นิพพาน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 1 มิถุนายน 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,293
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    นิพพาน ตอนที่ 1

    พระพุทธองค์ทรงเปรียบเปรยความสั้นของชีวิตมนุษย์เอาไว้ว่า

    "ชีวิตเหมือนความฝัน เหมือนดังพยัพแดดเหมือนดั่งน้ำค้าง"

    พระพุทธองค์เปรียบให้เห็นว่า "ชีวิตเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่เป็นไป ชั่วครั้งคราว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป"

    แม้จะเพียงแสนสั้นเพียงนั้น แต่ก็โชคดีแล้วที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีโอกาสมากที่สุดในการเข้าถึงนิพพาน

    เพราะแม้คนที่หลงผิดที่สุดก็ยังบรรลุได้

    องคุลิมาล ถูกสอนในประโยคแรกคือ "เรานั้นหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด" เพียงเท่านี้ก็ทำให้มหาโจรที่ทำผิดมาทัังชีวิตต้องหลั่งน้ำตา ลดกายลงคำนับพระพุทธองค์ และปฏิบัติตนอย่างไม่ย่อท้อจนบรรลุธรรมในที่สุด

    แนวคิดที่ถูกต้อง หรือ สัมมาทิฐิ จึงเป็นหัวใจหลักในการเข้าถึงนิพพาน

    หากเราเชื่อว่า "ชาตินี้เราถึงนิพพานได้ " ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราก็สามารถเดินทางและปฏิบัติไปทีละขั้นได้

    "หากเราคิดว่า เราไม่มีบุญพอจะไปถึง แล้วเมื่อใดชาติสุดท้ายจะมาถึงเสียที"

    แต่หากคิดในมุมกลับ "เราได้ร่ำเรียน เวียนว่ายตายเกิดมาเป็นเวลานานแล้ว ชาตินี้ควรเป็นชาติสุดท้ายได้แล้ว" แล้วก็ลงมือเลยไม่ต้องตั้งคำถามอีก

    เพียงแค่เราคิดและพลิกความเชื่อไว้เช่นนี้ กำลังใจจะเกิดขึ้นพากเพียรกระทำให้ถึงนิพพานในที่สุด

    "นิพพาน" ไม่จำเป็นต้องมองไกลตัวถึงดินแดนอันแสนไกล

    แต่คือ สภาวะที่สงบเย็นจากกิเลส คือ ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่หลงในสิ่งใด

    ความพยายามไปถึงนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

    "เมื่อแม่ไก่กกไข่นั้น แม่ไก่ก็เพียงแต่กก แม่ไก่ไม่เคยภาวนาว่าขอให้ลูกเตะเปลือกฟองออกมา เพียงทำไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น"

    ส่วนโครงสร้างที่จะนำพาทุกคนไปนิพพานเรียกว่า "อริยสัจ 4"

    โลกนี้มีความจริงอยู่เยอะมาก แต่สำหรับ อริยสัจ แล้วคือ "ความจริงระดับสูงสุด หรือ ความจริงสุดท้าย

    ความจริงระดับนี้หากเข้าถึงแล้วสามารถเปลียนคนเป็นอีกคนหนึ่งได้ เป็นท่าทีมุมมองของคนๆ หนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง และคนๆ นั้นจะไม่มีทางกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกต่อไป

    เพราะได้รู้ว่า "อะไรเป็นอะไรเรียบร้อยแล้ว"

    ทุกข์ มีไว้กำหนดเพื่อรู้
    สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ รู้แล้วก็เพื่อละ
    นิโรธ ความจริงอันประเสริฐ สำหรับบรรลุ
    มรรค ความจริงอันประเสริฐ สำหรับปฏิบัติให้พ้นทุกข์

    ส่วนปฏิบัติอย่างไรให้ก้าวหน้า

    ติดตามต่อในตอนหน้า

    .......

