นิมิตและภวังค์ ตามลำดับ (หยิบได้หยิบไปเลย)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 10 พฤษภาคม 2012.

  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    วมหัวข้อ ฌานสมาธิ





    นิมิตและภวังค์ เป็นสิ่งที่มักเกิดควบคู่หรือมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในการปฏิบัติพระกรรมฐาน จนกล่าวได้ว่านิมิตและภวังค์ก็เป็นส่วนหนึ่งของฌานสมาธิด้วยนั่นเอง กล่าวคือเมื่อปฏิบัติฌานสมาธิได้ผลบ้างอย่างไรเสียก็ต้องเกิดนิมิตและภวังค์ขึ้นเป็นธรรมดา จึงนำมาเขียนไว้ในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาค้นคว้า

    จุดประสงค์คือเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องดีงามเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมเป็นสำคัญ เพราะเป็นทางที่จำเป็นต้องผ่านในที่สุด เพื่อจะได้ไม่เกิดความหลงผิดไปยึดติดยึดถือเอาในนิมิตที่เกิดขึ้นในภวังค์อย่างผิดๆและงมงาย หรือไปติดเพลินด้วยเข้าใจผิดๆ หรือถูกชักจูงจิต หรือถูกโน้มน้าวจิตด้วยบุคคลอื่น หรือถูกหลอกลวงด้วยมายาของจิตตน ให้หลงทางเสียด้วยอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง และที่สภาวะของภวังค์ดังที่จะกล่าวต่อไปนั้น เป็นสภาวะจิต ที่จะถูกชักจูงหรือถูกครอบงำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่วมด้วยอธิโมกข์ ยังให้มีทิฏฐิคือความคิดความเห็นให้เป็นไปอย่างใดๆนั้น เป็นไปอย่างง่ายดายและแน่นแฟ้นเป็นที่สุด

    นิมิต ในทางพุทธศาสนามีความหมายได้หลายประการ เช่นหมายถึง อาการที่เชิญชวนให้เขาถวาย หรือหมายถึงเครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนด ในการเจริญกรรมฐาน, หรือภาพหรือสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการปฏิบัติพระกรรมฐาน, แต่นิมิตที่จะเน้นกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ นิมิตอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติกรรมฐาน กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ปรากฎหรือแสดงขึ้นเฉพาะตน ให้รับรู้ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นเมื่อได้กล่าวถึงเรื่องฌาน,สมาธิไปโดยละเอียดแล้ว จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงนิมิต อันมักจะเป็นผลข้างเคียงหรือเครื่องเคียงที่มักเกิดร่วมด้วยเสมอๆ และจัดได้ว่าเป็นบ่วงมารอันหนึ่ง กล่าวคือถ้าไปอยากหรือไปยึดหรือไปเชื่ออย่างแน่นแฟ้นด้วยเหตุผลกลใดก็ตามทีในนิมิต ก็จัดว่าเป็นบ่วงมารทันที ซึ่งจักผูกมัดสัตว์ไว้ไม่ให้เห็นธรรม

    กล่าวคือ เกิดวิปัสสนูปกิเลส จัดอยู่ทั้งในข้อโอภาส,ญาณและอธิโมกข์ฯ. ซึ่งเมื่อเกิดกับผู้ใดแล้วก็จะน้อมเชื่อ,น้อมใจอยากด้วยอธิโมกข์จนถอดถอนไม่ออก แม้อธิบายอย่างไรก็ไม่ยอมฟังไม่ยอมเชื่อด้วยฤทธิ์ของอธิโมกข์และเพราะตัวตนเองเป็นผู้เห็น, ตัวตนเองเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น จึงมีความน้อมเชื่ออย่างรุนแรงด้วยอัตตาโดยไม่รู้ตัว ต้องให้เกิด ปัญญาพิจารณาเห็นด้วยตนเอง จึงจะสามารถถอดถอนความเชื่อความคิดอันเห็นผิดในนิมิตได้ดี จึงจำเป็นต้องกล่าวเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจกันไว้บ้าง เพราะจำเป็นต้องผ่านกล่าวคืออย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นในที่สุดนั่นเอง

    นิมิตอันเกิดแต่การปฏิบัติพระกรรมฐาน ผู้เขียนขอจำแนกแตกธรรมออกเป็นไปใน ๓ ลักษณะใหญ่ ที่มักเกิดขึ้นทั่วไปเสมอๆ ในการปฏิบัติ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันในผู้ที่มีความชำนาญ มีดังนี้

    รูปนิมิต หมายถึง การเห็น ภาพ อันปรากฏขึ้นเฉพาะแก่ผู้ปฏิบัตินั้นๆ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติหรือผู้เจริญกรรมฐานเป็นสำคัญ เช่น การเห็นภาพอดีต อนาคต หรือเห็นภาพในสิ่งที่อยากเห็น เช่น เทวดา ผี นรก สวรรค์ วิมาน พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ แม้แต่พระพุทธเจ้า หรือโอภาสการเห็นเป็นแสง, สี, ดวงไฟต่างๆ อันต่างล้วนน่าพิศวงชวนให้ตื่นตาเร้าใจ จึงมักอธิโมกข์น้อมเชื่ออย่างงมงายด้วยอวิชชาอันมีมาแต่การเกิดเป็นธรรมดา หรือการเห็นภาพที่ปรากฏเฉพาะขึ้นของนักปฏิบัติในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์, กสิณ หรือบริกรรมจากการปฏิบัติภาวนา และยิ่งเกิดง่ายขึ้นเมื่อมีผู้ฝึกสอนที่นักปฏิบัติเชื่อหรือศรัทธาอย่างอธิโมกข์คอยโน้มน้าวจิตให้เห็นในสิ่งต่างๆนั้น

    เสียงนิมิต การได้ยินเป็นเสียง อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นเหตุหรือเป็นสำคัญ เช่น เป็นเสียงเตือนระวังอะไรๆ เสียงสั่งสอน เสียงเทพ เสียงผีเสียงปีศาจ เสียงระฆัง เสียงกลอง เสียงสวดมนต์ เสียงพูดต่างๆ เสียงคนพูดบอกกล่าวต่างๆ แม้แต่เสียงในใจจากผู้ที่พบปะ ฯ. แล้วย่อมน้อมเชื่ออย่างรุนแรงด้วยอธิโมกข์ เพราะอวิชชาเป็นเหตุ

    นามนิมิต เป็นความคิดหรือความรู้ที่ผุดแสดงแวบปิ๊งขึ้นในใจ อันมักเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติที่ไปพัวพัน แต่มิได้เกิดแต่ปัญญาไปเห็นความจริง เช่น เกิดความคิด ที่คิดว่าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องราวที่หมกมุ่นพิจารณา หรือศึกษา หรืออยากรู้ หรือเป็นความรู้ในธรรมต่างๆนาๆที่พิจารณา ซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้ แต่มักจะผิดถ้าไม่ได้เกิดแต่การพิจารณาโดยปัญญา อย่างถูกต้อง และเมื่อบังเอิญเกิดถูกต้องขึ้นบ้าง ก็กลับเป็นบ่อเกิดของอธิโมกข์อันแรงกล้าในภายหน้า

    นิมิตเหล่านี้ มักเกิดขึ้นในภาวะของภวังคจิตที่จะกล่าวในลำดับต่อไป จิตจึงเกิดการอธิโมกข์น้อมเชื่ออย่างรุนแรงแต่เป็นไปอย่างผิดๆหรือขาดเหตุผล จึงยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสในข้อญาณ คือมิจฉาญาณ คือไปยึดไปเข้าใจว่าความเข้าใจเหล่านั้นเป็นไปอย่างถูกต้องแน่นแฟ้นด้วยอธิโมกข์เป็นเครื่องหนุน

    บางครั้งยังเกิดนิมิตทางจมูกก็ยังมี คือ ได้กลิ่นอันเกิดแต่ใจตนเป็นเหตุ ก็ยังมีได้ เช่นเกิดจากจิตเป็นกังวลหมกมุ่น ฯ.

