ประตูไปสวรรค์ พรหม นิพพาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ศรีสิทธิ, 2 ตุลาคม 2010.

  1. ศรีสิทธิ

    ศรีสิทธิ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 กันยายน 2010
    โพสต์:
    56
    ค่าพลัง:
    +1,515
    "..พระธรรมนี่พระสงฆ์นำมาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้ายอมรับนับถือเป็นส่วนตัวก็สามารถจะพ้นนรกได้แน่ นอนชาตินี้ แต่ชาติต่อไปเราก็ไม่แน่ แล้วการที่จะคิดว่าชาติต่อไปเราอาจจะเกิดเป็นคน เราจะยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ต่อไปนี่ไม่แน่นอนนัก

    เพราะการเกิดแต่ละชาติเราไม่ได้รับแต่ผลของความดีฝ่ายเดียว เป็นการรับผลทั้งความดีและความชั่ว จะเห็นว่าคนที่เกิดมาแล้วนี้ไม่ใช่มีความสุขอย่างเดียว อารมณ์ที่ทำให้เกิดเป็นทุกข์ก็มีอยู่ หรือไม่ได้มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว อารมณ์ที่เป็นสุขก็มีอยู่ ขณะใดที่อารมณ์ความเป็นสุขเกิดขึ้น ขณะนั้นถือว่ารับผลของกุศลเก่า คือบุญเก่าที่เราทำไว้แล้วในชาติก่อนๆ มาสนองเรา เราก็มีความสุข

    ผลของทานเป็นปัจจัยให้ได้ลาภสักการะ

    ผลของการรักษาศีลให้เกิดความสุขหลายๆ ประการ

    ผลของการเจริญภาวนาและศึกษาธรรม เป็นเหตุให้เกิดปัญญามีความฉลาด

    ถ้าผลของความทุกข์ ผลของปาณาติบาต ทำให้คนมีอายุสั้นพลันตาย

    ผลของอทินนาทาน ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย

    ผลของกาเมสุมิจฉาจาร ทำให้ลูกหรือบุคคลในปกครองว่ายากสอนยาก ไม่อยู่ในโอวาท แนะนำอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง

    ผลของมุสาวาท เกิดมาชาตินี้ในระหว่างนั้นให้ผล พูดดีเท่าไรก็ไม่มีคนอยากรับฟัง

    ผลของการดื่มสุราเมรัย ทำให้เป็นโรคปวดศีรษะไม่หาย หรือเป็นโรคเส้นประสาทหรือว่าเป็นโรคบ้า

    ทั้งหมดตามที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นผลจากความดี หรือความชั่วในชาติก่อน ที่ยังตามมาสนองเรา ถ้าบังเอิญเกิดในชาตินั้นยามจะตาย ผลของอกุศลก็ครอบงำจิตพอดี เราก็ลืมพระพุทธเจ้า ลืมพระอริยสงฆ์ ทั้งนี้เพราะความมั่นคงของจิตไม่มี ถ้าความมั่นคงของจิตมีต้องปฏิบัติในธรรม ให้ธรรมทรงตัวทรงใจ


    หมายความว่า การจะพูดก็ดี การจะทำก็ดีการจะคิดก็ดี อยู่ในขอบเขตของพระธรรม เพราะว่า พระธรรมนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราปฏิบัติในด้านของความดี และก็พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนก็ทรงสอนไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ เราจะปฏิบัติกันอย่างไรได้หมด อันนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท อาจจะเป็นเครื่องอัดอั้นตันใจสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเพราะว่าถ้าพูดถึงพระธรรมแล้วไม่รู้จะเอาตรงไหนดี ก็เอากันอย่างนี้ก็แล้วกัน

