เคยอ่านคำสอนของหลวงพ่อฯท่านบอกว่าบารมีแปลว่ากำลังใจเต็ม ทีนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ากำลังใจเต็มในที่นี้หมายถึงอย่างไรครับ ใครพอทราบละเอียดลงไปไหม คือส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบทางโลกเลย และไม่ชอบความวุ่นวายต่างๆ งานทางโลกก็ทำไปอย่างนั้น อะไรที่ชอบหน่อยก็ทำได้ดี อะไรที่ไม่ชอบก็มักจะไม่แตะ แต่ถ้าเป็นทางธรรม ไม่ว่าจะทาน ศีล ภาวนา ผมเต็มใจทำเต็มที่ และจะรู้สึกมีความอิ่มใจเป็นพิเศษเวลาทำบุญที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อฯและวัดท่าซุง กำลังใจจะคล้ายที่หลวงพ่อฯบอกว่าตายเป็นตาย ไม่ว่าจะต้องอดนอน ต้องอดข้าว ต้องทนร้อน ทนฝน หรือลำบากอย่างไรก็เต็มใจทำ ถ้าทำให้วัดให้พระ ทำบุญ รักษาศีลหรือภาวนา ผิดกับงานทางโลกที่ผมไม่ค่อยอยากทำ รู้สึกกำลังใจไม่ค่อยมี จึงอยากเรียนถามครับว่าคำที่หลวงพ่อเทศน์ว่า กำลังใจเต็ม นี่หมายความอย่างละเอียดว่าอย่างไร เช่นวิริยบารมีเต็มนี่ดูเฉพาะเรื่องธรรมะ หรือดูรวมทั้งเรื่องโลกๆด้วยครับว่าเรามีความเพียรในธรรม คือมีความเพียรในทาน ศีล ภาวนา หรือต้องดูด้วยว่างานทางโลกเรามีความเพียรแค่ไหน เพราะผมรู้สึกว่าสำหรับผมแล้ว ผมอาจจะมีบารมีทางธรรมไม่เต็ม แต่มันน่าจะมากกว่าทางโลกเยอะมากๆครับ เพราะเรื่องทางโลกผมไม่ค่อยเต็มใจจะทำเลยจริงๆ ขอความกระจ่างหน่อยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ
บารมีเต็ม -------------------------------------------------------------------------------- ถาม : คำว่าบารมีเต็ม เป็นอย่างไร ? ตอบ : บารมีเต็ม แปลว่า ทำจนถึงที่สุดของกำลังใจแล้ว บารมีก็คือกำลังใจ มีอยู่ ๓ ระดับ ๙ ขั้น ๑. สามัญบารมี กำลังใจขั้นต้น ประกอบไปด้วย หยาบ กลาง ละเอียด ๒. อุปบารมี กำลังใจขั้นกลาง ประกอบไปด้วย หยาบ กลาง ละเอียด ๓. ปรมัตถบารมี กำลังใจขั้นสูงสุด ประกอบไปด้วย หยาบ กลาง ละเอียด เหมือนกัน ถ้าหากว่าถึงปรมัตถบารมีขั้นละเอียดก็แปลว่ากำลังใจเต็ม พร้อมที่จะเข้าพระนิพพานได้ คราวนี้จะวัดจากตรงไหนได้ สามัญบารมี ให้ทานได้ บอกให้รักษาศีลก็จะไม่ไหว อุปบารมีให้ทานได้ รักษาศีลได้ บอกให้ภาวนาไม่ไหว ถ้าหากว่ากำลังใจพร้อมทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ตั้งมั่นว่าจะทำเพื่อพระนิพพาน อันนี้ถือเป็นปรมัตถบารมีเต็มแล้ว พร้อมที่จะไปแล้ว ถาม : ถ้าในชาตินี้เราให้ทานประจำ รักษาศีลก็ได้ ภาวนาได้ ? ตอบ : แสดงว่ากำลังใจของเราอยู่ระดับปรมัตถ์แล้ว เพียงแต่จะหยาบ จะกลาง จะละเอียดเท่านั้น ถ้าถึงปรมัตถบารมีนี้มีสิทธิ์ไปพระนิพพานได้แน่ อย่างแย่ ๆ ก็เป็นดอกบัวกลางน้ำ พร้อมที่จะโผล่พ้นน้ำมาบานในวันต่อไป สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕ บารมีเต็ม - กระดานสนทนาวัดท่าขนุน
