ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน5 มหาปราชญ์เจริญวัย

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 7 กันยายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    [​IMG]
    ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้นท่านองค์นี้ดีมากในทางความรู้วิชาอาคมก็ขลังมาก วิชาฝ่ายนักเลงต่างๆ พอใช้ เป็นที่เคารพยำเกรองของหมู่นักเลงขยั้นเกรองกลัวท่านมาก ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่พระองค์นี้ เชี่ยวชาญชำนาญรอบรู้ในคัมภีร์มูลประกรณ์ทั้ง ๕ คัมภีร์หามีผู้เปรียบเทียบเท่าท่านในเมืองนั้นในคราวนั้นมิได้ ใช่แต่เท่านั้นท่านขลังในอาคมทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีทางภูตทางผีทางปีศาจก็เก่งพร้อม ห้ามเสือห้ามจรเข้ ห้ามสัตว์ร้ายก็ได้ เสกเป่าให้คนและสัตว์ร้ายอ่อนเพลียเสียกำลัง ยืนงงนั่งจังงังก็ทำได้ พระสงฆ์ในเมืองพิจิตรเกรองกลัวท่านมากตลอดแขวงตลอดคุ้ม ไม่มีวัดไหนล่วงบัญญัติกัตติกสัญญาณาบัติเลย ทั้งเจ้าเมืองกรมการก็ยำเกรมขามท่านพระครูวัดใหญ่มาก ใช่แต่เท่านั้น ท่านกอรปด้วยเมตตากรุณาอนุกูล สัปปุรุส อุบาสิกา สานุศิษย์ มิตรญาติ สงเคราะห์อนุเคราะห์ อารีอารอบทั่วไป มีอัธยาศัยกว้างขวาง เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลคนที่ ควรสงเคราะห์ ไม่จำเพาะบุคคล ข่มขี่ขัดเกลากิเลสด้วยไม่โลภโมห์โทสันต์ ขันติธรรมก็พอใช้ วินัยก็พอชม มีผู้นิยมสู่หามาไปมิได้ขาด ทั้งฉลาดในข้อปฏิสัณฐาน การวัดก็จัดจ้านเอาใจใส่ การปฏิสังขรก็เข้าใจปะติประต่อก่อปรุงถาวร วัตถุกรรมแนะนำภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ให้รู้จัดกิจถือพระพุทธศาสนาให้กอรปด้วยประสาทะศรัทธามั่นคง จำนงแน่ในพระรัตนตรัยหมั่นเอาใจใส่สอนศิษย์ให้รู้ทางประโยชน์ดี
    เมื่อตาผล ยายลา นางงุดจะล่องลงมาค้าขาย ก็ต้องออกไปล่ำลารดน้ำมนต์รับน้ำมาพรมสินค้า และพรมเรือ พรมคนแจว พรมบ้านเรือน เพื่อให้พ้นภัยอันตรายให้ซื้อง่ายขายคล่อง เวลาตาผลนางงุดกลับ ก็ต้องขึ้นสักการะท่านพระครู จึงบันดาลให้มีผู้นิยมรักแรงเข็งขอบไปทั้งเมืองเหนือเมืองใต้ มีคนเกรงใจเชื่อหน้าถือตา เมื่อจะค้าก็ไม่ต้องลงทุนได้ผ่อนทรัพย์ออกไปหมุนหาดอกเบี้ย และปัวเปียเข้าหุ้นกับพ่อค้าใหญ่ๆ ก็ได้กำรงอกงาม ตามประวัติการแห่งพาณิชยกรรม ร่ำมาด้วยประการดังนี้
    (เรียบเรียงตามเค้ารูปภาพในฉากที่หนึ่ง คงได้ความเพียงนี้)
    เรื่องที่ว่า ตาผล ยายลา นางงุด ค้าขายเกิดหนุนพูลเถา ได้กำไรมั่งมี ถึงกับย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมมาตั้งหลักฐานอยู่ในแขวงเมืองพิจิตรนั้น เรียงความตามเค้ารูปภาพในฝาผนังเป็นฉากที่ ๒ เจ้าของท่านเขียนเป็นรูปเมืองพิจิตร เขียนรูปเจ้าเมืองพิจิตรกำลังมีงาน เขียนรูปวัดใหญ่ในเมืองพิจิตร เขียนรูปท่านพระครูใหญ่ เขียนรูปสามเณรโตเรียนหนังสือ เขียนรูปสามเณรโตทดลองวิชาที่เรียนจากท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่ เขียนบ้านเรือน ตาผล ยายลา นางงุด เขียนหนูโต ๗ ขวบ พิจารณาแล้วลงสันนิษฐาน อนุมานแปลออกจากใบ้ในรูปภาพประวัติฉากที่ ๒ ของท่าน คงได้เรื่องได้ความ ดังจะเล่าสู่กันฟังดังนี้
