ปฎิปทาท่านผู้เฒ่า "ทุกข์จากคำข้าวคำเดียว"

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 7 เมษายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,027
    [​IMG]

    คืนที่สองหลังจากองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงยอมรับการลาจากพุทธภูมิ พระองค์ก็ทรงมีพระบัญชาว่า เธอต่อไปหลังจากสี่ทุ่มจงเลิกรับแขก เข้าห้องบูชาพระ ฉันจะมาสอนตามเวลา คำสั่งต้องเป็นคำสั่ง ตามปรกติท่านก็เป็นคนเคร่งครัดในเวลาอยู่แล้ว ขึ้นชื่อว่าเวลานี้ให้เคลื่อนไม่ได้ ถ้าคลาดเคลื่อนกันสักวาระหรือสองวาระก็ต้องเลิกคบทันที ถือว่าคนเลวประเภทนี้ไม่ควรจะคบเอาไว้ ฉะนั้นเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงสั่งก็ปฏิบัติตามทันทีเพราะเป็นของหาได้ยาก ถ้าคนเขาร้องถามมาได้ เขาคงจะถามเข้ามาว่าพบพระพุทธเจ้าได้อย่างไร นี่คุยตามปฎิปทาของท่านเราไม่กลัวใครเขาว่า บันทึกมาว่าอย่างไรก็ว่าไปตามบันทึก ที่ว่าไม่กลัวไม่ใช่เพราะว่าไม่ได้อ้างตัวเป็นท่านผู้นั้น ว่าตามบันทึกของท่านผู้นั้น แล้วก็จงอย่าลืมว่าวิชชาสาม อภิญญาหก และสมาบัติแปดท่านคล่องทุกอย่าง การจะพบใครก็เป็นของไม่ยาก จะพบกับเทวดาจะพบกับพรหม พบกับพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว จะพบกับพระพุทธเจ้าก็พบได้ ถ้าไม่แน่ใจก็เชิญทำดูได้ พิสูจน์กันตามนี้ มาเจริญวิชชาสามให้เกิด หรือทำอภิญญาให้เกิด ดูทีว่าจะพบได้หรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปนั่งสงสัยวิจารณ์ ไอ้สันดานเลวมันจะเผาผลาญจิต
    เมื่อองค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์ท่านตรัสอย่างนั้น จะเข้าห้องตามเวลาหรือก่อนเวลานิดหน่อย เหลือเวลาอีกสิบห้านาทีเข้าห้อง บอกแขกเลิก ปิดประกาศว่านับตั้งแต่นี้ไป จะเลิกตั้งแต่เวลาสามทุ่มครึ่ง ใครจะไปหรือไม่ไปก็ชั่ง เข้าห้องปิดประตูลงกลอนนอนสบาย เข้าไปก็บูชาพระรัตนตรัยทำวัตรตั้งกำลังใจไว้ในจุดทรงสมาธิ ถึงเวลาสี่ทุ่มตรงก็ปรากฏว่ามีฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการพวยพุ่งมาสู่ห้อง แสงสว่างเหมือนกับเอาพระอาทิตย์สักพันดวง หลังจากนั้นก็ปรากฏเป็นพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้พระองค์ทรงมีพระบัญชาว่า เธอจงเอนกายลงไปนอนในลักษณะสีหไสยาสน์ ทรงจิตเป็นสมาธิ ท่านว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น ท่านว่าอย่างนั้น ต่อไปเข้าอภิญญาสมาบัติ คำว่าอภิญญาสมาบัติ บางทีท่านทั้งหลายจะไม่เข้าใจ ว่าสมาบัติที่พึงได้ ถ้ามีอภิญญาผสม ก็ใช้กำลังของอภิญญาเข้าร่วมด้วย พูดอย่างงี้เข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่อธิบาย