    เครดิต สนพ. เสบียงบุญ
     
  2. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,293
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    นิพพานตอนที่ 2

    "ปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ทบทวนว่าทำครบหรือไม่"

    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต่างจากศาสนาอื่นตรงที่ "การจะไปถึงเป้าหมายสูงสุดได้ ต้องปฏิบัติเอา ไม่อาจร้องขอ วิงวอนหรือกราบไหว้แล้วจะไปถึงได้"

    เหมือนการจะเดินทางไกลต้องออกแรงเดิน วิ่ง ขึ้นถนนให้ถูกสายจึงจะไปได้

    ในอริยสัจ 4 หมวดที่ 4 คือ "มรรค 8" มรรคหรือมรรคา แปลว่า "ทาง" ในที่นี้่ก็คือ วิธีการนั่นเอง

    ข้อปฏิบัติของมรรค หากศึกษาให้ดีแล้วก็คือ "การใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง มีสติอยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินความสามารถของมนุษย์เลย"

    เพราะวิธีเหล่านี้ปฏิบัติได้จริง เพราะหากปฏิบัติไม่ได้ หรือยากเกินไปก็คงไม่เคยมีใครไปถึงได้แม้คนเดียว ซึ่งพระพุทธองค์พิสูจน์ด้วยตัวพระองค์เองแล้วว่า ทำได้จริง มีคนทำตามได้จริงอีกมากมาย

    คำถามสำคัญก็คือ "มรรคของเราสมบูรณ์หรือยังในชีวิตนี้"

    1. สัมมาทิฐิ

    แปลว่า "ความเห็นที่ถูกต้อง" ความเห็นถูกต้องไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องผ่านการศึกษาจากคนที่รู้ เพราะเวลาที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องมีความรู้ในสิ่งนั้นว่า "คืออะไร" "ทำไปเพื่ออะไร" "ตัวเองมีหน้าที่ีทำอะไรในชีวิตนี้"

    เช่น หน้าที่ของคนเป็นครูที่ดีก็คือ ศึกษาให้ตัวเองมีความรู้ไปสอนคนอื่นได้ วางตัวให้เหมาะสมเป็นแบบอย่าง ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางที่เสียหาย

    สัมมาทิฐิเพื่อการหลุดพ้นก็คือ "รู้และเห็นว่าบุญนั้นมีจริง บาปก็มีจริง" "ความดี ความชั่วมีจริง ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น ทุกสิ่งไม่จีรังยั่งยืน ทุกอย่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของธรรมดา"

    หากเห็นได้ตามนี้แล้วจึงชือว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นในสิ่งที่เป็นจริงไม่บิดเบือนแล้ว จึงพัฒนาสู่ข้อต่อไป

    2. สัมมาสังกัปปะ (แปลว่า คิดชอบ)

    คำว่าคิดชอบนั้น ต้องตีความหมายให้ออกว่า "คิดชอบคือคิดแบบไหน" เพราะความคิดมีมากมายล้านแปดความคิด วิธีคิดในมรรคแปดนั้นคิดไม่ยากได้แก่

    - คิดออกจากกาม คือ คิดเพื่อทำความดีซึ่งไม่ต้องการเพื่อนำมาปรนเปรอกามารมณ์ในตนเอง เพื่อสนองความสุข แต่คิดเพื่อสละออก ออกจากปัญหา ออกจากทุกข์ ออกจากความอยากได้ อยากมีทั้งหลาย

    - คิดเมตตา คือ มองเห็นทุกคนในโลกนี้เป็นมิตร ไม่มีใครควรค่าแก่ความโกรธ ความเกลียด ชิงชัง ไม่จับผิดใคร

    - คิดกรุณา คือ เห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากแล้ว อดสงสารไม่ได้ ต้องลงไปช่วย มีจิตสาธารณะ ช่วยคนได้ ช่วยสัตว์ได้ ช่วยได้โดยไม่หวังผลอะไร

    3. สัมมาวาจา ( พูดจาดี มีแต่ประโยชน์)

    พูดจาชอบ แปลว่า การพูดจาในแต่ละวันของเราก่อประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นหรือไม่ เพราะตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ เราต้องสื่อสารกับคนอื่นอยู่ หากสื่อสารได้ดีก็จะมีประโยชน์มากทั้งชีวิตส่วนตัวและเรื่องทำงาน

    คนที่พูดจาไม่ดี จึงมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคำพูดเพียงเล็กน้อยที่ไม่คิดก่อน ก็ส่งผลเสียมหาศาล

    ในแง่ของตัวสาระที่พูดนั้น ต้องพูดเรื่องจริง มีหลักฐาน มีประโยชน์
    ในแง่ของวิธีการ คือ พูดด้วยความมีเมตตา ถูกเวลา สุภาพ และเพื่อความสามัคคี

    พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ยกศีลข้อ 4 มาใช้ คือ อย่าพูดปด อย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดหยาบคาย และอย่าเพ้อเจ้อไร้สาระ

    4. สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ)

    คำว่ากระทำชอบก็คือ ประพฤติตนให้ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรมจะพึงทำ เพื่อความสงบสุข ซึ่งก็คือ ศีลนั่นเองได้แก่

    - การไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนใคร
    - การไม่ลักทรัพย์ ไม่ถือเอาสิ่งใดของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
    - การไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ละเมิดจริยธรรมทางเพศของคู่ครอง
    - การไม่พูดจาเท็จหลอกลวงใคร
    - การไม่ดื่มสุรา ให้ขาดสติ

    เรื่องของศีลจึงเป็น "ข้อปฏิบัติที่จำเป็นของความเป็นมนุษย์" เหมือนที่อากาศจำเป็นต่อการหายใจ น้ำจำเป็นต่อร่างกาย คนที่ปฏิเสธการรักษาศีลที่ดี ก็คือ คนที่ปฏิเสธการมีชีวิตที่ดีไปด้วย

    ติดตามต่ออีก 4 ข้อ พรุ่งนี้

    เช็คดูก่อนว่า คุณทำครบ 4 ข้อแรกหรือไม่

    ขอบุญรักษาทุกท่าน

    ........

    เครดิต สนพ. เสบียงบุญ
     
  3. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,293
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    นิพพาน ตอนจบ รวมมรรคให้เป็น 1

    ข้อปฏิบัติสู่นิพพานองค์ที่ 5 คือ สัมมาอาชีวะ

    คำว่า เลี้ยงชีพชอบ ก็คือ การประกอบอาชีพสุจริต
    ถามว่าอย่างไหนคือเลี้ยงชีพชอบ พระพุทธองค์ทรงให้นิยามว่า เป็นอาชีพใดก็ได้ที่ไม่ก่อบาปกรรมให้ตนและผู้อื่น โดยแนะนำอาชีพที่ "ไม่ควรทำ" ไว้ 5 อย่าง

    1. การขายอาวุธ ให้คนไปฆ่ากัน
    2. การค้ามนุษย์ ค้าทาส แรงงานเด็ก แรงงานต่างถิ่น
    3. การค้าสัตว์เป็น เพื่อเป็นอาหารเพราะเป็นการส่งเสริมการฆ่าอย่างชัดเจน
    4. การค้าขายน้ำเมา คือ สุรา ของมึนเมาทุกชนิด
    5. การค้ายาพิษ ที่เป็นอันตรายต่อผุ้ใช้และชีวิตสัตว์ รวมถึงยาเสพติดด้วย

    ส่วนการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่กอปรด้วยเจตนา "ทุจริต" ทุกอาชีพก็ถือเป็นการพยายามหาเลี้ยงชีพแบบผิดๆ ต้องเลิกทำโดยเร็ว ซึ่งจากข้อนี้จะเห็นได้ว่า มรรค ไม่ใช่การเพียงแต่นั่งสมาธินิ่งๆ เฉยๆ แต่หมายถึงการทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวม

    องค์ที่ 6 คือ สัมมาวายามะ หรือพยายามชอบ

    พยายามมีหลากหลาย แต่ความพยายามในความหมายของพระพุทธองค์คือ

    - พยายามป้องกัน ไม่ให้บาปเกิดขึ้น
    - พยายามละความชั่วที่เกิดขึ้นไปแล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงมันอีก
    - พยายามสร้าง ความดีที่ยังไม่เคยทำ ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น
    - พยายามรักษา ความดีที่เกิดขึ้นแล้วและให้เพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป

    ในชีวิตคนเราต้องเพียรสร้างใดสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว เพียงนำ "สัมมาวายามะ" มาเสริมเป้าให้ชัดเจน ก็จะเป็นประโยชน์กับชีวิตอย่างมาก