    อนึ่งเป็นสิ่งที่น่ารู้ไว้อย่างยิ่งว่า นิมิต นั้นเมื่อปฏิบัติไปด้วยความเชื่อจนเกิดการสั่งสม ความชำนาญขึ้น บางครั้งนิมิตนั้นก็เกิดขึ้นในวิถีจิตหรือวิถีชีวิตปกติได้เช่นกัน กล่าวคือเมื่อเคยเกิดนิมิตขึ้นในขณะปฏิบัติแล้ว ซึ่งแรกๆก็มักเกิดขึ้นจากการปฏิบัติพระกรรมฐานโดยตรง แล้วเกิดนิมิตขึ้น จนเกิดการเห็นการใช้ในนิมิตต่างๆชำนาญขึ้นโดยไม่รู้ตัว เมื่อเกิดการสั่งสมได้ระยะหนึ่งจนเกิดความชำนาญ จึงอาจเกิดนิมิตได้แม้ในยามวิถีจิต(วิถีชีวิตที่มีการรับรู้ตามปกติ)นี่เอง เมื่อน้อมนำหรือถูกกระตุ้นเร้าขึ้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี และมักเข้าใจผิดไปยึดไปเชื่อกันว่าถูกต้องแน่นนอนเป็นอิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์ จึงพาให้ทั้งตนเองและอีกทั้งผู้อื่นพากันไปหลงเชื่ออย่างหัวปักหัวปำ(อธิโมกข์)ในสิ่งที่เห็น หรือในสิ่งที่เข้าใจไปนั้นๆ ก็ด้วยอวิชชานั้นแล
    นิมิต
    นิมิต นั้นก็เช่นสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก คือดีแท้ๆก็ไม่มี ชั่วแท้ๆก็ไม่ใช่ จึงมีทั้งดีและชั่ว ถูกหรือผิด ขึ้นกับผู้ใช้หรือนักปฏิบัตินั่นเอง ล้วนเป็นไปคล้ายหลักมัชฌิมาหรือทางสายกลาง กล่าวคือ มิใช่ตรงกลาง แต่ไม่สุดโต่งไปทางดีทางชั่วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว เหมือนดังยา ถ้ากินดีถูกต้องก็มีประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีก็ย่อมให้โทษอันรุนแรงได้ นิมิตก็เฉกเช่นเดียวกันกับยา
    นิมิตที่ดีนั้น หมายถึงนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วทำให้นักปฏิบัติเกิดปัญญา คือเกิดนิพพิทาญาณ คือเกิดความหน่ายจากการรู้ความจริง จึงย่อมคลายความกำหนัดความอยากจากปัญญาที่ไปรู้ความจริงชัดเจนจากการปรากฎหรือแสดงขึ้นสอนของนิมิตอย่างแจ่มชัดจนน้อมเชื่อหรือเข้าใจ ดังเช่น การปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยพิจารณาอสุภ(อสุภกรรมฐาน) กล่าวคือเอาภาพอสุภหรือซากศพเป็นกสิณหรืออารมณ์ แล้วเกิดนิมิตเห็นภาพปรากฏขึ้นของอสุภซากศพในลักษณะต่างๆแสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งน่าสังเวช น่ารังเกียจด้วยปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯ. ทั้งในร่างกาย จะแม้ของตนหรือผู้อื่นก็ตามที จนเกิดความหน่าย จึงคลายกำหนัดในราคะ หรือความยึดถือในตัวตนของตนเอง อย่างนี้ก็พึงถือว่าเป็นนิมิตที่ทำหน้าที่อันดีงามในการปฏิบัติ

    ส่วนนิมิตที่จัดว่าเป็นโทษนั้นหมายถึง นิมิตที่เกิดขึ้นแล้วเป็นบ่วงมารอันยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสต่างๆดังเช่นในข้อโอภาสหรือญาณหรืออธิโมกข์ ฯ. กล่าวคือทำให้นักปฏิบัติเกิดโมหะความหลง จึงเกิดความติดเพลิน เพลิดเพลิน (นันทิ-ตัณหา)อันเนื่องมาจากโมหะความหลงด้วยอวิชชา เช่นว่า เพลิดเพลินไปปรุงแต่งต่างๆ หรือเห็นผิดไปว่าเป็นบุญ เป็นฤทธิ์ เป็นเดช เป็นปาฏิหาริย์ เหนือกว่าผู้อื่น มีอำนาจในการเห็นต่างๆเช่นเห็นอดีต เห็นอนาคต หรือทำไปเพื่อหวังในลาภยศสักการะ,สรรเสริญ,ศรัทธา กล่าวคือก็ล้วนเพื่อประโยชน์ทางโลกหรือโลกิยะที่บางท่านก็เป็นไปโดยไม่รู้ตัวฯลฯ. จึงเกิดการไปยึดติด ยึดถือ ยึดหลง จนติดเพลิน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือความไม่รู้ตามความเป็นจริง และความไม่รู้ตัว และสิ่งที่เห็น(รูปนิมิต)หรือเข้าใจ(นามนิมิต)หรือ
    ได้ยิน(เสียงนิมิต)นั้นมักไม่ถูกต้อง
    เนื่องจากความคิดเห็น(สัญญา)และความไม่เป็นกลางที่แอบแฝงนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัวด้วยตัณหาอุปาทาน จึงทำให้การเห็นเหล่านั้นอันเนื่องจากจิตที่สงบระงับจากกิเลสในฌานสมาธิในระยะแรกๆนั้นเสื่อมไปในที่สุด เพราะความอยากรู้อยากเห็นด้วยกิเลสนั่นแล เพราะการเห็นได้อย่างถูกต้องนั้นต้องประกอบด้วยความเป็นอริยะ คือต้องอาศัยญาณ และ อุเบกขาความเป็นกลาง เป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

    ก่อนอื่นผู้เขียนขอยกคำสอนของเหล่าพระอริยเจ้าที่ได้กล่าวแสดงไว้เกี่ยวกับนิมิตมาแสดง เพื่อให้เป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ ก่อนจะกล่าวในรายละเอียดของนิมิตต่อไป เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาให้เกิดปัญญาอย่างถูกต้องดีงาม เป็นกำลังเพื่อการถอดถอนความเชื่อความเข้าใจอย่างผิดๆในนิมิต ที่อาจพาไปยึดติด ไปยึดหลงอยู่ด้วยความไม่รู้ อีกทั้งโดยไม่รู้ตัว

    "นิมิต ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น(webmaster-คือภาพ,ความคิด ฯ.ที่เกิดขึ้นนั้น) ไม่จริง" หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (อตุโลไม่มีใดเทียม น. ๔๕๔)

    (Webmaster - ที่หลวงปู่กล่าวมีความหมายว่า นิมิตหรือภาพที่เขาผู้ปฏิบัติเห็นนั้น ในบางท่านที่เห็นจริงๆนั้น เขาเห็นเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ อาจมิได้หลอกลวงหรือกล่าวเท็จแต่ประการใด เพียงแต่ว่า สิ่งที่เขาเห็นนั้น มันอาจไม่เป็นจริง เป็นเพียงการเห็นหรือการเข้าใจอันเกิดขึ้นเฉพาะเขา อันมีสาเหตุเนื่องมาจากใจหรือสัญญาของเขาเองเป็นสำคัญ (อันมักเนื่องมาจากสิ่งที่เป็นอารมณ์จากการปฏิบัติ หรือจากความกังวลหรือพัวพันใดๆก็ตามที หรือปรุงแต่งอยู่เสมอๆโดยไม่รู้ตัว จนเป็นปัจจัยให้เกิดนิมิตนั้นๆขึ้นก็ได้โดยไม่ได้ตั้งใจและอีกโดยไม่รู้ตัว)

    บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น
    เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน, เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี, เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี, เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น (webmaster - กล่าวคือ ไปยึดเอานิมิตนั้นเป็นจริงเป็นจัง ถือเป็นของวิเศษ เป็นขั้นมรรคขั้นผลไปเลย)

    ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก................นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร........(หน้า๑๕-๑๖)
    (webmaster - เหตุที่ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรค ก็เนื่องจากในภวังค์นั้นเคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถใช้สติได้อย่างบริบูรณ์นั่นเอง มีคำอธิบายในภายหน้า)

    แท้ที่จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงไม่ใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆคน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวม(หรือก็คือ)เข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี เมื่อผู้มีวาสนา(webmaster - ไม่ได้แปลว่ามีบุญ คลิกดูความหมาย)เคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่ เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็ต้องจมอยู่ปรัก คือนิมิต นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แล อุททกดาบส เป็นตัวอย่าง........(หน้า๑๗)
    เทสก์รังสีอนุสรณาลัย ; เรื่อง สิ้นโลก เหลือธรรม โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

    "นิมิต เมื่ออธิบายมาถึง ฌาน สมาธิ ภวังค์ ดังนี้แล้ว จำเป็นจะลืมเสียไม่ได้ซึ่งรสชาติอันอร่อย คือ นิมิต ซึ่งเกิดขึ้นในระยะของสิ่งเหล่านั้น ผู้เจริญพระกรรมฐานย่อมปรารถนาเป็นอย่างยิ่งแทบทุกคนก็ว่าได้ ความจริงนิมิตมิใช่ของจริงทีเดียวทั้งหมด นิมิตเป็นแต่นโยบาย(อุบายวิธี)ให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงก็มี ถ้าพิจารณานิมิตนั้นไม่ถูกก็เลยเขวไปก็มี ถ้าพิจารณาถูกก็ดี มีปัญญาเกิดขึ้น นิมิตที่เป็นของจริงคือนิมิตเป็นหมอดูไม่ต้องใช้วิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้ก็มี นิมิตนั้นเมื่อจะเกิดก็เกิดเอง เป็นของแต่งเอาไม่ได้ ...........ฯลฯ."
    หลวงปู่เทส เทสก์รังสี (ส่องทางสมถวิปัสสนา)

    "ผู้ที่หลงติดในภาพนิมิต มีหัวรุนแรงกว่าความเห็นวิปลาส.....ฯลฯ"
    หลวงปู่เทส เทสก์รังสี (จาก โมกขุบายวิธี)

    ความเห็นวิปลาส ที่หลวงปู่เทส ได้กล่าวไว้นั้น หมายถึง ทิฏฐิวิปลาส ที่หมายความว่า ความเห็นความเข้าใจที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง ดังนี้

    นิมิตและภวังค์​

    และดังที่หลวงปู่เทส เทสรังสี ได้กล่าวแสดงดังข้างต้น นิมิตนั้นเมื่อจะเกิดก็เกิดเอง เป็นของแต่งเอาไม่ได้นั่นเอง ทั้งยังแล้วแต่วาสนา(กรุณาดูความหมายเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง)การสั่งสม ดังนั้นเมื่อนักปฏิบัติอยากเห็นอยากรู้อยากได้คือตัณหา จึงพยายามน้อมนึกหรือบังคับให้เกิดนิมิต เพื่อให้เห็นโน่น เห็นนี่ เห็นอดีต เห็นอนาคต รู้นั่น รู้นี่ ฯ. เพื่อประโยชน์ไปในทางโลกๆหรือด้วยความเข้าใจผิด จึงเป็นการตกลงสู่ความผิดพลาดทันที เพราะย่อมมักแฝงไว้ด้วยสัญญา,ตัณหาต่างๆ ดังเช่น กิเลสตัณหาความอยากต่างๆนาๆที่นอนเนื่องอยู่ของผู้นั้นๆ ดังนั้นนิมิตหรือภาพหรือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพยายามดังนี้ จึงมักไม่ถูกต้อง เพราะไม่บริสุทธิ์ ถูกบังคับขึ้นคือแอบแฝงด้วยกำลังของกิเลสตัณหาอันแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่นั่นเอง มักแฝงซ่อนเร้นด้วยความอยากให้เกิดขึ้นหรือเป็นไปตามปรารถนาของตนเอง แลแม้กระทั่งของบุคคลอื่นที่มาเกี่ยวข้อง อีกด้วย หรือกล่าวได้ว่านิมิตที่เกิดขึ้นมานั้น ตัวตนหรือตัวกูของกูเป็นผู้ที่เห็นเอง จึงน้อมเชื่อ,น้อมไปเข้าใจ อย่างรุนแรงด้วยยังประกอบด้วยอวิชชาอยู่ ดังนั้นนิมิตที่ยึดติด ยึดเพลิน ด้วยความตื่นตา เร้าใจ ที่อาจเคยเกิดในตอนแรกๆบ้างเป็นครั้งคราวโดยไม่รู้ตัว อันอาจเคยเห็นและเป็นไปอย่างถูกต้องเนื่องจากภาวะไร้นิวรณ์อันมีความบริสุทธิ์พอสมควร และไร้การแอบแฝงปรุงแต่งโดยเจตนาจึงมีความเป็นกลางพอสมควร จึงเสื่อมหายไปในที่สุดเป็นธรรมดา

    นิมิต ในระยะแรกมักเกิดในขณะปฏิบัติพระกรรมฐาน หรือฌานสมาธิ อันมักเกิดขึ้นในช่วงของภวังค์ จึงควรทำความรู้จักภวังค์หรือภวังคจิต ที่ทั้งสามารถสร้างความรู้สึกอันบรรเจิดเป็นสุขและเคลิบเคลิ้มให้แก่นักปฏิบัติ และทั้งยังก่อให้เกิดการฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปต่างๆนาๆในผู้ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ จะได้ไม่พากันไปติดกับอยู่ในบ่วงมารของภวังค์และนิมิตอย่างอธิโมกข์ คือด้วยความงมงายขาดเหตุผลกัน

    ภวังค์​

    ภวังค์หรือภวังคจิต กล่าวคือ เป็นภาวะที่เรียกพื้นจิต ที่หมายถึง ขณะที่จิตหรือภาวะที่จิตหยุดคือไม่มีการรับรู้ในอารมณ์ต่างๆที่เกิดจากการรับรู้ของทวารทั้ง๖ กล่าวคือเป็นภาวะที่จิตหยุดการเสวยอารมณ์(เวทนา)จากภายนอก อันเนื่องมาจากทวารทั้ง ๖ (แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จิตก็อาจยังพอมีสติส่วนหนึ่งที่แค่เพียงพอรับรู้แค่จิตภายในตน ดังเช่น รับรู้ในสัญญาความจำที่อาจผุดขึ้นมาได้เองโดยขาดเจตนาโดยตรง หรืออาจแทรกจรเข้ามาด้วยความตั้งใจมั่นไว้หรือศรัทธา นี่เองจึงอาจทำให้เห็นนิมิตต่างๆได้เมื่ออยู่ในภวังคจิต)

    ส่วนภาวะจิต ที่จิตมีการรับรู้อารมณ์ภายนอกอันเกิดแต่ทวารทั้ง ๖ หรือในการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนั่นเอง เรียกกันว่า " วิถีจิต " อันเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของปุถุชนในชีวิต, สภาวะทั้ง ๒ นี้ จึงเกิดขึ้นในลักษณะที่เกิดดับสลับกันนั่นเอง กล่าวคือเมื่อไม่อยู่ในวิถีจิตเมื่อใด ก็เกิดภวังคจิตขึ้นแทน เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นจากการเสวยอารมณ์จากทวารทั้ง๖ ภวังคจิตก็ดับไป

    ภวังคจิต ที่เกิดในฌาน,สมาธิ แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ

    แบบแรก ภวังคบาต บาตที่แปลว่าตก จึงหมายถึงการตกลงไปหรือการตกเข้าสู่ภวังค์นั่นเอง, ภวังคบาตเมื่อเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติสมถะนั้น อาจเป็นไปในลักษณะที่รู้สึก เคลิบเคลิ้มแล้ววูบๆวาบๆ เป็นๆหายๆ กล่าวคือรู้สึกเคลิบเคลิ้มแล้วรู้สึกวูบหรือเสียววูบดุจดั่งตกทิ้งดิ่ง คล้ายตกเหวหรือตกจากที่สูง จึงเรียกกันว่าตกภวังค์ตรงๆเลยก็มี มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดั่งสายฟ้า เป็นแบบเคลิบเคลิ้มไม่รู้สติ ไม่รู้ตัว ควบคุมไม่ได้ กล่าวคือถ้าบริกรรมหรือกำหนดจิตแน่วแน่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด(อารมณ์)ก็ตามที เช่นลมหายใจ หรือหรือพุทโธ หรืออยู่กับการพิจารณาธรรมใดๆ สิ่งหรืออารมณ์นั้นก็จะวูบหายไป และอาจประกอบด้วยความรู้สึกเสียววูบวาบ ราวกับว่าตกจากที่สูง วูบหวิวขึ้นก็ได้ และอาจจะประกอบด้วยภาพนิมิตสั้นๆอันเกิดแต่จิตภายในตนขึ้น มักเกิดขึ้นช่วงระยะสั้นๆ แล้วก็อาจมีสติกลับไปอยู่กับอารมณ์เดิมหรือคำบริกรรมเดิม อาจเกิดหลายๆครั้ง หรืออาจจะเคลิบเคลิ้มลงภวังค์ไปจนแน่นิ่งหรือจนหลับไหลไปเลยด้วยความสบายอันเกิดจากอำนาจของภวังค์เอง ดังนั้นเมื่อเกิดภวังค์ดังนี้ขึ้นก็ให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา อย่าไปตกใจหรือดีใจ อย่าไปฟุ้งซ่านจึงปรุงแต่งไปต่างๆนาๆ เป็นเรื่องของธรรมชาติธรรมดาในการปฏิบัติ อย่าไปปรุงแต่งฟุ้งซ่านหรือเชื่อเขาว่า เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นปาฏิหาริย์ เป็นฤทธิ์ เป็นเดช และยังมักไปเข้าใจผิด หรือสอนกันผิดๆอีกด้วยว่า จิตหรือวิญญาณกำลังจะออกไปจากร่างดังเจตภูต หรือดังปฏิสนธิจิตตต์หรือปฏิสนธิวิญญาณก็ยังมี ฯ. ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นเพียงอาการแสดงว่า จิตเริ่มเป็นสมาธิในระดับหนึ่งเท่านั้น แล้วเกิดภวังค์หรือภวังคจิตขึ้น เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาในขั้นตอนของการปฏิบัติทั้งฌานและสมาธิที่มีจุดประสงค์ไปในการเป็นเครื่องหนุนการเจริญวิปัสสนา, อาการที่เกิดขึ้นนั้น เกิดแต่จิตหยุดการรับรู้การเสวยอารมณ์ภายนอกจากทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจในขณะจิตนั้นๆ รับรู้อยู่ก็แต่เพียงจากจิตภายใน(สัญญา)บ้างเท่านั้น เรียกภวังค์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังอสุนีบาตหรือสายฟ้าฟาดนี้ว่า ภวังคบาต กล่าวคือ เกิดอาการลงภวังค์คือตกวูบลงไปอย่างรวดเร็วดังสายฟ้าฟาด แล้วอาจมีสติวาบหรือแว๊บกลับมาอย่างรวดเร็วก็ได้เช่นกัน จึงได้เกิดอาการวูบวาบ ดั่งกายทิ้งดิ่งลงจากที่สูง หรือดิ่งลงเหว จึงรู้สึกดังที่กล่าว

    ที่ภวังคบาตนี้นี่เอง จึงมีการไปเข้าใจกันว่าเป็นลักษณะของเจตภูต หรือกายทิพย์หรือวิญญาณ กำลังชักคะเย่อกันเพื่อจะออกจากร่างหรือกายหยาบเสียก็มี จึงได้รู้สึกวูบวาบดังนั้น จนตกใจกลัวก็มี จึงเป็นที่วิตกกังวลจนไม่กล้าปฏิบัติก็มี และเป็นที่วิพากวิจารณ์เล่าขานอีกทั้งปรุงแต่ง จนเป็นตำนานสืบต่อมาต่างๆกันไป ตามความเชื่อความเข้าใจอันเป็นมิจฉาทิฏฐินั้นๆของนักปฏิบัติและผู้สอน

    แบบที่ ๒ ภวังคจลนะ จลนะ มาจากคำว่าจลน์ที่แปลว่า เคลื่อนที่,เคลื่อนไหว ภวังคจลนะจึงเป็นภาวะที่จิตเคลื่อนลงสู่ภวังค์ไปอย่างบริบูรณ์ ไม่มีสติกลับคืนมา จึงไม่รู้สึกวูบแล้ววาบหรือแว๊บกลับมาดังภวังคบาตข้างต้น ดังนั้นจิตจึงหยุดการรับรู้อารมณ์จากทวารทั้ง ๖ ตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติของภวังค์เอง ด้วยเหตุนี้ดังนั้นในระยะแรกๆหรือบางครั้งอาจมีอาการของความรู้สึกราวกับว่ามือ,เท้าหรือองคาพยัพบางส่วนได้เลือนหรือหายไปก็มี, ที่ภวังคจลนะนี้นี่เอง ที่แม้หยุดการรับรู้จากทวารทั้ง ๖ ดังกล่าวแล้วก็ตามแต่จิตก็ยังมีการเคลื่อนไหว(จลน์) กล่าวคือ จิตยังมีการไหลเลื่อนท่องเที่ยวเตลิดเปิดเปิง หรือเพลิดเพลินไปในอารมณ์ภายในหรือจิตภายในของตนหรือก็คือส่วนหนึ่งของสัญญาตน คือซ่านอยู่ในภาวะของภวังค์เอง และไม่มีอาการสติ วาบแว๊บกลับมาดังภวังคบาตข้างต้น จริงๆแล้วจึงขาดสติต่ออารมณ์ภายนอก กล่าวคือ มีสติก็แค่เพียงรู้อยู่แต่จิตภายในหรือภวังค์ของตนเท่านั้น จึงขาดสัมปชัญญะ จึงไร้ที่ยึด, ไร้ที่หมายในอารมณ์ภายนอกโดยตรง ก็เพราะขาดการเสวยอารมณ์หรือความรู้สึกรับรู้จากภายนอกอันเกิดแต่ทวารทั้ง ๖ เหลืออยู่แต่การรับรู้อารมณ์ที่เกิดแต่จิตภายในของตนแต่ฝ่ายเดียว จึงค่อนข้างบริสุทธิ์และมีกำลังมากเพราะขาดการเข้าไปฟุ้งซ่านหรือขาดการวุ่นวายปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก แต่เมื่อขาดสติอันย่อมเนื่องกับปัญญาดังนั้นจิตจึงย่อมไร้การควบคุม จึงเคลื่อนไหวหรือไหลเลื่อนล่องลอยไปตามกำลังหรือสัญญาของจิตตนเอง ในสภาวะของภวังค์เองก็มีอาการสุข สบาย เคลิบเคลิ้ม เพราะการขาดจากการรบกวนแทรกซ้อนของอารมณ์จากภายนอกจึงรวมถึงกิเลส(นิวรณูปกิเลส)อันก่อความขุ่นมัวต่างๆจากภายนอกทั้งปวง คือเหล่ากิเลสในนิวรณ์ทั้ง ๕ จึงระงับไปในระยะนั้นทั้งหมด ดังนั้นสติอันเป็นอาการหนึ่งของจิต(เจตสิก)ที่เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงค่อนข้างบริสุทธิ์ในภาวะนี้ แต่ก็ทำให้เปราะบางและอ่อนไหวเป็นที่สุดเช่นกัน เนื่องจากขาดสติในสิ่งอื่นๆ คือขาดสัมปชัญญะที่เป็นเกราะป้องกันภัย จึงอาจไปไวต่อการรับรู้จากภายนอกที่อาจเกิดการแทรกซ้อนหรือแวบหลุดเข้าไปได้บ้าง หรืออาจเกิดขึ้นแต่ความคิดที่เกิดแต่จิตภายใน(จิตตน)ที่ผุดขึ้นมาเองจากสัญญาบ้าง ในภาวะเช่นนี้นี่เอง ที่เกิดนิมิตและโอภาสได้ต่างๆนาๆขึ้นได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะจิตทำกิจอยู่แต่ในสิ่งๆเดียวเท่านั้น ไม่ได้แบ่งแยกไปหน้าที่ในอายตนะหรือทวารใดๆอีกเลย ก็เนื่องจากขาดหยุดการรับรู้ทางอายตนะหรือทวารทั้ง ๖ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว, จึงมีกำลังให้เห็นเป็นไปต่างๆอย่างชัดเจนตามสิ่งที่อาจหลุดแทรกซ้อนเข้าไปด้วยใจตั้งมั่นภายในหรือกำลังศรัทธา หรือจากจิตภายในที่ผุดขึ้นมานั่นเอง ภาวะของภวังค์ที่เป็นแบบนี้เรียกว่า ภวังคจลนะ คือ ภวังค์ที่มีการเคลื่อนไหวไหลเลื่อนท่องเที่ยวหรือซ่านไปในอารมณ์ที่เกิดแต่ภายในของตนเป็นสำคัญ

