บันทึกมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษาหรือสอน โลหนันทน์ ตอนการเเจกพระสมเด็จวัดระฆัง

ในห้อง 'วิธีดูพระเครื่อง-เครื่องรางของขลัง' ตั้งกระทู้โดย สากลนิยม, 2 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. สากลนิยม

    สากลนิยม Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2012
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +36
    คัดบางตอนมา ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)โดยการบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษาหรือสอน โลหนันทน์ ตอนการเเจกพระสมเด็จวัดระฆัง

    ครันถึง ณ วันเดือน ๕ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพพระมหานครฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปดูการก่อพระโตที่วัดบางขุนพรหมใน ก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพ ๑๕ วัน ก็ถึงมรณภาพ บนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน ในเวลาปัจจุบันสมัยวันนั้น สิริรวมชนมายุ ๘๔ บริบูรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามมาได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ รับตำแหน่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปีบริบูรณ์ ถ้าจะนับปีทางจันทรคติก็ได้ ๘ ปี นับอายุทางจันทรคติก็ได้ ๘๕ ปี เพราะท่านเกิดปีวอก เดือน ๖ รอบที่ ๗ ถึงวอกรอบที่ ๘ เพียงย่างขึ้นเดือน ๕ ท่านก็ถึงมรณภาพ คิดทดหักเดือน ตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม จึงเป็นอายุ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้



    คำนวณอายุผู้เรียบเรียงเรื่องนี้ได้ ๗ ขวบยังไม่บริบูรณ์ คือหลักเหลือ ๖ ปีกับ ๓ เดือน เวลาที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังอยู่นั้น ผู้เรียงเรื่องนี้ยังอยู่กับคุณเฒ่าแก่กลิ่น ในตึกแถวเต๊ง แถบข้างทิศใต้ ทางออกวัดพระเชตุพน ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน คุณกลิ่นเฒ่าแก่เคยพาขึ้นไปรับพระราชทานเบี้ยจันทร เบี้ยสูรย์ คือเงินสลึงจากพระราชหัตถ์สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็สองคราว ได้เคยฟังเทศน์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็สองคราว ได้เคยเข้านมัสการท่านก็สองคราว ท่านผูกมือให้ที่พระที่นั่งทรงธรรม ยังจำได้ว่ามีต้นกาหลงใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง



    ครั่งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถึงมรณภาพ ที่ศาลาใหญ่ ในวัดบางขุนพรหมใน แล้วได้รับพระราชทานน้ำสรงศพ ไตรครอง ผ้าขางเย็บถุง โกศ กลองชนะ อภิรมย์ สนมซ้าย ฝีพาย เรือตั้งบรรทุกศพ เมื่อเจ้านาย ขุนนาง คุณเฒ่าแก่ พวกอุปฐาก พวกอุบาสิกา ประชาชน ชาวบ้านบางขุนพรหม ปวงพระสงฆ์ สรงน้ำสมเด็จเจ้าโตแล้ว สนมก็กระสันตราสังศพ บรรจุในโกศไม้ ๑๒ เสร็จแล้วก็ยกลงมาที่ท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝีพายหลวงพายลงมาตามลำแม่น้ำ เรือตามก็ตามหลายแม่น้ำ ส่งศพกระทั่งถึงหน้าวัดระฆัง ตั้งศพบนฐานเบ็ญจาสองชั้น มีอภิรมย์ ๖ คัน มีกลองชนะ ๒๔ จ่าปี่ จ่ากลองพร้อม มีพระสวดพระอภิธรรม มีเลี้ยงพระ ๓ วัน เป็นของหลวง



