ประตูไปสวรรค์ พรหม นิพพาน

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Lukhgai, 31 มกราคม 2009.

  1. Lukhgai

    Lukhgai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    3,000
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +8,240
    [​IMG]



    "..พระธรรมนี่พระสงฆ์นำมาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้ายอมรับนับถือเป็นส่วนตัวก็สามารถจะพ้นนรกได้แน่ นอนชาตินี้ แต่ชาติต่อไปเราก็ไม่แน่ แล้วการที่จะคิดว่าชาติต่อไปเราอาจจะเกิดเป็นคน เราจะยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ต่อไปนี่ไม่แน่นอนนักเพราะการเกิดแต่ละชาติเราไม่ได้รับแต่ผลของความดีฝ่ายเดียว เป็นการรับผลทั้งความดีและความชั่ว จะเห็นว่าคนที่เกิดมาแล้วนี้ไม่ใช่มีความสุขอย่างเดียว อารมณ์ที่ทำให้เกิดเป็นทุกข์ก็มีอยู่ หรือไม่ได้มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว อารมณ์ที่เป็นสุขก็มีอยู่ ขณะใดที่อารมณ์ความเป็นสุขเกิดขึ้น ขณะนั้นถือว่ารับผลของกุศลเก่า คือบุญเก่าที่เราทำไว้แล้วในชาติก่อนๆ มาสนองเรา เราก็มีความสุข

    ผลของทานเป็นปัจจัยให้ได้ลาภสักการะ

    ผลของการรักษาศีลให้เกิดความสุขหลายๆ ประการ

    ผลของการเจริญภาวนาและศึกษาธรรม เป็นเหตุให้เกิดปัญญามีความฉลาด

    ถ้าผลของความทุกข์ ผลของปาณาติบาต ทำให้คนมีอายุสั้นพลันตาย

    ผลของอทินนาทาน ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย

    ผลของกาเมสุมิจฉาจาร ทำให้ลูกหรือบุคคลในปกครองว่ายากสอนยาก ไม่อยู่ในโอวาท แนะนำอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง

    ผลของมุสาวาท เกิดมาชาตินี้ในระหว่างนั้นให้ผล พูดดีเท่าไรก็ไม่มีคนอยากรับฟัง

    ผลของการดื่มสุราเมรัย ทำให้เป็นโรคปวดศีรษะไม่หาย หรือเป็นโรคเส้นประสาทหรือว่าเป็นโรคบ้า

    ทั้งหมดตามที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นผลจากความดี หรือความชั่วในชาติก่อน ที่ยังตามมาสนองเรา ถ้าบังเอิญเกิดในชาตินั้นยามจะตาย ผลของอกุศลก็ครอบงำจิตพอดี เราก็ลืมพระพุทธเจ้า ลืมพระอริยสงฆ์ ทั้งนี้เพราะความมั่นคงของจิตไม่มี ถ้าความมั่นคงของจิตมีต้องปฏิบัติในธรรม ให้ธรรมทรงตัวทรงใจ หมายความว่า การจะพูดก็ดี การจะทำก็ดีการจะคิดก็ดี อยู่ในขอบเขตของพระธรรม เพราะว่า พระธรรมนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราปฏิบัติในด้านของความดี และก็พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนก็ทรงสอนไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ เราจะปฏิบัติกันอย่างไรได้หมด อันนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท อาจจะเป็นเครื่องอัดอั้นตันใจสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเพราะว่าถ้าพูดถึงพระธรรมแล้วไม่รู้จะเอาตรงไหนดี ก็เอากันอย่างนี้ก็แล้วกัน

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้แล้วหลายหมื่นหัวข้อ ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ ท่านบอกว่าให้เลือกปฏิบัติตามที่เราเห็นสมควรที่พอจะปฏิบัติได้ เพราะการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากๆ ก็ทราบว่า อัธยาศัยของคนไม่เสมอกัน กำลังใจของคนก็ไม่เสมอกัน อัธยาศัยต่างกันอย่างหนึ่ง กำลังใจต่างกันอย่างหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องตรัสไว้มาก เพื่อความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

    เวลานี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายกำลังฟังเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นนรกคำว่า "นรก" ก็หมายถึงเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ต้องการจะหนีนรกกันแล้วเราก็ปฏิบัติกันอยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ในเมื่อปฏิบัติอยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็เอาพระธรรมวินัยที่อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็เอาพระธรรมวินัยที่อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการมาปฏิบัติไม่ใช่ว่ากันดะไปทั้งหมด พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็คือ "ศีลห้า และกรรมบถ ๑๐ " ถ้าการปฏิบัติศีลห้าครบถ้วน ก็ถือว่าได้ความดี หนีนรกได้แบบหยาบๆ ชาตินี้มีความสุขแต่ความสุขน้อยไปหน่อย ชาติหน้ามีความสุขแน่แต่ด้อยไปนิดหนึ่ง กาลเวลาที่จะถึงนิพพานยังไกลอยู่

    ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูจึงได้ตรัสกรรมบถ ๑๐ ประการให้ปฏิบัติอีกจุดหนึ่งถ้าปฏิบัติได้ในกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการด้วย ในศีลห้าด้วยปฏิบัติครบถ้วนตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะตาย ความเป็นอยู่ในความเป็นมนุษย์นี่ก็มีทุกข์ยาก ส่วนใหญ่จะมีแต่ความสุขความทุกข์ก็มีบ้างแต่ไม่หนักนัก ไม่ถึงกับเกิดความเร่าร้อนจุ้นจ้าน แต่ในด้านความสุขนี่มีมาก ถ้าตายจากชาตินี้ไปแล้ว หากว่าไม่พบพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ในสมัยที่เป็นเทวดาหรือพรหม กลับมาเกิดเป็นคนอีกครั้งเดียวก็ไปนิพพาน

