นิทานเซ็น >> ให้ข้อคิดดีจัง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย พรายแสง, 3 พฤษภาคม 2005.

  1. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>เรื่องที่หนึ่ง เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม อาตมา ต้องขอใช้คำอย่างนี้ เพราะไม่ทราบว่า จะใช้คำอย่างไรดี ที่จะให้รวดเร็ว และสั้นๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร ก็ตามใจ ที่จะต้อง ใช้คำอย่างนี้ "เพชรที่หาพบจากโคลนในถิ่นสลัม" เรื่องนี้ก็เล่าว่า อาจารย แห่ง นิกายเซ็น ชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ ของพระจักรพรรดิ แห่งประเทศญี่ปุ่น ในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ ชอบเที่ยว ไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อน แบบปริพพชก ไม่ค่อยได้อยู่ กับวัดวาอาราม ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทาง ไปยัง ตำบลอีโด เพื่อประโยชน์ อย่างใด อย่างหนึ่ง ของท่าน ที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบลๆ หนึ่ง เย็นวันนั้น ฝนก็ตกมา ท่านจึงเปียกปอน ไปหมด และรองเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้า ทำด้วยฟาง เพราะ นักบวชนิกายเซ็น ใช้รองเท้าฟางถัก ทั้งนั้น เมื่อฝนตก ตลอดวัน รองเท้าก็ ขาดยุ่ย ไปหมด ท่านจึงเหลียวดูว่า จะมีอะไรที่ไหน จะแก้ปัญหา เหล่านี้ ได้บ้าง ก็พบกระท่อมน้อยๆ แห่งหนึ่ง ในถิ่นใกล้ๆ นั้น เห็นรองเท้าฟาง มีแขวนอยู่ด้วย ก็คิดจะไปซื้อ สักคู่หนึ่ง เอาแห้งๆ มาใส่ เพื่อเดินทาง ต่อไป หญิงเจ้าของบ้านนั้น เขาถวาย เลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่า เปียกปอนมาก ก็เลยขอนิมนต์ ให้หยุดอยู่ก่อน เพราะ ฝนตกจนค่ำ ท่านก็เลยต้องพัก อยู่ที่บ้านนั้น ด้วยคำของร้อง ของหญิงเจ้าของบ้าน

    หญิงเจ้าของบ้าน เรียกเด็กๆ และญาติๆ มาสนทนาด้วยท่านอาจารย์; ท่านได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้ เป็นอยู่ ด้วยความข้นแค้น ที่สุด ก็เลยขอร้อง ให้บอกเล่าตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจ ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า "สามีของดิฉัน เป็นนักการพนัน แล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมัน จนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้ เขาก็ยืมเงินคนอื่น เล่นอีก เพิ่มหนี้สิน ให้มากขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลย เป็นวันเป็นคืน หรือหลายวัน หลายคืน ก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดี"

    ท่านอาจารย์กูโด ว่า ไม่ต้องทำหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วก็ว่า นี่ ฉันมีเงินมาบ้าง ช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่น มาให้เหยือกใหญ่ๆ เหยือกหนึ่ง แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากิน เอามาให้ เป็นจำนวนเพียงพอ เอามาวางที่นี่ แล้วก็กลับไปทำงาน ตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ ตรงหน้า ที่บูชา ข้อนี้ หมายความว่า บ้านนั้น ก็มีหิ้งบูชาพระ เมื่อผู้ชายคนนั้น กลับมาบ้าน เวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูด ตามประสาคนเมา นี่คำนี้ จะแปลว่ายังไง Hey! wife; ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย! มาบ้านแล้วโว้ย; มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือ เขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็ เหมือนๆกับ ในเมืองไทยเรา นี้เอง นี่ลองคิดดูว่า คนๆ นี้ จะเป็นอย่างไร ฉะนั้น กูโด ท่านอาจารย์ ที่นั่ง ที่หน้าหิ้งพระ ก็ออกรับหน้า บอกว่า ฉันได้มีทุกอย่าง สำหรับท่าน เผอิญ ฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่าน เขาขอร้องให้ฉันพัก ค้างฝน ที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทน ท่านบ้าง ฉะนั้น ขอให้ท่านบริโภค สิ่งเหล่านี้ ตามชอบใจ ชายคนนั้น ดีใจใหญ่ มีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่มและรับประทาน จนนอนหลับไป ไม่รู้สึกตัว อยู่ตรงข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์ กูโด ที่นั่งสมาธิ ตลอดคืนนั้น เหมือนกัน ทีนี้ พอตื่นขึ้นมา ตอนเข้า ชายคนนั้น ก็ลืมหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร และจะไปข้างไหน ท่านอาจารย์ ก็ตอบว่า อ๋อ! อาตมาคือ กูโด แห่งนคร กโยโต(Kyoto เกียวโต) กำลังจะไปธุระ ที่ตำบล อิโด ตามเรื่องที่ว่ามาแล้ว เมื่อกี้นี้ ถ้อยคำอย่างนี้ มันประหลาดที่ว่า บางครั้ง ก็มีอิทธิพล มากมาย คือว่า ชายคนนั้น ละอายจนเหลือที่จะรู้ว่า จะอยู่ที่ไหน จะแทรกแผ่นดิน หนีไปที่ไหน ก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอาย ถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว ก็ขอโทษขอโพย ขอแล้ว ขออีก จนไม่รู้จะขออย่างไร ต่ออาจารย์ ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลู เข้ามาอยู่ที่บ้านเขา ท่านกูโด ก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย แล้วก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า "ทุกอย่างในชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นกระแสไหลเชี่ยว ไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้ มันก็ สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนัน และดื่ม อยู่ดังนี้ ก็หมดเวลา ที่จะทำอะไรอื่น ให้เกิดขึ้น หรือ สำเร็จได้ นอกจาก ทำตัวเอง ให้เป็นทุกข์ แล้ว ก็จะทำให้ครอบครัว พลอย ตกนรก ทั้งเป็น กันไปด้วย" ความรู้สึก อันนี้ ได้ประทับใจ นายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมา ในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมา จากความฝัน ในที่สุด ก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น มันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไร ก็ขอให้กระผม ได้สนอง พระคุณอาจารย์ ในคำสั่งสอน ที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้น ของให้กระผม ออกติดตาม ท่านอาจารย์ ไปส่งท่านอาจารย์ ในการเดินทางนี้ สักระยะหนึ่ง ท่านอาจารย์กูโด ก็บอกว่า ตามใจ สองคน ก็ออกเดินทาง ไปได้ประมาณ ๓ ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า กลับเถอะ นายคนนี้ก็บอก ขออีกสัก ๕ ไมล์ อาจารย์ขยั้นขยอ ให้กลับอีก ว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว นายคนนั้น ก็บอกว่า ขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง ๑๐ ไมล์ ท่านอาจารย์ ขยั้นขยอให้กลับ เขาก็ว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ นี่ก็เป็นอันว่า ไปกับท่านอาจารย์ ไปเป็น นักบวชแห่งนิกายเซ็น ซึ่งต่อมา ก็เป็น ปรมาจารย์พุทธศาสนา แห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น นิกายเซ็นทุกสาขา ที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น ในทุกวันนี้ ออกมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียวเท่านั้น ล้วนแต่เป็น ลูกศิษย์ที่สืบมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียว ท่านกลับตัว ชนิดที่เราเรียกกันว่า เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม นี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองคิดดู ในประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีบางคน ก็มาจาก เด็กที่ขายเต้าหู้ หาบหนังสือพิมพ์ ก็เป็น นักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆ สั้นๆ และเขื่องขึ้นๆ จนเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อเสียง และไปเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยหนึ่งในที่สุด นี่เราจะบอกเด็กๆ ตาดำๆ ของเราว่า สิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลง ได้ถึงอย่างนี้ กันสักทีจะได้ไหม เด็กๆ เขาจะมี ความรู้สึกอย่างไร ในฐานะของเขา เขาจะทำตัว ให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม" ได้อย่างไร โดยมาก เขามักจะขายตนเอง เสียถูกๆ จนเป็นเหตุให้ เขา วกไปหา ความสุข ทางเนื้อทางหนัง ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่น่าดูนั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นคน ที่ไม่เคารพตัวเอง ท้อถอย ต่อการที่จะคิดว่า มันจะเป็นได้มากอย่างนี้

    พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังตรัสว่า เกิดมาเป็นคน นี่ ไม่ควรให้ตัวเอง "อตฺตานํ น ทเทยฺยโปโส" แปลว่า เป็นลูกผู้ชาย เป็นบุรุษ ไม่ควรให้ซึ่งตน ให้ซึ่งตน นี้ หมายความว่า ยกตนให้เสียแก่กิเลส หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็ไม่ได้คิด ที่จะมีอะไร ที่ใหญ่โตมั่นคง ที่จะเป็นนั่น เป็นนี่ ให้จริงจังได้ ข้อนี้ เรียกว่า เราควรจะถือ เป็นหลักจริยธรรม ข้อหนึ่งด้วย เหมือนกัน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 3 พฤษภาคม 2005
  2. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย



    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE> เรื่องที่สอง ซึ่งไม่อยากจะเว้นเสีย ทั้งที่ เคยเอ่ยถึงแล้ว วันก่อน คือ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย คือว่า อาจารย์ แห่งนิกายเซ็น ชื่อ น่ำอิน เป็น ผู้มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ และ โปรเฟสเซอร์ คนหนึ่ง เป็น โปรเฟสเซอร์ ที่มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ ไปหา อาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษา พระพุทธศาสนา อย่างเซ็น ในการต้อนรับ ท่านอาจารย์ น่ำอิน ได้รินน้ำชา ลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์ มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ ก็พูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มัน ลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้ มันก็แสดงว่า โมโห ท่านอาจารย์ น่ำอิน จึงตอบว่า" ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไร ลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง" คือว่า เต็มไปด้วยความคิด ความเห็น ตามความ ยึดมั่นถือมั่น ของท่านเอง และมีวิธีคิดนึก คำนวณ ตามแบบ ของท่านเอง สองอย่างนี้แหละ มันทำให้เข้าใจ พุทธศาสนาอย่างเซ็น ไม่ได้ เรียกว่า ถ้วยชามันล้น ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิด เรื่องอะไรล้น อะไรไม่ล้น ได้อย่างไร ขอให้ช่วยกันหาหนทาง ในครั้งโบราณ ในอรรถกถา ได้เคย กระแหนะกระแหน ถึง พวกพราหมณ์ ที่เป็น ทิศาปาโมกข์ ต้องเอาเหล็กมาตี เป็นเข็มขัด คาดท้องไว้ เนื่องด้วย กลัวท้องจะแตก เพราะวิชาล้น นี้จะเป็นเรื่อง ที่มีความหมายอย่างไร ก็ลองคิดดู พวกเรา อาจล้น หรือ อัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น จนอะไรใส่ ลงไปอีกไม่ได้ หรือ ความล้นนั้น มันออกมา อาละวาด เอาบุคคลอื่น อยู่บ่อยๆ บ้างกระมัง แต่เราคิดดูก็จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ล้น นั้น คงจะเป็นส่วน ที่ใช้ไม่ได้ จะจริงหรือไม่ ก็ลองคิด ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น ก็คงเป็น ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ร่างกาย รับเอาไว้ได้ ก็คงเป็น ส่วนที่มีประโยชน์ ฉะนั้น จริยธรรมแท้ๆ ไม่มีวันจะล้น โปรดนึกดูว่า จริยธรรม หรือ ธรรมะแท้ๆ นั้น มีอาการล้นได้ไหม ถ้าล้นไม่ได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่ล้นนั้น มันก็ไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ ล้นออกไป เสียให้หมด ก็ดีเหมือนกัน หรือ ถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึก ก็ว่า จิตแท้ๆ ไม่มีวันล้น อ้ายที่ล้นนั้น มันเป็นของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ตัวจิตแท้ มันล้นได้มากมาย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่า จิตแท้คืออะไร อะไรควรเป็น จิตแท้ และอะไรเป็นสิ่ง ที่ไม่ใช่จิตแท้ คือ เป็นเพียง ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย นี่แหละ รีบค้นหาให้พบ สิ่งที่เรียกว่า จิตจริงๆ กันเสียสักที ก็ดูเหมือนจะดี

    ในที่สุด ท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูง ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่า จิตแท้ หรือ จิตเดิมแท้ ซึ่งข้อนั้น ได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง จิตที่ประกอบด้วย สภาวะแห่งความว่างจาก "ตัวกู-ของกู" นั้นแหละ คือ จิตแท้ ถ้าว่างแล้ว มันจะเอาอะไรล้น นี่เพราะเนื่องจากไม่รู้จักว่า อะไรเป็นอะไร จึงบ่นกันแต่เรื่องล้น การศึกษาก็ถูกบ่นว่า ล้น และที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ ที่พูดว่า ศาสนานี้ เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนล้น คือส่วนที่เกิน คือ เกินต้องการ ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาสนใจ เขาคิดว่า เขาไม่ต้อง เกี่ยวกับศาสนา หรือธรรมะเลย เขาก็เกิดมาได้ พ่อแม่ก็มีเงินให้ เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน เรียนเสร็จแล้ว ก็ทำราชการ เป็นใหญ่เป็นโต ได้โดยไม่ต้อง มีความเกี่ยวข้อง กับศาสนาเลย ฉะนั้น เขาเขี่ยศาสนา หรือ ธรรมะ ออกไปในฐานะ เป็นส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น นี่แหละ เขาจัดส่วนล้น ให้แก่ศาสนาอย่างนี้ คนชนิดนี้ จะต้องอยู่ ในลักษณะที่ ล้นเหมือน โปรเฟสเซอร์คนนั้น ที่อาจารย์น่ำอิน จะต้อง รินน้ำชาใส่หน้า หรือ ว่ารินน้ำชาให้ดู โดยทำนองนี้ทั้งนั้น เขามีความเข้าใจผิดล้น ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม มันล้นออกมา ให้เห็น เป็นรูปของ มิจฉาทิฎฐิ เพราะเขาเห็นว่า เขามีอะไรๆ ของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนที่เป็นธรรมะ เป็นจริยธรรมนี่ เข้าไม่จุ อีกต่อไป ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า นี้แหละ คือ มูลเหตุที่ทำให้จริยธรรม รวนเร และ พังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว จะต้องสนใจเรื่องนี้
     