ไครอยากรู้อาการเป็นอย่างไร ก็ทำอภิญญาให้ได้ แล้วจะรู้เรื่องจะมานั่งสอนกันตอนนี้ไม่มีทาง เมื่อเข้าอภิญญาผลสมาบัติเต็มอัตตรา แล้วถอยมาอยู่อุปจารสมาธิ ทรงสั่งทำจิตให้ถึงสมาบัติแปด เมื่อจิตทรง ตั้งดีแล้วถอยเข้าอุปจารสมาธิ นี่เป็นจริยาของท่านผู้ทรงอภิญญา ถ้าหากว่าเป็นจริยาของเรา ก็รักษาลมหายใจเข้าออก ใช้กรรมฐานที่เรามีความคล่อง รักษาอารมณ์ให้สบาย จิตเป็นสุขที่สุดที่จะพึงได้ในวันนั้น หลังจากนั้นก็พิจารณาวิปัสนาญาณ พอเข้าอภิญญาผลสมาบัติ ตั้งจิตตรงอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เข้าจิตตั้งแต่ฌาณ 1,2,3,4,5,6,7,8 หยุดอยู่ที่ฌาณ 8 อยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง ถอยหลังมาอยู่อุปจารสมาธิ ตอนนี้มีกำลังตั้งมั่น จิตทรงตัวเหมือนกับเสาหินที่ปักไว้ มีอารมณ์เบา ใจโปร่ง มีความสุข ตอนนี้เองสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระพุทธฎีกาว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอจงคิดตามฉันพูด นี่ฟังให้ดีนะ แทนที่ท่านจะสอนให้คิดเอง ท่านว่าจงคิดตามฉันพูด และก็ตรัสช้าๆ เบาๆว่า สัมภเกสี การลาพุทธภูมิคราวนี้ของเธอ มีจุดประสงค์จะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน คนที่จะตัดกิเลสได้ให้เป็นสมุจเฉทปหานได้นั้น ต้องมีจิตใจเข้าถึงอริยสัจ ถ้ามีอารมณ์ไม่มั่นคงในอริยสัจ ไม่มีทางที่จะบรรลุได้
    อริยสัจสี่ คือ หนึ่งทุกข์ สองสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ สามนิโรธ ความดับทุกข์ หรือทุกข์ดับ สี่มรรค ได้แก่ปฎิปทาถึงความดับ อริยสัจทั้งสี่ กิจที่พึงจะทำมีสอง คือ ทุกข์กับสมุทัย เพราะคำว่า มรรค ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เราทรงอยู่แล้ว สิ่งที่จะต้องหาใหม่นั่นคือ หาทุกข์ให้พบ และก็ทำลายต้นเหตุของทุกข์ให้ได้
    ท่านตรัสแล้วก็ถามด้วยว่า คำว่าทุกข์ หมายความว่าอย่างไร ท่านผู้เฒ่ากล่าวในบันทึกของท่านว่า ทุกข์ หมายถึงสิ่งที่เราจะต้องทน เพราะมันมีการฝืนอารมณ์ การใดก็ตาม จะเป็นศีลก็ตาม จริยาก็ตาม การสัมผัสก็ตาม ถ้ามันฝืนอารมณ์ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ท่านบอกว่า ใช่แล้ว การคิดอย่างนี้ ถูกต้องตามเป้าหมายที่พระอรหันต์เขาคิดกัน ตามบันทึกของท่านบอกว่า รู้สึกตัวมันอยากจะลอย เพราะว่าคำชมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่หากันได้ยาก แต่ทว่าการชมของท่าน จะชมใครบ้างไม่สำคัญ ท่านบอกว่าพอได้รับคำชมเท่านั้นมันเกือบจะเป็นอรหันต์เสียเวลานั้น มันชุ่มชื่นใจ
    พระองค์ก็ตรัสต่อว่า สัมภเกสี จำให้ดีว่าอะไรมันเป็นทุกข์ เธออย่าเพิ่งหาทุกข์ที่มันสำคัญน้อยหรือสำคัญมากก็ตาม ที่มันอยู่ห่างตัว อันดับแรก
