ปฏิบัติธรรม ... จะเริ่มต้นอย่างไรดี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย J.Sayamol, 10 พฤษภาคม 2009.

  1. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    ปฏิบัติธรรม ... จะเริ่มต้นอย่างไรดี


    สารบัญ
    หน้า : 1 บทนำ
    หน้า : 2 ทำไมต้องสนใจ ทำไมต้องปฏิบัติธรรม
    หน้า : 3 ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี
    หน้า : 4 ทำไมต้องรู้จิต
    หน้า : 5 ปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติ
    หน้า : 6 เจริญสติไปทำไม?
    หน้า : 7 สมถะ VS วิปัสสนา
    หน้า : 8 ภาษาคน ภาษาธรรม และสภาวะธรรม
    หน้า : 9 รู้จักกับ ปัญญา (3 ระดับ)


    หน้าที่ 1 - บทนำ


    ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

    ขอกราบนมัสการหลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ชา ท่านหลวงพ่อพุทธทาส หลวงพ่อเทียน รวมทั้งพระผู้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบทุกท่าน ที่ได้สืบต่อและมอบมรดกธรรมเอาไว้ให้พวกเรา แม้ท่านจะล่วงลับดับกายสังขารไปแล้ว

    ขอกราบนมัสการสมเด็จพระญาณสังวร หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช หลวงพ่อติช นัท ฮันห์(ชาวเวียดนาม) รวมทั้งพระผู้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบทุกท่านที่ยังมีชีวิต มีเมตตาอบรมส่งสอนธรรมะให้กับพวกเราทุกคน

    พระสงฆ์ที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก และมีความซาบซึ้งในการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ารู้จักท่านจากธรรมะ จากผลงาน จากคำสอน จากปฎิปทาการปฏิบัติที่น่ายกย่องบูชา

    ท่านเป็นกัลยาณมิตรที่ประเสริฐยิ่ง ... การเข้าถึงธรรมหรือความดีของกัลยามิตรที่หาได้ยาก โดยไม่ต้องรู้จักเห็นหน้าตากันเป็นการส่วนตัว เช่นนี้ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใฝ่ธรรม ให้เกิดมีฉันทะ มีความสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ค้นพบ

    การมีกัลยาณมิตรที่ดี จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก มากที่สุดเลยทีเดียว สำหรับผู้ที่เริ่มต้นที่ยังไม่ค่อยรู้ ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม


    [​IMG]


    หน้าที่ 2 - ทำไมต้องสนใจ ทำไมต้องปฏิบัติธรรม

    ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีปัจจัย การที่จะเกิดความสนใจใฝ่ธรรมขึ้นสำหรับแต่ละคนนั้น อาจจะแตกต่างกันไป สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจแล้ว หรือสนใจมากๆแล้ว ย่อมรู้ว่า เราเกิดความสนใจได้อย่างไร

    ดังนั้นคำถามที่ว่า "ทำไมต้องสนใจ ทำไมต้องปฏิบัติธรรม?" จึงไม่ใช่คำถามของทุกคน เพราะบางคนนั้น มีคำตอบที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง เข้าใจดีอยู่แล้ว


    โดยทั่วไป ก็ขึ้นอยู่กับ (1) ปัจจัยภายนอก ที่เรียกว่า กัลยาณมิตร และ (2) ปัจจัยภายใน ซึ่งหมายถึง คุณภาพของจิตใจที่เป็นกุศล และประกอบด้วยปัญญาของเรานั่นเอง

    การรู้ว่าเราสนใจธรรมะ สนใจการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร นับว่าเป็นก้าวแรกของ "การรู้" ที่สำคัญเช่นกัน

    เช่นเดียวกับการที่เรารู้ว่า ทำไมเราจึงไม่ใส่ใจธรรมะ ไม่สนใจการปฏิบัติธรรม

    เพราะเมื่อเราเริ่มรู้ได้ด้วยตัวเอง รู้ว่าสนใจ รู้ว่าไม่สนใจ ... นั่นแหละคือ หนึ่งขณะของการปฏิบัติธรรม
     
  2. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]


    หน้าที่ 3 - ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี


    "ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี?" ฟังดูเป็นคำถามง่ายๆ ... แต่ถ้าไม่ตั้งสติ (หรือไม่สนใจ) ก็อาจจะให้คำตอบที่ถูกต้องไม่ได้

    เราอาจจะไปวัดโน้นวัดนี้ ไปหาครูบาอาจารย์คนนั้นคนนี้ สำนักนั้น สำนักนี้บ้าง ... เหล่านี้ไม่ใช่ที่ปฏิบัติธรรมที่เราจะลงมือปฏิบัติจริง ๆ

    นักปฏิบัติธรรมทุกคน รวมทั้งพระพุทธองค์ ล้วนปฏิบัติธรรมที่ "ตัวของเรานี่เอง" ตัวของเราที่ประกอบด้วย "กาย" และ "จิตใจ"

