บทความให้กำลังใจ(น้อมใจรับสัจธรรม)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พลังใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อปี ๒๕๔๙ นักวิจัยชาวออสเตรเลียสองคน คือ ไมเคิล โอเท็น และ เค็น เช็ง ได้ชักชวนอาสาสมัครประมาณ ๒๔ คน อายุระหว่าง ๑๘-๕๐ ปี เข้าโครงการออกกำลังกายเป็นเวลาสองเดือน กิจกรรมมีทั้งยกน้ำหนักและเต้นแอโรคบิค ส่วนใหญ่ไม่เคยออกกำลังกายแบบนี้มาก่อน เพราะชอบนั่ง ๆ นอน ๆ มากกว่า จึงต้องเคี่ยวเข็นตนเองอย่างมากทุกครั้งที่เข้าโรงยิม

    เมื่อสองเดือนผ่านไป ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาชีวิตของทั้ง ๒๔ คนเพื่อดูว่าการออกกำลังกายส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเขาบ้าง สิ่งที่เขาพบก็คือ ไม่เพียงทรวดทรงของเขาจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ และกินอาหารขยะน้อยลง ใช้เวลากับการทำการบ้านมากขึ้น ดูโทรทัศน์น้อยลง รวมทั้งซึมเศร้าน้อยลงด้วย

    ต่อมาทั้งสองได้ทำการทดลองอีกครั้ง คราวนี้ให้คน ๒๙ คนมาเข้าโครงการบริหารเงินเป็นเวลาสี่เดือน โดยให้ทุกคนตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าใด และขอให้งดสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น กินอาหารในภัตตาคารหรือดูหนัง รวมทั้งทำบัญชีการใช้จ่ายอย่างละเอียด

    แน่นอนว่าสถานะการเงินของทุกคนดีขึ้น แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ นอกจากพวกเขาจะ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ กินอาหารขยะ และสูบบุหรี่น้อยลงแล้ว (บางคนสูบน้อยลงถึง ๑๕ มวน) ยังทำงานหรือมีผลการเรียนดีขึ้น

    ทั้งสองคนยังไม่พอใจเพียงเท่านั้น การทดลองต่อมาเขาให้นักศึกษา ๔๕ คนเข้าโครงการปรับปรุงการศึกษา ซึ่งเน้นการสร้างนิสัยใหม่เกี่ยวกับการเรียน ปรากฏว่าผลการเรียนของทุกคนดีขึ้นตามคาด แต่พฤติกรรมด้านอื่น ๆ ก็ดีขึ้นด้วย เช่น สูบหรี่และดื่มเหล้าน้อยลง ดูโทรทัศน์น้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น และกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น

    พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าจะเป็นผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายเป็นประจำเสมอไป ก็หาไม่ เพราะการทดลองสองครั้งหลังไม่ได้เกี่ยวกับการออกกำลังกายเลย ถ้าเช่นนั้นอะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

    โอเท็นและเช็งสรุปว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นผลจาก “พลังใจ” (will power) ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการทดลองทั้งสามประเภทนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกให้อาสาสมัครเคี่ยวกรำตนเอง ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ต้องอดทนอดกลั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผลก็คือมีพลังในการควบคุมตนเองมากขึ้น พลังดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่หยุดอยู่เฉพาะกิจกรรมที่ถูกกำหนดให้ทำ แต่ขยายไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครบังคับ เช่น การกินอาหาร การดูโทรทัศน์ การทำงาน ฯลฯ

    การทดลองดังกล่าวให้ผลสอดคล้องกับการทดลองที่หลายคนได้ทำก่อนหน้านั้น เช่น เมื่อมีการชักชวนให้ผู้คนออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้ไม่ทุกวัน แต่ทำแค่อาทิตย์ละครั้ง พฤติกรรมด้านอื่น ๆ ของเขาก็เปลี่ยนไป เช่น สูบบุหรี่น้อยลง กินอาหารที่ถูกอนามัยมากขึ้น ใช้เครดิตการ์ดน้อยลง มีความอดทนกับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งมีความเครียดน้อยลงด้วย

    การทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พลังใจหรือความสามารถในการควบคุม(และเคี่ยวเข็น)ตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของเรา มันไม่เพียงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในบางเรื่องที่กำลังฝึกฝนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย ไม่ว่าการบริโภค การทำงาน หรือความสัมพันธ์
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    มองในทางกลับกัน การที่ผู้คนมีพฤติกรรมที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นนั้น สาเหตุสำคัญก็คือการขาดพลังใจหรือความสามารถในการควบคุมตนเองนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นไม่ดี หลายคนก็รู้ว่า บุหรี่ สุรา และอาหารขยะ นั้นเป็นโทษต่อร่างกาย แต่ที่ยังเลิกไม่ได้ก็เพราะขาดพลังที่จะต่อต้านมัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังในการยั่วยวน เช่นเดียวกับอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง เช่น การเที่ยวห้าง การพนัน เกมออนไลน์ หรือแม้แต่เฟซบุ๊ค

    ในสหรัฐอเมริกามีคนจำนวนมากที่หยุดช็อปปิ้งไม่ได้ มีเครดิตการ์ดกี่ใบก็รูดหมดจนมีหนี้สินมากมาย รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ก็ห้ามใจไม่ได้เสียที มีบางคนหาทางแก้ด้วยการเอาบัตรเครดิตใส่ไว้ในแก้วแล้วเอาแก้วนั้นไปใส่ช่องแช่แข็ง เมื่อใดก็ตามที่อยากจับจ่าย ก็ต้องรอให้น้ำแข็งในแก้วละลายก่อนจึงจะเอาบัตรเครดิตไปใช้ได้ ถึงตอนนั้นความอยากก็จะลดลงไป และสติกลับคืนมา ทำให้เปลี่ยนใจไม่ไปช็อปปิ้ง

    นี้เป็นทางออกของหลายคนที่รู้ว่าพลังใจนั้นมีไม่พอที่จะต้านความอยาก จึงต้องอาศัย “ตัวช่วย”จากภายนอก เช่น ถ้าจะเลิกเหล้าหรือการพนัน ก็ต้องผลักไสตัวเองไปอยู่วัดหรือที่ไกล ๆ จะได้ไม่สามารถทำตามความอยากได้ แต่ตราบใดที่พลังใจไม่เข้มแข็ง เมื่อใดที่สบโอกาส ก็มักพ่ายแพ้แก่กิเลส และอดโมโหตัวเองไม่ได้ที่พ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

    นี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ก็ว่าได้ คือ รู้ว่าอะไรดี แต่ห้ามใจไม่ได้ สมกับวลีที่ว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” ทั้งนี้เป็นเพราะการถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจมาตั้งแต่เล็ก ครั้นโตขึ้นก็ปล่อยตัวปล่อยใจง่ายเกินไป ประกอบกับทุกวันนี้มีสิ่งยั่วยวนมากมาย ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจสูงมาก ยากที่จะต่อต้านได้ แม้มันจะให้ความสุขที่รวดเร็วทันใจ แต่ส่งผลเสียตามมาในระยะยาว

    ทุกวันนี้มีคุณค่าใหม่ ๆ ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นตัวของตัวเอง ความรักอิสระ แต่คุณค่าเก่า ๆ สมัยปู่ย่าตายาย เช่น การรู้จักควบคุมตนเอง ก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากขาดสิ่งนี้ไปแล้ว ก็ยากที่จะนำพาชีวิตไปในทางที่เจริญงอกงามได้

    เมื่อ ๔๐ ปีก่อนวอลเตอร์ มิสเชล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ทำการทดลองที่มีชื่อเสียงมาก โดยนำเด็กอายุ ๔-๖ ขวบเข้าไปในห้องซึ่งมีขนมมากมาย ผู้ทดลองบอกแก่เด็กว่า ขนมเหล่านี้เด็กทุกคนสามารถกินได้หนึ่งชิ้นทันที แต่หากรอ ๑๕ นาทีก็สามารถกินได้สองชิ้น ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่รอไม่ไหว ขอกินก่อน มีเพียงหนึ่งในสามที่รอได้ถึง ๑๕ นาทีเพื่อจะได้กินสองชิ้น

    มีเด็กร่วมการทดลองนี้ร่วม ๖๐๐ คน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นวัยรุ่น เขาได้พบว่าเด็กที่รู้จักอดทนรอคอยนั้น โดยเฉลี่ยมีผลการเรียนที่ดีถึงดีมาก รวมทั้งทำคะแนนสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย (SAT score)ได้สูงกว่าเด็กที่เหลือถึง ๒๑๐ คะแนน อีกทั้งยังมีเพื่อนเยอะ และเสพยาน้อยกว่า

    เสรีภาพนั้นไม่ใช่การตามใจ จะว่าไปแล้วการตามใจหรือการปล่อยใจไปตามอารมณ์ กลับทำให้ตนเองสูญเสียเสรีภาพ ยากที่จะดำเนินชีวิตไปตามที่ปรารถนาได้ เพราะตกอยู่ในอำนาจของสิ่งยั่วยวนมากมาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษ แต่ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะไม่มีเรี่ยวแรงต่อต้านขัดขืน ดังนั้นหากปรารถนาเสรีภาพ นอกจากความรักอิสระแล้ว ยังต้องมีพลังใจเพื่อสามารถผลักดันชีวิตไปยังจุดหมายที่ต้องการ แม้อุปสรรคจะมีมากมายเพียงใดก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255602.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ปล่อยวาง ไม่ใช่ วางเฉย
    พระไพศาล วิสาโล
    เช้าวันหนึ่ง นาย ก.อ่านคำสอน “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดถือเป็นตัวเราของเรา”หน้าหิ้งพระ รู้สึกปล่อยวางและเบาสบาย ก่อนออกจากบ้าน นายก.หยิบขยะไปทิ้ง และสังเกตเห็นว่าซอยข้างบ้านเต็มไปด้วยขยะที่คนในชุมชนข้างซอยเอามากองทิ้งไว้ บ่ายวันนั้นฝนตก น้ำชะขยะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ นาย ก.เห็นเหตุการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สึกทุกข์ใจ และรำคาญใจกับสภาพและกลิ่นขยะในขณะเดียวกัน แต่นาย ก.ก็ตระหนักว่า” ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ปล่อยวางและยึดมั่นถือมั่น”

    วิจักขณ์ พานิช เคยออกข้อสอบวิชาพุทธศาสนาข้อหนึ่งมีข้อความข้างต้น โดยถามนักศึกษาว่าเห็นด้วยกับความคิดและการกระทำของนายก.ว่า เป็นการตีความถูกต้อง “ตรงตามพระคัมภีร์”หรือไม่ ปรากฏว่านักศึกษากว่าร้อยละ ๘๐ เห็นด้วย

    การที่นักศึกษาเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับพฤติกรรมของนายก. แสดงอย่างชัดเจนว่าในทัศนะของนักศึกษาเหล่านี้ คำสอนของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “ทำจิต” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร สิ่งเดียวที่ทำได้คือ “ปล่อยวาง”

    ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายอยู่มากไม่เฉพาะนักศึกษากลุ่มนี้เท่านั้น แท้จริงแล้วพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่ “การทำจิต” เท่านั้น หากยังให้ความสำคัญแก่ “การทำกิจ” ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเตือนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ในด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้ปล่อยวาง ดังพุทธพจน์ที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ

    “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”

    แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้หมั่นเพียรในการทำกิจ ดังตอนหนึ่งในปัจฉิมโอวาท

    “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

    พุทธพจน์ทั้งสองไม่ได้ขัดกันแต่เน้น “จริยธรรม”คนละด้าน ซึ่งเราพึงปฏิบัติควบคู่กันไป เช่น เมื่อเรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย เอาอะไรไปไม่ได้แม้แต่น้อย ดังนั้นจึงต้องรู้จักปล่อยวาง หาไม่จะตายสงบได้ยาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรเร่งทำความดี หมั่นทำหน้าที่ให้แล้วเสร็จ ไม่เพิกเฉย หรือปล่อยให้ค้างคา เพราะเราอาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้

    การปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต เพื่อไม่ให้ทุกข์ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำอะไรมากกว่านั้นหากทำได้ เมื่อคนรักตายจากไป เราไม่สามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำได้ในกรณีนี้ก็คือ การทำจิต หรือปล่อยวางเท่านั้น แต่หากเราล้มป่วย นอกจากการทำจิต คือ ไม่บ่นโวยวายหรือตีโพยตีพาย หากแต่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือพิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราแล้ว เรายังควรทำกิจด้วย คือ เยียวยารักษาร่างกายให้หายป่วย หรือถึงแม้จะยังไม่ป่วย สุขภาพยังดีอยู่ ในด้านหนึ่งก็ควรเผื่อใจว่าอะไรก็ไม่เที่ยง จะได้ไม่ทุกข์ใจเมื่อต้องล้มป่วย แต่พร้อมกันนั้นก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใส่ใจในคุณภาพของอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มป่วยเร็วเกินไป

    ใครที่ทำใจอย่างเดียว โดยไม่ทำกิจเลย ย่อมเรียกว่าเป็นอยู่อย่างไร้ปัญญา จริงอยู่กล่าวในทางปรมัตถ์แล้ว ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสิ่งที่ “หยิบยืม”มาใช้ชั่วคราว แต่ตราบใดที่มันยังอยู่ในการดูแลของเรา เราก็มีหน้าที่ดูแลมันให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับโทรศัพท์หรือรถยนต์ที่เราหยิบยืมมาจากเพื่อน แม้มันไม่ใช่ของเรา เราก็ต้องดูแลรักษาให้ดี ใครที่ปล่อยปละละเลย เอาแต่ใช้แต่ไม่ดูแล ด้วยเหตุผลว่า มันไม่ใช่ของเรา ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้ไร้ความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่น่าคบหาเลย
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ผู้คนมักเข้าใจว่า ปล่อยวางหมายถึงวางเฉย หรือปล่อยปละละเลย นี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความสับสนระหว่าง “ทำจิต” กับ “ทำกิจ” ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต มุ่งแก้ความทุกข์ทางใจ แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความทุกข์ทางใจ เรายังมีความทุกข์ทางกาย ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งต้องอาศัยการทำกิจควบคู่กับการทำจิต เช่น ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วก็ต้องซ่อม ขณะเดียวกันก็ควรรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ตรงนี้แหละที่การทำจิตเข้ามามีบทบาท แต่ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วแล้วไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ยังต้องใช้มันอยู่และอยู่ในวิสัยที่ซ่อมได้ อย่างนี้แหละเรียกว่า วางเฉย หรือปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ปล่อยวาง

    ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินผ่านกุฏิของพระรูปหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นหลังคาแหว่งไปครึ่งหนึ่งเพราะถูกพายุฝนกระหน่ำ แต่พระรูปนั้นไม่ขวนขวายที่จะซ่อมหลังคาเลย ปล่อยให้ฝนรั่วอย่างนั้น ท่านจึงถามเหตุผลของพระรูปนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ ผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นครับ หลวงพ่อชาจึงตำหนิว่า นี่เป็นทำโดยไม่ใช้หัวสมอง แทบไม่ต่างจากการวางเฉยของควายเลย

    ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิตเพราะเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ จัดว่าเป็นวิถีแห่งปัญญา ส่วนวางเฉยหรือปล่อยปละละเลยนั้นเป็นความบกพร่องในการทำกิจเพราะไม่เข้าใจว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ หรือเพราะสำคัญผิดว่าเป็นการทำจิต จึงไม่ใช่วิถีแห่งปัญญา