  3. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง อย่างนั้นหรือ

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>



    นิทานที่ สาม ชื่อเรื่อง "Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่า อย่างไรมัน ก็คล้ายๆ กับว่า "อย่างนั้นหรือ?" นิทานที่สามนี้ เล่าว่า ณ สำนักเซ็น ของอาจารย์ เฮ็กกูอิน ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นเหมือนกับว่า เป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน ที่ร้านชำใกล้ๆ วัดนั้น มีหญิงสาวสวย คนหนึ่ง เป็นลูกเจ้าของร้าน ทีนี้ โดยกะทันหัน ปรากฏว่า มีครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่เขา พยายาม ขยั้นขยอ ถาม ลูกสาวก็ไม่บอก แต่เมื่อ ถูกบีบคั้น หนักเข้า ก็ระบุชื่อ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน เมื่อหญิงสาวคนนั้น ระบุ อาจารย์เฮ็กกูอิน เป็นบิดาของเด็ก ที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ ไปที่วัด แล้วก็ไปด่า ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหาร ของคนที่โกรธที่สุด ที่จะด่าได้อย่างไร ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากว่า "Is that so?" คือ ว่า "อย่างนั้นหรือ" สองคนด่าจนเหนื่อย ไม่มีเสียงจะด่า ไม่มีแรงจะด่า ก็กลับไปบ้านเอง ทีนี้ พวกชาวบ้าน ที่เคยเคารพนับถือ ก็พากันไปด่า ว่าเสียที ที่เคยนับถือ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากว่า "Is that so?" พวกเด็กๆ ก็ยังพากันไปด่าว่า พระบ้า พระอะไร สุดแท้แต่ ที่จะด่าได้ ตามภาษาเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
    ต่อมา เด็กคลอดออกมาจากครรภ์ บิดามารดาที่เป็นตายาย ของเด็ก ก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ในฐานะเป็นการประชด หรือ อะไรก็สุดแท้ ว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้" ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ก็มีแต่ "Is that so?" ตามเคย ท่านรับเด็กไว้ และต้องหานม หาอาหาร ของเด็กอ่อนนั้น จากบุคคลบางคน ที่ยังเห็นอก เห็นใจ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน อยู่ พอเลี้ยงเด็กนั้น ให้รอดชีวิต เติบโตอยู่ได้ ทีนี้ ต่อมานานเข้า หญิงคนที่เป็นมารดา ของเด็ก เหลือที่จะทนได้ มันเหมือนกับไฟนรก เข้าไปสุมอยู่ในใจ เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง ฉะนั้น วันหนึ่ง เขาจึงไปสารภาพ บอกกับบิดามารดาของเขาว่า บิดาที่แท้จริง ของเด็กนั้น คือ เจ้าหนุ่มร้านขายปลา ทีนี้ บิดามารดา ตายายคู่นั้น ก็มีจิตใจ เหมือนกับ นรกเผาอยู่ข้างใน อีกครั้งหนึ่ง รีบวิ่งไปที่วัด ไปขอโทษ ขอโพย ต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน ขอแล้ว ขอเล่าๆ เท่าที่จะรู้สึกว่า เขามีความผิด มากอย่างไร ก็ขอกัน มากมาย อย่างนั้น ท่านก็ไม่มีอะไร นอกจาก Is that so? แล้วก็ขอ หลานคนนั้น คืนไป ต่อมา พวกชาวบ้าน ที่เคยไปด่า ท่านอาจารย์ ก็แห่กันไป ขอโทษอีก เพราะความจริง ปรากฏขึ้น เช่นนี้ ขอกันใหญ่ ไม่รู้กี่สิบคน ขอกันนานเท่าไร ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูด นอกจาก Is that so? อีกนั่นเอง เรื่องของเขาก็จบเท่านี้

    นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่าอย่างไร เราถือว่า นิทานชุดนี้ ก็เหมือนกับ นิทานอิสป ในทางวิญญาณ ในทาง Spiritual point of view นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร นั้นหรือ มันก็เหมือนกับ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" "การไม่ถูนินทา ไม่มีในโลก" หรืออะไรทำนองนี้ แต่ท่านทั้งหลาย ลองเปรียบเทียบ ดูทีหรือว่า ถ้าพวกครูบาอาจารย์ ของเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกกระทำ อย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือจะ Is that so? คำเดียว อยู่ได้ไหม ถ้าได้ เรื่องนี้ ก็คงจะไม่เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือ คงจะไม่ถูกฟ้องว่า ตีเด็กเกินควร หรือ อะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี อาตมาเคยเห็น ครูที่บ้านนอก ต้องไปพูด กันถึงโรงถึงศาลก็มี เพราะตีเด็กเกินควร เป็นต้น นี่คือ มันหวั่นไหว ต่ออารมณ์มากเกินไป จนกระทั่ง เด็กเล็กๆ ก็ทำให้โกรธได้ ที่เรื่องนิดเดียว ก็ยังโกรธได้นี่ เพราะว่า ไม่ยึดถือความจริง เป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่ เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่ เป็นไปตามเสียงส่วนมาก ที่ยืนยันว่า อันนั้น ต้องเป็นอันนั้นจริง ความจริง มันต้องเป็นความจริง ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ใช่ อุเบกขาผิดอย่างอื่น ฉะนั้น เราควรจะฟังของเขาไว้
     