    ครั้นถึงปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นอำนาจแล้ว เป็นปีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นเถลิงถวัลราชย์ปราบดาภิเษกเปลี่ยนเป็นปฐมบรมจักรีพระองค์แรก และย้ายพระมหานครมาข้างฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรี ตรงหัวแหลมระหว่างวัดโพธิและวัดสลัก เป็นวัดเก่ามากทั้ง ๒ วัด เป็นคราวผลัดแผ่นดินใหม่ ทรงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพพระมหานครฯลฯ พระบรมราชนามาภิไธยว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชาย เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งมเหสีเดิม เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงตั้งสมเด็จพระจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าภคิเณยราชกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายพระราชวังหลังรับพระราชบัญชา
    ฝ่ายหนูโตบุตรชายของนางงุดเมืองพิจิตรนั้น มีชนมายุได้ ๗ ขวบ ครั้นการบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติแล้ว นางงุดจึงได้นำหนูโต อายุ ๗ ขวบ นั้นเข้าไปถวายท่านพระครูใหญ่ เมืองพิจิตร ให้เป็นศิษย์เรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและกิริยามารยาท และขนบธรรมเนียมการวัด การบ้านการเมือง การโยธา การเรือน การค้าขาย เลขวิธี การของผู้อยู่ การของผู้ไป การรับการส่ง การที่เจ้าจะใช้นายจะวาน การไว้ท่าวางทาง ทำท่วงทำทีสำหรับผู้ลากมากดี ในสำนักนี้ ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่นั้น
    ครั้นถึงปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ อายุหนูโตได้ ๑๓ ขวบ เป็นคราวที่จะทำการโกนจุกแล้ว ตาผล นางงุดจึงรับเข้าพักอยู่ที่บ้าน เพื่อระวังเหตุการณ์ แล้วจึงจัดบ้านช่องค้ำจุนหนุนเตาหม้อ ก่อเตาไฟ ซ่อมบันได เตรียมเครื่องครัวพร้อมกำหนดวันฤกษ์งามยามดี หนีกาฬกิณีตามวิธีโหราจารย์บุราณประเพณีได้วันดีแล้ว ในเดือน ๖ ข้างขึ้น จึงเผดียงท่านพระครูใหญ่พระอาจารย์พระเจ้าอธิการวัด พระฐานา พระที่เป็นญาติและพระที่เป็นมิตรรวม ๑๑ รูป กำหนดวันเวลาแล้วเผดียงสวดมนต์ฉันเช้า และเชิญท่านเจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ พ่อค้าแม่ค้า คฤหบดี คฤหปตานี เจ้าภาษี นายอากร อำเภอ กำนัน พันทะนายบ้าน นายกองขุนตำบล และคณะญาติผู้ใหญ่ผู้น้อยรอบคอบแล้ว จัดกระจายใบบัวบรรจุขนมของกิจและผลาผลกับปิยจรรหรรมัจฉมังสาหาร เป็นเครื่องไทยทาน ถวายแถมพกตอนเช้า ผ้าไตรจีวรถวายตอนเย็น หาเสภามาขับตลอดกลางคืน หาละครสมโภชในตอนทำขวัญ แล้วบุดาษมุงบัง ปู ปัด จัดตั้งพร้อมทุกสิ่งทุกประการ
    ครั้นถึงวันกำหนด พระสงฆ์มา แขกก็มา จัดบุคคลที่สมควรรับรองเชื้อเชิญนั่งลุกตามขนบธรรมเนียมอย่างชาวเหนือในเวลานั้น เริ่มการสวดมนต์ตั้งหม้อเต้าน้ำสังข์มังมี มีดโกนด้ามสามกษัตริย์ บัตรบายศรีมีพร้อมในโรงพิธีบนหอนั่งเป็นที่เอิกเกริก สวดมนต์พระสงฆ์แล้วก็จัดแจงเลี้ยงดูกันอิ่มหนำสำราญ พอตกพลบค่ำ ก็จุดตามประทีปโคมไฟสว่างมีเสภารำต่อไป
