“เส้นทางอรหันต์” ไม่ใช่เส้นทางของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเส้นทางที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ตลอดเวลาเท่ากาลเวลาของสังสารวัฏ เส้นทางบรรลุธรรมไม่เคยหนีหายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังคงคุณงามความดี ตราบนั้นโลกนี้ไม่ร้างจาก “พระอรหันต์” มีเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้นที่เส้นทางนี้เงียบเหงา ปราศจากนักเดินทาง บางช่วงเวลาก็คึกคักราวกับทั่วทั้งโลกธาตุหอมหวนด้วยความดี วินาทีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ได้ทรงอบรมกุลบุตรกุลธิดาให้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก พระอรหันต์ทุกท่านได้ถ่ายทอดธรรมผ่านทายาทธรรมอันได้แก่พระอริยสงฆ์ ซึ่งบางท่านได้ใช้ชีวิตของตนเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติธรรม บางท่านได้ชำระพระธรรม รจนาเป็นอักษรใบลาน กระจายไปยังวัดต่างๆ เพื่อให้ธรรมะดำรงคงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน เส้นทางธรรมจึงไม่เคยห่างจากพระอรหันต์ แม้แต่ในช่วงที่ประเทศสยามกำลังเข้าสู่วิกฤติ การเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ สังคมไทยก็ไม่เคยสิ้นพระอริยเจ้า ในดินแดนอีสานอันห่างไกลได้ให้กำเนิดกองทัพธรรมอันยิ่งใหญ่ โดยมีหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้หมุนกงล้อธรรมอีกครั้ง ทำให้พุทธศาสนาผ่านช่วงกึ่งพุทธกาลอย่างราชสีห์ กองทัพธรรมสายพระป่า อาทิ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ขาว อนาลโย และท่านอื่นๆ ล้วนเป็นลูกหลานชาวไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเดินดินกินข้าว ทำงาน แต่งงาน หลวงปู่บางท่านระหว่างที่เป็นฆราวาสหวุดหวิดเกือบจะเป็นฆาตกรก็มี บางท่านสมัยช่วงวัยรุ่นได้รับฉายาว่า “ไอ้ตัวแสบ” ของหมู่บ้าน แต่สามารถพลิกผันเป็นพระอรหันต์ในที่สุด วิถีชีวิตของลูกชาวบ้านสามัญธรรมดาติดดินพลิกชะตาจากฆราวาสที่สองเท้าเคยเหยียบย่ำในโคลนแห่งการได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา ทุกข์-สุข ตามประสาโลก แล้วก้าวเข้าสู่ร่มเงาแห่งธรรมนั้น ล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ตกกระไดพลอยโจน อกหัก หรือผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงมุ่งหน้าเข้าหาวัดปฏิบัติธรรม เวลาอยู่ในวัดก็ขยันปฏิบัติธรรมเพื่อใช้เป็นโล่ป้องกันทุกข์ชั่วครั้งชั่วคราว แต่พอออกจากวัดก็ละทิ้งธรรมตามเคย ในทางกลับกัน วิถีของพระอริยสงฆ์แห่งกองทัพธรรมล้วนเห็นความสำคัญของธรรมะยิ่งกว่าสิ่งใด เมื่อท่านทั้งหลายเหล่านั้นตัดสินใจเดินตามรอยพระพุทธเจ้า ท่านจึงละทิ้งทางโลกอย่างสิ้นเชิง โดยมีเป้าหมายชัดแจ้งกระจ่างใจว่า “ต้องบรรลุธรรม ถึงพระนิพพานให้ได้ภายในชาตินี้” นี่เป็นเพียงความคิดเดียวที่มีอยู่ในใจของพระอริยเจ้า และทุกอณูของหยาดเหงื่อแรงกาย แรงใจ ชีวิตและจิตวิญญาณทุกลมหายใจ อยู่ที่เส้นชัยนี้เท่านั้น ผู้ลงมือปฏิบัติธรรมให้มีความก้าวหน้าควรจะมีสิ่งต่อไปนี้เป็นกิจตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงปลายทางแห่งอริยธรรม ๑. เข้าใจในความจริงของชีวิต คือเข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม บาป-บุญ ดี-ชั่ว สังสารวัฏ และอานิสงส์ของการเกิดเป็นคน การที่ใครคนหนึ่งจะหันมาสนใจหลักปฏิบัติทางศาสนานั้นหมายความว่า เขาจะต้องมีความสนใจศึกษาข้อธรรมในศาสนามาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะชาวพุทธจะซึมซับหลักพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กในเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว บาป-บุญ ศีล-สมาธิ-ปัญญา การสร้างกุศล ความกตัญญู ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ศาสนธรรมเหล่านี้คือรากฐานของคุณงามความดี เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมพร้อมจะปลูกลงดิน เพียงแต่ยังรอเวลาให้ตระหนักถึงคุณค่าอย่างแท้จริงเท่านั้น เหมือนดังช่วงเวลาขณะหนึ่งของหลวงปู่ขาวที่ในวินาทีนั้นเกือบเป็นฆาตกร แต่พลันได้ฉุกคิดถึงกฎแห่งกรรม บาป-บุญ และการให้อภัย อย่างซาบซึ้งแก่ใจ จนทิ้งเรื่องราวทางโลกไว้เบื้องหลัง