    การที่จะปฏิบัติในศีลห้าก็ดี กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการก็ดี บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ต้องมีหัวข้อขึ้นต้น เพราะกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้มีทั้งศีลและธรรม ศีลห้า นี่ก็มีทั้งศีลและธรรมเหมือนกัน แต่ฝ่ายธรรมะนี่คดๆ อยู่ข้างในมองไม่ค่อยเห็น ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วก็มองไม่เห็น ถ้าใช้ปัญญาจึงจะมองเห็น แต่ว่าปัญญาที่ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เห็นเหมือนกัน

    เป็นอันว่าเห็นหรือไม่เห็นก็ยังไม่ต้องพูดกัน มาว่ากันถึงว่า หัวข้อคือบทต้น เรียกว่า "หน้าปก" ถือเอกหน้าปกก็แล้วกัน ก่อนที่จะเข้าถึงศีล ก่อนที่จะเข้าถึงกรรมบถ ทั้ง ๑๐ ประการ นี่ว่ากันเฉพาะฆราวาสนะ ถ้าพระหรือเณรมีศีลแค่ ๕ หรือมีกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการครบถ้วนก็ไม่แคล้วอบายภูมิ เพราะว่าสิกขาบทที่จะต้องปฏิบัติมากกว่านี้สำหรับพระหรือเณรให้ปฏิบัติในสิกขาบทของท่านด้วย แล้วก็ต้องมีกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการครบถ้วนด้วย เท่าที่เคยเห็นมาบางที่ท่านก็เผลอ ๆ เหมือนกัน บางท่านก็เผลอในศีล ๕ บางท่านก็เผลอในกรรมบถ ๑๐ หากว่าท่านผู้ใดเผลอในศีลห้าก็ดี เผลอในกรรมบถ ๑๐ ก็ดี พระหรือเณรท่านนั้นโอกาสที่จะขึ้นสู่สวรรค์ไม่มีเลย ทางที่จะไปก็มีทางเดียว คืออบายภูมิ มีนรกเป็นต้น

    ขอประทานอภัยเถอะครับ ผมพูดเรื่องนรกอยู่เรื่อย ๆ ก็มีข่าวเข้ามาว่า พระสงฆ์ ซึ่งเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้าหรือว่าสาวกของพระพุทธเจ้านั่นเองในปัจจุบัน

    บางท่าน ๆ โกรธท่านบอกว่า "อะไรก็นรก ๆ คนที่เกิดมาก็เลยไม่ต้องไปสวรรค์กัน"

    ก็ขอตอบเสียในที่นี้ว่า "คนที่เขาไปสวรรค์นะมีมากนะครับ คนที่ไปพรหมก็มีมากและปัจจุบันคนที่จะไปนิพพานก็มีมาก ที่ว่าจะต้องตกนรกกัน เพราะว่าท่านลืมทางไปสวรรค์ลืมทางไปพรหมโลก ลืมทางไปนิพพาน"

    ตอนนี้ก็จะขอเปิดประตูให้พบทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก พบทางไปนิพพานซะก่อน เรื่องพระไม่อธิบาย สำหรับพระสำหรับเณรนี่ปฏิบัติอย่างไรไม่อธิบายให้ฟังเพราะท่านเป็นปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านต้องไหว้ต้องบูชาอยู่แล้ว ก็ต้องยอมรับนับถือว่า ทุกท่านคงปฏิบัติความดีครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องอธิบายกัน ก็มาพูดกับฆราวาสเพราะฆราวาสมีเวลาน้อยในการที่จะปฏิบัติความดี เพราะต้องทำมาหากิน ไม่เหมือนกับพระกับเณรต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีวิต จิตที่คิดในด้านของความดีมีมาก มาพูดถึงชาวบ้านชาวเมืองกันดีกว่า

    "ฆราวาส" ประตูที่จะเปิดเข้าสู่ทางสวรรค์ หรือทางพรหมโลก ทางนิพพานหรือว่าประตู ที่จะเข้าถึงศีลและธรรม มีศีลห้า และกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น และเขาก็ใช้ประตู ๒ บาน

    บานที่ ๑ เรียกว่า "หิริ" คือความละอายต่อความชั่ว

    บานที่ ๒ เรียกว่า "โอตตัปปะ" คือเกรงกลัวผลของความชั่ว

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบว่า ประตูจริงๆ น่ะมี ๒ บาน ที่จะเข้าถึงศีลกับธรรม บานที่ ๑ เรียกว่า "หิริ" คือความละอายต่อความชั่ว หรือความละอายต่อบาปอกุศล คือบาปอกุศลนี่ถ้าเราไม่อายมันก็โผล่หน้าเข้ามาถึงเรา ในเมื่ออายแล้วก็พยายามหลบบาป หลบอกุศล "อกุศล" นี่แปลว่า ไม่ฉลาด "บาป" นั่นแปลว่าความชั่ว คือหลบความชั่ว หลบความโง่ ไม่ฉลาดก็คือโง่ "โอตตัปปะ" เกลงกลัวผลของความโง่ หรือเกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ เพราะความโง่ก็ดี ความชั่วก็ดีนำเราไปสู่อบายภูมิแน่นอน นั่นคือว่า นำไปไหน นำไปนรกบ้าง เบามาหน่อยก็นำไปเป็นเปรต เบามาหน่อยก็นำไปอสุรกาย เบามาอีกนิดก็นำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัชฉานเบากว่านั้นหน่อยก็เกิดเป็นคนที่หาความสมบูรณ์แบบไม่ได้