    จงมองหาทุกข์ของคำข้าวเสียก่อน ข้าวหนึ่งคำที่เจ้าบริโภคเข้าไป ข้าวมันมาจากความสุขหรือความทุกข์ ท่านผู้เฒ่าได้บันทึกไว้ว่า ได้กราบทูลไปว่า มาจากความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า ท่านทรงแย้มพระโอษฐ์ เธอรู้ แต่ทว่า ยังรู้ไม่ละเอียด เธอจะรู้แต่เพียงว่า อาหารที่เธอบริโภคเข้าไปนั้น กว่าที่เธอจะได้มา เธอต้องเดินบิณฑบาต และชาวบ้านเขาจะเอามาใส่บาตรได้ เขาต้องหุงอาหาร ต้องหุงหาทำให้สุกไว้ก่อน ปกติเธอมีอารมณ์รู้เพียงเท่านี้ การรู้เพียงเท่านี้ ยังมีความดีน้อยไป ที่จะเป็นอรหันต์ คนที่เขาจะเป็นอรหันต์ได้นั้น เขาไม่คิดแค่นั้น อารมณ์แค่นี้มันยังสั้นมันยังหยาบเกินไป ถ้าจะพึงได้ก็เพียงพระอริยะขั้นต้น คือพระโสดาบันขั้นสักขัตตุง แต่ถึงจะได้ก็ช้าเต็มที เพราะอารมณ์อย่างนี้ยังหยาบมาก
    ตอนนี้เมื้อกี้มันจะลอย พอโดนชมจะลอย พอโดนตะลุมพุกตีหัวก็ตอนนี้ ทรุดลงมาทันที แล้วพระองค์ก็ทรงทราบ ทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ชื่นใจ ว่าไม่เป็นไร สัมภเกสี พ่อมาคราวนี้หวังจะสงเคราะห์เธอให้เข้าถึงจุดตามที่เธอประสงค์ เธอต้องไม่หวั่นไหวในถ้อยคำของพ่อ พ่อพูดให้เธอมีความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้ประณามเธอว่าเลว จงฟังต่อไป คำข้าวคำเดียวมันทุกข์หนักเหลือเกิน มันทุกข์มาก ยากที่จะเปลื้องให้พ้นได้ จงคิดตามนี้ว่าข่าวก่อนที่จะสุก เขาทำอย่างไรกัน ท่านกล่าวว่าการที่จะบริโภคข้าวเข้าไปหนึ่งคำนี่เราต้องใช้อะไรบ้าง เราต้องใช้หม้อ ต้องใช้เตา ต้องใช้น้ำ ต้องใช้ฟืน ต้องใช้ไฟ แล้วก็สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราได้มาด้วยอาการของความสุขหรือความทุกข์ ทุกอย่างต้องได้มาด้วยเรี่ยวแรงที่จะพึงต้องใช้ ทีนี้ในเมื้อเรากินทุกข์เข้าร่างกายของเราทั้งหมด มันมีเชื้อสายของความทุกข์เป็นตัวก่อขึ้น ในเมื่อร่างกายมันสร้างขึ้นมาด้วยความทุกข์ นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิด เป็นอันว่าเมื่อพูดถึงความทุกข์ในการบริโภคอาหารจบ
    ต่อมาท่านก็ตรัสต่อไปว่า สัมถเกสี ข้าวสารที่เราจะนำมาเป็นข้าวสุกนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะอาศัยเราต้องนำข้าวสารมา นำเตามา นำฟืนมา คือเชื้อเพลิงหาไฟให้เกิด อาการทำอย่างนี้ต้องใช้แรงงาน แล้วก็การทำอย่างนี้มันก็ไม่มีที่สุดของชิวิต ถ้าเราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้เราก็ต้องทำกิจอย่างนี้ทุกวัน วันละหลายๆครั้ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าเราจะกินข้าวเช้าแต่เวลาเดียว มันก็ไม่อิ่มไปตลอดวัน