นาคแปลงพุทธรูป

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย space, 24 สิงหาคม 2008.

  1. space

    space สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2006
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +7
    การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยออกแคมเปญท่องเที่ยวไหว้พระ ๙ วัดในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสิริมงคลและขอพรให้สมปรารถนา โดยกำหนดเลือกวัดที่มีชื่อเป็นสิริมงคล ยกตัวอย่างเช่น วัดชนะสงคราม เมื่อได้กราบไหว้แล้วก็จะรอดพ้นภัยพาลทั้งมวล ไหว้พระวัดระฆัง จะได้มีชื่อเสียงโด่งดังกังวานไกลเหมือนเสียงระฆัง เป็นต้น ทุกวันนี้พระพุทธรูปมีประโยชน์ใช้สอยที่เด่นชัดประการเดียวคือ แสดงเดชฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ที่มากราบไหว้ขอพร ทั้งที่แนวทางปฏิบัติของชาวพุทธที่แท้นั้นสอนให้พึ่งตนเองไม่ใช่วอนขอ สอนให้ปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นจากกิเลสของตน ไม่ใช่ไปเชื่อมงคลตื่นข่าวซึ่งเป็นของภายนอกตนจนเป็นเหตุให้กิเลสพอกพูนมากยิ่งขึ้น

    ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกชัดเจนถึงการพลิกผันแปรเปลี่ยนไปในทางไสยศาสตร์ แทนที่การกราบไหว้องค์พุทธรูปจะเป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย จึงเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดกิจกรรมของชาวพุทธจึงหลุดตัวออกจากแนวทางพุทธที่แท้จริง? บทความนี้จะเสนอแง่มุมที่บอกถึงเหตุ ด้วยการจัดเรียงเนื้อหาวิวัฒนาสายนาคแปลงพุทธรูป โดยคิดวิธีอธิบายและแบ่งกลุ่มขึ้นมาเฉพาะ เพื่อให้เข้าใจถึงตัวความรู้ใหม่ นี่จึงไม่ใช่วิวัฒนาการพระพุทธรูปในประเทศไทยหรือระเบียบวิธีประวัติศาสตร์ศิลปะ ฯลฯ แต่เป็นการมอบความเข้าใจชนิดกรองเนื้อป้อนตรงเข้าสู่สัมผัสรู้ อันจะเป็นฐานให้เข้าถึงลายไทยได้ในกาลข้างหน้า

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๑ คือ พระพุทธรูปทวารวดี (นาคแปลงยุคแรก)

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๒ คือ พระพุทธรูปที่ติดอยู่กับอาคารวิหารเจดีย์ (นาคคายลงเป็นชั้นๆ)

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๓ คือ พระพุทธสิหิงค์ นาคแปลงเป็นพระพุทธรูป

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๔ คือ พระพุทธรูปทรงเครื่อง การหลุดตัวแผลงเดชาฤทธิ์นาค

    โดยทั้ง ๔ กลุ่มตัวอย่างมีหลักร่วมอันสำคัญคือ เกิดจากการแปลงของนาคทั้งสิ้น วิธีศึกษาที่ผู้เขียนสร้างขึ้นคือ

    ๑. หาความเชื่อร่วมในสายวิวัฒนามาของสิ่งเดียวกัน (ในที่นี้คือพระพุทธรูป) ว่าย่อมมีความเชื่อในเรื่องบางอย่างร่วมกัน (ในที่นี้คือนาคแปลงอันเป็นความเชื่อนาคมาแต่เดิมของชนพื้นถิ่น)

    ๒. ใช้เหตุผลเต็มในงานเสร็จ คือ เชื่อว่าผลงานที่สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้วในยุคนั้นๆ มีความสมบูรณ์ลงตัวในตัวเองโดยจะไม่ไปติตีข้อบกพร่องตัวงานโดยเอาข้อจำกัดของสมัยนั้นที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจากการเปรียบเทียบกับสมัยหลัง ยกตัวอย่างเช่น ออกมาบอกว่าพระพุทธรูปสลักหินสมัยทวารวดีจำเป็นต้องสลักบนหิน เพราะเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทานที่สุดที่ยุคนั้นจะหาได้ เป็นต้น