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้แล้วหลายหมื่นหัวข้อ ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ ท่านบอกว่าให้เลือกปฏิบัติตามที่เราเห็นสมควรที่พอจะปฏิบัติได้ เพราะการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากๆ ก็ทราบว่า อัธยาศัยของคนไม่เสมอกัน กำลังใจของคนก็ไม่เสมอกัน อัธยาศัยต่างกันอย่างหนึ่ง กำลังใจต่างกันอย่างหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องตรัสไว้มาก เพื่อความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

    เวลานี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายกำลังฟังเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นนรกคำว่า "นรก" ก็หมายถึงเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ต้องการจะหนีนรกกันแล้วเราก็ปฏิบัติกันอยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ในเมื่อปฏิบัติอยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็เอาพระธรรมวินัยที่อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ


    ก็เอาพระธรรมวินัยที่อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการมาปฏิบัติไม่ใช่ว่ากันดะไปทั้งหมด พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็คือ "ศีลห้า และกรรมบถ ๑๐ " ถ้าการปฏิบัติศีลห้าครบถ้วน ก็ถือว่าได้ความดี หนีนรกได้แบบหยาบๆ ชาตินี้มีความสุขแต่ความสุขน้อยไปหน่อย ชาติหน้ามีความสุขแน่แต่ด้อยไปนิดหนึ่ง กาลเวลาที่จะถึงนิพพานยังไกลอยู่

    ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูจึงได้ตรัสกรรมบถ ๑๐ ประการให้ปฏิบัติอีกจุดหนึ่งถ้าปฏิบัติได้ในกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการด้วย ในศีลห้าด้วยปฏิบัติครบถ้วนตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะตาย ความเป็นอยู่ในความเป็นมนุษย์นี่ก็มีทุกข์ยาก ส่วนใหญ่จะมีแต่ความสุขความทุกข์ก็มีบ้างแต่ไม่หนักนัก ไม่ถึงกับเกิดความเร่าร้อนจุ้นจ้าน แต่ในด้านความสุขนี่มีมาก ถ้าตายจากชาตินี้ไปแล้ว หากว่าไม่พบพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ในสมัยที่เป็นเทวดาหรือพรหม กลับมาเกิดเป็นคนอีกครั้งเดียวก็ไปนิพพาน

    การที่จะปฏิบัติในศีลห้าก็ดี กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการก็ดี บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ต้องมีหัวข้อขึ้นต้น เพราะกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้มีทั้งศีลและธรรม ศีลห้า นี่ก็มีทั้งศีลและธรรมเหมือนกัน แต่ฝ่ายธรรมะนี่คดๆ อยู่ข้างในมองไม่ค่อยเห็น ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วก็มองไม่เห็น ถ้าใช้ปัญญาจึงจะมองเห็น แต่ว่าปัญญาที่ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เห็นเหมือนกัน

    เป็นอันว่าเห็นหรือไม่เห็นก็ยังไม่ต้องพูดกัน มาว่ากันถึงว่า หัวข้อคือบทต้น เรียกว่า "หน้าปก" ถือเอกหน้าปกก็แล้วกัน ก่อนที่จะเข้าถึงศีล ก่อนที่จะเข้าถึงกรรมบถ ทั้ง ๑๐ ประการ นี่ว่ากันเฉพาะฆราวาสนะ ถ้าพระหรือเณรมีศีลแค่ ๕ หรือมีกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการครบถ้วนก็ไม่แคล้วอบายภูมิ


    เพราะว่าสิกขาบทที่จะต้องปฏิบัติมากกว่านี้สำหรับพระหรือเณรให้ปฏิบัติในสิกขาบทของท่านด้วย แล้วก็ต้องมีกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการครบถ้วนด้วย เท่าที่เคยเห็นมาบางที่ท่านก็เผลอ ๆ เหมือนกัน บางท่านก็เผลอในศีล ๕ บางท่านก็เผลอในกรรมบถ ๑๐ หากว่าท่านผู้ใดเผลอในศีลห้าก็ดี เผลอในกรรมบถ ๑๐ ก็ดี พระหรือเณรท่านนั้นโอกาสที่จะขึ้นสู่สวรรค์ไม่มีเลย ทางที่จะไปก็มีทางเดียว คืออบายภูมิ มีนรกเป็นต้น

