นรก..สวรรค์

ในห้อง 'ภพภูมิ-สวรรค์ นรก' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 31 มกราคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494

    [​IMG]</O:p

    นรก สวรรค์

    ปัญหาที่เข้าใจยากประการหนึ่ง ก็คือ นรก สวรรค์ พึงทำความเข้าใจดังนี้


    นรก คือ ที่อันไม่มีความสุขความเจริญ : ภาวะเร่าร้อน กระวนกระวาย : ที่ไปเกิดและเสวยความทุกข์ของสัตว์ผู้ทำบาป : เป็นอบายอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างคือ นรก เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย

    ถามว่า เคยเห็นนรกไหม ? ทุกคนต้องเคยเห็น เช่น สัตว์เดรัจฉาน ความเดือดร้อนของสัตว์เดรัจฉาน ก็คือสภาพของนรกหรืออบาย

    ความเดือดร้อนของคนที่ต้องโทษทัณฑ์ก็คือสภาพของนรก ความเดือดร้อนของบุคคลบางประเภท ที่มีชีวิตอยู่แร้นแค้นลำบาก ก็คือสภาพของนรก

    โดยเฉพาะใครก็ตาม มีจิตใจเร่าร้อนกระวนกระวาย ไม่สามารถประคองใจให้สุขสงบได้ หนีไปไหน ๆ ก็เจอแต่ปัญหา เจอแต่คำว่าทุกข์เหลือล้น นั่นคือ คนตกนรก

    สวรรค์ คือ แดนอันแสนดีเลิศ ด้วยกามคุณ ๕ โลกของเทวดา ตามปกติหมายถึง กามาพจรสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่

    ๑. จาตุมมหาราชิกา ๒. ดาวดึงส์ ๓. ยามา
    ๔. ดุสิต ๕. นิมมานรดี ๖. ปรนิมมิตวสวัสดี

    และชั้น รูปพรหม ๑๖ ชั้น ได้แก่

    ๑. ปาริสัชชา ๒. ปุโรหิตา ๓. มหาพรหมา
    ๔. ปริตตาภา ๕. อัปปมาณาภา ๖.อาภัสสรา
    ๗.ปริตตสุภา ๘. อัปปมาณสุภา ๙. สุภกิณหา
    ๑๐. เวหัปผลา ๑๑.อสัญญีสัตตา ๑๒. อวิหา
    ๑๓. อตัปปา ๑๔. สุทัสสา ๑๕. สุทัสสี
    ๑๖. อกนิฏฐา

    และชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น ได้แก่

    ๑. อากาสานัญจายตนะ ๒.วิญญาณัญจายตนะ
    ๓. อากิญจัญญายตนะ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

    สวรรค์ จึงมีความหมาย ตรงกันข้ามกับ นรก นั่นเองถามว่า เคยเห็นไหม ? ทุกคนตอบได้ว่า เคยเห็นคนที่มีความสุขมาก ๆ เป็นอยู่ดี มีความสะดวกสบายมาก

    นั่นแหละเทวดา นั่นแหละสภาพของสวรรค์ เป็นอย่างนี้ แต่ระวังอย่ามองพลาดเป้า เป้าของสวรรค์นรก ต้องอยู่ที่จิตใจด้วย

    คนไม่มั่งมีมากมาย แต่มีจิตใจสุขสบาย สงบสว่าง ก็คือ คนเทวดา คนในสวรรค์

    คนมั่งมีมากมาย ซึ่งอาจจะได้มาจากทุจริตต่าง ๆ ก็ได้ มองเผิน ๆ อาจมีความสุขมาก แต่ส่วนลึกแห่งหัวใจ แบกทุกข์ระทมเปี่ยมแปร้ อย่างนี้ก็คนนรก

    คนบางคน มั่งมีสมบัติพัสถาน แต่ตัวเองเจ็บป่วยมาก จะกินจะใช้สมบัติก็ไม่ค่อยได้ กินได้ทีละเล็ก ๆ น้อย ๆ คอยวันตาย ถูกพันธนาการ เจ็บปวดรวดร้าวยาวนาน อย่างนี้ รับสภาพเช่นนรก อย่าหลงคิดว่า เป็นสวรรค์เข้า

    ความหมายของนรก สวรรค์ จึงมี ๓ อย่าง คือ

    ๑. สวรรค์ ในอก นรกในใจ
    ๒. สวรรค์ ในโลกนี้ นรกในโลกนี้
    ๓. สวรรค์ในโลกอื่น นรกในโลกอื่น