วันหนึ่งเราก็บริโภคหลายหน ขึ้นชื่อว่าอาหารทุกชนิดที่เรากินเข้าไป ได้มาด้วยแรงงาน การทำงานแสวงหาเงินหาทองหาทรัพย์สินมาเพื่อให้มีอาหารปรากฏ มันเป็นอาการของความทุกข์ แล้วคนที่กินอาหารอยู่อย่างนี้ตลอดกาล เขาจะหาสุขคือจุดจบที่ไม่ต้องทำกิจอย่างนี้เมื่อไหร่ เป็นอันว่าหาไม่ได้ ถ้าตายแล้วเกิดใหม่เราก็กินอย่างนี้ ถ้าเราจะหามากินมันก็มีความทุกข์
    เธอจงหาทุกข์ในปัจจุบันที่เรียกว่า นิพัทธทุกข์เสียก่อน นิพัทธทุกข์คือทุกข์เนืองนิจที่มีอยู่ทุกวัน มันมีอะไรบ้าง เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปแล้ว กิจอื่นที่จะตามมาเนื่องด้วยอาหารนั้นคืออะไร น้ำที่บริโภคเข้าไปมาก ร่างกายใช้เหลือความต้องการ ก็เกรอะทิ้งมา มาเป็นปัสสาวะ แล้วอาหารก็เช่นเดียวกัน ที่ร่างกายไม่ต้องการแล้วเป็นกาก ที่เราเรียกว่าอุจจาระ ร่างกายต้องถ่ายน้ำที่ไม่ต้องการ ระบายอาหารที่ไม่ต้องการ ที่เราเรียกว่าปวดอุจจาระปัสสาวะมันเป็นความสุขหรือความทุกข์
    ตามบันทึกท่านทูลตอบว่า มันเป็นความทุกข์พระเจ้าข้า และเป็นความทุกข์ที่เหลือจะทน ไม่ใช่ทนได้ยาก แต่เหลือที่จะทน คือทนไม่ไหว
    ท่านก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นจงจำไว้ ว่าอาหารนี่ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข อาหารนี่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ จะหาสุขจากอาหารจริงๆนั้นไม่มี
    ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า เธอจงคิดไว้เสมอว่า ชีวิตคือเลือดเนื้อและร่างกาย ถ้ายังมีอยู่เพียงใด คำว่าหมดทุกข์ก็ไม่มี เราจะต้องประสบกับความทุกข์อย่างนี้ตลอดเวลา
    ถ้าเราจะสิ้นทุกข์ได้ ก็เพราะอาศัยเห็นว่าร่างกายที่เราเกิดมานี่มันเป็นทุกข์ แล้วสมบัติที่เราถือว่าเป็นของเรา นี่มันได้มาด้วยความทุกข์ คืออาศัยความเหน็ดเหนื่อยเป็นของสำคัญ ถ้าเราไม่ได้เหน็ดเหนื่อยแล้ว เราก็ไม่ได้มา
    เมื่อได้มาแล้ว หามาได้แล้ว แทนที่จะใช้สอยมันเป็นการพอดี ให้มันทรงอยู่กับเรา มันก็เปล่า มันต้องสิ้นไป เสื่อมไป ทำไมจึงต้องมานั่งสนใจด้วยอาหาร ด้วยเรื่องร่างกาย
    แต่ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ใช่ให้ทำลายร่างกาย ไม่ใช่อดอาหาร เพราะว่ามันเกิดมาแล้ว ร่างกายที่เกิดมา เราก็ต้องเลี้ยงมัน มันเป็นของธรรมดา แต่หากว่าเราจะพึงปรารถนาในมัน เห็นไม่สมควร
    จงมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า หน้าที่ในการบริหารร่างกาย เราจะพึงทำเมื่อร่างกายต้องการ แต่ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ตั้งใจบริหารมันเข้าไว้ เพื่อว่า เป็นการระงับความทุกข์ส่วนหนึ่ง แต่ทว่ามันไม่ได้เป็นการหายทุกข์ มันเป็นการบรรเทาทุกข์