    ก็เป็นอันว่าท่านทั้งหลาย ทุกท่านอันดับแรกตั้งกำลังใจไว้ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจะเป็นคนขี้อาย เราจะเป็นคนกลัวอายความชั่ว กลัวความชั่ว แล้วก็ความชั่วที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระพุทธศาสนานี่มามาก อายหมวดไหนกันก่อน

    อันดับแรก อายการละเมิดศีลห้า

    อันดับที่ ๒ อายการละเมิดกรรมบถ ๑๐

    และอันดับต่อไปก็กลัวผลของการละเมิดศีลห้า กลัวผลของการละเมิดกรรมบถ ๑๐ จะให้ผลสนองเรา เพราะการละเมิดศีลก็ดี การละเมิดกรรมบถ ๑๐ ก็ดีมีผลในชาติปัจจุบัน นั่นหมายความว่าจะสร้างความทุกข์ให้เกิดแก่เราอย่างหนัก แต่ว่าถ้าเราอายได้ เรากลัวได้ เราก็สามารถจะดึงเอาศีลห้าก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี มาไว้กับเราตอนนี้เราจะพบกับความสุขอย่างมหันต์ อย่างที่ท่านทั้งหลายจะไม่เคยพบมาในกาลก่อน ชาตินี้มีความสุขหนักและชาติหน้าก็มีความสุขอย่างหนัก และทุกๆ ชาติเราจะมีความทุกข์เล็กน้อยแต่มีความสุขมาก ชื่อว่าทุกข์ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานไม่มีต่อไปอีก

    ศีลห้า มีอะไรบ้าง?

    ข้อ ๑ ปาณาติบาต พระพุทธเจ้าบอกว่า ทรงให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทางที่ดีก็เว้นจากการทรมานสัตว์เสียด้วย

    ข้อที่๒ อทินนาทาน ไม่ถือเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นไม่ให้มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม

    ข้อที่๓ กาเมสุมิจฉาจาร ให้เว้นจากการละเมิดความรัก คือในสามีและภรรยาของบุคคลอื่น ยินดีเฉพาะสามีและภรรยาของตนเอง

    ข้อที่๔ เว้นจากการมุสาวาท คือการไม่พูดให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลผู้รับฟัง

    ข้อที่๕ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย เพราะข้อนี้หนักมาก ถ้าเมาเมื่อไหร่แย่เมื่อนั้นจำอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีเห็นว่าพ่อเป็นเพื่อนไปอีก แต่บางคนเห็นว่าพ่อเป็นฟุตบอลไปก็มีเตะพ่อตีแม่ อย่างนี้ก็มี

    เป็นอันว่าศีลทั้ง ๕ ประการมีตามนี้ ทีนี้ต่อไปก็มาพูดกันถึงกรรมบถ ๑๐

    กรรมบถ ๑๐ นี่จริง ๆ ก็เหมือนกับศีลห้า อยู่มาก แตกต่างกันอยู่นิดหน่อยเท่านั้นเอง กรรมบถ ๑๐ ก็คือ

    ข้อที่ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์

    ข้อที่ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ (เหมือนศีลห้า)

    ข้อที่ ๓. เว้นจากการกาเมสุมิจฉาจาร คือเป็นชู้กับสามีภรรยาเขา (นี่สำหรับทางกาย ทางกายคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)

    ทางวาจา ท่านจัดไว้ ๔ ศีลห้าจัดไว้แค่ ๑ ทางกายเหมือนศีลห้าเปี๊ยบ ไม่ต่างกันเลย แต่ทางวาจาท่านจัดไว้ ๔

    ๑."ไม่พูดปด" นี่คือศีลห้า ห้ามแค่นี้ กรรมบถ ๑๐ ห้ามต่อไป "ไม่พูดคำหยาบ" และก็ "ไม่พูดวาจาส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน" และก็ "ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์" มี ๔

    ด้านจิตใจนี่ศีลห้า ไม่ได้บอกไว้ แต่ว่ากรรมบถ ๑๐ บอกไว้ว่าจิตใจ คือ

    ๑. จงอย่าอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดมาเป็นของตน คือไม่ขโมยด้วย และก็ไม่นึกด้วย ศีลห้านี่ไม่ได้ขโมยแต่นึกอยากได้นี่ไม่ผิด กรรมบถ ๑๐ ไม่ขโมยแต่นึกอยากได้ผิด

    ต่อไปข้อที่ ๒ ของจิตใจความรู้สึกนึกคิด นั่นก็คือไม่พยาบาทจองล้างจองผลาญใคร คือไม่จองเวรจองกรรมใคร โกรธน่ะโกรธ แต่ทว่าโกรธแล้วก็หายไป ต่อก็ไม่จองล้างผลาญใคร

    แล้วข้อที่ ๓ ด้านจิตใจ มีความเห็นตรงตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือไม่ขัดคอพระพุทธเจ้า พูดกันง่าย ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าตายแล้วเกิดเราก็เชื่อว่าตายแล้วเกิด ไม่ใช่ตายแล้วสูญ อย่างนี้เป็นต้น และสวรรค์มีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง เราก็ไม่เถียง เรายอมรับนับถือด้วยปัญญา ถ้าทำบาปอกุศลก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง อันนี้เราก็ไม่เถียง ยอมรับและการปฏิบัติอย่างไรจะให้พ้นจากความทุกข์เสวยแต่ความสุข อันนี้เราก็ปฏิบัติตามอย่างนี้เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" มีความเห็นชอบ เป็นข้อที่ ๓ ของกรรมบถ ๑๐ ก็จะไม่พูดยํ้ามาก