    ข้อ ๑ เราเห็นได้ เรามีความสุขเมื่อไร เมื่อนั้นเราก็ขึ้นสวรรค์ เรามีความทุกข์เดือดร้อนมาก ๆ เมื่อไร เมื่อนั้น เราก็ตกนรก

    ข้อ ๒ สภาพความเป็นอยู่ของคนในโลกเรานี้ ที่ต้องตกระกำลำบาก ถูกลงโทษทัณฑ์ให้สูญเสียอิสรภาพ ทุกข์ท่วมท้น น้ำตาท่วมหน้าอยู่เสมอ

    ดังนี้ คือนรกในโลกนี้ ที่เราเข้าใจง่าย ๆ ส่วนสภาพความเป็นอยู่ของคนในโลก ที่มีแต่ความสะดวกสบาย เจริญกาย เจริญใจเป็นพิเศษอย่างนี้ ก็เป็นสวรรค์

    ข้อ ๓ เป็นภูมิเป็นที่อยู่ของสัตว์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทางศาสนาแสดงว่ามีอยู่ ทั้งภูมิของเทวดา พรหม และภูมิของสัตว์นรก ข้อนี้ ผู้ที่มีจักษุทิพย์เท่านั้น จึงจะเห็นได้

    ตัวอย่าง พระพุทธองค์ ทรงเห็นเทวดาเห็นสวรรค์ เห็นสัตว์นรก เช่น เปรต อสุรกาย พระอริยสาวกหลายองค์ เช่น พระโมคคัลลานเถระ ก็เห็นเหมือนอย่างนั้น

    การเห็นของผู้มีจักษุทิพย์ ในอดีตและปัจจุบัน เป็นการยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนตามความจริง ไม่ใช่เรื่องโกหก พกลม

    อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้า มักจะทรงสอนให้มนุษย์ไปสวรรค์ ตั้งแต่มีชีวิตอยู่นี้ และมิให้ตกนรกหมกอบายตั้งแต่ชาตินี้ โดยให้ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของทุกคน

    ไม่ให้หลงประกอบทุจริต เพิ่มพูนกิเลส เครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ ทรงสอนว่า ให้มองเทวดาในโลกนี้ เห็นสวรรค์ในโลกนี้ เห็นนรก และสัตว์นรกในโลกนี้

    เพื่อให้พิจารณาเปรียบเทียบให้เห็นคุณและโทษของพฤติกรรมต่าง ๆ ของตนเองต่อไป

    ข้อสำคัญ

    - ถ้าระวังตนไม่ให้ตกนรก ในโลกนี้ได้ก็ไม่ต้องกลัว จะตกนรกในโลกหน้า

    - ถ้าระวังตนไม่ให้ทำทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ได้ ก็ไปสวรรค์ตั้งแต่ชาตินี้

    - สวรรค์ชาติหน้าก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไปไม่ได้ เพราะว่า

    จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
    เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็เป็นอันหวังได้

    (ม.มู. ๑๒/๖๔)

    ลำดับการให้ผลกรรมอาจทำให้เข้าใจผิด

    เหตุไร คนทำกรรมชั่วไปสวรรค์ แต่คนทำกรรมดีไปนรก ?

    พระพุทธองค์ ทรงสอนไว้ ปรากฏอยู่ใน มหากัมมวิภังคสูตร มัชฉิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ซึ่งผู้ศึกษาจะใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาผลกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน

    เพื่อให้เกิดความเห็นที่ถูกที่ชอบ และยึดเป็นปทัสฐานต่อไป คือ ตรัสว่า " มีบุคคลอยู่ ๔ จำพวก"

    ๑. ผู้ทำชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ตายแล้ว ไปนรก ก็มี ทั้งนี้ เพราะบุคคลจำพวกนี้ได้ทำความชั่วต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่อดีตชาติ จนถึงปัจจุบัน

    ๒. ผู้ทำชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ตายแล้ว ไปสวรรค์ ก็มี ทั้งนี้เพราะบุคคลจำพวกนี้ทำความดีไว้มาก ในอดีตชาติก่อน ๆ ความดีนั้นยังมีแรงให้ผลอยู่ ส่วนความชั่วที่เขาทำใหม่ยังไม่ทันให้ผล (กรรมมีลำดับให้ผล)

    ๓. ผู้ทำความดี ทางกาย วาจา ใจ ตายแล้ว ไปสวรรค์ ก็มี ทั้งนี้ เพราะบุคคลพวกนี้ ทำความดีติดต่อกันมา ตั้งแต่อดีตชาติ จนถึงชาติปัจจุบัน (ทำความดีต่อเนื่อง ใจผ่องใส ตายลงก็ไปสู่สุคติ)

