บุคคลที่โกหก จักไม่กระทำความชั่วอื่นเลยนั้นไม่มี

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 7 กันยายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,364
    IMG_7792.jpeg

    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เมื่อวันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๖๖

    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ มีคนเก่าคนแก่ แต่ว่าไม่เก่าและไม่แก่มาก ก็คือท่านนายอำเภอนภเดช เกลียวศิริกุล พาครอบครัวมาเยี่ยม ในฐานะที่รู้จักคุ้นเคยและร่วมงานกันมาก่อน ต้องบอกว่าอำเภอทองผาภูมิของเราโชคดีมาก เพราะว่านายอำเภอแต่ละท่านที่มาอยู่ที่ทองผาภูมินั้น ล้วนแล้วแต่เอาการเอางานทั้งสิ้น แม้แต่บางท่านที่มาเพื่อรอเวลาเกษียณแท้ ๆ แต่ก็ยังทุ่มเททำการทำงานจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย

    เรื่องพวกนี้ เราทั้งหลายจำเป็นจะต้องดูและทำเป็นแบบอย่าง ท่านนายอำเภอนภเดช เกลียวศิริกุลก็ดี หรือว่าในปัจจุบันนี้ ท่านนายอำเภอชาคริต ตันพิรุฬห์ก็ตาม เมื่อรับหน้าที่อยู่นั้น ไม่ค่อยจะได้กลับบ้านกลับช่องกับใคร แม้กระทั่งวันเสาร์วันอาทิตย์ก็ออกไปคลุกคลีตีโมงอยู่กับชาวบ้าน
    เมื่อทักท้วงว่าเป็นวันหยุดราชการ ท่านก็ยังบอกว่า "ผมรับเงินเดือนเต็มทุกวัน..!" ดังนั้น..ขึ้นชื่อว่าวันหยุดนั้นไม่มี มีแต่วันที่ต้องทำหน้าที่ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ดูแลความสุขความทุกข์ของประชาชน..!

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพจึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า "คนทองผาภูมินั้นโชคดีมาก" เพราะว่านายอำเภอแต่ละท่าน ตั้งแต่กระผม/อาตมภาพอยู่ทองผาภูมิมาเกิน ๓๐ ปี ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานของตน อย่างเต็มสติ เต็มกำลัง สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นราชการจริง ๆ

    ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะรู้ตัวหรือว่าไม่รู้ตัวก็ตาม ท่านก็มีหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คืออย่างน้อยต้องมีอิทธิบาท ๔ ประกอบไปด้วยฉันทะ เมื่อยินดีที่จะทำหน้าที่นี้ ศึกษาเล่าเรียนมาก็เพื่อให้ได้ทำหน้าที่นี้ ก็แปลว่าต้องประกอบไปด้วยความยินดีและความพอใจ ที่จะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ จึงได้มีวิริยะ พากเพียรกระทำหน้าที่โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก

    กระผม/อาตมภาพเองที่เกิดมาในสมัยของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต่อเนื่องมาจนถึงในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ แม้ว่าจะเป็นบุคคลสองแผ่นดินเท่านั้นก็ตาม แต่ว่าได้เห็นการทรงงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากแล้ว ก็ได้แต่คิดว่า "ถ้าใครบ่นว่าตนเองทำงานหนัก ทำงานมาก ก็คงจะไม่มีสิทธิ์บ่น บุคคลที่จะมีสิทธิ์บ่นนั้น มีแต่ในหลวงของเราเท่านั้น..!"

    ส่วนหลักธรรมข้อต่อไปก็คือจิตตะ เมื่อมีความยินดีที่จะกระทำ มีความพากเพียรทุ่มเทกระทำหน้าที่แล้ว ยังต้องมีกำลังใจที่ปักมั่น หนักแน่น มั่นคงอยู่กับการงานของตน ไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายไปง่าย ๆ

    และท้ายที่สุด มีวิมังสา คือต้องไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ว่าตนเองนั้นทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ปัจจุบันนี้ยังตรงต่อเป้าหมายเดิมอยู่หรือไม่ ? ยังจะต้องใช้ความเพียรพยายามอีกเท่าไรในการกระทำหน้าที่นั้น ๆ เป็นต้น