แล้วมุ่งหน้าสู่เส้นทางอริยะกระทั่งบรรลุนิพพานในที่สุด ๒. ตัดปลิโพธ หมายถึง “ตัดความเป็นห่วง ความกังวล” ถ้าผู้ใดที่ยังมีห่วงเป็นกังวลก็ยากที่จะปฏิบัติธรรมได้ บางคนกว่าจะหาเวลามาปฏิบัติธรรมได้ก็มักจะมีข้ออ้างเหตุผลต่างๆ นานา ส่วนใหญ่จะอ้างว่าเป็นห่วงบ้าน ห่วงรถ ห่วงทรัพย์สินเงินทอง ห่วงลูกหลาน ทิ้งเอาไว้จะไม่ปลอดภัย ห่วงธุรกิจ ห่วงหน้าที่การงาน ทำให้ “ห่วง” เหล่านี้ผูกรั้งตัวเอาไว้ หลวงปู่ขาวได้เมตตาแสดงธรรมให้เห็นโทษของความเป็นห่วงดังนี้ “พ่อแม่ก็มีคุณสมบัติทางโลก ต้องการให้ไปหาเงินหาทอง และต้องการให้มีครอบครัว นี่... ถ้าว่าถึงความจริงละก็ มันเป็นตัวถ่วงอย่างมหันต์ มองดูให้ลึกๆ มองดูให้ถึงใจสงบที่สุดแล้ว การมีครอบครัว มีลูกมีเต้า เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน นั่นแหละมันแสนที่จะกังวลเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีเวลาที่จะได้ทำบุญทำทาน โอกาสเวลาจะนั่งภาวนาก็ไม่มี คนเราไอ้ทางโลกมันนิยมกันอย่างนั้น หากแม้บางครั้งยังไม่สามารถทำได้เหมือนพระอริยเจ้า สำหรับฆราวาสที่ยังเลี้ยงปากท้องอาจจะยอมตัดห่วงที่ผูกรั้งไว้ ไปปฏิบัติธรรมสักระยะหนึ่ง ก็เป็นการสะสมบารมีได้เช่นกัน” “ปลิโพธ” (เครื่องผูกพันหน่วงเหนี่ยวให้ใจห่วงกังวล) มี ๑๐ อย่าง ดังนี้ ๑. ที่อยู่ (อาวาสปลิโพธ) ๒. ตระกูล (กุลปลิโพธ) ๓. ลาภ (ลาภปลิโพธ) ๔. หมู่คณะ (คณปลิโพธ) ๕. การงาน (กรรมปลิโพธ) ๖. การเดินทาง (อัทธานปลิโพธ) ๗. ญาติ (ญาติปลิโพธ) ๘. เจ็บป่วย (อาพาธปลิโพธ) ๙. การศึกษา (คันถปลิโพธ) ๑๐. อำนาจ (อิทธิปลิโพธ) ๓. ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ เป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธคือ “นิพพาน” แต่ระยะทางก่อนที่จะถึงนิพพานของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพื่อป้องกันการผิดพลาด ไม่ให้ก้าวพลาดออกนอกเส้นทางไปสู่นรก สิ่งแรกที่ต้องยึดถือเอาไว้เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวคือ “พระรัตนตรัย” ซึ่งประกอบด้วยพระพุทธคุณ-พระธรรมคุณ-พระสังฆคุณ อันประเสริฐทั้งสามประการ การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง (สรณะ) เปรียบเสมือนมีประกันภัยชั้นหนึ่งคอยคุ้มครอง นอกจากนี้ การมีพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ อยู่ในใจ ทำให้มีกำลังใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาที่บริสุทธิ์และมีพละกำลังอย่างกล้าหาญในการประกอบคุณงามความดี เหมือนที่หลวงปู่ขาวได้กล่าวถึงหัวใจที่มอบให้แด่พระรัตนตรัย ดังนี้ “เราเชื่อพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว กับพระธรรมและพระสงฆ์อรหันตสาวกเท่านั้น ว่าเป็นผู้ประเสริฐในโลกทั้งสาม... จะค้นหาความจริงตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้จนสุดกำลังความสามารถขาดดิ้นสิ้นซาก สำหรับกองทัพธรรม... พระรัตนตรัยเปรียบเสมือนพระอาทิตย์สาดแสงสว่างขับไล่ความมืดมิดให้หายไป มีพลังแรงดึงดูดอันมหาศาลจับจิตจับใจจนไม่สามารถหันเหจิตใจไปทางอื่นใดได้” ๔. ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าและพระอาจารย์ผู้สอนธรรม ขั้นตอนนี้เปรียบเสมือนเราได้วางชีวิตและจิตใจ อีกทั้งเป็นดัชนีบอกว่า เราได้ละพยศ อัสมิมานะ (การถือว่า นี่ฉัน ฉันเป็นนั่นเป็นนี่) ในตัวตนลงไปได้ในระดับหนึ่ง ทำให้จิตใจอ่อนน้อมพร้อมที่จะเตรียมรับฟังคำสอนของครูบาอาจารย์และนำไปปฏิบัติ กรณีนี้เคยเกิดกับหลวงพ่อสุเมโธในสมัยแรกๆ ที่เพิ่งจะออกบวชปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชา สุภัทโท ณ วัดหนองป่าพง ซึ่งกว่าที่หลวงพ่อสุเมโธจะยอมรับหลวงปู่ชาเข้ามาในหัวใจอย่างหมดความกังขาสงสัยและสามารถก้มกราบแทบเท้าท่านได้อย่างสุดจิตสุดใจก็ใช้เวลานานทีเดียว สำหรับชาวพุทธ การที่ผู้ใหญ่พาลูกหลานเข้าวัดเพื่อทำพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะโดยมีพระคุณเจ้าพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีรับรองนั้น นับเป็นประเพณีอันงดงามที่แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของคนไทย เมื่อเด็กๆ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ พระสงฆ์เถระก็จะให้ศีลให้พร