    และจงคิดว่าความสุขจริงๆ ก็คือ อธิโมกขธรรม ได้แก่ ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้แก่ พระนิพาน
    คนที่จะเข้าพระนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยไม่ติดอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ร่างกาย ไม่ติดอยู่ในรสอาหาร นี่เป็นอันดับแรก
    แล้วต่อไป เธอจงถอยหลังเข้าไป ส่วนใหญ่ของบุคคลที่พึงคิด เขาจะไม่คิดถึงความเป็นจริงของร่างกาย แล้วก็ไม่คิดถึงความเป็นทุกข์ของร่างกาย ในศัพท์ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า จับปลายรูป นั่นคือ มองไม่เห็นความทุกข์ เข้าใจว่าเหตุที่เกิดทุกข์มันเป็นปัจจัยของความสุข คือเลี้ยงร่างกายให้อ้วนพี พยายามทะนุถนอมร่างกายนี้ให้มันไม่ทรุดโทรม ร่างกายต้องการอะไร หาให้ทุกอย่าง แต่ว่าเธอเคยเห็นไหมว่าคนที่บำรุงบำเรอร่างกายอยู่เป็นปรกติเขามีความสุข เป็นอันว่า เธอจะหาไม่ได้ ไม่มีปัจจัยส่วนใดที่จะเป็นเหตุให้เกิดขึ้นได้ มันจะมีแต่ความทุกข์ส่วนเดียว
    สัมภเกสี จงจำถ้อยคำนี้ไว้ให้ดี ว่าร่างกายนี้มันเป็นความทุกข์ อาหารที่เราได้มาก็ได้มาจากความทุกข์ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว แทนที่จะสิ้นทุกข์ มันก็เกิดทุกข์เนื่องจากการขับถ่ายของร่างกาย ร่างกายเป็นโรคนิธัง มันเป็นรังของโรค มันมีอาการเสียดแทงอยู่เป็นปรกติ ทุกข์อื่นใด ที่จะทุกข์ยิ่งกว่าร่างกายนั้นไม่มี คือความปรารถนาของร่างกายนี้เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทุกอย่าง
    เธอจงวางภาระคือขันธ์ห้า ได้แก่ร่างกายเสีย
    แล้วนอกจากนั้น ขึ้นชื่อว่าอาหารที่จะได้มา ก็ลองมาหาความจริงว่าคนส่วนใหญ่มองข้าวสารเป็นคำสัญที่มันมาเป้นข้าวสุก แล้วก็คนจำนวนมากที่ไม่คิดถึงข้าวสาร มองแต่ข้าวสุกอย่างเดียว แต่ความจริงข้าวสารที่จะมาเป็นข้าวสุก มันจะขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยความทุกข์ ถ้าอารมณ์แห่งความทุกข์มันไม่มี ข้าวสารก็ไม่ปรากฏ ทั้งนี้เพราะเดิมทีข้าวสารมันเป็นข้าวเปลือก การที่จะนำข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสารมันเป็นอาการที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เธอมีความรู้สึกอย่างไรจงเล่าให้ฟังสิ
