ปกิณกธรรมช่วงบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม วันลอยกระทง วันที่ ๑๕ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 พฤศจิกายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    ก่อนปฏิบัติธรรมช่วงเช้า วันศุกร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗



    ลอยกระทงมาจากงานดีปวาลีของทางประเทศอินเดีย พอมาถึงเมืองไทยก็แปลงเป็นตามประทีป ดีปะ ก็คือ ทีปะ ก็คือ ประทีป ทีปะส่วนใหญ่สมัยก่อนก็หมายเอาดวงเทียน บางทีคำว่า "ทีปะ" มีอีกความหมายหนึ่งก็คือ "แผ่นดินใหญ่" ที่คนไทยใช้คำว่าทวีป

    คราวนี้การลอยกระทงก็น่าจะมาเริ่มกันตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ก่อนหน้านั้นอาจจะมี แต่ว่าไม่ชัดเจน มาชัดเจนในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ระบุถึงงานเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ดั่งมีจักแตก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงประมาณทัวร์ลง..!

    ประเพณีในบ้านเราผูกพันกับศาสนาพราหมณ์แล้วก็การนับถือผี ในเมื่อความผูกพันมีกับศาสนาพราหมณ์มาแต่ต้น พิธีกรรมต่าง ๆ ก็เลยเป็นไปตามแบบศาสนาพราหมณ์เป็นเสียส่วนมาก เพราะว่าพราหมณาจารย์ต่าง ๆ ที่เดินทางจากชมพูทวีปในสมัยนั้นเข้ามาในสุวรรณภูมิ ส่วนใหญ่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงความรู้

    สมัยก่อนเขาเรียนไตรเพท หรือว่าไตรเวท มี ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท ระยะหลังพอเนื้อหาแตกหน่อแตกกอออกไปเยอะมาก ก็มีคัมภีร์ที่สี่ขึ้นมาเป็นอาถรรพเวท ซึ่งก็คือพวกเวทมนต์คาถาอย่างที่นิยมกัน

    ในเมื่อศาสนาพราหมณ์เป็นผู้รู้ ไปที่ไหนก็จะได้รับการต้อนรับจากผู้มีอำนาจของที่นั่น เราจะเห็นได้ว่าศาสนาพราหมณ์นี่เกาะติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้น เมื่อเป็นผู้รู้สามารถให้คำแนะนำต่าง ๆ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นราชครูบ้าง ให้เป็นโหราจารย์บ้าง คอยดูฤกษ์ล่าง ฤกษ์บน คอยแนะนำวิธีการหลักการต่าง ๆ ให้กับผู้นำ ทำอย่างไรถึงจะรักษากำลังใจของบริษัทบริวารเอาไว้ได้

    แต่ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์มากก็คือ ศาสนาพราหมณ์ไม่ได้มีความคิดที่จะครอบงำผู้นำของบรรดากลุ่มชนต่าง ๆ ที่ตนเองเข้าถึง ก็คือมีหน้าที่แนะนำก็ทำไป ไม่ทำก็แล้วไป แม้แต่ในยุคนครวัด นครธม อาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่เขาก็มีข้อตกลงกันอย่างเป็นทางการเลยว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ถือพราหมณ์ ปุโรหิตาจารย์ต้องถือพุทธ ถ้าปุโรหิตาจารย์ถือพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ต้องถือพุทธ เป็นความใจกว้างของศาสนาพราหมณ์อย่างหนึ่ง

    ถ้าเป็นศาสนาอื่นคาดว่าคงครอบงำสถาบัน ชี้นำจนกระทั่งเปลี่ยนศาสนาไปทั้งประเทศแล้ว แบบเดียวกับอาณาจักรศรีวิชัย ระเด่นปาทาซึ่งถือศาสนาพุทธแต่แรก ไปตั้งเมืองปาเล็มบังเป็นศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย ได้ราชธิดาของสุลต่านที่มาอ่อนน้อมเป็นมเหสี ปรากฏว่าโดนชักนำให้ไปนับถือศาสนาอิสลาม อาณาจักรศรีวิชัยที่ยิ่งใหญ่มาก ถึงขนาดรวบเอาปักษ์ใต้ของไทยไป รวมกับสุมาตราอินโดนีเซียทั้งหมดกลายเป็นอิสลาม..!