    ดังนั้นเมื่อนายก. พบว่าซอยข้างบานเต็มไปด้วยขยะและส่งกลิ่นเหม็นจนรู้สึกรำคาญและทุกข์ใจนั้น การที่เขาทำใจปล่อยวาง (เช่น มีสติเห็นความรู้สึกรำคาญ และปล่อยวางมัน ไม่ยึดติดถือมั่นจนเกิดตัวกูผู้รำคาญขึ้นมา) ย่อมช่วยให้ความทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลง แต่ทำเพียงเท่านี้ยังไม่พอ เขาควรตระหนักว่านี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เฉพาะของตนเท่านั้น แม้จะไม่ห่วงตนเองแต่ก็ควรมีสำนึกในหน้าที่ต่อส่วนรวม อันเป็นวิสัยของชาวพุทธ ดังนั้นเขาจึงควรทำกิจด้วย นั่นคือ พยายามลดขยะในซอย เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะ หรือชักชวนผู้คนให้ทิ้งขยะเป็นที่ (อันที่จริง หากเขาทำใจปล่อยวางอย่างเดียว ก็ไม่ควรเอาขยะของตนเองไปทิ้ง ควรทนอยู่กับขยะที่สุมกองอยู่ในบ้านต่อไป ถ้าทนกลิ่นเหม็นของขยะในบ้านตนไม่ได้ แต่วางเฉยต่อขยะที่อยู่นอกบ้าน แสดงว่าไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่เป็นการปล่อยปละละเลยปัญหาของส่วนรวมมากกว่า)

    ทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยสนใจแต่ทำจิต แต่ไม่ทำกิจ จึงเกิดปัญหามากมาย เช่น มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ก็ทำใจอย่างเดียว แต่ไม่คิดที่จะไปคุยหรือปรับความเข้าใจกัน ปัญหาจึงหมักหมมและลุกลาม จนทำใจไม่ไหว ในที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทั้งวจีกรรมและมโนกรรม ไม่ใช่แต่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้นที่ลุกลาม ปัญหาส่วนรวมก็กำลังพอกพูนมากมาย ทั้งมลภาวะ อาชญากรรม ความไม่เป็นธรรม คอร์รัปชั่น การเอาเปรียบเบียดเบียน ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพุทธศาสนาสอนให้ทำจิตเท่านั้น หรือสับสนระหว่างการปล่อยวางกับการวางเฉย จึงเปิดช่องให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำจิตโดยคิดว่ากำลังทำตามคำสอนของพระพุทธองค์

    ถ้าชาวพุทธในเมืองไทยรู้จักทำกิจควบคู่กับทำจิตอย่างถูกต้อง หรือตระหนักชัดว่าปล่อยวางไม่ได้หมายถึงวางเฉย คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น และสังคมจะสงบสุขมากกว่านี้อย่างแน่นอน
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255606.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    คนดีและความดี : ดีอย่างไรไม่เกิดโทษ
    พระไพศาล วิสาโล
    ความคิดความเชื่อที่ถูกต้องดีงาม และคุณค่าที่สูงส่งนั้น ข้อดีมีมากมาย แต่ก็มีโทษตรงที่ชวนให้เราหลงใหลและยึดติด ดังนั้นจึงไม่ยอมให้ใครแตะต้อง วิจารณ์ หรือท้าทายความคิดความเชื่อนั้น ใครทำเช่นนั้นก็ไม่พอใจ โกรธเกลียดเขา มองว่าเขาเป็นศัตรู จนอยากทำร้ายเขา ไม่ว่าด้วยวาจาหรือการกระทำ ใช่แต่เท่านั้น อัตตายังอาจฉวยเอาความคิดความเชื่อนั้นมาเป็นอาภรณ์ประดับตัวมัน ทำให้มันดูดี เกิดความรู้สึกว่า “กูดี” หรือ “กูถูก” รวมทั้งใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอัตตาจนก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่นยัดเยียดความคิดความเชื่อของเราให้คนอื่น หรือถึงขั้นทำชั่วในนามของความถูกต้องและดีงาม ทั้งเพื่อปกป้องและส่งเสริม

    ความเป็นคนดีก็เช่นกัน โทษของมันก็คือ เมื่อใดที่เราสำคัญตนว่าเป็นคนดี อัตตาก็ฟูฟ่อง ชวนให้ยกตนข่มท่าน ดูแคลนคนที่ไม่ดีเหมือนเรา ถึงขั้นตัดสินว่าเขาเป็นคนเลว และเมื่อใดที่เราตัดสินเช่นนั้น ก็ง่ายที่เราจะทำร้ายเขา

    การทำเช่นนั้นอาจกลายเป็นความชอบธรรมด้วยซ้ำ “เมื่อคนดีทุบตีคนเลว นั่นเป็นสิ่งที่คนเลวสมควรได้รับ” คำพูดดังกล่าวของเจียงชิง ผู้นำแก๊งสี่คนในจีน ซึ่งสนับสนุนการทำร้ายผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับตนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเป็นอันมากที่คิดว่าตนเป็นคนดี ยิ่งมีการติดฉลากให้เขาว่า เป็น “เชื้อโรค” “ควาย” หรือ “แมลงสาบ” ก็ง่ายที่เราจะกำจัดเขาออกไปในนามของความดี การมองว่าเราดี แต่คนอื่นชั่ว และคนชั่วควรถูกกำราบ กำจัด หรือไม่ควรมีที่ทางอยู่ในโลกนี้ (พูดอีกอย่างคือ คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์)เป็นกับดักของความดี ที่ผู้คนมักพลัดตก และลงเอยด้วยการทำสิ่งเลวร้าย จนถอนตัวไม่ขึ้น

    ความดีและความถูกต้องนั้นทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย แต่วิถีสู่ความดีและความถูกต้องนั้นมีกับดักอยู่มากมาย อีกทั้งความดีและความถูกต้องก็มีหลายระดับ มีความซับซ้อนในตัวเอง ถึงแม้ความคิดความเชื่อ รวมทั้งคุณค่าที่เรายึดถืออยู่ เป็นสิ่งดีงามและถูกต้อง แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเข้าถึงแก่นแท้หรือสารัตถะของความคิดความเชื่อดังกล่าวอย่างแท้จริง แน่ใจได้อย่างไรว่าเราไม่ได้เข้าใจผิด หรือตีความปรุงแต่งให้ตรงกับอคติของเรา มั่นใจแล้วหรือว่าความคิดความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกอัตตาฉกฉวยต่อเติมเพื่อประโยชน์ของมัน

    ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ในความดีงามและความถูกต้อง จึงต้องหมั่นใคร่ครวญ ตรวจสอบ ตนเองและสิ่งที่ตนยึดถืออยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามันคือความดีงามและความถูกต้องอย่างแท้จริง จะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องไม่ “ฟันธง”ว่า ตนพบคำตอบแล้ว แต่ควรคิดเผื่อหรือสงสัยไว้บ้างว่าตนอาจจะผิด สิ่งที่ยึดถือนั้นอาจไม่ใช่สิ่งดีงามและถูกต้องก็ได้ ผู้พิพากษาชาวอเมริกันผู้หนึ่ง (Learned Hand) กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “จิตวิญญาณของเสรีภาพ” คือ “จิตวิญญาณที่ไม่แน่ใจเต็มที่นัก ว่ามันถูกต้องแล้ว” อาตมาคิดว่า นี้ควรเป็นจิตวิญญาณของผู้ใฝ่ความดีและความถูกต้อง คือ ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นดีและถูกต้องจริงหรือ
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก เคยกล่าวว่า “ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” นับประสาอะไรกับความเห็นที่ผิด หากยึดติดถือมั่น ย่อมมีแต่ก่อโทษสถานเดียว ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น โทษอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การดูถูกเหยียดหยามคนที่คิดต่างจากเรา หรือทำไม่เหมือนเรา ยิ่งคิดว่าตนดีหรือถูกต้องมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าเขาเลวมากเท่านั้น ตามมาด้วยความโกรธเกลียด และยิ่งโกรธเกลียดเขา เห็นว่าเขาเลวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าการใช้ความรุนแรงกับเขา ไม่ว่าด้วยวาจาหรือการกระทำเป็นสิ่งชอบธรรมแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ นอกจากการเบียดเบียนเขาแล้ว ความรุนแรงที่กระทำกับเขา ก็ย้อนกลับมาบั่นทอนจิตใจของเราเอง ทำให้ความดีงามและความเป็นมนุษย์ของเราลดน้อยถอยลง

    มีคำกล่าวว่า “ยิ่งพยายามกำจัดอสูรร้ายมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องระวังว่าตัวเองจะกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง” ตำรวจที่พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อปราบโจรให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่วิธีการที่ผิดกฎหมายและเลวร้าย สุดท้ายก็กลายเป็นโจรเสียเอง เพราะความชั่วร้ายที่ใช้กับโจรนั้น ย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจของตำรวจ คนดีจำนวนไม่น้อย กลายเป็นคนชั่วร้าย ก็เพราะเหตุนี้ คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ยิ่งมั่นใจว่าตนเป็นคนดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นคนดีมากเท่านั้น

    “ความเกลียดชังนั้นกัดกร่อนสติปัญญาและมโนธรรมของผู้คน” หลิวเสี่ยวปอ ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพชาวจีน ได้กล่าวประโยคนี้ต่อหน้าศาลซึ่งตัดสินจำคุกเขา ๑๑ ปี เป็นเหตุให้เขาตายคาคุกเมื่อเดือนที่แล้ว ความเกลียดชังนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรเปลี่ยนคนดีให้กลายเป็นอสูรร้าย เพราะเมื่อความเกลียดชังครองใจ เราก็ลืมตัวจนปล่อยให้อัตตาครอบงำจิต และสามารถทำสิ่งเลวร้ายใด ๆ ก็ได้เพื่อเป็นผู้ชนะ

    ดังนั้นหากใฝ่ในความดีงามและความถูกต้อง เราจะต้องระมัดระวังความเกลียดโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ปุถุชนนั้นยากที่จะไม่เกลียดหรือโกรธ แต่เราสามารถรู้ทันมัน และไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจเราได้ แต่แม้จะพยายามเพียงใด ความเกลียดโกรธก็ยังท่วมท้นใจ มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือไม่ใช้ความรุนแรงกับคนที่เราโกรธเกลียด ไม่ชอบเขาอย่างไร ก็ควรใช้สันติวิธีกับเขา เพราะหากใช้ทำร้ายเขาจนถึงชีวิต สิ่งที่เราทำไปก็ไม่อาจเรียกว่าความถูกต้องได้เลย แม้จะทำไปในนามของความดีงามและความถูกต้องก็ตาม ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เราแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราปกป้องหรือเชิดชูนั้นเป็นความดีงามและความถูกต้องอย่างแท้จริง หากมารู้ภายหลังว่ามันไม่ใช่ความดีงามและความถูกต้อง เราสามารถแก้ตัวด้วยการเอาชีวิตของเขากลับคืนมาได้ไหม

    เราทำร้ายกันมามากแล้วในนามของความดีและความถูกต้อง หากเชื่อในความดีและความถูกต้องอย่างแท้จริงเราควรหันมาใช้ความดีเอาชนะความชั่ว ดังพุทธภาษิตที่ว่า “พึงเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์”
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256007.html
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน
    พระไพศาล วิสาโล
    สมัยหนึ่งเคยมีคำพูดว่า “บ้านคือวิมานของเรา” คนรุ่นใหม่สมัยนี้อาจมีสำนวนอื่นที่ “โดนใจ”มากกว่า แต่ก็คงสะท้อนความรู้สึกอย่างเดียวกันว่า บ้านคือสถานที่ที่ให้ความสุขและความอบอุ่นใจแก่เรา อย่างหาได้จากที่อื่น แม้จะไปท่องเที่ยวที่ไหน นอนโรงแรมชั้นดีเพียงใด ก็ยังทดแทนบ้านไม่ได้อยู่ดี

    อะไรทำให้บ้านมีความพิเศษอย่างนั้น คำตอบนั้นมีมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนไม่ค่อยนึกถึงในยามปกติ นั่นคือ เพื่อนบ้าน แต่หากถามใหม่ว่า อะไรทำให้บ้านกลายเป็น “นรก” หลายคนจะนึกถึงเพื่อนบ้านขึ้นมาทันที เพราะต้องทะเลาะเบาะแว้งกับคนข้างบ้านที่ชอบเปิดเพลงดังสนั่นหรือเอาถังขยะมาวางไว้หน้าบ้านของเราเป็นประจำ

    “เพื่อนบ้าน” กับ “วิมานของเรา”นั้นแยกจากกันไม่ออก คนสมัยก่อนเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะต้องพึ่งพาอาศัยกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นมิตรกันและมีน้ำใจไมตรีต่อกัน สิ่งหนึ่งที่ทำเป็นอาจิณ ก็คือ แบ่งปันกัน หลวงพ่อปัญญา ฯ เล่าว่าสมัยที่ยังเป็นเด็ก ท่านจะถูกพ่อแม่ใช้ให้เอาแกงหรือขนมไปแจกเพื่อนบ้านเป็นประจำ เวลาพ่อแม่ได้เนื้อมาก้อนหนึ่งก็จะ เอามาแกงขึ้นหม้อ แล้วตักแจกทุกบ้าน ถ้าได้ปลามาเป็นเข่ง ก็เอามาแบ่งเป็นกอง ๆ ถ้าได้ทุเรียนมาก็ทำน้ำกะทิอ่างใหญ่ พอท่านเห็นก็รู้แล้วว่าวันนี้ต้องเหนื่อยอีกแล้ว เพราะต้องวิ่งเอาไปแจกตามบ้านต่าง ๆ

    ในทำนองเดียวกันท่านเจ้าคุณโพธิรังสีแห่งวัดพันตอง จังหวัดเชียงใหม่ พูดถึงประสบการณ์วัยเด็กว่า เวลาชาวบ้านทำอาหาร ไม่จำเป็นต้องทำอาหารหลายอย่าง แต่ละบ้านจะทำแกงแค่หนึ่งหม้อแล้วแบ่งให้บ้านอื่น ๆ ส่วนเพื่อนบ้านทำอาหารอะไรก็เอามาแบ่งให้บ้านของท่านเช่นกัน

    การแบ่งปันกันนั้นช่วยสมานใจผู้คนให้กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่สมัยนี้ใคร ๆ ก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องสมานใจกัน เพราะเข้าใจว่าไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ ผลที่ตามมาก็คือเกิดความเหินห่างกันจนในที่สุดกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หรืออย่างน้อยก็ก่อความรำคาญใจแก่กัน

    หลายคนที่มีปัญหากับเพื่อนบ้าน พบว่าบ่อยครั้งการขอร้องหรือแม้แต่ต่อว่าคนข้างบ้านไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเพื่อนเขา ด้วยการเอื้อเฟื้อเจือจานและแบ่งปัน ปัญหากลับทุเลาลง มีคนหนึ่งเล่าว่าข้างบ้านมีการก่อสร้างอาคาร คนงานมักโยนขยะลงมาที่สนามบ้านเขา เขาจึงต่อว่าแต่ก็ไม่ได้ผล แม้จะอ้างตำรวจ คนงานก็ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนวิธี หันมาเป็นมิตรกับคนงาน มีอาหารหรือขนมก็มาแบ่งให้ เขาก็รู้สึกดีด้วย จนต่อมาก็กลายเป็นเพื่อนกัน ถึงตอนนี้เขาขอร้องว่าอย่าโยนขยะลงมาได้ไหม ปรากฏว่าคนงานก็ตกปากรับคำอย่างดี หลังจากนั้นเขาก็ไม่มีปัญหาจากข้างบ้านอีกเลย

    อีกรายหนึ่งเป็นพ่อค้าที่สวนจตุจักร มีผู้ค้าข้างเคียงเอารูปภาพขนาดใหญ่มาตั้งไว้หน้าร้าน และยื่นออกมาบังร้านของเขาจนมิด เห็นได้ชัดว่าชายผู้นั้นตั้งใจกลั่นแกล้งเขา เขาก็ไม่ว่าอะไรเพราะรู้ดีว่าพูดไปก็คงไม่มีประโยชน์ วันหนึ่งเขาซื้อส้มและองุ่น แล้วเดินไปทักทายชายผู้นั้นด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พร้อมทั้งมอบผลไม้ให้เขา เขาบอกชายผู้นั้นว่า “เมื่อกี้ผมเดินไปเข้าห้องน้ำมาบังเอิญเห็นรถขายผลไม้ ก็เลยนึกถึงคุณเพราะเห็นว่าคุณเป็นคนที่ชอบทานผลไม้ เลยซื้อมาฝาก” ชายผู้นั้นมองหน้าเขาแบบงงๆแล้วพูดว่า เกรงใจ เขาตอบไปว่า “ไม่ต้องเกรงใจหรอกครับ เราค้าขายอยู่ด้วยกันมันก็เหมือนเพื่อนเหมือนพี่เหมือนน้องกัน” จากนั้นทั้งสองก็คุยกันราวกับคนคุ้นเคยกัน