    ขอประทานอภัยเถอะครับ ผมพูดเรื่องนรกอยู่เรื่อย ๆ ก็มีข่าวเข้ามาว่า พระสงฆ์ ซึ่งเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้าหรือว่าสาวกของพระพุทธเจ้านั่นเองในปัจจุบัน

    บางท่าน ๆ โกรธท่านบอกว่า "อะไรก็นรก ๆ คนที่เกิดมาก็เลยไม่ต้องไปสวรรค์กัน"

    ก็ขอตอบเสียในที่นี้ว่า "คนที่เขาไปสวรรค์นะมีมากนะครับ คนที่ไปพรหมก็มีมากและปัจจุบันคนที่จะไปนิพพานก็มีมาก ที่ว่าจะต้องตกนรกกัน เพราะว่าท่านลืมทางไปสวรรค์ลืมทางไปพรหมโลก ลืมทางไปนิพพาน"

    ตอนนี้ก็จะขอเปิดประตูให้พบทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก พบทางไปนิพพานซะก่อน เรื่องพระไม่อธิบาย สำหรับพระสำหรับเณรนี่ปฏิบัติอย่างไรไม่อธิบายให้ฟังเพราะท่านเป็นปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านต้องไหว้ต้องบูชาอยู่แล้ว


    ก็ต้องยอมรับนับถือว่า ทุกท่านคงปฏิบัติความดีครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องอธิบายกัน ก็มาพูดกับฆราวาสเพราะฆราวาสมีเวลาน้อยในการที่จะปฏิบัติความดี เพราะต้องทำมาหากิน ไม่เหมือนกับพระกับเณรต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีวิต จิตที่คิดในด้านของความดีมีมาก มาพูดถึงชาวบ้านชาวเมืองกันดีกว่า

    "ฆราวาส" ประตูที่จะเปิดเข้าสู่ทางสวรรค์ หรือทางพรหมโลก ทางนิพพานหรือว่าประตู ที่จะเข้าถึงศีลและธรรม มีศีลห้า และกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น และเขาก็ใช้ประตู ๒ บาน

    บานที่ ๑ เรียกว่า "หิริ" คือความละอายต่อความชั่ว

    บานที่ ๒ เรียกว่า "โอตตัปปะ" คือเกรงกลัวผลของความชั่ว

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบว่า ประตูจริงๆ น่ะมี ๒ บาน ที่จะเข้าถึงศีลกับธรรม บานที่ ๑ เรียกว่า "หิริ" คือความละอายต่อความชั่ว หรือความละอายต่อบาปอกุศล คือบาปอกุศลนี่ถ้าเราไม่อายมันก็โผล่หน้าเข้ามาถึงเรา ในเมื่ออายแล้วก็พยายามหลบบาป หลบอกุศล "อกุศล" นี่แปลว่า ไม่ฉลาด "บาป" นั่นแปลว่าความชั่ว คือหลบความชั่ว หลบความโง่ ไม่ฉลาดก็คือโง่


    "โอตตัปปะ" เกลงกลัวผลของความโง่ หรือเกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ เพราะความโง่ก็ดี ความชั่วก็ดีนำเราไปสู่อบายภูมิแน่นอน นั่นคือว่า นำไปไหน นำไปนรกบ้าง เบามาหน่อยก็นำไปเป็นเปรต เบามาหน่อยก็นำไปอสุรกาย เบามาอีกนิดก็นำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัชฉานเบากว่านั้นหน่อยก็เกิดเป็นคนที่หาความสมบูรณ์แบบไม่ได้