พร้อมทั้งอบรมให้เด็กๆ รู้จักหน้าที่ของตนเอง วิถีระหว่าง “ครู” กับ “ศิษย์” ถือเป็นสายสัมพันธ์แนบแน่นที่อยู่ในสายเลือดไทยมาเนิ่นนาน ครูจึงเปรียบเสมือนบิดามารดาที่ให้การอบรมสั่งสอนศิษย์ ในสมัยก่อน เมื่อเราได้เรียนหนังสือกับครูท่านใดก็จะต้องเข้าไปหาอย่างนอบน้อม เช่นเดียวกับธรรมเนียมของสายพระป่าที่เมื่อออกบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็จะต้องเข้าไปกราบพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นครูเพื่อขอนิสัยหรือขอทราบธรรมเนียมการปฏิบัติและฝากฝังตัวเองเป็นลูกศิษย์ ดังเช่นที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เข้าไปกราบหลวงปู่มั่นเพื่อเป็นลูกศิษย์และขอนิสัยจากท่าน ซึ่งท่านได้ให้ปฐมโอวาทสั้นๆ ว่า “ภาวนามาอย่างไรก็ให้ทำต่อไปเช่นนั้น อย่าได้หยุด ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงเอาไว้นั้น มันอยู่ที่ใจเรานี่แหละ” ปฐมโอวาทนี้ได้กลายเป็นรากฐานอยู่ในจิตใจของหลวงปู่ชอบตราบจนบรรลุธรรม ๕. แผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ตามขนบธรรมเนียมของชาวพุทธ หลังจากถวายอาหารและปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์แล้ว พระภิกษุสงฆ์จะให้ศีลให้พรและกล่าวคำอนุโมทนา ญาติโยมที่เข้าร่วมทำบุญก็จะกรวดน้ำ ตั้งจิตแผ่เมตตาเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับสรรพสัตว์ทั้งปวง “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” จึงไม่ใช่เป็นหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ เท่านั้น แต่มีความหมายลึกล้ำ มีคำกล่าวว่า “ยิ่งมีเมตตามากเท่าไรก็ยิ่งเข้าใกล้พระธรรมมากเท่านั้น” เพราะเมตตาจะเป็นหนึ่งในดัชนีที่บ่งบอกว่า ความเห็นแก่อัตตามีมากน้อยเท่าไร การปฏิบัติแผ่เมตตาเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่เข้าถึงจิตใจได้ยาก แม้แต่หลวงปู่ขาวที่กว่าจะเข้าใจเรื่อง “เมตตาธรรม” ก็เกือบพลาดท่าให้กับอัตตาที่ติดแน่นด้วยโทสะ คุณธรรมข้อแรกที่ชาวพุทธผู้เกิดมาลืมตาดูโลกได้รับการอบรมสั่งสอนโดยดูจากการกระทำของสังคมคือ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่มีต่อกัน โดยเฉพาะในยามที่ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติ เราจะเห็นด้านดีของชาวไทยในเรื่อง “เมตตาธรรม” ได้อย่างเด่นชัด “การแผ่เมตตา” เป็นเรื่องแรกๆ ที่พระภิกษุสงฆ์ควรได้รับการสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ก่อนออกธุดงค์กลางป่าเขา โดยรู้จักแผ่เมตตาให้พระภูมิเจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีวิญญาณในป่า เพื่อให้อำนาจของเมตตาธรรมคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง แม้แต่ลูกหลานชาวไทยเองก็ล้วนได้รับการสอนจากปู่ย่าตายายสืบต่อกันมาว่า เวลาไปนอนพักค้างคืนในแดนต่างถิ่น ก่อนนอนให้เจริญพระพุทธมนต์ ตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตาให้กับดวงวิญญาณ เทวาอารักษ์ เจ้าที่เจ้าทาง และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อเป็นการขออนุญาตอยู่พักอาศัยเป็นการชั่วคราว เมื่อท่านเหล่านั้นรับทราบ กระแสจิตอันอ่อนโยนเมตตาก็จะคุ้มครองให้นอนหลับสบาย ปลอดภัยจากการรบกวนของพลังที่ไม่ดีทั้งปวง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้เน้นย้ำกับญาติโยมเกี่ยวกับความสำคัญของการแผ่เมตตาเป็นอย่างมากว่า “ให้ทุกคนหัดแผ่เมตตาต่อคน สัตว์ ศัตรู หมู่มาร ให้แผ่ไปทั่วสากลจักรวาล ยิ่งแผ่มากยิ่งทำให้ใจสบาย รักชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่นเหมือนกับของตนเอง สังคมก็จะมีความสุขสงบอย่างถ้วนทั่ว” ญาติโยมที่ฟังหลวงปู่แหวนสอนแล้วได้กราบเรียนถามว่า ต้องทำจิตอย่างไร? หลวงปู่แหวนอธิบายว่า “วิธีแผ่เมตตาให้บังเกิดผล โดยให้ทำตนและจิตใจเหมือนมารดาที่เลี้ยงลูก ให้ความรักเอ็นดูสงสาร มุ่งหวังที่จะให้ลูกสุขกายสบายใจ มีอาชีพการงาน มีวิชาเลี้ยงตนเองได้ ความรักที่แม่ให้กับลูกเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ไม่มีพิษภัย และไม่ต้องการผลตอบแทนจากลูก มีแต่ให้อย่างเดียว ถ้าเราแผ่เมตตาเหมือนกับพระอาทิตย์ส่องแสง เมตตานั้นจะมีพลังสูงยิ่ง เพราะธรรมชาติของพระอาทิตย์ขณะที่ส่องแสงไม่ได้เลือกชุมชน