    ครั้นเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น พระสงฆ์มาพร้อมตามเวลา แขกที่เชิญมานั่งพร้อมตามกำหนดนัด นำหนูโตออกจากเรือน มานั่งในโรงพิธีที่หอนั่ง ฟังพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วได้เวลากำหนดฤกษ์ พระสวดชะยันโต ท่านเจ้าเมืองหยิบกรรไกรยกกระบัตรแหวกจุกผูกสามรอบเรียกว่าไตรสิงขร พระสวดถึง (ปัลลังเกสีเส) ท่านเจ้าเมืองลงกรรไกรคีบจุกขาดออกทั้งสามจอบแล้วโกนด้วยมีดด้ามนาค ด้ามเงิน ด้ามทอง เรียกว่ามีดสามกษัตริย์
    ถามว่า เหตุไฉนจึงทำกันอย่างนี้
    ตอบ เดิมเป็นทางมาตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ก่อน
    ภายหลังพราหมณ์นำมาเชื่อมกับพุทธศาสตร์ (แต่ผู้เรียบเรียงมีความเห็นว่า ท่านบุราณคณาจารย์คงจะคิดเห็นตามศัพท์ว่า สัพเพเต อันตรายา ฯลฯ ชะรอยท่านจะแปลคำว่า เต ว่า ๓ ท่านจะไม่แปลคำ เต ว่า เหล่านั้น จึงทำ ๓ แหยม เป็นปอยๆ )
    ครั้นพนักงานโกนผมที่ศีรษะหนูโตหมดแล้วจึงอุ้มหนูโตออกไปนั่งเตียงเบญจา ท่านเจ้าเมืองรดน้ำมนต์ด้วยสังข์ก่อน แล้วบรรดาแขกที่เชิญมาและคณะญาติมิตรก็ช่วยรดน้ำหลั่นกันลงไป เสร็จการรดน้ำแล้วก็อุ้มหนูโตเข้าเรือนจัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อไป
    ฝ่ายพนักงานยกสำรับก็ยกมา พวกใส่บาตรก็ใส่ไป เสร็จแล้วก็ยกประเคนพระ พระลงมือฉัน ครั้นพระเสร็จจากภัตตกิจแล้ว เจ้าของงานก็จัดแจงถวายเครื่องไทยทานตามที่จัดไว้และเพิ่มเติมค่าจตุปัจจัยตามควร พระอนุโมทนาแล้วกลับไป
    ฝ่ายเจ้างานก็จัดแจงเลี้ยงดูปูเสื่อกันเสร็จ แล้วจึงตั้งระเบียบบายศรี แว่นเวียนแวดล้อมญาติมิตรคนเชิญขวัญก็มานั่ง จึงอุ้มหนูโตออกมานั่งกลางหอนั่งให้คอยฟังคนเชิญขวัญร่ำรำพรรณ พรรณาสิ้นวาระ ๓ จบแล้ว ก็ออกเทียน แว่นที่มีรูปหอยออกก่อน เวียนเป็นทักษิณาวัฏ ๓ รอบแล้ว ผู้อวยพรก็รับมาเศกวิศณุเวทย์มนตราคมน์ เป่าลมแล้วระบายควันดับเทียนนั้นเป่าควันให้กุมารได้รับสัมผัส แล้วผจงผลัดผ้าหุ้มคลุมบายศรี หยิบเครื่องพลี มีกุ้งพล่าและปลายำ สิ่งละคำคุกเข่าป้อน เปิดมะพร้าวอ่อน ช้อนตักน้ำนำให้ซด จุณจันทน์บทกระแจะเจิมเสกส่งเสริมสวัสดี ตามพิธีไสยศาสตร์ พวกพิณพาทย์บรรเลงเพลงครื้นเครงโครม เสียงส่งสำเนียงโห่สนั่น เมื่อทำขวัญกุมารโตเป็นทะโหราดิเรก เป็นเอ้เอกอึกกระธึก ที่ระลึกทั่วไปสำหรับให้เป็นตัวอย่างคนลางบางในภายหลัง จะได้ฟังเป็นการดี ครั้นทำพิธีทำขวัญแล้ว เป็นที่แผ้วผ่องภิญโญ กุมารโตจึงส่งผ้าให้มารดารับไว้ เก็บเข้าไปในเรือนพลัน พวกลงขันยื่นเงินตราให้เสื้อผ้าตามฐานะ ไม่เกณฑ์กะเป็นอัตราเคยมีมาแต่โบราณครั้นการนั้นเสร็จแล้ว โดยสะดวกเรียบร้อยทุกประการ พวกละครรำก็โหมโรงเล่นไปวันหนึ่งจึงเลิกงาน แล้วเลี้ยงดูกันสำราญในเวลาเย็นอีกคราวหนึ่ง ครั้นล่วงมาอีก ๗ วัน นางงุดจึงนำกุมารโตบุตรออกไปมอบถวายท่านพระครูวัดใหญ่ในเมืองพิจิตรอีก แล้วให้ท่านสอนสามเณรสิกขา นาสะนังคะให้รู้ข้อปฏิบัติในวัตรทางสามเณรภูมิต่อไป
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-home-hist-index-page.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...