    นอกจากนั้นยังต้องเป็นผู้ที่ไม่ประกอบไปด้วยอคติ ๔ ก็คือไม่ลำเอียงเพราะรัก เห็นแก่พวกแก่พ้อง เห็นแก่คนของตน ไม่ลำเอียงเพราะโกรธ เขาทำให้เราไม่ชอบหน้า ก็กีดกันไม่ให้เขาได้ยศได้ตำแหน่งที่ควรจะได้ ไม่ลำเอียงเพราะกลัว เห็นว่าบุคคลนั้นเป็นลูกเจ้าใหญ่นายโต มีเส้นมีสายแล้วก็ต้องคอยเกรงใจเขา และท้ายที่สุด ไม่ลำเอียงเพราะหลง ก็คือมีความเข้าใจผิด เข้าไม่ถึงบุคคลนั้นอย่างแท้จริง จนกระทั่งไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้ถูกต้องบ้าง

    ดังนั้น..บุคคลใดก็ตามที่ตั้งใจจะรับราชการก็ดี ที่จะประกอบกิจหน้าที่ใด ๆ ในลักษณะของผู้นำหน่วยงานก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเล็ก ๆ อย่างครอบครัวของตนเอง หรือว่าหน่วยงานที่ใหญ่ขึ้น คือหมู่บ้านของตนเอง ตำบลของตนเอง อำเภอของตนเอง จังหวัดของตนเอง และประเทศชาติของตนเอง ก็จะต้องประกอบไปด้วยหลักธรรมทั้งหลายเหล่านี้

    โดยเฉพาะถ้าไปถึงระดับอำเภอ จังหวัด หรือว่าประเทศชาติแล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาในทศพิศราชธรรมขององค์ในหลวงทุก ๆ พระองค์

    เนื่องเพราะว่าหลักทศพิศราชธรรมนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ประทานให้ไว้สำหรับผู้ปกครอง ที่อยู่ในลักษณะของกษัตริย์ ให้ปกครองไพร่ฟ้าประชาชน ในลักษณะของพ่อปกครองลูก เปรียบเหมือนอย่างกับสมัยของกรุงสุโขทัย ที่เราเรียกกษัตริย์ว่า "พ่อขุน" คือ "พ่อผู้เป็นใหญ่"

    เนื่องเพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นปกครองไพร่ฟ้าประชากร เหมือนกับพ่อปกครองลูก เหมือนกับบุคคลดูแลครอบครัวของตนเอง เพิ่งจะมาเปลี่ยนกษัตริย์เป็นฐานะของสมมติเทพในระยะเวลาอันไม่นานนี้เอง

    แต่ว่าองค์ในหลวงของเราก็ยังคงปฏิบัติตามทศพิศราชธรรม ตั้งแต่ทานัง การให้ แม้กระทั่งเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประเทศชาติและประชาชนก็สละให้ได้ ไล่ไปจนกระทั่งถึงข้อสุดท้าย ก็คืออวิโรธนะ หรือว่าอวิโรธนัง เพราะว่าบุคคลที่ดูแลส่วนราชการ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ก็สามารถที่จะดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ท่านได้ เพราะว่าเราทั้งหลายดูแลประชาชน เพื่อความสุขของประชาชน

    สิ่งทั้งหลายที่เราทำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวัง กาย วาจา และใจของตนให้ดี โดยเฉพาะไม่พูดในสิ่งที่กระทำไม่ได้ ในลักษณะที่บาลีได้กล่าวไว้ว่า ยถาวาที ตถาการี พูดอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น หรือว่า ยถาการี ตถาวาที ทำอย่างไรก็ต้องพูดอย่างนั้น

    โดยที่สมัยหนึ่ง เรามีนายกรัฐมนตรีที่ทุกคนเรียกด้วยความคุ้นเคยว่าน้าชาติ (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) น้าชาติของพวกเราได้กล่าวเอาไว้ว่า "ก่อนพูด เราเป็นนายของคำพูด แต่เมื่อพูดแล้ว คำพูดนั้นจะเป็นนายของเรา" จึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักเอาไว้ให้มาก ไม่เช่นนั้นแล้ว ถึงเวลาเราเองก็จะต้องแก้ตัวไปเรื่อย ซึ่งเราก็จะต้องมีภาษิต ที่ฟังแล้วอาจจะค่อนข้างแรงว่า "คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว"..!