    และเนื่องจาก "จิตใจ" หรือ "มโน" นั้นเป็นส่วนรู้ที่สำคัญที่สุดในทุก ๆ เรื่องที่มีการรู้ ทั้งที่รู้จริง และรู้ปลอมแบบนึกคิดปรุงแต่ง จึงสรุปลงสั้นๆว่า เราต้องปฏิบัติธรรมที่ "จิต" ของเรา

    สภาวะธรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราล้วนเกิดขึ้นที่จิต อาจจะดูเหมือนว่าคงอยู่ชั่วขณะ แล้วก็แปรเปลี่ยน และดับไป ที่ "จิต" ของเรานี่เอง

    การทำงานของ "จิต" ส่วนใหญ่เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็วมาก จนเราไม่รู้ตัว ไม่มีสติรู้ ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรม หรือคนโดยทั่วไป จึงอยู่ในสภาวะที่ปล่อยให้จิตทำงานอยู่ตลอดเวลา ตามความคุ้นเคยเดิม ตามคุณภาพของจิตเดิม(ที่เป็นอกุศลโดยส่วนมาก) โดยไม่รู้ตัวว่ารู้สึก ไม่รู้ตัวว่ากำลังจะคิดอะไร หรือคิดอะไรไปแล้วบ้าง



    [​IMG]


    หน้าที่ 4 - ทำไมต้องรู้จิต


    ก็เพราะว่าเราปฏิบัติธรรมที่จิต ถ้าเราไม่รู้จักกับ "จิต" เราก็จะไม่รู้จักการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

    การรู้จักกับจิตนี้ ไม่ใช่การรู้ด้วยการคิดเอาเอง โดยการคิดตาม โดยการอ่าน หรือการฟังต่าง ๆ

    เราจะรู้จักจิตได้ ก็ต้องเริ่มที่จะรู้ "ธรรมชาติของจิต" หรือ "พฤติกรรม" การทำงานของจิต(ของเราเอง)

    จิตเป็นสภาวะธรรมที่รู้ เป็นตัวที่รู้การกระทบ ทุกๆครั้งที่มีการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จะมีตัวรู้เกิดขึ้น "ตัวรู้" หรือ "ผู้รู้" ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสภาวะที่เราสมมติให้เรียกว่า "จิต"

    การปฏิบัติธรรมในขั้นต้นจึงเป็นการทำให้เรารับรู้ตามเป็นจริงของธรรมชาติว่า มีตัวผู้รู้ หรือมีจิต ที่แสดงสภาวะของการรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเครื่องมือที่จำเป็นที่ใช้ในการตามรู้นี้เรียกว่า "สติ"

    "สติ" เองก็เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับจิต เป็นสภาวะที่เราต้องอบรมพัฒนาให้มีขึ้น เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะเมื่อมีสติ เราก็จะ "รู้" แต่เมื่อขาดสติ เราก็จะ "หลง" ไปเลยทันที หลงไปรู้สึก เผลอไปคิด โดยไม่รู้ทันว่า ความรู้สึก หรือความคิดนั้น ๆ ได้เกิดขึ้น คงอยู่ชั่วขณะ แปรเปลี่ยน และดับไปอย่างไร

    ตัวอย่างเช่นกรณีที่มีคนมาด่าว่าเราด้วยคำพูดที่ไม่ดี ถ้าเราไม่มีสติรู้ทัน เราก็จะเกิดอารมณ์โกรธขึ้นทันที และอารมณ์โกรธนั้นก็จะปรุงแต่งให้จิตใจเป็นอกุศลต่อเนื่องกันไป อาจจะถึงกับมีการกระทำตอบโต้ออกมาทางด้านวาจา ทางด้านกายบ้าง (ทางด้านใจได้เกิดอกุศลกรรมขึ้นเรียบร้อยแล้ว) ... แต่หากเรามีสติรู้ทัน เราอาจจะมีอารณ์เกิดขึ้นเพียงแว๊บเดียว สติ การรู้ทัน ปัญญา กุศลจิต หรือจิตที่เป็นอุเบกขา ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ทำให้เกิดกุศลกรรมขึ้นมาแทน หรือเกิดปัญญารู้ ที่จะถอดถอนความเข้าใจเดิมผิด ๆ ที่เราเคยมีต่อสภาวะ "โกรธ"
     
  3. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]


    หน้าที่ 5 - ปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติ


    สิ่งที่เป็นตัวตัดสินว่า ในขณะหนึ่งๆนั้นเป็นขณะของการปฏิบัติธรรมหรือไม่ สิ่งนั้นคือตัว "สติ"

    การทำความเพียรใดๆ ความพยายามใดๆ การฝึกเพ่ง ฝึกข่ม ฝึกทรมานตนใด ๆ รวมทั้งการอ่านหนังสือธรรมะต่าง ๆ ถ้าหากไม่มีสติแล้ว ก็ไม่เรียกว่าเป็นความเพียรชอบ และไม่ใช่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง

    ความหมายของการฝึกปฏิบัติธรรมในขั้นต้น จึงอาจจะสรุปได้สั้นๆคือเป็นการเจริญสติ นั่นเอง