    ต่อมาก็หันมาดูศีลข้อที่ ๑ ศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี จะอธิบายควบกันไป ถ้าแยกกันนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มันจะยืดยาดมากเกินไป คือว่าอันนี้เวลานี้เราเข้ามาปฏิบัติในข้อที่ว่า "วิจิกิจฉา" ข้อที่ ๒ ของสังโยชน์ (ขอนำเอาข้อที่ ๓ มาพูดรวมกัน) ข้อที่ ๒ บอกว่า ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอมปฏิบัติตาม ที่นี้พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน "คำสั่ง" ก็คือวินัย "คำสอน" ก็ได้แก่ธรรมะ

    "คำสั่ง" หมายถึงห้ามหรือเตือนว่าจงอย่าทำ จงเว้น

    "คำสอน" หมายความว่าจงทำตามนี้ จงปฏิบัติตามนี้ จะมีความสุข (ขอนำมารวมกันกับข้อวิจิกิจฉา คือความสงสัยในสังโยชน์ข้อที่ ๒ เอาสีลัพพตปรามาสมารวมกันเลยถ้าไม่รวมกันแล้วยุ่ง ท่านก็ฟังกันยืดยาด ดีไม่ดีฟังกันเดือนก็ไม่จบ)

    ก็รวมความว่า เวลานี้เรายอมรับนับถือในพระธรรม ได้แก่ "หิริ" และ "โอตตัปปะ" นี่เป็นอันว่าไม่ฝืนแล้ว อาย อายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราอายเรากลัวไม่มีจุดปฏิบัติเราก็ท้อใจมาเริ่มปฏิบัติเริ่มแรก เอากันในเรื่องของศีล สำหรับศีลนี่ข้อไหนเหมือนกับกรรมบถจะบอกว่าเหมือนกัน ข้อไหนที่แยกกันเป็นกรรมบถโดยเฉพาะจะบอกว่านี่แยกกัน เพื่อสะดวกแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท.."

    คาถามหาเสน่ห์
    "..คำว่า "เสน่ห์" แปลว่า "ความรัก" ความรักซึ่งกันและกัน เป็นเยื่อใยแห่งความรัก ที่ดึงกำลังใจของบุคคลอื่นให้มารักเรา และก็เราเอง ถ้าคนอื่นเขาทำเราก็รักเขาเหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างมีมหาเสนห์ บรรดาท่านพุทธบริษัท โลกนี้จะมีแต่ความสุขจะหาความทุกข์ไม่ได้ความทุกข์จะมีบ้างก็แค่เรื่องของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือ ร่างกายมันก็ต้องแก่ มันป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ ๕ คือร่างกาย แล้วมันก็ตาย เราจะมีทุกข์อยู่บ้างเมื่อความแก่เข้ามาถึง เพราะร่างกายไม่ทรงตัว กำลังไม่ดี ความเชื่องช้าก็ปรากฏก็หนักใจอยู่นิดหนึ่ง ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นมันก็มีความลำบากอยู่บ้าง มีความทุกข์อยู่บ้าง ความตายจะเข้ามาถึงก็มีความทุกข์บ้าง เพราะมีทุกขเวทนามาก แต่นอกจากอาการทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เราจะมีแต่ความสุข เพราะคนที่มีเสน่ห์มากก็มีคนรักมาก ถ้าเราพบปะสังสรรค์กับสมาคมใด บุคคลใด เราเป็นคนมีเสน่ห์ สมาคมนั้นเขาไม่เกลียด ผู้ที่เกลียดก็คือว่า คนที่มีเสน่ห์ไม่เท่า เขามีเสน่ห์น้อยเกินไปมีคนรักน้อยเกินไป อาจจะมีการอิจฉาริษยากันได้ นี่เป็นของธรรมดา แต่ถ้าพบหน้ากันเข้าจริงๆ บ่อยๆ อาการอิจฉาริษยาก็จะหมดไป เหลือแต่ความรัก คาถามหาเสน่ห์นี่มีอยู่ ๔ ข้อ ๔ คำ คือ

    ๑. ไม่พูดปด

    ๒. ไม่พูดคำหยาบ

    ๓. ไม่พูดส่อเสียด

    ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

    นี่แหละเป็นคาถามหาเสน่ห์ คำว่า "คาถา" นี่มาจากภาษาบาลี แปลว่า "วาจาเป็นเครื่องกล่าว" ก็หมายถึงคำพูดที่เราพูดไปเอง คำพูดที่เราพูดออกไปนี่ ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า "คาถา" (แต่คนไทยพูดเข้าเลยหาว่าเป็นคาถามหานิยมไปเลย เป็นการเสกคาถาไป) ความจริงไม่ใช่ นี่พระพูด ไม่ใช่หมอไสยศาสตร์ หมอเสน่ห์ลมพูด พระพูดถือบาลีเป็นพื้นฐานเป็นหลัก คาถาในที่นี้ถือว่า วาจาเป็นเครื่องกล่าว คือ คำพูด

    อาตมาจำถ้อยคำของท่านสุนทรภู่ไว้ได้ตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

    "คนเราจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

    หมายความว่า จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปากพูด เสียงที่พูดออกไป จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา คือลิ้นเป็นเครื่องแต่งเสียง (วันนี้ร่างกายไม่ดีมาก แต่ขอทำงานตามหน้าที่ เพราะปล่อยร่างกายดีก็ไม่ได้พูด ถ้าไม่ได้พูดงานก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ก็ขอพูดทั้งๆ ที่เสียงก็ไม่ดีร่างกายก็ไม่ดี เพลียมากเหลือเกิน )

