ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน6 ร่ำเรียนวิชาเพื่อโปรดสัตว์

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 7 กันยายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    [​IMG]
    ครั้นถึงเดือน ๘ ปีวอกนั้นเอง นางงุดมารดาและคณาญาติใหญ่น้อย ได้จัดบริขารไตรจีวรและย้อมรัดประคดของบิดาที่ได้กำชัดมอบหมายไว้แต่เดิมนั้นเป็นองคะพันธบริขารพร้อมทั้งบาตรโอตะลุ่ม เสื่อมุ้งน้ำมันมะพร้าวตะเกียง กับเครื่องถวายพระอุปัชฌาย์และถวายพระอันดับอีก ๔ องค์ แล้วพากันออกไปที่วัด อาราธนาท่านพระครูให้ประทานบรรพชาแก่กุมารโตและขอสงฆ์นั่งปรกอีก ๔ องค์ รวมเป็น ๕ ทั้งพระอุปัชฌาย์ลงโบสถ์ พระครูก็อนุมัติตามทุกประการ
    ครั้นสามเณรโตได้บรรพชาเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจเคร่งครัด เกรงต่อพระพุทธอาญา อุตสาห์เอาใจใส่ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ทุกวันวาร อุตสาห์กิจการงานในหน้าที่ อุตสาห์เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์ เป็นต้นว่าเล่าสูตรจบเล่าโจทย์จบจำได้แม่นยำดี เรียนบาลีไวยากรณ์ ตั้งแต่สนธิ นาม และษมาส ตัทธิต อุณณาท กริต การก และสนธิพาละวะการ สัททะสาร สันททะพินธุ์ สัททะสาลินี คัมภีร์มูลทั้งสิ้นจบสิ้นบริบูรณ์แม่นยำจำได้ดี ถึงเวลาค่ำราตรีก็จุดประทีปถวายพระอุปัชฌาย์นวดบาทาบีบแข้งขานวดเฟ้น หมั่นไต่ถามสอบทานในการที่เรียนเพียรหาความตามภาษาเด็ก ถามเล็กถามน้อยค่อยๆออเซาะพูดจาประจ๋อประแจ๋ กระจุ๋มกระจิ๋มยิ้มย่องเป็นที่ต้องใจในท่านพระครุอุปัชฌาย์ ท่านเกิดเมตตากรุณาแนะนำธรรมปริยาย ท่านต้องขยายเวทย์มนต์ดลคาถาสำหรับ แรด หมี เสือ สาง ช้าง ม้า มะหิงษา โคกระทิงเถื่อนที่ดุร้าย จระเข้เหราว่ายวนเวียนไม่เข้าใกล้ สุนัขป่า สุนัขไน สุนัขบ้าน อัทธพาล คนเก่งกาจฉกรรจ์เป่าไปให้งงงันยืนจังงัง ตั้งฐานภาวนาบริกรรมทำศูนย์ตรงนี้ฯ ตั้งสติไว้เบื้องหน้าแห่งวิถีจิตต์อย่างนี้ๆ ท่านบอกกะละเม็ดวิธีสอนสามเณรให้ชำนิชำนาญ รอบรู้ในวิทยาคุณคาถามหานิยม เกิดเป็นมหาเสน่ห์ทั่วไป สามเณรโตก็อุตสาห์ร่ำเรียนได้ในอาคมต่างๆ หลายอย่างหลายประการ ออกป่าเข้าบ้านทดลองวิชาความรู้ ในวันโกนวันพระที่ว่างเรียนมูละปกรณ์แล้ว ก็ต้องทดลองวิชาเบ็ดเตล็ดเป็นนิตยกาล จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญใช้ได้ดังประสงค์ทุกอย่าง
    ครั้นถึงปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ อายุสามเณรโตได้ ๑๕ ปี บวชเป็นเณรได้ ๓ พรรษา เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์จบ เข้าใจไวยากรณ์ รู้สัมพันธ์บริบูรณ์ ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีจอ โทศกนั้น สามเณรโตเกิดกระสันใคร่เรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาต่อไป
    ฝ่ายท่านพระครูได้ฟังคำสามเณรโต เข้ามาร้องขอเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรม อีกท่านก็อั้นอกอึกอักอีก ด้วยคัมภีร์พระปริยัติได้กระจัดกระจายตกเรี่ยเสียหายป่นปี้มาก แต่ครั้งพม่าเข้ามาตีกรุง ซ้ำสังฆราชเรือง เผยอตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ทำให้สมบัติของวัดวาอารามเสียหายหมดอีกเป็นคำรบ ๒ ซ้ำร้ายพวกผู้ร้ายเข้าปล้นพระพุทธศาสนาคว้าเอาพระคัมภีร์ปริยัติ สำหรับวัดนี้ไปจนหมดสิ้นเป็นคำรบ ๓ และวัดแถบนี้ก็หาตำราหยิบยืมกันยาก ถึงจะมีบ้างก็เล็กน้อยสักวัดละผูกสองผูก ก็จะไม่พอแก่สติปัญญาของออสามเณรโต จะเป็นทางกระดักกระเดิก ครั้นกูจะปิดบังเณรเพื่อหน่วงเหนี่ยวชักนำไปทางอื่นก็จะเป็นโทษมากถึงอเวจี