    วันรุ่งขึ้น เมื่อเขาไปเปิดร้านก็ปรากฎว่าภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่ตั้งบังร้านเขาได้หายไป เขาจึงไปถามเจ้าของร้านว่า ภาพหายไปไหน เขาตอบว่าย้ายไปตั้งไว้ด้านในโน้น "ตั้งตรงนั้นดีกว่าครับเฮีย ผมเกรงใจเฮีย ตั้งตรงนี้แล้วมันน่าเกลียด มันไปบังร้านของเฮีย เดี๋ยวลูกค้ามาซื้อของเขาจะมองไม่เห็นสินค้าของเฮีย"

    ไม่มีอะไรที่สมานใจผู้คนได้ดีเท่าน้ำใจไมตรี หยิบยื่นไมตรีแก่คนข้างบ้าน แล้วเขาจะกลายเป็นเพื่อนบ้านที่ใส่ใจความรู้สึกของเรา เมื่อใดก็ตามที่น้ำใจไมตรีอาบรดใจ “นรก”ก็กลายเป็น “สวรรค์”ในบัดดล

    ช่วยกันทำบ้านให้เป็นวิมานด้วยการมีน้ำใจไมตรี ทั้งกับคนในบ้าน คนข้างบ้าน และคนในละแวกบ้านกันเถิด
    :- https://visalo.org/article/budBetterLiving.htm
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พุทธศาสนาในประเทศไทย
    พระไพศาล วิสาโล

    พุทธศาสนาที่แพร่หลายในประเทศไทย (ซึ่ง นิยมเรียกว่าเป็นพุทธศาสนาแบบ “เถรวาท” มากกว่า “หินยาน”) มีต้นทางจากประเทศศรีลังกาไม่น้อยกว่า ๘๐๐ ปี ดังนั้นจึงมีลักษณะหลายประเทศคล้ายกับที่นับถือในประเทศศรีลังกา เช่น การแบ่งพระภิกษุเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ อรัญวาสี คือ พระที่อยู่ป่า เน้นด้านการปฏิบัติกรรมฐาน กับ คามวาสี คือ พระที่อยู่เมืองหรือบ้าน เน้นด้านปริยัติ โดยมุ่งศึกษาและรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งทำให้การนับถือพุทธศาสนาของคนไทยมีการแบ่งแยกค่อนข้างชัดเจน ระหว่าง การศึกษาตำรา กับ การปฏิบัติ โดยเฉพาะในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามของบุคคลอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสที่ประสานการศึกษาและปฏิบัติเข้าด้วยกัน และได้รับความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นกระแสรองอยู่


    พระสงฆ์ไทยหากแบ่งเป็นทางการจะมี ๒ นิกาย คือ มหานิกาย กับธรรมยุต นิกายหลังนั้นเกิดขึ้นจากความพยายามปฏิรูปพุทธศาสนาเมื่อ ๑๗๕ ปีที่แล้ว มหานิกายนั้นประกอบด้วยพระสงฆ์ประมาณร้อยละ ๘๐ ของทั้งประเทศ ในความเป็นจริงพระที่ถูกเรียกว่ามหานิกายนั้นหาได้มีแบบแผนการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวไม่ แต่มีความหลากหลายมาก ที่จริงควรเรียกว่า นิกายที่ไม่ใช่ธรรมยุตมากกว่า (non-dhammayut) เพราะมหานิกายเป็นคำที่เกิดขึ้นหลังจากมีคณะธรรมยุตแล้ว ใช้เรียกพระทั้งหมดที่ไม่สังกัดธรรมยุติกนิกายซึ่งในเวลานั้นมีหลากหลาย “นิกาย” มาก แต่ภายหลังได้ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการ (แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่มีแนวปฏิบัติและคำสอนเฉพาะตน แตกต่างจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่) อย่างไรก็ตามในเมืองไทยยังมีพระสงฆ์ที่ไม่ใช่เถรวาทด้วย ได้แก่ พระสงฆ์จีนนิกาย และอันนัมนิกาย แต่เป็นส่วนน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีภิกษุณีซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหลายสิบรูปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากมหาเถรสมาคม

    ปัจจุบันพระสงฆ์ที่สังกัดทั้งสองนิกาย มีแนวทางการปฏิบัติและคำสอนคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างตรงประเด็นปลีกย่อย ดังนั้นประชาชนที่เลือกนับถือพระสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่งจึงมีความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติที่ไม่สู้แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็นับถือพระสงฆ์ทั้งสองนิกาย ไม่มีการแบ่งแยก

    ทั้งมหานิกายและธรรมยุตล้วนอยู่ภายใต้องค์กรสงฆ์เดียวกัน โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข มีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรบริหาร ซึ่งมีตัวแทนของมหานิกายและธรรมยุตจำนวนเท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เหลือได้มาจากการแต่งตั้ง คณะสงฆ์ไทยนั้นได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาล อีกทั้งยังต้องพึ่งอำนาจรัฐในการรักษาเอกภาพในคณะสงฆ์ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรียังมีหน้าที่เสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นสมเด็จพระสังฆราชเพื่อให้พระมหากษัตริย์สถาปนา ดังนั้นคณะสงฆ์กับรัฐจึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ความสัมพันธ์ดังกล่าวจัดว่าเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาไทยเมื่อเทียบกับพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศอื่น ๆ ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ยังเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ อีกทั้งพิธีการของรัฐ มักมีพิธีการทางพุทธศาสนามาเกี่ยวข้อง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยอยู่กลาย ๆ แม้ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

    พุทธศาสนาไทยให้ความสำคัญกับบทบาทของพระสงฆ์มาก ในอดีตพระสงฆ์เป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลก คือไม่เพียงให้การอบรมทางด้านศีลธรรมและการพัฒนาจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ท่านยังสงเคราะห์ประชาชนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษา วัฒนธรรม การแพทย์ และการพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พระสงฆ์มีบทบาทลดน้อยลง(พร้อม ๆ กับปริมาณที่ลดลงด้วย) วัดมิได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนต่อไป โดยเฉพาะในเมือง พระมีบทบาทด้านพิธีกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะงานศพ ด้วยเหตุนี้คำสอนทางพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่น้อยมาก การศึกษาสมัยใหม่ ตลอดจนสื่อมวลชนและระบบเศรษฐกิจซึ่งเน้นความสำเร็จทางโลก เช่น ความมั่งคั่งร่ำรวย มีอิทธิพลมากกว่า ค่านิยมดังกล่าวกลับมามีอิทธิพลต่อพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย ทำให้คำสอนของท่านเน้นความสำเร็จทางโลก มากกว่าการลดละกิเลส หรือการเข้าถึงความสุขทางจิตใจ


     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ชาวพุทธไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการทำบุญมาก การทำบุญในพุทธศาสนานั้นแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัติทางศาสนาของชาวพุทธไทยจะเน้นหนักที่การให้ทาน หรือการประกอบพิธีกรรม มากกว่าการรักษาศีล ดังนั้นในแต่ละปีเงินที่ใช้ในการทำบุญจึงมีเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท แต่ในเวลาเดียวกันวามหย่อนยานในเรื่องศีล โดยเฉพาะศีล ๕ อันเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย ยิ่งการบำเพ็ญภาวนาด้วยแล้ว ยิ่งมีน้อยลงไป อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในเรื่องสมาธิภาวนามากขึ้น มีสำนักปฏิบัติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยก็หันมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมากขึ้น หนังสือเกี่ยวกับธรรมะได้รับความสนใจอย่างมาก จนกลายเป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ขายดีในเมืองไทย

    ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนาแบบฆราวาส คือ การที่ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้นในพุทธศาสนา ขณะที่บทบาทของพระสงฆ์ลดน้อยลง นอกจากครูสอนธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติจะเป็นฆราวาสมากขึ้นแล้ว ฆราวาสที่เป็นผู้นำในพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ช่องว่างระหว่างฆราวาสกับพระมีมากขึ้น ฆราวาสมีความศรัทธาน้อยลงต่อพระสงฆ์ ขณะที่การศึกษาของฆราวาสก้าวหน้ามากขึ้น จนรุดหน้าพระสงฆ์ส่วนใหญ่

    อย่างไรก็ตามยังมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ มีบทบาททั้งด้านปฏิบัติและเผยแผ่ สามารถชักนำให้ฆราวาสหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง มีทั้งพระสงฆ์ในเมืองและพระสงฆ์ในป่า โดยเฉพาะประเพณีการปฏิบัติแบบวัดป่านั้นได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ฆราวาสนักปฏิบัติที่อยู่ในเมือง ในหลายปีที่ผ่านมาจึงมีผู้นิยมไปปฏิบัติในวัดป่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเห็นคุณค่าของการถือเพศพรหมจรรย์อย่างภิกษุ (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยหันมาบวชภิกษุณี) นอกจากนั้นยังมีพระสงฆ์อีกมากที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งการสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากทั้งในเมืองและชนบท

    ในอดีตมีธรรมเนียมว่าผู้ชายที่นับถือพุทธศาสนา เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีจะต้องบวช ก่อนที่จะมีครอบครัว หรือได้ใช้ชีวิตในสมณเพศสักครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ เดือน แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้เลือนหายไปมาก หลายคนแม้จะบวช ก็บวชแค่ ๑๕ วัน หรือน้อยกว่านั้น ขณะที่ผู้ที่บวชนาน ๓ เดือนมีน้อยลงแม้กระทั่งในชนบท เพราะครอบครัวมีลูกน้อยลง (เฉลี่ย ๒ คน) จึงต้องการแรงงานไปช่วยในไร่นาไม่สามารถให้ลูกบวชพระได้นาน

    พุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือนิพพาน อันเป็นผลจากการมีปัญญาเห็นความจริงแจ่มแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงนั้นล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดติดถือมั่น เมื่อจิตปล่อยวางสังขารทั้งปวงได้ ก็เป็นอิสระจากความทุกข์ อย่างไรก็ตามชาวพุทธไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ มุ่งหวังเพียงแค่ความสำเร็จในทางโลก หรือประโยชน์ปัจจุบันที่จับต้องได้ เช่น ทรัพย์ สุขภาพ งานการ และครอบครัว รวมทั้งปลอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง รองลงมาคือ การมีชีวิตหน้าที่ผาสุกหรือเป็นสุคติ เช่น บังเกิดในสวรรค์ มีส่วนน้อยที่มุ่งนิพพาน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน การมีนิพพานเป็นเป้าหมาย ได้กลายเป็นอุดมคติของชาวพุทธจำนวนมากขึ้น รวมทั้งฆราวาสชนชั้นกลางที่มีการศึกษา แม้ว่าแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานนั้น ยังมีความแตกต่างกันอยู่
    :- https://visalo.org/article/budThai.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ไปสอนกรรมฐานที่เมืองจีน
    พระไพศาล วิสาโล

    ฝูติ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เรียกว่าอยู่ปลายอ้อปลายแขมของมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน แต่วันนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีตึกสูงนับสิบชั้นผุดขึ้นมามากมาย ที่กำลังเร่งก่อสร้างก็มีอยู่ไม่น้อย รวมทั้งคอนโดมิเนียมหรูที่เกาะกลุ่มกันเป็นเมืองน้อย ๆ เบื้องหน้าคือถนนแปดเลนเพิ่งตัดเสร็จได้ไม่นานเพื่อรองรับรถยนต์ที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูงก็เพิ่งเปิดใช้ได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง


    เมืองเล็กเมืองน้อยทุกเมืองที่เห็นตลอด ๓ ชั่วโมงบนรถไฟ ล้วนกำลังขยายตัวเติบใหญ่อย่างฝูติ่งทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองจีน ทั้ง ๆ ที่จีนพัฒนาเศรษฐกิจช้ากว่าเมืองไทยถึง ๒๐ ปี แต่ตอนนี้ล้ำหน้าเมืองไทยไปหลายด้านแล้ว รถไฟที่พาคณะของเราไปยังเมืองฝูติ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของความล้ำหน้า นอกจากจะแล่นด้วยความเร็วสูงถึง ๒๐๐ กม/ชม.แล้ว ยังนั่งสบายและเงียบราวกับรถไฟชิงกันเซ็นของญี่ปุ่น แถมยังมีภาพยนตร์ให้ดูตลอดเส้นทางด้วย

    คณะของเราซึ่งประกอบด้วยพระ ๓ รูปมาเมืองจีนครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อท่องเที่ยวหรือทัศนศึกษา แต่ได้รับนิมนต์ให้มาสอนกรรมฐานแก่คนจีน ผู้จัดนั้นเป็นชาวจีนที่ศรัทธาการเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งใช้อิริยาบถการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความรู้สึกตัว ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการจัดอบรมกรรมฐานอย่างต่อเนื่องมา ๔-๕ ปีแล้ว และได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จนปีหนึ่ง ๆ ต้องจัด ๔ ครั้ง หรือทุก ๓ เดือน โดยนิมนต์อาจารย์กรรมฐานจากเมืองไทยไปสอน ในช่วง ๒-๓ ปีหลัง มีชาวจีนหลายคนสนใจถึงกับเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโตปีละหลายคณะ แต่ละคณะอยู่นานเป็นเดือน ที่ลงทุนบวชพระและบวชชีก็มีไม่น้อย บางคนยังบวชจนกระทั่งบัดนี้
    IMG_2592.jpg
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    การที่ชาวจีนจำนวนมากสนใจการปฏิบัติธรรม ดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีน แต่จะว่าไปแล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะยิ่งมีความพร้อมพรั่งสะดวกสบายทางวัตถุมากเท่าใด ก็จะพบว่าความสุขทางวัตถุมีข้อจำกัด ไม่สามารถให้ความพึงพอใจแก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง และยิ่งดิ้นรนขวนขวายหาเงิน จิตใจก็ยิ่งเครียด เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ทำให้ต้องแสวงหาทางดับทุกข์ในจิตใจ ล่ามจีนเล่าให้ฟังว่าระยะหลังการอบรมอย่างหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมมาก คือ การอบรมแบบ E.Q. ซึ่งช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย และสามารถดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจศาสนาได้มากมาย

    อย่างไรก็ตามมีคนจีนไม่น้อยที่ยังสนใจศาสนาอยู่ เห็นได้จากความนิยมเข้าคอร์สกรรมฐาน ซึ่งปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะได้แก่การปฏิบัติตามแนวโคเอ็นก้า ซึ่งจัดต่อเนื่องในจีนมานานนับสิบปีแล้ว น่าแปลกก็ตรงที่แนวทางของหลวงพ่อเทียนก็ได้รับความนิยมไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในเมืองไทยเท่าใดนัก

    กว่าคณะของเรามาถึงวัดจือกั๊วก็ค่ำแล้ว เช้ามืดของวันรุ่งขึ้นก็ทำงานเลย การปฏิบัติธรรมเริ่มต้นตั้งแต่ตี ๕ หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงก็เป็นการบรรยายธรรม ตลอดเจ็ดวันของการอบรม ( ๒๙ เมษายน-๕ พฤษภาคม) มีบรรยายเพียงวันละครั้ง ๆ ละหนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็เป็นการปฏิบัติล้วน ๆ โดยใช้สองอิริยาบถหลัก คือ เดินจงกรม กับ นั่งยกมือเคลื่อนไหว โดยให้มีสติอยู่กับกาย หากใจคิดนึก ก็ให้รู้ทัน แล้วพาใจกลับมาที่กายดังเดิม บ่ายสามโมงครึ่งเป็นช่วงตอบคำถามของนักปฏิบัติ จากนั้นก็ปฏิบัติต่อจนถึงสองทุ่มครึ่ง โดยมีเวลาพักสำหรับอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ซึ่งล้วนเป็นอาหารเจ

    ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมนั้นมีทั้งสิ้น ๑๗๐ คนซึ่งนับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา ทีแรกนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะมีแต่นักปฏิบัติวัยกลางคนหรือค่อนไปทางผู้ชรา แต่ปรากฏว่ามากกว่าครึ่งเป็นคนวัยอายุ ๓๕ ลงมา คนเหล่านี้มีการศึกษาสูง งานดี และเงินคงดีด้วย แต่ยอมสละเวลาร่วม ๑๐ วันมาปฏิบัติธรรม ที่เป็นนักศึกษาก็มีไม่น้อย แม้แต่วัยรุ่นก็มาด้วย อายุต่ำสุดคือ ๑๔ ปี ที่มากันเป็นกลุ่มก็มาก รวมทั้งมาเป็นครอบครัว หรือพาคู่รักมาด้วย ที่น่าประทับใจคือ ส่วนใหญ่แล้วตั้งใจปฏิบัติตลอดทั้งวัน โดยปิดวาจา ไม่พูดคุยกัน (ส่วนการคุยโทรศัพท์นั้น ตัดไปได้เพราะผู้จัดยึดเอาไว้หมด) อันที่จริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพใช้ความคิด ดังนั้นหลายคนจึงฟุ้งซ่านจนเครียด แต่นั่นก็ช่วยให้เห็นชัดว่าความคิดมันเป็นนายเรา หาใช่เราเป็นนายความคิดไม่ จะว่าไปแล้วคนเราส่วนใหญ่ทุกข์ก็เพราะความคิดที่คุมไม่ได้นั่นเอง หาใช่เพราะคนอื่นหรือสิ่งนอกตัวไม่

    ในช่วงตอบคำถามนั้น ส่วนใหญ่จะถามเรื่องการปฏิบัติ ซึ่งหนีไม่พ้นการเพ่งและกดข่มความคิด ซึ่งทำให้เครียดหนักขึ้น ที่จริงเพียงแต่รู้หรือดูความคิดเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ความคิดก็หายไปเอง แต่วันหลัง ๆ ก็เริ่มมีนักปฏิบัติหลายคนมาขอปรึกษาหรือซักถามนอกรอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาครอบครัว เช่น ความขัดแย้งระหว่างแม่กับลูก ซึ่งเกิดขึ้นมากกับคนเมืองโดยเฉพาะคนที่มีฐานะการเงินดี ทำให้เครียดทั้งสองฝ่าย น่าสังเกตว่าวัยรุ่นหลายคนยอมรับว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีปัญหาทางจิตใจ คงเนื่องจากแรงกดดันในครอบครัวซึ่งก็ถูกกดดันอีกต่อหนึ่งจากสังคมที่ถือคติตัวใครตัวมันมากขึ้น บางคนก็มาปรึกษาเพราะวิตกกังวลเรื่องกิจการ ทั้ง ๆ ที่เป็นเจ้าของกิจการที่มั่นคง แต่ก็ทุกข์เพราะห่วงว่ากิจการจะไม่รุ่งเหมือนเดิม หรือเพราะไม่มั่นใจลูกน้องที่ให้ดูแลกิจการแทน ปัญหาเหล่านี้จะว่าไปไม่ได้ต่างจากที่เกิดกับคนไทยเลย มองในแง่นี้จีนก็กำลังวิ่งตามเมืองไทยซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาครอบครัวและปัญหาจิตใจนานาชนิด
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    จากคำถามและความคิดเห็นของนักปฏิบัติ ทำให้ตระหนักว่าหลายคนสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมานาน และไม่ได้สนใจปฏิบัติเพียงเพื่อหายเครียดเท่านั้น แต่ยังหวังบรรลุธรรมด้วย มีบางคนคิดจะลาออกจากงาน หาที่ปฏิบัติธรรมสักแห่ง โดยจะพาพ่อแม่ไปอยู่ด้วย ทั้งนี้ตั้งใจว่าจะปฏิบัติจนหลุดพ้น เขาเชื่อมั่นว่าการเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน เป็นหนทางที่จะพาเขาพบกับความสิ้นทุกข์ได้ คำถามของคนเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ของใหม่สำหรับพวกเขา แม้ว่าเขาจะเกิดและเติบโตมาภายใต้การปกครองแบคอมมิวนิสต์ก็ตาม

    ทุกวันข้าพเจ้าจะเดินจากที่พักไปยังตึกที่จัดปฏิบัติธรรมวันละหลายเที่ยว ทุกครั้งก็จะผ่านวิหารหลังใหญ่ซึ่งมีพระพุทธรูปสลักไม้ขนาดใหญ่สูงนับ ๑๐ เมตรเป็นประธานสามองค์ตามคติมหายาน ที่นั่นจะมีคนมากราบไหว้และขอพรเกือบทั้งวัน ทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยวและคนวัด ซึ่งล้วนเป็นผู้เฒ่าทั้งสิ้น ผู้เฒ่าเหล่านี้ทางวัดสร้างตึกให้อยู่โดยเฉพาะ แต่ไม่ได้อยู่ฟรี ต้องจ่ายค่าห้อง สามารถอยู่ได้จนตาย จะเรียกว่าบ้านพักคนชราก็ไม่ผิด ชวนให้คิดต่อว่าสาเหตุที่ผู้เฒ่าย้ายมาอยู่วัด เป็นเพราะลูก (ซึ่งมักจะมีแค่คนเดียว)ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ (หรืออยากให้พ่อแม่อยู่แยกจากครอบครัวของตน) หรือเป็นเพราะพ่อแม่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายใกล้ศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าผู้เฒ่าเหล่านี้จะมีความสุขดี เพราะมีเพื่อนคุยรุ่นราวคราวเดียวกัน อีกทั้งยังได้ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ บางวันผู้เฒ่าเหล่านี้รวมกลุ่มเอ่ยพระนามพระอมิตาภะซ้ำไปซ้ำมาดังก้องทั้งตึกตั้งแต่ตีห้าจนเช้า แสดงให้เห็นว่าความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบประเพณี ยังไม่ขาดตอน แม้จะถูกขวางกั้นหรือถึงกับบ่อนทำลายโดยรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์มานานหลายทศวรรษก็ตาม

    ภาพคนร่วม ๒๐๐ คนกำลังเดินจงกรมอยู่บนระเบียงตึก ขณะที่ข้างล่างผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งจุดธูปสวดมนต์ขอพรจากพระอมิตาภะในวิหาร เป็นภาพที่ตัดกัน แม้ไม่ถึงกับขัดแย้งกัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการนับถือพุทธศาสนาสองแบบ แบบหนึ่งเน้นการฝึกตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ อีกแบบหนึ่งเน้นอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้จะมีเนื้อหาต่างกันแต่ก็ล้วนเป็นผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน กล่าวคือในด้านหนึ่งมันทำให้ผู้คนมีความเครียดมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ทำให้รู้สึกหวั่นไหวต่อความไม่แน่นอน หรืออยากร่ำรวยมั่งมีศรีสุขมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยหันไปหาคำตอบจากศาสนา เป็นแต่ว่าสิ่งที่ปรารถนานั้นแตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ชี้ว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะพัฒนามากมายเพียงใด เทคโนโลยีวิทยาการก้าวไกลแค่ไหน ศาสนาก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่นั่นเอง จะว่าไปแล้วศาสนาล้วนเป็นที่ต้องการทุกยุคทุกสมัย แม้ในบางช่วงจะมีความพยายามทำลายกวาดล้างศาสนาเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถกำจัดให้สูญสิ้นไปได้ ไม่ช้าก็เร็วศาสนาก็จะงอกงามขึ้นมาใหม่ และเป็นที่เสาะแสวงของผู้คน ควบคู่กับการปรุงแต่งให้สอดคล้องกับความต้องการของตน ใช่หรือไม่ว่าศาสนาจะยังอยู่คู่กับมนุษย์ไปอีกนาน แต่จะอยู่ในรูปใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    china03.jpg
    :-https://visalo.org/article/budChina.htm
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เซ็กส์ กับ พุทธ
    พระไพศาล วิสาโล

    มองในแง่ของการแพร่พันธุ์ การมีเซ็กส์ของมนุษย์แต่ไหนแต่ไรมานับว่าเป็นความพยายามที่สิ้นเปลืองเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่สูญเปล่า เพราะมนุษย์มีเซ็กส์โดยไม่ล่วงรู้หรือสนใจเลยว่าฝ่ายหญิงนั้นอยู่ในภาวะที่พร้อมจะมีลูกหรือไม่ จะว่าไปแล้วการมีเซ็กส์ของมนุษย์ทั้งชายและหญิงเกิดขึ้นได้ทุกวันแม้ว่าจะเป็นช่วงที่ฝ่ายหลังไม่ได้อยู่ในระยะตกไข่ ซึ่งต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่การมีเซ็กส์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อตัวเมียพร้อมจะให้การปฏิสนธิเท่านั้น โดยฝ่ายหลังนอกจากจะรู้ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีอาการหรือพฤติกรรมที่ตัวผู้ทั้งหลายสามารถรับรู้ได้ เช่น มีอาการบวมแดงที่อวัยวะเพศ หรือส่งกลิ่นให้รู้ รวมทั้งหันอวัยวะเพศให้ ดังกรณีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่ออยู่ในช่วงเป็นสัด ดังนั้นการมีเซ็กส์แต่ละครั้งจึงมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการปฏิสนธิมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดชีวิตใหม่และการแพร่พันธุ์ต่อไป


    แต่มองในอีกแง่หนึ่งถึงแม้ว่าการมีเซ็กส์ส่วนใหญ่ของมนุษย์จะไม่ก่อให้เกิดชีวิตใหม่ แต่การที่ร่างกายของทั้งฝ่ายหญิงและชายพร้อมจะมีเซ็กส์ได้ไม่ว่าวันไหนของปี ก็มีส่วนทำให้เกิดการผูกพันกันเป็นคู่และอยู่ด้วยกันอย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แทนที่จะมีเซ็กส์เฉพาะในฤดูติดสัดแล้วก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทางหลังจากหมดสัดแล้ว ซึ่งเท่ากับปล่อยให้ตัวเมียเป็นฝ่ายดูแลลูกที่เกิดมาหลังจากนั้นฝ่ายเดียว การอยู่ด้วยกันเป็นคู่ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นมีความสำคัญสำหรับการดูแลลูกน้อยที่เกิดมาเพื่อให้เติบใหญ่จนพึ่งตนเองได้ เพราะมนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องการการดูแลอย่างมากและเป็นระยะเวลานานหลังจากคลอดออกมาแล้ว หากปราศจากการดูแลอย่างครอบครัวแล้ว การแพร่พันธุ์ของมนุษย์คงเป็นไปได้ยาก

    อย่างไรก็ตามยังเป็นที่ถกเถียงว่าเซ็กส์จำเป็นแค่ไหนสำหรับการสร้างความผูกพันให้อยู่เป็นคู่ เพราะชะนีก็อยู่เป็นคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวนานเป็นปี ๆโดยไม่มีเซ็กส์เลย ตรงกันข้ามกับชิมแปนซีกับโบโนโบ ญาติที่ใกล้ชิดของมนุษย์ แม้มีเซ็กส์บ่อยกว่ามนุษย์แต่ก็ไม่ได้ผูกพันกันเป็นคู่เลย ประเด็นนี้เห็นจะต้องปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์หาคำตอบต่อไป 1

    แต่ถึงแม้ยังหาคำตอบได้ไม่แน่ชัดว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เซ็กส์ของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น และมันมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์นอกเหนือจากการเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นมา แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเซ็กส์เป็นที่มาแห่งความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงมีเซ็กส์ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ได้ก่อให้เกิดชีวิตใหม่แต่อย่างใด เช่น การมีเซ็กส์ขณะตั้งครรภ์ หรือหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงการมีเซ็กส์กับเพศเดียวกัน จะว่าไปแล้วการมีเซ็กส์ส่วนใหญ่ในเวลานี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดลูกด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ถุงยางหรือการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่สัมพันธ์กันฉันคู่รัก

    เซ็กส์มิใช่สิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของบุคคลก็จริง แต่มันเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วทั้งโลกโหยหา เพราะมันมีเสน่ห์ดึงดูดใจในฐานะที่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ว่า เราไม่ได้ต้องการแค่อยู่รอดเท่านั้น หากยังต้องการความสุขด้วย สำหรับคนทั่วไป หากเพียงแค่อยู่รอด แต่ไร้ความสุข ชีวิตจะมีประโยชน์อะไร แม้แต่นักโทษในเรือนจำ ทั้ง ๆ ที่มีปัจจัยสี่ครบถ้วน ก็ยังต้องดิ้นรนแสวงหาความสุข และความสุขอย่างหนึ่งที่เขาดิ้นรนไขว่คว้า รองลงมาจากอิสรภาพก็เห็นจะได้แก่เซ็กส์นั่นเอง

    ความสุขที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคย คือความสุขที่เกิดจากการเสพทางประสาททั้งห้า ซึ่งพุทธศาสนาเรียกรวม ๆ ว่า กามสุข เทียบกับกามสุขชนิดต่าง ๆ แล้ว เซ็กส์เป็นความสุขที่สิ้นเปลืองและอันตรายอย่างมาก อาจจะถึงมากที่สุด(หากไม่นับสิ่งเสพติดทั้งหลาย) นี้อาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกมีเซ็กส์เท่าที่จำเป็น คือมีเซ็กส์เพื่อการแพร่พันธุ์หรือเมื่อตัวเมียเป็นสัดเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการผลิตน้ำเชื้อนั้นใช้พลังงานของตัวผู้ไปไม่น้อย (หนอนที่มีการกลายพันธุ์จนลดการผลิตน้ำเชื้อจะมีชีวิตยืนยาวกว่าหนอนทั่วไป) นอกจากนั้นเซ็กส์นั้นทำให้เสียเวลาหากิน และอาจเป็นเป้านิ่งให้ศัตรูทำร้ายได้ขณะที่กำลังมีเซ็กส์ ยังไม่ต้องพูดถึงการแก่งแย่งตัวเมียหรือผู้หญิงซึ่งอาจทำให้เกิดการต่อสู้จนพิกลพิการ สำหรับมนุษย์เซ็กส์มีอันตรายมากกว่านั้น เพราะสามารถทำให้ช็อคหรือหัวใจวายตายคาเตียงได้ ยิ่งกว่านั้นยังอาจผลักดันให้ทำผิดทำนองคลองธรรมหรือกฎเกณฑ์ (เช่น มีชู้กับคู่ครองของคนอื่น มีเซ็กส์ต้องห้าม หรือข่มขืนใจผู้อื่น) หรือไม่ก็เป็นเหตุให้มีการทำร้ายกันเมื่ออีกฝ่ายนอกใจ ซึ่งอาจหมายถึงความตายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้

    จริงอยู่เซ็กส์เป็นบ่อเกิดหรืออยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจทางศิลปวิทยาของมนุษย์มากมายหลายประการ โดยเฉพาะวรรณกรรม ดนตรี ศิลปกรรม ซึ่งให้ความเพลิดเพลินแก่มนุษย์ ยังไม่ต้องพูดถึงความสุขใจเมื่อได้มีเซ็กส์สมปรารถนา แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถสร้างความทุกข์แก่ผู้คนได้มากมาย ไม่เพียงความทุกข์ทางกายดังได้กล่าวมาเท่านั้น หากยังรวมถึงความทุกข์ทางใจ เริ่มตั้งแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวายเมื่อเกิดความปรารถนาทางเพศ การดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อสนองความปรารถนาให้สมอยาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อแย่งชิงหรือหว่านล้อมชักชวนให้มาเป็นของตน ขณะที่ยังไม่ได้มาก็กระสับกระส่าย เคร่งเครียด หากผิดหวังก็ทุกข์ระทม โกรธแค้น อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองและผู้อื่น แต่ถึงแม้จะสมปรารถนาก็ใช่ว่าจะไม่มีทุกข์ เพราะเมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาด้วยความหวงแหน พยายามป้องกันกีดขวางมิให้คนอื่นแย่งชิงไป ขณะเดียวกันก็มีความวิตกกังวลว่าจะต้องสูญเสียไป ไม่มั่นใจหรือถึงกับหวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะทิ้งตนไปเมื่อใด ต้องเหนื่อยกับการรักษาความผูกพันเอาไว้