    โดยเฉพาะการแก้ตัวที่ต้องโกหก ถ้าหากว่าคนเราโกหกได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสเอาไว้กับพระราหุลว่า ราหุละ...ดูก่อนราหุล บุคคลที่โกหก จักไม่กระทำความชั่วอื่นเลยนั้นไม่มี ก็เพราะว่า การโกหกนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้สภาพจิตใจของเราต้องประกอบไปด้วยอกุศลกรรม ในเมื่ออกุศลกรรมนำทาง เราก็สามารถที่จะกระทำสิ่งเลวร้ายอื่น ๆ ได้ทั้งสิ้น

    เนื่องเพราะว่ากิเลสนั้นมักจะชักนำเราในลักษณะที่ว่า "คราวที่แล้วยังทำได้เลย ลองทำอีกสักครั้งหนึ่งเถิด" แล้วตัวเราเองที่มีวิสัยไหลลงต่ำเหมือนกับกระแสน้ำ ยากที่จะทวนขึ้นที่สูง ก็จะไหลตามกระแสกิเลสไป ทำให้ทุกคนไม่สามารถที่จะพาตัวตนให้พ้นจากกระแสกิเลสได้

    ถ้าหากว่าไม่ปล่อยให้ตนเองตกไปสู่อบายภูมิเลย ก็จะต้องมีความเพียรพยายามในระดับหนึ่ง ที่จะดึงตนเองให้พ้นจากเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นออกมา แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็มีกำลังน้อย คำว่า กำลังน้อย ในที่นี้ก็คือกำลังของศีล กำลังของสมาธิ กำลังของปัญญา เนื่องเพราะว่าขาดการขัดเกลา ฝึกฝน ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ อย่างแท้จริง จึงทำให้มีกำลังน้อย ไม่อาจที่จะต่อต้านกระแสกิเลสได้

    ดังนั้น..องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้สอนให้เราระวังทุกคำพูดและการกระทำ โดยการให้ศีลมา เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต ให้สมาธิมา เพื่อที่เราฝึกฝนแล้ว จะได้มีกำลังในการระงับยับยั้งตนเอง และให้ปัญญามา เพื่อที่อย่างน้อยเมื่อเรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะได้ใช้ปัญญาของเรา ดำเนินไปตามหนทางที่ถูกต้องนั้นด้วย
    จึงทำให้บรรดาข้าราชการต่าง ๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรที่จะต้องศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะเอาไว้รับใช้ประชาชน ให้สมกับคำว่า "ข้าราชการ" คือ "ผู้ที่คอยรับใช้กระทำการแทนองค์พระราชา" ไม่เช่นนั้นแล้วท่านทั้งหลายก็จะหลงผิด เข้าใจว่าตนเองเป็นนายของประชาชน

    ทั้ง ๆ ที่ข้าราชการบางส่วน คือข้าราชการการเมืองนั้น ก็ได้รับการไว้วางใจเลือกมาจากประชาชนให้เป็นตัวแทนของตน ก็แปลว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชน แต่ท่านทั้งหลายมักจะหลงผิด คิดว่าท่านเป็นเจ้านายของประชาชน โดยเฉพาะข้าราชการการเมืองแล้ว ส่วนใหญ่หาคุณธรรมความดีได้ยาก

    เนื่องเพราะว่า "บุคคลที่อยู่ในยุทธจักร มักจะไม่เป็นตัวของตัวเอง" บุคคลที่กล้าฝืน กล้าต่อต้านกระแสต่าง ๆ เพื่อยืนหยัดในความถูกต้องนั้น จึงกลายเป็นรัฐบุรุษ แต่ว่าบุคคลที่ปล่อยตนเองไหลตามกระแสไป เห็นว่าทุกอย่างเป็นสีเทา ไม่มีดำขาวที่ชัดเจน ท่านทั้งหลายก็เป็นได้นักการเมืองเท่านั้น..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
    ....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...