ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน4 สนิทธรรมแต่ยังแบเบาะ

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 6 กันยายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    [​IMG]
    นายทอง นางเพียนจึ่งพากันนิ่งนึกตรึกตราไปทุกวัน ในแถบนั้นจึงคิดถึงหลวงพ่อแก้ว วัดบางลำพูบน จึงบอกแก่นายผลว่า หลวงพ่ออาจารย์แก้ววัดบางลำพูบนนี้ท่านดีจริง ดีทุกสิ่งตามที่กล่าวมานั้น ทั้งเป็นพระสำคัญเคร่งครัด ปริยัติ ปฏิบัติก็ดี วิชาก็ดี มีผู้คนไปมานับถือขึ้นท่านมากถ้าพวกเราไปออกปากฝากถวายเจ้าหนูแก่ท่าน เห็นท่านจะไม่ขัดข้อง เพราะท่านมีอัธยาศัยกว้างขวางดี เมื่อคนทั้ง ๔ นิ่งปฤกษาหารือตกลงเห็นพร้อมใจกันแล้ว จึงได้พากันลงเรือช่วยกันแจวล่องมาวัดบางลำพูบนเมื่อเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ถึงแล้วก็พากันขึ้นวัด นางงุดอุ้มเบาะลูกอ่อนพาไปนอนแบเบาะไว้มุมโบสถ์วัดบางลำพู ตอนข้างใต้หน้ากุฏิพระอาจารย์แก้ว แล้วนายทองนางเพียน จึงไปเที่ยวตามหาพระอาจารย์แก้ว เวลาเย็นนั้นท่านพระอาจารย์แก้วเคยลงกระทำกิจกวาดลานวัดทุกๆ วันเป็นนิรันดรมิได้ขาด
    นายทอง นางเพียน มาหาพบหลวงพ่อ กำลังกวาดลานข้างตอนเหนืออยู่ นายทอง นางเพียนจึงทรุดตัวลงนั่งยองยอง ยกมือทั้งสองขึ้นประนมไหว้ แล้วออกวาจาปราสรัยบอกความตามที่ตนประสงค์มาทุกประการ ฝ่ายหลวงพ่ออาจารย์แก้ว ฟังคำทำนายนางเพียนแล้วตรวจนิ้วมือ ดูรู้ฤกษ์ยามตามตำรา ท่านจึงพิงกวาดไว้ที่ง่ามต้นไม้แล้วก็มาขึ้นกุฏิ ออกนั่งที่สำหรับรับแขกบ้านทันที
    ตาผล นางงุด ก็ประคองบุตรน้อยขึ้นกุฏิ เข้ากราบกรานพระอาจารย์แก้ว แล้วจึงกล่าวคำว่า กระผมเป็นตาของอ้ายหนูน้อย อีแม่มันนั้นเป็นลุกสาวของกระผมๆ กับอีแม่มันมีความยินยอมพร้อมใจกันยกอ้ายหนูน้อยถวายหลวงพ่อเป็นสิทธิขาดแต่วันนี้ ขอหลวงพ่อได้โปรดปรานีโปรดอนุเคราะห์ รับอ้ายเจ้าหนูน้อยเป็นลูกของหลวงพ่อด้วยเถิดภ่ะค่ะ ครั้นกล่าวคำเช่นนั้นแล้ว จึงพร้อมกันอุ้มเบาะทารกขึ้นวางบนตักหลวงพ่อพระอาจารย์แก้ว แล้วก็ถอยมานั่งอยู่ห่างตามที่นั่งอยู่เดิมนั้น
    ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว ตั้งใจรับเด็กอ่อนไว้แล้ว ท่านก็ตรวจตราพิจารณาดู ท่านก็รู้ด้วยการพิจารณา รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาสามารถทั้งเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียนทั้งประกอบด้วยความเพียรและความอดทน ทั้งจะเป็นบุคคลที่เปรื่องปราชญ์อาจหาญ ทั้งจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญวิทยาคม ทั้งจะมีแต่คนนิยมฤๅชาปรากฏ ทั้งจะเป็นคนกอรปด้วยอิสริยศบริวารยศมาก ทั้งจะเป็นคนประหลาดแปลกกว่าคน ทั้งจะเจริญทฤฆชนม์มีอายุยืนนาน ครั้นพระอาจารย์แก้วตรวจวิจารณ์ชะตาราศีแล้ว จึงผูกข้อมือเสกเป่าเข้าปากนวดนาบด้วยนิ้วของท่าน เพื่อรักษาเหตุการณ์ตาลทราง หละ ละลอก ทรพิศม์ ไม่ให้มีฤทธิมารบกวนแก่กุมารน้อยต่อไป แล้วท่านก็ฝากให้นางงุดช่วยเลี้ยง กว่าจะได้สามขวบเป็นค่าจ้างค่าน้ำนมข้าวป้อนเสร็จปีละ ๑๐๐ บาท แล้วท่านก็ประกาศสั่งซ้ำว่า อย่าให้มารดากินของขมและของเผ็ดร้อน และของบูดแฉะเกรงขีระรสธาราจะเสีย แล้วท่านก็กำชับสั่งนายผลให้เอาใจใส่ระไวระวังคอยเตือน อย่าให้นางแม่มันเล่นเล่อเหม่อประมาท คอยขู่ตวาดนางแม่มันอย่าให้กินของแสลงตามที่เราห้ามจงทำตามทุกประการ