    ๔. ผู้ทำความดี ทางกาย วาจา ใจ ตายแล้ว ไปนรก ก็มี ทั้งนี้เพราะบุคคลจำพวกนี้ทำความชั่วไว้มาก ในอดีตชาติก่อน ๆ ความชั่วนั้นยังมีแรงให้ผลอยู่ และถึงเวลาความชั่วให้ผลพอดี ส่วนความดีที่เขาทำใหม่ในชาตินี้ ยังไม่มีโอกาสให้ผล (คือความดียังไม่ถึงเวลาให้ผล)

    พระพุทธองค์ตรัสไว้เพียงเท่านี้ ก็ถือว่าได้ตอบปัญหาของคนในปัจจุบัน หลายต่อหลายปัญหา เช่นปัญหาว่า ทำความชั่วอยู่แท้ ๆ ทำไมจึงเกิดผลดีต่าง ๆ

    ทำความดีอยู่แท้ ๆ ทำไมจึงได้รับผลร้ายต่าง ๆ คนทำชั่วฆ่าเขาโกงเขา ทำไมยังไม่ถูกลงโทษทัณฑ์ คนนั้น ทำบาปกรรมมากมาย แต่ทำไมร่ำรวย ฯลฯ

    กฏเทณฑ์ที่สำคัญ

    ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอให้พึงศึกษา ธรรมสมาทาน ๔ ในมหาธรรมสมาทานสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มีความย่อว่า

    ๑. "ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้ทุกข์ในปัจจุบันด้วย มีวิบากเป็นทุกข์ต่อไปด้วย" คือ บางคนประสบทุกข์อยู่แล้ว ยังทำอกุศลกรรมทั้ง ๑๐ อยู่ และได้เสวยทุกข์โทมนัส เพราะอกุศลกรรมเป็นปัจจัย

    ๒. "ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้สุขในปัจจุบัน แต่มีวิบากเป็นทุกข์ต่อไป" คือ คนบางคนประสบความสุขอยู่แล้ว ยังทำอกุศลกรรม ๑๐ อยู่ และได้สุขโสมนัส เพราะกุศลกรรมเป็นปัจจัย ตายไปกลับต้องถึงทุคติในรูปแบบต่าง ๆ เพราะอกุศลกรรมให้ผล

    ๓. "ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีวิบากเป็นสุขต่อไป" คือ คนบางคนมีความลำบากยากเข็ญนานา แต่สามารถงดเว้นบาป ตามนัยแห่ง อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้

    และมีความทุกข์โทมนัสมาก เพราะทำความดีมีศีลอย่างนั้น แต่ตายไปกลับได้ประสพสุขในสุขคติ โลกสวรรค์ เพราะกุศลกรรมให้ผล

    ๔. "ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้สุขในปัจจุบัน อีกทั้งมีวิบากเป็นสุขต่อไป" คือ คนบางคนมีความสุขสบายดีแล้ว ไม่หลงโลภ ไม่หลงโกรธ ไม่หลงมัวเมา

    ยังตั้งใจถือศีล เว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ เขาย่อมได้เสวย ความสุข สงบ สว่าง แม้ตายไปแล้วก็ยังได้ไปเสวยสุข ในสุคติโลกสวรรค์ อีกด้วย

    (มหาธรรมสมาทานสูตร ๑๒/๕๑๓)

    จากพระพุทธพจน์เรื่อง ธรรมสมาทานสูตรใหญ่ทั้ง ๔ ข้อ คงทำให้เราเห็นพฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ว่าบางคนเลวเป็นสันดาน เช่น เกิดมาพิกลพิการแล้วยังก่อกรรมชั่วนานา ซึ่งเป็นเหตุให้พิกลพิการ ทุกข์เดือดร้อนอีก

    บางคนเกิดมาก็พอมีอยู่ มีกินสบาย ๆ แต่ยังทำชั่ว อันเป็นเหตุให้เดือดร้อนในอนาคตต่อไป แต่บางคนเป็นคนดีโดยสันดาน แม้เกิดมาลำบากยากจน แต่ก็อดทนทำดีมีศีลธรรม อันเป็นเหตุให้ได้รับความสุขต่อไปในอนาคต ฯลฯ

    ถ้าเรายังไม่เข้าใจกรรม ต่อเนื่องดังกล่าว โปรดศึกษพระพุทธพจน์ดังต่อไปนี้

    "บุคคลบางคน ทำบาปเพียงเล็กน้อย บาปนั้น นำเขาสู่นรก บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อย เช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปนั้น ให้ผลเพียงในชาติปัจจุบันเท่านั้น ไม่ปรากฏผลต่อไปอีกเลย"