  4. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ความเชื่อฟัง

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE> นิทานเรื่องที่สี่ เรียกว่า เรื่อง "ความเชื่อฟัง" ธฺยานาจารย์ ชื่อ เบ็งกะอี เป็นผู้มีชื่อเสียง ในการเทศนาธรรม คนที่มาฟังท่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ ในวงของ พวกนิกายเซ็น พวกนิกายอื่น หรือคนสังคมอื่น ก็มาฟังกัน ชนชั้นไหนๆ ก็ยังมาฟัง เพราะว่า ท่านไม่ได้เอา ถ้อยคำในพระคัมภีร์ หรือในหนังสือ หรือ ในพระไตรปิฎก มาพูด แต่ว่าคำพูด ทุกคำนั้น มันหลั่งไหล ออกมาจาก ความรู้สึกในใจ ของท่านเองแท้ๆ ผลมันจึงเกิดว่า คนฟังเข้าใจ หรือชอบใจ แห่กันมาฟัง จนทำให้ วัดอื่น ร่อยหรอ คนฟัง เป็นเหตุให้ ภิกษุรูปหนึ่ง ในนิกาย นิชิเรน โกรธมาก คิดจะทำลายล้าง อาจารย์เบ็กกะอี คนนี้อยู่เสมอ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านองค์นี้ กำลังแสดงธรรม อยู่ในที่ประชุม พระที่เห็นแก่ตัวจัด องค์นั้น ก็มาทีเดียว หยุดยืน อยู่หน้าศาลา แล้วตะโกนว่า เฮ้ย! อาจารย์เซ็น หยุด ประเดี๋ยวก่อน ฟังฉันก่อน ใครก็ตาม ที่เคารพท่าน ท่านจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ฉัน เคารพเชื่อฟังท่านได้ เมื่อภิกษุอวดดี องค์นั้น ร้องท้า ไปตั้งแต่ ชายคาริมศาลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า มาซี ขึ้นมานี่ มายืนข้างๆฉันซี แล้วฉันจะทำให้ดูว่า จะทำอย่างไร พระภิกษุนั้น ก็ก้าว พรวดพราด ขึ้นไป ด้วยความทะนงใจ ฝ่าฝูงคน เข้าไป ยืนหรา อยู่ข้างๆ ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า ยังไม่เหมาะ มายืนข้างซ้าย ดีกว่า พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทีเดียว มาอยู่ข้างซ้าย ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็บอกอีกว่า อ๋อ! ถ้าจะพูดให้ถนัด ต้องอย่างนี้ ต้องข้างขวา ข้างขวา พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทางขวา พร้อมกับมีท่าทาง ผยองอย่างยิ่ง พร้อมที่จะท้าทาย อยู่เสมอ ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงว่า เห็นไหมล่ะ ท่านกำลัง เชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง และในฐานะ ที่ท่านเชื่อฟัง อย่างยิ่งแล้ว ฉะนั้น ท่านจงนั่งลง ฟังเทศน์เถิด นี่เรื่องก็จบลง

    นิทานอิสปเรื่องนี้ มันสอนว่าอย่างไร เหมือนพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า นิวาโต เอตมฺมงฺคลมุตตมํ วาโต ก็เหมือนกะ สูบลมอัดเบ่งจนพอง ถ้า นิวาโต ก็คือ ไม่พองไม่ผยอง เป็นมงคลอย่างยิ่ง ข้อนี้ ย่อมแสดงว่า มีวิชาความรู้ อย่างเดียว นั้นไม่พอ ยังต้องการ ไหวพริบ และ ปฏิภาณ อีกส่วนหนึ่ง พระองค์นี้ ก็เก่งกาจ ของ นิกายนิชิเรน ในญี่ปุ่น แต่มาพ่ายแพ้อาจารย์ ที่แทบจะไม่รู้หนังสือ เช่นนี้ ซึ่งพูดอะไร ก็ไม่อาศัยหนังสือ เพราะบางที ก็ไม่รู้หนังสือเลย แพ้อย่างสนิทสนม เพราะขาดอะไร ก็ลองคิดดู พวกฝรั่งก็ยังพูดว่า Be wise in time ฉลาดให้ทันเวลา โดยกระทันทัน ซึ่งบาลีก็มีว่า "ขโณ มา โว อุปจฺจคา" ขณะสำคัญ เพียงนิดหนึ่ง นิดเดียวเท่านั้น อย่าได้ผ่านไปเสียนะ ถ้าผ่านไป จะต้องมีอย่างยิ่ง มิฉะนั้น จะควบคุมเด็ก ไม่อยู่ เราลองคิดดูซิว่า เด็กๆของเรา มีปฏิภาณเท่าไร เราเองมี ปฏิภาณเท่าไร มันจะสู้กัน ได้ไหม ลองเทียบไอคิว ในเรื่องนี้ กันดู ซึ่งเกี่ยวกับ ปฏิภาณนี้ ถ้าครูบาอาจารย์เรา มีไอคิว ในปฏิภาณนี้ ๕ เท่าของเด็กๆ คือ เหนือเด็ก ห้าเท่าตัว ก็ควรจะได้รับเงินเดือน ห้าเท่าตัว ของที่ควรจะได้รับ หรือว่าใครอยากจะเอา สักกี่เท่า ก็เร่งเพิ่มมันขึ้น ให้มีปฏิภาณไหวพริบ จนสามารถ สอนเด็ก ให้เข้าใจ เรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน ได้อย่างไรทีเดียว นี่คือ ข้อที่จะต้อง อาศัยปฏิภาณ ซึ่งวันหลัง ก็คงจะได้พูดกัน ถึงเรื่องนี้บ้าง.

    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=1 width=430 border=0><TBODY><TR><TD width=425><CENTER> </CENTER></TD></TR></TBODY></TABLE>
     
  5. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ถ้าจะรักก็จงรักอย่างเปิดเผย

