลุดตกลงมาที่พื้นดิน กำลังผลักดันของกำมะถัน และดินปืน ก็ทำให้บ้องไฟวิ่งไปชนกำแพงวัดพังเสียหาย ทันทีที่บ้องไฟตก ถูกแรงกระแทกก็แตกระเบิด กระเด็นไปยังหมู่ประชาชน ทำให้ชาวไทยมุง ชาวแม้วมุง แตกกระจาย ได้รับบาดเจ็บอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้อยู่ข้างหน้า ๆ นี่คือโทษที่ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์จึงได้รับบทเรียนเช่นนี้

    ความเห็นของชาวป่าซาง

    คุณครูอินตา วรรณะมะกอก ท่านเป็นผู้ที่เคารพนับถือ หลวงปู่สุพรหมยานเถร มากคนหนึ่งได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า

    "ปฏิปทาของท่านครูบาพรหมาของเรานี่ เป็นที่น่าเลื่อมใสมาก ท่านปฏิบัติตนได้อย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตกบกพร่อง นับตั้งแต่อดีตสมัยครูบาท่านยังเป็นพระหนุ่ม พวกเราเคยเห็นท่าน ท่านมีอิริยาบถต่าง ๆ น่าประทับใจมากมีความเรียบร้อยสง่าราศีเปล่งปลั่งดีแท้ ในป่าซางนี้ ก็มีท่านเพียงองค์เดียวที่ทุกข์ยากขึ้นมา เข้าหาท่านง่าย เงินทองท่านบ่เคยยุ่ง บ่เสียหาย ในย่ามของท่านแม้แต่บาทเดียว หรือสลึงเดียวก็ไม่มีติดตัว เวลาญาติโยมถวายปัจจัยท่านก็ให้พร และเรียกให้เด็กมาเอาไปลงบัญชี เข้ากองกลางเป็นของสงฆ์ ซึ่งนิสัยของท่านนี้ ได้ติดตัวท่านมาจนแก่เฒ่า

    การปฏิบัติธรรม มีภาวนาเป็นต้นนี้ ย่อมสามารถอบรมจิตใจของท่าน ให้บังเกิดความอ่อนละมุน มีความเคารพน่าบูชาเป็นอย่างยิ่ง พวกเราชาวป่าซาง ไม่สงสัยเลย ที่มีชาวกรุงเทพฯ เดินทางมายังวัดพระพุทธบาทตากผ้า ด้วยความเคารพและความศรัทธาเลื่อมใส แต่ละวัน รถขนาดใหญ่ต่างก็วิ่งออกวิ่งเข้าวัดพระพุทธบาทตากผ้าไม่เว้นแต่ละวัน

    พวกเราชาวป่าซางมีความภาคภูมิใจที่มีปูชนียบุคคล ได้สร้างกิตติคุณให้เกิดหอมหวนทวนลมไปไกลแสนไกล อย่างเช่น ครูบาเจ้าพรหมาของเรานี้ อดีตเมืองลำพูน เป็นเมืองผ่าน จะขึ้นชื่อก็ป่าซาง แต่ก็เป็นการมาหาซื้อสิ่งของ อันพวกเราได้มีครูบาอาจารย์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ได้กราบไหว้บูชาก็แสนจะดีใจนัก เมื่อท่านต้องจากพลัดพรากด้วยความตาย เราก็แสนเสียดาย แต่ก็เป็นกฎของอนิจจัง ล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราจะเอาอย่างใจเรานั้นมันบ่ได้ เราอยากจะให้ท่านครูบาอยู่กับพวกเราไปนาน ๆ แต่สังขารมันบ่ไหว…"

    ครับ นี้เป็นความศรัทธาอย่างลึกซึ้งของชาวอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

    http://www.watkoh.com/kratoo/forum_posts.asp?TID=203
     
  8. อโศ

    อโศ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,689
    ค่าพลัง:
    +5,830
    อนุโมทนา สาธุ

    กราบนมัสการแทบเท้า องค์พระอรหันต์แห่งภาคเหนือ
     

แชร์หน้านี้

Loading...