     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการพยายามให้มีสุขสมอยากจากเซ็กส์อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อได้เสพสัมผัสนาน ๆ รสชาติแห่งเพศรสที่เคยเร้าใจก็เริ่มจางคลาย ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อรักษารสชาตินั้นเอาไว้ มีการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ไม่ซ้ำเดิม จนอาจถึงขั้นวิปริตพิสดาร เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ก็หนีความเบื่อหน่ายไม่พ้น ในที่สุดก็รู้สึกไม่พอใจในคู่ของตน อยากหาคนใหม่มาตอบสนองความต้องการ แต่ความพอใจนั้นก็มักจะไม่ยั่งยืน ไม่ช้าไม่นานก็สอดส่ายมองหาคนใหม่อีก เป็นเช่นนี้ไม่จบสิ้น ยิ่งมีข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ เช่น กฎหมาย ศีลธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถสนองความต้องการอย่างสมอยาก ก็ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้น อาจถึงขั้นระบายความทุกข์ใส่คนอื่น หรือแสวงหาทางออกที่ผิดเช่นเข้าหาอบายมุขสิ่งเสพติด แต่หากสามารถแก้ปัญหาได้ ก็สุขเพียงชั่วคราวเพื่อกลับมาทุกข์ใหม่ เป็นวัฏจักรแห่งสุขและทุกข์ที่หมุนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า


    เซ็กส์มีคุณก็จริงแต่มีโทษไม่น้อย เช่นเดียวกับกามสุขอื่น ๆ พระพุทธเจ้าอุปมากามสุข (ซึ่งรวมถึงเซ็กส์)ว่า เหมือนกับ การจุดไฟโดยใช้หญ้าและไม้เป็นเชื้อ แม้มันจะให้แสงสว่าง แต่ก็ไม่เจิดจ้า เพราะมีควัน ซึ่งไม่เพียงบดบัดแสงให้หมองมัว หากยังทำให้ระคายเคืองด้วย ในบางที่ยังทรงเปรียบว่า เหมือนกับคบเพลิงทำด้วยหญ้าที่บุคคลถือทวนลม แม้จะให้แสงสว่าง แต่หากถือไว้นาน ๆ มันก็จะไหม้มือไหม้แขนและอวัยวะต่าง ๆ อาจทำให้ถึงตายได้

    จะว่าไปแล้วปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่เซ็กส์มากเท่ากับท่าทีหรือการปฏิบัติของเราต่อมัน เช่นเดียวกับคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้า หากเราถือไว้ไม่ยอมปล่อย มันย่อมเป็นอันตรายต่อเราฉันใด เซ็กส์ก็ฉันนั้น หากเราหมกมุ่นหลงใหลมัน ไม่รู้จักปล่อยวาง มันก็ย่อมก่อโทษแก่ชีวิตเราทั้งกายและใจ พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเซ็กส์ เพราะเห็นว่ามันเป็นที่มาแห่งความสุขซึ่งปุถุชนย่อมมีใจใฝ่ปรารถนา และยากจะหลีกหนีพ้นจากมันได้ แต่เมื่อจะเกี่ยวข้องกับมันแล้ว ก็ควรเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง คือไม่ให้มันเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อาทิเช่น มีเซ็กส์กับคู่ครองของตนเท่านั้น ไม่ล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น ตลอดจนรู้ประมาณในการมีเซ็กส์ ไม่หมกมุ่นมัวเมาแม้กระทั่งกับคู่ครองของตนจนไม่เป็นทำกิจการงาน

    แนวทางดังกล่าวเรียกว่าศีล ซึ่งเน้นการควบคุมหรือกำกับพฤติกรรม แต่ศีลนั้นไม่อาจทำให้เราเกี่ยวข้องกับเซ็กส์ในขอบเขตที่ควรได้อย่างแท้จริง หากว่าใจของเรานั้นยังโหยหาหรือหลงใหลครุ่นคิดถึงมันเป็นนิจ ดังนั้นนอกจากศีลแล้ว การฝึกฝนทางจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การฝึกใจให้มีแรงกดข่มราคะหรืออดกลั้นต่ออารมณ์ปรารถนาเท่านั้น อันที่จริงหากทำเพียงแค่นั้นก็มีแต่ส่งเสริมให้มันก่อกวนจิตใจไม่หยุดหย่อน เพราะอะไรก็ตามที่ถูกกดข่ม มันย่อมผุดโผล่รบกวน เหมือนลูกยางบนผิวน้ำ ยิ่งเรากดให้จมน้ำ มันก็ยิ่งมีกำลังพุ่งขึ้นมาจากน้ำ จริงอยู่เมื่อกดข่มอารมณ์ทางเพศอาจหายไปชั่วขณะ แต่ก็จะกลับมารังควานใหม่ในยามเผลอ หาไม่ก็ทดเทิดระบายออกในทางอื่นซึ่งมักเป็นโทษไม่น้อยกว่ากัน

    แทนที่จะมุ่งกดข่มมันอย่างเดียว สิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ ทำให้จิตโหยหาความสุขจากเซ็กส์น้อยลง นั่นคือ การเข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่า เช่น ความสุขที่เกิดจากความสงบ เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิ ปลอดโปร่ง แจ่มใส เป็นอิสระ ซึ่งต่างจากความสุขทางเพศ ที่ต้องอาศัยการเร้าจิตกระตุ้นกาย แฝงด้วยความเครียดและความร่านรน รวมทั้งความยึดติดใฝ่ครอบครอง เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องการความสุขหล่อเลี้ยงใจ ตราบใดที่ไม่พบความสุขที่ดีกว่า เราย่อมหลงใหลติดพันความสุขจากกามคุณรวมทั้งจากเซ็กส์ แต่เมื่อได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีต ซึ่งเป็นความสงบ รำงับ ผ่อนคลายทั้งกายและใจ การพึ่งพิงความสุขจากเซ็กส์ก็จะน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะได้พบสิ่งที่ดีกว่า อีกส่วนหนึ่งเพราะเห็นโทษของมันชัดขึ้น ที่สำคัญก็คือจิตใจเป็นทุกข์หรือถูกบีบคั้นน้อยลง เหมือนคนที่เคยกระหายน้ำ เมื่อได้ดื่มน้ำสะอาด ก็จะถวิลหาน้ำสีจัดจ้านน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่ามันมีโทษต่อร่างกาย ตรงกันข้ามกับคนที่หิวน้ำ และไม่เคยมีน้ำสะอาดมาดับกระหายเลย ย่อมหลงใหลในน้ำสีชวนมอง แม้จะรู้หรือมีคนบอกว่าน้ำนั้นมีโทษต่อร่างกาย แต่ก็ยากจะหักห้ามใจได้ เพราะกำลังทุกข์เพราะความหิวกระหาย ที่จริงอย่าว่าแต่น้ำสีเลย แม้น้ำขุ่นข้นในปลัก ก็พร้อมจะเข้าไปวักดื่มโดยไม่สนใจอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมา

    ความสุขที่ประณีตมีหลายระดับ อย่างพื้น ๆ ที่เข้าถึงง่าย คือความสุขจากความสงบเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงัด ความสุขเพราะอิ่มเอิบที่ได้ทำความดี ความสุขจากมิตรภาพอันอบอุ่นสูงขึ้นไปกว่านั้นก็คือความสุขจากสมาธิภาวนา เมื่อจิตสงบรำงับ ไร้ความว้าวุ่นฟุ้งซ่าน มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไปจนถึงความสุขจากฌานหรือสมาธิขั้นสูง ซึ่งเรียกว่าฌานสุข ซึ่งเป็นสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอก เป็นสุขที่ให้ความอิสระอย่างยิ่ง

    ความสุขประณีตดังกล่าวปุถุชนคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แม้ยังมีชีวิตคู่และมีความสุขจากเซ็กส์อยู่ แต่ใจก็ไม่ลุ่มหลงติดพันจนเป็นทาสของมัน ไม่ดิ้นรนแส่ส่ายเพื่อเสพมันไม่หยุดหย่อน หากแต่เกี่ยวข้องกับมันอย่างรู้จักประมาณและอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม ไม่ก่อปัญหาแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกดข่มหรือฝืนทนด้วยความทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขจากเซ็กส์จะมีเสน่ห์น้อยลงเมื่อเราได้สัมผัสกับความสุขประณีต พระพุทธองค์เปรียบบุคคลที่บริโภคกามคุณโดยไม่หลงใหลว่า เป็นเสมือนเนื้อป่าที่นอนทับบ่วงที่พรานวางเอาไว้ แต่ตัวไม่ติดบ่วง

    อุปมาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในทัศนะของพุทธศาสนา คนที่เกี่ยวข้องกับกามคุณ(และเซ็กส์)โดยไม่ติดพันหรือเป็นทาสของมันนั้น มีอยู่ เป็นไปได้ และเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่างไรก็ตามพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เราสามารถทำได้มากกว่านั้น คือสามารถเข้าถึงความสุขประณีตอย่างสมบูรณ์จนจิตไม่ปรารถนาความสุขจากกามอีกต่อไป รวมทั้งไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเพศรสเลยแม้แต่น้อย ทำให้ปลอดพ้นจากโทษภัยของมันอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นอิสระอย่างเต็มที่ อุปมาเหมือนเนื้อป่าที่เที่ยวไปในป่าใหญ่อย่างอิสระ ปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ต้องระวังภัย เพราะอยู่ไกลจากนายพราน

    บุคคลกลุ่มหลังนี้แหละที่พระองค์ทรงดำริถึงเมื่อทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา กล่าวคือเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการเข้าถึงความสุขอันสงบเย็นเป็นอิสระได้มาฝึกฝนอบรมตนโดยมีวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อจุดมุ่งหมายดังกล่าว ชุมชนที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นนั้นมีเงื่อนไขประการหนึ่งก็คือการละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการแสวงหาความสุขจากเพศรสด้วยสัมผัสทางกาย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมาชิกในชุมชนนี้ใช้ความเพียรพยายามอย่างเต็มที่ในการเข้าถึงความสุขประณีตมาทดแทน หาไม่แล้วหากเปิดโอกาสให้มีความสุขจากเพศรสอย่างฆราวาส ก็อาจจะจะข้องแวะกับมันจนติดเพลินและละเลยการฝึกตนเพื่อเข้าถึงความสุขอันประณีต อันเป็นจุดหมายสำคัญของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น ความขัดแย้งในชุมชนสงฆ์เพราะแย่งชิงคู่ครอง ความไม่สามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างเต็มที่เพราะมีภาระด้านครอบครัว รวมไปถึงความไม่พอใจของญาติโยมเมื่อเห็นปัจจัยสี่ที่ตนถวายถูกนำไปใช้ในทางส่วนตัว เช่น เลี้ยงดูคู่รักหรือลูกที่เกิดมา ฯลฯ

     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาอยู่เองที่ในชุมชนที่มีเงื่อนไขแบบนี้ หากละเลยหรือไม่ประสบความสำเร็จในการฝึกฝนจิตใจให้เข้าถึงความสุขอันประณีต เช่น สุขจากสมาธิ หรือความสงบเย็นจิตใจก็จะยิ่งเป็นทุกข์เพราะสุขจากเพศรสก็ไม่ได้ประสบสัมผัส จิตใจที่เหี่ยวแห้งและเคร่งเครียดเช่นนี้ย่อมโหยหาความสุขจากเพศรสหนักขึ้น อาจจะยิ่งกว่าฆราวาสซึ่งยังมีความสุขจากเพศรสมาหล่อเลี้ยงใจด้วยซ้ำ ผลที่ตามมาก็คือการหวนไปหาเซ็กส์ หากหวนด้วยการสึกไปเป็นฆราวาส ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้ากลับไปเสพเพศรสขณะที่เป็นภิกษุ ก็จะเกิดผลเสียตามมาทั้งต่อตนเองและคณะสงฆ์ รวมทั้งศรัทธาของญาติโยมที่มุ่งหวังให้ท่านเป็นแบบอย่างของผู้พากเพียรเพื่อจิตที่เป็นอิสระเหนือโลก หรืออย่างน้อย ๆ ก็เป็นแบบอย่างในทางชีวิตพรหมจรรย์


    อันที่จริงแม้จะไม่ยอมหวนไปหาเซ็กส์ แต่หากไม่สนใจหรือไม่สามารถเข้าถึงความสุขประณีตในระหว่างที่เป็นพระเลย พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญ ทรงถือว่าตกต่ำย่ำแย่กว่าฆราวาส ซึ่งอย่างน้อยก็ยังมีความสุขอย่างหยาบ ๆ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ทรงอุปมาภิกษุเช่นนี้เหมือนดุ้นฟืนเผาผี ที่ถูกไฟไหม้ปลายทั้งสองจนดำเป็นถ่าน ส่วนตรงกลางก็เปื้อนคูถ ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยไม่ว่าในบ้านหรือในป่า

    ควรกล่าวด้วยว่าสำหรับบุคคลประเภทหลังนี้ไม่ว่าเป็นพระหรือฆราวาส สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ไม่กลับไปหาเซ็กส์ ก็คือการกดข่มความรู้สึกทางเพศจนถึงกับรู้สึกรังเกียจต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การกดดันบีบคั้นร่างกายของตน (ที่ถึงกับตัดอวัยวะเพศก็มีอยู่) วิธีการดังกล่าวพุทธศาสนาถือว่าเป็นการเบียดเบียนตน อีกทั้งยังสร้างปมทางจิตใจที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความสุขอันประณีต 2

    สรุปก็คือ สำหรับฆราวาสที่ยังเกี่ยวข้องกับเซ็กส์อยู่ ก็ควรเข้าถึงความสุขประณีตด้วย เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงในเซ็กส์จนเป็นทาสของมัน ส่วนพระก็ควรฝึกฝนตนจนมีความสุขประณีตมาทดแทนความสุขจากเซ็กส์ แม้ไม่เกี่ยวข้องกับมัน จิตใจก็แจ่มใส แช่มชื่น เบิกบาน อันเป็นผลจากสุขประณีตนั้น อันที่จริงแม้แต่ฆราวาส พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำให้ลองว่างเว้นจากการมีเซ็กส์บ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ตนได้พบกับความสุขที่ไม่ต้องอิงเซ็กส์ ด้วยเหตุนี้จึงมีบัญญัติเกี่ยวกับอุโบสถศีลหรือศีล ๘ โดยงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละครั้ง(ทุกวันพระ) หรือไม่ก็ถือปฏิบัติทุกวันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    ในกระบวนการฝึกฝนจิตเพื่อให้เข้าถึงความสุขประณีตนั้น สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากก็คือ การฝึกจิตเพื่อรับมือกับอารมณ์ทางเพศที่แวะเวียนเข้ามา นอกจากการมีสติรู้ทันมัน ไม่กดข่มมันด้วยความรู้สึกรังเกียจต่อต้านผลักไสแล้ว วิธีหนึ่งที่นิยมก็คือการพิจารณาให้เห็นถึงความไม่งามของร่างกาย ทั้งด้วยการนึกภาพถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ผิวอันดูสวยงาม หรือพิจารณาถึงร่างกายที่เน่าเปื่อยเมื่อเป็นซากศพ วิธีการดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกว่าร่างกายนั้นน่าเกลียดจนไม่รู้สึกหวงแหนหรืออยากครอบครองใกล้ชิด แต่พึงตระหนักว่านั่นเป็นอุบายเพื่อระงับหรือบรรเทาราคะชั่วขณะ มิใช่เป็นการรื้อถอนราคะออกไปจากใจอย่างสิ้นเชิง การทำเช่นนั้นเรียกว่าวิธีสมถะ คือทำให้ใจสงบจากกิเลสเป็นครั้งคราว

    การปลดเปลื้องใจให้เป็นอิสระจากราคะอย่างสิ้นเชิงนั้น มิได้เกิดจากการเห็นร่างกายนั้นน่าเกลียด แต่เกิดจากการเห็นว่าร่างกายนั้นไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ที่จะยึดถือได้ ไม่อาจหวังความสุขจากร่างกายนี้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับจิตซึ่งตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)เช่นเดียวกัน การเห็นดังกล่าวมิได้เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการมีปัญญาแจ่มแจ้งถึงใจ ไม่ใช่รู้จำ แต่รู้แจ้ง เกิดขึ้นจากวิธีที่เรียกว่าวิปัสสนา ปัญญาเช่นนี้ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น คือเห็นมันเป็นธรรมดา ไม่มีบวกไม่มีลบ เพราะบวกหรือลบ สวยหรืองามนั้น เกิดจากการตีค่าหรือให้ความหมายของมนุษย์เอง ธรรมชาติไม่รับรู้ด้วย เพราะธรรมชาติเป็นกลาง ๆ ปัญญาดังกล่าวทำให้ใจเป็นกลางต่อทุกสิ่ง ไม่รู้สึกยินดียินร้าย ชอบหรือชัง ไม่ผลักไสหรือไขว่คว้า ด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกต่อกามหรือเซ็กส์ว่าเป็นธรรมดา ไม่รู้สึกหลงใหลหรือรังเกียจ แม้แต่สุขหรือทุกข์ ก็เห็นว่าเท่ากัน ไม่ได้ปรารถนาสิ่งหนึ่งและปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง เพราะทั้งสองอย่างก็ล้วนไม่เที่ยงเสมอกัน

