เรื่องเด่น ปฏิวัติวงการสงฆ์ แก้ 5 โรครุมเร้า

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 14 กรกฎาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    e0b8b4e0b8a7e0b887e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8aae0b887e0b886e0b98c-e0b981e0b881e0b989-5-e0b982e0b8a3-1.jpg

    วันหยุดยาวปลายเดือนนี้ 27-30 กรกฎาคม หลายคนนึกถึงการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่หากมองปฏิทินกันสักหน่อยจะพบที่มาของวันหยุด นอกจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 แล้วยังเป็นวันสำคัญทางศาสนา วันเข้าพรรษา และอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคม

    วันสำคัญอย่างนี้ชาวพุทธ 95 % ในประเทศไทยรวมถึงเราๆท่านๆต้องนึกถึง “การทำบุญตักบาตร” พระสงฆ์เป็นอันดับแรก และอาหารที่เราจะตักบาตรคงหนีไม่พ้นข้าวสวย อาหารคาวหวาน และเครื่องดื่มที่ดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาหารโปรดของคนที่ล่วงลับ

    เหตุนี้พระสงฆ์จึงเป็นเพียงสื่อกลางในการนำความปรารถนาดีไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ หรือแม้แต่การถวายเครื่องดื่มระหว่างวันให้กับพระสงฆ์ เช่น งานศพ ประเภทกาแฟ เครื่องดืมชูกำลัง ที่ไม่เคยขาด

    เมื่อเราไม่ได้นึกถึงพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นเพียงสื่อกลางระหว่างโลกนี้กับโลกที่มองไม่เห็น ทำให้หลายคนหลงลืมไปว่า อาหารคาวหวานที่ชาวพุทธตักบาตร หรือถวาย เพื่อให้พระสงฆ์ฉันนั้น จะมีผลอย่างไรต่อร่างกายของท่าน เพราะเมื่อมีญาติโยมมาถวายก็ต้องรับ ไม่อาจปฎิเสธได้

    ประกอบกับพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่ไม่หลีกเลี่ยงอาหารทำหลายสุขภาพด้วยตัวเอง ไม่ลดละอาหารหวานมันเค็ม ซ้ำร้ายไม่ออกกำลังกายด้วยเกรงผิดวินัย

    เมื่อสะสมนานวันเข้า พระสงฆ์จึงเผชิญกับปัญหาสุขภาพอย่างหนักในเวลานี้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ และไขมันในเลือดสูง ไม่แตกต่างจากฆราวาส ซึ่งล้วนมีสาเหตุจากพฤติกรรมที่สงผลต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน


    เมื่อพระสงฆ์ 300,000 รูปในประเทศไทยเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกมองข้าม ผลจากโครงการวิจัย “ศึกษาแนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของพระภิกษุสงฆ์” สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2554-2555 จึงพบว่าพระสงฆ์อยู่ในเกณฑ์อ้วน 45.1% มีโรคประจำตัว 40.2 % และพระสงฆ์มีสุขภาพดี 33.3%

    พระสงฆ์ที่อาพาธมีหลายโรครุมเร้า ทั้งช่วยเหลือตัวเองได้ จนถึงอาพาธติดเตียง ข้อมูลกรมการแพทย์ ปี 2559 ระบุว่า พระสงฆ์และสามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
    1. โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 ราย
    2. โรคความดันโลหิตสูง 8,520 ราย
    3. โรคเบาหวาน 6,320 ราย
    4. โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 ราย
    5. โรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 ราย
    สอดคล้องกับผลการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ 349,659 รูปของกรมอนามัย ที่พบปัญหาสุขภาพพระสงฆ์

    • เขตกทม.มีภาวะไขมันสูงผิดปกติ ทำให้เกิดโรคอ้วนมากที่สุด
    • ภาคใต้ มีภาวะกรดยูริกสูง และการทำงานของไตผิดปกติ
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบภาวะโลหิตจาง และพบพระสงฆ์อายุ 35 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการทำงานของไตผิดปกติถึง 8 เท่าและหากมีภาวะอ้วนร่วมด้วยก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันในเลือดผิดปกติและเบาหวานมากกว่าธรรมดา 2 เท่า

    อุปสรรคสำคัญของการดูแลพระสงฆ์ คือ พระสงฆ์จำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ด้วยเพราะการไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการต่างๆ เป็นเรื่องยุ่งยาก สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ กำกับพระสงฆ์ที่มีอยู่ถึง 227 ข้อ ตั้งแต่การเดินทางจนถึงการรักษาที่มีหมอพยาบาลเป็นผู้หญิง

    ผลที่ตามมาก็คือพระสงฆ์ถูกแยกขาดจากระบบการรักษาพยาบาล ทั้งงานส่งเสริมสุขภาพก็เข้าไม่ถึง

    สถานการณ์อย่างนี้ทำให้วงการพระสงฆ์ไม่สามารถอยู่เฉยได้ คณะกรรมการมหาเถรสมาคมจึงมีมติขับเคลื่อนงาน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ขึ้นเมื่อปี 2560 โดยให้วัดส่งเสริมสุขภาพที่คณะสงฆ์ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นกลไกในการทำงาน ร่วมกับ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่