    แต่ผู้เขียนจะเคารพว่าผลงานนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงตัวในตัวเอง โดยเหตุที่ช่างทวารวดีเลือกสร้างพระพุทธรูปด้วยหิน เพราะหินเป็นเหตุเป็นผลของเบื้องบน สวรรค์ ฟ้า พระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ที่เขาเชื่อถือ เคารพ ยำเกรง ถวายชีวิต เทิดทูน ฯลฯ ด้วยความเชื่อมั่นว่างานโบราณมีความศรัทธา มีคติเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังผลงาน เพียงแต่ว่าเราจะเข้าถึงหรือไม่เท่านั้น ช่องว่างของการไปไม่ถึงความคิดเบื้องหลังดังว่า ก่อเกิดมลภาวะวิชาการเป็นพิษประปราย ก่อเกิดนักเล่นกลวิชาการมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การประดิษฐ์ความรู้ด้วยวิธีหาเนื้อความพ้องแล้วรวบรัดตัดบทจับสวมชุด "ความรู้ใหม่" โดยนักวิชาการชั้นครู เช่น เมื่อหาเหตุผลว่าพระทรงเครื่องคืออะไรไม่เจอ ก็ย้อนกลับไปอินเดีย ดูว่ามีเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตอนใดที่แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นกษัตริย์ แล้วคว้าเอากลับมาอ้าง จัดว่าเป็นวิธีคลาสสิคในการเล่นกลวิชาการวิธีหนึ่ง ประกอบกับลูกเล่นของกลนี้ก็ช่างสานเข้ากับความเข้าใจของคนในยุคชนิด "พ้องรูปก็พลอยโจน" (นักวิชาการว่ามาเราก็เชื่อไป ก็เกิดมาร่วมยุคกันแล้วนี่ แบบตกกระไดพลอยโจน) เลยเถิดกันไปใหญ่ ปรากฏเป็นภาพรวมของวงวิชาการไทยหลายสำนักที่ไร้หลักอย่างสิ้นเชิง ยังมีตัวอย่างของแบบที่ไม่มีที่มาที่ไปเลย ชนิดคิดขึ้นมาลอยๆ ขอยกมากล่าว ๓ ตัวอย่าง

    ตัวอย่างที่ ๑ ตำราจากหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง ของ ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ในเรื่องศิลปะอินเดีย สมัยที่ ๑ หน้า ๑๓ ที่บอกว่าสถูปที่เมืองสาญจีรูปโอคว่ำตั้งอยู่บนฐานและมีฉัตรปักบนยอด สถูปนี้คงสร้างเลียนแบบมาจากเนินดินหรือหลุมฝังศพโดยไม่ต้องสงสัย และหน้าเดียวกันพูดถึงถ้ำเจติยสถานที่ภาชา ว่าขุดเข้าไปในภูเขา ซึ่งเลียนแบบสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยไม้อย่างชัดเจน โดยชี้ไปที่เสาเหลี่ยมว่าคล้ายต้นไม้ตัดเป็นเหลี่ยม ทั้งที่ไม่มีตัวอย่างเครื่องไม้ร่วมสมัยกับถ้ำนั้นหลงเหลือให้เห็นแม้ตัวอย่างเดียว ความจริงถ้าท่านไม่สงสัยก็เป็นเรื่องของท่าน แต่คนอื่นก็ยังสงสัยกันได้ สถูปโอคว่ำของสาญจีคือน้ำในระเบียบฟอง ฉัตรที่ปักคือเมฆฝนคายลงเป็นชั้นๆ ในพื้นฐานความเชื่อเรื่องสวรรค์เบื้องบน โดยมีน้ำเป็นสื่อเชื่อมสวรรค์โลก ส่วนเสาเหลี่ยมในถ้ำเจติยสถานมีที่มาจากผลึกแร่ทรงเหลี่ยม (เช่นโป่งข่าม) ที่อารยธรรมอินเดียโบราณเขาเชื่อว่าเป็นสื่อสวรรค์ คือน้ำแปลงเป็นของแข็งพบอยู่ในถ้ำ (ขอให้ไปศึกษาเรื่องเพชรที่ประดับศีรษะของกษัตริย์ และหน้านาคคายน้ำเป็นชั้นๆ แปลงเป็นองค์สถาปัตย์ทั้งพุทธและฮินดูในอินเดียก็จะเข้าใจ)

    ตัวอย่างที่ ๒ บทความลิงคือจิต ของ ดร.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ จากหนังสือรวมบทความของท่าน ท่านใช้หลักฐานประติมากรรมดินเผารูปคนจูงลิงที่พบ ณ แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีเมืองจันเสน มาตีความว่าลิงคือจิต (คนผูกลิงไว้ คือจับจิตให้นิ่ง) ใช้ความคิดของตนที่คิดว่าลึกซึ้งแล้ว จับโบราณใส่ลงไป ความจริงจิตนั้นไม่สามารถผูกได้ เพราะเป็นอนิจลักษณ์ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถือว่าบทความชิ้นนี้เป็นการตำหนิบรรพบุรุษว่าแสดงรูปปริศนาธรรมผิดๆ ซึ่งไม่ใช่โบราณผิด เราที่มั่วจับโบราณใส่ลง ลิงก็คือลิง จิตก็คือจิต ลิงจะคือจิตเมื่อจิตยกระดับขึ้นสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง ซึ่งที่นั่นจะไม่มีการผูกหรือไม่ผูกแยกคน ลิงใด