    ก็รวมความว่า คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่ปาก การพูด พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าต้องการมีเสน่ห์

    ๑. อย่างพูดปดมดเท็จ แต่คนพูดปดมดเท็จนี่ ถ้าเขาจับไม่ได้มันก็ดี การยอมรับนับถือยังมีอยู่ ถ้าจับคำพูดปดมดเท็จได้เมื่อไรเมื่อนั้นแหละความเป็นที่เคารพนับถือก็ดีความเป็นมิตรสหายซึ่งกันและกันก็ดี ก็ต้องสลายตัวไป เพราะอะไร? เพราะเราเป็นคนทำลายประโยชน์เขา ในเมื่อเราเป็นคนพูดปด คนที่จะคบหาสมาคมด้วยก็หายาก เพราะว่าถ้าพูดกิจการงานกับเขา เขาก็หวังไม่ได้ว่าเราจะพูดตามความเป็นจริง เรียกว่าเราจะต้องเป็นคนมีทุกข์มาก ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

    สำหรับคำพูดปดนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาลองซ้อมดูแล้ว ความจริงข้อนี้ก็เป็นทั้งศีลทั้งธรรมะ ศีลมีแค่พูดปด กรรมบถ ๑๐ ก็เติมพูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ข้อนี้ก็รวมทั้งศีลและก็กรรมบถ ๑๐ ด้วย

    สำหรับวาจานี่ บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาเคยถามว่าการรักษาศีลห้า ระวังตอนไหน ส่วนมากจริง ๆ บอกว่า หนักใจที่ มุสาวาท เขาว่าเขาจำเป็นต้องโกหก เขาถือว่าจำเป็น อย่างการค้าขายนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไม่โกหกมันก็ขายไม่ค่อยจะได้บางทีไม่จำเป็นต้องโกหกต้องโกหก เดี๋ยวพ่อค้าฟังแล้วเขาจะเกลียดนี่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ความจริงที่ว่าหนักใจก็ได้แก่พวกพ่อค้าแม่ค้า บรรดาท่านสตรีทั้งหลายนี่หนักใจมาก ว่าศีล ๔ ข้อพอรักษาได้ บอกว่าข้อมุสาวาทนี่หนักใจ แต่ความจริงถ้าเราไม่พูดโกหกจะได้ไหม ลองไม่พูดโกหกดู ดูซิจะขายของได้หรือไม่ได้ ของดีเราก็บอกว่า "นี่ของดีจริง ๆ นะ" ไม่หลอกลวงกัน ไอ้ที่ดีขนาดกลางก็บอกว่า นี่ดีขนาดกลาง ไอ้ที่ดีขนาดเลวก็บอกว่านี่ดีขนาดเลว ถ้าถามว่าขนาดเลวทำไมจึงว่าดี ก็เพราะยังเป็นของดีไม่แตกสลายผ้าไม่ขาด ขันไม่แตก แก้วไม่แตก ก็เป็นของดี แต่ว่าอัตราของมันเป็นของเลวหยาบไปหน่อย สวยน้อยไปนิด เนื้อละเอียดน้อยไปหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ก็เรียกว่าดีขนาดเลวเราก็บอกตามความเป็นจริง ข้อนี้หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงคงไม่หนักใจ

    มาอีกตอน เรื่องราคาของของ ราคาของของนี่จำเป็นต้องโกหกกัน ถ้าไม่โกหกกันมันขายราคาแพงไม่ได้ แล้วก็มีปัญหาอยู่ว่า สมมุติว่าของชิ้นนี้ในท้องตลาดเขาขายราคา ๑๐ บาท แต่ว่าต้นทุนจริงๆ มันเป็นบาทหรือสองบาทเท่านั้นไม่มาก ถ้ามีคนเขามาขอซื้อเขาขอลด ไม่ใช่ต่อ บอก ๑๐ บาท เขาขอลด ๙ บาทหรือ ๘ บาท ถ้าต่อนั้นหมายความว่าต้องเป็น ๑๑ บาทหรือ ๑๒ บาท คงไม่มีคนซื้อคนใดเขาต่อให้มันสูงขึ้น มีแต่ว่าขอลดลงว่าขอลดลงมาอย่างนี้ ถ้าเราขายไปเราก็เสียราคาท้องตลาด ถ้าขายถูกเกินไปนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัทในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่อาตมาเคยพบมา ตอนนั้นยังอยู่วัดประยุรวงศาวาส จะไปเทศน์นี่นครปฐม ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้ามาที่พาหุรัด เพื่อขึ้นรถยนต์ที่นั่น รถโดยสาร ไปเจอะกระเป๋าถือลูกหนึ่งชอบใจ ก็เข้าไปซื้อ ตกลงกับเจ๊กว่าตอนเย็นจะมาเอา เขาปิดราคาไว้ ถามเขาบอกว่า จะเอาไปแต่เอาไปไม่ได้เพราะไปเทศน์จะให้สตางค์ก่อนเอาไหม? เถ้าแก่ก็บอกว่าไม่ต้อง เห็นหน้ากันเกือบทุกวัน เขาไว้วางใจแต่ว่าพอกลับมาปรากฏว่าของในร้านทั้งหมด เขาเขียนราคาสูงขึ้นไปหมด ราคาเดิมก็ไม่มีสมมุติว่าราคาเดิมเป็น ๑๐ บาท ตอนเช้ามองดูแล้วมันเป็น ๑๐ บาท แต่ว่าตอนเย็นกลับมามันกลายเป็น ๑๓ บาทไป ของบางอย่าง กระเป๋าลูกนั้นประเภทเดียวกัน ถามเขาเวลานั้นค่าเงินมันสูงเขาเอา ๒๐ บาท ตอนเช้าเขียนราคา ๒๐ บาท ในฐานะที่ชอบกันก็บอกว่า"ฉันเอาลูกหนึ่งฉันไม่ขอลดละ เถ้าแกจะลำบากเพราะรู้จักกันดี"