    ในสภาวะนี้นี่เอง ถ้าการปฏิบัติไม่ถูกต้องดีงาม ไปในทางมีปัญญาหรือวิปัสสนา คือ ไม่มีการตั้งสติพิจารณาธรรม หรือบริกรรมก่อสติโดยการวิตกวิจารหรือสมาธิไว้เป็นแนวทางอันถูกต้องดีงามแต่เบื้องต้นเสียก่อนแล้ว หรือมีอาจารย์,ผู้สอนชี้แนว ที่นักปฏิบัติอธิโมกข์คอยจูงจิตหรือป้อนความคิดไปผิดทางด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา)ให้เห็น หรือคิด หรือเพ่งในสิ่งใด จิตที่ขาดสตินั้นก็จะถูกชักจูงเลื่อนไหลไปให้เกิดเห็นนิมิตนั้นๆขึ้น หรือเกิดความเข้าใจ(นามนิมิต)ต่างๆไปตามคำสอนหรือชักจูงนั้นๆ, จึงเกิดการเห็น ,ความเข้าใจไปตามนั้น ในสภาวะภวังคจลนะนี้นี่เอง แล้วไปยึดติด, ยึดถือ, ยึดเชื่อด้วยอำนาจของอธิโมกข์อันเป็นวิปัสสนูปกิเลส จึงเป็นการน้อมเชื่อโดยขาดการพิจารณาขาดเหตุผล และเป็นไปอย่างรุนแรงด้วยอำนาจของวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติฌานและสมาธิเป็นเครื่องอุดหนุน จึงเกิดการเข้าใจธรรมกันอย่างผิดๆ ดังไปยึดไปเชื่อในสิ่งที่ไปเที่ยว ไปเห็นในสิ่งต่างๆ เช่น ภาพที่เป็นกสิณนั้นๆ หรือตามเสียงที่แว่วมาของผู้ที่นักปฏิบัติมีศรัทธาตั้งใจฟังอยู่ จึงเห็นใน นรก สวรรค์ วิมาน เทวดา พระพุทธเจ้า แสง สี เสียงต่างๆ อันล้วนแล้วแต่ย่อมวิจิตร ชวนตื่นตา เร้าใจ เพราะย่อมไม่เคยพบเคยเห็นเยี่ยงนี้มาก่อนเลยในชีวิต และยังกอปไปด้วยความแสนสุข สงบ สบาย ด้วยความอธิโมกข์ยิ่งเพราะความที่ตัวกูเป็นผู้เห็น, ตัวกูเป็นผู้กระทำเองด้วยตัวกูเอง จึงพากันยึดติด ยึดถือ ยึดเชื่อ แล้วยังปรุงแต่งกันไปอีกต่างๆนาๆด้วยอวิชชา ผู้เขียนกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินไปในการวิปัสสนา เพื่อจะไม่ไปยึดไปอยากให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสจนไม่สามารถดำเนินไปในธรรมได้ และขอร้องอย่าให้ผู้ใดนำความรู้ความเข้าใจในการบรรยายเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อประโยชน์ทางโลก อันจักเป็นกรรมอันเกิดแต่เจตนาจึงต้องได้รับวิบากการสนองตอบอย่างแสนสาหัสในภาคหน้า และรับรองว่าไม่สามารถหลีกหนีหรือคดโกงได้ ผู้รู้ผู้เข้าใจด้วยปัญญาได้แล้วก็พึงแก้ไขเสีย อย่าปล่อยให้เป็นวิบากกรรมของตนและผู้อื่นสืบต่อไปอีกเลย

    ณ ที่ ภวังคจลนะ นี้นี่เอง ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเชื่อ,ความเข้าใจอันอาจมาจากการอ่าน,การฟัง,การปฏิบัติ,การสอน อย่างผิดๆหรือด้วยอวิชชาความไม่รู้ ตลอดจนความตะลึงพึงเพลิดและความอัศจรรย์ใจในสิ่งอันวิจิตรที่ไม่เคยประสบพบมาก่อน ก็มักพาให้เตลิดเปิดเปิงออกไปปรุงแต่งทางฤทธิ์ ทางเดช ทางปาฏิหาริย์เสียโดยไม่รู้ตัว ตลอดจนเกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่าได้มรรคผลใดแล้ว อันล้วนเป็นเส้นทางนำพาไปสู่ความวิปลาสและวิปัสสนูปกิเลส อันจักนำพาให้เป็นทุกข์มากกว่าเดิมเสียอีกในภายหน้าเป็นที่สุด

    ผู้เขียนเองแต่แรกปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติพระกรรมฐานด้วยมุ่งหวังดับทุกข์ แต่ไปปฏิบัติอยู่แต่ในสมถสมาธิเสียแต่ฝ่ายเดียวด้วยเข้าใจผิดด้วยอวิชชา กล่าวคือไม่เคยนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาหรือวิปัสสนาในทางให้เกิดปัญญาอย่างจริงจังเลย แต่เข้าใจผิดไปว่าได้กระทำวิปัสสนาดีแล้วในการท่องบ่น จึงมัวแต่เสพเสวยแต่ความสุข ความสงบ ความสบาย ความวิจิตรแต่ฝ่ายเดียวจากฌาน,สมาธิ ด้วยเข้าใจว่าเป็นอานิสงส์ผลของบุญแท้ๆแล้ว, ดังนั้นเมื่อเกิด โอภาส แสงเจิดจ้าสว่างสวยงามชวนพิศวง หรือรูปนิมิตต่างๆ หรือสิ่งชวนพิศวงต่างๆ ไปเห็น ไปเข้าใจในสิ่งใดขึ้นมาก็เข้าใจผิด,เห็นผิดไปว่า ตนอยู่ในฌาน ๔ อันพระอริยเจ้าทรงสรรเสริญเสียแล้วด้วยอวิชชา ทั้งๆที่ตนนั้นกำลังเตลิดเปิดเปิงท่องเที่ยวและเสพรสอย่างหลงระเริงแลมัวเมาไปในนิมิตภายในภวังคจลนะนี้นี่เอง