    โดยให้ทั้งสองเครื่องมือถูกดึงเข้าสู่แผนงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมท้นที เพื่อให้วงการสงฆ์ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้เอง ต่อมาได้มอบหมายให้กรรมการมหาเถรสมาคม 2 รูป ประกอบด้วย พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา และพระพรหมบัณฑิต วัดประยูรวงศาวาส เป็นที่ปรึกษาโครงการ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

    จากนั้นกระบวนการ “ธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติ” ก็เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เป็นรูปธรรม เพื่อวางกฎกติการ่วมกันในการทำให้เกิดสุขภาวะในพระสงฆ์

    ก่อนร่างกติกามีการรับฟังความเห็นทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)เป็นฟันเฟืองหลักในการทำงาน และมีหน่วยงานรวมถึงองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมสนับสนุน มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น 4 ภาค และคณะสงฆ์ธรรมยุต 1 เวที แต่ละเวทีมีทั้งคณะสงฆ์จากมหานิกายและธรรมยุต รวมถึงฝ่ายฆราวาสเข้าร่วมจำนวนมาก

    กระทั่งธรรมนูญฯฉบับนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และประกาศ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ต่อสาธารณะในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับคณะสงฆ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

    ในธรรมนูญพระสงฆ์แบ่งเป็นหมวด 1 ปรัชญา และแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ 2.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตามหลักพระธรรมวินัย หมวด 3 ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หมวด 4 บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม หมวด 5 การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ

    e0b8b4e0b8a7e0b887e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8aae0b887e0b886e0b98c-e0b981e0b881e0b989-5-e0b982e0b8a3-2.jpg

    ล่าสุดธรรมนูญฉบับนี้ถูกขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมแล้วผ่าน “คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติ” ที่มีพระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ และนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธานกรรมการฝ่ายฆราวาส

    โดยมีมติเมื่อเร็วๆนี้อนุมัติแนวทางขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

    1. พัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ มุ่งเน้นการจัดทำทะเบียนพระสงฆ์ทั่วประเทศ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับระบบทะเบียนราษฎร์ เพื่อกำหนดแนวทางการดูแลและจัดบริการสุขภาพ
    2. พัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก หรือ พระผู้ดูแลพระสงฆ์อาพาธ และทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ โดยจะตั้ง 1 รูปเป็นอย่างน้อยต่อ 1 อำเภอภายในปี 2562 และอย่างน้อย 1 ตำบลภายในปี 2564 และวัดละ 1 รูปภายในปี 2566 โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมที่ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาทีมร่วมทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งพระสงฆ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และจิตอาสา
    3. ให้วัดส่งเสริมสุขภาพมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ อาทิ พื้นที่สำหรับดูแลสุขภาพพระสงฆ์อาพาธ หรือมีกฏิสงฆ์อาพาธ เป็นต้น
    4. สื่อสารสาธารณะที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่พระสงฆ์ คณะสงฆ์ และประชาชน
    5. การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นนำร่องใน 20 จังหวัดที่มีความพร้อม อาทิ นครราชสีมา และจัดอบรมถวายองค์ความรู้ให้แก่พระนักสื่อสาร พระนักพัฒนา พระสังฆาธิการ และพระคิลานุปัฏฐากระดับเขต

    และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแยกกันทำงานตามภารกิจ 4 คณะ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการจัดการระบบข้อมูลพระสงฆ์ อนุกรรมการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก และขับเคลื่อนด้านการสนับสนุนงานวัดส่งเสริมสุขภาพ อนุกรรมการขับเคลื่อนด้านการสื่อสารสาธารณะ อนุกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยจะมีทั้งพระสงฆ์ หน่วยงานและประชาชนร่วมกันทำงาน

    การขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์ครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปวงการสงฆ์ครั้งใหญ่อีกคำรบหนึ่ง เพื่อให้ปัญหาที่ถูกกลบไว้ใต้พรมอย่างสุขภาพพระสงฆ์ที่กำลังวิกฤติถูกดึงขึ้นมาแก้ไขเป็นรูปธรรม โดยมีพระสงฆ์เห็นความสำคัญของสุขภาวะด้วยตัวเอง และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนในหมู่สงฆ์ เพื่อให้การปรับพฤติกรรมการบริโภค และการออกกำลัง รวมถึงการบริการสุขภาพให้กับพระสงฆ์สอดคล้องกับพระธรรมวินัย พร้อมกับให้พระสงฆ์เป็นกลไกในการดึงประชาชนเข้ามาร่วมในงานส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ ซึงจะส่งผลให้ประชาชนปรับพฤติกรรมตนเองไปสู่สุขภาวะด้วย

    ถือว่าการปฏิวัติวงการพระสงฆ์ในเรื่องสุขภาวะครั้งนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยทีเดียว

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thebangkokinsight.com/23667
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...