บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ ,บุคคล ๓ จำพวก หลวงปู่ คำดี ปภาโส

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย อวิปลาส, 26 เมษายน 2009.

  1. อวิปลาส

    อวิปลาส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    211
    ค่าพลัง:
    +353
    วัดถ้ำผาปู่ พุทธศักราช ๒๕๒๑

    ณ โอกาสนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนาเพื่อฉลองศรัทธาพวกพุทธบริษัททั้งหลาย ตามสมควรแก่เวลา วันนี้ประสงค์จะพูดเรื่อง"ทานํเทติ สีลํรกฺขติ ภาวนํภาเวตฺวา" คือ ทาน ศีล ภาวนา นั่นเอง
    ทานํเทติ คือ การทำบุญให้ทานโดยวิธีต่างๆนั่นแหละ
    สีลํรกฺขติ คือ การรักษาศีลตามฐานะของตน
    ภาวนํภาเวตฺวา คือ การฝึกหัดทำสมาธิภาวนา
    เรารวมเรียกบุญทั้ง ๓ วิธีการนี้ว่า"บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ"ทั้ง ๓ ประการนี้ตามหลักท่านแสดงไว้ว่า
    อานิสงส์ของการทำทาน คือ บันดาลให้มีโภคทรัพย์สมบัติ ทานนี้เปรียบเหมือนเสบียงสำหรับการเดินทาง ต้องเตรียมให้เพียงพอ การทำความเพียรเพื่อที่จะให้สำเร็จมรรคผลนิพานนั้น เปรียบเหมือนการเดินทางใกล ซึ่งพระนิพพานเป็นระยะทางที่ใกลมาก เราท่านทั้งหลายต้องมีหน้าที่เดินทางจึงมีความจำเป็นจะต้องสะสมเสบียงให้เพียงพอ การที่เราทำทานก็เปรียบได้เช่นนี้
    อานิสงส์ของการรักษาศีล คือ สามารถที่จะทำให้บุคคลมีร่างกายที่สมบูรณ์ ไม่เป็นคนพิการ ทำให้เป็นคนที่มีพละกำลังแข็งแรงพอ ที่จะใช้ในการเดินทางไกลไปสู่พระนิพพาน
    อานิสงส์ของการภาวนา คือ ทำให้เกิดปัญญา ความรู้ ความฉลาด เปรียบเหมือนบุคคลที่มีสายตาที่ดี สามารถมองเห็นทางที่จะต้องเดินทางไปสู่พระนิพพาน
    ..................................................................
    บุคคลที่มีทานอย่างเดียว ไม่มีการรักษาศีลแล้ว เปรียบเหมือนบุคคลที่มีที่มีข้าวของสมบัติหรือมีเสบียงมากมาย แต่ว่าร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่มีกำลังวังชาก็ไม่สามารถที่จะเดินทางไกลๆได้ หรือ ไม่สามารถที่จะไปสู่พระนิพพานได้นั่นเอง
    บุคคลที่มี ทาน ศีล แต่ขาดการภาวนานั้น เปรียบเหมือนบุคคลที่มีเสบียงพร้อมแล้ว มีร่างกายที่สมบูรณ์ มีกำลังวังชาที่ดี แต่บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ตาบอด เขาผู้นั้นก็ไม่สามรถที่จะเดินทางไปสู่พระนิพพานได้เช่นกัน
    บุคคลที่มี ทาน ศีล ภาวนา พร้อมทั้ง ๓ อย่าง เปรียบเหมือนบุคคลที่มีเสบียงพร้อมสมบูรณ์ มีร่างกายที่มีสุขภาพที่แข็งแรง มีสายตาที่ดี บุคลนี้ก็สามารถที่จะเดินทางไกลไปสู่พระนิพพานได้
    บุญกิริยาวัตถุ ๓ จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกันดังที่พูดมานี้ บุคคลที่มีศีล ๕ และมีทาน ก็อาจที่จะไปสวรรค์ได้
    ..........................................................................
    บุคคล ๓ จำพวก
    ๑. อันธจักษุ คือ คนที่มืดบอด
    ๒. เอกจักษุ คือ คนที่มีตาเดียว
    ๓. ทวิจักษุ คือ คนที่มีสองตา