    นิมิตที่เกิดในภวังคจลนะนี้ ก็อาจเกิดขึ้นแก่คนใกล้ตาย หรือสลบลึกหรืออาการโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มีบ้าง ที่เมื่อฟื้นคืนสติก็จะมาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆนาๆอันน่าพิศวงด้วยอธิโมกข์ ที่เกิดแต่ภวังคจลนะด้วยอวิชชา เกิดแต่ในขณะนั้นกายอยู่ในภาวะวิกฤติจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุใดๆก็ตามทีอย่างรุนแรง หรือการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง กายจึงปิดการรับรู้จากทวารทั้ง ๖ โดยสิ้นเชิง กล่าวคือเข้าสู่ภวังคจลนะโดยธรรมหรือความบังเอิญโดยธรรมชาติเอง ที่บางสภาวะร่างกายสามารถป้องกันตนเองจากการรับรู้ที่เกินวิสัยหรือเกินขีดจำกัด ฯ. เมื่อวิถีจิตถูกปิดกั้นโดยกลไกของธรรมชาติของชีวิตจากความเจ็บป่วยไข้หรืออุบัติเหตุ จิตเกิดการเข้าเลื่อนไหลเข้าสู่ภวังค์ และเป็นภวังค์แบบภวังคจลนะนี้นี่เองได้โดยธรรมชาติ ที่อาจเคยฝึกสั่งสมมา หรือแม้ไม่เคยฝึกหัดหรือปฏิบัติมาก่อนแต่อย่างใดก็เป็นได้ แล้วเตลิดเปิดเปิงท่องเที่ยวไปในจิตภายในหรือก็คือตามสัญญาความจำความรู้ความเชื่อของตน จึงเกิดการเห็นนิมิตต่างๆนาๆขึ้นได้อย่างชัดเจน เช่นเห็นแสงสีอันเจิดจ้าวิจิตร(โอภาส) ทั้งเห็นหรือทั้งได้ยินเทวดา นางฟ้า พญายม ยมทูต วิมาน นรก สวรรค์ พระอรหันต์ พระพุทธรูป พระพุทธเจ้า ญาติโกโหติกาทั้งหลายที่ตายไปแล้วบ้าง สุขทุกข์ เรื่องราวต่างๆในอดีต กรรมดี กรรมชั่ว ตามสัญญาของเขาที่สั่งสมไว้มานานแสนนานไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น ฯลฯ. ถ้าเป็นปุถุชนในศาสนาอื่นๆก็จะเห็นเป็นไปหรือโน้มน้อมไปตามสัญญาของทางฝ่ายเขา เช่น เห็นแสงเจิดจ้าส่องลงมาจากท้องฟ้าคือสรวงสวรรค์บ้าง แสงหรือสิ่งที่เห็นเหล่านี้ก็คือโอภาสดังในการปฏิบัติสมถสมาธินั่นเอง เห็นพระเจ้า เห็นเทวดาต่างๆนาๆตามแบบที่นับถือหรือตามความเชื่อหรือสัญญาของฝ่ายเขานั่นเอง หรืออาจเห็นญาติพี่น้องคนรู้จักที่ล่วงลับไปแล้ว ความดี ความชั่ว สุข ทุกข์ เรื่องราวต่างๆแต่อดีตบ้าง ฯ. อันมีรากฐานตามสัญญา ความเชื่อ ความนับถือ ความศรัทธา ความอธิโมกข์ของฝ่ายเขานั่นเอง, ดังนั้นการเห็นเป็นไปที่แตกต่างผิดแผกกันนั้น จึงไม่ใช่เพราะการมีพระเจ้า หรือศาสนา หรือเชื้อชาติ หรือภาษา หรือนรกสวรรค์ที่ต่างกันไป แต่เป็นไปเพราะสัญญาที่สั่งสมแตกต่างกันไปตามทิฏฐิความเชื่อความเข้าใจ

    ผู้ที่เห็นในสิ่งเหล่านั้นถ้าฟื้นคืนสติขึ้นมาได้ ถ้ามีปัญญาบ้าง ก็จะเกิดกลัวความชั่ว ก็จะเป็นผู้ใฝ่ดี อยู่ในศีล ในธรรมของฝ่ายตน เป็นกำลังอันดีงามของสังคมนั้นๆ อันย่อมเป็นจุดมุ่งหมายอันดีงามของทุกศาสนา และย่อมยังประโยชน์ส่วนตนและโลกขึ้นเป็นที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถดับหรือหลุดไปจาก "ภพ ชาติ" อันเป็นทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดโดยสิ้นเชิงโดยบริบูรณ์ ที่ต้องอาศัยปัญญาญาณในธรรม

    ส่วนในผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง ย่อมแสวงหาทางดับภพ ชาติ ไม่ให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏหรือในกองทุกข์อีกต่อไป.

    ส่วนผู้ที่ไปหลงผิดด้วยอวิชชา ย่อมเกิดความเข้าใจผิด บ้างจึงพยายามฝึกปรือหรือน้อมจำสภาพที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาใช้งานหรือประโยชน์ทางโลกอย่างผิดๆด้วยว่าเป็นฤทธิ์ บ้างก็หลงงมงายไปเลย กล่าวคือ บูชา นับถือ ยึดมั่น ถือมั่น เผยแพร่ไปอย่างผิดๆตามความเชื่อในนิมิตที่เกิดขึ้นนั้นๆ กล่าวคือ เกิดอธิโมกข์ คือศรัทธาหรือความน้อมใจเชื่ออย่างรุนแรงแต่อย่างผิดๆหรืออย่างหลงผิด อันเป็นกิเลสชนิดวิปัสสนูปกิเลสนั่นเอง ที่ใครจะพูดจะเตือนอย่างไรก็ย่อมไม่ฟังไม่เข้าใจไม่ยอมรับด้วยกำลังของวิปัสสนูปกิเลสอันแรงกล้า

    ที่ภวังคจลนะนี้นี่เอง ที่มักชักจูงพาให้เข้าใจกันไปว่า เป็นเจตภูตบ้าง หรือกายทิพย์บ้าง หรือวิญญาณของตนบ้าง ได้ถอดออกจากร่างไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ตามปรภพ สวรรค์ นรก จึงได้เห็นนู่น เห็นนี่ ต่างๆนาๆ จนถึงขั้นเป็นตำนานที่มีการบันทึกกล่าวขาน ถ่ายทอดสืบต่อๆกันมาอย่างช้านานและอย่างมากมาย จนเป็นที่ปรารถนา ตลอดจนเป็นที่วิจิกิจฉาจนถกเถียงกันมาอย่างช้านานโดยทั่วไป และที่ภวังคจลนะนี้นี่เองที่เกิดขึ้นในการสะกดจิตได้เช่นกัน จึงเกิดสัญญาหรือเห็นในสิ่งต่างๆที่เคยเกิดเป็นในอดีตได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากจิตอยู่ในภวังค์ไม่ซัดส่ายไปในสิ่งอื่นๆ แต่ไปแน่วแน่ในสัญญาจำได้ของตนตามการจูงจิตของผู้สะกดจิต แต่ก็ยังระลึกเห็นได้อย่างผิดๆได้อีกด้วยเช่นกัน ถ้าผู้สะกดจิตชี้ช่องแนะนำจูงจิตไปผิดๆ

    วิธีแก้ไขเมื่อลงไปสู่ภวังค์และท่องเที่ยวเลื่อนไหลไปในจิตภายในก็คือ เมื่อจิตท่องเที่ยวเลื่อนไหลไปจนอิ่มตัว กล่าวคือเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ให้กลับมาอยู่ที่จิตหรือก็คือสติหรือก็คือผู้รู้นั่นเอง ตามแต่จะสื่อเรียกกัน จึงไม่ควรปล่อยให้ท่องเที่ยวเลื่อนไหลต่อไปโดยเจตนาหรือแม้ไม่เจตนาก็ตามที จะด้วยเพราะสนุก,สุข,สบายหรือโดยเข้าใจผิดใดๆก็ตามที.

    แบบที่ ๓ ภวังคุปัจเฉท เป็นลักษณะที่จิตลงภวังค์แล้วขาดความรู้สึกรับรู้อารมณ์ภายนอกดังภวังคจลนะข้างต้น และขาดการรับรู้จากอารมณ์ภายในด้วย เพราะไม่ท่องเที่ยวไปในภายใน ด้วยเป็นวสี ที่เรียกว่าอธิฏฐานวสี คือมีความชำนาญคล่องแคล่วในการที่จะตั้งจิตหรือรักษาจิตไว้มิให้ฌานจิตต์นั้นตกภวังค์ กล่าวคือมีสติ ที่เกิดขึ้นจากการสั่งสม, ความชำนาญจากการปฏิบัตินั่นเอง จึงมีสติไม่ปล่อยให้จิตเพลิดเพลินเตลิดเปิดเปิงหรือซ่านไปในอารมณ์ของภวังค์ หรือสัญญาภายในของตน ดังเช่นที่เกิดในภวังคจลนะข้างต้น แต่ถึงอย่างไรก็ดีสตินี้ ก็เพียงแค่รู้อยู่ในองค์ฌานต่างๆ เช่น เอกัคคตารมณ์ ยินดีอยู่ในความสงบ(อุเบกขา) แต่ขาดสัมปชัญญะ เป็นลักษณะของฌานต่างๆนั่นเอง จึงเป็นที่พักผ่อนของจิตจึงสร้างกำลังของจิตอันดียิ่ง แต่ย่อมไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ ด้วยสติไม่บริบูรณ์นั่นเอง ต้องถอนออกมาจากความสงบความสบายเหล่านั้นเสียก่อนจึงเจริญวิปัสสนาได้ ซึ่งย่อมให้กำลังมาก เรียกภวังค์แบบนี้ว่า ภวังคุปัจเฉท

    ภวังคุปัจเฉทนี้นี่เอง ที่เป็นที่ปรารถนาของนักปฏิบัติ และเกิดแก่พระอริยะทุกท่านในการปฏิบัติฝ่ายสมถสมาธิฝ่ายรูปฌาน เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่และเป็นกำลังจิตอันดีเลิศ แต่ถ้านักปฏิบัติไปหลงติดเพลิน(นันทิ)ในความสงบ สุข สบาย อันเกิดขึ้นจากภวังค์ต่างๆ แม้แต่ในภวังคุปัจเฉทอันแม้พระอริยเจ้าก็สรรเสริญนี้ก็ตามที ก็ย่อมกลับกลายเป็นให้โทษเสียทันที กลับกลายเป็นรูปราคะในสังโยชน์อันละเอียดและรุนแรงเสียยิ่งเสียกว่ากามราคะเสียอีก ดังนั้นทุกครั้งที่ถอนออกมาฌานสมาธิ ที่แม้ถึงซึ่งภวังคุปัจเฉทนี้แล้วก็ต้องนำกำลังอันยิ่งนั้นมาใช้ในการเจริญวิปัสสนาด้วยทุกครั้ง อย่าปล่อยให้ความสุขสบายครอบงำเสียจนไม่ปฏิบัติวิปัสสนา เพราะจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการติดเพลินหรือเพลิดเพลินในความสุขสงบในที่สุด และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคืออย่าให้เกิดขึ้นและเป็นไปดังที่ท่านหลวงตามหาบัว ได้กล่าวสอนไว้ใน เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติ สมาธิ - ปัญญา ความว่า

    "หลักใหญ่ให้จิตสงบได้นั้นแหละเป็นของดี เพียงจิตสงบเท่านั้นก็ตัดความกังวลวุ่นวาย ซึ่งเคยประจำจิตเสียดแทงจิตออกได้โดยลำดับลำดา จนถึงกับเป็นขั้นสบาย เพราะฉนั้นผู้ภาวนาเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงมักขี้เกียจในการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา นอนจมอยู่กับสมาธินั้นเสียไม่ออกพินิจพิจารณา สุดท้ายก็เข้าใจว่าความรู้ที่แน่วแน่แห่งความเป็นสมาธิของตนนั้น จะเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย ในข้อนี้ผมเคยเป็นมาแล้ว จึงได้นำมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ว่าสมาธิต้องเป็นสมาธิ ปัญญาต้องเป็นปัญญา เป็นคนละสัดเป็นคนละส่วน เป็นคนละอันจริงๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน หากเป็นอยู่ในจิตอันเดียวกันนั่นแล เป็นแต่เพียงไม่เหมือนกัน" (จาก หลักเกณฑ์การปฏิบัติ สมาธิ - ปัญญา โดย ท่านหลวงตามหาบัว)

    อาการของนิมิตและภวังค์ดังที่กล่าวมาเหล่านี้ เกิดมากน้อยในนักปฏิบัติแตกต่างกันไป แล้วแต่ฌานวิสัยอันเป็นอจินไตย อาจมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ที่กล่าวดังนี้มิใช่ผู้เขียนกล่าวเลี่ยงแต่ประการใด แต่มันเป็นจริงเช่นนั้นเอง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง ณานสมาธิ เพราะขึ้นอยู่แต่จริต สติ ปัญญา การสั่งสม ตลอดจนแนวการปฏิบัติ ฯ. แต่ถ้านักปฏิบัติเป็นวิปัสสนูปกิเลส หรือมีจริตกระทำบ่อยๆด้วยติดใจหรือติดเพลินหรือด้วยอธิโมกข์ หรือหัดน้อมจิตฝึกหัดให้เห็นภาพขึ้นในใจอยู่บ่อยๆ กล่าวคือสั่งสมทำอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ก็ย่อมเกิดการสั่งสม,ความชำนาญขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการน้อมนึกเห็นนิมิตต่างๆแม้ในวิถีจิตตามปกติธรรมดาขึ้นได้ และก็มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในผู้ที่ปล่อยเลื่อนไหลไปแต่ในฌานสมาธิเป็นระยะเวลานานๆโดยขาดการวิปัสสนา แต่ก็จะเป็นไปในที่สุดเหมือนนิมิตในการปฏิบัติดังที่หลวงปู่ดูลย์ ได้กล่าวถึงไว้ว่า "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง" เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนิมิตส่วนใหญ่เกิดแต่สัญญาหรือใจของนักปฏิบัติ แล้วยังร่วมด้วยการไปปรุงแต่งอีกต่างๆนาๆ ทั้งยังร่วมอีกด้วยอวิชชา จึงพากันไปยึดติดยึดเชื่อด้วยอธิโมกข์จนเสียการ ภาพนิมิตที่เห็นที่เกิดอันมิได้มีบาทฐานเกิดมาแต่ญาณความเข้าใจอันเกิดจากการเห็นเหตุอย่างแจ่มแจ้งจึงรู้ผล และอุเบกขาความเป็นกลางอย่างแท้จริง สิ่งที่เห็นจึงผิดไป หรือผิดบ้างถูกบ้างอันเป็นวิสัยปกติธรรมดา แต่ถ้าบังเอิญถูก ก็จักไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นจริงเป็นจัง จึงเกิดการยึดติดจนเป็นอธิโมกข์อันงมงายยิ่งๆขึ้นไป ถ้าผิด ก็ลืมเลือนไปเสีย หรือแก้ตัวแทนตนเป็นพัลวันว่าด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ จึงต่างล้วนแฝงและเป็นไปตามความคิดปรุงของผู้ที่เห็นโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชานั่นเอง อันประกอบไปด้วยความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่ตาเห็น หูได้ฟัง ความคิดที่คิด การสั่งสม และความเชื่อความยึดของผู้เห็นนั่นเองเป็นองค์ประกอบสำคัญ หรือจะกล่าวง่ายๆก็คือ เป็นการแปลงสัญญา หรือความรู้สึก ความเข้าใจ ความคิดต่างๆที่ได้รับเป็นข้อมูลจากอายตนะต่างๆในขณะนั้นเป็นภาพขึ้นมา อันมักเกิดแต่การฝึกฝนและการสั่งสมจากการปฏิบัตินั่นเอง กล่าวคือ เป็นการแปลงความคิดความเห็นให้เป็นภาพขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง ถ้าท่านเข้าใจในเรื่องคอมพิวเตอร์บ้าง ก็เปรียบเสมือนหนึ่งการแปลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์จากโปรแกรมWord ที่ใช้ในการพิมพ์(เปรียบเป็นความคิด) แปลงเป็นไฟว์หรือข้อมูลแบบรูปภาพในโปรแกรมAcrobat (เปรียบดังนิมิตหรือภาพหรือความคิดที่น้อมขึ้น)ในชั่วพริบตานั่นเอง อันเกิดแต่การฝึกหัดและมีฐานข้อมูลและโปรแกรมอยู่แล้วนั่นเอง