    และตัวอย่างที่ ๓ ผลงานตีความของนักวิชาการท่านหนึ่ง (ขออภัยจำชื่อไม่ได้ เป็นบทความเก่าแล้ว) โต้ฐานย่อมุมว่าคือเพิ่มมุม วงการยกย่องว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งที่ย่อและเพิ่มก็เป็นแค่ชื่อเรียกไม่ได้เป็นสาระด้วยกันทั้งคู่ ยังไม่ได้แตะโดนว่าสิ่งนั้นคืออะไรเลย บอกว่าซุ้มพระพุทธรูปคือสถาปัตย์ ทั้งที่ซุ้มคืออะไรในความหมายที่แท้จริงก็ยังไม่ให้ความกระจ่างได้เลย

    นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนของการเล่นกลวิชาการในยุคเรา (ข้อแถลงไขของการใช้ว่ายุคเราและคำว่าพวกเรา เนื่องจากเรากำลังทำความรู้ใหม่ให้แจ้ง ความรู้ใหม่ที่ว่าคือการคัดเนื้อแท้ลายไทย จึงมีการยกชี้ ปะทะ เปรียบเทียบกับผลงานวิชาการในยุคเราที่ไม่ค่อยแตะโดนความรู้ที่แท้จริงสักเท่าใด แถมนับวันจะยิ่งทวีระยะห่างของความรู้ ไม่รู้ จนมีวี่แววว่าจะตกหลุมบ่อ "ไม่มีความรู้โดยสิ้นเชิง" ด้วยวิธียกตัวอย่างผลงานมาเปรียบเทียบให้เห็นนี้ ย่อมมีแรงกระทบกระทั่งตรงต่อเจ้าของผลงานที่ข้าพเจ้ายกมา ข้าพเจ้าจึงใช้คำว่ายุคเราและคำว่าพวกเรา เพื่อหมายความรวมตัวข้าพเจ้าเข้าไปเป็นส่วนร่วมในการเกิดขึ้นของยุคสมัยแห่งบรรยากาศวิชาการดังที่เป็น หากการยกมาดังกล่าวนี้ทำให้ท่านรู้สึกว่าเลยเถิดรุนแรง ข้าพเจ้าขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยใจจริง)

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๑ คือ พระพุทธรูปทวารวดี (นาคแปลงยุคแรก)

    อินเดียเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนา ต้องผสานเข้ากับความเชื่อท้องถิ่นปรากฏเป็นงานปั้น สลักหิน ณ ที่ตั้งคือภูเขา หน้าผา ถ้ำ เพราะคนท้องถิ่นเชื่อว่าภูเขาถ้ำคือแดนศักดิ์สิทธิ์ที่สวรรค์ต่อโลก



    พระพุทธรูปทวารวดีที่ปรากฏนี้ คือปางปาฏิหาริย์ เช่นที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี เป็นรูปพระพุทธเจ้าสำแดงเดชาฤทธิ์ให้เทพฮินดูสดับธรรม ภาพประติมากรรมสลักหินและพระพิมพ์ดินเผามากมายเป็นรูปมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี เพราะการจะเข้ามาเผยแผ่ให้คนพื้นถิ่นเข้าใจในพุทธปรัชญาเลยนั้นเป็นเรื่องยาก จึงมีการใช้ปางแสดงปาฏิหาริย์ของพุทธองค์ ซึ่งเข้ากับความต้องการของคนพื้นถิ่นที่เชื่อไสยศาสตร์ถือผีอยู่เดิม



    ในรายละเอียดของปางแสดงปาฏิหาริย์ จะปรากฏพุทธองค์แบ่งกายเป็นคู่ๆ (ยมกปาฏิหาริย์) ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน โดยการเป็นคู่ คือจะมีการทำท่าเดียวกัน แต่สลับด้านซ้ายขวา เช่น นั่งยกมือขวาคู่กับนั่งยกมือซ้าย หรือปาฏิหาริย์นอนก็จะมีตะแคงขวาและตะแคงซ้าย นี่คือเหตุผลว่าหลักฐานพระพุทธรูปที่พบ บ้างก็ยกมือซ้ายบ้างก็ยกมือขวา บ้างเดินหันซ้ายบ้างเดินหันขวา ไม่มีท่ามุทรา (สัญลักษณ์มือ) ในข้างที่ตายตัว ก็เพราะพุทธรูปที่ปรากฏอยู่ทั้งหมดนั้น คือปางแสดงปาฏิหาริย์นั่นเอง