    ก็เป็นอันว่าท่านทั้งหลาย ทุกท่านอันดับแรกตั้งกำลังใจไว้ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจะเป็นคนขี้อาย เราจะเป็นคนกลัวอายความชั่ว กลัวความชั่ว แล้วก็ความชั่วที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระพุทธศาสนานี่มามาก อายหมวดไหนกันก่อน

    อันดับแรก อายการละเมิดศีลห้า

    อันดับที่ ๒ อายการละเมิดกรรมบถ ๑๐

    และอันดับต่อไปก็กลัวผลของการละเมิดศีลห้า กลัวผลของการละเมิดกรรมบถ ๑๐ จะให้ผลสนองเรา เพราะการละเมิดศีลก็ดี การละเมิดกรรมบถ ๑๐ ก็ดีมีผลในชาติปัจจุบัน นั่นหมายความว่าจะสร้างความทุกข์ให้เกิดแก่เราอย่างหนัก


    แต่ว่าถ้าเราอายได้ เรากลัวได้ เราก็สามารถจะดึงเอาศีลห้าก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี มาไว้กับเราตอนนี้เราจะพบกับความสุขอย่างมหันต์ อย่างที่ท่านทั้งหลายจะไม่เคยพบมาในกาลก่อน ชาตินี้มีความสุขหนักและชาติหน้าก็มีความสุขอย่างหนัก และทุกๆ ชาติเราจะมีความทุกข์เล็กน้อยแต่มีความสุขมาก ชื่อว่าทุกข์ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานไม่มีต่อไปอีก

    ศีลห้า มีอะไรบ้าง?

    ข้อ ๑ ปาณาติบาต พระพุทธเจ้าบอกว่า ทรงให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทางที่ดีก็เว้นจากการทรมานสัตว์เสียด้วย

    ข้อที่๒ อทินนาทาน ไม่ถือเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นไม่ให้มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม

    ข้อที่๓ กาเมสุมิจฉาจาร ให้เว้นจากการละเมิดความรัก คือในสามีและภรรยาของบุคคลอื่น ยินดีเฉพาะสามีและภรรยาของตนเอง

    ข้อที่๔ เว้นจากการมุสาวาท คือการไม่พูดให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลผู้รับฟัง

    ข้อที่๕ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย เพราะข้อนี้หนักมาก ถ้าเมาเมื่อไหร่แย่เมื่อนั้นจำอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีเห็นว่าพ่อเป็นเพื่อนไปอีก แต่บางคนเห็นว่าพ่อเป็นฟุตบอลไปก็มีเตะพ่อตีแม่ อย่างนี้ก็มี

    เป็นอันว่าศีลทั้ง ๕ ประการมีตามนี้ ทีนี้ต่อไปก็มาพูดกันถึงกรรมบถ ๑๐

    กรรมบถ ๑๐ นี่จริง ๆ ก็เหมือนกับศีลห้า อยู่มาก แตกต่างกันอยู่นิดหน่อยเท่านั้นเอง กรรมบถ ๑๐ ก็คือ

    ข้อที่ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์

    ข้อที่ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ (เหมือนศีลห้า)

    ข้อที่ ๓. เว้นจากการกาเมสุมิจฉาจาร คือเป็นชู้กับสามีภรรยาเขา (นี่สำหรับทางกาย ทางกายคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)

    ทางวาจา ท่านจัดไว้ ๔ ศีลห้าจัดไว้แค่ ๑ ทางกายเหมือนศีลห้าเปี๊ยบ ไม่ต่างกันเลย แต่ทางวาจาท่านจัดไว้ ๔

    ๑."ไม่พูดปด" นี่คือศีลห้า ห้ามแค่นี้ กรรมบถ ๑๐ ห้ามต่อไป "ไม่พูดคำหยาบ" และก็ "ไม่พูดวาจาส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน" และก็ "ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์" มี ๔