     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะเห็นว่าตั้งแต่ยุคสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา รัตนโกสินทร์ของเรา ศาสนาพราหมณ์อยู่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มาตลอด แต่นอกจากไม่ได้ครอบงำสถาบันแล้ว ยังยอมรับการแต่งตั้งจากสถาบันด้วย อย่างพวกตำแหน่งราชครูวามเทพมุนี วามะ ก็คือพราหมณะ ซึ่งก็คือ พราหมณ์ หลายต่อหลายคนนามสกุลก็ยังบอกความเป็นพราหมณ์อย่างชัดเจน อย่างนามสกุล "รังสิพราหมณกุล" ซึ่งบอกไว้ชัด ๆ เลยว่าเป็นพราหมณ์

    เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ประเพณีต่าง ๆ โดนดัดแปลงมาเป็นพุทธจนหมดเพราะว่าในหลวงรัชกาลที่ ๔ ออกผนวชถึง ๒๗ พรรษา พิธีพราหมณ์ต่าง ๆ จะเริ่มด้วยพิธีพุทธก่อน อย่างเช่นว่าการสมาทานศีล การเจริญพระพุทธมนต์ การเจริญชัยมงคลคาถา แล้วค่อยต่อด้วยพิธีพราหมณ์อย่างเช่นการบวงสรวงสังเวย การแรกนาขวัญ เหล่านี้เป็นต้น

    คราวนี้ในเรื่องของศาสนาเราต้องเข้าใจว่าเป็นหลักยึด เป็นหลักยึดเพื่อให้จิตใจของเรามั่นคง เนื่องจากมั่นใจว่ามีที่พึ่ง ตั้งแต่โบราณมาจะเห็นว่าอะไรที่ลึกลับ ยิ่งใหญ่ มีอำนาจเหนือตน ก็จะถูกยกขึ้นเป็นที่เคารพ อย่างเช่นว่า ภูเขา ต้นไม้ โดยเฉพาะอย่างปัจจุบันนี้ที่เข้าไม่ถึง อย่างยอดเขาไกรลาสที่ฝรั่งเรียกว่าเคทู (K2) ตัว K ก็มาจากคำว่าไกรลาสนั่นแหละ

    เคทูไม่ใช่ยอดเขาที่สูงที่สุด เพราะยอดเขาที่สูงที่สุดก็คือยอดเขาเอเวอเรสต์ (Everest) รองจากเอเวอเรสต์ก็มาเป็นเคทู (K2) แล้วตามมาด้วยคันเชนจุงกา (Kanchenjunga)

    เคทูแม้จะติด ๑ ใน ๘ ยอดเขาสูงที่สุดในโลก แต่ไม่ได้สูงแบบเอเวอเรสต์ เพียงแต่ว่าเป็นยอดเขาที่ไม่ต้อนรับผู้คน ใครตั้งใจจะปีนพอใกล้ยอดเขาก็มักจะเกิดภัยธรรมชาติ พายุบ้างหิมะบ้าง จนกระทั่งขึ้นไม่ถึง ก็เลยกลายเป็นที่เคารพ เคารพในพลังอำนาจที่ตนเองไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เราสวดมนต์กันตอนเช้า ๆ ที่ว่า

    พะหุง เว สะระณัง ยันติ............ปัพพะตานิ วะนานิ จะ
    อารามะรุกขะเจต๎ยานิ................มะนุสสา ภะยะตัชชิตา

    มนุษย์เป็นอันมากเมื่อโดนภัยเบียดเบียน ก็เข้าหาที่พึ่ง ปัพพะคือภูเขา วะนาคือป่า อารามในที่นี้น่าจะหมายถึงศาสนสถาน รุกขะคือต้นไม้ เจต๎ยานิคือเจดีย์ ยึดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นที่พึ่ง