    ผู้ที่หลงติดในนิมิตนั้น นอกจากจะมีความเชื่อความยึดที่หลงผิดไปตามรูป เสียง ความคิด ของนิมิตแล้ว จึงทำให้หลงผิดเห็นผิดไม่สามารถดำเนินไปในธรรมได้(วิปัสสนูปกิเลส) เพราะนิมิตก็คือวิปัสสนูปกิเลสในข้อโอภาส และยังทำให้เกิดญาณในวิปัสนูปกิเลสคือมิจฉาญาณอีกดัวย ฯ. ภายหลังยังทำให้เกิดอาการอึดอัดหรือเจ็บป่วยต่างๆเนื่องจาก " จิตส่งใน " ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง"จิตส่งใน เป็นภัยต่อนักปฏิบัติ" เหตุก็เพราะขณะจิตที่น้อมนึกภาพขึ้นนั้น เป็นสภาวะของมิจฉาสมาธิที่ต้องก่อขึ้น ต้องกระทำขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง จึงยังผลให้เกิดการเสพและติดเพลินองค์ฌานขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง อันคือนันทิหรือตัณหา นิมิตที่เห็นหรือเข้าใจจึงเป็นเหยื่อล่อให้ดำเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้ดำเนินไปถึงองค์ธรรมนันทิคือตัณหา ความติดเพลิน,ความติดใจอยาก,ความติดชอบในนิมิตเหล่านั้นเสียแล้ว

    เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับนิมิตและภวังค์ จากคณาจารย์
    คัดจาก เทสก์รังสีอนุสรณาลัย ; เรื่อง สิ้นโลก เหลือธรรม
    โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
    บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น

    ไปถือเอาแสงภายนอก(โอภาส) ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก.................นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร........(หน้า๑๕-๑๖)
    (webmaster - เหตุที่ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรค ก็เนื่องจากในสภาวะของภวังค์นั้น ไม่สามารถใช้สติได้อย่างบริบูรณ์ดังที่กล่าวแสดงไว้ข้างต้นแล้วนั่นเอง

    แท้ที่จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงไม่ใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆคน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวม,เข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่ เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็ต้องจมอยู่ปรัก คือนิมิต นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แล อุททกดาบส เป็นตัวอย่าง........(สิ้นโลก เหลือธรรม หน้า๑๗)

    จาก หลวงปู่ฝากไว้ โดยหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    เรื่อง จริง แต่ไม่จริง
    ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฎผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฎในอวัยวะของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สรรรค์ วิมาน เทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พระพุทธรูปปรากฎอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ ฯ
    หลวงปู่บอกว่า
    "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
    [หลวงปู่กล่าวดังนี้เพราะ ผู้ที่เห็นนั้น เขาก็เห็นจริงๆตามความรู้สึกนึกคิดหรือสังขารที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของสัญญาเขา เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ได้เป็นจริงตามนั้น]

    เรื่อง แนะวิธีละนิมิต
    ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกยังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบ ก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะนำวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล
    หลวงปู่ตอบว่า
    เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น "ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง".

    เรื่อง เป็นของภายนอก
    เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถาม ทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปในหัวใจของเขา บางคนว่า ได้เห็น(นิมิต)สวรรค์ เห็นวิมานของตนเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ
    หลวงปู่อธิบายว่า
    "สิ่งที่ปรากฎเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น(เพราะเป็นเพียงนิมิต อันเกิดแต่อำนาจของสมถสมาธิเท่านั้น ยังไม่ใช่มรรคผลแต่ประการใด) จะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก."

    เรื่อง หลักธรรมแท้
    มีอยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติชอบพูดถึง คือ ชอบโจษขานกันว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง ปรากฎอะไรออกมาบ้าง หรือไม่ก็ว่า ตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฏอะไรออกมาบ้างเลย หรือบางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้น ฯ
    หลวงปู่เคยเตือนว่า การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง
    "หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม."

    ดังนั้นการสอนหรือการปฏิบัติที่ไปยึด,ไปชอบ,ไปเชื่อ ในนิมิตที่เกิดขึ้นแบบต่างๆนาๆ ดังเช่น ภาพ แสง สี เสียง นรก สวรรค์ เทวดา ครูบาอาจารย์ แม้แต่พระพุทธเจ้าฯ. แม้แต่นามนิมิตที่อาจผุดขึ้นแต่ไม่ได้เกิดแต่ปัญญาจากการพิจารณาหาเหตุหาผลก็ตามที ที่เกิดขึ้นในภวังค์ หรือจากการปฏิบัติ จึงเป็นการปฏิบัติที่ยังไม่ถูกต้องแนวทางอย่างแน่นอน และยังให้เกิดโทษในภายภาคหน้าอีกด้วย.
    พนมพร

    ข้อคิด แนวทางการปฏิบัติ
    หลักปฏิบัติ สมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)

    - ให้หยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง มีแต่สติหรือจิตตั้งมั่นอยู่แต่ในอารมณ์ ให้กำลังอันยิ่ง

    หลักปฏิบัติ วิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน)

    - ให้หยุดแต่การคิดนึกปรุงแต่ง มีแต่สติหรือจิตอยู่กับการคิดพิจารณา(ใช้ปัญญา)ในเหล่าธรรมอันเป็นกุศล ให้ปัญญาอันยิ่ง

    หลักปฎิบัติ สมถวิปัสสนา

    - เมื่อปฏิบัติสมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)เป็นกำลังแล้ว ให้เจริญวิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน) ให้ทั้งกำลังและปัญญาอันยิ่งขึ้นไปอีก

    พนมพร

    http://nkgen.com/
    โมทนาสาธุ ทุกท่านคะ ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 พฤษภาคม 2012
  2. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    สั้นไปหน่อยครับ...นึกว่ายังไม่จบซะอีก
     
  3. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    อยากยาว......ต้องหันหน้ามาคุยกัน...........................
     
  4. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    5555555 ล้อเล่น นะ คุณฉับ ไปทำงานละ อย่าคิดมากกกกกกกก เดี๋ยวแก่.....
    เอ่อ.........ลืมไป........................
     
  5. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,427
    ค่าพลัง:
    +35,048
    (*_^) !! ..ตรวจสอบได้กับครูบาร์อาจารย์..ประเด็นแรกที่ยึดไว้คือ..อย่ายึด อย่าสนใจ ไว้ก่อนในเบื้องต้น..
     
  6. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    คราบพี่ อันนี้ ตั้งใจ นำมามากกกกก นำเสนอ และก็เน้นสีฟ้านะ และก็ขีดเส้นใต้ ขณะเดี๋ยวกัน แล้ว ก็ ตอบคำถามเรื่องงาน จน 10.00 น ยังไม่เสร็จ ยอมคราบ งานก็เร่ง เลย ออกมา ในรูปแบบนี้คราบ ทุกท่าน
    เพราะ เมื่อ คืน เห็น อุเพงคปิติ ตัวเอง ขำดิ
    เหอะขึ้นไปบนฟ้าแนะตอนลงเสียววูบเลย ขึ้นแล้วก็ลง แล้วก็ ขึ้นแล้วก็ลง ใช้สติ อีกที เอ่อ ทำไป 55555 จะนอนละ
     

แชร์หน้านี้

Loading...