สรรพสัตว์ยากดีมีจน อยู่ที่สูงหรือที่ต่ำ จะใกล้หรือไกล ก็ได้รับความร้อนเท่ากัน เมตตาธรรมก็เช่นกัน ขอให้แผ่ไปให้แก่ชนทุกชั้นทุกระดับ ใครจะได้รับมากน้อยก็สุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น” ๖. รักษาศีล (อย่างน้อยศีล ๕) หลวงปู่จันทร์ เขมิโย ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของศีลเวลาเดินธุดงค์ในป่าว่า “ในการบำเพ็ญกรรมฐานในป่านั้น ประการสำคัญต้องทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ก็มักจะมีความวิตกกังวล ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ต่อจากนั้นก็มีอันเป็นไป หากมีศีลบริสุทธิ์ก็ต้องรักษาจิตของเราให้บริสุทธิ์ด้วย ระวังอย่าให้จิตเอนเอียงไปหารากเหง้าแห่งกิเลส คือ ราคะ-โทสะ-โมหะ หลังจากศีลและจิตบริสุทธิ์ก็ต้องตรวจความเห็นของตนว่ามีความบริสุทธิ์หรือไม่ ความเห็นของเราตรงต่อคุณธรรมจริงหรือไม่ จิตก็สงบเป็นสมาธิง่าย และอีกประการหนึ่งจะต้องยึดมั่นในพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณอยู่เสมอ เมื่อเราอุทิศชีวิตของตนต่อพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงแล้วมีอะไรเกิดขึ้นแก่ชีวิตบ้าง เราควรยึดมั่นเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ยอมสละทุกอย่างเพื่อพระรัตนตรัย แม้ชีวิตของเราก็ต้องยอมเสียสละ จึงจะสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต สามารถหยั่งจิตลงในคุณแห่งพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว จนถึงคุณอันสูงสุดในพระศาสนา จึงจะประสบตัววิปัสสนาอย่างแท้จริง” เจตนาในการรักษาศีลก็เพื่อที่จะละเว้นความชั่ว เพราะถ้าทำความชั่ว เราก็จะได้รับวิบากที่เป็นทุกข์ ซึ่งอานิสงส์ของศีลมีกล่าวไว้ในพระสูตรต่างๆ ดังนี้ “ศีลเป็นอริยทรัพย์ วรรณะสูงสุด ศีลเป็นภูมิของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการอบด้วยเครื่องหอม เป็นผู้องอาจ นำเกียรติยศมาสู่มิตรสหาย เป็นที่รักของคนทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งบุญ ก่อให้เกิดสติ นำมาสู่ปัญญาแห่งการหลุดพ้นในที่สุด” ๗. เจริญสมาธิ กิจอันสำคัญประการหนึ่งของผู้ปฏิบัติธรรมคือ การเจริญสมาธิให้จิตมีกำลังเพื่อยกจิตขึ้นสู่การภาวนาวิปัสสนา ผู้บำเพ็ญสมาธิกระทั่งจิตมีกำลังเข้าสู่ฌาน จะเป็นปฐมฌานก็ดี จนถึงจตุตถฌานก็ดี จิตจะมีอำนาจ สามารถเกิดทิพยอำนาจได้ตามอุปนิสัยวาสนาที่มีมาแต่บุพกาล ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ได้อธิบาย “สมาธิ” ว่า หมายถึงความสงบมั่นคงของใจตั้งแต่ขั้นต่ำๆ ชั่วขณะหนึ่ง จนถึงความสงบขั้นสูงสุด ไม่มีอารมณ์เป็นเครื่องกำหนด สมาธิจึงมี ๒ ระดับ คือ (๑) ขณิกสมาธิ คือ สงบชั่วขณะ เช่น ความมุ่งมั่นในการอ่านหนังสือ หรือมีใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง วิริยะก็จัดเป็นสมาธิด้วยเช่นกัน (๒) อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่ ไม่หวั่นไหว มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ได้องค์ฌาน โดยเรียกผู้ที่ได้อัปปนาสมาธิว่าเป็น “ผู้ที่ได้ฌาน” นั่นเอง การทำสมาธินั้นจำเป็นจะต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อให้จิตเกิดความสงบจนเป็นสมาธิ สิ่งนั้นเรียกว่า “อารมณ์กรรมฐาน” หรือ “อารมณ์ที่จิตจดจ่อจนเป็นสมาธิ” ซึ่งในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะได้แสดงอารมณ์กรรมฐานไว้ ๔๐ ประเภท โดยแบ่งเป็น ๗ หมวด ดังนี้ - กสิณ ๑๐ - อสุภะ ๑๐ - อนุสติ ๑๐ - พรหมวิหาร ๔ - อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ - จตุธาตุววัฏฐาน ๑ - อรูป ๔ ลำพังการทำ “สมถะ” เปรียบเสมือนก้อนหินทับหญ้า มีเพียงความสงบ แต่ขาดปัญญาในการพิจารณาความจริง ซึ่งแตกต่างไปจาก “วิปัสสนา” อันเป็นสมาธิแบบพุทธที่แม้จะมีจุดร่วมของการทำสมาธิเหมือนสมถะ แต่ก็มีอุบายแตกต่างกัน บ้างก็ใช้คำภาวนา บ้างก็ดูจิต บ้างก็พิจารณาลมหายใจ บ้างก็ใช้วิธีเจริญเมตตา บ้างก็ใช้วิธีเพ่งโครงกระดูก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเกิดปัญญาในการพิจารณาความจริง ยกตัวอย่างเช่น หลวงปู่เสาร์ ท่านให้ใช้คำว่า “พุทโธ” เป็นคำภาวนาเวลาทำสมาธิ ปกติแล้วท่านเป็นพระเรียบง่าย