    เนตัง โข สะระณัง เขมัง...............เนตัง สะระณะมุตตะมัง
    แต่ว่าที่พึ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นที่พึ่งอันเกษม ไม่เป็นที่พึ่งอันอุดม พูดง่าย ๆ ก็คือยึดถือไม่ได้อย่างจริงจัง

    โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ...............สังฆัญจะ สะระณัง คะโต
    แต่ว่าการยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งนั้น

    เอตัง โข สะระณัง เขมัง..................เอตัง สะระณะมุตตะมัง
    จึงเป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันสูงสุด

    เอตัง สะระณะมาคัมมะ....................สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ
    เมื่อยึดในที่พึ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ย่อมมีความสามารถในการทำให้กองทุกข์ทั้งหลายหมดสิ้นลงไปได้​
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    คราวนี้ในเมื่อคนเราโดยธรรมชาติแล้ว เคารพในสิ่งที่ลึกลับ ยิ่งใหญ่ เข้าถึงได้ยาก บ้านเราก็เลยถือศาสนาผีมาก่อน แล้วก็มาถือพุทธ มาถือพราหมณ์

    คราวนี้พอนานไปศาสนาพุทธมีสัจธรรมคือหลักการปฏิบัติที่เป็นไปตามกำลังใจของคน ก็คือท่านสอนว่า
    ให้เว้นจากการฆ่าสัตว์..พูดง่าย ๆ ก็คือเราไม่อยากให้คนอื่นฆ่าเรา เราก็อย่าไปฆ่าคนอื่น
    เว้นจากการลักทรัพย์..เราไม่อยากให้คนอื่นมาลักขโมยเรา เราก็อย่าไปลักขโมยคนอื่น
    เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการโกหก เว้นจากการดื่มสุราเมรัย..ก็โดยนัยยะเดียวกัน

    ในเมื่อมนุษย์เรามีตรรกะคือความสามารถในการคิดตรอง หาเหตุหาผลได้ เห็นว่าศาสนาพุทธมีเหตุผล สมควรแก่การเชื่อถือ ก็น้อมเอามาเป็นหลักยึดประจำใจของตนเอง จึงทำให้ศาสนาพุทธของเราเด่นขึ้นมา

    แต่อย่าลืมว่าผีและพราหมณ์แฝงมาอยู่เป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว ไม่สามารถที่จะละทิ้งไปได้ทั้งหมด แม้กระทั่งสมัยที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่ตื้อ ไปเผยแผ่ศาสนาในป่าในดงทางด้านภาคเหนือของเรา ต่อไปสิบสองปันนา ต่อไปประเทศลาว ประเทศจีนก็เหมือนกัน ถึงขนาดต้องเอารูปพระพุทธเจ้าไปบอกเขาว่า "นี่เป็นหัวหน้าผีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ถ้านับถือหัวหน้าผีแล้ว ผีเล็กผีน้อยจะไม่กล้าเบียดเบียนอีก" ก็คือต้องปรับเข้ากับความเชื่อเดิม ๆ ของเขาที่ฝั่งรากลึกมานานมาก

    เขาถามว่า "ถ้านับถือหัวหน้าผีแล้วต้องทำอะไร ?" ท่านบอกไปว่า "ให้ภาวนาพุทโธ ถ้าภาวนาพุทโธแล้วหัวหน้าผีชอบใจ ก็จะช่วยรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข" ก็เป็นวิธีเผยแผ่ที่ต้องเรียกว่าปรับให้เข้ากับความเข้าใจของพวกเขา ถ้าพูดมากกว่านั้นเขาก็ไม่เข้าใจ