    องค์ที่ 7 คือสัมมาสติ

    แปลว่า การรู้สึกตัวชอบ พระพุทธองค์ทรงเน้นว่า "จงอยู่กับเวลาปัจจุบันเพียงอารมณ์เดียว" เกิดอะไรขึ้นก็รู้แค่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่คิดถึง อดีต ไม่คิดอนาคต "สักแต่รู้สิ่งที่ตรงหน้าเท่านั้น ใจก็จะสงบไม่วอกแวก

    การทำเช่นนี้จะทำให้เราได้เข้าถึง สภาวธรรมแท้ที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่มโนคิดไปเอง หรือคาดเดาเองจากจินตนาการ

    องค์ที่ 8 คือ สัมมาสมาธิ เป็นดัชนีรวมมรรคและชี้มรรคทุกข้อ

    สมาธิเป็นเรื่องของจิตที่ตั้งมั่นอารมณ์เดียว หากทำถูกต้องจะเกิดอาการ 4 อย่างคือ

    - ปีติ มีความอิ่มใจ
    - ปราโมทย์ คือ รื่นรมย์ใจ
    - ปัสสัทธิ คือ ผ่อนคลาย หายเครียด เย็นกาย เย็นใจ
    - สุข คือ ปลอดโปร่ง เบาสบาย

    คุณภาพจิตของผู้ปฏิบัติจะมีคุณธรรม ละอายชั่ว กลัวบาป อดทน เพียรทำดี และกตัญญุได้ต่อทุกสิ่ง

    สุขภาพจิตก็จะดีตาม สดชื่นไม่เครียด ไม่โมโหง่าย

    สมรรถภาพจิตก็จะดี ทำอะไรก็สำเร็จได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยฝึกสมาธิเลย

    อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ คือ "ทางด่วนซูเปอร์ไฮเวย์สู่นิพพาน" ไม่มีทางใดที่เร็วกว่านี้ เพียงแต่ว่าการจะขึ้นทางด่วนนี้ ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำว่าต้องใช้ "พละ 5" ช่วยคือ

    มีศรัทธา (อย่าให้มีมากไป เพราะจะกลายเป็นงมงาย)

    มีความเพียร (อย่าให้มีมากไป เพราะจะกลายเป็นเครียด)

    มีสติ (มีเอาไว้กำกับทุกข้อ)

    มีสมาธิ (อย่าปล่อยให้ดิ่งในสมาธินานเกินไป เพราะอาจติดในสุขจนไ่ม่อยากทำอะไร ลูกเมียไม่สนใจ งานการไม่ทำ)

    และมีปัญญา (รู้ตามเป็นจริง แต่อย่าให้มากไปเพราะจะเกิดอัตตา อะไรที่รู้ก็รู้แล้ว กลายเป็นคนก้าวร้าว จมไม่ลง)

    ศรัทธาจึงถ่วงดุลกับปัญญา
    วิริยะ จึงถ่วงดุลกับสมาธิ

    และทั้งหมดทั้งปวงอยู่ภายใต้การควบคุมของ "สติ"

    ทางซุปเปอร์ไฮเวย์สู่นิพพานนี้ ผู้รู้ท่านเรียกว่า "เอกายนมรรค" แปลว่า ทางสายเอก นั่นแล

    พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้กับสุภัททะปริพาชกก่อนจะบวชให้เป็นภิกษุรูปสุดท้ายว่า

    "ดูก่อนสุภัททะ ศาสนาใดที่ไม่มีอริยมรรคองค์ 8 ก็ไม่มีสมณะผู้รู้จริงในศาสนานั้น ส่วนศาสนาใดที่มีอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นข้อปฏิบัติแล้ว ศาสนานั้นก็มีผู้รู้จริงอยู่

    รอยเท้าในอากาศนั้นก็ไม่มี และสิ่งที่เที่ยงแท้นั้นไม่มีเลย"

    นิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

    " แม้กษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนงานทั้งปวง สงบเสงี่ยมแล้ว ฝึกตนแล้ว ก็ปรินิพพานได้เหมือนกันหมด"

    ขอพลังแห่งบุญนี้จงนำพาทุกท่านสู่พระนิพพานอันเป็นบรมสุขยิ่ง

    โมทนาสาธุๆๆ

    **********

    ติดตามซีรีส์ธรรมะ "ปลดบ่วงกรรมจากเจ้ากรรมนายเวร" ได้ในตอนหน้า

    ...............

    เครดิตสนพ. เสบียงบุญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...