    ปัญญาเช่นนี้ทำให้จิตไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด หลุดพ้นจากความสำคัญผิดว่ามีตัวตน จิตเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง จึงเข้าถึงความสุขประณีตอย่างสมบูรณ์ เป็นสุขที่จิตไม่ได้ยึดติด หวงแหน หรือดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งใด ๆ มาเป็นของตน เพราะมีปัญญาเห็นชัดว่าไม่มีอะไรที่ยึดถือหรือครอบครองได้เลย ผู้ที่เข้าถึงปัญญาดังกล่าวแม้ไม่ได้รังเกียจเซ็กส์ แต่ก็ไม่ได้ถวิลหาเพราะใจไม่มีความต้องการแต่อย่างใด ไม่ได้รังเกียจกายว่าไม่งาม เพราะรู้เท่าทันสมมติและเห็นชัดว่ากายนั้นก็เป็นสักแต่ว่าธาตุที่มาประกอบกัน ที่ว่างามหรือไม่งามนั้นก็เป็นเพียงสมมติเท่านั้น

    ที่ว่ามานี้เป็นการกล่าวอย่างรวม ๆ โดยมีพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ส่วนพุทธศาสนาแบบมหายานและวัชรยานมีรายละเอียดที่แตกต่างไปบ้าง เพราะบางนิกายหรือบางสำนักไม่ได้เคร่งครัดกับการที่นักบวชจะต้องมีระยะห่างจากเซ็กส์ ในอดีตพระเซนในญี่ปุ่นถือว่าการไปเยี่ยมเยือนสำนักเกอิชาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิต นั่นคือเพื่อทดสอบว่ามีสติตั้งมั่นพอที่จะเอาชนะสิ่งยั่วยวนได้หรือไม่ ถือเป็นเรื่องท้าทายว่าจะสามารถทำใจให้สงบได้หรือไม่ท่ามกลางบรรยากาศที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ แต่ก็มีหลายคนที่เห็นว่าหากต้องการจะเป็นอิสระจากเซ็กส์ ก็ต้องเข้าไปมีประสบการณ์กับมันอย่างเต็มที่จนรู้จักมันอย่างทะลุปรุงโปร่ง ถึงจะวางมันได้ ยิ่งวัชรยานบางสำนัก เช่น ตันตระ ถึงกับเชื่อว่าเซ็กส์เป็นหนทางสู่การรู้แจ้งเลยทีเดียว และอนุญาตให้พระฝึกปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าว 3 อย่างไรก็ตามแนวทางเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับของวงการพุทธศาสนากระแสหลักไม่ว่ามหายานหรือวัชรยานเอง (แม้กระนั้นผู้ที่ปฏิบัติถึงขั้นมีเซ็กส์ในบางสำนักของนิกายดังกล่าวยังอาจเป็นพระอยู่ได้ ไม่ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศ ซึ่งต่างจากเถรวาทที่มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่าถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องคืนกลับสู่เพศฆราวาสสถานเดียว) แต่ในบางประเทศ การกำหนดให้พระต้องถือพรหมจรรย์นั้นทำได้ยากจนต้องอนุญาตให้พระมีครอบครัวได้ ดังประเทศญี่ปุ่น เพราะหาไม่แล้วก็คงจะหาผู้ประกอบพิธีทางศาสนา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพิธีเกี่ยวกับคนตาย)ไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงการมีคนเฝ้าวัด

    ทุกวันนี้พระมีจำนวนน้อยลงทั่วโลก ยกเว้นในประเทศที่พุทธศาสนากำลังขยายตัว เช่น ในยุโรปและอเมริกา แต่จำนวนพระที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนฆราวาสที่หันมาสมาทานพุทธศาสนา การที่จำนวนพระมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะในประเทศที่พุทธศาสนาหยั่งรากลึกมานาน สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของบริโภคนิยมที่แพร่ขยายอย่างกว้างขวาง อิทธิพลดังกล่าว (ซึ่งเน้นความสุขทางกามรวมทั้งจากเซ็กส์)ไม่เพียงทำให้ฆราวาสเห็นว่าการถือเพศพรหมจรรย์อย่างพระเป็นเรื่องยากลำบาก ไร้ความสุข หรือถึงกับเป็นการทรมานตนด้วยซ้ำ จึงไม่สนใจจะมาบวชพระ ขณะเดียวกันบริโภคนิยมที่แพร่เข้าไปถึงในวัดก็ทำให้พระจำนวนไม่น้อยโหยหาชีวิตอย่างฆราวาสเพื่อจะได้เสพกามสุขอย่างไม่มีข้อจำกัด จึงสึกหาลาเพศกันเป็นจำนวนมาก หาไม่ก็อยู่ด้วยความเครียด สภาพดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเกื้อกูลให้พระได้เข้าถึงความสุขอันประณีต ทั้งนี้ก็เพราะละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับสมาธิภาวนานั่นเอง

    อย่างไรก็ตามในหมู่ฆราวาสมีจำนวนไม่น้อยที่เห็นคุณค่าของความสุขประณีต และตระหนักถึงโทษหรือข้อจำกัดของความสุขจากเซ็กส์ คนเหล่านี้แม้จะไม่บวชเป็นพระ แต่ก็หันมาถือพรหมจรรย์กันมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแม้ยังละทิ้งเซ็กส์ไม่ได้ แต่ก็เข้าหาสมาธิภาวนามากขึ้น และได้รับความสุขประณีตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พึ่งพาความสุขจากเซ็กส์น้อยลงเป็นลำดับ จนมีจำนวนไม่น้อยที่ถือพรหมจรรย์(หรือศีล ๘)เป็นช่วง ๆ

    ในขณะที่พระจำนวนไม่น้อยเข้าหาความสุขจากเซ็กส์ ฆราวาสจำนวนมากกลับหันมาหาสมาธิภาวนาและประพฤติพรหมจรรย์ ช่องว่างระหว่างพระกับฆราวาสในยุคนี้จึงแคบลง ขณะเดียวกันการครองชีวิตแบบฆราวาสในส่วนที่สัมพันธ์กับชีวิตพรหมจรรย์ ก็มีความหลากหลายมากขึ้น อาจพูดได้ว่า วิถีสู่ความสุขประณีตในสังคมสมัยใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ก็เทียบไม่ได้กับหนทางสู่ความสุขจากเซ็กส์ในยุคปัจจุบันซึ่งเปิดกว้างและมีความหลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

    1 อ่านประเด็นนี้รวมทั้งประเด็นที่ว่าเซ็กส์ของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่ในโลกใน Jared Diamond Why is sex fun? Chapter 4 (Basic Books,1997)

    2 ประเด็นเรื่องกามสุขและสุขประณีต อ่านเพิ่มเติมใน พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ บทที่ ๑๕ (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,๒๕๕๒)


    :- https://visalo.org/article/budAndSex.htm
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้
    ลำธารริมลานธรรม

    พระไพศาล วิสาโล เรียบเรียง
    หลวงพ่อกับโจร

    หลวงพ่อโตหรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆัง เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก แม้ท่านจะไม่เคยเข้าสอบแปลหนังสือเป็นเปรียญ แต่ชาวบ้านก็เรียกท่านว่าพระมหาโตมาตั้งแต่บวช ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังได้รับคำชมจากสมเด็จพระสังฆราช (สุก) แห่งวัดมหาธาตุซึ่งเป็นสำนักที่หลวงพ่อโตเคยไปเข้าเรียนครั้งยังเป็นพระหนุ่มว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

    อย่างไรก็ตามท่านมิใช่พระที่แม่นยำเฉพาะตัวหนังสือหรือคัมภีร์ หากยังน้อมนำธรรมะจนกลายเป็นเนื้อเป็นตัวของท่าน ทำให้ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างโปร่งเบาและอิสระไม่ติดกับกฎประเพณี ทั้งไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่

    คราวหนึ่งพระในวัดของท่านโต้เถียงกันถึงขั้นด่าท้าทายกัน พอท่านเห็นเหตุการณ์ ท่านก็เข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน แล้วเดินเข้าไปในระหว่างคู่วิวาท ลงนั่งคุกเข่าถวายดอกไม้ธูปเทียนให้พระทั้งคู่แล้วกล่าวว่า

    “พ่อเจ้าพระคุณ พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้ ๆ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย”

    ผลคือพระทั้งคู่เลิกทะเลาะกัน หันมาคุกเข่ากราบท่าน ท่านก็กราบตอบพระ ทั้งหมดกราบและหมอบกันอยู่นาน

    นอกจากท่านจะไม่ถือตัวหรือติดในยศศักดิ์แล้ว ท่านยังไม่ยึดในทรัพย์ด้วย ความมักน้อยสันโดษของท่านเป็นที่เลื่องลือ ลาภสักการะใด ๆ ที่ท่านได้มาจากการเทศน์หรือกิจนิมนต์ ท่านมิได้เก็บสะสมไว้ มักเอาไปสร้างพระพุทธรูปและสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาอยู่เนือง ๆ แม้ใครขอก็ยินดีบริจาคให้ กระทั่งมีโจรมาลัก ท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่โจร

    เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านกำลังจำวัดอยู่ในกุฏิ มีโจรขึ้นมาขโมยของ หมายจะหยิบตะเกียงลานในกุฏิแต่บังเอิญหยิบไม่ถึง ท่านก็ช่วยเอาเท้าเขี่ยส่งให้โจรแล้วบอกให้โจรรีบหนีไป

    อีกเรื่องหนึ่งมีว่า ท่านไปเทศน์ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้กัณฑ์เทศน์มาหลายอย่าง รวมทั้งเสื่อและหมอน ขากลับท่านต้องพักแรมกลางทาง คืนนั้นเองมีโจรพายเรือเข้ามาเทียบกับเรือของท่าน ขณะที่โจรล้วงหยิบเสื่อนั้นเอง ท่านก็ตื่นขึ้นมาเห็น จึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ” โจรได้ยินก็ตกใจกลัวรีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจร โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนไปด้วย

    บางครั้งลูกศิษย์ของท่านก็มาเป็นเหตุเสียเอง กล่าวคือเมือท่านกลับจากการเทศน์พร้อมกับกัณฑ์เทศน์มากมาย ศิษย์ ๒ คนที่พายเรือหัวท้ายก็ตั้งหน้าตั้งตาแบ่งสมบัติกัน แต่ตกลงกันไม่ได้ คนหนึ่งว่ากองนี้ของข้า อีกคนก็ว่ากองนั้นของข้า ท่านจึงถามว่า “ของฉันกองไหนล่ะจ๊ะ” เมื่อกลับถึงวัด ศิษย์ทั้งสองเอากัณฑ์เทศน์ไปหมด ท่านก็มิได้ว่ากล่าวอย่างใด

    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ตำนานที่วัดสมอราย
    วัดแต่โบราณนั้นมีสภาพเป็นอาราม คือมีความสงบร่มครึ้มด้วยแมกไม้ ก่อให้เกิดความสงบเย็นทั้งใจและกาย โดยเฉพาะวัดที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านจะปล่อยให้ต้นไม้เติบโตตามธรรมชาติไม่ยอมตัดเพราะเป็นอาบัติ แต่เหตุผลที่ท่านประสงค์จะรักษาสภาพธรรมชาติภายในวัดเอาไว้ ที่สำคัญยังมีอีกประการหนึ่ง นั้นคือเพื่อให้เกิดความวิเวก อันเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญสมาธิภาวนา อันเป็นสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญ

    พระแต่ก่อนนอกจากท่านจะไม่ตัดต้นไม้แล้ว ยังไม่ยินดีหากผู้อื่นกระทำในเขตอารามของท่านแม้จะเป็นคฤหัสถ์ ประเพณีดังกล่าวสืบต่อกันเรื่อยมาจนผันแปรในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสำหรับคนใกล้วัด ก็ยังมีตำนานต่าง ๆ เล่าขานกันอยู่ ตำนานเรื่องหนึ่งที่รู้จักกันดีก็คือตำนวนที่วัดสมอราย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชาธิวาส

    วัดสมอรายเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าคงสร้างมาแต่ครั้งกรุงละโว้ หรือสมัยอโยธยา ตกมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังเป็นวัดฝ่ายสมถะ คนทั่วไปยกย่องนับถือว่าเป็นวัดซึ่งประพฤติมั่นคงในสมณวัตร และเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระ จนสมัยหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อทรงอุปสมบทแล้วได้มาประทับที่วัดนี้

    เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงดำริจะเสด็จมาพระราชทานพระกฐินที่วัดสมอราย เจ้าพนักงานจึงล่วงหน้ามาตรวจดูที่วัด โดยที่วัดนี้เป็นวัดที่รักษาประเพณีสมถะอย่างกวดขัน จึงไม่ตัดโค่นต้นไม้ ปล่อยให้พุ่มชิดกัน เบียดแน่น แต่ลานวัดนั้นกวาดให้เตียนสะอาดอยู่เสมอ เจ้าพนักงานเห็นว่ากิ่งไม้ตามทางเสด็จพระราชดำเนินนั้นเกะกะกีดขวางพระกลด จึงจะตัดกิ่งไม้เหล่านั้นเสีย แต่เจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระราชาคณะหายอมไม่ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “จะเสด็จมาก็ตาม มิเสด็จมาก็ตามเถิด”

    ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผลคือพระองค์เสด็จวัดสมอรายโดยกิ่งไม้อยู่ในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์
    สมเด็จฯ วัดสระเกศ
    สมเด็จพระสังฆราชที่ครองวัดสระเกศนั้นมีเพียงองค์เดียวในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือสมเด็จอยู่ (ญาโณทโย) ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวในยุครัตนโกสินทร์ที่ขึ้นชื่ออย่างยิ่งในด้านโหราศาสตร์ และยังได้รับการยกย่องในด้านนี้ แม้กระทั่งปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ท่านสิ้นไป ๔๐ ปีแล้ว

    ที่จริงความสามารถอีกประการหนึ่งของท่านซึ่งมักไม่เป็นที่รู้จักก็คือ ความปราดเปรื่องด้านปริยัติธรรม เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาอยู่นั้น ไม่ว่าจะเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมครั้งใด ไม่เคยแปลตกเลย ตั้งแต่ประโยคต้นจนประโยคสุดท้าย และที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ยุครัตนโกสินทร์ก็คือ พระมหาอยู่สอบได้เปรียญ ๙ ประโยคเป็นองค์แรกในรัชกาลที่ ๕ จนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษ ให้นำรถยนต์หลวงมาส่งจนถึงวัดสระเกศ นับแต่นั้นก็เป็นพระราชประเพณีว่า ถ้าพระเปรียญรูปใดสอบประโยค ๙ ได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำรถยนต์หลวงส่งพระเปรียญรูปนั้นจนถึงสำนัก

    ท่านเป็นที่เลื่องลืออย่างยิ่งในด้านความเมตตา ใบหน้าของท่านจะมีรอยยิ้มแฝงอยู่ด้วยเสมอ ผู้ใดที่เข้าหาก็จะประทับใจกับใบหน้าอันอิ่มเอิบและอัธยาศัยของท่าน และทั้ง ๆ ที่ท่านเจริญในสมณศักดิ์เรื่อยมา ก็ยังเป็น “หลวงพ่อ” ของชาวจีนรอบวัดไม่ว่าเด็กหรือผู้เฒ่าโดยท่านไม่เคยถือยศศักดิ์เลย