    การเจริญสติ ฝึกให้เรารู้การทำงานของจิต คอยตามรู้การกระทบต่าง ๆ ตามดูการคิดที่คอยคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นา ๆ เฝ้าสังเกตดูอยู่ ให้รู้เท่าทันอย่างสบาย ๆ เป็นธรรมชาติ โดยไม่เข้าไปกำหนดเชิงบังคับ หรือเข้าไปแทรกแซง

    ทุกครั้งที่เรารู้ทัน หรือแม้แต่ตามรู้ทันทีหลังอยู่ใกล้ ๆ กัน สิ่งที่พัฒนาขึ้นในจิตใจของเราคือ "สติ" เจริญสตินั่นเอง

    การบ้านชิ้นแรกที่ไม่ยากไม่ง่าย สำหรับนักปฏิบัติธรรมมือใหม่ ก็คือ การฝึกเจริญสติ ให้มีสติบ่อย ๆ มากขึ้น ๆ และต้องเป็นการฝึกให้เกิดมีขึ้นให้ได้ในแทบทุกขณะของอริยาบท ในทุกขณะของการทำงานในชีวิตประจำวันของเรา

    การปลีกแยกตัวไปหาที่สงัด หรือที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในการฝึกสติในเบื้องต้นนั้นอาจจะมีความจำเป็นในขั้นเริ่มต้นแรก ๆ แต่สุดท้ายแล้ว เราต้องฝึกให้มีสติให้ได้ในทุก ๆ ที่ แม้แต่ในที่ที่มีสิ่งกระทบกวนใจเราอยู่มากมายที่เราต้องเผชิญอยู่เสมอ ๆ เป็นปกติในแต่ละวัน



    [​IMG]


    หน้าที่ 6 - เจริญสติไปทำไม?


    จุดมุ่งหมายเบื้องต้นของการเจริญสตินั้น

    (1) เพื่อให้เราได้รู้จักกับคุณภาพของจิตของเราในขณะนี้

    ถ้าหากเรายังไม่รู้ว่าในขณะนี้จิตใจของเราเป็นอย่างไร มีระดับของกุศลจิตและอกุศลจิตอยู่มากน้อยเพียงใด มีระดับของความคิดเห็นที่ถูกที่ควรหรือมีปัญญาอยู่เพียงใด ... เราก็จะตกอยู่ในสภาพของคนหรือสภาพของชีวิตที่ยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่รู้จักแม้แต่ในขั้นเบื้องต้นที่จำเป็นและเพียงพอ ... เมื่อยังไม่รู้จักตัวเราดี ไม่รู้สภาวะจิตใจของเรา ก็ป่วยการที่เราจะไปสนใจไปทำอะไรอื่นๆให้เกิดผลดีได้ ... เมื่อไม่รู้ ชีวิตและจิตใจก็จะถูกปล่อยให้ดำเนินไปตามความไม่รู้ เป็นไปตามกิเลสหรืออกุศลจิตเดิมๆที่เราเก็บสั่งสมไว้


    (2) เพื่อให้ได้เครื่องมือชิ้นที่ 1 ที่สำคัญที่สุดในขั้นแรกของการปฏิบัติธรรม

    ทำไมจึงกล่าวว่า "สติ" เป็นเครื่องมือชิ้นที่ 1 ที่สำคัญที่สุดในขั้นแรกของการปฏิบัติธรรม ก็เพราะว่า "สติ" คือ หัวใจของ "ศีล" นั่นเอง บุคคลที่ขาดสติอยู่บ่อยๆ จะมีศีล จะรักษาศีลไว้ไม่ได้เลย การมีสติ รู้ทันการกระทบของจิต รู้ทันอารมณ์ รู้ว่ากุศลจิต หรืออกุศลจิตกำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือขณะแห่งการรักษาศีลที่สมบูรณ์


    การบ้านชิ้นที่ 2 ต่อเนื่องจากการได้ฝึกเจริญสติ จนเราเริ่มคุ้นเคยกับการมีสติบ่อยๆ หรือจนเราเริ่มรู้ได้ว่า จิตเราเริ่มที่จะเจริญขึ้น มีคุณภาพมากขึ้นในเรื่องของ "การมีสติ" ... ที่สำคัญคือ เราจะเริ่มสังเกตได้ว่า จิตของเราเริ่มจะมีธรรมชาติของการมีสติมากขึ้น จิตเลือกที่จะมีสติเองอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเราจะเริ่มสังเกตเห็นได้ ... เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะรู้ว่าเราได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมในขั้นเบื้องต้นแล้ว

    อย่าลืมว่า จิตนั้นเราจะไปบังคับเขาไม่ได้ เราจะสั่งให้เขามีสติไม่ได้ แต่การคอยเฝ้าดูอาการของจิต การเกิดขึ้นของอารมณ์ ความรู้สึก และการนึกคิดต่างๆ ... เฝ้าสังเกต ให้รู้ทันอยู่ใกล้ ๆ เรื่อย ๆ บ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ และทำต่อเนื่องกันเช่นนี้ ทำเหตุเช่นนี้ ด้วยฉันทะ ด้วยความตั้งใจ และความขยัน (อย่างสบายๆ) ... ผลที่ได้คือ จิตจะเริ่มคุ้นเคยกับการมีสติ และเลือกที่จะมีสติเอง ... กล่าวคือ จิตมีคุณภาพในเรื่องสติดีขึ้นนั่นเอง