    เถ้าแก่เลยบอกว่า"ท่านไม่ขอลดผมจะลดให้ ผมเอา ๑๘ บาท" แต่ตอนเย็นพอมาถึงปรากฏว่ากระเป๋าประเภทนั้นราคาขึ้นไปเป็น ๒๕ บาท ก็เลยถามว่า

    "เถ้าแก่ เมื่อเช้านี้มัน ๒๐ บาทน่ะ นี่แค่ตอนเย็นมัน ๒๕ บาท ฉันจะเอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อ"

    เถ้าแก่ก็เลยบอกว่า "กระเป๋าของท่านอยู่ข้างในครับ ผมไปเก็บไว้ข้างในแล้วราคาผมก็เขียนเท่านี้เหมือนกัน แต่ว่าผมรับสตางค์จริง ๆ แค่ ๑๘ บาท"

    ก็ถามว่า "ทำไมจำเป็นต้องขึ้นราคากันตามนี้ด้วยล่า มันไวเกินไป"

    เถ้าแก่ก็บอกว่า "หลังจากท่านขึ้นรถไปแล้วไม่นานนัก ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษก็มีเจ้าหน้าที่เขามาแจ้งบอกให้ขึ้นราคาของไปเท่านั้นเท่านี้ ต้องขึ้นราคาตามนี้ เขาว่าของขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วกัน ให้ขึ้นราคาของไปอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำตามเขา"

    ก็เลยถามว่า "ถ้าเราไม่ขายตามเขาล่ะ เราขายถูกเราจะขายได้ดี เขาขายแพงขายไม่ได้ดี"

    เถ้าแก่บอกว่า "ไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่ขายตามเขา เราขายถูกเขาจะส่งคนมาซื้อหมด เมื่อซื้อหมดแล้วเราก็ไม่สามารถจะหาของราคาเท่านั้นมาขายได้อีก เพราะเขาขายแพงขึ้น"

    มันมีความจำเป็นต้องขายตามเขา แต่ในที่สุดท่านเถ้าแก่ก็เอากระเป๋าให้มาแล้วรับเงิน ๑๘ บาทตามเดิม เขามีความซื่อสัตย์ดี แต่ว่าป้ายที่เขียนไว้นั้นเป็นราคา ๒๕ บาท เถ้าแก่แกก็สั่งไว้ว่า "ถ้าใครเขาถามท่านให้บอกว่าเขาขายราคา ๒๕ บาทนะครับ ไม่งั้นผมเสียแน่"

    แต่ความจริงอาตมามาถึงวัดคนนั้นถาม คนนี้ถามก็บอกว่า "อย่าบอกราคากันเลยราคาไม่ต้องบอกกัน ป้ายเขาเขียนเท่านี้ก็เชื่อเท่านี้ก็แล้วกัน ผมจ่ายเท่าไรเป็นเรื่องของผมให้ถือว่าป้ายเขาเขียนไว้เท่านี้ก็แล้วกัน"

    แต่นั้นมา ถึงญาติโยมพุทธบริษัทที่จะต้องบอกราคาเกิน ความจริงถ้าบอก ของราคา ๒ บาท เราขาย ๑๐ บาท เขาขอลด ๘ บาท แล้วก็บอกว่า

    "ไม่ได้หรอก ฉันซื้อมา ๙.๕๐ บาทแล้วนี่ฉันได้ ๕๐ สตางค์เท่านั้นเอง ถ้าจะลดก็ลดได้เพียง ๒๕ สตางค์" อย่างนี้ก็โกหก เป็นมุสาวาท

    ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมุสาวาท? ก็ต้องตอบเขาเฉย ๆ ว่า "ของต้นทุนมันแพงต้องขายเท่านี้ ถ้าจะลดได้ก็ลดได้แค่ ๕๐ สตางค์ หรือ ๒๕ สตางค์ ลดเกินกว่านั้นไม่ได้เพราะต้นทุนมันแพง"ถ้าเขาถามว่า"ต้นทุนแพงราคาเท่าไร"ก็ตอบเฉยๆ ว่า "ของมันหลายชิ้นด้วยกัน ตอบยากเพราะมันต้องเปิดตำรา"เท่านี้ก็หมดเรื่องหมดราว ไม่เป็นมุสาวาท

    ก็รวมความว่า คนที่พูดมุสาวาทเป็นคนไร้สัจจะ คนเกลียด แต่พูดตามความเป็นจริง บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ไปที่ไหนใครก็ชอบ คนทุกคนต้องการรับฟังวาจาที่ตรงตามความเป็นจริง แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงก็ต้องระวังเหมือนกัน

    การพูดตามความเป็นจริงนั้นต้องเลือกเวลา อย่าพูดจนกระทั่งเขามีความเสียหายต่อหน้าประชาชนเกินไป ต้องใช้ปัญญาด้วย