    ความไม่ถือยศศักดิ์ของท่านนั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาก ปกติแล้วเวลามีผู้มานิมนต์มักจะเอารถเก๋งมารับเพื่อให้สมฐานะสมเด็จฯ แต่คราวหนึ่งชาวจีนยากจนผู้หนึ่งมานิมนต์ท่านไปฉันที่บ้านเพื่อทำบุญให้แก่บุตรที่ตาย เมื่อท่านกับพระอีก ๔ รูปเดินออกจากประตูวัดสระเกศ ก็ถามจีนผู้นั้นว่าจะไปอย่างไร จีนผู้นั้นก็ตอบว่า “สามล้อครับ” แทนที่จะแสดงอาการไม่พอใจ กลับยิ้ม ท่านว่านั่งสามล้อเย็นสบายดี เห็นความเจริญของบ้านเมืองถนัดดี

    เมื่อไปถึงบ้านจีนผู้นั้น ต้องขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ชั้นบน เนื่องจากบ้านเล็กและแคบ มีของเก่าวางขายเต็มไปหมด ตอนนั้นท่านอายุกว่า ๘๐ แล้ว บันไดก็ชันมาก ขึ้นลำบาก แต่ท่านก็ขึ้นไปจนได้ วันรุ่งขึ้นก็ต้องขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์อีก ครั้นถึงเวลาฉันต้องลงมาฉันในห้องครัวข้างล่าง โต๊ะไม่มีผ้าปู กับข้าวมีเพียง ๓ อย่าง คือ แกงเผ็ด แกงจืด และผัดหมี่ ของหวานก็มีผลไม้คือละมุดเพียงอย่างเดียว แถมยังค่อนข้างช้ำและเน่าเสียด้วย แต่ท่านฉันอย่างสบาย ๆ ไม่ได้มีความรังเกียจอะไรเลย ฉันเสร็จ เจ้าภาพก็ถวายปัจจัยแก่ท่านและพระลูกวัด องค์ละ ๓ บาท ใบชาห่อจิ๋วองค์ละ ๑ ห่อ ท่านก็ยิ้มอย่างสบายอีก ท่านพูดว่า “คนจน เขาจน เขาอยากจะทำบุญ เขาตั้งใจทำบุญจริง ๆ เขามีน้อย เขาทำน้อยดีแล้ว”

    บางครั้งไปถึงบ้านผู้นิมนต์ บ้านนั้นยังไม่ได้จัดอาสนะสำหรับพระ เพิ่งจะเริ่มจัดเมื่อท่านไปถึง แต่ท่านไม่เคยดุหรือบ่น ยิ้มรอจนเขาจัดที่เสร็จ บางแห่งเจ้าของงานจัดที่ให้ท่านเป็นการพิเศษ ท่านบอกว่าอย่ายุ่งยากนักเลย ทำที่สบายๆ เถิด ท่านพูดเสมอว่า “เราแก่แล้ว ทำอะไรไม่สะดวก แต่อย่าทำให้เขาหนักใจ”
    ด้วยความเมตตาของท่าน จึงมีอาคันตุกะมาเยือนทุกวัน การเข้าพบท่านไม่ต้องมีใครพาเข้าพบ ท่านจะออกต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม มีไมตรีจิตกับทุกคนทุกชั้นที่ไปพบ แม้แต่กรรมกรสามล้อผู้ยากจนกระทั่งขอทาน ท่านพูดเสมอว่าเขามีทุกข์เขาจึงมาพบ ถ้าท่านช่วยเหลือเขาได้ ก็จะสบายใจมาก

    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm

     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    อยู่เป็นสุข จากไปไม่ก่อทุกข์
    พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นวิปัสสนาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทยยุคปัจจุบัน ท่านเป็นคนต้นรัชกาลที่ ๕ (เกิด พ.ศ. ๒๔๑๓) แต่กิตติศัพท์และแบบอย่างชีวิตของท่านยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งในทุกวันนี้

    ชีวิตของท่านนับแต่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นชีวิตที่แนบเนื่องกับการหลีกเร้นบำเพ็ญธรรมในป่าเขาสมัยที่ยังเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาชนิด ท่านเป็นแบบอย่างของผู้สูงส่งด้วยภูมิปัญญาหากเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่เบียดเบียน เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาต่อสรรพชีวิต แม้ในยามที่ท่านใกล้จะมรณภาพ ก็ยังคำนึงถึงสัตว์น้อยใหญ่ที่อาจเดือดร้อนเพราะการดับขันธ์ของท่าน ท่านจึงเร่งรัดให้ลูกศิษย์พาท่านออกจากหมู่บ้านหนองผือ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร จุดมุ่งหมายปลายทางคือตัวเมืองสกลนครอันเป็นสถานที่ที่สามารถรับการหลั่งไหลของผู้คนที่จะมาเคารพศพท่านได้

    ในการกล่าวเตือนศิษย์หาของท่าน ท่านได้พูดตอนหนึ่งว่า

    “ผมน่ะต้องตายแน่นอนในคราวนี้ ดังที่เคยพูดไว้แล้วหลายครั้ง แต่การตายของผมเป็นเรื่องใหญ่ของสัตว์และประชาชนทั่ว ๆ ไปอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงเผดียงให้ท่านทั้งหลายให้ทราบว่า ผมไม่อยากตายอยู่ที่นี่ ถ้าตายที่นี่จะเป็นการกระเทือนและทำลายชีวิตสัตว์ไม่น้อยเลย สำหรับผมตายเพียงคนเดียว แต่สัตว์ที่พลอยตายเพราะผมเป็นเหตุนั้นมีจำนวนมากมาย เพราะคนจะมามาก ทั้งที่นี่ไม่มีตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน นับแต่บวชมา ไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบากโดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา ทุกเวลาได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้าโดยไม่มีประมาณตลอดมา เวลาตายแล้วจะเป็นศัตรูคู่เวรแก่สัตว์ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักสงวนของแต่ละตัว เพราะผมเป็นเหตุเพียงคนเดียวนั้น ผมทำไม่ลง อย่างไรขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่”

    จริยาของนักปกครอง

    ในบรรดาสมเด็จพระสังฆราชสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระองค์เดียวเท่านั้นที่เคยลาสิกขาไปอยู่ในเพศฆราวาสทั้ง ๆ ที่เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่แล้ว ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ผู้แต่งปฐมสมโพธิ ที่นักเรียนชั้นนักธรรมตรีทั้งหลายคุ้นเคยอย่างดี

    แต่ยังมีพระอีกองค์หนึ่งที่เกือบจะลาสิกขา โดยได้ทูลลาออกจากตำแหน่งพระราชคณะแล้ว หากแต่รั้งรออยู่พักใหญ่จนเปลี่ยนพระทัย ภายหลังจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืนตามเดิม พระองค์นั้นก็คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งต่อมาได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ (อุปัชฌาย์) ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน

    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ยังเป็นที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ที่ใส่ใจในการคณะสงฆ์ แต่แม้จะทรงสมณศักดิ์ชั้นสูงก็ไม่ทรงถือพระองค์ เรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระจริยาดังกล่าวก็คือตอนที่พระองค์ได้รับการทูลฟ้องว่ามีพระป่านิกายธรรมยุตรูปหนึ่งประพฤติตนไม่ถูกต้องตามพระวินัย พระรูปนั้นก็คือพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์ ภูริทตฺโต และภายหลังเป็นผู้ก่อตั้งวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร

    ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ยังเป็นที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต จึงมีหน้าที่รับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง แต่แทนที่จะทรงบัญชาการให้พระในตำแหน่งรอง ๆ ลงไป หรือพระสังฆาธิการในพื้นที่ดูแลเรื่องนี้ พระองค์กลับเสด็จไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงด้วยพระองค์เอง โดยทรงไปพำนักอยู่กับพระอาจารย์กงมารวม ๒ ครั้ง ๒ ครา ที่วัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี ใน พ.ศ.๒๔๘๑ และ พ.ศ. ๒๔๘๒ ทั้งนี้โดยที่พระอาจารย์กงมาไม่ทราบวัตถุประสงค์การมาเยือนของพระองค์เลย

    ในระหว่างที่พระองค์อยู่วัดทรายงามนั้น ทรงกระทำวัตรเช่นเดียวกับหมู่คณะ เช่น ฉันหนเดียว แม้พระอาจารย์กงมาจะให้บรรดาญาติโยมนำภัตตาหารเพลมาถวาย พระองค์ก็ปฏิเสธ ตรัสว่า “เราอยู่ที่ไหนก็ต้องทำตามระเบียบเขาที่นั่น”

    ข้อหาแรกที่พระอาจารย์กงมาถูกร้องเรียนก็คือ สะพายบาตรเหมือนพระมหานิกาย เมื่อพระองค์ได้เห็นการบิณฑบาตของวัดทรายงาม ก็ไม่ทรงเห็นเป็นเรื่องเสียหาย เพราะเป็นการสะพายบาตรไว้ข้างหน้าดูรัดกุม ตรัสว่า “สะพายบาตรอย่างนี้มันก็เหมือนกับอุ้มนั่นเอง ไม่ผิดหรอก เรียบร้อยดี”

    ข้อหาที่ ๒ ก็คือ พระอาจารย์กงมาเทศน์ผิดแปลกจากคำสอนของพระพุทธองค์ วิธีการของพระองค์ในการสอบสวนเรื่องดังกล่าว เป็นที่กล่าวขานสืบมาดังนี้

    วันหนึ่งพระอาจารย์กงมา ได้ประกาศให้ญาติโยมมาฟังเทศน์ โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์จะเป็นองค์แสดง ประชาชนจึงแห่กันไปฟังกันล้นหลาม แต่เมื่อพระอาจารย์กงมาทูลอาราธนาที่กุฏิ พระองค์ก็ปฏิเสธว่า “เราไม่สบาย เธอจงแสดงธรรมแทนเราเถอะ” เมื่อเป็นเช่นนี้ พระอาจารย์กงมาจึงกลับขึ้นไปศาลาและแสดงธรรมแทนพระองค์

    เมื่อแสดงธรรมไปได้ประมาณ ๑๐ นาที สามเณรผู้หนึ่งก็ลงมาจากศาลาเพื่อถ่ายปัสสาวะ ก็ได้พบพระองค์ทรงนั่งอยู่กับพื้นดินข้างศาลานั่นเอง สามเณรตกใจรีบกลับขึ้นศาลา แต่สุดวิสัยจะบอกพระอาจารย์กงมาได้

    รุ่งเช้าพระองค์ได้กล่าวชมเชยพระอาจารย์กงมาว่า “กงมานี่เทศนาเก่งกว่าเปรียญ ๙ ประโยคเสียอีก”

    ข้อกล่าวหาที่ ๓ คือ พระอาจารย์กงมาเที่ยวตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ แจกของขลังให้ประชาชนหลงผิด

    วิธีการสอบสวนของพระองค์ก็คือ ชวนพระอาจารย์กงมาไปธุดงค์ด้วยกันแบบ ๒ ต่อ ๒ ในการธุดงค์ครั้งนี้ทรงแบกกลดสะพายบาตรเอง เพราะไม่มีผู้ติดตาม ครั้นพระอาจารย์กงมาจะขอช่วยสักเท่าไรพระองค์ก็ไม่ยอม โดยทรงเดินตามหลังพระอาจารย์กงมา
    หลังจากธุดงค์หนึ่งอาทิตย์เศษ พระองค์ก็ตรัสว่า “การธุดงค์ของท่านกงมาและพระปฏิบัติกรรมฐานนี้ได้ประโยชน์เหลือหลาย อย่างนี้ธุดงค์มาก ๆ ก็จะทำให้พระศาสนาเจริญยิ่งขึ้น”
    นับแต่นั้นมาพระองค์ทรงให้การสนับสนุนคุ้มครองและสรรเสริญพระอาจารย์กงมาโดยตลอด
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เอาป่าไว้
    พระโพธิญาณเถรหรือหลวงพ่อชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง เป็นคนรักป่า รักต้นไม้ เมื่อตอนท่านออกบำเพ็ญเพียรภาวนา ท่านชอบพูดว่าพระพุทธเจ้าประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ท่านจึงให้ความสำคัญกับป่ามาก เพราะเป็นสถานที่ที่เกื้อกูลต่อการเจริญสมณธรรมอย่างยิ่ง ในสมัยที่พระเณรและแม่ชีวัดหนองป่าพงป่วยเป็นไข้มาเลเรียกันหลายรูปนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มาแนะนำให้ถางป่า ตัดกิ่งไม้ออกให้โล่งเตียน เมื่อป่าโปร่งลมจะได้พัดสะดวก
    หลวงพ่อตอบว่า “ตายซะคน เอาป่าไว้ก็พอ”
    พูดสั้น ๆ เพียงเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามอธิบายโน้มน้าวให้เหตุผลหว่านล้อมต่าง ๆ แต่ท่านก็ยืนยันคำเดิมว่า

    “พระหรือชีก็ตาม อาตมาเองก็ตาม ตายแล้วก็ไปแล้ว เอาป่าไว้เสียดีกว่า”
    วัดหนองป่าพงจึงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ดังเดิม จวบจนทุกวันนี้

    ตัวโกรธ
    หลวงปู่บุดดา ถาวโร จัดว่าเป็น “รัตตัญญู” คือเป็นผู้เก่าแก่และมีประสบการณ์มาก รูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย ด้วยท่านมีอายุยืนนานถึง ๑๐๑ ปี ก่อนจะมารณะภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗

    สมัยที่ยังหนุ่ม ท่านมีโอกาสพบปะครูบาอาจารย์ที่สำคัญหลายรูป เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และครูบาศรีวิชัย ท่านหลังนี้เคยทักหลวงปู่บุดดาเนื่องจากเห็นท่านไม่พาดสังฆาฏิว่า “เฮาเป็นนายฮ้อย ก็ต้องให้เขาฮู้ว่าเป็นนายฮ้อย ไม่ใช่นายสิบ” นับแต่นั้นมาหลวงปู่จึงพาดสังฆาฏิติดตัวตลอดเวลา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท่าน
    หลวงปู่บุดดาเป็นพระป่า ชอบธุดงค์ ไม่มีวัดเป็นหลักแหล่ง จนเมื่ออายุ ๘๗ ปีจึงได้มาประจำที่วัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี กระทั่งมรณภาพ
    แม้หลวงปู่บุดดาจะไม่ได้เล่าเรียนในทางปริยัติมาก แต่ความที่ท่านเชี่ยวชาญในการปฏิบัติ จึงมีความสามารถในการสอนธรรมชนิดที่สื่อตรงถึงใจ มีคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งซึ่งเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ท่านเจ้าคุณรูปนั้นคงเห็นหลวงปู่เป็นพระบ้านนอกจึงอยากลองภูมิหลวงปู่ ได้ถามหลวงปู่ว่า “จะเทศน์เรื่องอะไร”

    หลวงปู่ตอบว่า “เรื่องตัวโกรธ กิเลสตัณหา”
    ท่านเจ้าคุณซักต่อว่า “ตัวโกรธเป็นอย่างไร”
    หลวงปู่ตอบสั้น ๆ ว่า “ส้นตีนไงล่ะ”
    เท่านั้นเองท่านเจ้าคุณก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมเทศน์กับหลวงปู่ วันนั้นหลวงปู่จึงต้องขึ้นเทศน์องค์เดียว เมื่อเทศน์จบแล้ว ท่านก็ไปขอขมาท่านเจ้าคุณองค์นั้น พร้อมกับอธิบายว่า

    “ตัวโกรธมันเป็นอย่างนี้เองนะ มันหน้าแดง ๆ นี้แหละ มันเทศน์ไม่ได้ คอแข็ง ตัวโกรธสู้เขาไม่ได้ ขึ้นธรรมาสน์ก็แพ้เขา ใครจะเป็นนักเทศน์ต่อไปจดจำเอาไว้นะ ตัวโกรธน่ะ นักเทศน์ไปขัดคอกันเอง มันจะเอาคอไปให้เขาขัด”
    หลวงปู่บุดดารู้จักตัวโกรธดี ท่านรู้ว่าตัวโกรธกลัวคนกราบ ท่านเล่าว่าตั้งแต่เริ่มบวช ท่านพยายามเอาชนะความโกรธด้วยการกราบ เวลาโกรธท่านจะลุกขึ้นกราบพระ ๓ ครั้ง โกรธ ๒ ครั้งก็กราบพระ ๖ ครั้ง โกรธ ๑๐๐ ครั้ง ก็กราบ ๓๐๐ ครั้ง ทำเช่นนี้หลายครั้งความโกรธก็ครอบงำท่านไม่ได้