    พระเถระผู้บันทึกกล่าวว่า มันเป็นความทุกข์พระเจ้าข้า เพาะว่าข้าวสารที่มาจากข้าวเปลือก ข้าวเปลือกจะเป็นข้าวสารได้สมัยโบราณต้องใช้สีมือ ต้องใช้ซ้อมด้วยมือมันก็เป็นอาการของความทุกข์ เพราะมันเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าสมัยปัจจุบัน ถ้าจะนำข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสาร ก็จะต้องไปจ้างโรงสีเขาสี เมื่อเขาสีให้ก็จะต้องเก็บเงินเก็บทอง การจะนำข้าวไปสู่โรงสีมันก็ต้องมีอาการเหน็ดเหนื่อย แล้วก็ต้องเสียเงินเสียทอง เงินทองที่ได้จากการไปจ้างเขาสีข้าวเราก็ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานเป็นสำคัญ คือแรงงานที่ทำข้าวเปลือกเป็นข้าวสารก็ดี หรือว่าแรงงานที่ทำข้าวเปลือกเป็นข้าวสารก็ดี เงินที่เราจะจ้างเขานี้เราได้มาด้วยอาการเหน็ดเหนื่อย มันเป็นอาการของความทุกข์ นี่เป็นอันว่าข้าวเปลือกจะมาเป้นข้าวสารได้มันก็ผ่านอาการเป็นทุกข์แล้ว
    หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงถอยหลังลงไปอีก ว่าเธอถอยหลังลงไปดูว่าข้าวเปลือกนี้มาจากอะไร ข้าวเปลือกที่จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย ข้าวเปลือกที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเชื้ออย่างหนึ่ง นั่นก็คือเป็นที่ดิน พื้นที่นาที่เขาปรับปรุงดีแล้ว มีคันนา มีเหมืองน้ำเรียบร้อย แต่ทว่าถ้าเราจะทำข้าวเปลือกให้มันเกิดขึ้น เราต้องใช้อะไรบ้าง อันดับแรก เราจะต้องแสวงหาที่ดินที่จะมาเป็นสมบัติของเรา ถ้าที่ดินนั้นเป็นป่าที่เราจะต้องถางกัน ถ้าเป็นที่ดินที่เตียนแล้วก็จะไปซื้อที่เขามาเป็นสมบัติเรา เราจะได้ที่นั้นโดยไม่เสียอะไรเลยหรือว่าจะได้ที่ดินนั้นมาด้วยอาการของความเหน็ดเหนื่อยของความทุกข์ การได้ที่ที่เขาปรับปรุงดีแล้วเราต้องแลกมามาด้วยเงิน แล้วเงินที่เราหามาได้เราต้องแลกกับอาการของความสุขหรืออาการของความทุกข์ เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์สมัยนั้น เราจะได้มาต้องใช้หยาดเหงื่อและแรงงาน มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์
    ท่านพระเถระก็ตอบท่านว่า เป็นอาการของความทุกข์พระเจ้าข้า เพาะอาศัยความเหน็ดเหนื่อย
    ท่านถามว่า เธอพูดด้วยความรู้สึกของใจจริงหรือว่าตามเหตุผลของท่าน พระมหาเถระท่านผู้เฒ่าก็กราบทูลว่า พูดด้วยใจจริงที่ประกอบไปด้วยเหตุผล เพราะว่าเห็นมาแล้วผ่านมาแล้วพระพุทธเจ้าข้า
    แต่ว่านั่นแหละ จงมองเห็นความทุกข์ของคำข้าวเพียงคำเดียวยังทุกข์ถึงเพียงนี้ เมื่อมีพื้นที่นาแล้วข้าวมันจะขึ้นมาได้หรือยัง ถ้าเราไม่ทำอย่างอื่น
    ท่านผู้เฒ่าก็กราบทูลว่า ยังไม่ขึ้นพระพุทธเจ้าข้า
    ท่านถามว่าจะต้องทำอย่างไร
    ก็ตอบว่า ต้องไถนา ต้องหว่านข้าว ต้องปรับปรุง ต้องหาน้ำมาเลี้ยงหล่อข้าว หาอาหารของต้นข้าว คือ ปุ๋ย
    ท่านก็ถามว่าการไถนาใช้อะไรบ้าง สมัยนั้นยังไม่มีรถไถ จึงกราบเรียนว่าใช้วัวหรือใช้ ลากไถ ต้องหาคันไถ หาแอก หาทุกสิ่งทุกอย่างหาอุปกรณ์ ท่านกลับถามว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราได้มาด้วยอำนาจของความสุขหรือความทุกข์ ถ้าเรายังไม่มีอยู่ก่อน เราจะหาวัว หาอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้มาได้อย่างไร