    อันธจักษุ หมายถึง คนที่ยากไร้ ไม่มีปัญญาในการประกอบอาชีพ เป็นคนทุกข์คนยากคนจน เรียกว่าเป็นบุคคลที่มีผลทานน้อย ผลศีลน้อย การทำสมาธิภาวนาก็ไม่สน
    เอกจักษุ คือ คนตาเดียว หมายความว่า คนฉลาดแต่ในทางโลก ฉลาดแต่ทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นบุคคลที่มีฐานะดีแต่ไม่สนใจในศีลธรรม เป็นผู้ที่มีคุณธรรมต่ำหรือขาดคุณธรรม ถึงแม้จะมีทรัพย์สมบัติมากหรือเกิดในตระกูลที่สูง ก็จัดเป็นคนต่ำต้อยอยู่นั่นเอง ยังเป็นคนที่ต้องทนทุกข์ต่อสิ่งต่างๆ แม้จะมีสมบัติมากมายก็ตาม เราไม่ควรถือเป็นตัวอย่าง
    ทวิจักษุ คือ คนสองตา หมายถึง คนที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกก็บริบูรณ์ด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง และยังมีศีลที่บริสุทธิ์ สนใจในสมาธิภาวนาปฏิบัติธรรมถึงขั้นได้เกิด ฌานสมาบัติขั้นใดขั้นหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนสองตา เราควรถือเป็นตัวอย่าง
    บุคคลทั้ง ๓ จำพวกที่กล่าวมานี้ มีอยู่ในโลก หาได้อยู่ในโลก เราต้องเลือกถือเอาไปปฎิบัติสำหรับตนเอง เรื่องทานนี้ก็บำพ็ญกันมามากพอสมควร ยังขาดบกพร่องก็แต่เรื่องของศีลและการภาวนาสมาธิ เรื่องศีลกับสมาธิ ถ้าเราจะนับเป็นอันเดียวกันก็ได้ หมายความว่ารักษาศีลและทำสมาธิภาวนาควบคู่กันไปก็ได้
    ศีล หมายถึง การสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ใจเป็นเจ้าของ สั่งให้พูดแต่ในสิ่งที่ดี ทำแต่ในสิ่งที่ดี คิดแต่ในสิ่งที่ดี
    ผู้ที่ตระหนักในการภาวนา บากบั่นในการภาวนาเพื่อหาความสงบ จะต้องระมัดระวังในเรื่องของศีลเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเรามีศีลที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว ความสงบของจิตใจก็จะเกิดได้อยาก ท่านจึงว่าศีลกับสมาธิเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้
    สมาธิภาวนา คือ การทำจิตใจให้ตั้งมั่นในอารมณ์อันเดียว เรามีลมหายใจอยู่แล้ว ให้กำหนดรู้ลมหายใจ เข้า-ออก ให้รู้อยู่ว่า หายใจเข้า หายใจออก
    การที่เราทำงานต่างๆแล้วไม่เรียบร้อย ก็เพราะขาดสติขาดเจตนา ถ้าเรามีการทำสมาธิด้วยแล้ว การทำงานของเราจะไม่บกพร่อง ไม่มีการผิดพลาด การปฏิบัติแบบนี้เป็นการที่ทำได้ง่าย แต่ได้ผลมหาศล แต่เราท่านไม่ค่อยจะรู้ถึงคุณค่าของการภาวนา จึงไม่ค่อยจะยอมปฏิบัติกัน
    สมาธิที่อบรมดีแล้วให้ผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ สมจริงที่ท่านกล่าวไว้เหลือเกิน ผู้ที่ยังไม่เคยมีโอกาสปฏิบัติให้เกิดผลของสมาธิ ก็ให้หาโอกาสนั้นเสีย เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคุณแก่จิตใจเป็นที่สุด มีคำกล่าวไว้ว่า
    "เมื่อเราไม่รักษาศีล ก็ได้ชื่อว่าไม่รักษาจิตใจ ไม่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ชื่อว่าไม่รักษาจิตใจ"
    ที่ได้แสดงมาในเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา ก็เห็นสมควรแก่เวลา เอวัง

    pity_pigpity_pigpity_pig
     

แชร์หน้านี้

Loading...