    เห็นพระเดินจงกรม พวกข่าก็มาถามว่า "เดินหาอะไร ?" ท่านก็บอกว่า "เดินหาดวงแก้ววิเศษ" เขาถามว่า "ดวงแก้ววิเศษคืออะไร ?" ท่านบอกไปว่า "คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เดินภาวนา พุทโธ..ธัมโม..สังโฆ พุทโธ..ธัมโม..สังโฆ ถ้าความเพียรพยายามทำได้ถูกต้อง ทำได้ตรงทาง ก็จะพบกับดวงแก้ววิเศษที่พาให้ทุกคนมีความสุขความเจริญทั้งชาตินี้และชาติหน้า"

    ก็ทำให้พวกข่าเขาหัดเดินจงกรมภาวนา ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่รู้หรอกว่านี่คือการเดินจงกรม เขาเดินหาแก้ววิเศษ เดี๋ยวพวกเราก็เดินหากันบ้างนะ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    ดังนั้น..ในเรื่องของศาสนาในปัจจุบันนี้ ที่สับสนมากก็เพราะว่าการศึกษาเข้าถึงได้ง่าย แต่หาผู้รู้จริงได้ยาก สมัยก่อนเขาต้องศึกษาตามขั้นตอน อย่างเช่นว่าท่องอักขระบาลีให้ได้ ผสมตัวให้ได้ อ่านให้ได้ ค่อย ๆ แปลไปตามขั้นตอน พอแปลได้ก็เริ่มแปลอรรถกถา แปลอรรถกถานะ..ไม่ได้แปลพระไตรปิฎก แปลอรรถกถาเพราะว่าอรรถกถาก็คือสิ่งที่บรรดาพระเถระต่าง ๆ ท่านอธิบายขยายความเอาไว้ จะได้รู้ว่าถ้าเราศึกษาพระไตรปิฎก ควรที่จะทำความเข้าใจไปในแนวทางไหน

    ไม่ใช่อยู่ ๆ กูก็ไปคว้ามา จะเอาเฉพาะพุทธวจนะ แล้วก็ตีความเข้าป่าเข้าดงไปเลย ก็คือรู้ไม่พอ จินตนาการบรรเจิดอีกต่างหาก ก็เลยไปกันใหญ่..! กลายเป็นว่าคนพุทธด้วยกันนี่แหละที่อวดรู้ แล้วก็กลายเป็นทำลายหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก คือเหมือนอย่างกับว่าคนสมัยนี้ ส่วนหนึ่งเข้าหาศาสนาพุทธเพราะต้องการความสะใจ ประหลาดดี..!

    ศาสนาพุทธของเรามีประโยชน์ตรงไหน ? มีประโยชน์ตรงที่ว่านำเอาหลักธรรมไปประพฤติปฏิบัติ ป้องกันไม่ให้ตนตกไปในทางที่ชั่ว ไม่ใช่ให้ศึกษาเรียนรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ แล้วเอาไปคุยทับกัน มันสะใจดี ฟังแล้วบ้าไปเลย..!

    แต่ในเมื่อสังคมเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องอยู่ในลักษณะที่ว่าถ้าคนอื่นตาบอด เราต้องตาดีให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็เดินชนกันหัวร้างคางแตก แล้วต่างคนต่างก็โทษอีกฝ่ายว่าตาบอด..!

    คนตาบอดถือตะเกียงเดินมา คนตาดีก็สงสัยว่า "กลางค่ำกลางคืน แกตาบอดมองอะไรไม่เห็น แล้วจะถือตะเกียงไปทำไม ?" คนตาบอดตอบว่า "ถือเพื่อให้พวกคนตาดีอย่างแกไม่เดินมาชน" สรุปแล้วก็คือ คนตาบอดมีความเข้าใจมากกว่า เพราะว่าตัวเองตาบอด กลางวันกลางคืนเหมือนกัน เดินไม่ชนใครอยู่แล้ว แต่คนตาดีกลางคืนมองไม่เห็น มักจะเดิน
    มาชนคนตาบอด คนตาบอดก็เลยต้องถือตะเกียงให้คนตาดีดู..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    สำคัญที่สุดคือพวกเราต้องพยายามในการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมของเราให้เข้มแข็งจริงจัง จนกระทั่งเข้าถึง ถึงเวลาจะได้อธิบายขยายความที่ถูกต้องได้ สำคัญที่สุดก็คือ อย่าเอากิเลสไปชนกับคนอื่น ต้องครูบาอาจารย์ของกูเท่านั้นถึงจะถูก ต้องสายนี้เท่านั้นถึงจะถูก ต้องวัดท่าขนุนเท่านั้น..ฉิบหายเลย..!