    ความจริงข้อนี้เราควรจะพูดที่ไหน แล้วเวลาพูดนั้นเป็นเวลาควรจะพูดแล้วหรือยัง? ถ้าเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง เวลาที่เขาอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งพูดความจริง รอเวลาอารมณ์ดีจิตใจเขาสบาย พูดอ้อมหน้าอ้อมหลังไปก่อน เห็นท่าว่าเขาจะยอมรับแล้วก็ไม่โกรธจึงควรพูด ถ้าพูดไปแล้วผู้รับฟังโกรธ บรรดาท่านพุทธบริษัท นั่นหมายถึงความตายจะเข้ามาถึงผู้พูด ตามที่พูดกันว่า "วาจาจริงเป็นวาจาไม่ตาย" แต่คนพูดตามความเป็นจริงอาจจะตายได้ นี่ต้องระวังให้มาก ก็ถือว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงและบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เลือกเวลาเหมาะเวลาสม ใช้ปัญญาหน่อย อย่างนี้ถือว่า วาจาเป็นทิพย์ ท่านจะมีความสุขมากในฐานะที่คนทั้งหลายมีความไว้วางใจในท่าน

    สำหรับกรรมบถ ๑๐ และศีลข้อนี้อธิบายกันยาว เพราะนี่มันยาวไปหน่อยนะ

    ต่อไปข้อหนึ่ง คือ "วาจาหยาบ" วาจาหยาบ เป็นเครื่องสะเทือนใจบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดเลย แต่ความจริงบางโอกาสก็จำเป็นต้องพูดจำเป็นต้องใช้ แต่ควรใช้เฉพาะบุคคล ที่มีความจำเป็นของเรา อย่างคนที่อยู่ในปกครองจะเป็นลูกหรือจะเป็นใครก็ตามเถอะ เพราะคนเรามีนิสัย ๒ อย่าง คนที่มีนิสัยละเอียด นี่เป็นคนดีมาก คนประเภทนี้ชอบปลอบ และค่อยพูดค่อยจามีเหตุผล รับฟังแล้วปฏิบัติตามคนประเภทนี่พูดหยาบตึงตังโครมครามไม่ได้เสียหายกันเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะเธอมาจากสวรรค์ ถ้าบางคนเป็นคนนิสัยหยาบ เธอมาจากอบายภูมิ ถ้าพูดอ่อนโยน อ่อนหวาน เสร็จแก่ขี่คอแน่ คนประเภทนี้ไม่ต้องการวาจาดี ต้องใช้วาจาหยาบ ตึงตัวโครมคราม นี่เฉพาะคนในปกครองของเรา มีความจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะกับนิสัย แต่สำหรับกับเพื่อนบ้าน บรรดาญาติโยมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าใช้วาจาอ่อนโยนดีกว่า วาจาอ่อนโยนและอ่อนหวานนี้เป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าจะพูดที่ไหนใครก็ชอบจะพูดที่ไหนใครก็รัก

    แต่ว่าสำหรับเพื่อนที่คบหาสมาคมกันสนิทก็ไม่แน่นัก บางทีพูดเพราะๆ เข้าแก่ด่าเอาเลย หาว่าดัดจริต ฉะนั้น คำว่า "วาจาหยาบ" นี่ต้องดูเฉพาะบุคคล บางคนถ้าเป็นเพื่อนคบหาสมาคมมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก อาตมาพบท่านๆ หนึ่ง สมัยที่ยังไม่แก่นัก อาตมาก็ยังไม่แก่เกินไปนะเวลานั้น เวลานี้มันหาหนุ่มเกือบไม่ได้อยู่แล้ว มีแรงมาพูดได้ก็บุญตัวเวลานั้นยังไม่แก่เกินไป ไปพบคนๆ หนึ่งเคยเรียนหนังสือชั้นประถมมาด้วยกัน เธอเป็นอธิบดีกรมๆ หนึ่ง พอไปพูดวาจาหวานๆ เข้า แกชักกระชากเสียงว่า "ทำไมต้องพูดอย่างนี้ เมื่อสมัยเป็นเด็กอย่าลืมนะว่าเรียนหนังสือโต๊ะเดียวกัน ความเป็นใหญ่เป็นโต สำหรับเพื่อนรักไม่มีสำหรับเรากับท่าน" เขาว่าอย่างนั้น ว่าเพื่อนกันไม่มีอะไรใหญ่กว่ากัน ห้ามยกย่องสรรเสริญกันแบบนั้น นี่แบบนี้เขาก็มีนะ

    แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งเพื่อนกันที่เขาเป็นฆราวาส เขาก็ไปพบเพื่อนของเขาเหมือนกัน คนนี้ออกมาจากโรงเรียนแล้วก็ไม่มีงานราชการทำ เธอไมอยากจะทำ อยากจะทำงานส่วนตัว ก็เดินไปเดินมาแบบพ่อค้าหาบเร่ แต่ความจริงไม่ได้หาบ ติดต่อของที่โน่นเอามาขายที่นี่ ติดต่อที่นี่ไปขายที่โน่น รู้สึกว่ารายได้ดี รายได้ของเธอดีมาก บางวันสมัยนั้นค่าของเงินยังแพงอยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์ บางวันเธอได้กำไรเป็นร้อยๆ นับเป็นร้อยๆ บางวันถึงพัน อย่างไม่ได้เลยก็ ๒-๓ ร้อยบาท นี่แค่เฉพาะกำไร รวยมาก ดีกว่ารับราชการ เธอไปพบเพื่อนคนหนึ่งเป็นอธิบดีเหมือนกัน (คำว่า "เหมือนกัน" ก็เหมือนกับเพื่อนอาตมาอีกคนหนึ่ง) มาถึงก็ยกมือไหว้ "ท่านครับ" ครับผมเข้าให้ อธิบดีหันมาด่าเลย บอก "นี่..มึงอย่ามาพูดกับกูอย่างนี้ กูไม่ใช่นายมึง กูเป็นเพื่อนของมึงทีหลังห้ามพูดนะ" นายนั่นก็บอกว่า "ท่านเป็นอธิบดี" แกก็เลยกระชากเสียงมาใหม่บอก"กูเป็นอธิบดีสำหรับคนอื่น ไม่ใช่อธิบดีของมึง มึงเป็นเพื่อนกู ไปกินเหล้าด้วยกัน" ชวนไปกินเหล้ากันเลย