    ฝ่ายตาผล นางงุด พนมมือรับปฏิญาณแล้วกราบกรานลา รับเบาะลูกน้อยมาแล้วลงกุฏิ พากันมาลงเรือปู้แหระ ช่วยกันแจวแชะแชะมาจนถึงเรือใหญ่ท่าหน้าบ้านบางขุนพรหมแล้วก็รออยู่พอหายเหนื่อย จนอายุเด็กเจริญขึ้นได้ ๓ เดือน จึงหาฤกษ์โกนผมไฟในเดือน ๙ ปีวอก ฉศกนั้น ครั้นกำหนดวันฤกษ์แล้วจึงนายผลออกไปวัดบางลำพูบน นิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ว แล้วขอเผดียงสงฆ์อีก ๔ รูป รวมเป็น ๕ รูป เข้ามาเจริญพระปริตรพุทธมนต์ในเวลาเย็น รุ่งขึ้นฤกษ์โกนผมไฟ แล้วนิมนต์รับอาหารบิณฑบาตร
    ครั้นนายผลทราบว่า พระอาจารย์ทราบแล้วจึงนมัสการลากลับมา เที่ยวบอกงานและจัดหาเครื่องบูชา เครื่องใช้สอย โตกถาดภาชนะ ทั้งเครื่องบุดาดอาสนะพร้อมแม่ครัว เมื่อถึงวันกำหนด พระสงฆ์มาพร้อม จึงเผดียงขึ้นสู่โรงพิธีบนเรือนแพที่ปลูกใหม่นั้น แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มการสวดมนต์ ครั้นสวดมนต์แล้ว พระสงฆ์กลับแล้วจึงจัดการเลี้ยงดูกัน
    ครั้นรุ่งเช้าพระสงฆ์มาพร้อมนั่งอาสน์ จึงนำเด็กออกมาฟังพระสวดมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วโกนผมไฟกันไปเรื่อย แล้วจัดอาหารบิณบาตรอังคาสแก่พระสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ทำภัตกิจ อนุโมทนาแล้วกลับ จึงจัดการประพรมเย่าเรือนจุณเจิมเรือและเรือนเสร็จ
    ครั้นจัดการทำบุญให้ทานเสร็จแล้ว พักผ่อนพอหายเหนื่อยจึงจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ได้เต็มระวางแล้วจึงออกเรือไปเมืองเหนือ จำหน่ายสินค้า ก็จัดรองสินค้าเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำพานิชกรรมสัมมาอาชีวะอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เกิดหมุนภูลเถามั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นหลายสิบเท่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นมากขึ้นเป็นลำดับมา ตาผล ยายลา นางงุด จึงได้ละถิ่นถานทางเมืองกำแพงเพชรเสียลงมาจับจองจำนองหาที่ดินเหนือเมืองพิจิตรปลูกคฤหาสถานตระหง่านงามตามวิสัยมีเรือนอยู่ หอนั่ง ครัวไฟ บันไดเรือน บันไดน้ำ โรงสี โรงกระเดื่อง โรงพักสินค้า โรงเรือน รั้วล้อมบ้าน ประตูหน้าบ้าน ประตูหลังบ้าน ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น จึงได้มีความชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่นั้น มีธุระปะปังอันใดก็ได้สังสรรค์ไปมา ทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลัก ยินดีรักในการทำบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้าปรากฏในเมืองพิจิตรสืบไป
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-home-hist-index-page.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...