    วันเมื่อศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาถึงวัดระฆังวันนั้น ผู้คนมาส่งศพ รับศพ นมัสการศพนั้นแน่นอัด คับคั่ง ทั้งผู้ดี ผู้ไพร่ พลเมืองไทย จีน ลาว มอญ ชาวละคร เขมร พราหมณ์ พระสงฆ์ทุกๆ พระอาราม เด็กวัด เด็กบ้าน แน่นไปเต็มวัดระฆัง พระครูปลัดสัมภิพัฒน์ (ช้าง) คือพระธรรมถาวรราชาคณะ ที่มีอายุ ๘๘ ปี มีตัวอยู่ถึงวันเรียบเรียงประวัติเรื่องนี้ ได้ตักพระพิมพ์แจกชำร่วยแก่บรรดาผู้มาส่งศพ สักการะศพ เคารพศพนั้น แจกทั่วกัน คนละองค์สององค์ ท่านประมาณราว สามหมื่นองค์ที่แจกไป และต่อๆ มาก็แจกเรื่อย จนถึงวันพระราชทานเพลิง และยังมีผู้ขอ และแจกให้อีกหลายปี จนพระหมด ๑๕ กระถางมังกร เดี๋ยวนี้จะหาสักครึ่งก็ไม่มี แต่มีจำเพาะตนๆ และปั้นเหน่งซึ่งเป็นกระดูกหน้าผากของนางนาคพระโขนงนั้น ตกอยู่กับ หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมเจดีย์ ได้เป็นเสด็จอุปัชฌาย์ของผู้เรียงประวัติเรื่องนี้ ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัศ) ไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงได้มอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาคพระโขนงให้กรรมสิทธิ์ไว้แก่ พระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ) เจ้าอาวาสวัดระฆัง แต่ครั้งดำรงตำแหน่งพระพิมลธรรมนั้น (ได้ยินแว่วๆ ว่า ปั้นเหน่งนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ถวาย ฯลฯ แล้ว)



    และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถึงมรณภาพแล้ว



    ล่วงมาถึงปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ ปี



    พุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๒๓ ปี



    รัตนโกสินทร์ศักราชถึง ๑๔๙ ปี



    อายุ รัชกาลที่ ๕ เสวยราชย์ ๔๓ ปี



    รัชกาลที่ ๖ " ๑๕ ปี



    รัชกาลที่ ๗ " ๖ ปี



    คิดแต่ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี มาถึงปีมะเมีย โทศกนี้ จึงรวมแต่ปีมรณภาพนั้นมาถึงปีมะเมียนี้ได้ ๖๑ ปี กับเศษเดือนวันแลฯ (ได้ลงมือเรียบเรียง แต่วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓)



    พระธรรมถาวร (ช้าง) บอกว่า คำแนะนำกำชับสอน ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ดังนี้



    คุณรับเอาฟันฉันไว้ ดียิ่งกว่า ๑๐๐ ชั่ง ๑๐๐๐ ชั่ง คุณจะมีความเจริญเอง



    คุณใคร่มีอายุยาว คุณต้องไหว้คนแก่



    คุณใคร่ไปสวรรค์ นิพพาน และมีลาภผล คุณหมั่นระลึกถึง



    พุทธ พุทธา พุทเธ พุทโธ พุทธํ อรหํ พุทโธ อิติโสภควา นะโมพุทธายะ



    ถึงเถรเกษอาจารย์ผุ้วิเศษของเจ้าสามกรมว่าดี ก็ไม่พ้น พุทธะ พุทธา พุทเธ พุทธํ พุทโธ อรหํ พุทโธ



    ต่อแต่นี้ไป จะขอกล่าวถึงเรื่องพระโต และเรื่องวัดบางขุนพรหมใน ตำบลบางขุนพรหม พระนครนี้สักเล็กน้อย พอเป็นที่รู้จักกันไว้บ้าง



