บางส่วนจากคิริมานนท์สูตร ตอนที่๑ เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย kengkenny, 3 กันยายน 2009.

  1. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    การปล่อยวางจิต คือ ให้ละโลภ โกรธ หลง
    ดูกรอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสีย ซึ่งการร้ายและ
    การดีที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่ายินดี อย่ายินร้าย
    แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค เป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อน เครื่องนุ่งห่ม แลที่อยู่ที่นอน เภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภ ความหลงในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่าจะห้ามเสียว่า ไม่ให้กิน ไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกกินยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือ ให้ละความโลเลในปัจจัยเท่านั้น คือว่า เมื่อได้อย่างดีอย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดีอย่างประณีต ได้อย่างเลวทรามต่ำช้า ก็ให้บริโภคอย่างเลวทรามต่ำช้า ตามมีตามได้ ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธความหลง อย่างนี้แล ชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้

    ถ้ายังเลือกปัจจัยอยู่ คือ ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้าครอบงำเพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ชื่อว่ายังถือจิตใจอยู่ ยังไม่ถึงพระนิพพานได้เลย ถ้าละความโลภ โกรธ หลง ในปัจจัยนั้นได้แล้ว จึงชื่อว่าทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดิน เป็นอันถึงพระนิพพานได้โดยแท้ มีคำสอดเข้ามาในนี้ว่าเหตุไฉนจึงมิให้ถือใจเมื่อไม่ให้ถือเช่นนั้น จะให้เอาใจไปไว้ที่ไหน เพราะไม่ใช่ใจของคนอื่น เป็นใจของตัวแท้ๆ ที่จะเป็นอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะมีใจนี้เอง ถ้าไม่มีใจนี้แล้วก็ตายเท่านั้น จะให้วางใจเสียแล้ว จะรู้จะเห็นอะไร?

    จิตใจไม่ใช่ของเรา ถ้าถึงพระนิพพานแล้ว ต้องวางจิตใจคืนไว้ให้แก่โลกตามเดิม


    มีคำวิสัชนาไว้ว่า ผู้ที่เข้าใจว่า ใจนั้นเป็นของๆ ตัวจริง ผู้นั้นก็เป็นคนหลง ความจริงไม่ใช่จิตของเราแท้ ถ้าหากเป็นจิตใจของเราแท้ก็คงบังคับได้ตามประสงค์ว่า อย่าให้แก่ อย่าให้ตาย ก็คงจะได้สักอย่าง เพราะเป็นของตัว อันที่แท้จิตใจนั้นหากเป็นลมอันเกิดอยู่สำหรับโลก ไม่ใช่จิตใจของเรา โลกเขาตั้งแต่งไว้ก่อนเรา เราจึงเข้ามาอาศัยอยู่กับลม จิตใจ ณ กาลภายหลัง ถ้าหากว่า เป็นจิตใจของเรา เราพาเอามาเกิด ครั้น เกิดขึ้นแล้วจิตใจนั้นก็หมดไป ใครจะเกิดขึ้นมาได้อีก นี่ไม่ใช่จิตใจของใครสักคน เป็นของมีอยู่สำหรับโลก ผู้ใดจะเกิดก็ถือเอาลมนั้นเกิดขึ้น ครั้นได้แล้ว ก็เป็นจิตของตน ที่จริงเป็นของสำหรับโลกทั้งสิ้น ที่ว่าจิตใจของตนนั้นก็เพียงให้รู้ซึ่งการบุญ การกุศล การบาป การอกุศล และเพียงให้รู้ทุกข์ สุข สวรรค์ แลพระนิพพาน ถือไว้ให้ถึงที่สุดเพียงพระนิพพานเท่านั้น ถ้าถึงพระนิพพานแล้ว ต้องวางจิตใจคืนไว้แก่โลกตามเดิมเสียก่อน ถ้าวางไม่ได้ เป็นโทษ ไม่อาจถึงพระนิพพานได้ มีคำแก้ไว้อย่างนี้

    ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด

    ดูกรอานนท์ เมื่อจะถือเอาความสุขในพระนิพพานแล้ว ก็ให้วางใจในโลกีย์นี้เสียให้หมดสิ้น อันว่าความสุขในโลกีย์ก็มีอยู่แต่อินทรีย์ทั้ง ๖ นี้เท่านั้น ในอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นยกเอาใจไว้เป็นเจ้า เอาประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นเป็นกามคุณทั้ง ๕ ประสาททั้ง ๕ นี้เองเป็นผู้แต่งความสุขให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช
    ประสาทตานั้น เขาได้เห็น ได้ดู รูปวัตถุสิ่งของอันดีงามต่างๆ ก็นำความสุขไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช

    ประสาทหูนั้น เมื่อเขาได้ยินได้ฟังศัพท์สำเนียงเสียงที่ไพเราะ เป็นที่ชื่นชมทั้งปวง ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช


    ประสาทจมูกนั้น เมื่อเขาได้จูบชมดมกลิ่นสุคันธรสของหอมต่างๆ ก็นำความสุขไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช


    ประสาทลิ้นนั้น เมื่อเขาบริโภคอาหารอันโอชารสวิเศษต่างๆ ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช


    ประสาทกายนั้น เมื่อเขาได้ถูกต้องฟูกเบาะเมาะหมอนแลนุ่งห่มประดับประดาเครื่องกกุธภัณฑ์อันสวยงาม แลบริโภคกามคุณ ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่พระยาจิตตราช



    เจ้าพระยาจิตตราชนั้นก็คือใจนั้นเอง

    ส่วนใจนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้คอยรับความสุขสนุกสนานอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนประสาททั้ง ๕ เป็นผู้สำหรับนำ


    ความสุขไปให้แก่ใจ ประสาททั้ง ๕ จึงชื่อว่ากามคุณ ส่วนความสุขในโลกนี้ มีแต่กามคุณทั้ง ๕ นี้เท่านั้น จะเป็นเจ้าประเทศราชในบ้านน้อยเมืองใหญ่ ตลอดขึ้นไปจนถึงเทวโลก ก็มีแต่กามคุณทั้ง ๕ เท่านั้น

    ดูกรอานนท์

    ผู้ที่จะนำตนไปให้เป็นสุขในพระนิพพาน ต้องวางเสียซึ่งความสุขในโลกีย์ ถ้าวางไม่ได้ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ก็ไม่พ้นทุกข์ ด้วยความสุขในโลกีย์เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์



    ครั้นเมื่อถือเอาสุขก็คือถือเอาทุกข์นั้นเอง ครั้นไม่วางสุขก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้
    เลย เพราะสุขทุกข์เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่วางสุขเสียก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์

    ดูกรอานนท์






    บุคคลทั้งหลายผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ติดกันอยู่นั้นหายากยิ่งนัก มีแต่เราตถาคตผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้เท่านั้น บุคคลทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราก็ไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้ เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่าสุขกับทุกข์ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์ เมื่อผู้ใดอยากพ้นทุกข์ก็ให้วางสุขเสีย ก็เป็นอันละทุกข์วางทุกข์ด้วยเหมือนกัน
    ใครเล่าจะมีความสามารถพรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ แม้แต่เราตถาคตก็ไม่มีอำนาจวิเศษที่จะพรากจากกันได้ ถ้าหากเราตถาคตพรากสุขแลทุกข์ออกจากกันได้ เราจะปรารถนาเข้าสู่พระนิพพานทำไม เราจะถือเอาแต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุขอยู่ในโลกเท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบายพออยู่แล้ว นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียวไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้ เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการดังนี้




    ดูกรอานนท์
    อันสุขในโลกีย์นั้น ถ้าตรวจตรองให้แน่นอนแล้วก็เป็นกองแห่งทุกข์นั้นเอง เขาหากเกิดมาเป็นมิตรติดกันอยู่ ไม่มีผู้ใดจักพรากออกจากกันได้ เราตถาคตกลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง หาทางชนะทุกข์มิได้ จึงปรารถนาเข้าพระนิพพาน เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้นอย่างเดียว
    พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล



    ผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องพ้นจากกุศลธรรมและอกุศลธรรม
    ตทนนฺตรํ
    ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาสืบต่อไปอีกว่า อานน ดูกรอานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น