ไม่ค่อยชอบเทศน์อบรมสั่งสอน เวลาเทศน์ก็มักจะเทศน์สั้นๆ โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า “ทำให้ดู มันยังไม่ปฏิบัติตามเลย” ชาวบ้านอยากได้สมาธิเร็วก็อดใจไม่ไหว จึงถามหลวงปู่เสาร์ว่า “อยากปฏิบัติสมาธิเร็วต้องทำยังไง?” หลวงปู่เสาร์ตอบว่า “พุทโธสิ” “ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา” ชาวบ้านสงสัย “อย่าถาม” หลวงปู่เสาร์ตอบสั้นๆ เพราะอยากให้ชาวบ้านได้ลิ้มรสธรรมะด้วยตนเอง “ถามไปหาสิแตกอีหยัง ก็บอกว่าให้ภาวนาพุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้” แล้วท่านก็จบการเทศน์โดยไร้คำอธิบาย หลวงปู่เสาร์ให้ภาวนา “พุทโธ” ไปเรื่อยๆ จะยืน เดิน นอน นั่ง ก็ให้มี “พุทโธ” อยู่ในใจเสมอ ไม่เลือกกาลและสถานที่ โดยให้ภาวนาทุกลมหายใจ จนบางครั้งชาวบ้านอดสงสัยไม่ได้จึงถามว่า “ภาวนาในห้องน้ำได้ไหม...บาปไหม?” หลวงปู่เสาร์ฟังแล้วตอบว่า “ไม่บาป... ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาลเลือกเวลา พระองค์สอนไว้แล้ว ถ้ายิ่งเข้าในห้องน้ำห้องส้วมนะ ยิ่งภาวนาดี เพราะมันมีสิ่งประกอบ สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก มันก็ยิ่งแสดงออกมาให้เราเห็น แล้วเราภาวนาพุทโธ ‘พุทโธ’ แปลว่า ‘รู้’ รู้ในสิ่งที่เราทำอะไรอยู่ในขณะนั้น คำสอนของท่านเป็นอุบายธรรมอันแยบคาย รวมเอาทั้งสมาธิ การเจริญสติปัฏฐาน เข้าไปในวิถีชีวิตธรรมดาอย่างเรียบง่าย” ดังนั้น คำภาวนา “พุทโธ” ของชีวิตแต่ละคนอาจจะมีเป็นแสนเป็นล้านครั้ง แต่จะมีเพียงหนึ่ง “พุทโธ” ครั้งสำคัญที่พลิกชีวิตให้กระจ่างในธรรมตลอดไป ๘. ฌานแบบพุทธ “ฌาน” หมายถึง “การเพ่ง” คือ เพ่งอารมณ์กรรมฐานจนกระทั่งจิตสงบรวมเข้าเป็นหนึ่ง (เอกัคคตา) ซึ่งมี ๒ ขั้น คือ “รูปฌาน” และ “อรูปฌาน” สภาวะของจิตในขณะที่กำลังเข้าสู่ฌานนั้นจะประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ อย่าง คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา รูปฌานแบ่งเป็น ๔ ขั้น (๑) ปฐมฌาน: มีองค์ฌานครบทั้ง ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา โดยมีลักษณะดังนี้ - จิตสงบเงียบ กามคุณและอกุศลธรรมสงบลงไป ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง เหมือนอยู่คนเดียว - อารมณ์เป็นหนึ่ง จิตมีความเคล้าคลึงกับอารมณ์นั้นๆ - จิตมีความชุ่มชื่น เสวยสุขจากความสงบ มีกำลัง เบิกบาน เพราะความสงบสุขที่สงัดจากกามคุณและอกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน - จิตมีความสุข มีความโล่งใจ เพราะไม่มีกามคุณและอกุศลธรรมมากวนใจให้วุ่นวาย - จิตมีความเป็นหนึ่ง เป็นอิสระจากกิเลสขั้นต้น สามารถทำกิจอันเป็นประโยชน์แก่ตน โดยเป็นนายของตนเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ (๒) ทุติยฌาน: ในขั้นนี้ จิตละวิตกและวิจารได้ คงเหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตา โดยมีลักษณะดังนี้ - จิตไม่คิดอ่านอะไร วางความคิดเหมือนคนทำธุระเสร็จแล้วกำลังจะพักผ่อน - จิตผ่องใส ไม่มีอาลัยอาวรณ์กับอารมณ์ภายนอกที่จะส่งผลให้จิตกระเพื่อม ทำให้จิตมีความผ่องแผ้วเด่นชัด เหมือนดวงจันทร์พ้นเมฆ - จิตสบาย ชื่นบาน ด้วยความอำนาจของความสงบ - จิตเป็นหนึ่งยิ่งกว่าปฐมฌาน (๓) ตติยฌาน: จิตละปีติได้ คงเหลือแต่สุขกับเอกัคคตา โดยมีลักษณะดังนี้ - จิตจางจากปีติที่เกิดขึ้น - จิตเป็นกลาง วางเฉย ไม่รับเสวยปีติ - จิตมีสติควบคุม และสติมีกำลังแก่กล้ามากขึ้นตามลำดับในขั้นนี้ - จิตมีสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวชัดเจน รู้เท่าทันอาการของจิตทุกขณะ - จิตเสวยสุขุมสุข คือ เสวยสุขที่ประณีตด้วยธรรม ปราศจากความรู้สึกทางกาย - จิตถึงความเป็นหนึ่ง เสมือนมีอยู่ดวงเดียว มีอารมณ์น้อย มีความสุขุมประณีตมากขึ้นตามลำดับ (๔) จตุตถฌาน: จิตละสุข เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขาที่มาแทนที่สุข เมื่อจิตเข้าสู่จตุตถฌาน ลมหายใจจะละเอียดจนระงับไป ทำให้จิตปรากฏความเป็นกลาง ไม่สุข ไม่ทุกข์ เหลือแต่อุเบกขากับสติและความบริสุทธิ์ของจิต ไม่มีสิ่งยวนใจ ปราศจากความมัวหมอง ฌานขั้นนี้มีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้ - ละสุขและทุกข์ คือ ระงับลมหายใจอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขและทุกข์ได้ - จิตไม่มีทุกข์ เสวยเวทนาที่จืดชืด ไม่รบกวนความรู้สึก - จิตเป็นกลาง มีความเที่ยงธรรม อรูปฌานแบ่งเป็น ๔ ขั้น (๑) อากาสานัญจายตนะ: การเพ่งอากาศว่าไม่มีที่สุด เมื่อเจริญสมาธิจิตผ่านปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานตามลำดับ สามารถเห็นชัดแจ้งถึงขั้นตอนลำดับ และสามารถเดินหน้าถอยหลังเข้าออกสมาธิจนมีความชำนาญ (เรียกว่า “วสี”) การเจริญฌานขั้นสูงในอรูปฌานก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป พุทธวจนะว่าด้วยการเข้าสู่อากาสานัญจายตนะมีอยู่ว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ... จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้” สภาวะของจิตในขั้นอากาสานัญจายตนะจะเกิดความสงบรวมลงเป็นหนึ่ง มีอุเบกขาและสติควบคุมอยู่ ผ่องแผ้ว นิ่มนวล ละมุนละไม ลมหายใจระงับไป ปรากฏกลุ่มอากาศโปร่ง แม้อัตภาพก็ผ่องใสโปร่งบางคล้ายแก้วเจียระไน เมื่อลมระงับไป ไม่ปรากฏอาการเคลื่อนไหว จะกลายเป็นอากาศหายใจแผ่คลุมตัวนิ่ง ถ้ากำลังฌานขั้นนี้อ่อนลงจะเกิดการเคลื่อนไหวอันเป็นเหตุแห่งทุกข์สุข เพื่อไม่ให้เกิดการกระเพื่อม ให้วางสัญญาที่กำหนดหมายในรูปคืออัตภาพอันเป็นที่ตั้งของลมหายใจซึ่งปรากฏในมโนทวาร หรือวางสัญญาที่เข้ามาสะเทือนจิตใจ แล้วให้กำหนดหมายสิ่งเหล่านั้นว่าเป็น “อากาสะ” (Space) คือ ลมหายใจโปร่งใส แผ่ซ่านกว้างขวาง ไม่มีขอบเขตจำกัด วิธีเจริญฌานขั้นนี้ต้องวางรูปสัญญาให้สนิท ใส่ใจแต่อากาสานัญจายตนะอย่างเดียว จึงจะสำเร็จฌานนี้ได้ (๒) วิญญาณัญจายตนะ: การเพ่งวิญญาณว่าไม่มีที่สุด เมื่อพ้นจากอากาสานัญจายตนะเข้าสู่วิญญาณัญจายตนะให้กำหนดว่า “วิญญาณหาที่สุดมิได้” จิตในระหว่างอากาสานัญจายตนะจะสงบ แผ่ซ่านเป็นอากาศโปร่งใส แต่ยังเป็นตัวบังคับใจให้กระเพื่อมได้ จึงให้วางสัญญานั้นเสีย แล้วมากำหนดหมายกระแสวิญญาณที่แผ่ซ่านไพศาลไปทั่วไตรภพอวกาศอย่างไม่มีขอบเขต ความสงบใจในขั้นนี้จึงเรียกว่า “วิญญาณัญจายตนะ” นั่นเอง (๓) อากิญจัญญายตนะ: การเพ่งความไม่มีของอรูปวิญญาณ การเจริญฌานขั้นนี้คือการเพ่ง “ความไม่มีของอรูปวิญญาณ” ที่ผ่านมาทั้งอากาสานัญจายตนะและวิญญาณัญจายตนะนั้นมีจุดเด่นที่อากาศกับวิญญาณ แต่ทั้งสองส่วนนี้ถือว่ายังไม่ปลอดภัยสำหรับจิต จึงจำต้องปล่อยวางสัญญาที่กำหนดหมายกระแสวิญญาณให้มากำหนดที่ตัว “มโนธาตุ” คือ ผู้รู้ที่ดำรงอยู่ ณ ภายใน โดยไม่กำหนดรู้อะไรเลย เมื่อจิตเป็นอุเบกขาจะปรากฏธาตุรู้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว จิตในขั้นนี้จะเป็นอุเบกขา ไม่รับรู้อะไร มีเพียงความรู้สึกกลางๆ ทางใจ จึงได้ชื่อว่า “สำเร็จอากิญจัญญายตนะ” (๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ: การเพ่งอรูปวิญญาณที่ ๓ ในขั้นนี้จิตจะเป็นเอกภาพ มีความรู้สึกกลางๆ ภายใน มีกระแสมโนวิญญาณคอยรบกวน หากต้องการให้จิตมีความสงบมากขึ้นให้กำหนดหมายรู้ “ธาตุรู้” ซึ่งเป็นตัวเหตุภายในที่ก่อให้เกิดกระแสมโนวิญญาณคอยรับรู้สิ่งใดๆ โดยให้พยายามละวางมโนสัญญาเพื่อเป็นการผ่อนสัญญาให้อ่อนลง อารมณ์ความรู้สึกดับเกือบหมด เหลือน้อยมาก หากเหลือแต่สัญญาในความสงบที่ผูกมัดให้จิตห้อยไว้ในโลกและสงบลงเป็นหนึ่งถึงความเป็นเอกภาพก็จะได้ชื่อว่า “สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนะ” ฌานทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นของที่มีมาแต่โบราณ แม้แต่ฤษีดาบสก็ล้วนบำเพ็ญให้เกิดขึ้นได้ตามกำลังสมาธิ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกผนวชก็ได้ทรงศึกษาในสำนักของอาฬารดาบสและอุททกดาบส (สมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ) โดยได้บรรลุถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่ยังคงมีอุปาทานอยู่จึงเข้าถึงพระนิพพานไม่ได้ บรรดาฤษีดาบสในอดีตต่างก็ไม่ได้บรรลุธรรมเพราะติดอยู่ในขั้นฌาน จนบางครั้งมีคำเรียกว่า “ฌานแบบฤษี” เพราะขาดเงื่อนไขสำคัญที่ตัดสินแพ้ชนะ นั่นคือ “วิปัสสนาธรรม” เป็นที่ทราบกันดีว่า ฌานเป็นที่มาของทิพยอำนาจ รวมถึงการเกิดนิมิตต่างๆ และฌานแบบฤษีนี้เองที่พระพุทธเจ้าค้นพบว่าสามารถใช้เป็นฐานกำลังของจิตในการพิจารณาธรรมในลักษณะของการทำสมาธิโดยพักจิตในฌานจนมีกำลัง