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>



    นิทานเรื่องที่ ๕ เรื่อง "If love, love openly" ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย. ในวัดนิกาย เซ็น อีกเหมือนกัน มีภิกษุ อยู่หลายสิบรูป และมี นักบวชผู้หญิง ที่เรียกว่า nun อยู่คนหนึ่ง ชื่อ เอฉุ่น รวมอยู่ด้วย เอฉุ่น เป็นหญิง ที่สวยมาก แม้จะเอา ผมออก เสียแล้ว แม้จะใช้ เครื่องนุ่งห่ม ของนักบวช ที่ปอนมาก ก็ยังสวย อย่างยิ่ง อยู่นั่นเอง และทำความ วุ่นวาย ให้แก่ภิกษุทั้งหมด นั้นมาก แทบว่า จะไม่มีจิตใจ ที่จะสงบได้ ภิกษุองค์หนึ่ง ทนอยู่ไม่ได้ ก็เขียนจดหมาย ส่งไปถึง ขอร้อง ที่จะมีการพบ อย่าง private คือเป็นการขอพบ เฉพาะตัว เอฉุ่น ก็ไม่ตอบจดหมายนั้น อย่างไร แต่พอวันรุ่งขึ้น กำลังประชุม อบรมสั่งสอน กันอยู่ ซึ่งมีชาวบ้าน จำนวนมาก รวมอยู่ด้วย พอสั่งสอน จบลง เอฉุ่น ก็ยืนขึ้น กล่าวถึง ภิกษุนั้นว่า ภิกษุที่เขียนจดหมาย ถึงฉันนั้น ขอให้ก้าวออกมา ข้างหน้า จากหมู่ภิกษุ เหล่านั้นเถิด ถ้ารักฉันมากจริงๆ ก็จงมากอดฉัน ที่ตรงนี้ แล้วนิทาน ของเขาก็จบ
    นี่ท่านลองคิดดูเองว่า นิทานอิสปเรื่องนี้ จะสอนว่ากระไร ก็หมายความว่า การสอน การอบรม ที่ตรงไปตรงมา ตามแบบ ของนิกายเซ็นนั้น กล้ามาก ทำให้คนเรา กล้าหาญมาก และไม่มีความลับ ที่จะต้องปิดใคร จะว่าอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องปกปิด คือสามารถ ที่จะเปิดเผยตนเองได้ มีสัจจะ มีความจริง โดยไม่ถือว่า ความลับมีอยู่ในโลก นี้เราจะต้องเป็น ผู้ที่ปฏิญญาตัว อย่างไรแล้ว จะต้องทำอย่างนั้น ไม่มีความลับ ที่ปกปิดไว้ จนสะดุ้งสะเทือน แม้ในการ ที่จะเรียกตัวเองว่า "ครู" อย่างนี้ เป็นต้น บางคนกระดาก หรือ ร้อนๆ หนาวๆ ที่ว่า จะถูกเรียกว่า ครู หรือ จะถูกขอร้อง ให้ยืนยัน ปฏิญญา ความเป็นครู นี้แสดงว่า ไม่เปิดเผยเพียงพอ ยังไม่กล้าหาญเพียงพอ จะกล้าปฏิญญาว่า เป็นครู จนตลอดชีวิต หรือไม่ ยิ่งไม่กล้าใหญ่ ใครกำลังจะ ลงเรือน้อย ข้ามฟาก ไปฟากอื่น ซึ่งไม่ใช่ นครของพวกครูบ้าง ก็ดูเหมือน ไม่กล้าเปิดเผย เพราะเราไม่ชอบ ความกล้าหาญ และเปิดเผย กันอย่างสูงสุด เหมือน กะคน ในเรื่องนิทานนี้
     
  6. zipper

    zipper เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2004
    โพสต์:
    5,226
    ค่าพลัง:
    +10,590
    อือ เยอะดีมากเลย เรื่องน้ำชาล้นนี่เคยได้ยินมามาก ดูท่าจะเป็นเรื่องที่ดังเหมือนกัน
     
  7. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>



    นิทานเรื่องที่ ๗ ของเขามีว่า นิทานเรื่องนี้ ชื่อเรื่อง "พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง" ในนครโตเกียว สมัยศักราชเมจิ มีอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่สองคน คนหนึ่ง ชื่อ อันโช เป็นครูบาอาจารย์ ในนิกาย ชินงอน คนนี้ ไม่ดื่มเลย อีกคนหนึ่ง ชื่อ แตนแซน หรือ ตานซาน ก็แล้วแต่จะเรียก เป็น ครูบาอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยด้วย ไม่เคยถือศีลเลย จึงดื่มจัด หรือ ละโมบ ในการบริโภค
    วันหนึ่ง อาจารย์อันโช ไปเยี่ยม อาจารย์ตานซาน กำลังดื่มอยู่พอดี อาจารย์ตานซาน ก็ถามว่า จะไม่ดื่มบ้าง เทียวหรือ คือกล่าวชักชวน ให้ดื่ม นั่นเอง อันโชก็ บอกว่า ไม่เคยดื่มเลย ตานซานก็ว่า คนที่ไม่เคยดื่ม เลยนั้นน่ะ ไม่ใช่คน ฝ่ายอันโช ก็ฉุนกึก นิ่งเงียบไป ขณะหนึ่ง ในที่สุด พูดขึ้นมาได้ว่า ท่านว่าฉันไม่ใช่คน เพราะเพียงแต่ฉันไม่ดื่ม ถ้าฉันไม่ใช่คนแล้ว ฉันจะเป็นอะไร อาจารย์ตานซาน ก็บอกว่า เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วนิทานของเขาก็จบ

    นี่เราจะฟังเป็นเรื่อง การโต้ตอบ ด้วยโวหาร ก็ได้ แต่ความจริง มันเป็นเรื่อง ที่มุ่งหมาย จะสอน ตามแบบวิธีของเขา ที่ให้คนสำนึกว่า คนนั้น ยังไม่เป็น พระพุทธเจ้า คนหนึ่ง ต่างหาก ที่ว่าเป็น พระพุทธเจ้า คนหนึ่ง ก็เพื่อจะสอนให้รู้ว่า ยังไม่เป็น พระพุทธเจ้า เลยมากกว่า ซึ่งทำให้ อาจารย์ คนนั้น ก็ชงักกึก ไปอีก เหมือนกัน เพราะมันก็รู้ตัวอยู่ว่า เราก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า สักที แล้วเราก็ ไม่ใช่เป็นคนแล้ว มันจะเป็นอะไรกัน คนก็ไม่เป็น พระพุทธเจ้าก็ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร

    ฉะนั้น เราเองก็เหมือนกัน เราเป็นครู ตามอุดมคติ หรือยัง หรือว่า ถ้าไม่เป็นครู มันก็ไม่ใช่ครู ถ้าเป็นครู ก็ต้องเป็นครู และการที่เขาว่า เราไม่ใช่คน เราไม่ควรจะโกรธเลย หรือแม้ว่า ครูจะถูกกล่าวหาว่า อย่างนั้น อย่างนี้ เราก็ไม่โกรธ ถ้าจะพูดถึง พุทธะตามแบบ นิกายเซ็น ก็คือว่า ถ้าเรายังเป็นครู ตามอุดมคติ ไม่ได้ เราก็ยังเป็น พุทธะ ไม่ได้ อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะพยายาม ทำตน ไม่ให้เป็น อะไรเลย ให้มีจิตว่าง ไม่รู้สึกเป็นอะไรเลย ซึ่งหมายความว่า ให้อยู่เหนือ การถูกว่า หรือเขาว่ามา มันก็ไม่ถูก เราเป็นชนิดนั้น กันจะดีไหม คือว่า เราเป็นอะไร อย่างหนึ่ง ซึ่งใครจะว่าอะไร อย่างไรมา มันก็ไม่ถูกเรา มันก็คงไม่มีอะไร นอกจากเราเป็น "ว่างจากตัวเรา" ถ้าเราเป็นอย่างนี้ มันก็จะเป็นอย่างภูเขา ซึ่งลมจะพัดมา กี่ทิศกี่ทาง ก็ไม่สามารถ ทำให้ ภูเขา หวั่นไหวได้

    ในบาลี มีคำกล่าวอยู่ ถ้าภูเขาเป็นหินแท่งหนึ่ง ฝังอยู่ในดิน ๑๖ ศอก โผล่อยู่บนดิน ๑๖ ศอก ลมไหนจะพัดให้หวั่นไหวได้ ถ้าเราว่างจาก ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเรามีเกียรติ อย่างนั้นอย่างนี้ เราเป็นอะไร อย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนั้นแหละ เราจะเป็นบุคคล ที่ลมไหน พัดมาก็ไม่ถูก
     