    เมื่อความโกรธเป็นใหญ่เหนือใจไม่ได้ ความเมตตาและอ่อนน้อมถ่อมตนก็ตามมา หลวงปู่บุดดาขึ้นชื่อในเรื่องนี้มาก คราวหนึ่งท่านกำลังจะเดินข้ามสะพาน ก็เห็นสุนัขตัวหนึ่งนอนขวางทางอยู่บนสะพาน แทนที่ท่านจะเดินข้ามสุนัขตัวนั้น หรือไล่มันให้พ้นทาง กลับเดินลงไปลุยโคลนข้างล่าง

    ท่านว่าไม่อยากให้ผู้อื่นได้รับความขุ่นเคืองเพียงเพื่อเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง แม้เป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน

    สุนัขโพธิสัตว์

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้มีกิริยาวาจา อ่อนละไมเป็นปกติ ท่านจะพูดจาปราศรัยกัยใครทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก ก็ใช้คำรับคำขานว่า จ๋า จ้ะ ที่สุดสัตว์เดรัจฉานท่านก็ประพฤติเช่นนั้น “โยมจ๋า ขอฉันไปทีเถิดจ้ะ” แล้วก็ก้มกายหลีกทางไป มีผู้ถามท่านว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น ท่านตอบว่า “ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้จะเคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือมิใช่”*

    -----------------------------------------------------------------------
    *พระโพธิสัตว์เคยเสวยชาติเป็นสุนัข ความละเอียดอยู่ในกุกรุชาดกในตติยวรรคแห่งเอกนิบาต

    สังฆราชไก่เถื่อน
    ไก่เป็นสัตว์ขี้ระแวง เวลาจิกกินอาหารจะผงกหัวขึ้นมองรอบตัวอยู่ไม่ขาด หากมีเสียงผิดปกติ จะกระโตกกระตากหรือส่งเสียงดังลั่น ยิ่งไก่ป่าด้วยแล้ว ระวังภัยรอบทิศ ไม่ยอมเฉียดกรายเข้าใกล้บ้านคนเลย ไก่ป่าที่จะประพฤติตนเป็นไก่บ้านจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้แล้วที่วัดราชสิทธาราม ฝั่งธนบุรี เมื่อร้อยกว่ามีก่อน

    สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสงฺวร) ทรงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ ๒ ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ แต่แทนที่ท่านจะมีชื่อเสียงในทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือการเป็นเกจิอาจารย์ดังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเป็นพระรุ่นหลัง ท่านกลับเป็นที่รู้จักโดยพระนามฉายาว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน” ทั้งนี้เพราะทรงมีเมตตามหานิยมสูงมาก แม้กระทั่งไก่ป่าที่อยู่รอบวัดก็ยังสัมผัสได้ถึงเมตตาบารมีดังกล่าวจนกลายเป็นสัตว์เชื่อง พากันมาหากินอยู่รอบ ๆ พระตำหนักและในบริเวณวัดของท่านเป็นฝูง ๆ กล่าวกันว่าใครที่มาเห็นก็มักเข้าใจว่าเป็นไก่บ้านที่ถูกปล่อยวัด

    คุณธรรมของโหรเอก
    เมื่อ ๔๐ ปีก่อน พระในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นชื่อว่าเอกอุในทางโหราศาสตร์เห็นจะมีแค่ ๒ องค์ องค์หนึ่งคือสมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศ อีกองค์หนึ่งคือพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี) ทั้ง ๒ รูปเป็นเปรียญประโยค ๙ และที่เหมือนกันอีกอย่างคือเป็นพระสมถะทั้งคู่

    เป็นธรรมดาของพระที่ขึ้นชื่อในด้านโหราศาสตร์ย่อมต้องมีคนมาขึ้นมาก พระภัทรมุนีก็เช่นกัน คนที่มาขอพึ่งบารมีท่านมีทั้งคนที่เดือดเนื้อร้อนใจ และคนที่อยากประสบโชค ไหนจะมาให้ท่านผูกดวง ตั้งชื่อลูก ชื่อร้าน ชื่อสกุล ให้ฤกษ์ จับยาม ฯลฯ กระนั้นท่านก็พอใจจะอยู่อย่างเรียบง่าย กุฏิของท่านที่วัดทองนพคุณนอกจากจะเก่าคร่ำคร่าแล้ว ยังไม่มีเครื่องประดับ ส่วนเครื่องอุปโภคก็ไม่มาก ทั้ง ๆ ที่มีคนถวายของให้แก่ท่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมอนอิง ปิ่นโต ไตรจีวร เครื่องลายคราม ตะลุ่ม กาน้ำ แต่ท่านก็ซุกเอาไว้ วันดีคืนดีก็ทยอยเอาออกมาแจกเป็นการทำบุญ

    ในเรื่องของอาจาระ โดยเฉพาะความสุภาพและอ่อนน้อม ท่านก็ขึ้นชื่อนัก กับพระในวัดท่านก็เจรจาด้วยความสุภาพเหมือนกันหมด กับพระที่มีพรรษามากกว่า แม้จะสมณศักดิ์ต่ำกว่าท่าน ท่านก็ลงกราบอย่างนอบน้อม ท่านมิได้แสดงออกเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น ศิษย์ที่ใกล้ชิดเล่าว่าแม้จะลับหลัง ท่านก็ไม่เคยว่าร้ายใครให้ได้ยิน ตรงกันข้ามกลับพยายามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกนินทาลับหลัง

    ว่าจำเพาะความสามารถในทางโหราศาสตร์ของท่าน มีเกร็ดเล่าว่าคราวหนึ่งท่านดูตัวท่านเองว่า เลือดจะตกยางจะออก ท่านจึงระวังตัวมาก แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เผอิญวันสุดท้ายแห่งเกณฑ์นั้น ขณะที่ท่านเดินลงบันได ไม้ผุที่ประตูเกิดหล่นลงโดนหน้าผากท่านเลือดไหลซิบ ๆ ออกมา คนก็ยิ่งลือว่าท่าน “แม่น” ใช่คนทั่วไปเท่านั้น แม้สมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศก็ยกย่องท่านมาก ดังเคยมีพระดำรัสว่า “แต่ก่อนนี้มีกันอยู่ ๒ คน ก็ช่วยแบ่งเบากันไป เขาไปที่นั่น (วัดทองนพคุณ) กันบ้าง มาที่นี่กันบ้าง ตั้งแต่สิ้นเจ้าคุณภัทรที่นี่ก็เลยหนัก ใคร ๆ มาที่นี่กันทั้งนั้น”

    ที่ควรกล่าวก็คือปฏิปทาของท่านในการพยากรณ์และให้ฤกษ์ ท่านถือมากที่จะไม่ยอมพยากรณ์ในเรื่องที่ทำให้ครอบครัวแตกสามัคคี เช่น ใครจะมาให้พยากรณ์คู่สมรสว่าจะอยู่กันยืดไหม ท่านจะไม่ยอมพยากรณ์เลย ท่านให้เหตุผลว่าจะทำให้คู่สามีภรรยาเขาแตกกัน หรือกรณีคนที่หมั้นกันไว้แล้วมาให้ท่านพยากรณ์ว่าจะอยู่กันต่อไปยืดหรือไม่ ท่านก็ไม่พยากรณ์เช่นกัน เพราะเขาหมั้นกันแล้ว หากไปพยากรณ์ให้เขากินแหนงแคลงใจจนถอนหมั้น ก็จะเป็นการเสียหายไม่สมควรที่ท่านจะทำ

    นอกจากนั้นท่านยังเคร่งครัดในเรื่องปัจจัยลาภ มีบางคนมาให้ดูแล้วถวายปัจจัยท่าน ท่านจะไม่รับเลยเพราะถือว่าไม่ใช่เป็นการรับจ้าง ทั้งไม่มีการตั้งกล่องเรี่ยไร ต่อเมือนำเครื่องสักการะมาถวายอย่างธรรมดาท่านจึงจะรับ

    จงอางหางกุด ที่วัดหนองป่าพง

    วัดหนองป่าพงช่วงแรก ๆ มีงูจงอางหางกุดอยู่ตัวหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภทฺโท เรียกมันว่าไอ้หางกุด ตอนเช้าเมื่อหลวงพ่อออกไปบิณฑบาต มันก็เลื้อยตามหลังทับรอยเท้าของหลวงพ่อไปด้วย เช้าวันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อกำลังเดินเข้าหมู่บ้าน คนหาปลาผู้หนึ่งสังเกตเห็นรอยงูใหญ่เลื้อยตามหลัง จึงวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านบอกเพื่อนบ้านว่า “อาจารย์ชาเอางูมาบิณฑบาตด้วย”

    ชาวบ้านกลัวมาก ขากลับจึงสะกดรอยตามหลวงพ่อ ก็เห็นงูใหญ่เลื้อยตามหลวงพ่อเข้าไปในวัดด้วย รุ่งเช้าชาวบ้านจึงพากันมาพูดกับท่าน

    “ท่านอาจารย์ทำไมเอางูไปบิณฑบาตด้วย ทีนี้จะไม่ใส่บาตรแล้วนะ กลัว”

    “อาตมาไม่ทราบ อาตมาไม่ได้เอาไป” หลวงพ่อตอบ

    “ไม่ได้เอาไปยังไง ตอนออกมาทุ่งนายังเห็นรอยงูมันเลื้อยทับรอยเท้าท่านอาจารย์อยู่นี่นา” ชาวบ้านช่วยกันต่อว่า

    แต่หลวงพ่อก็ยังยืนยันว่าไม่รู้อยู่นั่นเอง ชาวบ้านก็เลยพากันมาสังเกต ก็พบว่างูตัวนี้ตามท่านไปจากวัด พอถึงศาลพระภูมิทางเข้าหมู่บ้าน มันก็แยกไปคอยอยู่ที่นั่น จนหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต มันก็เลื้อยตามท่านกลับวัดอีก หลวงพ่อเองก็ไม่ได้เห็นงู แต่ได้สังเกตว่ามีรอยอย่างที่ชาวบ้านพูดกัน หลังจากนั่นเวลาที่ท่านจะออกจากวัดไปบิณฑบาต เมื่อจะพ้นเขตวัดหนองป่าพง ท่านพูดขึ้นว่า

    “ไอ้หางกุดอย่าไปบิณฑบาตกับอาตมานะ คนเขากลัว” ต่อมาท่านก็ได้บอกด้วยว่า

    “ให้หลบหนีเข้าไปหาที่อยู่ในป่ารกทึบเสียเถอะ อย่าออกมาให้คนเห็นอีก เพราะวัดนี้จะมีคนมามากขึ้น เขาจะกลัว”
    กาลต่อมา ก็ไม่ปรากฏเห็นงูจงอางใหญ่ตัวนี้อีก

    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ขรัวโตกับหัวโขน
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่เพียงเป็นพระที่รอบรู้ในทางปริยัติธรรมเท่านั้น หากยังเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระ จนเชื่อกันว่าท่านทรงคุณวิเศษทางวิทยาคม

    คุณวิเศษของท่านมักถูกกล่าวถึงในแง่อภินิหาร แต่อภินิหารนั้นยังเป็นเรื่องโลกียะ ที่สูงขึ้นไปกว่านั้นคือโลกุตตระ ได้แก่การอยู่เหนือโลก อันโลกธรรมทั้งหลายไม่อาจฉาบย้อมได้ องค์คุณประการหลังนี้ท่านได้บำเพ็ญและแสดงให้เห็นตลอดชีวิต ตัวอย่างหนึ่งได้แก่การไม่ใส่ใจกับสมณศักดิ์พัดยศ ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นแค่ “หัวโขน” เท่านั้นเอง

    ตามธรรมเนียม พระที่ทรงสมณศักดิ์อย่างท่านย่อมมีศิษย์วัดแจวเรือให้เวลาเดินทาง แต่เนื่องจากท่านชอบประพฤติตนอย่างพระอนุจรหรือพระลูกวัด ดังนั้นเมื่อใดที่เห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อย ท่านก็จะให้นั่งพักเสีย แล้วท่านก็แจวแทน

    มีคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานที่จังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ระหว่างทางผัวเมียคู่นี้เกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรง ท่านเห็นเช่นนั้นจึงขอให้ทั้งสองเลิกวิวาทกันและให้เข้ามานั่งพักในประทุน แล้วท่านก็แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆัง

    แต่ที่กล่าวขานกันมากก็คือตอนที่ท่านไปสวดมนต์ในสวนแห่งหนึ่ง เขตราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี สวนแห่งนี้ต้องเข้าทางคลองเล็ก ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ โดยเอาพัดยศไปด้วย บังเอิญเวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านจึงลงเข็นเรือกับศิษย์ท่าน ชาวบ้านก็ร้องบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือโว้ย” ท่านได้ยินก็ตอบไปว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จท่านอยู่ในเรือน่ะจ้ะ” ว่าแล้วก็ชี้มือไปที่พัดยศ สักพักชาวบ้านก็ลงมาช่วยกันเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน
    นิทานเรื่องนี้สอนว่า หัวโขนนั้นพึงถอดวางเมื่อลงจากเวทีฉันใด สมณศักดิ์ก็มิใช่สิ่งซึ่งพึงยึดถือเป็น “ตัวกู ของกู” ฉันนั้น

    ของดีจากสวนโมกข์

    สวนโมกขพลารามเมื่อครั้งที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)ยังมีชีวิตอยู่นั้นเนืองแน่นด้วยผู้คนเสมอ โดยเฉพาะในวันหยุด ยิ่งเมื่อมีถนนซูเปอร์ไฮเวย์ตัดผ่านหน้าวัดราว ๒๐ ปีมาแล้ว สวนโมกข์ก็กลายเป็นจุดและพักอีกแห่งหนึ่งของบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางลงใต้ จึงมีสภาพไม่ต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เดินทางลงใต้ จึงมีสภาพไม่ต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวในสายตาของผู้คนเป็นอันมาก

    เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายเมื่อหยุดรถแวะที่สวนโมกข์แล้ว ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งมักจะมานั่งอยู่ที่ม้าหินหน้ากุฏิเกือบตลอดวันเป็นประจำ หลายคนแม้จะได้ยินกิตติศัพท์ท่านมานาน แต่ก็หาได้ศึกษาหรือติดตามผลงานของท่านไม่ จึงมักจะเข้าใจว่าท่านเป็น “เกจิอาจารย์” รูปสำคัญรูปหนึ่ง

    “ผมอยากจะมาขอเลขเด็ดจากท่านอาจารย์เอาไปแทงหวยสักงวด จะได้ร่ำรวยกับเขาเสียทีครับ” ประโยคเช่นนี้ท่านมักจะได้ยินเป็นประจำ บางครั้งท่านก็ตอบว่า “ถ้าขอหวยก็ต้องไปขอกับสมพาล”

    ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของคนวัดทั้งพระและโยมในสวนโมกข์ที่จะต้องคอยตอบคำถามเวลามีคนมาถามว่า “คุณครับผมมาหาท่านสมภารครับ” ถ้าคนในวัดรู้ว่าผู้นั้นต้องการหวย ก็จะชี้ไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคนละทางกับกุฏิของอาจารย์โพธิ์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส แน่นอนว่าผู้นั้นมองหาเท่าไรก็ไม่เห็น “สมภาร” เสียที แจ่ไม่ใช่ว่าเขาถูกหลอก

    ที่จริงผู้ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวถึงก็อยู่แถวนั้นเอง ต่อเมือคนวัดที่เดินผ่านชี้ให้ดู เขาจึงเห็นถนัดถนี่ เพราะ “สมพาล” นอนเล่นอยู่ข้างหน้าเขานั้นเอง

    สมพาลเป็นสุนัขที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเลี้ยงไว้ เนื่องจากสมพาลมีนิสัยเกเร ชอบเอาแต่ใจตัว ท่านอาจารย์จึงตั้งชื่อว่า “สมพาล” แปลว่า “โง่แท้” หากใครหลงงมงายมาขอหวย ก็ต้องเจอกับสมพาลตัวนี้เป็นประจำ
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...