ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน7 เรียนพระปริยัติธรรมเมืองชัยนาท

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 7 กันยายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    [​IMG]
    นี้จะได้แปลจากรูปภาพที่ฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร สมเด็จโต ท่านให้ช่างเขียนประวัติของท่าน เมื่อท่านได้ผ่านมาเรียนพระปริยัติธรรมในสำนัก ท่านพระครูหัวเมืองไชยนาทบุรี เจ้าของท่านเขียนไว้ดังนี้
    เขียนท่าวัดเมืองไชยนาทบุรี เขียนเรือท่านจอดอยู่ที่ท่าวัด เขียนจรเข้ชึ้นทางหัวเรือของท่าน เขียนคนหัวเรือของท่านนอนหลับ เขียนคนที่สองตกใจตื่นลุกขึ้นโยงโย่ฉุดคนหัวให้ถอยเข้ามาเพื่อให้พ้นปากจรเข้ เขียนคนแจวคนที่สามนั่งไขว่ห้างหัวเราะ เขียนคนบนบ้าน ๓ คน แม่ลูกยายเหนี่ยวรั้งกันขึ้นบ้านเรือน กระโตงกระเตงกระต่องกระแต่งเพื่อหนีจรเข้ เขียนตาผลนายเรือออกมายืนตัวแข็งอยู่ที่อุดเรือ เขียนรูปสามเณรโตเรียนคัมภีร์กับท่านพระครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี
    ผู้เรียบเรียงจึงอนุมาน สันนิษฐานตามลักษณะพร้อมกับเหตุผลแล้วแปลเป็นเรื่อง ความดังนี้
    ครั้นคนแจว แจวเรือเป็ดมาสุดระยะทาง ๒ คืนก็ถึงท่าเรือวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงได้จอดเรือเข้าที่ท่าในเวลากลางคืน คนแจวเรือจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงอาบน้ำดำเกล้าแล้วพักนอนในเรือทั้ง ๓ คน
    ครั้นเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว เจ้าจระเข้ใหญ่ในน่านน้ำท่านั้น ก็ขึ้นเสือกตัวมาตรงหัวเรือเป็ดของตาผลนั้น คนบนเรือริมตลิ่ง ๓ คน แม่ลูกหญิงผู้ใหญ่ลงอาบน้ำหน้าบันไดแต่เช้า ครั้นเห็นจระเข้ขึ้นจะคาบคนนอนหลับที่หัวเรือใหญ่ จึงพากันตกใจกลัว แล้วร้องบอกกล่าวกันโวยวายขึ้น คนแจวที่ ๒ นอนถัดเข้ามา ได้ยินเสียงคนบนบ้านเรือนนั้นร้องเอะอะโวยวายจึงตกใจตื่นขึ้น เห็นจระเข้ขึ้นที่ตรงหัวเรือลุกขึ้นโยงโย่จับบั้นเอวคนนอนหลับหัสเรือ เพื่อจะให้พ้นจากปากจะเข้ ส่วนคนแจวเรือคนที่ ๓ ก็ตื่นขึ้นนั่งไขว่ห้างหัวเราะ คนบนบ้านที่กำลังหนีจระเข้ขึ้นบันไดผ้าผ่อนหลุดลุ่ยล่อนจ้อน ลูกเด็กหญิงเหนี่ยวขาแม่ นางแม่เหนี่ยวขายาย ยายผ้าลุ่ยหมด ก้าวขาต่อไปก็ก้าวไม่ออก ตาผลอยู่ในเรือก็โผล่ออกมายืนดูอยู่หน้าเรืออุดเฉย จะว่าอย่างไรก็ไม่ว่าดูชอบกล
    ฝ่ายสามเณรโตก็ลุกขึ้นนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ จระเข้ขึ้นมาแล้วก็อ้าปากไม่ออกจมก็ไม่ลง และไม่วาดไม่ฟาดหางทั้งนั้น ดูอาการอ่อนมาก คนบนบ้านก็งง คนในเรือก็งันอยู่ท่าเดียว
    ครั้นเวลาเช้า โยมของสามเณรโต ก็จัดแจงหุงต้มอาหารอยู่ตอนท้ายเรือเป็ดนั้น ครั้นได้เวลาก็จัดแจงเลี้ยงดูกัน ถวายอาหารให้เณรขบฉันเสร็จแล้วพอถึงเวลา ๓ โมงเช้า ก็พาเณรขึ้นจากเรือ เณรเดินหน้า ตาผลตามเณร นางงุดโยมผู้หญิงพากันเดินตามเป็นแถว ขึ้นกุฏิท่านพระครู ครั้นถึงท่านพระครูแล้วต่างคนต่างปูผ้าลงกราบกันเป็นแถว เณรก็ยืนวันทาแล้วลงกราบท่านพระครูแล้วนั่ง
    ฝ่ายท่านพระครูเจ้าวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงมีปฏิสัณฐานปราศรัยไต่ถามถึงเหตุการณ์ที่มา ถามถึงบ้านช่อง และถามความประสงค์