  8. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>


    เรื่องที่ ๘ ชื่อเรื่อง "ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว" นี้ลองฟังให้ดี จะได้รู้ว่า เราใกล้ พระพุทธเจ้า เข้าไปแล้ว หรือไม่ นักศึกษา ในมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่ง ได้ไปเยี่ยม ธยานาจารย์ คือ อาจารย์แห่ง นิกายเซ็น แห่งหนึ่ง ชื่อว่า กาซาน เพราะ นิสิตคนนั้น เขาแตกฉาน ในการศึกษา เขาจึงถาม อาจารย์กาซานว่า เคยอ่าน คริสเตียน ไบเบิล ไหม ท่านอาจารย์ กาซาน ซึ่งเป็นพระเถื่อน อย่งพระสมถะ นี้จะเคยอ่าน ไบเบิล ได้อย่างไร จึงตอบว่า เปล่า ช่วยอ่าน ให้ฉันฟังที
    นิสิตคนนั้น ก็อ่าานคัมภีร์ไบเบิล ตอน Saint Mathew ไปตามลำดับ จนถึงประโยคที่ว่า ไม่ต้องห่วงอนาคต คือไม่ต้องห่วงวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ มันจะเลี้ยงตัวมันเองได้ แม้แต่ นกกระจอก ก็ไม่อดตาย ทำนองนี้

    ท่านอาจารย์ กาซาน ก็บอกว่า ใครที่พูดประโยคนี้ได้ ฉันคิดว่า เป็นผู้รู้แจ้งคนหนึ่งทีเดียว คือเป็น An enlighten one คนหนึ่ง ทีเดียว แต่นิสิตคนนั้น ก็ยังไม่หยุดอ่าน คงอ่านต่อไป มีความว่า "ขอเถิด แล้วจะได้ จงแสวงหาเถิด แล้วจะพบ จงเคาะเข้าเถิด แล้วมันจะเปิดออกมา เพราะว่า ใครก็ตามที่ขอแล้ว จะต้องได้รับ ใครก็ตาม ที่แสวงหา แล้วย่อมได้พบ และใครก็ตาม ที่เคาะเข้าแล้ว ประตูก็จะเปิดออกมา"

    พอถึงตอนนี้ อาจารย์ กาซาน ก็ว่า แหม วิเศษที่สุด ใครก็กล่าว อย่างนี้ ก็ใกล้ พระพุทธเจ้า เข้าไปแล้ว นิทานของเขาก็จบ

    นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่า อย่างไร? หมายความว่า ถ้ารู้ธรรมะจริง จะไม่เห็นว่า มีลัทธิคริสเตียน หรือ พุทธ หรือ อะไรอื่น ในจิตใจ ของผู้รู้ธรรมะ จริง จะไม่รู้สึกว่า มีคริสต์ มีพุทธ มีอิสลาม มีฮินดู มีอะไร เพราะไม่ได้ ฟังชื่อเสียง เหล่านั้น ไม่ต้องเป็น นิกายอะไร ครูบาอาจารย์ สำนักไหน คัมภีร์อะไร อ้างหลักฐานชนิดไหน ไม่มีจิตใจ หรือ ความรู้สึก ที่ค้านหรือ รับฟังถ้อยคำเหล่านั้น จะฟังแต่ เนื้อหา ของธรรมะนั้น และก็ เนื้อหา ของธรรมะสูง ก็รู้ได้ว่า มันเป็นอย่างไร สูง ต่ำ ก็รู้ว่า สูงต่ำ อย่างที่ว่า เคาะเข้าเถิด จะเปิดออกมานี้ มันก็เหมือนอย่งที่เราพูดว่า ถ้าปฏิบัติให้ถูก มันก็จะง่าย ง่ายที่สุด ในการที่จะบรรลุนิพพาน เดี๋ยวนี้ ไปนอนหลับสบายกันเสียหมด ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ก็ได้ ไม่มีใครเคาะ ไม่มีใครแสวงหา หรือ ไม่มีใครขวนขวาย นั่นเอง ถ้าฟังกันแต่ เนื้อหาธรรมะ แล้ว มันไม่มีพุทธ ไม่มีคริสเตียน หรือ ไม่มีเซ็น ไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายาน อย่างนี้ ไม่มีอาการ ที่จะเป็นเขา เป็นเราเลย จิตมันว่างเสียเรื่อย มันจึงมีเขาฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่ได้ มีเราอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่ได้ ฉะนั้น ความกระทบกัน ระหว่างเขา กับเรา ไม่อาจจะเกิด ไม่มีทางจะเกิด ไม่มีพื้นฐานจะเกิด เห็นธรรมะ เป็นพระเป็นเจ้า เห็นพระเป็นเจ้า เป็นธรรมะไปเสียเลย เหมือนอย่างว่า พระเป็นเจ้า ของฝ่ายที่ถือศาสนา พระเป็นเจ้านั้น มีการสร้าง มีการทำลาย มีการให้รางวัล มีการทำอะไร ทุกอย่าง ตามหน้าที่ ของพระผู้เป็นเจ้า เราก็มีสิ่งที่ทำหน้าที่อย่างนั้น ครบทุกอย่าง เหมือนกัน แต่เราไปเรียกว่า ธรรม เหมือนกับ ความหมายของ คำว่า ธรรมะ ที่อธิบายแล้ว ในการบรรยายครั้งที่ ๑ นั้น ไม่มีอะไร นอกจาก ธรรมะ แล้วความโง่ ความหลง คือ อวิชชา ต่างหาก ที่ไปสมมติ ให้ว่า เป็นชื่อนั้น ชื่อนี้ อย่างนั้น อย่างนี้ พวกนั้น พวกนี้ จนมีเรา เมีเขา จริยธรรมทั้งหมด ของธรรมชาติ ทั้งหมด นั้น มีเรื่องเดียว แนวเดียว สายเดียว

    ขอให้สนใจ ในความจริง ข้อนี้ เถอะว่า จริยธรรม ทั้งหมด ของโลกนี้ หรือ ของโลกอื่นด้วยก็ได้ ย่อมมีแนวเดียว และสายเดียว และตรง เป็นอันเดียวกัน ไม่ต้องพูดกันว่า ของประเทศนั้น ประเทศนี้ ศาสนานั้น ศาสนานี้ ในโลกเดียวกันนี้ ถึงแม้ว่า สิ่งที่เป็น จริยธรรม จะมีหลายรูป หรือ หลายเหลี่ยม ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่วันแรกนั้น ก็ยังเป็น อันเดียว แนวเดียว สายเดียวกัน อยู่นั่นเอง มีแต่ว่า ระบบไหน ใกล้จุดปลายทาง หรือยัง เท่านั้น แต่เรื่อง ต้องเป็น เรื่องเดียวกันหมด ขึ้นชื่อว่า ธรรมะแล้ว ต้องเป็น เรื่องเดียวกันหมด แต่ว่า อันไหน หรือ ที่ใครกล่าวนั้น มันใกล้จุดปลายทาง เข้าไปหรือยัง ฉะนั้น เราอย่าได้รังเกียจ อย่าได้ชิงชัง ว่า คนนั้น คนนี้ เป็นคริสเตียน แล้วก็จะต้องเป็นศัตรู เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ขึ้นมา ทีเดียว ถ้าถืออย่างนี้ ก็แปลว่า ไม่รู้ธรรมะ ยิ่งเป็น ครูบาอาจารย์ ด้วยแล้ว ไม่ควรจะไปรู้สึกทำนองนั้น เป็นอันขาด
     