ควรกูจะต้องชี้ช่องนำมรรคาจึงจะชอบด้วยพระพุทธศาสนาตามแบบพระอรหันตาขีณาสพแต่ก่อนๆ ท่านได้กุลบุตรที่ดีมีสติปัญญาวิสาระทะแกล้วกล้า สามารถจะทำกิจพระศาสนาได้ตลอด ท่านก็มิได้ทิ้งทอดหวงห้ามกักขังไว้ ท่านย่อมส่งกุลบุตรนั้นๆไปสู่สำนักพระมหาเถระเจ้าซึ่งเชี่ยวชาญต่อๆ ไปเป็นลำดับจนตลอดกุลบุตรนั้นๆ ลุล่วงสำเร็จกิจตามประสงค์ทุกๆพระองค์มา ก็กาลนี้สามเณรโตเธอก็มีปรีชาว่องไว มีอุปนิสัยยินดีต่อพระบวรพุทธศาสนามากอยู่ ไม่ควรตัวกูเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์จะทานทัดขัดไว้
    ครั้นท่านดำริเห็นแจ่มแจ้งน้ำใจที่ถูกต้องตามคลองพระพุทธศาสนานิกมณฑลฉะนี้แล้ว ท่านจึงมีเถระบัญชาแก่สามเณรโตดังนี้
    เออแน่ะ สามเณรโต ตัวกูนี้มีคัมภีร์มูล กูชอบและกูสอนกุลบุตรได้ตลอดทุกคัมภีร์ แต่กูก็มีแต่คัมภีร์มูลครบครัน เหตุว่ากูรักกูนิยม กูรวบรวมรักษาไว้ ถึงว่าจะขาดเรี่ยเสียหายกระจัดกระจายไป ก็จัดงานซ่อมแซมขึ้นไว้จึงเป็นแบบแผนพร้อมเพรียงอยู่ เพราะกูมีนิสัยรู้แต่เรื่องมูลและไวยากรณ์เท่านั้น แต่คัมภีร์ปริยัติธรรมนั้นเป็นของสุดวิสัยกู กูไม่ได้สะสมตำรับตำราไม่มีคัมภีร์ฎีกาอะไรไว้เลย ในตู้หอไตรเล่าก็มีแต่หอและตู้อยู่เปล่าๆ ถ้าหากว่ากูจะเที่ยวยืมมาแต่อารามอื่นๆ มาบอกมาสอนเธอได้บ้าง แต่กูไม่ใคร่จะไว้ใจตัวกู ก็คงบอกได้แต่ก็คงไม่ดี เพราะกูไม่สู้ชำนาญในคัมภีร์พระปริยัตินัก จะกักเธอไว้ ก็จะพาเธอโง่งมงายไปด้วย เพราะครูโง่ลูกศิษย์ก็ต้องโง่ตาม กูเองก็เป็นเพราะเหตุนี้จึงได้ยอมโง่ แต่ครั้นมาถึงเธอเข้าจะทำให้เธอโง่ตามนั้นไม่ควรแก่กู และว่าถ้าเธอมีศรัทธาอุตสาหะใคร่แท้ในทางเรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาแน่นอนแล้ว กูจะบอกหนทางให้ กูจะแนะนำไปถึงท่านพระครูวัดเมืองไชยนาท ท่านพระครูเจ้าคณะพระองค์นี้ดีมาก ทั้งท่านก็คงแก่เรียน ทั้งเป็นผู้เอาใจใส่หมั่นตรวจตราสอบสวนศัพท์แสงถ้อยคำบาบาทพระศาสนาเสมอ ทั้งบอกพระบอกเณรเสมอ จึงเรียกว่ามีความรู้กว้างขวางทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา อรรถฎีกาก็มีมาก ทั้งท่านเอาใจใส่ตรวจตรารวบรวมหนังสือไว้มาก ถึงนักปราชญ์ในกรุง ท่านก็ไม่หวั่นหวาดสยดสยอง
    ถ้าเธอมีความอุตส่าห์จริงๆ เธอก็พยายามหาหนทางไปเรียนกับท่านให้ได้เธอจะรู้ธรรมดีทีเดียว
    ฝ่ายสามเณรโตได้สดับคำแนะนำของท่านพระครูผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ดั่งนั้นเธอยิ่งมีกระสันเกิดกระหายใจใคร่เรียนรู้ จึงกราบลาท่านพระครู เลยเข้าไปบ้านอ้อนวอนมารดาและคุณตาโดยอเนกประการ เพื่อจำให้นำไปถวายฝากมอบกับท่านครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี
    ฝ่ายคุณตาผล นางงุดโยมผู้หญิง ฝังสามเณรโตมาออดแอดอ้อนวอนก็คิดสงสารไม่อาจขัดขวางห้ามปรามได้ จึงได้รับคำสามเณรว่าจะนำจะพาไปฝากให้ ขอรอให้จัดเรือจัดคนขัดเสบียงอาการก่อนสัก ๒ วัน จะพาไป สามเณรโตได้ฟังก็ดีใจกลับมาสู่อารามเดิม
    ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเย็นๆ นางงุด ตาผลจึงออกไปกราบเรียนบอกความประสงค์สามเณรโตแก่ท่านพระครูสัดใหญ่ทุกประการ แล้วขอลาพาเณรไปส่งตามใจในวันรุ่งเช้าพรุ่งนี้ ท่านพระครูก็ยินดีอนุญาตตามประสงค์ ทั้ง ๒ ผู้ใหญ่นั้นก็ลากลับมาบ้านจัดเรือจัดคนจัดเสบียงอาการไว้พร้อมเสร็จจบริบูรณ์ ครั้นได้เวลารุ่งเช้าสามทเณรโตเข้าไปฉันที่บ้าน ครั้นฉันเช้าแล้วก็ลงเรือแขวออกไปทางแม่น้ำไชยนาทบุรี
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-home-hist-index-page.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...