    เนื่องเพราะว่า "ต้อง" ทั้งหมดที่ว่ามานั้น มาจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พระพุทธเจ้าเหมือนกับพ่อครัวใหญ่ แสดงวิธีการทำอาหารไว้ ๘๔,๐๐๐ วิธี ใครถนัดแบบไหน ทำแบบไหนอร่อย ก็ไปขายให้คนอื่นเขากิน คนกินแล้วชอบใจก็ไปเป็นลูกค้าประจำ จนกลายเป็นกรรมฐานสายโน้น กลายเป็นกรรมฐานสายนี้ แล้วใช่ของตัวเองไหมเล่า ? ก็มาจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

    แล้วคนกินก็ดันไปเถียงกันเอง "นี่ต้องก๋วยเตี๋ยวเท่านั้นถึงจะใช่ ข้าวราดแกงของแกไม่ใช่" คนโน้นก็บอกว่า "ข้าวราดแกงกับก๋วยเตี๋ยวมันเฮงซวย ใช้ได้ที่ไหน ต้องขนมปังไส้ทะลักเท่านั้น" กลายเป็นเอากิเลสไปชนกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังที่สุด

    เพราะนักปฏิบัติจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่อยากสอนคนอื่นเขา ถ้ารู้จริงแล้วสอนยังพอทน ถ้ารู้ไม่จริง ไปตีความเอาเองนี่ จะพาคนอื่นเตลิดเปิดเปิงหลงทางไปด้วย เพราะว่าการปฏิบัติพอไปถึงระดับหนึ่ง อุปกิเลสตัวหนึ่งที่เรียกว่าญาณ..ญาณะ..เครื่องรู้ จะปรากฏขึ้น จะคิดหาเหตุหาผลได้ทุกอย่าง สามารถดึงเอาความเชื่อมโยงมาได้ทั้งหมด ตำรากี่เล่มกูดึงมาได้หมด คิดว่าตัวเองเก่ง..บรรลุแล้ว โดยที่ลืมสังเกตไปว่า เรื่องที่รู้ทั้งหมดนั้น ยิ่งคิดยิ่งกว้างออกไป หาจุดจบไม่ได้ มันบอกเราทุกเรื่องยกเว้นทางพ้นทุกข์..!

    เขาถึงได้ใช้คำว่า อุปกิเลส คือใกล้จะเป็นกิเลส ยึดเมื่อไรเป็นกิเลสทันที เป็นเรื่องที่นักปฏิบัติต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง ตั้งหน้าตั้งตาทำให้เกิดผลจริง ๆ แล้วเราจะอยู่ในบุคคลประเภทไหนค่อยว่ากันไป

    ประเภทแรกก็คือ หม้อเปล่าปิด ไม่มีความดีกูก็หุบปากไว้
    ประเภทที่สองก็คือ หม้อเปล่าเปิด ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง..โม้แม่งได้ทุกเรื่อง..!
    ประเภทต่อไปก็คือ หม้อเต็มปิด ถึงรู้กูก็ไม่สอนใคร สอนผิดเดี๋ยวกูจะซวยไปด้วย..!
    ประเภทสุดท้ายก็คือ หม้อเต็มเปิด รู้จริง สอนถูก
    ถึงตอนนั้นก็ต้องไปค่อย ๆ พิจารณาเลือกเอาว่าเราจะเป็นบุคคลประเภทไหน ?

     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...