  9. พรายแสง

    พรายแสง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    833
    ค่าพลัง:
    +371
    นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละจะยิ่งช้า

    <TABLE width=121 align=left border=0><TBODY><TR><TD width=103>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>



    นิทานเรื่องที่ ๙ เรื่อง "ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ จะมีประโยชน์มาก สำหรับ ครูบาอาจารย์ อาตมา จึงเลือกนำมาเล่า ให้ฟัง "ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ ถึงท่านจะ ไม่เรียก ตนเองว่า ครู ก็ตาม ก็ควรจะสนใจฟัง ในฐานะที่ว่า จะเป็นปัจจัย เกื้อกูล แก่การ เข้าใจธรรม และปฏิบัติธรรม เรื่องเล่าว่า มีหนุ่มคนหนึ่ง เขาอยากจะเป็น นักฟันดาบ ที่เก่งกาจ เขาไปหา อาจารย์สอนฟันดาบ ให้ช่วยสอนเขา ให้เป็นนักฟันดาบ เขาถาม อาจารย์ว่า จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ ตอบว่า ประมาณ ๗ ปี เขาชักจะรวนเร เพราะว่า ๗ ปี นี้มันเป็นเวลา มิใช่น้อย ฉะนั้น เขาขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายาม ให้สุดฝีมือ สุดความสามารถ ในการศึกษา ฝึกฝน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้ จะใช้เวลา สักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ต้องใช้เวลา สัก ๑๔ ปี" แทนที่จะเป็น ๗ ปี กลายเป็น ๑๔ ปี ฟังดู
    หนุ่มคนนั้น ก็โอดครวญ ขึ้นมาว่า บิดาของเขาแก่มากแล้ว จะตาย อยู่รอมร่อแล้ว เขาจะ พยายาม อย่างยิ่ง ให้บิดา ของเขา ได้ทันเห็น ฝีมือ ฟันดาบของเขา ก่อนตาย เขาจะแสดง ฝีมือฟันดาบ ของเขา ให้บิดา ของเขา ชม ให้เป็นที่ชื่นใจ แก่บิดา เขาจะพยายาม อย่างยิ่ง ที่จะแสดง ความสามารถ ให้ทันสนองคุณ ของบิดา จะต้องใช้เวลา สักเท่าไร ขอให้อาจารย์ ช่วยคิดดูให้ดีๆ

    ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง ๒๑ ปี" นี้มันเป็นอย่างไร ขอให้นึกดู แทนที่จะ ลดลงมา มันกลายเป็น เพิ่มขึ้นเป็น ๒๑ ปี หนุ่มคนนั้น จะเล่นงาน อาจารย์ อย่างไร ก็ไม่ได้ เพราะเป็นอาจารย์ จะทำอย่างอื่น ก็ไม่ถูก นึกไม่ออก เพราะไม่มีใคร จะเป็นอาจารย์ สอนฟันดาบ ให้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็น อาจารย์ ของประเทศ ดังนั้น เขาก็ ซังกะตาย อยู่ไปกะอาจารย์ ด้วยไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดีนั่นเอง

    หลายวันต่อมา อาจารย์ก็ใช้ คนคนนี้ แทนที่จะเรียก ไปสอน ให้ใช้ดาบ ฟันดาบ กลับให้ทำครัว ให้ทำงานในครัว ให้ตักน้ำผ่าฟืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เรียกว่า ต้องทำงานในครัว

    หลายวันล่วงมา วันหนึ่ง อาจารย์ผลุนผลัน เข้าไปในครัว ด้วยดาบสองมือ ฟันหนุ่มคนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้สึกตัว อุตลุต เป็นการใหญ่ เขาก็ต้องต่อสู้ ไปตามเรื่อง ตามราว ของเขา ตามที่เขาจะสู้ได้ โดยใช้อะไร แทนดาบ หรือ ด้วยมือ เปล่าๆ หรืออะไรก็สุดแท้ สองสามอึดใจ แล้วก็เลิกกัน อาจารย์ ก็กลับไป แล้วต่อมา อีกหลายวัน เขาก็ถูกเข้า โดยวิธีนี้อีก และมีบ่อยๆ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่กี่ครั้ง เขาก็กลายเป็น นักฟันดาบ ขึ้นมาได้ โดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่ง อาจารย์บอกว่า กลับบ้านได้ คือจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาหนุ่มคนนี้ ก็เป็น นักดาบ ลือชื่อ ของประเทศญี่ปุ่นไป นิทานของเขาก็จบ.

    ท่านลองคิดดูว่า นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร? ตอบสั้นๆ ที่สุดก็คือว่า การทำอะไร ด้วยความ ยึดมั่น ถือมั่น ว่า ตัวตน ว่าของ ของตนนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็น ผลดีเลย คือ ถ้าหนุ่มคนนี้ ยังคิดว่า กูจะดี กูจะเด่น อยู่ละก็ มีตัวกู เข้ามาฝึก เป็นตัวกู ที่ใหญ่เอาการ อยู่เหมือนกัน ทีนี้ ถ้ายิ่งจะทำให้ดีที่สุด กูจะทำให้เก่งที่สุด ให้เร็วที่สุด อย่างนี้ด้วยแล้ว ไอ้ตัวกู มันยิ่งขยาย โตออกไปอีก ถ้ายิ่งจะให้ทัน บิดาเห็น บิดาแก่มากจะตายแล้ว ตัวกู มันยิ่งพองมากออกไปอีก มันยิ่งเร่งร้อน ออกไปอีก อย่างนี้ จิตไม่เป็นสมาธิได้ จิตเต็มอัดอยู่ด้วยตัวกู กลัดกลุ้มไปด้วยตัวกูของกู ไม่เป็นจิตว่าง ไม่เป็นตัวสติปัญญา อยู่ในจิต ไม่สามารถจะมี สมรรถภาพเดิมแท้ของจิต ออกมาได้ เพราะมัน กลัดกลุ้ม อยู่ด้วยอุปาทาน ว่า ตัวกูของกู หรือ ความเห็นแก่ตัวนี้ มันเลยไม่เฉียบแหลม ไม่ว่องไว ไม่ active อะไรหมด ฉะนั้น ถ้าขืนทำไปอย่างนี้ จริงๆ แล้ว จะต้องใช้เวลา ๗ ปี หรือว่า ๑๔ ปี หรือว่า ๒๑ ปีจริงๆ

    ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ของกู กูจะเอาใน ๗ ปี หรือจะให้ทันบิดาเห็น อย่างนี้ไม่มีเลย กำลังเป็นจิตที่ว่างอยู่ ถึงแม้ว่า อาจารย์จะผลุนผลัน เข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฏิภาณของจิตว่าง หรือ จิตเดิมแท้นี้ ก็มีมากพอ ที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการ เรียกร้องขึ้นมา หรือ ปลุกขึ้นมา จากหลับ ปลุกจิตอันนี้ ขึ้นมาจากหลับ ตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ มาเป็นจิตที่ เบิกบานเต็มที่ ซึ่งต่อไป ก็เอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็น ผู้สำเร็จหลักสูตร โดยวิธี ประหลาด นั้น ภายในไม่ถึง ๗ ปี หรือ ภายในไม่ถึงปี อย่างนี้เป็นต้น

    เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะให้ท่าน ครูบาอาจารย์ สนใจที่จะนึกดูว่า ความรู้สึกที่เป็น ตัวตน หรือเป็นของตนนั้น อยู่ที่ตรงไหน? เหมือนอย่างว่า เราจะยิงปืน หรือ ยิงธนู หรือว่า ขว้างแม่น ในการกีฬาขว้างแม่น ถ้าจิตของผู้ขว้าง มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นชื่อเสียงของกู ชื่อเสียง ของโรงเรียนของกู ของมหาวิทยาลัยของกู รัวอยู่ในใจแล้ว ไม่มีวันที่จะ ขว้างแม่น หรือขว้างถูกได้ มันสั่นระรัว อยู่ด้วยตัวกู หรือของกูนี้ ทั้งนั้น ที่ถูกนั้น เมื่อมีความตั้งใจ ถูกต้อง ที่จะทำเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ของโรงเรียน หรือของอะไรก็ตาม แล้วเขาต้องลืมหมด ลืมแม้แต่ตัวกู โรงเรียนของกู มหาวิทยาลัยของกู เหลืออยู่แต่สติปัญญา และ สติสัมปชัญญะ ที่จะขว้างด้วย อำนาจสมาธิ เท่านั้น คือพูดตรงๆ ก็ว่า ขณะนั้น มีแต่จิตที่เป็นสมาธิ กับสติปัญญาเท่านั้น ตัวกู ของกู ไม่มีเลย มันจึงเป็นจิตเดิม เป็นจิตตามสภาพจิต มือไม้ไม่สั่น ใจไม่สั่น ประสาทไม่สั่น อะไรๆ ไม่สั่น ปรกติ เป็น active ถึงที่สุดแล้ว เขาจะขว้างแม่น เหมือนอย่างกะ ปาฏิหาริย์ นี้ขอให้เข้าใจอย่างนี้

    หรือว่า ในการจัดดอกไม้ในแจกัน คนจัดจะต้องทำจิตให้ว่าง จากความเห็นแก่ตัวกู หรือชื่อเสียงของกู ตลอดถึงโรงเรียนของกู หมู่คณะ ของกู เสียก่อนแล้ว เสียบดอกไม้ ไปด้วยจิตว่าง จิตบริสุทธิ์ นั่นแหละ คือ สติปัญญา ล้วนๆ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เจืออยู่ ก็จะได้ แจกันที่สวยที่สุด ไม่เคยปรากฏ มาแต่ก่อน นี่เขาถือเป็นหลัก ของนิกายเซ็น ฉะนั้น ขอให้สนใจ ในการที่จะทำอะไร หรือมีชีวิตอยู่ ด้วยความ ไม่มีตัวกู ของกู มันยิ่งจำเป็นมาก สำหรับครูบาอาจารย์ ที่จะสอนเด็ก ให้ทำงาน ฝีมือดี ด้วยจิตใจ ที่ปรกติ ไม่สั่น ในระบบประสาท ไม่สั่น ในระบบของ ความคิดนึก หรือว่า เมื่อเด็กๆ จะสอบไล่ เมื่อเขารู้สึกตัว อยู่แล้วว่า จะต้องสอบได้แล้ว จะไปมัวห่วง กลัวจะสอบตก จะเสียชื่อ จะเสียเวลา ถ้าสอบไม่ได้ จะไปโดดน้ำตาย เป็นต้น จะต้องไปนึกทำไม นั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู เด็กคนนั้น จะต้อง ลืมสิ่งเหล่านั้น หมด และลืม แม้แต่กระทั่ง ตัวเอง คำว่า "ลืมตัวเอง" นี้ถ้าฟังไม่ดีแล้ว ก็จะไม่เข้าใจ แล้วจะรู้สึกเถียง แย้งขึ้นมาว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จริง เราลืมตัวเราเอง นี้ได้ ในลักษณะ หรือกรณีเช่น:

    เด็กๆ ในขณะสอบไล่นั้น จะต้องลืมหมด แม้กระทั่งตัวเอง เหลืออยู่ในใจ แต่ว่า ปัญหาว่าอย่างไร มีใจความว่าอย่างไร แล้วคำตอบควรจะว่าอย่างไร ถ้าจิตใจ ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้ว วิชาความรู้ ต่างๆ ที่เคยสะสม มาตั้งแต่แรก เรียนนั้น จะมาหา พรู มาทีเดียว ให้เขาพบคำตอบว่า อย่างนั้น อย่างนี้ และถูกต้องที่สุด แต่ถ้าเขากลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกู ของกู แล้ว แม้เขาจะเคยเรียน มามากอย่างไร มันก็ไม่มา มันมีอาการ เหมือนกับ ลืม นึกไม่ออก นั่นแหละ แล้วมันจะ ระส่ำระสาย กระสับกระส่าย รวนเรไปหมด ก็เลยตอบ ไม่ได้ดี ถ้าสอบไล่ ด้วยจิตว่างนี้ จะได้ที่หนึ่ง หรือ ยิ่งกว่า ที่หนึ่ง เสียอีก ฉะนั้น เขาจึงมีการ สอนมาก ในเรื่องที่ว่า อย่าทำจิต ที่สั่นระรัว ด้วยตัวกู ของกู เพราะว่า การทำอย่างนั้น ยิ่งจะให้เร็ว มันจะ ยิ่งช้าที่สุด ตามชื่อของนิทานว่า "ยิ่งให้เร็ว มันยิ่งช้า" หรือ ที่เราจะพูดว่า จะเอาให้ได้ มันยิ่งจะไม่ได้เลย หรือว่า จะไม่เอาอะไรเลย มันยิ่งจะ ได้มาหมด คือ ไม่มีตัวเรา ที่จะเอาอะไรเลยแล้ว มันจะได้มาหมด
     

แชร์หน้านี้

Loading...