    การฝึกในขั้นต่อไป ก็ให้ทำเหมือนเดิม ผลที่ถูกต้องที่เกิดขึ้น จากการทำเหตุที่ถูกต้อง จะเกิดขึ้นเอง และเราจะรู้ได้เอง ซึ่งจะเป็นตัวตรวจสอบ เป็นพยานหรือเป็นเครื่องยืนยันหลักวิธีการปฏิบัติในการเจริญสติของเรา ในขั้นนี้เราจะเริ่มได้รู้จักกับสภาวะที่ไม่เคยรู้ เราจะได้รู้จักกับสภาวะของการมีสติอยู่บ่อย ๆ สภาวะของการมีสติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นจากจิตของเราอย่างเป็นธรรมชาติ ... ให้เราพียงแต่รู้ ตามรู้อย่างที่เคยปฏิบัติ ถ้าเกิดอาการผ่อนคลาย อาการถอดถอน อาการสงบระงับ หรือเกิดสมาธิขึ้น ก็เพียงแต่ตามรู้ ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง อาจจะเกิดความปิติ ความยินดี ก็ให้รู้ว่าปิติยินดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสภาวะธรรมทั้งนั้น อาจจะปรากฏอยู่สักครู่สั้น ๆ แล้วก็จะดับหายไป เมื่อเกิดก็ให้รู้ คงอยู่ชั่วขณะก็ให้รู้ และดับไปก็ให้รู้ ... อย่าเผลอตัวเผลอสติไปอาลัยอาวรณ์ อย่าไปเผลอคิดอยากให้สภาวะเหล่านี้คงอยู่นานๆ ... ถึงแม้จะเป็นสภาวะธรรมฝ่ายกุศล เขาก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจบังคับของเรา เขาเกิดขึ้นจากเหตุ อยู่ได้ด้วยเหตุ และดับไปตามเหตุ ... ให้เราเพียงแต่ตามรู้ มีสติรู้สภาวะความเป็นไปเหล่านี้เท่านั้น ... ไม่ต้องไปติดใจ ไปอยากให้เขาเกิดขึ้น ... เพราะเขาจะไม่เกิดขึ้นเพราะความอยาก ... เมื่อมีสติ รู้ และเห็นตามเช่นนี้ได้ ... ก็จะเกิดการพัฒนาของจิตที่เรียกว่า "เจริญปัญญา"

    เมื่อ "เจริญสติ" ได้ถูกต้อง จนถึงขั้นหนึ่งแล้ว ก็จะถูกส่งต่อไปยังขั้นของการ "เจริญปัญญา" เองโดยอัตโนมัติ

     
  4. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]


    หน้าที่ 7 - สมถะ VS วิปัสสนา

    สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคำ 2 คำที่สำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความสับสน ความสงสัย หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

    "สมถะ" นั้นคือ "การเจริญสมาธิ"
    ส่วน "วิปัสสนา" นั้นคือ "การเจริญปัญญา"

    แต่ทั้งการเจริญสมาธิ และ การเจริญปัญญา ต่างต้องมีฐานเริ่มต้นที่ "การเจริญสติ"

    การเริ่มฝึกปฎิบัติธรรมด้วยการฝึกเจริญสติ จึงเป็นกลวิธีหรืออุบายที่ลัดสั้นตรง และเป็นธรรมชาติมากที่สุดวิธีหนึ่ง

    การเจริญสมาธิ หรือการฝึกทำสมาธิ เป็นการฝึกกำหนดสติ ฝึกให้มีเจตนา มีความตั้งใจกับการกระทำ หรืออารมณ์ที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มีสติ มีเจตนาที่จะประคับประคองให้จิตมีความสนใจ รับรู้อารมณ์เดียวนั้น ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน

    ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับการฝึกทำสมาธิคือ ระดับของการกำหนดบังคับ เพื่อประคับประคองจิตให้สนใจอยู่ในอารมณ์เดียวนั้นผู้ปฏิบัติอาจจะค้นหาหรือทำให้เกิดขึ้นได้ยาก ถ้าบังคับมากไปก็จะกลายเป็นความอยาก ถ้าบังคับน้อยไป จิตก็จะฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อยซึ่งตามจริงแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่อันนี้คือ ตัวสติ และเจตนา

    ต้องไม่ลืมว่า โดยแท้จริงนั้น จิตเป็นของที่เราบังคับไม่ได้ แต่จิตนั้นสามารถฝึกได้ ฝึกให้มีสติ ฝึกให้มีความคุ้นเคยกับกุศลหรือสภาวะธรรมที่ดีงาม ฝึกจนจิตนั้นเกิดอารมณ์ที่ละเอียด จนเขาเกิดความสนใจ สืบต่อความสนใจให้ติดต่อเนื่องกันไปได้