    ฝ่ายตาผลจึงกราบเรียนท่านว่า เณรหลานชายของเกล้ากระผม บวชอยู่ในสำนักท่านพระครูใหญ่ เจ้าคณะวัดใหญ่ ในเมืองพิจิตร ได้ร่ำเรียนบาลีไวยากรณ์ทั้ง ๕ คัมภีร์จบแล้ว เณรใคร่จะเรียนคัมภีร์ใหญ่ต่อไป จึงขอเรียนที่ท่านพระครูวัดใหญ่ แต่ท่านไม่เต็มใจสอนเณรและท่านพระครูวัดใหญ่ได้แนะนำเณรให้ได้มาสู่สำนักพระเดชพระคุณเพื่อเล่าเรียนคัมภีร์ใหญ่กับพระเดชพระคุณแล้วจะมีความรู้ดีกว่าเรียนกับท่านๆ แนะนำมาดังนี้ เณรดีใจเต็มใจใคร่เรียนในสำนักของพระเดชพระคุณ เณรจึงมารบเร้าเกล้ากระผมและมารดาเณร ขอร้องให้เกล้ากระผมเป็นผู้นำมาสู่สำนักพระเดชพระคุณ ในวันนี้เกล้ากระผมพร้อมด้วยมารดาเณร ขอถวายเณรให้เป็นศิษย์เรียนพระคัมภีร์กับพระเดชพระคุณต่อไป
    ครั้นกล่าวสุดถ้อยคำแล้วจึงบอกให้เณรถวายดอกไม้ธูปเทียนต่อท่านพระครู ฝ่ายท่านพระครูผู้รู้พระปริยัติธรรมเมืองไชยนาทบุรี จึงรับเครื่องสักการะแล้ว พิจารณาดูเณรก็รู้ด้วยการพินิจพิจารณาว่า สามเณรนี้มีวาสนาบารมีธรรมประจำอยู่ สรรพอวัยวะก็สมบูรณ์โตพร้อมไม่บกพร่องต้องตามลักษณะ ท่านก็ออกวาจาว่า รูปจะช่วยแนะนำเสี้ยมสอนให้มีความรู้ในคัมภีร์ต่างๆ ตามวัยและภูมิของสามเณรดังที่โยมทั้ง ๒ ได้อุตส่าห์มาทางไกล ไม่เป็นไร รูปจะช่วยให้สมดังปรารถนาทุกประการ
    ตาผลและนางงุดก็ดีใจ กราบไหว้แล้วมอบหมายฝากฝังทุกสิ่งอัน แล้วถวายกับปิยะจรรหรรมัจฉะมังสาหารทั้งปวงแล้ว พระสมุห์ของท่านก็เรียกคนมายกถ่ายทันที แล้วจัดห้องหับให้พักอาศัยสำราญ ตาผลและนางงุดก็ยกบริขารของสามเณรเข้าบันจุจัดปูอาศน์ เรียบเรียงตั้งไว้ตามตำแหน่งแห่งที่ แล้วออกมากราบลาท่านพระครูลงไปพักในเรือ ค้างคืนคอยปรนนิบัติสามเณรดูลาดเลา การอยู่การขบฉันบิณบาตรยาตรา เห็นว่าสะดวกดีไม่คับแค้นเดือดร้อน พอเป็นที่ไว้วางใจได้แล้ว จึงขึ้นนมัสการลาท่านพระครูกลับมายังบ้าน ณ แขวงเมืองพิจิตร
    ตั้งแต่สามเณรโตได้เข้าสู่สำนักท่านพระครูวัดเมืองไชยนาทบุรีแล้ว เป็นปรกติก็หมั่นทำกรณียกิจตามหน้าที่และอนุโลมตามข้อกติกาไม่ฝ่าฝืนชะอ้อนอ่อนน้อมต่อพระลูกวัดมิให้ขัดอัชฌาสัย เพื่อนศิษย์เพื่อนเณรเหล่านั้นก็ประนีประนอมพร้อมหน้าไม่ไว้ท่า ไม่ถือตัว ไม่หัวสูง อดเอาเบาสู้ ระงับไม่หาเหตุแข่งดีกว่าเพื่อนไม่ส่อเสียดสอพลอพร่อย เรียบร้อยหงิบเสงี่ยมเจียมตัว หมั่นเอาใจใส่รับใช้ปฏิบัติท่านพระครูระแวดระวังหน้าหลัง ท่านมีกิจธุระจะไปไหน ก็จัดการสิ่งของที่จะต้องเอาไป ไม่เกี่ยงงอนเพื่อนศิษย์ เวลาท่านจะกลับ ก็รับรองเก็บงำสม่ำเสมอตลอดมา ครั้นถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงคราวฟังก็ฟัง ตั้งสติสัมปชัญญะ สำเหนียกสำเนาเสมอ เรียนแล้วจดจำตกแต้มกำหนดกฎหมาย กลางคืนก็เข้ารับโอวาทปริยายของท่านพระครู สิ่งใดที่ไม่รู้ก็ถาม รู้เท่าไม่ถึงความก็ซัก ที่ตรงไหนขัดข้องไม่ต้องกันก็หารือ ตามบาฬีที่มีมาในพระคัมภีร์นั้นๆ ถ้าบทไหนบาฐไหนเป็นนิรุติ ไม่ชอบด้วยเหตุผลไม่เข้ากัน เธอก็ยังไม่ลงมติไม่ถือเอาความคิดเห็นความรู้ของตนเป็นประมาณ ตั้งใจวิจารณ์จนเห็นถ่องแท้แน่นอนตามพระบาฬี ในธรรมบททีปะนี ทศะชาติ (๑๐ชาติ) สารตถ์ สามนต์ ฎีการโยชนาคัณฐี ในคัมภีร์พระไตรปิฎกธรรมนั้น ทุกสันทุกเวลาเรียนแปลเป็นภาษาลาวบ้าง แปลเป็นภาษาเขมรบ้าง แปลเป็นภาษาพม่าบ้างตามเวลา ครั้นล่วงมาได้ ๓ ปีเรียนจนถึงแปดปั้นบาฬี สามเณรโตไม่มีอุปสรรคกีดกั้น ไม่มีอาการเจ็บป่วยไข้สะดวกดีทุกเวลาทั้งไม่เบื่อไม่หน่าย นิยมอยู่แต่ที่จะหาความจริงซึ่งยังบกพร่องภูมิปัญญาอยู่ร่ำไป
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-home-hist-index-page.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...