"บารมี" แปลว่ากำลังใจเต็ม คัดลอกข้อความบางส่วน มาจากหนังสือบารมี ๑๐ โดยพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทเริ่มปฏิบัติ อาตมาก็คิดในใจว่าร่างกายไม่ดีแบบนี้เราจะทนมันอยู่ทำไม ไปเสียจากร่างกายดีกว่า ปล่อยให้มันนั่งอยู่ตรงนี้ พอสัญญาณบอกเวลาปรากฏเราจึงจะกลับมา ฉะนั้นจึงได้ไปเสียจากกาย ไปไหว้พระ จะไปแบบไหนอันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาไม่บอก บอกไม่ได้ ไปอย่างไร ไปโดยวิธีไหน อยากจะรู้ก็ปฏิบัติกันเอาเอง แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่ของดีของเด่นอะไรนัก การไปได้มาได้ถ้าใจเหลิงเกินไปก็ยังลงนรกได้ ไม่ใช่ของพิเศษ เมื่อออกไปแล้วก็พบองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ นี่ขวางกับชาวบ้านเขาแล้ว เขาบอกว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะพบกันได้ยังไง นั่นมันเรื่องของเขาบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย นี่มันเรื่องของอาตมา อาตมาพบกันได้ก็แล้วกัน เมื่อพบแล้วก็เข้าไปนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พอเงยหน้าขึ้นมาพระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า "สัมพเกษี วันนี้เธอสอนบารมี ๑๐ ทัศใช่ไหม ...?" ก็กราบทูลพระองค์ว่า "ใช่พระพุทธเจ้าข้า" พระองค์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า "สัมพเกษี บารมีแปลว่าอะไร...?" ตอนนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายขอได้โปรดทราบว่า ถ้าอาตมาสอนถูกพระองค์จะไม่ทรงตรัสแบบนั้น อาตมารู้ทันรู้เท่าเข้าใจทันทีว่า การสอนวันนี้ผิดพุทธพจน์บทพระบาลี นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทการสอนนี้ไม่ใช่ว่ามันจะถูกเสมอไป มันก็ผิดได้เหมือนกัน เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรมีพระพุทธฎีกาตรัสถามแบบนั้นอาตมาก็ทราบ จึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่แน่ใจนักพระพุทธเจ้าข้า แต่ที่เรียนกันมา ครูสอนว่าบารมีแปลว่าเต็ม" พระองค์จึงทรงตรัสถามว่า "อะไรมันเต็ม และมันเต็มแบบไหน สมมุติว่าเธอจะปฏิบัติในทานบารมี ทำยังไงทานบารมีมันถึงจะเต็ม ถ้าหากว่าจะนำของมาให้เต็มโลก เธอจะไปขนมาจากไหน ถ้าเราจะไม่นำของมาให้ ทำยังไงทานบารมีมันจึงจะเต็ม...?" แบบนี้มันก็อยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าคนอย่างอาตมา ถ้าหากว่าท่านที่เป็นนักปราชญ์ดีกว่าอาตมาก็ไม่เป็นไร ท่านไปได้ เพราะท่านมีความเข้าใจ ท่านมีความฉลาด อาตมาบอกแล้วนี่ว่าอาตมามีความรู้ไม่เท่าหางอึ่ง คือยาวไม่เท่าหางอึ่งหรือไม่แค่หางอึ่งเพราะความโง่มันมาก เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแบบนั้นก็ทูลถามพระองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่เข้าใจในบารมีพระพุทธเจ้าข้า" พระองค์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า "สัมพเกษี เธอเข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ แต่ว่าเธอดีแต่เฉพาะบริโภคเองเท่านั้น แต่การที่จะแบ่งปันให้บุคคลอื่นน่ะ เธอไม่มีความฉลาด การที่เธอตั้งกำลังใจในด้านบารมี ๑๐ ทัศ เป็น ๓๐ ทัศ ด้วยกัน ๓ ชั้น เธอทำได้ แต่ว่าวันนี้เธอสอนบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เธอทำไม่ถูก เธอจงมีความเข้าใจเสียใหม่ว่า คำว่าบารมีนี้มันแปลว่าเต็ม แต่อะไรมันเต็มตถาคตจะบอกให้ว่า