    ในกรณีของผู้ปฏิบัติที่ผ่านขั้นตอนของการเจริญสติมาดีแล้ว สมาธิแบบสั้น ๆ จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพราะสติที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาเอง

    กล่าวกันตามจริงนั้น สมาธิจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าจิตใจของเรายังไม่มีคุณภาพของการมีสติที่ดีเพียงพอ


    การเริ่มฝึกปฏิบัติธรรมด้วยการฝึกทำสมาธิ จึงเป็นการฝึกการเจริญสติไปพร้อม ๆ กับการเจริญสมาธินั่นเอง


    ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมมือใหม่ที่สติยังไม่พร้อม ย่อมไม่อาจจะฝึกสมาธิให้ได้ผลที่ดีได้เลย นอกเสียจากจะได้สิ่งแวดล้อมปัจจัยที่ดีมากๆ เช่น จิตเข้าไปรับเอาอารมณ์ของความสงบสุขระงับ ความปิติ ความปลื้มใจ อันเนื่องด้วยผลวิบากจากการทำความดี การทำบุญกุศลต่าง ๆ (อย่างถูกต้อง)


    [​IMG]


    หน้าที่ 8 - ภาษาคน ภาษาธรรม และสภาวะธรรม


    ภาษา จัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนเรา ถ้าหากเราอยู่เพียงลำพังตัวคนเดียวแล้ว ภาษาก็จะลดความสำคัญลง เพราะไม่มีความจำเป็นในการสื่อสาร ถ่ายทอด แลกเปลี่ยน กับคนอื่น ๆ


    ความสำคัญของภาษานั้น อยู่ที่การสื่อความหมายทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึก และความนึกคิด ซึ่งจุดนี้เองที่เข้ามาเชื่อมโยงกับเรื่องจิต เชื่อมโยงกับ "คุณภาพของจิตใจ" ของผู้ใช้ภาษาและผู้รับภาษา


    เมื่อจิตใจของเรามีคุณภาพเช่นไร การใช้ภาษาทั้งให้และรับ ก็ย่อมสะท้อนคุณภาพจิตใจของเรานั้นเอง เมื่อจิตใจของเรายังไม่ได้รับการฝึก รับการอบรม ชีวิตที่ผ่าน ๆ มาถูกปล่อยให้ดำเนินไปตามความคุ้นเคยเดิม ๆ ภาษาที่เราใช้กันก็จะสื่อได้เฉพาะความเข้าใจเดิม ๆ ที่จำกัด ปะปนไปด้วยความเข้าใจผิด ความไม่ชัดเจนต่าง ๆ อันนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า "ภาษาคน"


    ส่วน "ภาษาธรรม" นั้น เป็นความพยายามในการสื่อ สิ่งที่รู้ สื่อปัญญา ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ความหมายที่สื่ออกไปนั้น จึงไม่อาจเข้าใจได้ในลักษณะธรรมดาทั่วไปเช่นเดียวกับภาษาคน บ่อยครั้งที่ต้องใช้การเปรียบเทียบ ใช้การเล่นคำ เพื่อกระตุ้นให้คิด (เช่นในกรณีของโกอาน หรือบทกวีของเซน) และบางครั้งก็จำเป็นต้องสมมติศัพท์เป็นชื่อเรียกเอาไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ อธิบายเข้าไปในลำดับขั้นของการฝึกปฏิบัติ

    ตัวอย่างของภาษาธรรมง่ายๆได้แก่คำว่า จิต สติ ความรู้สึกตัว อารมณ์ เวทนา ความคิด โมหะหรือความหลง ความรู้จริงหรือปัญญา เป็นต้น

    ท่านพุทธทาสได้ใช้ความพยายามอย่างมากในผลงานหนังสือจำนวนมากของท่าน ที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ภาษาคน กับ ภาษาธรรม ท่านได้พยายามกระตุ้นให้เราคิดให้เห็นข้อจำกัดทางความคิดเดิม ๆโดยทั่วไปของคนเรา รวมทั้งความเข้าใจที่ผิดๆ คลาดเคลื่อนต่าง ๆ และพยายามปลุกและปลูกฝังให้เราได้มีความคิดความเข้าใจอันใหม่ที่ถูกต้อง เพื่อให้ไปให้ถึง "ภาษาธรรม" ที่แท้จริง

    เราสามารถทดสอบตัวเราเองได้ง่ายๆ ว่าเราเองมีความเข้าใจในภาษาธรรมมากน้อยเพียงใด ขอให้ลองพิจารณาตอบคำถามต่อไปนี้

    (1) ความสุข คืออะไร? ความทุกข์ คืออะไร?
    (2) เราเกิดมาทำไม มีเป้าหมายชีวิตอย่างไร?
    (3) ความรู้คืออะไร? ปัญญาคืออะไร?
    ฯลฯ


    หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่าคำถามเหล่านี้ใคร ๆ ก็รู้คำตอบอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริง ๆ เราโดยส่วนมากไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนต่อปัญหาเหล่านี้ บ้างก็ไม่สนใจ บ้างก็ตอบไปตามความรู้สึก บ้างก็ตอบไปตามความนึกคิด ซึ่งไปได้ไกลอย่างมากแค่เพียงการถกเถียงเชิงปรัชญา ซึ่งเข้าสู่วังวนของ ความถือตัว และการยึดมั่นในความเห็นแคบ ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง


    ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นพึงระมัดระวังในเรื่องการใช้ภาษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านของการเป็นผู้สื่อภาษาออกไปและด้านการเป็นผู้รับภาษานั้นเข้ามา เราจำเป็นต้องมีสติในเรื่องของภาษา เราต้องฝึกให้รู้ว่า "ภาษา" นั้นเป็นเพียง "รูป" ที่สุดท้ายแล้วจะเข้าไปกระทบการรับรู้ของจิตใจ ซึ่งจะเกี่ยวข้องอย่างมากกับ "สัญญา" คือ การจำได้หมายรู้ ซึ่งเป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นร่วมกับจิตเสมอ

    คำสอน และการอธิบายธรรมของครูบาอาจารณ์สำนักต่างๆกันนั้น จึงอาจจะดูแตกต่างกันไปได้ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นปัญหาที่เกิดจาก "การใช้ภาษา"

    จริงๆแล้ว "ภาษา" เป็นเพียงสมมติบัญญัติ เป็นสิ่งที่นำมาใช้เรียกชื่อเท่านั้น เช่น เราใช้คำว่า "จิต" แทนสภาวะที่รู้การกระทบต่างๆจากประตูการรับรู้ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

    เมื่อศึกษา ปฎิบัติธรรม จนได้รู้สภาวะธรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้ ก็จะเกิดมีความจำเป็น ที่ต้องมีการกำหนดชื่อเรียกสภาวะธรรมหรือลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับสภาวะธรรมนั้น

    ผู้ปฏิบัติธรรม ที่รู้เห็นสภาวะธรรมต่างๆ เช่น ราคะ ความอยากได้ ความโกรธ ความสุขใจ เมตตา ปิติ ความสงบต่าง ๆ ก็จะเริ่มมองเห็นว่า ทุกอย่าง ล้วนเป็นสภาวะธรรมทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิต ร่างกาย จิตใจ ของเราเองนั้น ก็ล้วนเป็นสภาวะธรรมทั้งสิ้น


    การบ้านชิ้นที่ 3 ภายหลังที่สติของเราเริ่มทำงานได้ดีขึ้น (โดยการเจริญสติ เฝ้าดูความรู้สึก ความนึกคิดต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะจิต ทำบ่อยๆจนเริ่มจะคุ้นเคย และเป็นปกติ หรือกลายเป็นธรรมชาติของจิต) เราก็จะเริ่มสังเกตเห็นสภาวะธรรมต่าง ๆ ต่อไปให้เราค่อย ๆ สังเกตเพิ่มเติมโดยการคอยตามดู การเกิดขึ้น การคงอยู่ และการดับหายไป สังเกตให้เห็นว่า สภาวะธรรมต่าง ๆ ล้วนมีพฤติกรรมในทำนองนี้ทั้งนั้น หาได้มีข้อยกเว้นไม่ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ (ที่คุ้นเคย) ของเขาเอง ให้สังเกตว่า เมื่อสภาวะธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเกิดขึ้น ความรู้สึก ความคิดเราจะดำเนินหรือปรุงแต่งไปอย่างไร และในกรณีที่เป็นการเกิดขึ้นของสภาวะธรรมฝ่ายอกุศลนั้น เรามีปฏิกริยาตอบโต้อย่างไร ... ให้เราเฝ้าดูให้รู้เท่าทันอยู่ห่าง ๆ ... แต่อย่าเผลอตามเข้าไปรู้สึก หรือตามเข้าไปในความคิด ... ถ้าเผลอ ก็ให้รู้ให้ทันว่าเผลอ

     
  5. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]


    หน้าที่ 9 - รู้จักกับ ปัญญา (3 ระดับ)

    หลักปัญญาที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา

    หลักปัญญาที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 ซึ่งได้แก่

    (1) ทุกข์ ให้รู้ (ต้องทำให้รู้จริง ๆ ... ซึ่งฝึกให้รู้ในขั้นต้นได้โดยการเจริญสติ และรู้ในขั้นรู้จริงด้วยการเจริญปัญญา)

    (2) สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ ให้ละ (รู้เหตุ แล้วละที่เหตุ ละด้วยศีล ละด้วยสมาธิ และละให้ขาดด้วยปัญญา)

    (3) นิโรธ คือ การพ้นทุกข์ ซึ่งต้องทำให้แจ้ง ทำให้เกิดขึ้นได้จริง ๆ (ด้วยตัวของเราเอง)


    (4) มรรค คือ วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ซึ่งให้ปฏิบัติ (และต้องปฏิบัติ... ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร)


    ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับทุกข์ ที่เข้าใจว่าเราต้องละทุกข์ ต้องดับทุกข์ อันนี้ไม่ถูกต้อง ... เพราะหน้าที่ต่อทุกข์นั้น เราให้เพียงแค่รู้(จริง) ส่วนการละ หรือการดับนั้น ต้องไปทำที่ "เหตุ" ถ้าไม่ละเหตุ ไม่ดับที่เหตุ ทุกข์ก็ยังคงอยู่ ยังเกิดขึ้นเสมอ เมื่อยังมีเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ ให้เกิดขึ้น

    อย่างเช่น ในกรณีที่มีคนขับรถตัดหน้าเรา แล้วเราก็รู้สึกโกรธ แต่เราไม่รู้เท่าทันการเกิดขึ้นของสภาวะ "โกรธ" เมื่อโกรธก็หาทางระบายออกด้วยการพูดด่าด้วยคำที่รุนแรง ด้วยคำที่ไม่ดี ด่าให้คนที่ขับรถตัดหน้าเรา ทั้งๆที่เขาก็ไม่ได้ยินคำด่าของเราเลย ... แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้น เราก็ทำเช่นนี้ แล้วสักพัก (ใหญ่ๆ) ความโกรธก็ค่อย ๆ เบาลง และหายไป .... แต่ถ้าถามว่า "ความโกรธ" ได้หายไปจริง ๆ หรือไม่ มันไม่ได้หายไปไหนเลย ยังคงฝังลึกอยู่ภายในจิตใจของเราตลอดเวลา ยังคงเติบโตงอกงาม และมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะปรากฏออกมาทุกขณะ หากมีปัจจัยกระตุ้นเพียงเล็กน้อย ... ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เราไม่เคยรู้เท่าทันความโกรธ เราไม่รู้ว่า "ความโกรธ" นั้นฝังอยู่ในใจของเรา และเหตุแห่งความโกรธที่แท้จริง ก็อยู่ที่ใจของเรา ที่ไม่รู้เท่าทัน ที่คอยโง่ คอยเป็นเหยื่อของเจ้าอารมณ์โกรธอยู่ร่ำไป ... ไปหลงเข้าใจผิดว่าเหตุนั้นอยู่ภายนอก อยู่ที่คนอื่น ... ทั้ง ๆ ที่คนที่โกรธ คนที่ด่าพูดจาไม่ดี ก็คือตัวเรานั่นเอง

    แต่ถ้าหากว่าเรามีสติรู้ทันความโกรธ พร้อมทั้งมีปัญญากำกับรู้ว่า คนที่เขาขับรถตัดหน้าเรานั้น เป็นผู้สร้างอกุศลกรรมขึ้น (ซึ่งเขาต้องได้รับผลจากอกุศลกรรมนี้แน่นอน ไม่ช้าหรือเร็ว) ส่วนผลที่เกิดกับเรานั้นเป็นเพียง "วิบาก" ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะอกุศลกรรมเก่า ๆ ที่เราได้เคยทำไว้แล้ว หรือเราได้มีส่วนในการเป็นเหตุปัจจัย ให้สภาวะการถูกคนอื่นขับรถตัดหน้าเรานี้เกิดขึ้น และบางทีก็อาจจะนึกหาสาเหตุไม่ได้ ... ที่สำคัญให้เรารู้ว่านี่เป็นเพียง "วิบาก" หรือผลกรรม... ถ้าสามารถกำหนดรู้เท่าทันเช่นนี้ เราก็จะได้สติ ได้ปัญญา (บางครั้งยังได้เมตตา คือคิดไม่ให้คนนั้นและคนอื่น ๆ ได้รับอันตรายจากการขับรถที่ไม่ดีของเขา)

    จะเห็นได้ว่าในเหตุการณ์เดียวกัน สามารถทำให้เกิดอกุศลกรรมคือความโกรธขึ้นก็ได้ หรือทำให้เกิดการรู้ทัน เกิดสติ และปัญญาซึ่งเป็นกุศลขึ้นก็ได้ ... ความแตกต่างกันเช่นนี้ อยู่ที่ "คุณภาพของจิตใจ" ของเรา ซึ่งได้แก่ สติ และปัญญานั่นเอง

    ปัญญา 3 ระดับ

    ปัญญา อาจจะจำแนกได้ 3 ระดับ ดังนี้

    (1) สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการได้อ่าน ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้จดจำเล่าเรียนมา

    (2) จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาไตร่ตรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงความรู้ต่างๆ

    (3) ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ เกิดจากการภาวนา การปฏิบัติธรรม(ที่ถูกต้อง) เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นกับ "จิต" เอง เราเป็นเพียงปัจจัย เป็นผู้ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดปัญญานี้ขึ้นกับจิต ซึ่งต้องเกิดขึ้นโดยจิตของเขาเอง (โดยมีเราเป็นผู้ฝึก) เป็นปัญญาที่บังคับเอาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ ... แต่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติฝึกอบรมจิตที่ถูกต้อง และด้วยความเพียรเท่านั้น