    เดิมวัดบางขุนพรหมในนี้ เป็นวัดเก่าแก่นาน แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี หรือจะก่อนนั้นก็ไม่แน่ใจ วัดนี้เป็นวีดกลางสวน อยู่ดอนมาก ใครเป็นผู้สร้างก็ไม่ปรากฏนาม หรือชาวสวนแถวนั้นจะพร้อมใจกันสร้างไว้ คนเก่าเจ้าทิฏฐิในการถือวัด ว่าวัดเราวัดเขา ดังเคยได้ยินมา ก็ไม่สู้แน่ใจนัก แต่เป็นวัดเก่าแก่จริง โบสถ์เดิมเป็นเตาเผาปูนกลายๆ มีกุฏิฝากระแชงอ่อน มีศาลาโกรงเกรง แต่ลานวัดกว้างด มีต้นไม้ใหญ่มาก ครึ้มดี มีลมเหนือ ลมตะวันตก ลมตะวันออก พัดโกรก ตรงกรองส่งเข้าสู่โบสถ์และลานวัดเย็นละเอียดดี เมื่อตั้งเป็นราชธานีแล้วในฝั่งนี้ ถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ พระองค์เจ้าอินทร์ในพระราชวังบวร ได้ทรงพระศรัทธาปฏิสังขรณ์ เปลี่ยนแปลงทรงโบสถ์ เป็นรูปท้องพระโรงงามมีผึ่งผายอ่าโถง ยาว ๕ ห้อง มีมุข ๒ ข้าง ก่ออิฐถือปูนเสร็จและสร้างศาลา ขุดคลอง เหนือใต้วัด หลังวัด หน้าวัดเป็นเขตคัน ทำกุฏิสงฆ์ ซ่อมถานเรียบร้อย ฉลองแล้วทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า ผู้ที่ถวายของตนเข้าเป็นวัดหลวงนั้น จำเพาะเจ้าของเป็นพระยาพานทอง ถ้าเป็นเจ้าต้องได้รับพระราชทานพานทองก่อน จึงถวายวัดเป็นวัดหลวงได้ ซึ่งพระองค์เจ้าอินทร์ก็ยังหาได้รับพระราชทานพานทองไม่ ได้พานทองแล้วจึงควรถวายวัดของเธอเป็นวัดหลวงได้ วัดนี้ก็คงเป็นวัดราษฎร์ วัดเจ้าอินทร์ บางขุนพรหม



    ครั้นถึงปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ ปี มีราชการสงครามกับเจ้าอนุเวียงจันทร์ พระองค์เจ้าอินทร์ เจ้าของวัดบางขุนพรหมนี้ ได้โดยเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ ขึ้นไปปราบขบถเมืองเวียงจันทร์ มีชัยชนะกลับมาแล้ว ได้รับพระราชทานพานทองเป็นบำเหน็จความชอบในการสงครามนั้น แล้วพระองค์เจ้าอินทร์จึงทูลเกล้าฯ ถวายวัดนี้เป็นวัดหลวงอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตำรวจราชองครักษ์และกรมเมืองมาสำรวจชัยภูมิสถานที่ของวัดนี้ ตลอดถึงทางพระราชดำเนินในการถวายพระกฐินทานด้วย เจ้าพนักงานทำรายงานถวายตลอด แต่ทางพระราชดำเนินนั้นขัดต่อทางราชการหลายประการ เพราะวัดตั้งอยู่กลางสวนทั้ง ๔ ทิศ ไม่สะดวกแก่ราชบริพารที่จะโดยเสด็จ จึงมิได้ทรงรับเข้าบัญชีเป็นวัดหลวง พระองค์เจ้าอินทร์ก็ทรงทอดธุระวัดนั้นเสีย ไม่นำพา วัดก็ชำรุดทรุดโทรมลงอีก และพระองค์เจ้าอินทร์ก็มาสิ้นพระชนม์ไปด้วย จึงท่านพระเสมียนตราด้วง ได้มีศรัทธาสละที่สวนขนัดทางหน้าวัด ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดขึ้นไปถึงกำแพงวัด แถบหน้าวัดทั้ง ๒ ในปัจจุบันนี้จนจดวัด ถวายเป็นกัลปนาบ้าง เป็นหน้าวัดบ้าง เป็นสมบัติของวัดบางขุนพรหม ด้วยพระเสมียนตราด้วงนิยมนับถือ ฟังคำสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้อุทิศที่บ้านที่สวนออกบูชาแก่พระรัตนตรัยในเนื้อที่ๆว่าแล้วนั้น พระเสมียนตราด้วงและสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใน ท่านเสมียนตราด้วงก็ถึงอนิจกรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ถึงมรณภาพ สมภารวัดแลทายกก็ทำโลเลร่องแร่ง ผลประโยชน์ของวัดก็เสื่อมทรามหายไป วัดก็ทรุดโทรมรกเรื้อ ภิกษุที่ประจำในวัดก็ล้วนรุ่มร่ามเลอะเทอะ เป็นกดมะตอทั้งปทัด