    พระพุทธรูปทวารวดี มีสัญลักษณ์อาการเปล่งน้ำและไฟ ที่มีกล่าวไว้ในตอนแสดงปาฏิหาริย์ จากหนังสือปฐมสมโพธิกถา "...ลำดับนั้นอันว่าท่อน้ำ อุทกธาราก็ปวัตนาการออกจากพระกายเบื้องบน แลท่อเพลิงฝ่ายอุปริภาคท่ออัคคีออกจากพระกายเบื้องหน้า ท่อธาราออกจากพระกายเบื้องหลัง..." ปรากฏเป็นเปลวอยู่รอบเศียร บ้างปรากฏเป็นเปลวอยู่รอบกาย



    สรุปว่ากลุ่ม ๑ ทวารวดีนี้ต้องเผยแผ่พุทธศาสนาโดยใช้เดชฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพุทธองค์เป็นตัวนำเพื่อโน้มความเชื่อของคนพื้นถิ่นให้เข้ามาทางพุทธศาสนา

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๒ คือ พระพุทธรูปที่ติดอยู่กับอาคารวิหารเจดีย์ (นาคคายลงเป็นชั้นๆ)

    ในนาคปรกธาตุที่แสดงการคายลงเป็นชั้นๆ เคยกล่าวถึงการแปลงเป็นสัตว์หิมพานต์ ทั้งยักษ์แบก ครุฑแบก ฯลฯ เพื่อเอาเดชฤทธิ์คุ้มกัน ในบางลักษณะการแปลงปรากฏเป็นองค์พุทธรูป เช่น เจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์ เจดีย์วัดเจดีย์เจ็ดแถว พระพุทธรูปในซุ้มเจดีย์นั้นงอกปูดออกเป็นเนื้อเดียวกับเจดีย์ ซึ่งแสดงถึงการคายลงเป็นชั้นๆ ของนาค แปลงเป็นพุทธองค์สำแดงปาฏิหาริย์



    สรุปกลุ่ม ๒ ว่าเป็นการเอาเดชฤทธิ์ปาฏิหาริย์พุทธองค์ที่แปลงโดยนาค มาแสดงไว้เป็นเครื่องปกป้อง คุ้มกันอันตรายทั้งหลายทั้งปวง

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๓ คือ พระพุทธสิหิงค์ นาคแปลงเป็นพระพุทธรูป

    ในกลุ่ม ๓ นาคแปลงเพื่อความเหมือนจริงของพุทธองค์นี้ เป็นตัวบอกถึงกระบวนสายวิวัฒน์ นาคแปลงเป็นองค์พุทธรูปต่อเนื่องมา คือหาความเหมือนพระศาสดาองค์จริงและมีเดชฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องคุ้มครอง "ขณะนั้นพญานาคผู้ประเสริฐ แสดงรูปเนรมิตรเป็นพระพุทธแก่หัวหน้าชาวสีหล มีพระอรหันต์เป็นประธาน ครั้นแล้วคนทั้งปวงและพระราชาเมื่อเห็นรูปพระพุทธก็ไม่อาจยับยั้งสติไว้ได้ เผลอตัวไปอภิวาทกราบไหว้อย่างนอบน้อม..." หนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์

    จากข้อความที่ยกมาดังกล่าวยืนยันถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของมนุษย์กับนาคอย่างแยกกันไม่ออก ในแบบวัฒนธรรมชาวน้ำ ที่มีน้ำเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตเสมอมา

    สรุปกลุ่ม ๓ ว่านาคแปลงเป็นพระพุทธรูปให้เห็นกันโดยตรงก็เพื่อแก้ข้อสงสัยในความเหมือนจริงขององค์พระศาสดา แก้ข้อกังขา (เสื่อมศรัทธา) ให้กลับเป็นกราบไหว้อย่างนอบน้อม อีกทั้งในตำนานยังมีการกล่าวถึงปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์มากมายขององค์พระไว้ด้วย ทั้งหมดเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป้าหมายการสร้างพระพุทธรูปยังเน้นที่เดชฤทธิ์ ปาฏิหาริย์เป็นหัวใจหลักอยู่

    กลุ่มตัวอย่างที่ ๔ คือ พระพุทธรูปทรงเครื่อง การหลุดตัวแผลงเดชาฤทธิ์นาค

    พระพุทธรูปทรงเครื่องถูกตีความตั้งชื่อว่าทรงเครื่อง มีที่มาจากการแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนกษัตริย์ แต่ความจริงอาจเป็นว่ากษัตริย์เองที่แต่งองค์ไปเหมือนพระทรงเครื่องก็เป็นได้ (เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งไหนที่เกิดขึ้นก่อนกัน) หรือทั้งพระทรงเครื่องและกษัตริย์ร่วมคติความเชื่อเดียวกัน จึงปรากฏโฉมรูปเป็นแบบเดียวกัน?