    สำหรับคนทั่วไปแล้ว คำว่า "ปัญญา" มักจะหมายถึง สุตมยปัญญา และ จินตามยปัญญา เท่านั้น และยิ่งสำหรับคนที่ไม่ชอบคิด ไม่ชอบใช้เหตุผล ไม่มีวิจารณญาณ ก็จะมีปัญญาเพียงแค่ระดับ สุตมยปัญญา จึงเป็นคนที่ถูกชักจูงให้เชื่ออะไร (ผิดๆ) ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม คนที่มีการศึกษาสูง ก็ใช่จะเป็นเครื่องรับประกันว่ามี จินตามยปัญญา อย่างเพียงพอ เพราะการศึกษาในระดับสูงนั้น จะมุ่งเน้นจินตามยปัญญาเฉพาะด้าน เฉพาะสาขาวิชาเท่านั้น ส่วนจินตามยปัญญาในเรื่องชีวิตและสังคม(ธรรมะ) เป็นสิ่งที่ต้องมีฉันทะใส่ใจศึกษาเอง

    ไม่ว่าเราจะฉลาด มี IQ สูง คิดเก่ง มีปัญญาระดับจินตามยปัญญา ลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม ก็เป็นแค่เพียงระดับความคิดเท่านั้น (ซึ่งยังประกอบด้วยความคิดเห็นที่ผิด คลาดเคลื่อน ไม่รู้จริง อยู่มาก) นักคิด นักปรัชญาต่างๆ จึงยังไม่เข้าถึงปัญญาในระดับที่จะรู้ทุกข์และละเหตุแห่งทุกข์ได้ ซึ่งการจะพ้นทุกข์ได้จริงต้องใช้ปัญญาระดับ ภาวนามยปัญญา เท่านั้น (ที่สำคัญ เราคิดเอาเองไม่ได้ ... แต่ต้องฝึกให้จิตเขารู้เห็นของเขาเอง)


    [​IMG]


    ที่มา : ��ԺѵԸ��� ... �������������ҧ�ô� - �����͡�����
     
  6. นะมัตถุ โพธิยา

    นะมัตถุ โพธิยา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    618
    ค่าพลัง:
    +2,269
    ผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษา ควรเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า
    สติ มิได้เป็นใหญ่เหนือกว่า สมาธิ<O:p
    สมาธิ ก็มิได้เป็นใหญ่เหนือกว่า สติ
    <O:p

    จึงจะขอยกเรื่องอินทรีย์5 มาอธิบาย ดังนี้

    <O:p<O:p
    -----------------------------------------------------------------------

    <O:p<O:p
    อินทรีย์5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา


    <O:p<O:pที่เรียกว่า อินทรีย์5 เพราะ <O:p
    ธรรมทั้ง 5 ข้อนี้ต่างก็เป็นใหญ่ในตนเอง
    <O:p(อินทรีย์ = ความเป็นใหญ่)<O:p
    แต่ขณะเดียวกัน ก็เกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน


    <O:p<O:pสติ เป็นใหญ่ในเรื่อง การควบคุมดูแลจิต (MIND CONTROLLER)


    <O:p<O:p
    สมาธิ เป็นใหญ่ในเรื่อง พลังอำนาจของจิต (POWER OF MIND)


    <O:p<O:p
    อุปมา พ่อแม่ป้อนข้าวเด็ก
    <O:pเด็กก็เคี้ยวข้าว กลืนข้าวเข้าไป
    <O:pได้ผลเป็น พลังงานของร่างกาย เด็กก็โตขึ้นแข็งแรงขึ้น

    <O:p<O:pต่อมา เด็กโตขึ้นมาก ก็กินข้าวเองได้ โดยไม่ต้องมีคนป้อน
    <O:pพ่อแม่ก็แค่เรียกเด็ก เด็กก็มานั่งกินข้าวด้วยตนเอง
    <O:pเด็กก็เติบโตต่อไปเรื่อยๆ

    <O:p
    <O:p
    เช่นกัน สติควบคุมจิตให้เป็นสมาธิ
    <O:pเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว
    <O:pได้ผลเป็น พลังอำนาจของจิต จิตก็เข้มแข็งขึ้น


    ต่อมา จิตเข้มแข็งขึ้น ควบคุมตนเอง(มีสติ)ได้ดียิ่งขึ้น
    <O:pจิตก็เป็นสมาธิได้ง่ายขึ้นลึกซึ้งขึ้น
    <O:pพลังอำนาจของจิตก็มากขึ้น สติก็ยิ่งเจริญขึ้น
    <O:pจิตก็พัฒนาก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ

    (เปรียบเทียบ : พ่อแม่ = สติ, เด็ก = จิต, การกินข้าว = การทำสมาธิ, พลังงานของร่างกาย = พลังอำนาจของจิต)

    <O:p<O:pดังนั้น สติ และ สมาธิ จึงต่างก็เป็นใหญ่ในตนเอง
    <O:pแต่ขณะเดียวกัน ก็เกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกันไปเรื่อยๆ
    <O:pดังที่ได้อธิบายมานี้


    -Happy Smile_<O:p
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...