    ครั้นพระมหานครมาสู่ความสะอาดรุ่งเรืองงาม จึงดลพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕ นั้น ให้ทรงสถาปนาพระหมานคร ตัดถนนสัญจรให้โล่งลิ่วตลอดถึงกันหลายชั้นหลายทาง ทะลุถึงกันหมดทุกสายทั้ง ๔ ทิศติดต่อกันไป ทางหน้าวัดบางขุนพรหมก็ถูกตัดถนนด้วย ช่วยเพิ่มพระบารมี ทางริมน้ำก็ถูกแลกเปลี่ยนที่ ทรงสร้างวังลงตรงที่นั้น ๒ วัง ที่ใหม่ของหลวงที่พระราชทานให้แก่วัดบางขุนพรหมนั้นเดี๋ยวนี้ ก็ได้ยินว่าหายไป ไม่ปรากฏแก่วัดบางขุนพรหม และชาวบ้านเหล่านั้น ช่วยกันพยุงวัดนี้มาด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ผลประโยชน์ของวัดเกิดในกัลปนาบ้างช่วยกันเสริมสร้างพระโตองค์นี้มานานก็ไม่รู้จักจะแล้วได้ ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านพระครู เป็นพระธรรมยุติกนิกายมาคิดสถาปนาพระโตองค์นี้เปลี่ยนแปลงเป็นพระยืนห้ามญาติ พอเป็นองค์ขึ้นสมมุติว่าแล้ว นัดไหว้กัน ไม่ช้าเท่าไรก็เกิดวิบัติขึ้นแต่ผู้ต้นคิด เพราะผิดทางกำหนดในบทหนังสือปฐม ก กา ว่าขืนรู้ผู้ใหญ่เครื่องไม่เข้าการ เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ท่านประพฤติกาย วาจา ใจ เป็นผู้ใหญ่แท้ ท่านสร้างพระนั่งตอตะเคียนโปรดยักษ์ พระปางนี้ไม่มีใครๆ สร้างไว้เลย แต่สยามฝ่ายเหนือลงมา ก็หามีผู้สร้างขึ้นไว้ไม่ ท่านจึงคิดตั้งใจแลสร้างไว้ให้ครบ ๑๐๘ ปาง แต่อายุและโอกาสไม่พอแก่ความคิด พระจึงไม่แล้ว ท่านพระครูมาขืนรู้ ท่านจึงไม่เจริญ กลับเป็นคนเสียกล เป็นคนทรุดเสื่อมถึงแก่ต้องโทษทางอาญา ราชภัยบันดาลเป็นเพราะโลภเจตนาเป็นเค้ามูล จึงพินาศวิบากผลปฏิสังขรณ์อำนวยไม่ทัน วิบากของโลภแลความลบหลู่ดูหมิ่นผู้ใหญ่ ขืนรู้ผู้ใหญ่แรงกว่า อำนวยก่อน จึงเป็นทิฐิธรรมเวทนียกรรมแท้ กลับเป็นบุคคลลับลี้ หายชื่อหายหน้าไม่ปรากฏ เหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านก่อสร้างสิ่งซึ่งเป็นถาวรวัตถุชิ้นใดๆเป็นการเกี่ยวแก่พระพุทธศาสนาแล้ว ท่านไม่มีแยบคาย คนอื่นๆ ตรงต่อพระพุทธศาสนา ตรงต่อพระมหากษัตริย์ ตรงต่อชาติ อาจทำให้ประโยชน์ โสตถิผลให้แก่ชุมชนเป็นอันมาก ดังสำแดงมาแล้วแต่หนหลัง