    ได้แก่กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเอง อัพยากฤตธรรมนั้น คือ องค์พระนิพพาน ครั้งพ้นจากกองกุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น


    แล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหํ และพระนิพพานโดยแท้ ถ้ายังไม่พ้นจากกุศลแลอกุศลตราบใด ก็ยังไม่เป็นอัพยากฤตตราบนั้น


    คือยังไม่เป็นองค์พระอรหํ ยังไม่เป็นองค์พระนิพพานได้ ดูกรอานนท์ กุศลนั้นได้กองสุข อกุศลนั้นได้แก่กองทุกข์ กองสุขแลกอง

    ทุกข์นั้น หากเป็นของเกิดติดเนื่องอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครจักพรากให้แตกออกจากกันได้ ครั้นถือเอากุศลคือกองสุขแล้วส่วนอกุศลคือกองทุกข์นั้น แม้ไม่ถือเอาก็เป็นอันได้อยู่เอง






    พาลชนสั่งสอนได้น้อย เพราะถือว่าตนดีแล้ว



    เมื่อพาลชนทั้งหลายไม่เห็นเป็นอัศจรรย์แล้ว ก็จักไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในคุณของพระตถาคต ถ้ากล่าว

    แต่น้อยพอเป็นสังเขปก็ไม่เข้าใจ ไม่เหมือนผู้ที่มีบุญมีวาสนา แม้จะกล่าวแต่เพียงเล็กน้อยก็เข้าใจ ได้มากมายหลายอย่างหลายนัย ธรรมชาติผู้ที่มีปัญญาแท้ ไม่ต้องกล่าวอะไรเลย ก็รู้ได้ด้วยปัญญาของตนเอง ไม่ต้องให้กล่าวเป็นการลำบากเราตถาคตได้รับความลำบากเพราะพาลปุถุชนเท่านั้น ว่ากล่าวสั่งสอนแต่เพียงเล็กน้อยก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาถือว่าเขาดีเสียแล้ว แท้ที่จริงความรู้ของเหล่าพาลชน จะรู้ดีไปสักเท่าไร ก็ดีอยู่แต่เพียงมีลมอัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น ถ้าลมอัสสาสะปัสสาสะขาดแล้ว ก็มีแต่เน่าเป็นเหยื่อหนอน นอนกลิ้งเหนือแผ่นดิน จะหาสาระสิ่งใดไม่ได้เลย มีแต่เครื่องอสุจิเต็มไปสิ้นทั้งนั้น จะถือแต่ว่าตัวมีความรู้ความดี เมื่อมีความรู้ความดีแล้วจะไม่ตายหรือ จะมีความรู้มากรู้มายสักเท่าใดก็คงไม่พ้นตายไปได้ จะมีความรู้ดีวิเศษไปเท่าไร ก็รู้ไป หากตายจะมีความรู้ดีไปเท่าไร ก็รู้อยู่บนแผ่นดิน จะรู้จะดีให้พ้นแผ่นดินไปไม่ได้ เมื่อลมยังมีก็อยู่เหนือแผ่นดิน เมื่อลมออกแล้วก็คงอยู่เหนือแผ่นดินนั้นเอง จะพ้นจากแผ่นดินไปไม่ได้ แลจะมาถือตัวว่าตนอยู่นั้นเพื่อประโยชน์อะไร ส่วนของเน่าของเหม็นมีอยู่เต็มตัวก็ไม่รู้ไม่เห็น เห็นแต่ว่าตัวรู้ตัวดี ถือเนื้อถือตัวอยู่เราตถาคตเบื่อหน่ายความรู้ความดีของพาลปุถุชนมากนัก




    ผู้ต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี

    ดูกรอานนท์




    ธรรมดาบุคคลผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลายย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวว่า เรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าไร ก็มิได้ถือเนื้อถือตัวเหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชนที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัวมีมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ห่างไกลจากพระนิพพานมากเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้นคับแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียวไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพานก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้สูงศักดิ์กว่า ท่านยิ่งถือตนถือตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพานเข้าเท่านั้น จึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลายเป็นผู้ห่างไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขามัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่





     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...