บารมีนี่ควรจะแปลว่ากำลังใจเต็ม " นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท จำไว้ให้ดีว่า คำว่าบารมีก็คือกำลังใจ ทำกำลังใจให้เต็ม ตอนนี้ซิชักจะฉลาดขึ้นมาทันที มานึกในใจว่าเรานี่มันแสนจะโง่เสียมาก กำลังใจเต็มตอนไหนบรรดาท่านพุทธบริษัท ท่านก็ทรงให้ทวนเรื่องบารมี ๑๐ ทัศ ว่ามีอะไรบ้าง อาตมาก็ถวายคำตอบแก่พระองค์ว่า ๑. ทานบารมี ๒. ศีลบารมี ๓. เนกขัมมบารมี ๔. ปัญญาบารมี ๕. วิริยบารมี ๖. ขันติบารมี ๗. สัจจบารมี ๘. อธิษฐานบารมี ๙. เมตตาบารมี ๑๐. อุเบกขาบารมี องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า สัมพเกษี ถูกแล้ว บารมีทั้งหมดนี้ให้ใช้กำลังใจ สร้างกำลังใจให้มันทรงอยู่ในใจทั้งหมด ให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีอะไรบกพร่อง คือ ๑. จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ ๒. จิตพร้อมในการทรงศีล นี่ซิบรรดาพุทธบริษัท พร้อมในการทรงศีลเป็นปกติ ไม่ใช่ปล่อยให้ศีลมันหล่นไป ๓. จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะก็แปลว่าการถือบวช บวชผมยาว บวชผมสั้น บวชโกนหัว ไม่โกนหัว ได้ทั้งนั้น ๔. จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารอุปาทานให้พินาศไป ๕. วิริยะ มีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ ๖. ขันติ มีทั้งอดทั้งทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ๗. สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลาว่าเราจะจริงทุกอย่าง ไม่มีอะไรในคำว่าไม่จริงสำหรับใจเรา ในด้านของการทำความดี ๘. อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ ๙. เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดีไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น ๑๐. อุเบกขาบารมี วางเฉยเข้าไว้ ในเมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว อย่างที่เธอเป็นวันนี้ อุเบกขาบารมีตัวนี้ พระองค์ทรงตรัสว่า ตรงกับภาษาไทยที่ใช้กันเป็นปกติว่า ช่างมัน ขันติบารมีนี่ก็เหมือนกันใช้คำว่าช่างมัน ตรงตัวดี นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า วันนี้ยังไม่สอนอะไรบรรดาท่านพุทธบริษัท เรามาคุยกันในคำว่า บารมีทั้งหลาย ได้ทราบชัดว่า บารมีที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ให้เราสร้างให้มันเต็มนั้น ก็คือสร้างกำลังใจปลูกฝังกำลังใจ ให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่ ใช่ว่าเราจะมานั่งคิด เราจะมานอนคิด เราจะมาทรงจิตว่า เอ๊...บารมีของเรามันไม่มีนี่ ชาติก่อนบารมีของเรามันไม่พอ บารมีของเรายังไม่เต็ม เราจะเป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ยังไงได้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มีความเข้าใจตามนี้ พอยังจะรู้รึยังว่าเราสามารถจะสร้างบารมีได้ด้วยอาศัยกำลังใจ ความดีของบรรดาท่านพุทธบริษัทมี กำลังใจอย่างเดียวเท่านั้นที่เราจะทำให้มันดีหรือไม่ดี อันนี้ก็ตรงกับพระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในเรื่อง พระจักขุบาล ว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ นี่ความจริงเรื่องนี้ก็เรียนกันมาแล้วบรรดาท่านพุทธบริษัท แต่เวลาปฏิบัติจริง ๆ มันทำไมถึงลืมก็ไม่ทราบ เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านคงจะเข้าใจคำว่า บารมี แล้วอย่าลืม บารมีแปลว่าเต็ม แต่ส่วนที่เราจะทำให้เต็มนั้นก็คือกำลังใจ ให้กำลังใจมันพร้อม พร้อมที่จะทรงความดีในด้านบารมีไว้ ถ้ากำลังใจของเราพร้อมทรงบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ครบถ้วนเพียงใด บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความเป็นพระอริยเจ้าเป็นของง่าย ที่นำบารมีทั้ง ๑๐ ประการมากล่าวในตอนนี้ก็เพราะว่า ในตอนต้นพูดเรื่องพระโสดาบันเข้าไว้ เห็นว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายอาจจะคิดว่า แหม...มันยากเกินไป ถ้ากำลังใจในการสร้างตนเป็นพระโสดาบันมันยังครบถ้วนไม่ได้ ก็หันมาจัดการกับบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ให้มันครบถ้วนบริบูรณ์ ทาน การให้ เป็นการตัดความโลภ ศีล เราก็ตัดความโกรธ เนกขัมมะ ตัดอารมณ์ของกามคุณ ปัญญา ตัดความโง่ วิริยะ ตัดความขี้เกียจ ขันติ ตัดความไม่รู้จักการอดทน สัจจะ ตัดความไม่จริงใจ มีอารมณ์ใจกลับกลอก อธิษฐาน ทรงกำลังไว้ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ เมตตา สร้างความเยือกเย็นของใจ อุเบกขา วางเฉยเข้าไว้ในเรื่องของกายเราไม่ปรารภ เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทสมบูรณ์เพียงใด คำว่า พระโสดาบัน นั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จะรู้สึกว่าง่ายเกินไปสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัท ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ก็เพราะว่าคนที่มีบารมีเต็มครบถ้วนบริบูรณ์ มีกำลังใจเต็มทุกอย่างใน ๑๐ ประการนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เรียกว่าพระโสดาบัน แล้วท่านเรียกว่าอะไร ท่านเรียกว่า พระขีณาสพ แปลว่า ผู้มีอาสวะอันสิ้นไปแล้ว หรือเรียกว่า พระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาอันดับสูงสุดเข้าถึงซึ่ง พระนิพพาน ได้ เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี ที่มาhttp://www.luangporruesi.com/326.html
ทาน ศีล ภาวนา ผมเต็มใจทำเต็มที่ อยากถาม จขกท. ว่า ไม่บวชบรรพชา บรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุ หรือครับ อุปสมบทในพระพุทธศาสนา. ตลอดชีพ นะครับ .
ตามความเข้าใจของผม บารมีเต็ม คร่าวๆคือ ชอบปฏิบัติกรรมฐาน ชอบพิจารณาขันธ์๕ เรื่องทานเรื่องศีลไม่มีปัญหา ข้ามมาได้แล้ว จิตมุ่งพระนิพพานอย่างเดียว ไม่ห่วงร่างกายของเราและบุคคลอื่น และจะทำการทำงานอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง
อยากอยู่เหมือนกันครับ แต่ติดว่าต้องเลี้ยงดูพ่อแม่และน้องที่พิการน่ะครับ เลยคงต้องเป็นเสาหลักให้ที่บ้าน