    และวัดบางขุนพรหมในนี้นั้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารได้สืบเค้าเงื่อนได้ทราบเหตุการณ์บ้างว่า เดิมพระองค์เจ้าอินทร์ซ่อมแซมก่อสร้างเป็นหลักฐานไว้ก่อน สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) วัดบวรนิเวศ ได้ขนานนามวัดนี้ให้ชื่อว่า วัดอินทรวิหาร (แปลว่าวัดเจ้าอินทร์) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ (ถ้าผู้มีทรัพย์มีอำนาจ มีกำลัง มีอานุภาพ ได้มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นพระนั่งบนตอตะเคียน ตามประสงค์ของสมเด็จเจ้าโตได้ และทำยักษ์คุกเข่าฟังพระธรรมเทศนา ได้ลุสำเร็จปฐมมรรค หายดุร้าย ไม่เบียดเบียนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์สามเณรต่อไป ผู้แปลงใหม่ คงมั่งคั่งสมบูรณ์ พูนพิพัฒน์สถาพร ประเทศก็จะรุ่งเรือง ปราศจากวิหิงสาอาฆาต พยาธิก็จะไม่บีฑาเลย)



    ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นี้ ได้ทรงจำและเสาะสางสืบค้นฉบับกะรุ่งกะริ่ง และได้อาศัยพึ่งพิงท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุเล่ากล่าวสืบๆ มาจนติดอยู่ในสมองของข้าพเจ้า และได้ถือเอาคำของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) ผู้มีอายุราว ๘๘ ปีบ้าง อนุมัติดัดแปลงบ้าง ประมาณบ้าง สันนิษฐานบ้าง วิจารณ์บ้าง เทียบศักราชในพงศาวดารบ้าง บรมราชประวัติแห่งสยามบ้าง พอให้สมเหตุสมผล ให้เป็นต้นเป็นปลาย พิจารณาในรูปภาพที่ฝาผนังในโบสถ์วัดอินทรวิหารบ้าง ได้ยกเหตุผลขึ้นกล่าว ใช้ถ้อยคำเวยยากรณ์ เป็นคำพูดตรงๆ แต่คงจะไม่เหมือนสมเด็จพระเป็นแน่ เพราะคนละยุค คนละคราว คนละสมัย และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงไม่ผิดจากความเป็นจริง เพราะข้าพเจ้าใช้คำตามหลัก เป็นคำท้าวคำพระยา คำพระสงฆ์ คำบ้านนอก คำราชการ คำโต้ตอบทั้งปวงนั้น ข้าพเจ้าเขียนเองตามหลักของการแต่งหนังสือ แต่คำทั้งปวงเห็นว่าสมเหตุสมผลแล้วจึงเขียนลง แต่คงไม่คลาดจากความจริง ถ้าว่าไม่ได้ยินกับหู ไม่ได้รู้กับตา มากล่าวเล่าสู่กันฟัง คล้ายกับเล่านิทาน เหมือนเล่าเรื่องศรีธนนชัย เรื่องไกรทอง เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องอะไรทั้งหมด ที่เรียกว่านิทานแล้ว ธรรมดาต้องมีต่อมีเติม มีตัด ไม่ให้ขัดลิ้นขัดหู แต่ไม่ผิดหลักแห่งความจริง เพราะสิ่งที่จริง มีปรากฏเป็นพยานของคำนั้นๆ ถ้าหากว่าอ่านรูดรูด ฟังรูดรูด ไม่ยึดถือเรื่องราว ก็เห็นมีประโยชน์เล็กน้อย แก่ผู้อ่านผู้ฟังบ้าง คือสอนพูด ถึงเป็นคนโง่ คนบ้านนอก ก็รู้การเมืองได้บ้าง ไม่เซอะซะต่อไป นักโต้ตอบก็จะได้ทราบหลักแห่งถ้อยคำ นักธรรมะก็พอสะกิดให้เข้าใจธรรมะบ้าง นักเชื่อถือก็จะได้แน่นแฟ้นเข้าอีก นักสนุกก็พอเล่าหัวเราะแก้ง่วงเหงา ถ้าจะถือว่าหนังสือแต่งใหม่ก็ดีเหมือนกัน ถ้าท่านเห็นถ่องแท้ว่าผิดพลาด โปรดฆ่ากาแต้มต่อตัดเติมได้ให้ถูกต้องเป็นดี