ดังที่หลวงปู่มั่นได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาข้อธรรมในระหว่างบรรลุธรรมว่า เหมือนการทำงานแล้วก็ต้องมีการพักผ่อน ออกกำลัง โดยพักในจตุตถฌานขณะหนึ่ง เมื่อจิตมีกำลังจึงถอยออกมาสู่ตติยฌาน ทุติยฌาน และปฐมฌาน เพื่อเจริญวิปัสสนาข้อธรรมต่อไปจนหมดความสงสัยในธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ๙. เจริญวิปัสสนาภาวนา หนทางในการ “เจริญวิปัสสนาภาวนา” คือ ขั้นตอนที่จิตพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ในอิริยาบถ ๔ (เดิน-ยืน-นั่ง-นอน) โดยดำเนินตามหลัก “สติปัฏฐาน ๔” คือ การดำรงสติให้ตื่นรู้เท่าทันความจริงอย่างต่อเนื่องดั่งสายน้ำ จนกลายเป็น “มหาสติ” มีอานิสงส์ในการระงับทุกข์โศกเศร้า บรรลุถึงพระนิพพาน ครูบาอาจารย์กล่าวไว้ว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นที่ตั้งของสมาธิ สติ สัมปชัญญะ และปัญญา อยู่ในคราวเดียวกัน นับเป็นบันไดขั้นแรกตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นสุดท้ายที่ผู้ปฏิบัติภาวนาจำเป็นจะต้องดำรงสติให้คงมั่นทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง เปรียบได้กับจุดเริ่มต้นจากน้ำเพียงหยดเดียว หากมีน้ำเพียงหยดเดียวแล้วปล่อยทิ้งบนทะเลทรายก็เท่ากับว่า สิ่งที่ฝึกมาไม่ว่าจะกี่สิบปีล้วนเสียเวลาเปล่า แต่ถ้าเราค่อยๆ เพิ่มน้ำทีละหยด จนกลายเป็นแก้ว จากแก้วเป็นโอ่ง จากโอ่งเป็นสายน้ำที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย สามารถพลิกฟื้นทะเลทรายให้กลายเป็นดินอุดมแห่งนิพพานได้ในที่สุด และยังเป็นเนื้อนาบุญให้สัตว์โลกอื่นๆ ได้พักพิงอาศัยอีกด้วย สติปัฏฐานมี ๔ ประการ (๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน: การใช้กายเป็นที่ตั้งของสติ ตามดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้ - เจริญสติ ตามดูลมหายใจเข้าออกให้รู้เท่าทันระยะ - เจริญสติให้รู้เท่าทันอาการเคลื่อนไหวของกายในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน - ทำสัมปชัญญะให้รู้เท่าทันอาการเคลื่อนไหวของกายในทุกอณูของการเคลื่อนไหว - ตั้งสติพิจารณาให้เห็นอาการ ๓๒ ในกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก มันข้น มันเหลว ไขข้อ - ตั้งสติพิจารณากายให้เห็นความเป็นไปของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มาประชุมเป็นร่างกาย โดยให้แยกธาตุแล้วสำเหนียกว่า นี่คือธรรมดาของร่างกาย - เจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาสรีระที่ตายตั้งแต่ใหม่ๆ จนเหลือแต่กระดูกผุพัง แล้วน้อมเข้ามาพิจารณาในตนเองให้เห็นว่าเป็นไปอย่างเดียวกัน โดยสำเหนียกว่า นี่คือธรรมชาติของร่างกาย (๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน: การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา รู้เท่าทันเวทนาโดยมีสติกำกับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้ “ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้... - เสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา - เสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา - เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา - เสวยสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส - เสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส - เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม... - พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง - พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ” ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารกล่าวสั้นๆ เพื่อให้จำได้ง่ายว่า “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” คือ การตั้งสติตามดูความรู้สึกของเวทนาทั้ง ๓ คือ สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ ให้รู้เท่าทันทุกอาการจนแจ่มแจ้งในใจ และเพียงตั้งสติไว้แค่รู้ระลึกว่ามีเวทนาเท่านั้น โดยไม่เข้าไปยึดติดถือมั่นต่อสิ่งที่พบ ประสบ สัมผัส เห็น ได้ยิน ในเวลานั้นๆ (๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน: การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต รู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิตโดยมีสติกำกับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้ “ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้... - จิตมีราคะก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากราคะ - จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโทสะ - จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโมหะ - จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน - จิตเป็นมหรคตก็รู้ชัดว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นมหรคต - จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัดว่าจิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า - จิตเป็นสมาธิก็รู้ชัดว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นสมาธิ - จิตหลุดพ้นก็รู้ชัดว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ชัดว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม... - พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง - พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง - พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ” (๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน: การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม รู้เท่าทันธรรมโดยมีสติกำกับ ตามสภาวะที่ปรากฏแก่ใจตามความเป็นจริง ๑๐. เจริญอาสวักขยญาณ “อาสวักขยญาณ” คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ หรือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย พระคุณเจ้าแห่งกองทัพธรรมได้เจริญวิปัสสนา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามดังที่กล่าวมา ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าใจถึง “ไตรลักษณ์” ควบคู่กันไปเสมอตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันการหลงทาง แม้จะเกิด “วิปัสสนูปกิเลส” (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา) ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงสำคัญว่าตนเองเข้าถึงภูมิธรรมแล้วก็ตาม ไตรลักษณ์ที่พิจารณามาตลอดก็จะช่วยยับยั้งว่า ธรรมที่กำลังปรากฏนั้นเข้าข่ายไตรลักษณ์หรือไม่ กฎของไตรลักษณ์คือ (๑) อนิจจัง = สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (๒) ทุกขัง = สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นทุกข์ อยู่ในสภาวะที่ทนได้ยาก (๓) อนัตตา = สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างเปล่าจากตัวตน ญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ) “ญาณ ๑๖” คือ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายอันได้แก่มรรคผลนิพพาน ดังนี้ ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ = ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒. ปัจจยปริคคหญาณ = ญาณกำหนดปัจจัยแห่งนามรูป ๓. สัมมสนญาณ = ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ = ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป ๕. ภังคานุปัสสนาญาณ = ญาณตามเห็นเฉพาะความดับเด่นขึ้นมา ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ = ญาณมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ = ญาณคำนึงเห็นโทษ ๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ = ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ = ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย ๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ = ญาณพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทางพ้นไป ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ = ญาณเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ = ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ ๑๓. โคตรภูญาณ = ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน ๑๔. มรรคญาณ = ญาณในอริยมรรค ๑๕. ผลญาณ = ญาณในอริยผล ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ = ญาณที่พิจารณาทบทวน เรียบเรียงโดย เธียรนันท์ จากหนังสือ วินาทีบรรลุธรรม อรหันต์มีจริง เล่ม1 https://www.pageqq.com