อืม มันยาวนะ เอาสั้นๆ แล้วไปลองคิดและทำต่อเองและกัน ต้นฉบับที่ท่าน Saber มานั้นถูกต้องแล้ว ทีนี้เวลาปฏิบัติเอาข้อแรกก่อน ตัวอย่างอย่างเรื่อง ทาน เวลาเราใช้ชีวิตประจำวัน ก็ต้องว่ากันตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้ากันเลยทีเดียว ก็ยังไม่ต้องลุกจากเตียง รู้สึกตัวขึ้นมา ก็แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลว่า เราจะสงเคราะห์ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ของเราเท่าที่จะพอมีความสามารถ โดยกันทรัพย์ที่ใช้เป็นประจำออกอยู่ก่อน ขึ้นชื่อว่าตั้งใจมาดีแล้ว ก็ลุกไปทำกิจการงานปกติ เมื่อเจอเหตุตรงหน้าที่จะสงเคราะห์ได้ เราก็ไม่มานั่งคิดนั่นคิดนี่ ว่าทานที่ให้เขาจะเอาไปทำอะไร ตั้งใจสงเคราะห์อย่างเดียว เพื่อตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ออกไปเสีย ยามใดที่ผู้ใดต้องการความช่วยเหลือ ก็ไม่รีรอต่อการใช้กำลังกายใดๆ ในกิจนั้น ตั้งกำลังใจให้มีความอิ่มใน ทาน ที่เราตั้งใจแล้ว ลงมือทำอยู่ ทำไปแล้ว และอิ่มใจในการให้นั้น ไม่หวังผลตอบแทน จะตรงกับคำที่หลวงพ่อฯ ท่านเขียนขยายว่า "จิตของเราพร้อมในการให้ทานเป็นปกติ" ครับ สอดคล้องกับ พุทธฏีกาที่องค์สมเด็จฯ ตรัสถามว่า "อะไรมันเต็ม และมันเต็มแบบไหน สมมุติว่าเธอจะปฏิบัติในทานบารมี ทำยังไงทานบารมีมันถึงจะเต็ม ถ้าหากว่าจะนำของมาให้เต็มโลก เธอจะไปขนมาจากไหน ถ้าเราจะไม่นำของมาให้ ทำยังไงทานบารมีมันจึงจะเต็ม...?" ตัดส่วนที่คนอื่นพึงจะมีผลประโยนช์ออกก่อน ทำทานในส่วนของเราให้เต็มที่ครับ ลองฟังท่านอ่านๆ ประกอบดู ข้ออื่น ก็คล้ายๆกัน
กระทู้นี้ อายุได้4ปีแล้ว ยัง มีคนอ่านรึป่าวครับ คือเป็นกระทู้ที่น่าสนใจมากครับ ถามเรื่องบารมี ผมก็เลยสนใจอยากจะมีส่วนร่วมในการสนทนา เพื่อสร้างบารมีสืบไปครับ ข้อแรก เราทุกคนเกิดมาสร้างบารมี บารมีอยู่ที่ใจ ทำได้สิบอย่าง (บารมี10ทัศ) ข้อ2 บุญ เป็นเหตุเกิดมหากุศลจิต ข้อ3 บุญ กลั่นเป็น บารมี ...เป็น อุปบารมี และปรมัตถ์ต่อไป ข้อ4 วิริยะบารมี นั้น คือความพากเพียรเพื่อให้ใจเป็นกุศล กุศลธรรมขาว ข้อ5 ข้อควรระวัง ความเพียรที่ไม่ถูกทางมรรคผล วิริยะเกิดที่อกุศลจิต เรียกว่า มิจฉาวายามะ ข้อ6 ควรส่งเสริมให้มี วิริยะความเพียรชอบในมหากุศลจิต 1/8นั้นเถิด เรียกว่า สัมมาวายามะ ข้อ7 วิริยะบารมี ขันติบารมี เป็นคู่บารมีที่ทำได้ยาก เพราะเป็นบารมีขั้น ใช้งานจริง ออกรบ ท่านกล่าวไว้ ข้อ8 บารมี เป็นธาตุประกอบใจ สำคัญ.ใจไม่ใช่ตัวบารมี ใจเป็นธาตุรู้ ครับ ข้อ9 1กุศล 2บุญ 3บารมี 4ธรรมขาว 5ใจขาวสว่างใส ข้อ10 จากข้อเก้าห้าชื่อนี้ คือชื่อเดียวกัน ได้สภาพธรรมเหมือนกัน เพียงแต่แยกอธิบายตาม อัธยาศัยของแต่คนครับ ข้อ11 จากข้อ8+9+10 อาจมีแตกต่าวกันบ้างในรายละเอียดครับ ข้อ12 บารมีสร้างได้ตลอดครับ .ถามว่าเมื่อไรถึงจะบารมีเต็ม ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของคุณเอง. ครับ เช่น พระพุทธเจ้า บารมี 4 -8-16อสงไขย พระปัจเจกพุทธ บารมี2 อสงไขย
ขอถามครับ ครั่ง หนึ่ง ผมวิ่งผ่านฝน ฟ้าร้องผ่า ปกติจะหลบฝน เเต่ครั้งนี้ฝนตกยังไม่เเรงมาก ผมเลยวิ่งกลับบ้าน อีกใจก็กังวลฟ้าผ่า เเละก็นึกขึ้นได้ว่าดีเหมือนกัน ถ้าผ่าฟ้าเราตายเราขอไปนิพพาน ตอนนั้นก็ จับภาพ พระ เเละ หลวงพ่อ วิ่งด้วยใจตั่งมั่น อยากถามว่า ผมมีบารมีสะสมมาถึงช่วงระดับไหนครับ