    นี่แหละหนาท่านทานบดีที่มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้อุตส่าห์มาประชุมกันไหว้กราบสักการะพระเกตุไชโยใหญ่โต ในอำเภอไชโยนี้ทุกปีมา พระพุทธปฏิมากรองค์นี้หนา ก็เป็นพระของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ขอพระบรมราชานุญาตแล้วก่อสร้างไว้ ท่านได้เชิญเทวดาฟ้าเทวดาดินเป็นผู้เฝ้าพิทักษ์รักษาป้องกันภัยอันตราย ไม่ให้มีแก่พระของท่าน ถึงถาวรตั้งมั่นมาถึงปีนี้ได้นานถึง ๖๐ ปีเศษล่วงมา ก็ด้วยอำนาจสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ผู้มีสัตย์ มีธรรม ทั้งกอปรกายกรรม วาจีกรรม มโนกรรม เป็นฝ่ายบุญฝ่ายกุศล ทั้งระคนข้องอยู่ในภูมิรู้ ภูมิเมตตา ภูมิกรุณา เอ็นดูแก่อาณาประชาชนนิกร ท่านตั้งใจให้ความสุขอันสุนทร และให้สุขสโมสรแก่นิกรประชาชนทั่วหน้ากัน ท่านหวังจะให้มีแต่ความปรีดิ์เปรมเกษมสันต์สารภิรมย์ ให้สมแก่ที่ประเทศเป็นเขตพระบวรพุทะศาสนารักษาพระรัตนตรัยให้ไพบูลย์ ต่อตั้งศาสนาไว้มิให้เสื่อมสูญ เศร้าหมอง ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องสนองพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้า อันได้ทรงฟักฟูมใฝ่เฝ้าฝากฝังตั้งพระศาสนาไว้ เป็นของบริสุทธิ์สำหรับพุทธเวไนย พุทธสาวก พุทธมามะกะ พุทธบาท พุทธบิดามารดา แห่งพระพุทธเจ้า จะได้ตรัสไปข้างหน้าในอนาคตกาล นิกรชนจะได้ชวนช่วยกันรักษาศีลบำเพ็ญทาน ทำแต่การบุญ ผู้สละ ผู้บริจาคจะได้เป็นทุนเป็นเสบียงทางผลที่ทำไว้จะมิได้ระเหิดเริศร้างจางจืดชืดเชื้อ หรือยากจนแค้นเต็มเข็ญเป็นไปในภายหน้า จะได้ทวีมีศรัทธากล้าปัญญาแหลมหลักอัครภูมิ วิจารณ์จะเกิดบุญจิตุกามยตาญาณหยั่งรู้หยั่งเห็นพระอริยสัจจะธรรม จะได้นำตนให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสารได้ก็ต้องอาศัยกุศลวัตรภูมิ ภูมิรู้ ภูมิปฏิบัติในปัจจุบันชาตินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สำเร็จความสุขความดี ความงามตามวาสนาบารมีในกาลภายภาคหน้า เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ชะโลชะลอ หล่อศรัทธาปสันนา ของพระพุทธศาสนิกชนไว้ใหญ่อะโข ตั้งพระไว้จะได้ระลึกนึกถึงพระพุทโธได้ง่ายๆ ต่างคนต่างจะได้ไหว้นมัสการบูชาทุกวันทุกเวลาราตรีปีไป จะได้สมดั่งพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนไว้แก่พระสารีบุตรอุตตองค์สาวกว่า "อตีตังนานวาคะเมยยะ นัปปฏิกังเข อะนาคะตังยทะตี ตัมปหินันตัง อัปปัตตัญจะอะนาคะตัง ปัจจุบันปันนัญจะโยธัปมัง ตัตถะ ตัตถะวิปัสสะติ อะสังหิรังอะสังกุปปัง ตังวิทธามะนุพรูหะเย อัชเชวะกิจจะมาตับปัง โกชัญญามะระณังสุเว นะหิโนสังคะรันเตนะ มัจจุนา เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรัตตะมะตันทิตัง ตังเวภัทเทกะรัต สันโตอาจิขะเตมุนีติ" แปลความตามพระคาถาทั้ง ๔ คาถานี้ว่า บุคคลไม่พึงตามไปถึงเหตุการณ์ที่ล่วงไปแล้ว๑ บุคคลไม่พึงหวังจำเพาะเหตุผลข้างหน้า อันยังไม่มาถึง บุคคลใดย่อมเห็นชัดเห็นแน่ว่า ธรรมะ คือ คุณงามความดีในปัจจุบันทันตานี้แล้ว ย่อมทำประโยชน์ในเหตุการณ์นั้นๆเถิด อะสังหิรัง อะสังกุปปัง ไม่พึงย่อหย่อน ไม่พึงคืนคลายเกียจคร้านพึงจำเพาะเจาะจงผลประโยชน์นั้นๆ ให้เจริญตามๆ เป็นลำดับไป พึงทำกิจการงานของตนให้เสร็จสุขสำเร็จเสียในวันนี้ จะเฉี่อยชาราข้อละทิ้งกิจการงานให้นานวันนั้นไม่ได้ โกชัญญามรณังสุเว ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ นะหิโนสังคะรันเตนะ มหาเสเนนะมัจจุนา ความผัดเพี้ยนผ่อนผันของเราทั้งหลายไม่มีต่อด้วยความตายอันมีเสนาใหญ่นั้น คนผู้เห็นภัยมฤตยูราชตามกระชั้นแล้ว ไม่ควรทุเลาวันประกันพรุ่ง ว่าพรุ่งนี้เถอะ มะเรื่องเถอะ เราจึงจะกระทำไม่พึงย่อหย่อนเกียจคร้านอย่างนี้ จะรีบร้อนกระทำเสียให้แล้วจึงอยู่ทำไปทั้งกลางวันและกลางคืน ตังเวภัทเทกะรัตโตติ สันโตอาจิกขะเตมุนี นักปราชญ์ผู้รู้ผู้สงบระงับแล้ว ท่านกล่าวบอกว่า บุคคลผู้หมั่นเพียรกระทำนั้น ว่าเป็นบุคคลมีราตรีเดียวเจริญด้วยประการดังนี้