    ด้านจิตใจนี่ศีลห้า ไม่ได้บอกไว้ แต่ว่ากรรมบถ ๑๐ บอกไว้ว่าจิตใจ คือ

    ๑. จงอย่าอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดมาเป็นของตน คือไม่ขโมยด้วย และก็ไม่นึกด้วย ศีลห้านี่ไม่ได้ขโมยแต่นึกอยากได้นี่ไม่ผิด กรรมบถ ๑๐ ไม่ขโมยแต่นึกอยากได้ผิด

    ต่อไปข้อที่ ๒ ของจิตใจความรู้สึกนึกคิด นั่นก็คือไม่พยาบาทจองล้างจองผลาญใคร คือไม่จองเวรจองกรรมใคร โกรธน่ะโกรธ แต่ทว่าโกรธแล้วก็หายไป ต่อก็ไม่จองล้างผลาญใคร

    แล้วข้อที่ ๓ ด้านจิตใจ มีความเห็นตรงตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือไม่ขัดคอพระพุทธเจ้า พูดกันง่าย ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าตายแล้วเกิดเราก็เชื่อว่าตายแล้วเกิด ไม่ใช่ตายแล้วสูญ อย่างนี้เป็นต้น และสวรรค์มีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง เราก็ไม่เถียง เรายอมรับนับถือด้วยปัญญา


    ถ้าทำบาปอกุศลก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง อันนี้เราก็ไม่เถียง ยอมรับและการปฏิบัติอย่างไรจะให้พ้นจากความทุกข์เสวยแต่ความสุข อันนี้เราก็ปฏิบัติตามอย่างนี้เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" มีความเห็นชอบ เป็นข้อที่ ๓ ของกรรมบถ ๑๐ ก็จะไม่พูดยํ้ามาก

    ต่อมาก็หันมาดูศีลข้อที่ ๑ ศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี จะอธิบายควบกันไป ถ้าแยกกันนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มันจะยืดยาดมากเกินไป คือว่าอันนี้เวลานี้เราเข้ามาปฏิบัติในข้อที่ว่า "วิจิกิจฉา" ข้อที่ ๒ ของสังโยชน์ (ขอนำเอาข้อที่ ๓ มาพูดรวมกัน) ข้อที่ ๒ บอกว่า ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอมปฏิบัติตาม ที่นี้พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน "คำสั่ง" ก็คือวินัย "คำสอน" ก็ได้แก่ธรรมะ

    "คำสั่ง" หมายถึงห้ามหรือเตือนว่าจงอย่าทำ จงเว้น

    "คำสอน" หมายความว่าจงทำตามนี้ จงปฏิบัติตามนี้ จะมีความสุข (ขอนำมารวมกันกับข้อวิจิกิจฉา คือความสงสัยในสังโยชน์ข้อที่ ๒ เอาสีลัพพตปรามาสมารวมกันเลยถ้าไม่รวมกันแล้วยุ่ง ท่านก็ฟังกันยืดยาด ดีไม่ดีฟังกันเดือนก็ไม่จบ)

    ก็รวมความว่า เวลานี้เรายอมรับนับถือในพระธรรม ได้แก่ "หิริ" และ "โอตตัปปะ" นี่เป็นอันว่าไม่ฝืนแล้ว อาย อายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราอายเรากลัวไม่มีจุดปฏิบัติเราก็ท้อใจมาเริ่มปฏิบัติเริ่มแรก เอากันในเรื่องของศีล สำหรับศีลนี่ข้อไหนเหมือนกับกรรมบถจะบอกว่าเหมือนกัน ข้อไหนที่แยกกันเป็นกรรมบถโดยเฉพาะจะบอกว่านี่แยกกัน เพื่อสะดวกแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท.."

    อ้างอิง ..คำสอนพระราชพรหมยาน

     
  2. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260

    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
    เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น<O:p

    ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน<O:p
    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
    www.tangnipparn.com
    <?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com[​IMG]ขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา </O:p>
    *
    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...