    "บุคคลที่ได้อบรมกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่อยู่ด้วยคุณธรรมมีเมตตาเป็นต้น อันหาประมาณมิได้ ทำบาปเพียงเล็กน้อย

    บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ดในชาตินี้เท่านั้น ไม่ให้ผลต่อไปอีกเลย ส่วนคนที่มิได้อบรมตนด้วยคุณธรรมต่าง ๆ ดังกล่าว ใจต่ำ ทำบาปเพียงเล็กน้อย แล้วยังต้องไปตกนรกด้วย"

    (โลณกสูตร อัง.ติก. ๒๐/๓๒๑)

    แสดงให้เห็นว่า คุณงามความดีต่าง ๆ ที่คนเราอบรมให้มีมั่นคงแล้ว เป็นภูมิคุ้มกันอันมีคุณภาพมาก เวลาจะได้รับทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์มากมาย

    ส่วนคนที่ไม่อบรมตนด้วยคุณธรรมต่าง ๆ ใจต่ำแล้ว เวลามีทุกข์โศก ก็ทุกข์โศกมากมาย น่าเวทนายิ่งนัก

    ผลแห่งกรรมตามนัยแห่งจูฬกัมมวิภังคสูตร

    พระพุทธองค์ตรัสถึงอดีตกรรมของคนเราว่า ส่งผลให้มนุษย์เกิดมามีความแตกต่างกัน พึงทราบโดยย่อดังนี้

    ๑. คนบางคน ฆ่าสัตว์เป็นปรกติ มีใจทารุณโหดร้าย มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในสัตว์มีชีวิต เขาตายไปจะต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น

    ๒. คนบางคน เว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นปรกติ ฯลฯ (ข้อความคล้ายข้อที่ ๑.) เมื่อตายไป จะเข้าถึงสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ จะเป็นคนมีอายุยืน

    ๓. คนบางคน ชอบเบียดเบียนสัตว์ให้เดือดร้อน ฯลฯ เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ จะเป็นคนมีโรคมาก

    ๔. คนบางคน ไม่ชอบเบียดเบียนสัตว์ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ จะเป็นคนมีโรคน้อย

    ๕. คนบางคน มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม

    ๖. คนบางคน ไม่มักโกรธ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ จะเป็นคนมีผิวพรรณงดงาม

    ๗. คนบางคน มีใจมักริษยา มีจิตคิดประทุษร้ายเขา อยากให้สมบัติของเขาพินาศ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ ย่อมเป็นคนมีศักดิ์น้อย วาสนาต่ำ

    ๘. คนบางคน ไม่ริษยาเขาในลาภ สักการะ ความนับถือ ไม่คิดประทุษร้ายเขา ไม่อยากให้สมบัติของเขาพินาศ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ ย่อมเป็นคนมีศักดิ์สูง

    ๙. คนบางคน ตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ให้ทาน ไม่สงเคราะห์ คนที่ควรสงเคราะห์ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ ย่อมเป็นคนยากจน มีโภคะน้อย มีสมบัติน้อย

    ๑๐. คนบางคน มีจิตใจเสียสละ ชอบให้ทานสงเคราะห์ คนที่ควรสงเคราะห์ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ ย่อมเป็นคนมั่งคง พรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ

    ๑๑. คนบางคน ถือตัวจัด กระด้าง ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในตระกูลต่ำ

    ๑๒. คนบางคน ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด เคารพคนที่ควรเคารพ ฯลฯ ถ้าเกิดป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในตระกูลสูง

    ๑๓. คนบางคน ไม่ชอบสอบถามความสงสัยของตน กับท่านผู้รู้ ผู้ฉลาด ไม่ไต่ถามว่าอะไรเป็นกุศล อกุศล ควรประพฤติ ไม่ควรประพฤติ มีโทษ ไม่มีโทษ ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นคนโง่เขลา

    ๑๔. คนบางคน มีนิสัยชอบสอบถามท่านผู้รู้ผู้ฉลาด ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ฉลาด รอบรู้ แหลมคม มีปัญญามาก

    (จูฬกรรมวิภังคสูตร ๑๔/๓๗๖)

    พึงระลึกเสมอว่า คนเราเป็นไปตามผลกรรมเก่า และผลกรรมใหม่ด้วย ไม่ใช่กรรมเก่าเป็นเจ้าบทบาทเพียงอย่างเดียว

    คัดลอกจาก: เสียงธรรมจากศาลาพระราชศรัทธา
    รวมผลงามเผยแผ่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓
    เล่ม ๑ หน้า ๑๓๔ - ๑๔๑



    ที่มาของข้อมูลจาก http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007165.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มกราคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...