    คำตอบคืออย่างหลังนี้ ทั้งพระทรงเครื่องและกษัตริย์อยู่ภายใต้คติความเชื่อเรื่องนาคปรกนาคแปลงร่วมกัน กล่าวคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องมีนาคปรกเพราะความดีท่านครบ (บรรลุธรรม) บวกกับคตินาคแปลงที่มีต้นเค้ามาตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม (ดังนี้ พระทรงเครื่องจึงคือนาคปรกและนาคแปลง คายตัวลงเป็นองค์พระ) ส่วนองค์กษัตริย์ในชุดพิธีบรมราชาภิเษก ก็คือการแสดงภาพกษัตริย์ผู้ทรงธรรมนั่นเอง (เมื่อทรงธรรม นาคจึงแปลงปรกพระองค์)



    สรุปกลุ่ม ๔ ว่า คือนาคปรกแปลงที่สมบูรณ์ลงตัวที่สุดในเชิงออกแบบ เพราะเป็นการหลุดตัวออกแสดงการคายเป็นชั้นๆ ของนาคอย่างชัดเจน เปรียบได้กับการสะกดอ่านออกเสียงดัง ฟังชัด เอาเดช เอาฤทธิ์ความศักดิ์สิทธิ์ปกครอบคุ้มครองแผ่ไพศาล

    ย้อนกลับไปดูคำถามที่ตั้งไว้ตอนต้นบทความที่ถามว่า "เหตุใดกิจกรรมของชาวพุทธจึงหลุดตัวออกจากแนวทางพุทธที่แท้จริง?" คำตอบที่ได้นั้นทำให้เราท่านสบายใจ เพราะศาสนาพุทธในประเทศไทย หาได้เสื่อมถอยลงแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นความไม่เคยไปถึงแก่นพุทธศาสนาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาต่างหาก นับแต่พุทธเข้ามาในสมัยทวารวดีก็มุ่งผสานกับความเชื่อท้องถิ่นโดยหวังว่าจะโน้มน้าวผู้คนให้เข้าสู่หลักธรรมในภายหลัง พันปีล่วงมาถึงวันนี้ก็ยังปรากฏกิจกรรมที่วัดใช้ไสยศาสตร์ ดึงโน้มคนให้เข้าหาวัดอยู่อย่างดาษดื่น เห็นได้ง่ายทั่วไปทั้งรดน้ำมนต์แก้ซวย ใบ้หวย ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ฯลฯ ในทุกยุคทุกสมัยจึงปรากฏความพยายามที่จะสังคายนาวงการพุทธศาสนาให้ดีขึ้น ปรากฏพระอัจฉริยสงฆ์ออกมาประกาศสวนกระแสความเสื่อมในวงการพระพุทธศาสนาเป็นระยะ ฯลฯ

    ขอยกข้อความจากตำนานอุรังคธาตุ (มากล่าวเสริมอีกถ่าย) ว่า "พระพุทธเจ้าทรงบาตรอ่วยหน้าสู่ทิศตะวันออก เจ้าอานนท์นำพุทธลีลามาทางอากาศ ลงที่ดอนกอนเน่าที่นั้นก่อนแล้ว จึงมาสถิตอยู่แคมหนองคันแทเสื้อน้ำ ทอดพระเนตรเห็นแลนคำตัวหนึ่งแลบลิ้นที่โพนจิก เวียงงัว ใต้ปากห้วยคู่คำ พระพุทธเจ้าทรงกระทำหสิตการแย้มหัว เจ้าอานนท์จึงไหว้ว่าพระพุทธเจ้าแย้มหัวด้วยเหตุสิ่งใดรา ดูราอานนท์ ตถาคต เห็นแลนคำแลบลิ้นให้เป็นเหตุเมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย มีสุวรรณนาคเป็นเค้า แลผีเสื้อน้ำ เสื้อบก ยักษ์ทั้งมวล ภายหน้าโพ้นคนฝูงอยู่ในเมืองอันนี้ แม้นรู้ธรรมก็ดี จะเลือกหาผู้มีสัจจะได้ยากนัก"
     

แชร์หน้านี้

Loading...