    รวมความว่า วาจาหยาบต้องดูเฉพาะบุคคลที่ควรไม่ควร รวมความว่า แหม..ถ้าใช้หวานๆ เกินไปสำหรับเพื่อนก็ไม่ดีเหมือนกัน ถ้ากร้าวเกินไปสำหรับเพื่อนบางคนก็ไม่ดีเหมือนกัน ต้องเลือกวาจาใช้ รวมความว่าใช้วาจานิ่มนวลไมหยาบคายมีประโยชน์กว่า เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป นี่ว่าสำหรับคนทั่วไปนะเป็น "คาถามหาเสน่ห์" เหมือนกัน

    เวลามันเหลือน้อย ยํ้าไปมาก ซอยไปมาก มันจะยุ่งแล้วหลวงตา มันจะจบไม่ทันเสียงก็แห้งลงมาทุกที แรงมันหมด มันยังไม่ตายก็พูดไปก่อน พูดให้มันขาดใจตายไปเลย

    ก็รวมความว่า ต่อไป "วาจาส่อเสียด" เรื่องการยุแยงตะแคงแสะ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าให้มีเด็ดขาด อันนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเลยท่าน เรายุให้เขาแตกแยกกันก็อย่าลืม หอกนั้นมันจะสนองเรา อย่าลืมว่าคนทุกคนนะเขามีปัญญา ทีแรกถ้าเขายังไม่พบหน้าซึ่งกันและกัน เขาอาจจะเชื่อเรา และคนที่มีปัญญาเบาคือจิตทรามไร้ปัญญาก็แล้วกัน เมื่อรับฟังแล้วก็เชื่อเลยประเภทนี้ก็มี แบบนี้สร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นมาเยอะ คนบางคนเขาใชัปัญญาก็มีเหมือนกัน ถ้าบังเอิญเขาพบกันเข้า ไต่ส่วนกันเข้าเมื่อไร วาจาที่เรายุแยงตะแคงแสะไว้มันไม่ตรงตามความเป็นจริง ตอนนี้แหละ ญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เรื่องร้ายก็ตกกับเรา เขาเกลียดนํ้าหน้า ดีไม่ดีแทนวาจาจะต่อว่ากลายเป็นอาวุธไปก็ได้ เขาอาจจะจ้างคนมาฆ่าให้ตาย หรือเขาจะฆ่าเองก็ได้ ข้อนี้อย่าทำ

    แล้วสำหรับอีกวาจาหนึ่ง คือ "วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล" คือวาจาไร้ประโยชน์ นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าให้มีเป็นอันขาด พูดไปมันก็เหนื่อยเปล่า ถ้าคนเลวเขารับฟังก็ฟังได้ แต่ถ้าเป็นการเล่านิทานไม่เป็นไร ไม่ไร้ประโยชน์ สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดแก่ผู้รับฟัง นิทานใครๆ ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่วาจาที่พูดกับเพื่อน ถึงแม้ว่าไม่ใช่วาจาที่เป็นงานเป็นการ แต่พูดไปไร้เหตุไร้ผลนี่ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน อย่าพูดเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพูดไปเราก็เป็นคนเสีย วันหลังถ้าไปเจอะหน้ากันเข้าหรือเขาไปพบกัน เขาไปพบกับคนอื่นใดเขาจะกล่าวว่า "ไอ้หมอนั่น อีหมอนี่มันไม่ดี พูดส่งเดชไร้ประโยชน์" ต่อไปข่าวนี้กระจายมากไปเท่าไรก็ตามที เราก็เป็นคนเสียเท่านั้นทีหลังจะพูดอะไรกับใครเขา เขาก็ไม่อยากจะฟัง ถ้ามีความทุกข์ปรารถนาจะขอความช่วยเหลือ เขาก็ไม่อยากช่วย เพราะเขาไม่เชื่อวาจาของเรา

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตามที่ท่านสุนทรภู่ท่านว่าไว้ว่า "จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา" นี่เป็นความจริง ถ้าเราเป็นคนพูดที่ดีคือ

    ๑. พูดตามความเป็นจริง

    ๒. ไม่พูดหยาบคาย ใช้วาจาไพเราะ

    ๓. ไม่ส่อเสียด ไม่ยุยงส่งเสริมเขาให้แตกร้าวกัน

    ๔. ใช้วาจาเฉพาะที่วาจาที่เป็นประโยชน์

    ทั้ง ๔ ประการนี้ คำว่า "โทษ" ไม่มีกับเรา มีแต่คุณเท่านั้น จะไปที่ไหนจะพูดที่ไหน ใครก็อยากรับฟัง เขาถือว่า วาจาเป็นทิพย์.."

    http://www.agalico.com/board/archive/index.php/t-1246.html
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 68966896.jpg
      68966896.jpg
      ขนาดไฟล์:
      49.4 KB
      เปิดดู:
      288
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มกราคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...