    ก็กราบทูลว่า ถ้ามีป่า เราก็ไปตัดต้นไม้มาทำคันไถ
    ท่านก็ถามว่า การตัดต้นไม้มาทำคันไถ มันเหน็ดเหนื่อยหรือไม่ มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์
    ตอนนั้นท่านบันทึกบอกว่า มันเป็นว่ามันทุกข์จริงๆ ความเหน็ดเหนื่อย การจะตัดต้นไม้มาแต่ละต้น เอามาถากเป็นคันไถเล็กๆ ต้นไม้มันต้นใหญ่ก็ต้องใช้กำลังแรงงานมาก การจะได้วัว มาก็ต้องใช้เงินซื้อเขา การจะได้มาแต่ละสตางค์จากหยาดเหงื่อแรงงานก็แสนจะสาหัส คือได้มาด้วยอาการของความทุกข์จริงๆ อุปกรณ์ต่างๆจะได้มาเป็นไถแล้วก็ไถไปได้ ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงาน จากเงินจากทองบ้าง จากการทำเอาเองบ้าง
    ท่านถามว่า ทรัพย์สินทั้งหลายที่หามาได้อย่างนี้ มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ อาการที่จะหามา ท่านก็ตอบว่ามันเป็นอาการของความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า แล้วถามต่อไปว่า มีวัวมี มีนาครบแล้วต้นข้าวขึ้นได้หรือยัง ท่านก็กราบทูลว่า ยังพระพุทธเจ้าข้า ท่านก็ทรงถามว่า ทำอย่างไรต่อไป ต้องไถๆแล้วก็หว่านๆแล้วก็คราดๆแล้วก็ปลูก ท่านถามว่าอาการที่ไถนาตากแดดตากฝนต้องหวานต้องคราดมันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ ท่านตอบองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นอาการของความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า
    ท่านถามว่าเห็นแล้วหรือยัง ว่าแม้แต่คำข้าวคำเดียวนี่มันทุกข์ขนาดไหน
    หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า ก่อนที่นาจะเกิดขึ้นได้ สมมตินะ ว่าถ้าเราไม่มีเงินซื้อที่ดินมาทำนา เราจะได้มันมาด้วยอาการของความสุขหรือความทุกข์
    ก็ตอบท่านว่า ด้วยอาการของความทุกข์ เพราะ หนึ่ง ที่ดินเหล่านั้นเป็นป่า เราก็จะต้องถากถางป่า การตัดต้นไม้แต่ละต้นกว่าจะขาดก็สายตัวแทบขาด เมื่อตัดต้นไม้มาแล้ว ก็ต้องฟันเป็นท่อนเป็นตอน ลากไม้ที่ฟันแล้วเหล่านั้นให้มันพ้นพื้นที่ไป หลังจากนั้นขุดตอแต่ละตอของต้นไม้นั้นเพือ่ให้เนื้อที่เหล่านั้นเป็นพื่นที่นา มันก็แสนจะเหน็ดเหนื่อยเป็นอาการของความทุกข์ แล้วก็ที่นาแต่ละไร่จะเตียนลงไปได้ก็ต้องใช้กำลังแรงงานมาก
    องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตอบว่า สัมภเกสี จงจำไว้ว่า การบริโภคอาหารคำเดียวมันเป็นอาการของความทุกข์อย่างนี้โดยย่อ

    /www.konmeungbua.
     

แชร์หน้านี้

Loading...