    ถ้าจะอธิบายตามความในพระธรรมเทศนาในพระคาถาที่แปลมาแล้วนี้ ให้เข้าใจตามภาษาชาวบ้าน ต้องอธิบายดังนี้ว่า คำหรือเรื่องหรือสิ่งหรือเหตุการณ์ก็ตาม ถ้ามันล่วงเลยไปเสียแล้ว มันสายไปเสียแล้ว มันบ่ายไปเสียแล้ว เรียกว่าอดีต ล่วงไปแล้ว อย่าให้ไปตามคิดตามหาถึงมัน จะทำความเสียใจให้ ท่านจึงสอนไม่ให้ตามคิด สุภาษิตก็ว่าไว้ว่า อย่าฟื้นสอยหาตะเข็บให้เจ็บใจ อย่าตามคิดถึงมัน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย และดีกว่า ถึงเรื่องราวเหตุผลข้างหน้า หรือมีคนมีผู้กล่าวมาส่อถึงเหตุผลข้างหน้าว่าเมื่อนั้นเมื่อนั่น จะให้นั่น จะให้นั่นทำนั่นทำนั่นให้ กล่าวอย่างนี้เรียกว่าอนาคตเหตุ ท่านว่าอย่าพึ่งจำนง อย่าหวังใจ อย่าวางใจในการข้างหน้า จะเสียใจอีก จะเหนื่อยเปล่าด้วย เพราะไม่จริงดังว่า สุภาษิตก็ว่า ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นรอกโก่งกระสุนหน้าไม้ สายกระสุนจะล้า ด้ายกระสุนจะอ่อน คนเราถ้าเชื่อการข้างหน้า ทำไปเพราะหวังและสำคัญมั่นหมายมุ่งหมายว่าจริงใจ ถ้าไปถูกหลอกถูกล่อเข้าจะเสียใจ แห้งใจอ่อนใจ เหนื่อยเปล่า เหตุนี้ ท่านจึงสอนว่า อย่าหวังการข้างหน้า ในปัจจุบันชั่ววันหนึ่งๆ นี่แหละควรพึงกระทำให้เป็นผลประโยชน์ไว้สำหรับเกื้อกูลตน ทำบุญทำกุศลไว้สำหรับตนประจำตัวไว้สม่ำเสมอทุกวัน ทุกเวลา ถึงโดยว่าข้างหน้า ภพหน้า โลกหน้าจะมีหรือไม่มีเราก็ไม่วิตก เพราะเราไม่ทำความผิด ความชั่ว ความบาปไว้ เราไม่เศร้าไม่หมอง เมื่อเราทำตนให้บริสุทธิ์ เรารับจ้างเขาทำงาน ทำตนให้มีคนรักคนนับหน้าถือนาม เราก็ไม่หวาดไม่ไหวต่อการขัดสน เรารับทำให้เขาแล้วตามกำหนด เจ้างานก็ต้องให้ค่าจ้างรางวัลเราตามสัญญา ถ้าเราจะขอรับเงินค่าจ้างล่วงหน้า นายจ้างก็ไม่รังเกียจหยิบให้เราทันทีทันงาน เพราะนายจ้างเชื่อว่าเราหมั่นทำงานของท่านจริงไม่ย่อหย่อนผ่อนผัดวัน ถ้าว่าเป็นงานของเราเอง รีบทำให้แล้ว ไม่ผัดเพี้ยนเปลี่ยนเวลา ก็ยิ่งได้ผลความเจริญ เมื่อการงานเงินของเราพอดี พอแล้ว พอกิน พอใช้ เราก็มีโอกาสมีช่องที่จะแสวงหาคุณงามความดี ทำบุญทำกุศล สวดมนต์ไหว้พระได้ตามสบายใจ เมื่อเราสบายใจไม่มีราคีความขัดข้องหมองใจ ไม่เศร้าหมองใจแล้ว เราก็ยิ่งมีสง่าราศีดีขึ้น เป็นที่ชื่นตาของผู้ที่เราจะไปสู่มาหา ผู้รับก็ไม่กินแหนงรังเกียจรำคาญ เพราะตนของเราบริสุทธิ์ ไม่รบกวนหยิบยืมให้เจ้าของบ้านรำคาญใจ ทำได้ดังนี้แหละจึงตรงต่อพุทธศาสนา ตรงกับคำในภัทธกรัตคาถาว่า ตํ เวภัทเธกะรัตโตติ ว่าคนทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ดังสำแดงมาจึงมีนามกล่าวว่า ผู้นั้นมีราตรี คืนเดียวเจริญ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • tip01[1].jpg
      tip01[1].jpg
      ขนาดไฟล์:
      49.7 KB
      เปิดดู:
      820

แชร์หน้านี้

Loading...